พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 2 สิงหาคม 2567
เวลามีใครมาทำไม่ดีกับเรา หรือแม้แต่ทำสีหน้าเย็นชากับเรา เราก็มักจะโกรธ ไม่พอใจ หรือว่าแสดงสีหน้าตาถมึงทึงตอบโต้ แต่ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องโกรธก็ได้ เราเลือกที่จะไม่โกรธหรือว่าไม่ตอบโต้ด้วยความเย็นชาถมึงทึงก็ได้
ไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นพระอรหันต์หรือพระอริยเจ้า ถึงแม้เป็นปุถุชนเราก็เลือกที่จะไม่โกรธได้ ไม่รู้สึกลบกับคนที่ทำอย่างนั้นกับเรา แล้วไม่ใช่เพราะเราไม่มีกิเลส ไม่มีความยึดติดในตัวกู ถึงแม้ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีอัตตา ยังมีมาอยู่ แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้จักแยกแยะ ไม่ตีขลุมเหมารวมว่าที่เขาทำอย่างนั้น เพราะเขาไม่ชอบเรา เพราะเขารู้สึกไม่ดีกับเรา
ถ้าเรารู้จักแยกแยะว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขามีท่าทีอย่างนั้นกับเรา อาจจะไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่ชอบเราก็ได้ แต่เพราะมีเหตุผลอื่น ถ้ารู้จักแยกแยะแบบนี้ เราก็จะไม่รู้สึกลบ หรือตอบโต้ด้วยความโกรธ
เมื่อสัก 40 กว่าปีที่แล้ว ในวงการวรรณกรรมของอเมริกา มีบรรณาธิการคนหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับมากในแวดวงนักเขียน เพราะว่าเขาอยู่เบื้องหลังงานเขียนที่มีชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม จนกระทั่งนักเขียนที่มีชื่อหรือนักเขียนที่เก่งก็อยากทำงานกับเขา ถ้าได้เขาเป็นบรรณาธิการก็มีโอกาสที่จะรุ่งได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นนักเขียนใหม่ บรรณาธิการคนนี้ชื่อว่า โรเบิร์ต ก็อตต์ลีบ (Robert Gottlieb) หรือจะเรียกเขาว่าบ๊อบ ก็อตต์ลีบ (Bob Gottlieb) ก็ได้
เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบรรณาธิการที่สำคัญมากของอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลก ในแวดวงนักเขียน แวดวงวรรณกรรม คนสำคัญนี้ไม่ใช่มีแต่นักเขียน บรรณาธิการก็สำคัญ อาจจะสำคัญกว่าก็ได้เพราะสามารถจะปั้นนักเขียนให้มีผลงานที่ดีเลิศออกมาได้
เหมือนกับแข่งฟุตบอล คนสำคัญไม่ใช่นักเตะ ที่สำคัญคือโค้ชหรือผู้จัดการทีม มีนักเตะที่เก่งล้นทีมแต่ได้ผู้จัดการหรือโค้ชที่ไม่เก่งก็มีสิทธิ์ร่วงได้เหมือนกัน หรือเหมือนกับดารา ดารานั้นสำคัญแต่ว่าที่สำคัญกว่าคือผู้กำกับ ดาราที่ดีแต่ได้ผู้กำกับที่ไม่ดีก็อาจจะล้มเหลวไม่เป็นท่าได้
บ๊อบ ก็อตต์ลีบ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบรรณาธิการระดับตำนาน เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ตอนที่แกกำลังดังสุดขีด ได้รับการขอร้องให้ไปเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสารฉบับหนึ่ง เดอะนิวยอร์กเกอร์ (The New Yorker)
นิวยอร์กเกอร์เป็นนิตยสารระดับนำของอเมริกา บรรณาธิการคือวิลเลียม ชอว์น
(William Shawn) เขาคนนี้เป็นบรรณาธิการระดับตำนาน แต่ว่าเป็นบรรณาธิการนิตยสาร เป็นมา 30 กว่าปี ทำให้นิวยอร์กเกอร์มีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ใช่แค่อ่านในวงการคนนิวยอร์กเท่านั้น แต่ว่าปัญญาชนชั้นนำ นักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคนก็อ่านนิตยสารนี้
แต่ตอนหลังชอว์นแม้จะเก่ง แต่พออยู่ไปนาน ๆ เขาไม่รู้จักลง คนเก่งเวลาทำงานไปนาน ๆ เกิดความหลงตัวลืมตนขึ้นมา ฝีมือก็ตกแต่ไม่ยอมรับ อย่างนิวยอร์กเกอร์ตอนหลังคนอ่านก็น้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ว่าชอว์นก็ไม่ยอมลง อย่างที่พูดวันก่อนว่าการขึ้นถือว่ายากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือการลง
ชอว์นก็เหมือนกัน ไม่ยอมลง เจ้าของก็ส่ายหัว สุดท้ายก็เอาบ๊อบ ก็อตต์ลีบมาเป็นบรรณาธิการแทน เพราะว่าเจ้านายคนเดียวกัน ปรากฏว่าชอว์นไม่พอใจมาก น้อยเนื้อต่ำใจ โกรธ เสียใจที่ถูกเชิญออก ชอว์นก็มีลูกน้องเยอะ แล้วก็มีนักเขียนอยู่ในสังกัดของเขามากมายหลายคน เรียกว่าทั้งนักเขียน ทั้งเจ้าหน้าที่นิวยอร์กเกอร์ ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ พากันทำจดหมายหางว่าวถึงบ๊อบ ก็อตต์ลีบ เรียกร้องให้บ๊อบลาออก
บ๊อบได้รับจดหมาย เขายังยืนยันว่าเขาจะไม่ออก เพราะว่าเขารับปากกับเจ้าของแล้วว่าเขาจะมากอบกู้นิวยอร์กเกอร์ สิ่งที่น่าสนใจคือเขาไม่ได้สนใจอ่านเลย ว่ามีใครที่ลงชื่อในจดหมายหางว่าว แล้วเขาก็รู้ว่าจริง ๆ ก็มีเพื่อนเขาหลายคนร่วมลงชื่อด้วย แต่เขาไม่สนใจอ่านเลย
เขายังตั้งหน้าตั้งตาทำงานของเขาต่อไป แล้วไม่ว่าใครที่เขียนลงนามในจดหมายหางว่าวนั้น แม้ว่าเขาจะรู้ว่าเป็นใคร แต่เขาก็ยังทำงานร่วมมือกับคนเหล่านั้นได้เหมือนเดิม
เขาให้เหตุผลว่า มันก็น่าเห็นใจคนที่ลงชื่อในจดหมายหางว่าว เพราะว่าทุกคนก็เป็นลูกน้องของชอว์น ล้วนเป็นคนที่ชอว์นปั้นมาตั้งแต่ยังไม่ดัง เพราะฉะนั้นพอชอว์นที่ถึงกับเหมือนถูกไล่ออกเลยนั้น ใคร ๆ ก็อยากจะปลอบใจเขา อยากจะให้กำลังใจเขา ก็เลยลงชื่อ ซึ่งถ้าชอว์นเห็น เขาก็คงจะสบายใจว่า โอ้ มีคนจำนวนมากที่ฉันเคยปั้นเคยชุบเลี้ยง เขายังเห็นความสำคัญของฉัน เขารู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจที่ฉันถูกไล่ออก
อันนี้คือมุมมองของบ๊อบ เขามองว่าจดหมายหางว่าวที่เขียนขึ้นมาก็เพื่อปลอบใจ หรือเพื่อรักษาน้ำใจของชอว์น ให้รู้ว่าเขายังมีคนที่รักเขาอยู่ เขาจะได้ไม่เสียอกเสียใจมาก
บ๊อบไม่ได้บอกว่าจดหมายที่ว่านี้มีคนเซ็นชื่อมุ่งร้ายต่อตัวเขา แม้จะเรียกร้องให้เขาลาออก แต่เขาคิดว่ามันก็เป็นแค่การแสดงบทบาทเพื่อให้ชอว์นสบายใจ ซึ่งคนที่เซ็นชื่อทั้งหมดนี้ไม่ได้คิดมุ่งร้ายต่อเขาเลย เขาจึงไม่โกรธเลย แล้วเขาก็ไม่ได้สนใจดูด้วย ว่าใครเซ็นชื่อบ้างแม้พอจะรู้ว่ามีใคร ก็เพื่อจะได้ไม่เกิดอคติเพราะว่าเขาต้องการทำงานกับคนเหล่านี้อย่างฉันมิตร ไม่อยากให้เกิดความรู้สึกกินแหนงแคลงใจว่า แกเป็นคนที่เซ็นชื่อไล่ฉัน ขอให้ฉันออกจากบรรณาธิการ
ปรากฏว่าหลังจากที่บ๊อบมาทำงานเป็นบรรณาธิการ เขาก็สามารถกอบกู้นิวยอร์กเกอร์ แล้วก็ทำงานร่วมกับนักเขียน รวมทั้งกับเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ในกองบรรณาธิการได้อย่างราบรื่น
ถ้าเกิดว่าเขาเกิดความรู้สึกกินแหนงแคลงใจว่า แกคนนี้คนนั้นทำจดหมายลูกโซ่ เพราะว่ามุ่งร้ายต่อฉัน เพราะว่าอยากจะให้ฉันกระเด็นออกจากตำแหน่ง บก. เขาคงจะทำงานร่วมกับคนเหล่านี้ได้ยาก แล้วเขาคงจะมีความเจ็บแค้นอยู่ในใจ ซึ่งก็คงจะทำให้งานที่เขาทำนั้นมันไม่ประสบความสำเร็จ
ฉะนั้นเขาก็เลยไม่โกรธคนที่เซ็นชื่อในจดหมายหางว่าวนั้นเลย ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่สนใจจะรู้ด้วยว่าเป็นใคร จะได้ทำงานอย่างสบายใจ อันนี้เรียกว่าเขารู้จักแยกแยะว่า คนที่ลงชื่อในจดหมายนี้ เขาทำเพื่อรักษาน้ำใจของผู้อาวุโส ไม่ได้คิดมุ่งร้ายหรือเกลียดชังเขาโดยตรง
พอบ๊อบคิดแบบนี้ เขาก็ไม่ได้มีความโกรธแค้นหรือเกลียดชังคนที่ทำจดหมายหางว่าวนี้เลย ซึ่งที่จริงแล้วคนที่ทำนั้นก็คนทั้งสำนักงานเลยเพราะว่าชอว์นเป็น บก. มา 36 ปีแล้ว เรียกว่าชุบเลี้ยงคนมากมาย ฉะนั้นมันก็ต้องมีคนที่อยากจะรักษาน้ำใจของเขา ให้รู้ว่าเขายังมีคนที่รักเขาอยู่ เขายังมีคนที่รู้สึกเจ็บแค้นแทนเขาอยู่ พอชอว์นรู้อย่างนี้จะได้สบายใจ
อันนี้เป็นวิธีการมองของบ๊อบ จึงทำให้เขาสามารถทำงานกับคนในกองบรรณาธิการ และลูกน้องต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น
คนบางคนพอเจอเหตุการณ์แบบนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะตีขลุมว่าที่เขาทำจดหมายแบบนี้เพราะเขาไม่ชอบฉัน พอรู้ว่าหรือพอคิดว่าเขาไม่ชอบฉัน ฉันก็เลยไม่ชอบเขาบ้าง นี้เป็นธรรมดาของคนเรา พอรู้ว่าใครไม่ชอบเรา เราก็มีความรู้สึกลบกับเขาเป็นการตอบโต้ เช่น โกรธหรือเกลียด ซึ่งมันก็ทำให้ความสัมพันธ์ในระหว่างการทำงานเสียหาย
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ไม่เอามาเป็นอารมณ์ ถือว่างานเป็นใหญ่ เมื่อให้งานเป็นใหญ่ พอใครจะคิดยังไงกับฉัน ฉันก็ไม่สนใจ ซึ่งบ๊อบก็ไม่ได้มองแบบนั้นด้วยซ้ำ เขามองว่าที่ทำนี้ก็เพื่อประโยชน์ของชอว์น ฉะนั้น คนเราถ้ารู้จักแยกแยะแบบนี้ เวลาเจอปฏิกิริยาในทางลบก็ไม่โกรธ มีแต่ความเข้าใจ มีแต่ความเห็นใจ
มีจิตอาสาคนหนึ่งไปทำงานที่บ้านพักคนชรา บ้านบางแค ไปเป็นเพื่อน ไปพูดคุย ไปให้กำลังใจ ไปช่วยดูแลคนแก่ซึ่งก็อายุมากกันทั้งนั้น แล้วมีคุณยายคนหนึ่ง แกมีท่าทีหงุดหงิดกับคนรอบข้างมาก ทั้งกับเจ้าหน้าที่ และกับจิตอาสา แกเย็นชากับจิตอาสาคนนี้
ช่วงที่ก่อนจะลากัน จิตอาสาบอกแกว่าขอกอดหน่อย กอดยาย ยายก็กอดกลับแต่แบบไม่เต็มอกเต็มใจ แทนที่จิตอาสาคนนี้จะโกรธหรือไม่พอใจว่า ทำไมฉันอุตส่าห์กอดด้วยความจริงใจ แต่ทำไมยายถึงทำอย่างนี้กับฉัน
จิตอาสาไม่ได้คิดแบบนั้นเลย กลับพูดกับยายว่า “หนูกอดยายแล้ว รู้สึกเหมือนกับกอดแม่ที่เพิ่งจากไป” แล้วก็ถามยายว่า “ยายเคยกอดใครไหม” ยายตอบว่า “เคยกอดลูกชาย” “อ้าว แล้วลูกชายของยายยังมาเยี่ยมยายอยู่ไหม ยายมีโอกาสได้กอดลูกชายอยู่บ่อยไหม” แกบอกว่า “แต่ก่อนเขาเคยมาหาทุกเดือนเลย แต่ตอนนี้เขาหายไปหลายเดือนแล้ว เลยไม่ได้กอดเขาเลย”
จิตอาสาก็เลยเดาได้ว่ายายที่มีอาการหงุดหงิด อาการไม่เต็มอกเต็มใจที่จะโอภาปราศรัยกับใคร คงเพราะยายมีความทุกข์เรื่องลูกชาย ลูกชายของยายนี้เคยประสบอุบัติเหตุจนพิการ ตอนหลังก็ไปอยู่ในความดูแลของสถาบันดูแลคนพิการ แต่ก่อนลูกชายเคยมาเยี่ยมยายทุกเดือน แต่หลังจากที่หายไปหลายเดือน ยายก็กังวลว่าลูกชายเป็นตายร้ายดียังไง
คงเพราะเหตุนี้ที่ทำให้ยายอารมณ์ไม่ดีกับใครต่อใคร จิตอาสาคนนี้ก็เลยไปติดต่อนักสังคมสงเคราะห์ แล้วก็ให้เขาช่วยตามหาสอบถามลูกชายของยายว่าเป็นยังไง เป็นตายร้ายดียังไง สุดท้ายก็ได้ความว่าลูกชายของยายยังไม่ตาย ยังสบายดีอยู่ถึงแม้จะพิการ จิตอาสาก็เลยมาบอกข่าวนี้ให้กับยาย ยายพอรู้ว่าลูกชายยังไม่ตาย ดีใจ อารมณ์ดี โอภาปราศรัยดีเลย
เท่านั้นยังไม่พอ จิตอาสายังไปตามหาลูกชายให้ยายอีก แล้วก็ไปถ่ายคลิปวีดีโอมาให้ยายดู ยายมีความสุขมาก จากเดิมที่เคยกระฟัดกระเฟียดใส่คนโน้นคนนี้ ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี เรามาลองนึกดูว่าถ้าจิตอาสาคนนั้นคิดว่าที่ยายกอดเขาอย่างไม่เต็มอกเต็มใจเป็นเพราะยายไม่พอใจเขา เขาก็คงไม่คิดจะช่วยยายหรืออาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายายจริง ๆ แล้วมีความทุกข์เรื่องลูกชาย
คนเราเวลาเจอการกระทำหรือท่าทีที่เย็นชาแบบนี้ ก็มักจะรู้สึกลบ เพราะตีขลุมว่าเขาไม่พอใจเรา เขาไม่ชอบเรา แต่จิตอาสาคนนี้เขาแยกแยะได้ว่าที่ยายเป็นอย่างนี้ เพราะแกมีความห่วง แกมีความกังวลบางอย่าง พอสอบถามติดตามถึงได้รู้ว่าเป็นเพราะยายห่วงลูก ไม่รู้ว่าลูกเป็นตายร้ายดียังไง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเพราะจิตอาสาเขาไม่เอามาเป็นอารมณ์ ไม่เอาท่าทีอาการของยาย เอามาเป็นอารมณ์ แยกแยะได้ว่าอะไรทำให้ยายเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เพราะยายมีอคติต่อตัวเขา
คนเราถ้าเกิดว่าไม่แยกแยะ ไปตีขลุมว่าเขามีอคติต่อเรา นอกจากตัวเองจะทุกข์แล้ว ก็ยังมีความรู้สึกลบเป็นการตอบโต้ แต่ว่าจิตอาสานี้ไม่มีความทุกข์ในลักษณะนั้น เพราะว่าพยายามเข้าใจยาย แล้วพยายามแยกแยะว่าที่ยายเป็นอย่างนี้เพราะเหตุผลอื่นมากกว่า
อันที่จริงแล้วคนที่มีสติปัญญานี้ แม้จะรู้ว่ามีบางคนไม่ชอบเรา แต่ถ้าเกิดว่าเอาสิ่งอื่นเป็นเรื่องสำคัญกว่า มันก็ไม่ทุกข์ อย่างมีเจ้าอาวาสวัดหนึ่งเข้มงวดกวดขันกับพระในวัดมาก จ้ำจี้จ้ำไช แล้วบางทีก็ตำหนิพระบางรูปที่ไม่ปฏิบัติตามข้อวัตรตามระเบียบ ก็มีพระบางรูปไม่พอใจเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสก็รู้แต่ว่าก็ไม่สนใจ
ก็เลยมีคนมาถามว่า “ทำไมหลวงพ่อทั้งที่รู้ว่ามีพระบางรูปไม่พอใจ ไม่ชอบขี้หน้า แต่ทำไมจึงไม่รู้สึกอะไร ไม่ได้รู้สึกลบตอบโต้พระที่ไม่ชอบหน้าท่าน” ท่านก็บอกว่า “ไม่ชอบผมก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำตามระเบียบข้อวัตรก็แล้วกัน ตราบใดที่ยังปฏิบัติตามข้อวัตรตามระเบียบ จะไม่ชอบขี้หน้าผมก็ไม่เป็นไร” ไม่ได้เดือดร้อนด้วย เพราะอะไร เพราะว่าเอาเรื่องของส่วนรวมเป็นใหญ่
คนเราถ้าหากเอาส่วนรวมเป็นใหญ่แล้ว เรื่องส่วนตัวก็เป็นเรื่องเล็กน้อย ใครจะไม่ชอบเราก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำหน้าที่ต่อวัด หรือว่ารับผิดชอบต่อส่วนรวมให้ดีก็แล้วกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดว่าไปตอบโต้ด้วยความไม่พอใจ ใครไม่ชอบฉัน ฉันก็จะเล็ง จะหมายหัวไว้เลย แบบนี้ก็แสดงว่าไม่ได้ถือเอาส่วนรวมเป็นใหญ่
นี่แหละถ้าคนเรารู้จักแยกแยะได้ อย่างน้อยก็แยกแยะระหว่างส่วนรวมกับส่วนตัว จะไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ไม่เป็นไร แต่ว่าขอให้รับผิดชอบต่อส่วนรวมก็แล้วกัน ถ้าแยกแยะได้แบบนี้ก็ไม่ทุกข์ หรือแยกแยะได้ว่า ที่เขามีท่าทีเย็นชา มันไม่ใช่เป็นเพราะว่าไม่ชอบฉันหรอก แต่เพราะเหตุผลอื่นมากกว่า
ถ้ารู้จักแยกแยะแบบนี้ มันก็จะไม่ทำให้เกิดความทุกข์ แล้วเกิดความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน แล้วคนเรานี้บ่อยครั้งก็มักจะตีขลุม อย่างเช่นมีบางคนเวลาไปทำงาน เจอเพื่อนร่วมงานก็ทัก ทักทาย ปรากฏว่าเพื่อนร่วมงานไม่ทักด้วย โกรธเลยว่าถือดียังไง ฉันทักทายแต่ไม่ทักฉัน ไม่แม้แต่จะพูดคุยด้วย
แล้วคนจำนวนมากเป็นแบบนี้ ทั้งที่ถ้าเกิดว่าลองมองใคร่ครวญสักหน่อย ก็อาจจะพบว่าที่เขาไม่ทักทายเรา อาจเป็นเพราะกำลังมีความกังวล เมื่อเช้าลูกไม่สบาย ต้องพาส่งโรงพยาบาล หรือว่าพ่อเกิดล้มขึ้นมาในห้องน้ำ หัวฟาดพื้น ต้องพาส่งโรงพยาบาล ใจก็อยากอยู่โรงพยาบาลดูแลพ่อ แต่ว่าต้องกลับมาที่ทำงานเพราะมีประชุมสำคัญ
ถ้าเข้าใจแบบนี้ ก็จะไม่รู้สึกโกรธที่เขาไม่ทักทายเรา เพราะว่าเขากำลังกังวลเรื่องอื่น เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังทักทายเขา ฉะนั้นถ้าเราไม่ตีขลุมว่าที่เขามีท่าทีอาการแบบนั้นเพราะเขารู้สึกไม่ดีกับเรา แต่พยายามแยกแยะว่าอะไรทำให้เขาเป็นอย่างนั้น
แล้วพอสาวหาความจริงก็อาจจะพบว่า โอ้ น่าเห็นใจ เป็นเรา เราก็คงทำเหมือนเขา ก็คือใครมาทักก็ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่สนใจ ไม่รับรู้ด้วย เพราะกำลังกังวลกับลูก กำลังกังวลกับพ่อแม่ แต่ว่าความเข้าใจผิด บ่อยครั้งก็เกิดจากการที่ตีขลุมแบบนี้แหละ
ที่จริงถ้าหากว่าเรารู้จักแยกแยะเป็น อย่าว่าแต่อาการเย็นชา ท่าทีที่เป็นลบของคนรอบข้าง หรือคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย แม้กระทั่งเวลามีอารมณ์ที่ลบ ๆ เกิดขึ้นในใจเรา ถ้าเราแยกแยะได้ มันช่วยได้เยอะเลย อย่างเช่นมีความโกรธเกิดขึ้น มีความไม่พอใจเกิดขึ้น ก็เห็นมัน ไม่ไปเหมารวมว่ามันเป็นเรา มันเป็นของเรา
มีความโกรธเกิดขึ้น นี่มันไม่ใช่เรา มีเสียงในหัวด่าบุพการี จ้วงจาบพระรัตนตรัย ก็แยกแยะได้ว่ามันไม่ใช่เรา แต่หลายคนแยกแยะไม่ได้ เวลามีเสียงตำหนิครูบาอาจารย์ จ้วงจาบพระรัตนตรัย เป็นทุกข์เป็นร้อนมากเลยว่า ฉันคิดแบบนี้ได้ยังไง ทำไมฉันเลวแบบนี้ ที่จริงเสียงนั้นมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่เรา ต้องแยกแยะได้ว่ามันไม่ใช่เรา
พอแยกแยะได้ว่ามันไม่ใช่เรานี้ มันจะดังก็ดังไป ฉันไม่สนใจ และการที่ปล่อยให้มันดังไป ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยทำให้เสียงที่ว่านี้มันเบาลงไปเรื่อย ๆ จนดับหายไป แต่ถ้าไปคิดไปเหมารวมว่ามันเป็นเสียงของเรา มันเป็นเราที่คิดอุบาทว์แบบนั้น ก็จะทุกข์มากเลย รู้สึกผิด
แล้วยิ่งพยายามไปกดข่มไม่ให้มีเสียงนี้ในหัว ก็ยิ่งทุกข์ เพราะมันจะยิ่งเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก่อกวนเราทั้งวันเลย แทนที่จะก่อกวนเป็นเวลา คราวนี้ก่อกวนทั้งวัน ดังระงมทั้งวันเลย เพราะพยายามกดข่มมัน
คนที่เจอแบบนี้มาก ๆ พอแยกแยะไม่เป็น บางทีอยากจะฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกผิดมาก แต่ถ้ามองว่า มันไม่ใช่เรา แยกแยะให้ถูก มันเป็นเสียงในหัว แต่มันไม่ใช่เราที่คิดแบบนั้น มันดังก็ดังไป เดี๋ยวมันเบื่อ มันก็เงียบหายไปเอง ฉะนั้นการรู้จักแยกแยะนี้สำคัญ ถ้าเราแยกแยะเป็น มันก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าไปตีขลุมเหมารวมกลับจะยิ่งทุกข์มากขึ้น.