พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 สิงหาคม 2567
ชาวพุทธจำนวนไม่น้อย เวลาทำบุญ หรือไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูป ก็มักจะขอพร พรที่ว่าก็มักจะหนีไม่พ้น ขอให้มีโชคมีลาภ มียศ มีทรัพย์ศฤงคาร หรือว่ามีความมั่งมี
มันก็ดีอยู่ แต่ว่าสำหรับชาวพุทธแล้ว มันมีอะไรที่ดีกว่านั้น ประเสริฐกว่านั้น
ชาวพุทธเรา อุดมคติสูงสุดไม่ใช่ความร่ำรวย ไม่ใช่การมีโชคมีลาภมียศ เพราะว่ามีเท่าไหร่ก็ยังไม่หายทุกข์ ก็ยังวนอยู่กับวัฏสงสาร สิ่งที่ประเสริฐกว่านั้น ที่เป็นอุดมคติสูงสุด คือพระนิพพาน
ฉะนั้น เวลาเราจะนึกถึงสิ่งดีๆ ที่ปรารถนาจะให้บังเกิดกับชีวิตของเรา นึกถึงพระนิพพานดีกว่า อย่างน้อยก็เป็นการย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า มีสิ่งที่ประเสริฐกว่าความสุขทางโลก ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นได้ด้วยลาภด้วยยศ แต่มันก็เจือไปด้วยทุกข์
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะขอหรือจะกำหนดจิต ตั้งจิตปรารถนา มีดีกว่านั้น ก็คือ ขอให้มีจิตใจตั้งมั่นในธรรม อะไรมากระทบก็ไม่หวั่นไหวใจกระเพื่อม ไม่ว่าสิ่งที่กระทบนั้น จะเป็นโลกธรรมฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ จิตก็ยังมั่นคง ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ฟูไม่แฟบ
อันนี้จะว่าไปแล้วดีกว่า ดีกว่าการที่ขอให้บรรลุพระนิพพาน หรือเข้าถึงพระนิพพาน ที่จริงทั้ง 2 ประการนี้ ก็เหมือนกันนั่นแหละ เพราะว่าเมื่อเข้าถึงพระนิพพาน ก็หมายความว่าจิตใจไม่หวั่นไหวแล้ว ไม่มีอาการกระเพื่อม ไม่มีขึ้นไม่มีลงอีกต่อไป ไม่ว่าอะไรมากระทบก็ตาม
ที่จริง การที่ใจไม่หวั่นไหวหรือกระเพื่อม ไม่ขึ้นไม่ลง เมื่อมีโลกธรรมมากระทบนี่ จัดว่าเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตเลย
มงคลสูงสุดของชีวิต มี 38 ประการ ใน 4 ข้อสุดท้ายคือเรื่องนี้เลยก็คือว่า เมื่อโลกธรรมมากระทบ จิตก็ไม่หวั่นไหว ใจก็ไม่กระเพื่อม เป็นจิตไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส เป็นจิตเกษมศานต์ 4 ข้อสุดท้ายก็คืออันนี้แหละ
ก่อนหน้านั้น คือมงคลที่ 34 ก็เป็นเรื่องนิพพานนี่แหละ ทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่ว่าเวลาพูดถึงพระนิพพานที่ปรารถนาจะบรรลุ หลายคนมักจะนึกในแง่ที่ว่า ขอให้บังเกิดขึ้นกับเรา สนองความอยากได้ อยากมีของเรา ใจที่อยากได้ อย่างมี แม้จะอยากได้พระนิพพานแทนที่จะอยากได้ทรัพย์ อยากได้โชคได้ลาภ มันก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถจะทำให้เกิดความทุกข์กับเราได้ ขึ้นชื่อว่าอยากได้ อยากมี อยากเป็น มันพาไปสู่ทุกข์ทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นอยากได้พระนิพพาน อยากเป็นพระพุทธเจ้า อยากเป็นพระอรหันต์ ขึ้นชื่อว่าอยากได้ อยากมี อยากเป็น มันก็ยังพาไปสู่ความทุกข์ ถึงแม้ว่าการอยากได้พระนิพพานประเสริฐกว่าการอยากได้ทรัพย์ อยากได้โชคอยากได้ลาภ แต่ลึกๆ มันก็เป็นการสนองความอยากได้ อยากมีของเรา ซึ่งเป็นกิเลส
ตราบใดที่เรายังมีใจใฝ่เสพ อยากได้ อยากมี ก็ยังหนีทุกข์ไม่พ้น แม้ว่าสิ่งที่อยากได้คือพระนิพพานก็ตาม แต่ถ้าหากว่าเราตั้งจิตว่า เมื่อใดโลกธรรมมากระทบ จิตก็ไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม
จริงๆ อันนี้ก็คือคุณสมบัติของพระนิพพาน แต่ว่าการที่เราตั้งจิตปรารถนาให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา อย่างน้อยมันก็แสดงว่าเราเข้าใจคุณลักษณะของพระนิพพาน
เพราะคนจำนวนไม่น้อย เข้าใจว่าพระนิพพานคือความสุข บางทีก็อาจจะนึกไปถึงเมืองแก้วเมืองสวรรค์ แม้จะไม่ได้นึกถึงเมืองแก้วเมืองสวรรค์ แต่พอนึกถึงความสุข มันก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด พอนึกถึงความสุข ก็อยากมี อยากได้
แต่ถ้าเข้าใจชัดว่าพระนิพพาน คุณลักษณะประการหนึ่งก็คือว่า เมื่อมีโลกธรรมมากระทบ จิตก็ไม่หวั่นไหว ใจก็ไม่กระเพื่อม ไม่มีขึ้นไม่มีลง ไม่มีฟูไม่มีแฟบ อันนี้ก็แสดงว่า มีความเข้าใจถูกต้องแล้วเกี่ยวกับพระนิพพาน ไม่ใช่ไปเข้าใจว่าหมายถึงความสุข ซึ่งบางทีมันอาจจะเป็นความสุขที่สนองกิเลสของเราก็ได้
อีกประการหนึ่ง ถ้าเกิดว่าเราตั้งจิตว่า แม้มีโลกธรรมใดมากระทบ ก็ขอให้จิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม มันก็เป็นเครื่องเตือนใจเราว่า เราจะต้องหมั่นรักษาใจให้มั่นคง ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่ขึ้นไม่ลง เมื่อมีอะไรมากระทบ ไม่ว่าบวกหรือลบ ดีหรือร้าย
แล้วก็เป็นเครื่องตรวจสอบด้วย ว่าเรามีความก้าวหน้าในทางธรรมแค่ไหนก็คือว่า ตราบใดที่ใจเรายังหวั่นไหว ยังมีอาการกระเพื่อม มีขึ้นมีลง มีฟูมีแฟบเมื่อมีสิ่งมากระทบ มันก็แสดงว่าเรายังไกลอยู่จากพระนิพพาน
ตรงข้าม ซึ่งผิดกับเวลาที่บอกว่า ขอให้จิตได้เข้าถึงพระนิพพาน ไม่มีสิ่งที่จะมาตรวจสอบเลย ว่าเราได้เข้าใกล้เพียงใด
แต่ถ้าเราตั้งจิตว่า เมื่อมีโลกธรรมมากระทบ จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม ไม่ยินดียินร้าย ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ฟูไม่แฟบ แล้วเกิดมีอะไรมากระทบ ใจเราเกิดความยินดี เช่น มีคนชมเรา ได้ลาภ เราก็เกิดความยินดี มีคนต่อว่า เราเกิดความยินร้าย มีใครชื่นชมเรา ใจก็ฟู มีใครต่อว่าเรา ใจก็แฟบ
อันนี้ก็เป็นตัวชี้วัด ว่าเรายังห่างไกลพระนิพพาน ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการกระตุ้นให้เราต้องฝึกตน รักษาใจให้มากขึ้น
ฉะนั้น พอเราตั้งจิตว่า ขอให้จิตมั่นคง ไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม เมื่อมีโลกธรรมมากระทบ ถ้าเรามุ่งมั่นอยู่กับตรงนี้ มันก็จะกระตุ้นให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกจิตฝึกใจ
ไม่ใช่เอาแต่ขอ ว่าขอให้ได้บรรลุพระนิพพาน แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็เอาแต่ไปทำบุญ แล้วก็ขอให้บรรลุพระนิพพาน ขอให้เวลาไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระบรมสารีริกธาตุ ก็ขอให้เข้าถึงพระนิพพาน แต่ไม่ได้ทำอะไรมากกว่าการทำบุญ ซึ่งก็ดี มันดีกว่าการไปขอให้ร่ำรวย
แต่ว่ามันจะดีกว่า ถ้าเราตั้งจิตว่า เมื่อโลกธรรมมากระทบ ขอให้จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม อย่างที่ในมงคลข้อที่ 35 36 37 38 ท่านบอกเอาไว้
จิตของผู้ใด เมื่อโลกธรรมมากระทบแล้วไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส เป็นจิตเกษมศานต์ อันนี้เป็นตัวชี้วัดว่าการปฏิบัติของเราก้าวหน้าเพียงใด เวลาใจเราหวั่นไหว ไม่ว่าขึ้นหรือลง ฟูหรือแฟบ อันนี้ก็แสดงว่าเรามีการบ้านที่จะต้องทำ
และการบ้านที่ว่านี่ ต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกสติ นอกจากการรักษาศีล เช่น ศีล 5 หรือ ศีล 8 แล้ว การฝึกสติก็สำคัญ เพราะสติช่วยทำให้ใจไม่ฟูไม่แฟบ ไม่เกิดความยินดียินร้าย
ยิ่งถ้ามีปัญญา รู้แจ้งสัจธรรมความจริง จนไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใด ว่าเป็นกู เป็นของกู คือไม่มีการปรุงตัวกูขึ้นมา ไม่ว่าคำสรรเสริญ หรือคำต่อว่าด่าทอ ก็ไม่ทำให้จิตกระเพื่อมใจหวั่นไหวได้
ไม่ว่าได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ไม่ว่าได้ยศหรือเสื่อมยศ ถ้าใจไม่ได้ไปยึดติดถือมั่นในสิ่งนั้น ว่าเป็นกู เป็นของกู ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เมื่อได้ ใจก็ไม่ฟู เมื่อเสีย ใจก็ไม่แฟบ หรือว่าเมื่อได้ครอบครอง ใจก็ไม่มีอาการขึ้น เมื่อถูกแย่งชิงไป ใจก็ไม่มีอาการลง
อันนี้เพราะว่ามีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม จนกระทั่งรื้อถอนอวิชชา ไม่ปรุงตัวกูขึ้นมา เป็นนั่นเป็นนี่ต่อไป แต่ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นนั้น อย่างน้อยก็ฝึกสติเอาไว้
ฉะนั้นเมื่อมีปัญญาถึงขั้นที่เห็นแจ้งในสัจธรรม ก็เป็นอันว่าอาการฟูแฟบ ขึ้นลง ยินดียินร้าย ก็จะไม่มี แต่ว่าตราบใดที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ มันก็ยังมีอาการฟูแฟบ ขึ้นลง จิตหวั่นไหว ใจกระเพื่อม เมื่อมีการมากระทบ หรือเมื่อมีโลกธรรมมาถูกต้อง โลกธรรมฝ่ายบวก โลกธรรมฝ่ายลบ
แต่ถ้ามีสติ พอฟู มีสติรู้ทัน ใจก็กลับมาเป็นปกติ พอจิตแฟบ มีสติรู้ทัน เห็นมัน ใจก็กลับมาเป็นปกติ เวลาดีใจ แต่พอเห็นความดีใจ มันก็กลับมาเป็นปกติ เวลาเสียใจ มีสติ เห็นมัน มันก็กลับมาเป็นปกติ
ตราบใดที่เป็นปุถุชน การที่จะไม่ฟูไม่แฟบ ก็เป็นเรื่องยาก ไม่ขึ้นไม่ลงก็เป็นเรื่องยาก ไม่ยินดียินร้ายก็เป็นเรื่องยาก แต่ว่าเราสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เมื่อฟูก็เห็นมัน เมื่อแฟบก็เห็นมัน เมื่อยินดีก็เห็นมัน เมื่อยินร้ายก็เห็นมัน เมื่อดีใจก็เห็นมัน เมื่อเสียใจก็เห็นมัน จิตก็กลับมาเป็นปกติได้
เวลาเจริญสติ ควรจะเห็นตรงนี้ว่า สติมันช่วยให้ใจกลับมาเป็นปกติได้ ไม่ว่าในยามที่จิตฟู หรือในยามที่จิตแฟบ มีความดีใจ มีความเสียใจ และการเห็นนี่ มันจะนำไปสู่ภาวะรู้ซื่อๆ ถ้าเห็นด้วยสติ ก็คือว่า แม้ฟูแม้แฟบ แต่ก็เห็นมัน โดยที่ไม่ไปทำอะไรกับมัน
มีความดีใจ ก็ไม่ได้ไปทำอะไรกับความดีใจนั้น ก็แค่ดูมันเฉยๆ มีความเสียใจ ก็ไม่ได้ทำอะไรกับมัน แค่ดูมันเฉยๆ ตรงนี้อาจจะยากสักหน่อย เพราะว่าหลายคน พอมีความดีใจ ก็ไหลไปตามความดีใจ แต่เวลาเสียใจ ก็ไปพยายามกดข่มมัน เวลามีความโกรธก็เหมือนกัน อดรนทนไม่ได้ อยากจะไปกดข่ม อยากจะไปกำจัดมัน อันนี้ไม่ใช่รู้ซื่อๆ
รู้ซื่อๆ ก็คือว่า ไม่ผลักไส แล้วก็ไม่ไหลตาม ไม่ผลักไส ไม่ไหลตาม แค่ดูมันเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์กุศล หรืออารมณ์อกุศล ไม่ว่าอารมณ์ฝ่ายบวก หรืออารมณ์ฝ่ายลบ
หลายคนมาภาวนา ก็เพราะอยากจะให้มีอารมณ์ฝ่ายกุศลเกิดขึ้น เช่น ความสงบ ความปิติ พอมันมีอารมณ์ฝ่ายอกุศล เช่น ความเครียด ความหงุดหงิด ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา จะไปพยายามกดข่มมัน อันนี้เป็นกับดักของนักปฏิบัติจำนวนมาก มีการเลือกที่รักมักที่ชังว่า ความคิดหรืออารมณ์แบบนี้ เอา เกิดขึ้นแล้วก็มีความเคลิ้มหลงใหล ความคิดหรืออารมณ์แบบนี้ ฉันไม่เอา ก็ต้องไปผลักไส หาทางกำจัด อันนี้ไม่เรียกว่ารู้ซื่อๆ
ถ้ารู้ซื่อๆ ก็คือว่า ไม่ว่ามันจะบวกหรือลบ ไม่ว่ามันจะขึ้นหรือลง ก็แค่ดูมันเฉยๆ ไม่ไปทำอะไรกับมัน แต่เนื่องจากนักปฏิบัติจำนวนมาก ไปยึดติดกับความถูกต้อง อารมณ์บางอย่างนี่ทนไม่ได้ที่มันเกิดขึ้น เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง เช่น ความโกรธ ความอิจฉา ความโลภ ราคะ เกิดขึ้นแล้วมันไม่ถูกต้อง
หรือแม้แต่เสียงในหัว เสียงที่ตำหนิครูบาอาจารย์ จ้วงจาบพระรัตนตรัย พอเกิดขึ้นมา ทนไม่ได้ อยากจะเข้าไปจัดการกับมัน เพราะมันไม่ถูกต้อง ธรรมชาติของนักปฏิบัติ คนใฝ่ธรรมจะไปยึดติดความถูกต้อง อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ทนไม่ได้ หรือบางทีก็เพราะมันไม่ถูกใจ ความโกรธ ความเครียด ความหงุดหงิด มันไม่ถูกใจเรา เพราะเรามาปฏิบัติเพื่อจะเอาความสงบ แต่ทำไมมันฟุ้งเหลือเกิน ไม่ถูกใจ
ความไม่ถูกใจ และความไม่ถูกต้องที่มันจะมาล่อให้ใจของเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ หรือรู้ซื่อๆ ไม่ได้ มันต้องเข้าไปจัดการ สิ่งที่ไม่ถูกต้องนี้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม เราก็ต้องรู้จักเตือนใจเรา
หลวงพ่อชาท่านพูดดีมาก ท่านบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง มันถูกต้องของมันอยู่แล้ว ความไม่ถูกต้องอย่างเดียวก็คือความคิดของเรา ทุกอย่าง ท่านใช้คำว่าทุกสิ่งทุกอย่างเลย ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือว่าธรรมารมณ์ คือความคิดและอารมณ์ในใจเรา มันถูกต้องของมัน
ถูกต้องของมัน หมายความว่า มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เมื่อมีเหตุมีปัจจัย มันก็เกิด มันไม่ได้เกิดผิดกฎธรรมชาติอะไรเลย แต่ที่ไม่ถูกต้อง คือใจของเรา ที่ยอมรับมันไม่ได้ ทุกอย่างมันถูกต้องทั้งนั้น
อันนี้อาจจะสวนทางกับความคิดของหลายคน โดยเฉพาะคนที่สนใจธรรมะ บาปคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความอิจฉาคือความไม่ถูกต้อง แต่พอมาปฏิบัติ ทุกอย่างมันก็ถูกต้องทั้งนั้น แต่ที่ไม่ถูกต้องก็คือใจของเรา หรือความคิดของเรา อยากจะให้มันเป็นไปดั่งใจ พอเราอยากจะให้มันเป็นไปดั่งใจ หรือเป็นไปตามความต้องการของเรา ตรงนี้มันกลายเป็นความไม่ถูกต้องแล้ว
ปกติ คนที่สนใจธรรมะ จะถูกฝึกมาเพื่อให้ควบคุมความคิดและอารมณ์ อย่าปล่อยใจไปตามความคิด ปล่อยใจไปตามอารมณ์ เช่น มันโกรธ มีความโกรธเกิดขึ้น ก็อย่าปล่อยให้มันสั่งกายวาจา ให้ด่าให้ทำร้าย เวลามีความอยาก ก็รู้จักกดข่มมัน อย่าทำตามความอยาก หรืออย่าปล่อยให้มันอาละวาด อันนี้ก็ดีอยู่ แต่ว่าพอมาถึงจุดหนึ่ง เราต้องเรียนรู้ที่จะดูมันเฉยๆ ไม่ทำอะไรกับมัน จากเดิมที่ฝึกจิตเพื่อบังคับมัน ตอนนี้เราจะไม่บังคับ เราจะดูมันเฉยๆ มันจะเป็นอย่างไร ก็ปล่อยให้มันไป แต่ว่าไม่ไปร่วมวงกับมัน
เคยมีลูกศิษย์ถามหลวงพ่อชาว่า เวลานั่งสมาธิ จิตมันฟุ้ง มันเตลิด ภาวนาอย่างไรจิตจึงสงบ อันนี้ก็คงเป็นคำถาม หรือความสงสัยในใจของหลายคน หลวงพ่อชาท่านตอบอย่างนี้ ท่านตอบว่า มันเตลิดก็ช่างมัน เดี๋ยวมันขี้เกียจคิด มันก็หยุดไปเอง
คือขณะที่ลูกศิษย์ คิดถึงเรื่องการบังคับควบคุมจิต หลวงพ่อชาท่านกลับมองว่า ไม่ต้องไปบังคับหรอก แค่รู้ทันมันก็พอแล้ว อันนี้มันเป็นความรู้ใหม่ เพราะว่าเราถูกฝึกว่า มันต้องไปควบคุมจัดการ กับความคิดและอารมณ์ อย่าส่งจิตออกนอก แต่พอเรามาปฏิบัติถึงจุดหนึ่ง สำหรับคนที่พยายามควบคุมความคิด ครูบาอาจารย์ท่านก็จะบอกว่าให้ปล่อยมัน
คือคนทั่วไปนี่ปล่อยใจไปตามอารมณ์ ท่านก็เลยสอน ให้รู้จักควบคุมความคิด ควบคุมอารมณ์ แต่พอควบคุมความคิดควบคุมอารมณ์มากๆ มันจะเหวี่ยงไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็จะทำให้เกิดความเครียด เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา เพราะยอมรับไม่ได้ ที่มันมีความคิด มีอารมณ์อกุศลเกิดขึ้น ท่านก็จะสอนว่า ให้ดูเฉยๆ รู้ซื่อๆ ก็คือเพื่อให้เกิดความสมดุลนั่นแหละ
กับคนที่ปล่อย ท่านก็สอนให้ควบคุม คนที่พยายามควบคุมมากๆ ท่านก็ให้ปล่อย หรือดูมันเฉยๆ ยอมรับอย่างที่มันเป็น
การฝึกใจยอมรับทุกความคิด ทุกอารมณ์ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เราต้องฝึก เพราะเราจะไปบังคับควบคุมจิต หรือความคิด ให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการนี่ มันไม่ได้ และถึงแม้เราจะคิดว่าเราจะฝึกได้ก็ตาม แต่ว่าไม่ใช่ว่าทุกอย่าง เราจะบังคับให้เป็นไปดั่งใจเราได้
ก็เหมือนกับเล่นกีฬา เราก็ควรพยายามฝึก ขยันฝึก ขยันซ้อม เพื่อจะได้ชัยช แต่ถ้าเกิดว่าไม่ช เกิดแพ้ สิ่งที่เราต้องฝึกก็คือ ยอมรับความพ่ายแพ้ เพราะถ้าเรายังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ เราก็จะทุกข์
หลายคนอาจจะคิดว่า เราต้องฝึก เพื่อให้จิตสงบ ก็ดีแล้วที่ฝึกเพื่อให้จิตสงบ แต่ถ้าเกิดมันไม่สงบอย่างที่ต้องการ คือมันฟุ้ง ควรจะทำอย่างไร ก็ยอมรับมัน เพราะถ้าเราไม่ยอมรับ ก็จะยิ่งทุกข์ยิ่งเครียดมากขึ้น นักปฏิบัติจำนวนมาก เครียดทุกข์หงุดหงิด เพราะยอมรับไม่ได้ที่มีความฟุ้งเกิดขึ้น ยอมรับไม่ได้ที่มีความคิดลบเกิดขึ้น
การฝึกใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปฏิบัติด้วย เพราะว่าอย่างที่หลวงพ่อชาท่านบอก ทุกสิ่งทุกอย่าง มันถูกต้องของมัน ความไม่ถูกต้องมีอย่างเดียว คือความคิดของเรา ความคิดที่ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่ถ้าเราฝึกใจ ให้ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ เราจะทุกข์น้อยลง และเราก็จะมีโอกาสได้เห็นสัจธรรมความจริงจากสิ่งที่เกิดขึ้น และถ้าเรายอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือความคิดต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ เราก็จะไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าถ้าเราไม่ยอมรับมัน เราพยายามผลักไสมัน พยายามกดข่มมัน มันก็ยิ่งมีอำนาจเหนือเรา
คนที่ไม่ยอมรับความโศกความเศร้าความโกรธ พยายามกดข่มมัน สุดท้ายก็ตกอยู่ในอำนาจของมัน คนที่ไม่ยอมรับเสียงในหัว ที่ตำหนิครูบาอาจารย์ บุพการี จ้วงจาบพระรัตนตรัย พยายามไปต่อสู้ หรือสู้รบตบมือกับมัน ยิ่งตกอยู่ในอำนาจของมัน แต่พอเราเริ่มยอมรับได้ ใจมันก็จะเริ่มไม่หวั่นไหวแล้ว ไม่กระเพื่อมแล้ว
เสียงดังมากระทบ แต่เรายอมรับได้ มันก็ไม่เกิดความหงุดหงิด ความร้อนเกิดขึ้น มากระทบกาย เรายอมรับได้ ใจก็ไม่ร้อน มีเวทนาเกิดขึ้นกับร่างกาย ปวดเมื่อย หลัง เข่า แต่ใจยอมรับได้ มันก็ปวดแต่กาย แต่ใจไม่ทุกข์
อันนี้ก็เป็นวิธีการ ในการช่วยทำให้จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ถึงขั้นบรรลุพระนิพพาน แต่ว่าก็ทำให้ใจเราตั้งมั่น เป็นขณะๆ ไป เป็นครั้งคราวไป หรือว่าชั่วคราว แต่มันก็พาเราเข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้น เพราะเมื่อจิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม เมื่อมีสิ่งต่างๆ มากระทบ แต่ได้อาศัยสติ การรู้ซื่อๆ หรือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะเริ่มเห็นสัจธรรมความจริงจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะเห็นแจ้ง หรือเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า เหตุแห่งทุกข์นี่ ถ้าเป็นทุกข์ใจแล้ว มันก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา ใจที่มีการผลักไสหรือไหลตาม ใจที่ไม่ยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น
ความจริงที่ปรากฏแก่ใจของเรานี่แหละ จะช่วยทำให้เราเกิดปัญญา และปัญญาที่ว่า ก็จะทำให้จิตใจได้เข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้น พระนิพพานจะไม่ใช่เป็นเรื่องนามธรรมแล้ว แต่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา นั่นก็คือการที่จิตมีความปกติ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ฟูไม่แฟบ หรือพูดง่ายๆ คืออยู่เหนือสุขเหนือทุกข์นั่นเอง
เพราะฉะนั้น เวลาเราจะตั้งจิตปรารถนาอะไร นอกจากการปรารถนาพระนิพพานแล้ว ก็ลองนึกไปอีกขั้นหนึ่ง ปรารถนาว่า ไม่ว่ามีอะไรมากระทบ ก็ขอให้จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม นั่นแหละจะทำให้เข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง.