พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 สิงหาคม 2567
ผู้ชายคนหนึ่ง ได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากร ให้กับข้าราชการในหน่วยงานหนึ่ง เขาก็ตั้งใจ เตรียมตัวมาอบรมอย่างดีเลย อุปกรณ์ต่างๆ ก็เตรียมมา
ไปถึงที่จัดอบรมก็ก่อนเวลา แต่พอได้เวลา 9 โมง ก็มีคนมาไม่กี่คนเอง เขาก็รอนะ 9:15 น. ก็มีมาเพิ่มอีก 3 -4 คน 9:30 น. คนก็ยังมาแค่ 1 ใน 3 ของที่กำหนดเอาไว้ 10:00 น. ก็ยังมาไม่ถึงครึ่ง ก็โกรธมากเลยนะ ก็เลยประกาศว่างดแล้ว งดสอน งดจัดกิจกรรม ขอเลิก แล้วก็ไม่ขอรับค่าวิทยากร เพราะว่าจัดกิจกรรมไป ก็ไม่มีประโยชน์ เวลามันเหลือน้อย แล้วคนที่มา ก็ดูจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่
มีอยู่อีกคนหนึ่ง ก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากร ในอีกหน่วยงานหนึ่งของราชการ ก็เหมือนกันนะ 9 โมงเช้า ก็ยังมีคนมาไม่กี่คน กว่าจะเริ่มได้ก็เกือบ 9:30 น. คนก็ค่อยทยอยกันมา จัดกิจกรรมไปได้ครึ่งชั่วโมง 10 โมง ปรากฏว่าเลขาของกรมที่เป็นเจ้าภาพ ก็มาถึงที่จัดอบรม แล้วก็มาเปิดการอบรม กิจกรรมที่ทำเอาไว้ ต้องหยุดชะงักไปเลย เพื่อเปิดทางให้กับพิธีเปิดการอบรม
ประธานเปิดการอบรม อ่านคำกล่าวเปิดจบ ถ่ายรูป แล้วก็ไป ปรากฏว่าอีกหลายคนออกจากห้องตามไปด้วย เพราะว่ามา ไม่ใช่มาเพื่ออบรม มาเพื่อถ่ายรูป หรือมาเพื่อให้เจ้านายเห็นว่าฉันมานะ พอเจ้านายเห็น แล้วก็ถ่ายรูปเสร็จ ก็ออกจากห้องไป เหลือคนอยู่ไม่ถึงครึ่ง
แต่ว่าวิทยากรก็ใจเย็นพอที่จะจัดอบรมต่อ เพราะว่ามีบางคนที่สนใจ แต่ว่าก็หงุดหงิดเหมือนกันนะ เพราะว่าเวลามันเหลือน้อย เดิมทีเตรียมไว้ 3 ชั่วโมง ปรากฏว่าจัดกิจกรรมจริงๆ ก็ไม่ถึง 2 ชั่วโมง
พอเสร็จการอบรม ก็รู้สึกหงุดหงิดหัวเสีย ที่จริงหงุดหงิดตั้งแต่ตอนที่ต้องรอคนที่มารับการอบรมแล้ว เพราะว่าไม่มาตามเวลา แล้วแถมยังมีกิจกรรมเปิดการอบรมระหว่างกิจกรรมซึ่งก็ไม่จำเป็นเลย แต่มันกลายเป็นพิธีกรรมไปแล้ว จะมีการบรรยาย ก็ต้องมีพิธีเปิดการบรรยาย วิทยากรคนนี้ก็เลยหงุดหงิดหัวเสียโมโห อันนี้เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายคนที่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรให้กับหน่วยราชการ
ในด้านหนึ่งมันก็ชี้ให้เห็นว่า ข้าราชการจำนวนมากไม่มีความสนใจใฝ่รู้ จะไปเข้าคอร์สอะไรก็ตาม หรือจะไปฟังการบรรยายที่ไหน จัดการอบรมที่ไหน ก็ต้องถูกเกณฑ์ไป แล้วถ้ามีโอกาสชิ่งได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ไม่ได้ชิ่งไปทำงาน ไปทำอย่างอื่นมากกว่า วิทยากรจำนวนมากก็หงุดหงิดหัวเสีย แต่ที่จริง เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องหงุดหงิดหัวเสียก็ได้ถ้าเกิดว่าลดความคาดหวังลง
หลายคนไป ก็ไปด้วยความคาดหวังว่า ผู้ที่มารับการอบรม ควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง เช่น มาตรงเวลา มาแล้วก็ตั้งใจฟัง ร่วมกิจกรรม ไม่ใช่มาแล้ว ก็มัวแต่ก้มหน้าดูโทรศัพท์มือถือ หรือว่าคุยกัน หรือมาร่วมกิจกรรมแบบขอไปที
การที่คนเราพกความคาดหวังมา ว่าคนอื่นควรจะปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง แต่ว่าพอความจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น ก็ทุกข์ เหตุแห่งความทุกข์ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่พฤติกรรมของคนที่มารับการอบรม แต่ว่าปฏิเสธไม่ได้ ว่าเหตุแห่งความทุกข์อีกก้อนหนึ่ง และเป็นก้อนใหญ่ด้วย ก็คือความคาดหวัง
คาดหวังว่าคนนั้นคนนี้ควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง ควรทำในสิ่งที่เหมาะสม แต่พอเขาไม่ได้ทำอย่างนั้น ก็ไม่ใช่แค่ผิดหวัง แต่ว่าโมโหหงุดหงิดเครียด เป็นทุกข์
เจอแบบนี้ คงต้องลดความคาดหวังลง หรือว่ายอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นมากขึ้น อันนี้คือสิ่งจำเป็นเลยนะ ยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็น เพราะถ้าไม่รู้จักยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็น จะทุกข์มากเลย
พ่อแม่เดี๋ยวนี้ก็ทุกข์เพราะลูก เพราะลูกไม่ได้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น หรืออย่างที่พ่อแม่คาดหวัง เช่น ตื่นสาย ไม่สนใจเรียนหนังสือ ติดเกม ใช้เงินเยอะ สารพัดเลย แล้วพอพ่อแม่ไม่สามารถจะยอมรับลูกอย่างที่เขาเป็นได้ ก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน เสร็จแล้วก็ทุกข์ทั้งสองฝ่าย
และมันไม่ใช่แค่พ่อแม่กับลูก บางทีลูกกับพ่อแม่ด้วย ลูกก็คาดหวังจากพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง ลูกยอมรับพ่อแม่ไม่ได้ เพราะว่าพ่อแม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น เล่นการพนัน ติดเหล้า หรือว่าชอบไถเงินลูกคนนี้ไปให้คนโน้น เรียกร้องเอาเงินจากลูกสาว เพื่อเอาไปปรนเปรอลูกชายที่ไม่สนใจทำงาน ลูกก็เครียด ทุกข์มาก
สิ่งที่พ่อแม่ทำ มันก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าหากว่าลูกไปคาดหวังอย่างที่เขาไม่ได้เป็น ความทุกข์ก็เกิดขึ้นกับผู้เป็นลูกเอง
ครูกับลูกศิษย์ก็เหมือนกัน หรือว่าพระไปเป็นวิทยากรให้กับนักเรียน บางทีพระไปเป็นวิทยากรให้กับครู ก็คาดหวังว่าครูควรจะสนใจ อย่างน้อยก็มาตรงเวลา ปรากฏว่าครูก็ไม่มาตรงเวลา มาแล้วก็คุยกัน พระบรรยาย ครูแท้ๆ ก็นั่งคุยกัน คนบรรยายก็เครียด คนบรรยายก็ทุกข์ ทั้งๆ ที่สอนเรื่องสติ แต่ว่าตัวเองสติใกล้จะหลุดอยู่แล้ว เพราะว่าคนฟังนี้ไม่สนใจเลย
อันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ฟัง แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ไปคาดหวังเขา อย่างที่เขาไม่ได้เป็น ไม่สามารถยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราจะลดความทุกข์ของเรา วิธีหนึ่งก็คือว่า ลดความคาดหวัง
ธรรมดาคนเราก็ย่อมมีความคาดหวัง โดยเฉพาะการคาดหวังในสิ่งที่ถูกต้อง คาดหวังจากศิษย์ ว่าควรจะมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความสนใจใฝ่รู้ เวลาครูสอนก็นั่งฟังด้วยความตั้งใจ อันนี้คือความถูกต้องที่ลูกศิษย์ควรจะมี แต่ว่าพอเขาไม่ทำก็ทุกข์
แต่ถ้าลดความคาดหวังลง หรือว่ายอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น ที่เขาทำไม่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข แต่ว่าก่อนอื่น เราต้องรู้จักรักษาใจไม่ให้ทุกข์ก่อน เพราะถ้าเราใจทุกข์เสียแล้ว เราจะไปคาดหวังให้คนอื่นทำสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างไร เพราะใจเราก็ไม่ถูกต้องเสียแล้ว
มันก็เป็นอย่างนี้เวลาเราเห็นความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น อย่างแรกที่เราต้องทำ ก็คือรักษาใจเราให้ถูกต้องไว้ก่อน เพราะถ้าเราไม่รักษาใจให้ถูกต้อง เราก็อาจจะไปทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องยิ่งกว่าเดิม เช่น อาจจะด่า ด่านักเรียน ด่าคนที่มารับการอบรม ว่าไม่รับผิดชอบ หรือว่าเลิกสอนไปเลย หรือว่าสอนด้วยความหงุดหงิดหัวเสีย ทั้งๆ ที่มันมีบางคนที่เขาใฝ่รู้
จริงๆ แล้ว เวลาอบรมนี่แม้คนส่วนใหญ่จะไม่สนใจ แต่ถ้ามีสักคนสองคน ที่เขาได้ประโยชน์จากการบรรยาย หรือการอบรมของเรา ก็ถือว่าคุ้มนะ คราวนี้พอเราไปคาดหวัง ว่าจะต้องมีคนทั้งหมดสนใจ พอหลายคนไม่สนใจ เห็นต่อหน้าต่อตาว่าไม่สนใจ
สิ่งที่เขาทำนี่ไม่ถูกต้อง ไม่สนใจฟัง แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่รู้จักรักษาใจเราให้ถูกต้อง เราหงุดหงิดหัวเสีย การสอน การบรรยาย การอบรมของเรานี้ ก็พลอยมีปัญหาไปด้วย และคนที่ควรจะได้ประโยชน์จากการอบรม จากการบรรยายของเรา ซึ่งอาจจะมีอย่างน้อยก็สักคนสองคน ก็เลยหมดโอกาส อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
ในยุคทุกวันนี้ มันมีผู้คนที่เขาไม่ค่อยสนใจทำสิ่งที่ถูกต้อง มันเป็นไปทั่วเลย แม้กระทั่งครู แม้กระทั่งข้าราชการ หรือแม้กระทั่งกับพระ แต่ว่าอย่างน้อย ถ้าเรารู้จักรักษาใจของเราให้ถูกต้องไว้ก่อน อย่างน้อยเราก็ไม่ไปสร้างปัญหาให้กับตัวเองและกับผู้อื่น
วิธีที่เราจะรักษาใจให้ถูกต้อง ก็คือว่า ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่คาดหวังในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น
ทีนี้พอเรายอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นแล้ว เราก็จะได้ดูว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร จากจุดที่เขาเป็นอยู่ ไม่ใช่จากจุดที่เขาควรจะเป็น
พ่อแม่นี่ ถ้าหากว่ายอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็น การที่จะช่วยเขาก้าวจากจุดที่เขาเป็นอยู่ ไปสู่จุดที่ดีขึ้น มันก็มีโอกาส
ครู ถ้ายอมรับลูกศิษย์อย่างที่เขาเป็น เช่น เขาเป็นคนเกกมะเหรกเกเร ไม่สนใจ ติดเกม แทนที่จะเอาแต่ดุด่า ก็พยายามเข้าใจเขา แล้วก็พยายามพาเขาออกจากจุดที่เป็นปัญหา มันก็จะช่วยทำให้เขาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้
การยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็น มันสำคัญมาก เพราะมันจะช่วยให้เรายอมรับตัวเราเองอย่างที่เป็นได้ด้วย
เพราะเราก็ต้องยอมรับว่า เราเอง บ่อยครั้ง ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น เราไม่ควรโกรธ แต่มันก็โกรธ เราไม่ควรเครียด แต่มันก็เครียด เราไม่ควรฟุ้งซ่าน แต่มันก็ฟุ้ง อย่างเช่น มาปฏิบัติธรรมที่นี่ โอ มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่มันเกิดขึ้น อย่างที่มันไม่ควรจะเกิด เช่น ความหงุดหงิด ความโมโห
แต่ที่จริง การที่เราไปมองว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรจะเกิด มันก็เป็นความผิดพลาดของเรานะ เพราะว่า อย่างที่พูดเมื่อวาน ที่หลวงพ่อชาบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง มันถูกต้องของมันอยู่แล้ว ความไม่ถูกต้องมีอย่างเดียว คือ ความคิดของเรา คือไปคาดหวังในสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
คนเรา ถ้าเราคาดหวังในสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริง มันก็ทุกข์น้อย เช่น คาดหวังเด็ก คาดหวังคนที่มาอบรม อย่างที่เขาเป็นจริง อันนี้เป็นการคาดหวังที่สอดคล้องกับความเป็นจริง มันก็ไม่ทุกข์ แต่พอเราไปคาดหวังอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เราจะผิดหวัง เราก็จะทุกข์ เราจะเครียด
ที่จริงความทุกข์ก็เกิดจากการที่เราคาดหวังไม่ถูกต้อง บางอย่างก็คาดหวังสวนทางกับความเป็นจริง เช่น คาดหวังว่าทุกอย่างต้องเที่ยง คาดหวังว่าร่างกายต้องเป็นสุขอยู่เสมอ คาดหวังว่าอะไรต่ออะไรจะอยู่ในอำนาจของเรา
อันนี้เพราะเราไม่เข้าใจเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็เลยคาดหวังสิ่งต่างๆ ทั้งรูปธรรม นามธรรม คน สัตว์ สิ่งของ รวมทั้งร่างกายจิตใจ สวนทางกับความเป็นจริง
พอมันไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง เราก็เลยทุกข์ การที่เราเสียใจเวลาเงินหาย เป็นเพราะเราคาดหวังว่ามันจะต้องอยู่กับเราไปนานๆ การที่เราเสียใจเพราะคนรักตายจากไป เพราะเราคาดหวังว่าเขาจะอยู่กับเราไปชั่วฟ้าดินสลาย แต่พอความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ความจริงมันไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความทุกข์
สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจของเราก็เหมือนกัน ที่เราทุกข์นี่ มันไม่ใช่เพราะมันมีความฟุ้งเกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่เพราะมีความเครียดเกิดขึ้นในใจ แต่เพราะเราไม่ยอมรับมันต่างหาก เราไม่ยอมรับ ว่ามันจะฟุ้งได้อย่างไร เราอุตส่าห์ปฏิบัติ เรามาปฏิบัติเพื่อความสงบ แต่ทำไมมันฟุ้งเยอะเหลือเกิน ที่จริงความฟุ้งมันก็ไม่ได้ทำให้เราทุกข์นะ แต่เพราะเราคาดหวัง ว่ามันต้องไม่ฟุ้ง
และการคาดหวังนี่ เป็นการคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือสวนทางกับความเป็นจริง เพราะว่าจิตมันก็เป็นธรรมชาติของมัน ที่มันจะคิด มันจะฟุ้งอยู่แล้ว ถ้าเรายอมรับมันอย่างที่มันเป็น เราก็ไม่ทุกข์ เวลามีอะไรมากระทบเสียงดัง ใจเราโกรธ อันนี้มันก็เป็นความถูกต้องแบบหนึ่ง เพราะใจเรายังมีกิเลสอยู่ ยังมีความคาดหวัง ว่ามันต้องไม่มีเสียงดัง พอมีเสียงดังมากระทบหู เราจึงหงุดหงิด
แต่ถ้าหากว่า เรายอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น เสียงดังก็ดังไป ใจก็ไม่ทุกข์ ใครจะพูดจะคุยอยู่รอบตัวเรา เราก็ไม่ทุกข์ไม่หงุดหงิด เพราะเราไม่ได้คาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นดั่งใจ ไม่ได้คาดหวังว่าอะไรๆ ควรจะเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น
เพราะเรารู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น แม้บางอย่างเราจะมองว่ามันไม่ถูกต้อง แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว หรือถ้าเราฉลาดกว่านั้น เราก็มองว่ามันก็ถูกต้องของมันอยู่แล้ว แต่ที่เราทุกข์เพราะเราวางใจไม่ถูกต้อง คือไปคาดหวังในสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
ฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราวางใจให้ดีๆ รู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ถึงเวลามันมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในใจเรา เกิดขึ้นกับกายเรา เราก็ยอมรับมันได้ง่ายขึ้น ความโกรธ ความเครียด มันมีตัวอย่างน่าสนใจ หลายคนตอนนี้ก็รู้จัก วิว กุลวุฒิ เป็นนักแบดมินตัน ที่นำเหรียญเงินมาให้กับไทย ในกีฬาโอลิมปิกล่าสุดเขาเป็นคนที่ขยันฝึก ขยันซ้อม แล้วก็ตั้งใจมาก มุ่งมั่นจะเป็นแชมป์ แชมป์โลกด้วย แล้วก็เหรียญทองโอลิมปิก เขาก็ตั้งใจจะกวาดมาให้ได้
แต่เวลาเขาซ้อมเวลาเขาเล่นนี่ บ่อยครั้งเขาเครียดมาก แล้วความเครียดนี่มันเป็นอุปสรรคสำคัญของนักกีฬา เพราะถ้าเครียดแล้ว มันก็รวน ความสามารถที่มีก็ถูกบล็อกหมด เพราะความเครียดมันทำให้เกร็ง
สิ่งที่โค้ชพยายามทำ ก็คือสอนให้ไม่เครียด ให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปสนใจกับนัดถัดไป หรือผิดพลาดอะไรไปก็ทิ้งมันไป อย่าไปสนใจ ปล่อยมันไปเลย
แต่คนเรามันก็ยังเครียด มันไม่สามารถจะบังคับใจ ให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นได้ ควรจะอยู่กับปัจจุบัน แต่ใจมันก็ไปอยู่กับอดีตบ้าง ไปอยู่กับอนาคตบ้าง บ่อยครั้งวิวก็เครียดมาก
ถึงจุดหนึ่ง โค้ชบอกเลยว่า ถ้าเครียดก็ปล่อยให้ตัวเองเครียดไปเลยนะ เล่นสบายๆ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป คำแนะนำของโค้ชนี่น่าสนใจนะ โค้ชเป้ แกไม่ได้บอกว่าอย่าเครียดนะ แกบอกว่า ถ้าเครียด ก็ปล่อยให้ตัวเองเครียดไป หรืออนุญาตให้ตัวเองเครียด พูดอีกอย่างก็คือ อนุญาตให้ความเครียดเกิดขึ้นในใจได้
คนเราเวลาเครียด เราก็พยายามจะกำจัดความเครียด พยายามหาทางทำให้ความเครียดมันหายไป หรือบางทีก็ยอมรับไม่ได้ ว่าทำไมเราเครียด ทั้งๆ ที่เราก็พยายามปล่อยวางแล้ว ทั้งที่พยายามอยู่กับปัจจุบันแล้ว แต่ทำไมมันยังเครียดอยู่
ก็คงคล้ายๆ กับคนที่นอนไม่หลับ ใจหนึ่งก็บอกว่า ปล่อยวางให้หมด แต่มันก็ยังคิดโน่นคิดนี่ เสร็จแล้วก็ยอมรับไม่ได้ ที่ตัวเองคิดโน่นคิดนี่ ก็ยิ่งหงุดหงิดเข้าไปใหญ่ ทำไมมันคิดมากเหลือเกิน ทำไมมันคิดมากเหลือเกิน มีนักปฏิบัติหลายคน พอเจอภาวะเช่นนี้ คิดมากเหลือเกิน คิดมากเหลือเกิน หงุดหงิดมาก บางทีเอารองเท้าแตะฟาดหัว ว่าทำไมคิดมากเหลือเกิน
แต่วิธีหนึ่งก็คือว่า อนุญาตให้ตัวเองคิดมากได้ อนุญาตให้ตัวเองฟุ้งได้ เหมือนกับที่โค้ชเป้บอกวิว ถ้าเครียดก็ปล่อยให้ตัวเองเครียดได้เลย อนุญาตให้ตัวเองเครียดได้ หลายคน พออนุญาตให้ตัวเองเครียดได้ เออ มันเบาขึ้นนะ เหมือนกับบางคนนี่ โกรธมาก โกรธใครบางคน พยายามตามลมหายใจก็ไม่หาย พยายามเดินจงกรมเป็นชั่วโมงก็ไม่หาย พยายามบริกรรมว่าโกรธหนอ โกรธหนอ ก็ไม่หาย ทำอย่างนี้หลายชั่วโมง ท้อมากเลย ทำไมไม่หาย ครูบาอาจารย์ก็อุตส่าห์แนะนำวิธีการ
สุดท้ายก็บอกกับตัวเองว่า เธอโกรธก็ได้นะ อนุญาตให้โกรธได้ ใครที่เจอแบบเธอก็โกรธทั้งนั้นแหละ ปรากฏว่าความโกรธมันหายไปเลยนะ เพียงเพราะบอกกับตัวเองว่า โกรธก็ได้นะ อนุญาตให้ความโกรธเกิดขึ้นได้ นี่ก็คือการยอมรับ ยอมรับความโกรธ
ถึงหลังจากที่พยายามที่จะทำให้ความโกรธไม่หาย มันหายไป ไม่สำเร็จ ก็ยอมรับมันซะ เหมือนกับความเครียดในระหว่างการทำงาน หรือระหว่างการฝึกซ้อม การเล่นกีฬา ถ้าวางใจให้ดี ก็ไม่ควรจะเครียด แต่ว่าบางทีก็ทำใจลำบาก มันก็เกิดเครียดขึ้นมา
ถึงตอนนี้ไม้ตายก็คือว่า ยอมให้มันเครียดได้ เวลาโค้ชเป้แนะนำกุลวุฒิแบบนี้ มันช่วยได้นะ ถ้าเครียดก็ปล่อยให้ตัวเองเครียดไปได้เลยนะ ไม่ต้องโทษตัวเอง อนุญาตให้ความเครียดเกิดขึ้นได้ อนุญาตให้ตัวเองเครียดได้
บางทีคนเราไปยึดมั่นกับความถูกต้องมากไป แล้วเราก็เลยโทษตัวเอง หรือตำหนิตัวเอง ว่าทำไมจึงมีความโกรธ ทำไมจึงมีความเครียด ทำไมไม่อยู่กับปัจจุบัน ทำไมไม่ปล่อยวาง ตำหนิตัวเอง
แต่บางครั้ง การยอมรับตัวเอง ว่าเราทำได้เท่านี้ เครียดก็ยอมให้ตัวเองเครียดไป โกรธก็ยอมให้ตัวเองโกรธได้ ปรากฏว่ามันช่วยได้นะ เพราะว่าการที่เรามีท่าทีแบบนี้ ก็คือการยอมรับ ยอมรับอย่างที่มันเป็น
พอยอมรับได้นี่ สิ่งที่เป็นปัญหา มันก็ละลายหายไป ความทุกข์ก็จางคลายไปเลย เพราะถึงที่สุดแล้ว ที่มันยังคงอยู่ ที่มันยังก่อกวนเรา เพราะเราไม่ชอบมัน เพราะเราพยายามผลักไสมัน อะไรที่ผลักไสจะคงอยู่นะ แต่อะไรที่ตระหนักรู้ หรือยอมรับได้ มันก็จะหายไป
ฉะนั้นเวลามีความเครียด หลังจากที่พยายามทำอะไรหลายๆ วิธีแล้ว มันก็ยังเครียดอยู่ ก็อนุญาตให้ตัวเองเครียดไป และนี่จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราเครียดได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ มันทำได้นะ มีความเครียดเกิดขึ้น แต่ใจไม่ทุกข์ เพราะยอมรับมันได้.