พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 สิงหาคม 2567
เมื่อสัก 3-4 วันก่อน มีข่าวก็ไม่ใช่ข่าวใหญ่แต่ก็น่าสนใจคือ มีการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์บนภูหินร่องกล้า เขาพบรอยนั้น 10 รอยบนแผ่นหิน ซึ่งเข้าใจว่าเดิมคงจะเป็นแม่น้ำหรือว่าเป็นโคลนตามร่องน้ำ มีการรายงานข่าวนี้ทางโทรทัศน์ รวมทั้งทางโซเชียลมีเดียด้วย
ที่น่าสนใจคือ ข่าวที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย พอโพสต์ลงไปแล้ว ปรากฏว่ามีคนแสดงความเห็นมากมาย แต่เป็นความเห็นที่ไม่น่าเชื่อว่ามาจากคนที่มีการศึกษาหรือมีความรู้ อย่างเช่นมีความเห็นหนึ่งบอกว่า “เกิดทันเหรอถึงรู้ว่าเป็นไดโนเสาร์อ่ะ” ความเห็นหนึ่งก็บอกว่า “120 ล้านปี มโนเกินไปหรือเปล่า”
อีกความเห็นหนึ่งก็บอกว่า “หินนี่มันไม่ใช่นุ่มนะ ขนาดช้างยังเดินเหยียบหินไม่ทะลุเลย แล้วไดโนเสาร์จะเหยียบได้อย่างไรเป็นรอย” อีกความเห็นหนึ่งก็บอกว่า “ถ้าไดโนเสาร์จริงก็คงวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านแล้วล่ะ มันคงไม่ไปเพ่นพ่านในป่า” นอกนั้นก็พูดสั้นๆ ว่า “เพ้อเจ้อ” “เลอะเทอะ” “ไร้สาระ” “หลอกเด็กอนุบาล”
ความเห็นมีแต่ทำนองนี้ทั้งนั้นเลย บางความเห็นก็ดูเหมือนว่ามีเหตุมีผลนะ เช่นบอกว่า เกิดทันเหรอถึงรู้ว่าเป็นไดโนเสาร์ หรือว่าขนาดช้างยังเหยียบหินไม่ทะลุเลย แล้วไดโนเสาร์จะเหยียบหินทะลุได้อย่างไร มันเป็นความเห็นหรือตรรกะที่ดูมีเหตุผลนะ แต่มันสะท้อนถึงความไม่รู้ ความไม่รู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เบื้องต้นเลย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เป็นการแสดงความเห็นโดยแสดงถึงความไม่รู้
ถ้าไม่รู้แล้วตัวเองบอกว่าไม่รู้ ก็ยังพอว่านะ แต่พอไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร ก็เกิดความหลงตัวลืมตน แสดงความเห็นอย่างจะเรียกว่าไม่รับผิดชอบก็ได้ คือว่าเป็นการเผยถึงความไม่รู้หรือความเขลาของตัว เพราะว่ามันไม่จำเป็นต้องเกิดทันยุคไดโนเสาร์ถึงรู้ว่า นี่คือไดโนเสาร์ที่มาเดินอยู่บนดินแดนที่ตอนหลังเรียกว่าภูหินร่องกล้า เดี๋ยวนี้เรามีความรู้มากพอที่จะบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร แม้จะไม่เห็นด้วยตา แต่ว่าแค่มีร่องรอย เราก็รู้ได้
เอาง่ายๆ เราไม่ได้อยู่ในห้องนี้หรือในห้องที่มีเหตุฆาตกรรม แต่เราก็พอจะรู้ว่า มีใครอยู่ในเหตุการณ์นั้น หรืออยู่ในห้องนั้น ดูจากอะไร ก็ดูจากลายนิ้วมือที่ทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ จุดต่างๆ ในห้อง ก็ทำให้เราคาดคะเนหรือประมาณได้ว่า มีใครอยู่ในห้องนี้ ไม่ใช่ว่าต้องอยู่ในห้องนั้น ถึงจะรู้ว่ามีใครอยู่
เพราะฉะนั้นเพียงแค่เห็นรอยเท้า เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ก็ก้าวหน้าพอที่จะบอกได้ว่า นี่เป็นรอยเท้าของอะไร ของสัตว์ชนิดใด เพราะเดี๋ยวนี้แค่ฟังเสียง ก็รู้แล้วว่าเป็นนกชนิดไหน แล้วเรื่องการคาดคะเนว่าอายุเท่าไหร่ ไม่ได้หมายความว่าต้องเกิดทันถึงจะรู้ว่า มันมีไดโนเสาร์อยู่ในช่วงนั้นๆ อย่าว่าแต่ยุคไดโนเสาร์ 120 ล้านปีเลย ต้นไม้อายุกี่ร้อยปีเราก็พอจะบอกได้ว่าอายุ 300 ปี 400 ปี ไม่ได้แปลว่าเราต้องเกิดทันถึงจะบอกได้ว่ามันอายุ 300 ปี
แต่เรื่องแบบนี้ ความรู้แบบนี้ ดูเหมือนจะไม่อยู่ในหัวของคนที่แสดงความเห็นเลย แม้กระทั่งที่ให้ความเห็นว่า หินนี่ช้างยังเหยียบไม่ทะลุเลย แล้วไดโนเสาร์จะเหยียบให้มันเป็นรอยได้อย่างไร ก็ตอนที่ไดโนเสาร์อยู่ มันไม่ใช่เป็นหินนี่ มันเป็นดินเป็นโคลน ไดโนเสาร์เดินผ่านมาก็เหยียบเป็นรอย พอน้ำแห้งก็กลายเป็นร่องเป็นรอยขึ้นมา
แล้วตอนหลังพอมีน้ำท่วมถึง ตะกอนก็ทับถมปิดรอยนั้นเอาไว้ รอยนั้นก็เลยคงอยู่ ตะกอนที่ถูกทับถมไปนานๆ มันก็กลายเป็นหิน โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นราบ มีน้ำท่วมถึงก็ถูกยกขึ้น น้ำหาย ตะกอนเหล่านั้นก็กลายเป็นหิน ถูกลมชะ ถูกฝนฉะก็ค่อยๆ หายไป สุดท้ายก็เหลือรอยเท้าไดโนเสาร์บนพื้นที่กลายเป็นหิน
ถ้ามีความรู้ทางด้านธรณีวิทยา ก็จะรู้ว่าหินก็เกิดจากดินนั่นแหละ แล้วดินเมื่อ 60 ล้านปีก่อนหรือ 120 ล้านปี ก็กลายเป็นหินได้ไม่ยาก แล้วน่าตลกนะ บอกว่าถ้าไดโนเสาร์อยู่มีจริง มันคงจะเพ่นพ่านเข้าไปในหมู่บ้านแล้ว ก็ 120 ล้านปีที่แล้วจะมีคนอยู่ได้ที่ไหน ไม่ใช่แค่ 100-200 ปีที่แล้ว
แสดงให้เห็นเลยนะว่า ความเห็นที่แสดงออกมา นอกจากไม่มีความรู้รองรับแล้ว ยังแสดงถึงความไม่รู้ด้วย ซึ่งก็น่าเป็นห่วงถ้าเกิดว่าคนที่แสดงความเห็นไม่ใช่เด็กประถม แต่ว่าเป็นนักศึกษา เป็นวัยรุ่น หรือเป็นคนที่ผ่านการศึกษามาอย่างน้อยๆ มัธยม
มันชี้ให้เห็นเลยว่า ทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อย ชอบแสดงความเห็นโดยไม่มีความรู้ และไม่คิดจะหาความรู้ด้วย แต่ความเห็นแบบนี้มันออกมาไม่ได้ถ้าไม่มีทัศนคติอีกแบบหนึ่ง คือทัศนคติที่ชอบป่วน ชอบแซะ ชอบวิจารณ์
ซึ่งอาจจะมองว่าอันนั้นเป็นนิสัยของวัยรุ่นก็ได้ เพราะวัยรุ่นนี่ คะนอง ถ้าสมัยก่อนก็เอาสีฉีดพ่นตามกำแพง หรือว่าขี่มอเตอร์ไซค์ก็เบิ้ลให้มันดัง หรือไม่ก็เอาก้อนหินขว้างกระจก กระจกบ้านที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ หนักหน่อยก็ยกพวกตีกัน หรือไม่ก็ไปแซวผู้หญิง ธรรมชาติของวัยรุ่นเป็นแบบนั้น คือเรียกว่าชอบป่วน ชอบก่อกวน ซึ่งพอโตขึ้นอาจจะนิสัยเปลี่ยนไป
แต่มานึกดู ถ้ามันเป็นแค่ความเห็นของวัยรุ่นที่ชอบป่วนชอบแซะ ก็ไม่น่าเป็นห่วง ที่น่าเป็นห่วงคือ มันเป็นความเห็นหรือเป็นทัศนคติของคนทั่วไปด้วย รวมทั้งผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ เพราะว่าถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังมีความเห็นแบบนี้มันก็น่าเป็นห่วง แต่ดูมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนั้น
เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว มีร้านอาหารร้านหนึ่งแถวพิษณุโลก เก่งมากเรื่องทำผักบุ้งเหินฟ้า เชฟหรือพ่อครัว พอผัดผักบุ้งเสร็จ ก็จะโยน แล้วก็จะมีลูกน้องถือจานรอรับผักบุ้งอีกที่หนึ่งเลย ห่างประมาณสัก 5 เมตร บางทีก็ 10 เมตร แล้วก็โยนแม่นมาก โยนทั้งกระทะ แต่ว่ากระทะอยู่นะ ผักบุ้งก็ลอย แล้วก็มีคนรอรับ
ร้านนี้ก็ดัง เพราะว่ารายการตามไปดู สมัยก่อนคนติดตามรายการนี้มาก เลยมีคนไทยคนฝรั่งไปดู แค่ไปดูอย่างเดียวนะ ไม่ได้ไปกิน ไปดูเขาทำผักบุ้งลอยฟ้า ฝรั่งก็ไป เวลาพ่อครัวโยนผักบุ้ง แล้วลูกน้องซึ่งถือจานเปลหรือจานธรรมดารอรับอยู่ พอรับได้พอดิบพอดีเลยนะ ฝรั่งก็ตบมือ ชมเลย ปรากฏว่าคนไทยนี่เงียบ เชฟจะโยนไปกี่ครั้งกี่ครั้ง ลูกน้องรับได้ทุกครั้ง ฝรั่งตบมือชม แต่คนไทยเงียบ
แต่มีคราวหนึ่ง เชฟโยน ปรากฏว่าลูกน้องรับพลาด คนไทยตบมือกันใหญ่ เฮ ฝรั่งเงียบเลยนะ หมายความว่าขณะที่ฝรั่งเขาชมเวลาใครทำอะไรได้ดี เขาชม ตบมือ แต่คนไทยที่ไปดูในเหตุการณ์นั้น กลับไม่ชื่นชม แต่พอเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ดีใจ สะใจ อันนี้มันสะท้อนอะไร สะท้อนว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่รู้จักชื่นชม เวลาใครทำดี ก็ไม่ได้ชื่นชม แต่ถ้าพลาดเมื่อไรก็จะซ้ำเติม หรือถึงแม้ทำดี แต่ก็ยังหาเรื่องบ่อน หาเรื่องป่วน เรื่องแซะ
อย่างกรณีพบรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ภูหินร่องกล้า ไม่เห็นมีใครสักคนที่เขียนความเห็นชมคนที่ค้นพบ หรือว่ายินดี ดีใจที่มีการค้นพบสิ่งสำคัญที่เมืองไทยของเรา โดยเฉพาะในภาคอีสาน มีแต่คนแซะ มีแต่คนป่วน ดูถูกเย้ยหยันว่ามโนหรือเปล่า เพ้อเจ้อ หลอกเด็กอนุบาล ซึ่งถ้าเกิดว่ามันเป็นทัศนคติของคนไทยจำนวนมาก น่าเป็นห่วง แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนั้น หรืออย่างน้อยก็แพร่ระบาดไปตามวงการต่างๆ
คือใครทำดีก็จะหาช่องตำหนิ มีโอกาสที่จะแซะได้ก็แซะ บางทีกลายเป็นเรื่องเท่ไป แข่งกันว่าใครจะแซะได้ดีกว่ากัน ใครจะแซะได้เจ็บกว่ากัน ซึ่งอันนี้ถ้าเป็นนิสัยเฉพาะของวัยรุ่นนี่ ก็ยังไม่เป็นไร เพราะว่าปกติทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดว่ามันเกิดขึ้นกับคนวัยอื่นด้วย นี่น่าเป็นห่วง แล้วแนวโน้มหรือท่าทางก็จะเป็นอย่างนั้น
อย่างเมื่อ 2 วันก่อน หลังจากที่ผลการแข่งขันแบดมินตันโอลิมปิกปรากฏออกมาว่า วิว กุลวุฒิ แพ้ ได้เหรียญเงิน ก็มีหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งพาดหัวข่าว “ชวดเหรียญทอง สร้างประวัติศาสตร์ไม่สำเร็จ” คือแทนที่จะชมว่า นักกีฬาของเราได้เหรียญเงิน ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของแบดมินตันไทย ส่งนักกีฬาไปแข่งแบดมินตันโอลิมปิก 30 กว่าปี ไม่เคยมีใครได้เหรียญแม้แต่เหรียญเดียว คราวนี้วิวเขาได้ตั้งเหรียญเงิน
แทนที่จะชมว่า สร้างประวัติศาสตร์ ได้เหรียญแรกของไทย กลับพาดหัวข่าวว่า ชวดเหรียญทอง สร้างประวัติศาสตร์ไม่สำเร็จ มันสะท้อนถึงมุมมองของคนพาดหัวข่าว คือมองลบ แทนที่จะชมที่นักกีฬาไทยมาถึงระดับนี้ กลับบอกว่าทำไม่สำเร็จ ล้มเหลว ปรากฏว่าโดนคนวิจารณ์เยอะเลยนะ ว่าทำไมถึงพาดหัวข่าวแบบนี้ แต่การที่มีการพาดหัวข่าวแบบนี้ได้ ก็แสดงว่ามันมีคนที่คิดแบบนี้จริงๆ มีทัศนคติในทางลบแบบนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เฉพาะวัยรุ่นที่ชอบแซะ ชอบป่วน แม้กระทั่งคนในวงการที่เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็คิดแบบนี้กันเยอะ
ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวต่างๆ มากมาย เวลาลูกแข่งฟุตบอลชิงชนะเลิศ ปรากฏว่าแพ้ ได้ที่ 2 กลับมาถึงบ้าน แทนที่พ่อจะชม กลับว่าทำไมถึงแพ้เขา เราก็คนเหมือนกัน ทำไมแพ้ อันนี้เป็นประสบการณ์ที่ลูกหลายคนเจอ พ่อแม่หรืออาจจะรวมถึงครูด้วย เวลาลูกหรือนักเรียนแพ้ขึ้นมา ไม่ว่าจะแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ หรือว่าแข่งดนตรี ประกวดดนตรี หรือว่าแข่งฟุตบอล แข่งกีฬา พอแพ้ แทนที่พ่อหรือครูจะให้กำลังใจ หรือแทนที่จะเห็นว่า ลูกหรือลูกศิษย์เขาพยายามนะ แทนที่จะให้คะแนนความพยายาม กลับตำหนิว่าทำไมถึงแพ้
อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัวมาก เด็กบางคนก็เรียนดี สอบได้เกรด 3.8 พอพ่อเห็นบอกว่า ยังทำได้ดีไม่มากพอ คราวหน้าต้องทำให้ดีกว่านี้ ลูกนี่เหี่ยวเลย อันนี้มันแสดงทัศนคติของคนที่เป็นพ่อ คนที่เป็นครู ที่จริงคนไทยจำนวนไม่น้อย คือชอบมองลบ ไม่รู้จักชม ไม่รู้จักให้กำลังใจ ซึ่งก็ทำให้เด็กไม่ว่าจะเป็นลูกหรือนักเรียนท้อแท้ รู้สึกแย่กับตัวเอง บางคนถูกตำหนิจนไม่เห็นความดีของตัวเอง
มีนักเรียนคนหนึ่งอายุแค่ 6-7 ขวบ เป็นพวกไฮเปอร์หน่อยๆ เวลาแม่ไปรับลูก ครูก็มักจะมาบอกว่า เด็กคนนี้มีเรื่องอะไรกับเพื่อนบ้าง เจออย่างนี้อยู่บ่อยๆ ตอนหลังเวลาลูกกลับมาจากโรงเรียน แม่ก็จะถามว่าวันนี้ลูกไปมีเรื่องกับใครบ้าง ถามอย่างนี้ตลอดเวลาเลย
แล้ววันหนึ่งครูให้นักเรียนเขียนเรียงความ พูดถึงความสามารถของตัวเองว่า ตัวเองมีความเด่นอะไรบ้าง ปรากฏว่าเด็กคนนี้เขียนไม่ออกเลย คนอื่นเขียนออกนะ แต่เด็กคนนี้เขียนไม่ออก ครูแปลกใจก็เลยมาเล่าให้แม่ฟัง พอแม่ได้ยิน แม่ร้องไห้เลย เพราะรู้ว่าสาเหตุอยู่ที่แม่
คือแม่ถามอยู่นั่นแหละว่าลูกไปมีปัญหาอะไรมา จนกระทั่งลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย กลับบ้านทีไรแม่ก็ถามว่าไปมีเรื่องกับใครมา มองเห็นลูกแต่ในแง่ลบ ลูกก็เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย พอครูให้เขียนเรียงความว่ามีความสามารถอะไรบ้าง เขียนไม่ออก แม่ก็ร้องไห้เลยนะ เล่าเรื่องนี้ให้อาตมาฟัง อาตมาก็บอกว่า ทีหลังเวลาลูกกลับมาบ้าน ก็ถามลูกสิว่าวันนี้ลูกทำอะไรดีมาบ้าง มันไม่ได้ดีต่อลูกนะ แต่ดีต่อแม่ด้วย เพราะทำให้แม่รู้จักมองลูกในทางบวกบ้าง
เดี๋ยวนี้คนไทยเราเป็นอย่างนี้เยอะ แล้วเป็นกันหมด พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ รวมทั้งคนที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ คือมองเห็นแต่ลบ ไม่สามารถที่จะมองเห็นด้านบวกของใคร เพราะฉะนั้นชมไม่เป็น ก็มีแต่จะแซะ มีแต่จะวิจารณ์ แล้วพอเป็นอย่างนี้บ่อยๆ มันกลับส่งผลร้ายต่อตัวเอง คือมองชีวิตของตัวเองหรือมองอะไรรอบตัวมีแต่ลบไปหมดเลย ไม่สามารถที่จะเห็นอะไรดีๆ ที่ตัวเองมีอยู่
ชีวิตตัวเองอาจจะมีอะไรดีมากมาย แต่มองไม่เห็นเลย เห็นแต่ลบ เห็นแต่ความทุกข์ เห็นแต่อุปสรรค เห็นแต่ปัญหา หรือบางทีก็อาจเห็นความผิดพลาด ตื่นเช้าขึ้นมา ไม่สามารถที่จะชื่นชมสิ่งที่มีอยู่รอบตัวได้เลย มองไม่เห็นเลยนะว่าฟ้ามันสวย เรารู้สึกโชคดีนะที่เรายังมีลมหายใจ คิดไม่ออกจริงๆ เช่น รถติดมันดีอย่างไรบ้าง หรือว่าวันนี้เรามีอะไรดีๆ บอกมาสัก 5 อย่าง บางคนบอกไม่ได้เลย เห็นแต่ข้อเสีย ชีวิตแทนที่จะมีความสุขได้แบบง่ายๆ กลายเป็นชีวิตติดลบไป
ฉะนั้นพวกเราก็ต้องระวังนะ เราอย่าประมาท เพราะว่าพอเราอยู่ท่ามกลางคนที่คิดลบ ชอบแซะ ชอบวิจารณ์ เราก็จะเผลอรับเอาความคิดแบบนี้เข้ามา แต่ที่จริงอาจจะมีความคิดหรือทัศนคติแบบนี้อยู่แล้วก็ได้ เพราะว่าการเลี้ยงดูในครอบครัว พ่อแม่ หรือว่าการหล่อหลอมจากครูบาอาจารย์ จำนวนไม่น้อยเป็นแบบนี้ พอถูกใครมอง ถูกผู้ใหญ่มองในทางลบ ถูกผู้ใหญ่เห็นแต่ข้อผิดพลาด ถูกผู้ใหญ่ตำหนิ ก็เลยซึมซับรับเอาความคิดแบบนี้มา พอเห็นใครทำดีก็หมั่นไส้ หาช่องแซะ หาช่องป่วน
อย่างที่มีคนคอมเมนต์ในข่าวที่ว่า พบไดโนเสาร์ทีภูหินร่องกล้า มีแต่คอมเมนต์ที่ลบทั้งนั้นเลย แล้วมันไม่ได้สร้างสรรค์เลยนะ เช่นหาว่า เพ้อเจ้อ หลอกเด็กอนุบาล เกิดทันเหรอถึงรู้ว่าเป็นไดโนเสาร์ ลองนึกนะ คนที่ค้นพบไดโนเสาร์หรือคนที่เขาพยายามจะเผยแพร่ข่าวนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร มันเป็นเพราะคนไทยเป็นแบบนี้ ก็เลยเกิดความรู้สึกถูกบั่นทอนกำลังใจได้ง่ายๆ
แต่ว่าเราก็อย่าไปหวั่นไหวกับความคิดแบบนี้ เพราะถ้าเราหวั่นไหว แล้วเราไปซึมซับ รับเอาความคิดแบบนี้ ทัศนคติแบบนี้เข้ามา สุดท้ายมันก็เป็นผลเสียกับเรา ชีวิตเราก็ติดลบไปด้วย เจออะไรก็เห็นแต่เรื่องลบๆ มีข้อตำหนิ มีเรื่องบ่นอยู่เสมอ แล้วสุดท้ายก็แว้งกลับมาเห็นแต่ข้อผิดพลาดของตัวเอง หรือว่ามองอะไรก็มีแต่เรื่องลบๆ ชีวิตก็เลยติดลบไปด้วย