พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 สิงหาคม 2567
มีบาทหลวงชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อแอนโทนี เดอ เมลโล (Anthony de Mello) เป็นนักเขียนที่มีชื่อเล่าว่า โสเภณีที่มาหาเขา หลายคนก็พูดถึงแต่พระเจ้า บอกว่าชีวิตนี้มันเหลือทนเหลือเกิน แล้วก็อยากจะให้พระเจ้าได้ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่เวลานักบวชมาหาท่าน ก็มักจะพูดแต่เรื่องเพศหรือเรื่องผู้หญิงเพศตรงข้าม
คุณพ่อแอนโทนีก็เลยตั้งข้อสังเกตว่า คนเราเมื่อสละสิ่งใดไป ก็มักจะจมปลักหรือจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ที่จริงคงไม่ใช่เฉพาะว่า สละสิ่งใด แล้วก็มักจะจดจ่อ นึกถึง หรือจมปลักอยู่กับสิ่งนั้น อาจจะรวมไปถึงความรู้สึกว่า ถ้าพร่องสิ่งใด ก็จะนึกถึงสิ่งนั้นเป็นพิเศษ
อย่างโสเภณีที่คุณพ่อแอนโทนีพูดถึงนี้ ก็อาจจะเป็นผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองนี้พร่องหรือขาดในเรื่องของศาสนา ก็เลยนึกถึงสิ่งนั้นอยู่บ่อย ๆ ส่วนนักบวชรู้สึกพร่องในเรื่องความสุขทางเพศ ก็เลยนึกถึงสิ่งนั้นอยู่เป็นอาจิณ
ฉะนั้นถ้าเราลองพิจารณาดูดี ๆ ก็มักจะเป็นอย่างนั้น คนเราถ้าพร่องอะไร เราก็มักจะนึกถึงสิ่งนั้น หรือว่าปรารถนาที่จะได้สิ่งนั้น คนรวยแม้ว่าจะมีเงินเยอะ แต่จำนวนไม่น้อยก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังพร่องเรื่องเงิน ยังมีน้อยอยู่ ก็เลยคิดแต่เรื่องการหาเงินมาไม่จบไม่สิ้น เพราะยังรู้สึกว่ายังพร่องอยู่ ยังมีไม่พอ ก็เลยต้องอยากได้ไม่หยุดหย่อน
แล้วคนที่รู้สึกว่าชีวิตนี้ขาดความสงบก็จะนึกถึงความสงบ อยากจะได้ความสงบมา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ในสังคมปัจจุบัน ฝ่ายหนึ่งก็ตั้งหน้าตั้งตาหาเงินทั้งที่ก็มีเยอะแล้ว แต่ก็เพราะยังรู้สึกว่าพร่องอยู่ ยังขาดอยู่ อีกจำนวนหนึ่งก็แสวงหาความสงบ ทั้งที่ก็อาจจะมีความสงบอยู่แล้วแต่ก็ยังรู้สึกพร่อง ก็เลยอยากจะได้มาเพิ่มขึ้นอีก
มีเรื่องเล่าว่าตอนที่คานธีไปเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษ อังกฤษตอนนั้นก็มีคนอินเดียไปเรียนเยอะไปทำงานก็มาก แล้วคนอังกฤษก็มีท่าทีดูถูกเหยียดหยามคนอินเดีย เพราะว่ามีผิวสี เป็นคนเอเชีย
มีอาจารย์คนหนึ่งก็ไม่ค่อยชอบคานธีเท่าไหร่ หาโอกาสที่จะดูถูกคานธี วันหนึ่งขณะที่เรียนอยู่ อาจารย์ก็ถามคานธีว่า “มีกล่องอยู่ 2 กล่อง กล่องหนึ่งมีเงิน อีกกล่องหนึ่งมีความรู้ เธอจะเลือกกล่องไหน” คานธีบอก “ผมเลือกกล่องที่มีเงินครับ” ได้ยินเช่นนั้นอาจารย์ก็เลยยิ้มแล้วบอก “แต่อาจารย์เลือกกล่องที่มีความรู้” คานธีก็เลยตอบไปว่า “คนส่วนใหญ่อยากได้สิ่งที่ตัวเองไม่มี” อาจารย์ได้ยินก็นิ่งเงียบไปเลย
อันนี้ก็เป็นวิธีการแก้เผ็ดของคานธี ว่าเป็นเพราะอาจารย์นี้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความรู้ ก็เลยเลือกกล่องที่มีความรู้ ที่คานธีบอกว่าคนเราส่วนใหญ่เลือกหรืออยากได้สิ่งที่เราไม่มี มันก็คล้าย ๆ กับที่คุณพ่อแอนโทนีสรุปจากเรื่องที่เล่ามา คนเราเวลาพร่องหรือขาดสิ่งใด ก็มักจะจมปลักจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนเรามักจะเห็นแต่สิ่งที่ตัวเองไม่มี แล้วก็อยากได้สิ่งที่ไม่มีนั้นมาเพื่ออะไร เพื่อเติมเต็ม สิ่งที่มีอยู่นี้จึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญเท่าไหร่ เรามักจะให้คุณค่า ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรายังไม่มี
ฉะนั้นไม่ว่าเราจะมีมากเพียงใด ตราบใดที่เรายังขาดบางสิ่ง หรือเรายังรู้สึกว่ายังมีไม่พอ มันก็จะหาทางหาสิ่งนั้นมาช่วยถม มาเติมเต็มความพร่อง
ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ ก็เลยมักจะไม่ค่อยสนใจสิ่งที่ตัวเองมีเท่าไหร่ มีมากมายเท่าไหร่ก็ไม่ได้รู้สึกชื่นชมหรือพอใจ ตราบใดที่ยังพบว่ามันมีบางสิ่งที่พร่องหรือขาดหายไป เป็นเพราะแบบนี้คนเราก็เลยหาความสุขได้ยาก เพราะเห็นแต่สิ่งที่ตัวเองไม่มี แล้วคนเราจะมีครบทุกอย่างมันก็ยาก แม้จะมีเยอะ มีมาก แต่พอไปเห็นคนอื่นเขามีมากกว่าก็กลับรู้สึกว่าเรามีน้อย เกิดความรู้สึกพร่องขึ้นมา
อันนี้ก็เป็นปัญหาของคนสมัยนี้ เศรษฐีร้อยล้านพันล้านก็ยังรู้สึกพร่อง ยังรู้สึกขาด ยังรู้สึกว่ามีน้อย เพราะเห็นคนอื่นเขามีมากกว่า มีอำนาจมากเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้สึกพอใจสักที เพราะยังคิดหรือรู้สึกว่าตัวเองยังมีน้อย ยังมีไม่พอ ยังพร่องอยู่ ก็เลยดิ้นรนแสวงหาเงินทองบ้าง อำนาจบ้าง ชื่อเสียงบ้าง ไม่จบไม่สิ้น สุดท้ายก็เลยพบว่าสิ่งที่ตัวเองได้มาจริง ๆ มันก็ไม่ใช่เป็นสาระสำคัญของชีวิต
ความรู้สึกพร่อง ความรู้สึกว่ามีน้อย จนเกิดความรู้สึกว่ายังมีไม่พอ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเปรียบเทียบ
เพราะฉะนั้นได้มาเท่าไหร่ก็ยังรู้สึกว่ายังไม่พอ ตราบใดที่เห็นคนอื่นมีมากกว่า แต่ถ้าคนเรานี้รู้จักสิ่งหนึ่งคือ ความสันโดษ พอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ มันก็จะรู้สึกเกิดความพอขึ้นมา ไม่รู้สึกพร่องอีกต่อไป
แม้ในสายตาของคนอื่นจะเห็นว่ามีน้อย แต่ตัวเองกลับรู้สึกว่ามีมากแล้ว เพราะว่าไม่มีความรู้สึกพร่อง ก็เพราะมีความพอใจในสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้มา มันก็ช่วยเติมเต็มจิตใจได้เหมือนกัน คนเราถ้ามีความสันโดษ มันก็ช่วยเติมเต็มจิตใจจนไม่รู้สึกพร่อง ไม่รู้สึกขาด
แต่นอกจากสันโดษคือความพอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้แล้วนี้ ความรู้สึกเต็มหรือ ได้รับการเติมเต็ม ไม่รู้สึกพร่อง ไม่รู้สึกขาด มันจะเกิดขึ้นจากการที่เราไม่เปิดช่องให้ตัวกูนี้ขึ้นมาครอบงำจิตใจ เพราะตราบใดที่ปล่อยให้ความสำคัญมั่นหมายตัวกูนี้มันเป็นใหญ่เหนือจิตใจ มันจะรู้สึกพร่องตลอดเวลาเลย จนรู้สึกว่าขาดอยู่ตลอดเวลา จะรู้สึกว่ามีไม่พออยู่ตลอดเวลา
แม้ว่าจะได้มาเท่าไหร่ แม้ว่าจะมีมากเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ อำนาจ เพราะธรรมชาติของอัตตาหรือตัวกู มันปรารถนาอย่างไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ยิ่งมากยิ่งดี เพราะว่ายิ่งมากก็ยิ่งไปค้ำยันค้ำจุนตัวกูให้ใหญ่เหนือคนอื่น
แล้วสิ่งที่เรียกว่าโลภะ มันไม่มีที่สิ้นสุด ก็เพราะความมีตัวกูนี่แหละ หรือความถือตัวว่าใหญ่ และต้องการอำนาจไม่สิ้นสุดนี้ ก็เพราะความรู้สึกว่าตัวกูนี่มันครองใจ ฉะนั้นมันจึงรู้สึกพร่องตลอดเวลา มีเท่าไหร่ก็ไม่เคยรู้จักพอ แล้วทำยังไงจะให้ตัวกูนี้มันไม่มาครอบงำจิตใจ
สำหรับปุถุชนแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี้ช่วยเติมเต็มจิตใจ เกิดความเต็มตื่นขึ้นมา พอเรารู้สึกตัวเมื่อไหร่ก็เริ่มมีสติเต็มตื่น ความรู้สึกตัวนี้ช่วยเติมเต็มจิตใจจนไม่รู้สึกเกิดความพร่อง ที่จริงมันก็เป็นเพราะว่าความรู้สึกตัวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตัวกูก็ไม่มีช่องที่จะเข้ามาครอบงำใจได้
ชั่วขณะที่เราเกิดความรู้สึกตัวนี้ มันจะไม่มีการปรุงแต่งตัวกูขึ้นมาครองใจ เวลาเรามีความรู้สึกตัว เรามีสติเต็มตื่น ทำอะไรก็รู้ว่ากายทำ ไม่ใช่ว่ากูทำ มันมีความคิดอะไรเกิดขึ้น ก็รู้ว่าหรือเห็นว่ามันเป็นใจที่คิด แต่มันไม่ใช่กูคิด
ความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูมันเกิดขึ้นเมื่อใจไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว พูดง่าย ๆ คือเมื่อจิตเกิดความหลง จิตหลงเมื่อไหร่ก็ปรุงตัวกูขึ้นมา พอมีตัวกูขึ้นมา มันก็เกิดความโลภ เกิดความปรารถนาสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่จบไม่สิ้น เรียกว่าเติมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม จะไม่ให้ตัวกูเกิดขึ้นได้ ก็ต้องไม่ปล่อยให้ความหลงครองใจ จะไม่ให้ความหลงครองใจก็ต้องมีความรู้สึกตัวมาแทนที่ มีความรู้สึกตัว รู้เนื้อรู้ตัว ความหลงก็เกิดขึ้นไม่ได้
อีกอย่างหนึ่งก็คงสังเกตได้ เวลาเรามีอารมณ์ที่เป็นอกุศล เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความเกลียด ความโลภ ความน้อยเนื้อต่ำใจ พอเรารู้สึกตัวขึ้นมา อารมณ์เหล่านี้มันก็สลายหายไปเลย เพราะมันอยู่ได้ด้วยความหลง มีความหลงเกิดขึ้น อารมณ์อกุศลเหล่านี้ก็มาครองใจ
แล้วที่จริงก็ไม่ใช่อารมณ์อกุศล แม้กระทั่งความดีใจ ถ้าเราไม่มีความรู้สึกตัว มันก็ครองใจเราจนกระทั่งเกิดความลืมตัว ดีใจจนลืมตัวก็มีปิติจนลืมตัวก็มี อย่างคนที่ไม่ใช่เฉพาะเวลาได้โชคได้ลาภแล้วลืมตัว เพราะดีใจในโชคลาภที่ได้มา แม้กระทั่งคนที่บำเพ็ญภาวนา แล้วเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา เกิดญาณหยั่งรู้บางอย่าง ดีใจลืมตัวเลย หลงคิดว่าตัวเองนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว
อันนี้ไม่ใช่เพราะเขาได้โชคได้ลาภ แต่เพราะเขาได้พบญาณบางอย่างซึ่งมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ แต่ว่าไม่ใช่ของจริง แต่เจ้าตัวนี้ไปคิดว่า เกิดญาณแบบนี้ก็แสดงว่าหลุดพ้นแล้ว พอคิดว่าหลุดพ้น เป็นพระอรหันต์แล้ว ทีนี้ก็อยากจะไปสอนคนแล้ว ความหลงที่เกิดขึ้นมาจากปีติปราโมทย์ มันเปิดช่องให้ตัวอัตตาหรือมาเข้าครอบงำ
พอสำคัญมั่นหมายหรือคิดว่าตัวเองบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ทีนี้อยากสอนแล้ว เหมือนที่เล่าเมื่อ 2-3 วันก่อนว่าลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา คิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ อยากไปสอนอาจารย์ อยากไปสอนหลวงปู่ดูลย์ อุตส่าห์เดินจากวัดตัวเองนี้ไปวัดบูรพาราม 80 กิโลเมตร เดินไม่หยุดเลย เรี่ยวแรงมาจากไหนไม่รู้
80 กิโลเมตรนี้ถ้านั่งรถก็ชั่วโมงกว่าเลย ถ้าเดินก็เกือบ 20 ชั่วโมง ก็เดินได้เพื่อมาสอนอาจารย์ อันนี้เรียกว่าความหลงมันครอบงำ ไม่ใช่เพราะได้โชคได้ลาภ แต่เพราะว่าได้เห็นญาณบางอย่าง แล้วพอไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว มันก็เปิดช่องให้อัตตาหรือมานะเข้าครอบงำ พอตัวกูขึ้นมาเป็นใหญ่แล้ว คราวนี้มันก็สามารถจะทำอะไรก็ได้
แต่ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่บรรลุธรรม แต่ว่าถึงแม้ยังมีกิเลส แต่อย่างน้อยถ้าเรารู้จักทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น มันก็ช่วยขับไล่ความหลงได้ แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นการขับไล่ความหลงอย่างถาวร ซึ่งมี 2 อย่าง คือ รู้ตัวกับรู้ความจริง
รู้ความจริงคือ รู้สัจธรรมแจ่มแจ้งจนไม่มีความยึดติดถือมั่นต่อไป อันนี้ก็เรียกว่าตัวกูนี้ไม่มีโอกาสที่จะได้เกิดขึ้น ขนิดที่ว่าไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอย่างที่มีคนเขาอวยพรว่าขออย่าได้ผุดอย่าได้เกิด ก็หมายความอันนี้แหละ บางคนโมโห ถูกครูบาอาจารย์ให้คำอวยพรว่าอย่าได้ผุดอย่าได้เกิด ที่จริงก็หมายถึงว่าตัวกูไม่ได้เกิดอีกต่อไป พอตัวกูไม่ได้เกิดก็หมายถึงการพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง
แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้เห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้ง แต่อย่างน้อยถ้ามีความรู้สึกตัว ความหลงที่จะเป็นสะพานนำพาตัวอัตตาหรือตัวกูขึ้นมา ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีความรู้สึกตัว พอมีความรู้สึกตัวก็เกิดความรู้สึกเต็มตื่นขึ้นมา ใจได้รับการเติมเต็ม ไม่มีความรู้สึกพร่อง
ตรงข้ามถ้าเกิดว่าปล่อยให้ความหลงเกิดขึ้น มีการปรุงตัวกูขึ้นมา ตอนนี้แหละความรู้สึกพร่องมันก็จะเกิดขึ้น แล้วมันก็จะอยากได้สิ่งต่าง ๆ มากมาย ได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ เพราะฉะนั้นการทำความรู้สึกตัว หรือการสร้างความรู้ตัวให้เกิดขึ้น มันเป็นสิ่งสำคัญ สำคัญมากกว่าการมีความสงบ แล้วก็หลงเพลินในความสงบ
ทำความรู้สึกตัวในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่เราทำได้ พระพุทธเจ้าก็ได้แนะนำไว้แล้วว่า เราสามารถทำความรู้สึกตัวได้จากอิริยาบถต่าง ๆ ทำความรู้สึกตัวเวลาเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เวลาเหลียวซ้ายแลขวา เวลาสะพายบาตร ผ้าสังฆาฏิ ครองจีวร
ถ้าเป็นคฤหัสถ์ฆราวาส เวลาแต่งเนื้อแต่งตัว หรือแม้แต่หวีผมก็ทำความรู้สึกตัวได้ ทำความรู้สึกตัวเวลากิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ทำความรู้สึกตัวเวลาอุจจาระ ปัสสาวะ ทำความรู้สึกตัวเวลาคู้หรือเหยียดไม่ว่าแขนหรือขา ทำความรู้สึกตัวเวลาเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น หรือแม้แต่เวลานิ่ง พวกนี้ทำได้ทุกที่และทุกขณะที่เราทำ กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว
เวลาทำอะไรใจก็อยู่กับสิ่งนั้น ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ไหลไปอดีต ไม่ลอยไปอนาคต จนกระทั่งจมอยู่ในอารมณ์ ตอนนั้นแหละที่ความรู้สึกตัวได้เกิดขึ้น มีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น เกิดความเต็มตื่น มีสติเต็มตื่นในใจ หรือว่าใจได้รับการเติมเต็ม มันจะไม่รู้สึกพร่อง มันจะรู้สึกพอใจ เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีสิ่งใดมาปรนเปรอ หรือความสุขจากสิ่งเสพ
แต่ที่คนไม่ค่อยได้เห็นอานิสงส์ของความรู้สึกตัว เพราะว่าความรู้สึกตัวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความรู้สึกตัวชั่วขณะ ไม่กี่ขณะเท่านั้น แล้วก็หลงต่อ วัน ๆ หนึ่งเราหลงมากกว่ารู้ตัว เวลาเราหลับ เราหลับน้อยกว่าเวลาเราตื่น
เราหลับก็อาจจะสัก 6 หรือ 7 หรือ 8 ชั่วโมง แต่เราตื่น 16 ชั่วโมง 18 ชั่วโมง นั่นเป็นเรื่องของกาย ส่วนเรื่องของใจแม้ในช่วงเวลาที่เราตื่น 18 ชั่วโมง 16 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มันหลง ส่วนน้อยที่รู้สึกตัว แล้วก็เป็นความรู้สึกตัวแบบไม่ต่อเนื่อง ถูกความหลงเข้ามาครอบงำ
เพราะฉะนั้นมันก็เลยมีความโลภ มีความอยาก มีความรู้สึกพร่องตลอดเวลา ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ยังอยากได้อีก แต่ถ้าเราทำความรู้สึกตัวบ่อย ๆ ทำเป็นประจำ ความรู้สึกตัวก็จะเพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่องมากขึ้น ความหลงน้อยลง ความทุกข์ก็น้อยลงไปด้วย เพราะฉะนั้นก็อย่าไปดูแคลนความรู้สึกตัว มันเป็นวิธีการที่จะช่วยเติมเต็มจิตใจ
มีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ก็หมายถึงมีสติเต็มตื่น หมายความว่าไม่เปิดช่องให้กิเลสหรือความทุกข์เข้ามาครอบงำจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความเครียด ความทุกข์ ความเศร้าหรือความซึม ถึงตอนนั้นเราก็จะเริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีแล้ว สิ่งที่เราไม่มีหรือสิ่งที่เราเคยคิดว่าพร่อง มันจะไม่มีความหมายต่อจิตใจของเรา
เราจะมีความสุขง่าย ๆ เพราะเรารู้จักชื่นชมสิ่งที่เรามี ให้คุณค่า ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรามี ซึ่งที่จริงก็มีคุณค่าจริง ๆ เช่น การที่เรายังมีชีวิต ยังมีลมหายใจ ยังสามารถหายใจได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด การที่เรายังมีตามองเห็น การที่เรายังมีหูได้ยิน ยังมีความคิด มีสติ มีความสามารถในการรู้สึกตัว
อันนี้มีกันทุกคน แต่สิ่งที่ไม่มี จำนวนมากเลยไม่ค่อยมีความสำคัญหรือความจำเป็นต่อชีวิต แต่ว่ามันเป็นค่านิยมที่ใคร ๆ เขาอยากจะมีกัน หรือว่ามันช่วยทำให้เกิดความสะดวกสบาย หรือเกิดความสุขชั่วคราว
สิ่งที่เรามีอยู่แล้วนี้มันมีคุณค่ายิ่งกว่านั้นเยอะ อยู่ที่ว่าเราจะทำให้มันนำไปสู่ความรู้สึกตัว นำไปสู่การมีสติปัญญาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือว่าเอาแต่ดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่คิดว่าพร่อง แล้วคิดว่าได้มาเท่าไหร่จะช่วยเติมเต็ม แต่ได้มากเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกเติมเต็มสักที เพราะว่ามันเป็นการเติมเต็มในอำนาจของกิเลส ของอัตตา ซึ่งไม่เคยรู้จักพอสักที
จะไม่ให้ใจเราอยู่ในอำนาจของอัตตานี้ก็ต้องทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น ซึ่งมันก็แปลกพอมีความรู้สึกตัวขึ้นเมื่อไหร่ ตัวกูก็หายไปเมื่อนั้น มันเป็นปฏิปักษ์กัน.