พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 24 กรกฎาคม 2567
มีอารมณ์ชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เราเป็นทุกข์มาก บางทีก็ถึงกับนอนไม่หลับ อารมณ์นั้นก็คือความกลัว และความกลัวก็มีอาการหลายระดับ เช่น ความหวาดผวา ความตื่นตระหนก รวมทั้งความกังวล ซึ่งพวกนี้ก็จัดอยู่ในประเภทของความกลัว แล้วถ้าเกิดแบบต่อเนื่องเรื้อรังก็ทำให้ป่วยได้หรือไม่ก็เป็นโรคประสาท
ยิ่งคนในยุคนี้มีความกังวลวิตกสูง หลายคนก็เป็นธรรมดาที่อยากจะให้ไม่มีอารมณ์นี้เกิดขึ้นกับจิตใจของตัว มันจะดี ชีวิตจะสงบสุขเพียงใดถ้าหากว่าเราไม่มีความกลัวในใจเลย แต่ที่จริงก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้น ชีวิตของคนเรามันซับซ้อน อารมณ์หลายอย่างที่เราเห็นว่าไม่ดี ก่อความทุกข์ให้กับเรา แต่ถ้าไม่มีเสียเลย ก็แย่เหมือนกัน
มีผู้หญิงคนหนึ่งป่วยด้วยโรคลมบ้าหมู ไปหาหมอ หมอก็ตรวจเช็กสมอง หมอก็แปลกใจมาก พบว่ามีอวัยวะส่วนหนึ่งในสมองที่เสียไป อวัยวะนั้นมีชื่อว่าอะมิกดาลา มีขนาดประมาณถั่วอัลมอนด์ ทั้งสองส่วนเลยที่อยู่ใต้สมอง 2 ซีก ปรากฏว่าอะมิกดาลาเสียหาย เพราะว่าแคลเซียมไปเกาะสะสมมากจนกระทั่งอะมิกดาลาเสื่อมเสียไป
อะมิกดาลาสำคัญอย่างไร มันเป็นศูนย์ความกลัว ความกลัวสัมพันธ์กับอะมิกดาลามาก ถ้าหากว่าอะมิกดาลาเสียไป คนเราจะไม่รู้สึกกลัวเลย ผู้หญิงคนนี้ก็มีอาการแบบนี้ แกไม่มีความกลัวเลย แล้วที่น่าทึ่งกว่านั้นคือว่า เวลาเห็นคนกลัว ก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าคนนี้กำลังกลัวอยู่
อย่างเช่น เขาให้ดูภาพผู้หญิงที่กำลังกรีดร้อง ให้ดูเสร็จก็ถามว่า รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร เธองงนะ แล้วเธอก็บอกว่า ผู้หญิงคนนี้เขาเป็นอะไร ทำไมถึงอ้าปาก แล้วสีหน้าแบบนั้น คือไม่รู้เลยว่า อันนี้เป็นอาการของความกลัว ทั้งๆ ที่ก่อนที่อะมิกดาลาจะเสีย เธอก็รู้ว่าคนกลัวจะมีสีหน้าอย่างไร ที่จริงมันก็น่าจะเก็บสะสมไว้ในสัญญาความจำได้หมายรู้ แต่ว่าพออะมิกดาลาเสียไป ไม่สามารถจะบอกได้เลยว่าคนนี้หรือคนนั้นเขามีความกลัวหรือเปล่า
แล้วไม่ใช่แค่ความกลัว ความทุกข์ ความเสียใจ เขาก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า อาการของคนที่ทุกข์เสียใจ เขาเป็นอย่างไร เห็นหน้าคนที่ทุกข์ เห็นหน้าคนที่เสียใจ หรือเห็นภาพ ตอบไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไรเลย แต่ถ้าเป็นภาพเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกดีๆ เช่น ความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส บอกได้ว่า คนนี้เขามีความสุข เรียกว่าความจำได้หมายรู้มันเสียไปเลยที่เกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ลบๆ
แม้กระทั่งความประหลาดใจ ก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นอย่างไร พอผู้หญิงคนนี้ไม่มีความกลัว ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปเลย เวลาข้ามถนนก็ไม่สนใจที่จะดูถนนให้รอบคอบเสียก่อน เขาไม่กลัวโดนรถชน ไม่ต้องพูดถึงกลัวที่สูง กลัวงู กลัวสิงสาราสัตว์ ไม่มีเลย ซึ่งคงไม่ดี เพราะความกลัวทำให้คนเรารู้จักหลบหลีกอันตราย ถ้าไม่มีความกลัวเลย อาจจะเดินเข้าหาสิ่งที่เป็นโทษเป็นอันตราย อย่างเช่นเดินเข้าไปในป่า ไม่สนใจเลยว่าจะเดินเหยียบหนาม หรือว่าจะโดนแมงป่องกัด หรือว่าจะโดนงูฉกหรือเปล่า เพราะว่าไม่มีความกลัวเลย
บรรพบุรุษของเราถูกปลูกฝังมาให้มีความกลัว ซึ่งก็มีข้อดี ทำให้อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีความกลัวแล้ว คงจะตายตั้งแต่ยังไม่ทันจะมีผัว มีเมีย หรือมีลูก คือไม่ทันจะแพร่พันธุ์ก็ตายเสียแล้ว ที่แพร่พันธุ์มาได้ก็คือมนุษย์ หรือบรรพบุรุษที่มีความกลัว พวกนี้หลงรอดมาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะรู้จักหลบหลีกอันตราย
ที่จริงความกลัวก็มีประโยชน์ แม้กระทั่งความกลัวตาย หรือว่ากลัวจะต้องเจอความทุกข์ ในวันข้างหน้า มันทำให้เราขวนขวาย มาฝึกฝนปฏิบัติธรรม ถ้าคนเราไม่กลัวตายเลย ก็คงใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวัง หรือว่าไม่สนใจเรื่องการทำความดี การฝึกจิต เพราะเราเชื่อว่าทำเช่นนี้แล้วจะทำให้ไม่ต้องทุกข์กับความตาย หรือไม่มีความตื่นตระหนกเวลาตาย
ฉะนั้น ความกลัวถึงแม้จะมีโทษ ทำให้คนเรามีความทุกข์ อาจถึงขั้นทำให้ประสาท เป็นโรคจิต แต่ถ้าหากว่ามันอยู่ในระดับที่พอประมาณ แล้วรู้จักใช้มัน ก็มีประโยชน์ อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมีประโยชน์ทั้งนั้น อย่างที่เคยพูดอยู่เสมอว่า อะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกหรือว่ามีท่าทีกับมันอย่างไร หรือว่ารู้จักใช้มันอย่างไร
สมัยหลวงพ่อชายังหนุ่ม ท่านชอบธุดงค์ ธุดงค์คนเดียวไปตามป่าลึก มีคืนหนึ่งท่านกางกลดอยู่ ปรากฏว่าขณะที่นั่งสมาธิภาวนา ตอนนั้นก็ดึกแล้ว ปรากฏว่าได้กลิ่นสาบเสือ ท่านบอกว่าคนที่ไม่เคยได้กลิ่นสาบเสือ แม้ได้กลิ่นครั้งแรกก็รู้แล้วว่านี่มันกลิ่นเสือ แล้วมันก็มาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้มาก ท่านบอกว่าท่านกลัวมากเลย กลัวจนขนลุกเลย ทำอย่างไรก็ไม่หายกลัว
แต่แล้วท่านก็มีความคิดหนึ่งว่า อย่าส่งจิตออกนอก เพราะถ้าส่งจิตออกนอก ไปนึกถึงเสือ ก็จะกลัว เพราะฉะนั้นท่านเลยเอาจิตมาน้อมอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ แล้วไม่ใช่รู้แบบธรรมดา รู้แบบแนบแน่นเลย จิตมันไม่ยอมออกไปไหนเลย เพราะถ้าออกไปข้างนอกก็จะนึกถึงเสือ แล้วก็จะกลัว
ความกลัวทำให้จิตไม่ออกไปเพ่นพ่านที่ไหนเลย จิตแนบแน่นอยู่กับลมหายใจเข้าออกจนกระทั่งเกิดสมาธิ ท่านบอกตอนนั้นจิตสงบมาก มันนิ่งสงบ แล้วเกิดปีติขึ้นมา พอลืมตาขึ้น สว่างแล้ว เวลาผ่านไปเร็วมากเลย ท่านบอกว่าเป็นเพราะความกลัวทำให้สมาธิท่านดีมาก เพราะถ้าไม่มีความกลัว จิตก็จะส่งออกนอก แต่เพราะความกลัวทำให้จิตหลบเข้าใน เพราะว่าถ้าส่งออกนอกแล้วจะนึกถึงเสือ แล้วจะกลัว ขนลุก ความกลัวทำให้จิตเป็นสมาธิแนบแน่นอยู่กับลมหายใจได้
นี่เรียกว่ารู้จักใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่แค่เป็นประโยชน์ในทางโลก คือทำให้เรามีอายุยืน ทำให้เรารู้จักหลบหลีกอันตราย ไม่ใช่แค่งูเงี้ยวเขี้ยวขอ แต่รวมทั้งหลบหลีกอันตรายจากรถ จากไฟฟ้าแรงสูง อันนั้นเป็นประโยชน์ทางโลก คือช่วยทำให้เราไม่ตายเร็ว แต่ประโยคทางธรรมคือ ทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้ง่าย
แต่ว่าคนส่วนใหญ่ใช้ความกลัวไม่เป็น ก็เลยโดนความกลัวเล่นงาน จนป่วย จนนอนไม่หลับ อันนี้เพราะว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องจิต ไม่มีความเข้าใจในเรื่องอารมณ์ แล้วก็ไม่มีวิชาในการที่จะฝึกจิตด้วย
นอกจากความกลัวแล้ว ความเจ็บความปวดหรือทุกขเวทนาก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรามีความทุกข์มาก คนเราเวลาเจ็บ เวลาปวด หรือปวดเมื่อย ความปรารถนาอย่างหนึ่งก็คือหายปวดหรือไม่รู้สึกปวด เราคงคิดว่า คนเราหรือถ้าตัวฉันไม่มีความปวดเลย จะมีความสุขมากเพียงใด
แต่ก็ไม่แน่ คนที่ไม่รู้จักปวดเลย อาจจะตายเร็วก็ได้ มีคนจำนวนไม่น้อยที่เกิดมาแล้วไม่รู้จักปวด อันนี้เป็นความผิดพลาดทางกรรมพันธุ์ ตั้งแต่เกิดก็ไม่รู้จักปวดเลย โดนเข็มแทงก็ไม่เจ็บ แผลมีแต่ไม่เจ็บ โดนไฟลวกก็ไม่รู้สึกร้อน เหยียบหนามก็ไม่รู้สึกเจ็บ ก็ดูเหมือนดี แต่ว่าเด็กเหล่านี้จะมีปัญหามาก ปัญหาหนึ่งคือลิ้นกุด
เพราะว่าธรรมชาติคนเราลิ้นกับฟันต้องกระทบกันอยู่แล้ว คนเราถ้ารู้จักปวด เวลาลิ้นกระทบฟัน มันจะชะงักเลย ทำให้แผลไม่เจ็บมาก ไม่ลึกมาก แต่เด็กที่ไม่มีความปวด ทุกคนลิ้นกุดตั้งแต่ยังเล็ก บางคนก็ 1 ใน 4 หายไป บางคนก็ 1 ใน 3 หายไป เพราะว่าเวลาฟันกระทบลิ้น มันไม่หยุดไม่ยั้งไม่ชะลอเลย เพราะไม่เจ็บ มิหนำซ้ำพอลิ้นมีแผลแล้ว ก็ยังไม่ระมัดระวัง กัดซ้ำกัดซากอีก แผลเลยลามไปเรื่อยๆ
อย่าว่าแต่คนที่เกิดมาไม่รู้จักปวดเลย แม้กระทั่งบางช่วงบางขณะที่เราไม่รู้จักปวด ก็ไม่ใช่ว่าดี เคยไปทำฟัน หมอเขาฉีดยาชา แต่ว่าทำให้เสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาเพล เลยต้องพัก แล้วหมอเขาก็ถวายอาหารเพลให้ ฉันเสร็จก็ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ ทำฟันต่อ พอเปิดปากให้หมอดูเท่านั้น หมอตกใจเลย เพราะว่ามันมีแผลที่ริมฝีปาก หมอบอกว่าแผลเยอะด้วย เราไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้ว่าตอนที่ฉัน เคี้ยวอีท่าไหนไม่รู้ ฟันไปโดนริมฝีปาก แล้วไม่เจ็บด้วย เลยฉันไปเรื่อยๆ แผลก็เลยถูกซ้ำเข้าไปหลายครั้ง หมอเลยต้องให้ยาสมานแผล
อันนี้เป็นตัวอย่างแค่เล็กน้อยว่า เพียงแค่คนเราไม่รู้จักปวดแม้เพียงชั่วขณะ กินข้าวเข้าไป เดี๋ยวเกิดแผลแล้ว ถ้าคนที่ไม่รู้จักปวดเลยทั้งชีวิต ไม่ใช่แค่ริมฝีปาก ไม่ใช่แค่เหงือก ลิ้นก็กุด แล้วที่จริงไม่ใช่แค่ลิ้น ตามตัวก็จะมีแผล เช่น ไปเหยียบหนามแล้วไม่เจ็บ เลยไม่รักษาไม่พยาบาล ปล่อยทิ้งไว้ แผลก็เน่าลาม หรือไม่เช่นนั้นก็เหยียบซ้ำเหยียบซาก ก็เลยมีแผลลาม บางคนขาหักยังไม่รู้เลย นิ้วหักยังไม่รู้เลย จนต้องมีคนทักว่า มันบวมแล้วนะ คนเราถ้านิ้วหักหรือขาหัก แล้วก็ยังใช้ขาอยู่ อาการจะหนักขึ้น อาจจะถึงขั้นพิการเลย
ฉะนั้น คนที่ไม่รู้จักปวดเลยตั้งแต่เกิด พวกนี้อายุจะสั้น บางคนซ้อนมอเตอร์ไซค์ ปรากฏว่าขาหรือน่องไปโดนกับท่อไอเสีย ท่อไอเสียมันร้อน แต่ไม่รู้สึกเลยจนกระทั่งได้กลิ่น คนขี่เขาหยุดถามว่ากลิ่นอะไร กลิ่นเนื้อ หยุดรถแล้วไปดู ปรากฏว่าคนที่ซ้อนอยู่โดนท่อไอเสียมอเตอร์ไซค์เผาเอา ลวกเอาแล้ว ถ้าไม่รักษา ปล่อยไว้เรื่อยๆ ก็เน่า
บางคนตอนนอนโดนหนูกัด ไม่รู้จักเจ็บ อาตมานอนที่ภูหลง บางช่วงก็ไม่ใช่มุ้ง ไม่ใช้กลด โดนหนูกัดที่หู ดีที่เรารู้จักเจ็บก็เลยลุก สะดุ้ง ก็ไล่หนูไป แต่ถ้าไม่รู้จักเจ็บ หนูจะแทะหู แล้วก็มาแทะทุกวันๆ หูกุดได้เหมือนกัน
ฉะนั้น ความเจ็บปวดมีประโยชน์ ทุกขเวทนามีประโยชน์ ไม่ใช่แค่ประโยชน์ในแง่สุขภาพเท่านั้น ประโยชน์ทางธรรมด้วย พระอรหันต์หลายท่าน บรรลุอรหันต์ได้เพราะทุกขเวทนา ทุกขเวทนาเพราะความเจ็บปวด ทุกขเวทนาเพราะเสือกัด หรือไม่ก็ทุกขเวทนาที่เกิดจากการทำร้ายตัวเอง ตอนทำร้ายตัวเองก็ทำด้วยความหลง แต่ว่าพอเกิดความปวดขึ้นมา ได้สติ เห็นเวทนา พิจารณาเวทนา ทำให้เห็นเลยสังขารนี่เป็นตัวทุกข์
พระอรหันต์ที่ท่านบรรลุธรรมหลังจากที่ป่วยหนัก ก็เพราะเหตุผลเดียวกันคือเห็นเวทนา แล้วก็รู้เลยว่าสังขารนี่เป็นทุกข์มาก ตอนที่ไม่เจ็บไม่ป่วย ก็ไม่เห็นชัดว่าทุกขังเป็นสิ่งที่ประจำสังขารเลย อย่าไปคิดว่าร่างกายเป็นตัวให้ความสุขกับเรา หวงแหนร่างกายนี้เพราะมันให้ความสุขกับเรา แต่พอเจอความทุกข์ เจอความปวดมากๆ รู้เลยว่าสังขารเหมือนกับถ่านก้อนแดงๆ ไม่น่ายึดไม่น่าถือ มีแต่จะต้องวาง
หลายท่านเจอทุกขเวทนาที่เกิดกับร่างกาย ท่านวางเลย ไม่เอาแล้วสังขารร่างกายนี้ ไม่ยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา จิตก็หลุดพ้น ไม่ว่าเพราะความเจ็บป่วย ไม่ว่าเพราะโดนเสือกัด ไม่ว่าเพราะโดนไฟไหม้ ปล่อยเลย วางเลย บรรลุอรหัตตผลหรือบรรลุธรรมขั้นสูงก็เพราะทุกขเวทนานี้
เช่นเดียวกัน ความโกรธนี่ไม่ดี ใครมีความโกรธ จิตรู้สึกรุ่มร้อนมาก แต่ว่าถ้าใช้ให้เป็นก็ดี มีประโยชน์ ประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะทางโลก แต่ทางธรรมด้วย สมัยที่หลวงปู่ดูลย์ยังมีชีวิตอยู่ มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งบวชเมื่อแก่เรียกว่าหลวงตาพวง หลวงตาพวงเป็นคนที่ใส่ใจการปฏิบัติมาก เพราะท่านรู้ว่าเวลาเหลือน้อยแล้วเนื่องจากอายุมากแล้ว ท่านก็ภาวนาเต็มที่เลย แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย
ปรากฏว่าอยู่มาวันหนึ่งเกิดวิปัสสนู อาการของวิปัสสนูอย่างหนึ่งคือ ความสำคัญมั่นหมายหรือความหลงตนว่าบรรลุธรรมแล้ว แล้วไม่ได้บรรลุธรรมธรรมดา บรรลุอรหันต์เลยทีเดียว พอคิดว่าตัวเองบรรลุอรหันต์ ก็อยากจะไปโปรดสรรพสัตว์ อยากจะไปช่วยให้ผู้คนทั้งหลายบรรลุธรรม แล้วคนแรกที่ท่านนึกถึงคือหลวงปู่ดูลย์เพราะเป็นอาจารย์ของท่าน เลยตั้งใจว่าจะไปโปรดหลวงปู่ดูลย์ให้ได้เห็นธรรมอย่างตัวเองบ้างคือท่านมีไฟแรงกล้า เดินจากวัดของท่านไปวัดบูรพารามของหลวงปู่ดุลย์ ระยะทาง 80 กิโลเมตร เดินทั้งวันทั้งคืนเลยเหมือนกับไม่รู้จักเหนื่อย อยากจะไปโปรดหลวงปู่ดูลย์ เพราะอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส
ไปถึงวัดบูรพารามตอนเที่ยงคืน ก็ไปเรียกหลวงปู่ดูลย์ออกมา “หลวงตาดูลย์ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว” พูดเสียงดังเลย หลวงปู่ดูลย์ท่านก็ออกมา แล้วท่านก็พยายามที่จะแก้อารมณ์ของหลวงตาพวง หลวงตาพวงไม่สนใจเลย อยากจะเทศน์สอนอย่างเดียว หลวงปู่ดุลย์ก็ซักถาม หลวงตาพวงตอบผิดๆ ถูกๆ เพราะว่าไม่ได้รู้จริง ก็ใช้เวลาอยู่นาน
สุดท้ายหลวงปู่ดุลย์ก็บอกให้หลวงตาพวงไปนอนพักไปในโบสถ์ ระหว่างที่อยู่ที่โบสถ์ แกก็ไม่อยู่เฉยตื่นเช้าขึ้นมาก็สอนพระเณร สอนอย่างเดียว ไม่รู้จักเหน็ดไม่รู้จักเหนื่อยเลย ไม่หายจากวิปัสสนู หลวงปู่ดูลย์ก็พยายามแก้ แต่แก้ไม่สำเร็จ
ผ่านไป 3 วัน สุดท้ายหลวงปู่ดูลย์ก็พูดขึ้นมากับหลวงตาพวงว่า “สัตว์นรก สัตว์นรก ออกไปเดี๋ยวนี้ ออกไปจากกุฏิเดี๋ยวนี้” หลวงปู่ดูลย์ไม่เคยพูดอย่างนี้กับใคร แต่ว่าหลวงตาพวงพอได้ยินเข้า โกรธเลย คงไม่ใช่โกรธเพราะว่าถูกด่าอย่างเดียว แต่โกรธเพราะรู้สึกว่า ทำอย่างนี้กับพระอรหันต์ได้อย่างไร ไม่มีสัมมาคารวะ โกรธมาก ก็ลุกขึ้นทันทีเลย บอก “ไปก็ได้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่พ่อกู” เก็บบริขารเดินออกจากวัดบูรพารามไปเลย จะไปวัดอื่น
ปรากฏว่าระหว่างที่เดินอยู่ จิตที่ถูกอารมณ์คือความหลงครอบงำ โดนพลังแห่งความโกรธกระแทกอย่างแรงเลย ปรากฏว่าอารมณ์หลง วิปัสสนูมันหลุดเลย พอหลุดก็เลยรู้ตัวว่า เรานี่ยังเป็นปุถุชนธรรมดา รู้ตัวว่าหลงไปแล้ว เกิดสำนึกผิดขึ้นมา เลยมากราบขอขมาหลวงปู่ดูลย์
อันนี้เรียกว่าได้สติรู้ตัวก็เพราะถูกด่า ถูกด่าแล้วก็เกิดความโกรธ ความโกรธก็ไปกระแทกความหลงที่เกาะกุมใจอยู่ให้หลุดออกมา ถ้าไม่มีความโกรธมากระแทก ก็คงจะหลงไปอีกนาน อันนี้เขาเรียกว่าความโกรธมีประโยชน์ ครูบาอาจารย์ท่านก็สามารถจะใช้ความโกรธเพื่อปลุก เพื่อกระตุ้นให้ลูกศิษย์เกิดมีสติขึ้นมาได้
ฉะนั้น อารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความกลัวก็ดี ความโกรธก็ดี ความเจ็บความปวดก็ดี หรือแม้กระทั่งความโลภ ไม่ใช่ว่าจะก่อทุกข์ได้อย่างเดียว ก็สามารถจะเป็นประโยชน์ถ้าเรารู้จักใช้ แม้กระทั่งความทุกข์ ไม่มีใครชอบ แต่ว่าก็สามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้
พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลหลายท่านทุกข์มาก แต่เพราะความทุกข์ที่ทำให้ท่านเห็นว่า สังสารวัฏเต็มไปด้วยทุกข์ ท่านพบว่าอะไรก็ตามไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้เลย เพราะมันเป็นทุกข์ เมื่อเห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ทั้งนั้น การพ้นทุกข์ก็เกิดขึ้นได้ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเขียนไว้ก่อนมรณภาพว่า “เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์”
ฉะนั้น ทุกข์ก็มีประโยชน์ ถ้าเราเห็นมัน ถ้าเราเข้าใจมัน ที่มันเป็นโทษเพราะเราเข้าไปเป็นมัน หรือว่าหลงอยู่ในทุกข์ ไปยึดในทุกข์เอาไว้ ไม่รู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ ก็เลยจมอยู่ในความทุกข์มากขึ้น
ฉะนั้น เวลาเราเจออารมณ์อะไรก็ตาม แม้กระทั่งความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น อย่าไปคิดแต่จะกำจัดมัน ลองมองดูให้ดี มันมีประโยชน์ รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บ และความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราด้วย มีประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักใช้มัน