พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 27 กรกฎาคม 2567
มีโยมบางคนมาวัดป่าสุคะโต มาสนทนากับอาตมา สักพักพอได้เวลากลับก็ถามว่าขอคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมหรือขอธรรมะที่นำไปใช้ปฏิบัติ อันนี้น่าสนใจ ก็มีไม่มากที่จะถามแบบนี้ ส่วนใหญ่พอมาแล้ว ก่อนกลับก็ขอพร ขอพร
มีจำนวนหนึ่งที่มาแล้วก็บอกว่าขอฟังธรรมหน่อย ให้ช่วยแสดงธรรม แต่พออาตมาถามว่าอยากจะฟังธรรมะเรื่องอะไร บางคนตอบไม่ได้ แสดงว่าไม่ได้ทำการบ้านมา หรือว่าไม่ได้เตรียมมาก่อน หรืออาจจะไม่ได้ใคร่ครวญเพียงพอว่า ชีวิตของเราตอนนี้มีปัญหาอะไร
เพราะถ้ามีปัญหา เช่น เรื่องการงาน ก็อยากจะรู้เรื่องธรรมะเกี่ยวกับการทำงาน ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวหรือความสัมพันธ์ ก็อาจจะบอกว่าอยากจะรู้เรื่องธรรมะเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น ไม่ว่ากับเพื่อนร่วมงาน หรือกับคนในครอบครัว หรือว่ากับลูกกับหลาน
แต่ก็ยังดีที่ยังสนใจที่จะฟังธรรม เพราะว่าส่วนใหญ่ถ้าไม่อยากจะมาเอาบุญก็อยากจะขอพร ที่สนใจธรรมะมีไม่มาก แม้จะยังไม่รู้ว่าอยากจะฟังธรรมะเรื่องอะไร อย่างน้อยก็มีความสนใจฟังธรรม
แต่ที่น้อยยิ่งกว่านั้นก็คือสนใจธรรมะเพื่อเอาไปปฏิบัติ เอาไปปฏิบัติกับชีวิตของตัว ไม่ใช่แค่ฟังธรรม เพราะถ้าฟังธรรม ภาระมันก็ตกอยู่กับผู้แสดงธรรม ที่เหลือก็เป็นผู้ฟัง แต่ถ้าเกิดว่าสนใจจะนำธรรมะไปปฏิบัติ ความรับผิดชอบก็จะอยู่กับญาติโยมนี่แหละว่าจะนำเอาธรรมะไปปฏิบัติอย่างไร
ปกติก็บอกกับหลายคนซึ่งส่วนใหญ่ก็คงจะรักษาศีล หรือเห็นความสำคัญของศีลอยู่แล้ว เพราะไม่งั้นคงจะไม่มาวัด แต่ว่าเพียงแค่การมีศีล 5 คงไม่เพียงพอที่จะทำให้มีความสุขได้ เพราะคนที่รักษาศีล 5 ครบ แต่ก็ยังมีความทุกข์เรื่องลูก เรื่องหลาน เรื่องครอบครัว ทุกข์เพราะความเจ็บป่วย ทุกข์เพราะว่ามีความสูญเสีย
หรือทุกข์เพราะว่าถูกความหลงครอบงำ ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเศร้าโศก เดี๋ยวกังวล เดี๋ยวเครียด มีเยอะเดี๋ยวนี้ที่ผู้คนแม้จะรักษาศีล 5 ได้ครบ แต่ก็มีความเครียด มีความวิตกกังวล รวมทั้งความโกรธ โดยเฉพาะเจออะไรที่ไม่ถูกใจ ไม่ถูกต้อง
ฉะนั้น เรื่องการฝึกจิตนี้ก็สำคัญ สาระสำคัญของการปฏิบัติในพุทธศาสนานี้ นอกจากไม่ทำชั่ว ทำความดี แล้วก็ต้องทำจิตให้ผ่องใส
อย่างในโอวาทปาติโมกข์ ท่านก็บอกว่าการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ศีลส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ถ้าขยายขอบข่ายของศีลว่านอกจากไม่เบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ก็รวมไปถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น รับผิดชอบต่อส่วนรวม นี้เรียกว่าการทำกุศลให้ถึงพร้อม แต่ทำแล้วก็ต้องไม่ลืมการฝึกจิต การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ หรือว่าการหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง อันนี้ก็มีอยู่แล้วในโอวาทปาติโมกข์
และที่แนะนำและคิดว่าเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ก็คือว่า ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว ให้อยู่กับปัจจุบัน เพราะว่าความทุกข์ โดยเฉพาะทุกข์ใจ เช่น ความโกรธ ความเศร้า หรือว่าความวิตกกังวล ความเครียด ล้วนแต่เป็นเพราะใจที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ไปอยู่กับเรื่องราวในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวันคืนอันขื่นขม หรือวันวานอันหวานชื่น ก็ทำให้ทุกข์ได้ง่าย
ไปนึกถึงเหตุร้าย ๆ ในอดีต ก็ทำให้เสียใจ ทำให้โกรธแค้น ถ้าหากว่าเป็นการถูกเบียดเบียน หรือเกิดความรู้สึกผิดถ้าหากว่าไปเบียดเบียนหรือทำไม่ดีกับคนที่ตัวเองรักหรือว่าเคารพ อันนี้เรียกว่าไปจมอยู่กับวันคืนอันขื่นขม
แต่แม้จะไปนึกถึงวันวานอันหวานชื่นสมัยที่อยู่พร้อมหน้ากัน สามี ภรรยา ลูก หรือว่าลูกกับพ่อแม่ หรือว่าพี่น้อง หรือว่ากับแฟนคนรัก บัดนี้บางคนก็ได้จากไปแล้ว จากเป็นก็มี จากตายก็มี พอไปนึกถึงวันวานวันหวานชื่นแล้ว แล้วมาดูว่าปัจจุบันนี้มันไม่มีแล้ว โอกาสอย่างนั้น บรรยากาศอย่างนั้น ก็เกิดความอาลัยอาวรณ์ เกิดความเศร้า เกิดความอาดูรขึ้นมา ก็ทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง
หรือบางคนนึกถึงความสำเร็จ ความรุ่งโรจน์ในอดีต ความสำเร็จในการงาน หรือว่ามีชื่อเสียง มีคนรู้จัก บางคนเป็นนักกีฬาได้เหรียญทอง ไปไหนคนก็ทัก บางคนเป็นดาราเรตติงกระฉูดในสมัยก่อน ไปไหนคนขอถ่ายรูปด้วยหรือว่าขอลายเซ็น แต่วันนี้ไม่มีแบบนั้นอีกแล้ว ไปไหนก็ไม่มีคนรู้จัก เกิดความเศร้า นี่เป็นเพราะใจไปอยู่กับอดีต ไม่ว่าอดีตฝ่ายลบหรือฝ่ายบวก มันก็ทำให้เกิดความเศร้า เกิดความอาลัย
หรือถ้าเกิดว่าใจไปอยู่กับเรื่องอนาคต และคิดคาดการณ์ปรุงแต่ง ซึ่งมักจะเป็นในทางลบทางร้าย หรือความไม่แน่นอน ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวล ทำให้เกิดความเครียด นี่ก็ทุกข์อีกแบบ ทั้ง ๆ ที่ทุกวันนี้ยังอยู่สบายแต่ว่าก็ไปหาเรื่องทุกข์มาใส่ตัว อันนี้เรียกว่าซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้ตนเอง
แต่ถ้ารู้จักอยู่กับปัจจุบัน เอาใจมาอยู่กับปัจจุบัน มีสติ รู้สึกตัว ถามว่าทำยังไง ก็ง่าย ๆ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น ตัวอยู่ไหน ตัวอยู่บ้าน ใจก็อยู่บ้าน ไม่ใช่ไหลลอยไปที่อื่น ตัวอยู่ที่ทำงาน ใจก็อยู่ที่ทำงาน อยู่ในห้องทำงาน ไม่ใช่ใจไหลไปนึกถึงลูกที่บ้าน ตัวอยู่ในห้องนอน แต่ว่าใจไม่ได้อยู่ในห้องนอน ไปอยู่ที่สำนักงาน ก็เกิดความกังวลนอนไม่หลับ
นี่เป็นหลักการปฏิบัติง่าย ๆ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น ก็คือการเจริญสติ ทำความรู้สึกตัวให้อยู่กับปัจจุบัน แต่ว่าที่จริงแล้วนี้เป็นแค่ส่วนเสี้ยวของข้อปฏิบัติที่ควรทำในชีวิตประจำวัน จริง ๆ แล้วถ้าจะให้ดีก็ควรจะเอาสติมาใช้กับเรื่องอื่นด้วย ที่สำคัญคือเมื่อมีการรับรู้ เมื่อมีการรับรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็รู้จักรักษาใจ ไม่ให้บาปไม่ให้อกุศลครอบงำ เห็นอะไร ได้ยินอะไร จิตไม่ไหว ใจไม่กระเพื่อม หรือถึงกระเพื่อมก็รู้ รู้ทัน เร็ว ไว เพียงพอที่จะรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้บาป ไม่ให้ความโกรธ ความหงุดหงิดครอบงำได้
แล้วถ้าเรารู้จักฝึกแบบนี้ ฝึกได้ทั้งวันเลย ไม่จำเป็นต้องมาอยู่วัด ไม่จำเป็นต้องเข้าคอร์ส เพราะทั้งวันนี้เราต้องรับรู้อะไรต่ออะไรมากมายทางอินทรีย์ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเพียงแค่เราดูแลรักษาใจไม่ให้ไหวหรือกระเพื่อม เวลารูปกระทบตา เวลาเสียงกระทบหู ก็ช่วยได้เยอะเลย เป็นการปฏิบัติธรรมที่ทำได้ทั้งวัน เกิดประโยชน์กับตนเองอย่างชัดเจน
แม้ใหม่ ๆ อาจจะทำไม่ค่อยได้คือ หลงไปตามรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส หรือว่าอ่อนไหวกระเพื่อมไปตามเสียงที่ได้ยิน โดยเฉพาะเสียงที่ตำหนิต่อว่า หรือข้อความที่เห็นแล้วไม่ถูกใจ ก็ทำให้หงุดหงิด แต่ถ้าหากว่ามีสติ หรือหมั่นมีสติอยู่เสมอ มันก็ช่วยได้เลย อันนี้ทางพระท่านเรียกว่าอินทรียสังวร
อินทรียสังวร ความหมายแปลตามตัวก็คือสำรวมอินทรีย์ แต่จริง ๆ แล้วก็คือสติสังวร สำรวมอินทรีย์ไม่ได้หมายความว่าไปควบคุมตาหูจมูกลิ้นใจกาย ไม่ต้องถึงขนาดนั้น ไม่ต้องปิดตา ไม่ต้องปิดหู ก็ยังรับรู้สิ่งต่าง ๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้แต่ทางใจ แต่ว่ารักษาใจด้วยสติ ไม่ให้ความทุกข์หรือบาปอกุศลครอบงำ เรียกว่าอินทรียสังวร ซึ่งเป็นธรรมข้อที่สำคัญมาก
ถ้าว่าเป็นรูปธรรมกว่านั้นหรือมีรายละเอียดมากกว่านั้น ก็ควรมีสติกับการเสพด้วย เดี๋ยวนี้เราใช้เวลาในการเสพสิ่งต่าง ๆ เยอะมาก ไม่ใช่เสพอาหารใส่ปากเท่านั้น แต่ว่าเสพทางตา เพราะสมัยนี้เรามีโทรศัพท์มือถือ แล้วก็ใช้ไปในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นการรับรู้ในเชิงเสพ เช่น ฟังเพลง หรือว่าดูคลิป หรือว่าดูซีรีส์ นี่ก็เป็นไปในทางการเสพเหมือนกัน
แล้วเราเสพวัน ๆ หนึ่ง ไม่ว่าทางปาก ทางตา ทางหู หลายชั่วโมง ถ้าเราเพียงแต่มีสติกับการเสพแค่ 50% ของเวลาที่ใช้ในการเสพแต่ละวันนี้ ก็ช่วยให้สติเราเจริญก้าวหน้า และช่วยรักษาใจเราไม่ให้หวั่นไหวหรือกระเพื่อมไปตามสิ่งที่เสพ และยังช่วยทำให้เรารู้จักความประมาณในการเสพด้วย ในการบริโภค
ดังนั้น ถ้าเรามีสติกับการเสพ อาหารอร่อยยังไง เราก็กินพอดี ๆ ยิ่งถ้าเกิดว่ารู้ว่าอาหารทุกวันนี้ มีน้ำตาลเยอะ มีไขมันมาก สติก็ช่วยทำให้เรารู้จักเลือกเสพ รู้จักเลือกบริโภคไม่ให้มากเกินไป และก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย แล้วก็ไม่เป็นการส่งเสริมกิเลส เพราะว่าถ้าเรากินตามใจปาก ตามอำนาจของกิเลสหรือตัณหา ไม่เพียงแต่จะทำให้ร่างกาย สุขภาพแย่ลงแล้ว ยังทำให้กิเลสอ้วนท้วน มีกำลังเยอะ เพราะเราไปปรนเปรอกิเลสด้วยการเสพอยู่เสมอ
แล้วกิเลสที่มันอ้วนท้วนสมบูรณ์นี้ มันก็เป็นอันตรายต่อเราได้ เพราะพอมันมีกำลัง ใจเราต้านทานไม่อยู่ก็เสร็จมัน พาเราไปทางไหนก็ไม่รู้ จับจ่ายใช้สอยเกินเลยฐานะ หรือว่ามัวแต่หาความเพลิดเพลินสนุกสนาน จนไม่เป็นอันทำงาน ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เช่น ติดเกม เดี๋ยวนี้เราเสพความบันเทิงจากเกมออนไลน์ต่าง ๆ เยอะมาก
แล้วนี่เป็นปัญหาของเด็ก เด็กวัยรุ่น เด็กสมัยใหม่ ไม่ว่านักเรียน นักศึกษา ต้องเรียกว่า 90% เลยเดี๋ยวนี้ติดเกมกัน คนที่เป็นพ่อแม่วิตกกังวลมาก ติดเกมกันอย่างหนักจนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ ไม่เป็นอันพักผ่อน นี้เรียกว่าไม่มีหรือไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เพราะไม่มีสติ
ถ้ามีสติ มันจะไม่ต้องถึงกับงดเสพก็ได้ ไม่ต้องถึงกับงดเล่นเกม แต่ว่าจะเล่นพอประมาณ แต่ถ้ามีสติจริง ๆ ก็จะรู้ว่าไม่เล่นดีกว่า เพราะขืนเล่นไปแล้วกิเลสมันจะมีอำนาจมาก จนกระทั่งทำให้หยุดไม่ได้ เลิกไม่เป็น
ฉะนั้น เวลาพูดถึงการมีสติ ความรู้สึกตัว ต้องเอามาใช้กับการบริโภค การเสพด้วย แล้วถ้าเราเสพเป็น ก็จะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าโภชเนมัตตัญญุตา ชีวิตของคนเรานี้นอกจากการเสพแล้ว เราใช้เวลาไม่น้อยไปกับการทำงาน ทั้งทำกิจส่วนตัว อย่างเบาะ ๆ ก็ล้างหน้า ถูฟัน อาบน้ำ กินข้าว กวาดบ้าน เก็บที่นอน หรือว่าทำงานทำการ ทำอาชีพประกอบกิจการงาน ก็ควรเอาสติเหล่านี้มาใช้
ทำอะไรก็มีสติเต็มตื่น ไม่ปล่อยให้ความเครียด ความกังวล ความร้อนใจ หรือแม้แต่ความเหงา เซื่องซึม เบื่อหน่าย ครอบงำ รวมทั้งความท้อแท้ ความฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย แล้วเดี๋ยวนี้เวลาเราทำงาน มันก็จะมีอารมณ์พวกนี้เกิดขึ้นมาก นี้เพราะว่าขาดสติ
แต่ถ้าเราเอาสติมาใช้กับการทำงาน ทำให้เกิดความตื่นตัวหรือเต็มตื่น มันจะช่วยทำให้งานการเป็นไปด้วยดี และอาจจะช่วยทำให้มีความสุขกับการทำงาน และเป็นการฝึกสติด้วย อันนี้เราจะเรียกว่าเป็นธรรมะที่ชื่อชาคริยานุโยคก็ได้
ชาคริยานุโยค ส่วนใหญ่ก็จะแปลว่าการประกอบความตื่น หรือหมั่นประกอบความตื่น คือไม่เห็นแก่นอน ขยันหมั่นเพียร แต่ว่าความหมายที่กว้างก็คือว่าไม่ใช่เฉพาะเวลากลางคืนก็ยังไม่หลับไม่นอน แต่แม้แต่เวลากลางวัน ถึงแม้กายจะตื่น แต่ว่าใจมันหลับหรือว่าอยู่ในความหลงก็ได้ ง่วงเหงาหาวนอน ซึมเศร้า หรือว่าท้อแท้ กระสับกระส่าย อย่างนี้เรียกว่าเพราะไม่มีชาคริยานุโยค หรือพูดอีกอย่างก็คือ เพราะไม่ได้เอาสติมาใช้กับการทำงาน ประกอบกิจการงานต่าง ๆ
อันนี้ก็เป็นการขยาย ที่บอกว่าให้มีสติรู้สึกตัว เอามาใช้กับการรับรู้ (1) มีสติในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ทางทวารทั้ง 6 หรืออินทรีย์ทั้ง 6 (2) มีสติในการเสพ (3) มีสติกับการทำงาน ทำให้ใจตื่นตัว
ทั้ง 3 อย่างนี้เป็นความหมายหนึ่งของธรรมะที่เราคุ้นเคยกันดี อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา แล้วก็ชาคริยานุโยค อันหลังนี้อาจจะไม่ค่อยได้คุ้นเคยเท่าไหร่ เพราะไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องของพระ นักบวช ที่บำเพ็ญเพียรแม้กระทั่งในเวลาค่ำคืนหรือกลางดึก บางทีก็แปลไปถึงขั้นว่าไม่หลับไม่นอน แต่จริง ๆ แล้วแม้จะนอนตามเวลา แต่เวลาตื่นนี่ก็ไม่ใช่แค่ตื่นแต่กาย ใจก็ตื่น หรือว่าเรียกว่ามีสติเต็มตื่นเวลาทำงานทำการต่าง ๆ
ธรรมะ 3 ประการนี้ ถ้าเราเอามาใช้แม้จะไม่เต็มที่ แต่ก็เรียกว่าช่วยทำให้เราสามารถจะปฏิบัติธรรมได้ทั้งวัน สามารถจะปฏิบัติธรรมได้ทั้งวันเลย ถ้าหากว่าทำ 3 ข้อนี้ คือ (1) มีสติในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ทางทวารทั้ง 6 (2) มีสติในการเสพในการบริโภค และ (3) มีสติในการทำงาน
ทางบาลีท่านเรียกว่า มีอินทรียสังวร มีโภชเนมัตตัญญุตา มีชาคริยานุโยค ธรรม 3 ข้อนี้จัดอยู่ในหมวดธรรมที่ชื่อว่าอปัณณกธรรม ธรรมที่ไม่ผิดไม่พลาด ทำแล้วมีแต่ความเจริญ ไม่มีความพลั้งความเผลอ ยิ่งทำยิ่งดี ถือว่าเป็นแก่น เป็นเนื้อหา เป็นแก่นสารของธรรมที่เอามาปฏิบัติได้
ที่จริงข้อธรรมเหล่านี้เป็นธรรมะที่ฆราวาสทุกคนควรจะนำไปปฏิบัติ เพราะว่าถ้าไม่มีสติไม่ว่าในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ หรือไม่มีสติในการเสพ การบริโภค ไม่มีสติในการทำงาน ชีวิตนี้ก็ย่ำแย่ อาจจะเกิดอุบัติเหตุ เกิดความพลั้งพลาด หรือว่าเกิดความทุกข์
ที่จริง 3 ข้อนี้ถ้าจะรวบให้สั้น ๆ มันก็อยู่ในคำสอนครูบาอาจารย์ที่ว่าให้รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก รู้กายเคลื่อนไหวเวลาทำกิจ ทำการงานต่าง ๆ อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว กายเคลื่อนไหว เช่น เวลากินมีการเคี้ยว ก็รู้ว่ากำลังเคี้ยว ไม่ว่านั่ง หรือนอน หรือเดิน ล้วนแต่ใช้กายในการทำกิจเหล่านี้ ก็ให้รู้กายเคลื่อนไหว ที่พูดมานี้ขยายความอีกหน่อยก็คือ รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ
ต่อไปก็รู้ใจคิดนึก คิดนึกนี้รวมถึงอารมณ์ด้วย มีความคิดความนึก มีอารมณ์เมื่อเจอะเจอสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าดีหรือร้าย บวกหรือลบ ดีใจก็เห็นความดีใจ เสียใจก็เห็นความเสียใจ อันนี้เรียกว่ารู้ใจคิดนึก ขยายความไปอีกหน่อยก็คือ รู้ใจคิดนึกเมื่อเจอนั่นเจอนี่
ฉะนั้น ถ้าเราทำ 2 อย่างนี้คือ เห็นกายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ รู้ใจคิดนึกเมื่อเจอสิ่งต่าง ๆ ถ้าทำ 2 อย่างนี้ได้ ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมได้ทั้งวันแล้ว เพราะว่าทั้งวันคนเราก็หนีไม่พ้น ทำนั่นทำนี่ กับ เจอนั่นเจอนี่
การทำนั่นทำนี่ ก็คือ การทำกิจการงานต่าง ๆ รวมทั้งการเสพการบริโภคด้วย เจอนั่นเจอนี่ ก็หมายถึงว่า เจอรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ธัมมารมณ์ที่เกิดขึ้น เจอเหตุการณ์ที่เป็นบวกเรียกว่าโลกธรรมฝ่ายบวกหรืออิฏฐารมณ์ เจอเหตุการณ์ฝ่ายลบเรียกว่าอนิฏฐารมณ์หรือว่าโลกธรรมฝ่ายลบ ไม่ว่าเจออะไร ก็เห็นหรือรู้ใจที่คิดนึก รวมถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ดีใจ เสียใจ เพลิดเพลิน หงุดหงิด มันทำให้ใจเราเป็นอิสระจากสิ่งกระทบต่าง ๆ ได้ แล้วทำให้สติเจริญงอกงามด้วย
คนส่วนใหญ่นี้ การที่จะมีสติเห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึกตลอดทั้งวัน อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยถ้าเกิดว่าเลือกว่าวัน ๆ หนึ่ง เราทำอะไรที่ทำประจำ เริ่มจากเอามาสัก 4-5 อย่าง และตั้งใจหรือกำหนดลงไปว่าเมื่อเราทำ เราจะรู้กายเคลื่อนไหว เมื่อใจคิดนึกเราก็รู้ทัน
อย่างเช่นอาจจะเลือกว่า อาบน้ำ ถูฟัน แต่งตัว กินข้าว ล้างจาน รวม 5 อย่างนี้เราตั้งใจจะมีสติรู้ตัว เวลามือล้างจานก็รู้กาย เวลาใจเผลอออกจากการล้างจาน ไปคิดนึกเรื่องโน้นเรื่องนี้ก็รู้ทัน หรือว่าเวลาอาบน้ำ ก็รู้ว่ากายกำลังทำอะไร ในขณะที่ลูบตัวขณะอาบน้ำ หรือว่าเมื่อใจเกิดความสดชื่นเบิกบาน ก็รู้ อันนี้ก็เรียกว่า รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก
ฉะนั้นถ้าหากว่าเราลองเลือกสัก 5 อย่างนี้ให้มีสติ ก็อาจจะเรียกได้ว่าเราได้ธรรม 3 ประการคือ อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา และชาคริยานุโยคได้ ก็คือมีสติกับการรับรู้สิ่งต่าง ๆ มีสติกับการเสพ มีสติกับการทำงาน เรียกว่าปฏิบัติธรรมนี้ได้ทั้งวันหรือทุกวัน
อปัณณกธรรม เราสามารถทำได้ทุกวัน อาจจะไม่ได้ทำตลอดทั้งวัน แต่อย่างน้อยถ้าเริ่มต้นจาก 5 อย่างที่ว่ามานี้ ต่อไปพอทำคล่อง ไม่หลง ไม่ลืม มันก็จะขยายไปยังกิจการงานต่าง ๆ หรืออื่น ๆ ได้ อันนี้แหละก็คือธรรมะที่ผู้ครองเรือนหรือญาติโยมนี้สามารถจะนำไปปฏิบัติได้ ไม่ยากเลย.