พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 22 กรกฎาคม 2567
สิ่งที่เราคิดหรือวาดภาพเอาไว้ บ่อยครั้งมันก็แตกต่างจากความเป็นจริงมาก
คุณหมอฉันชาย สิทธิพันธุ์ ฝาแฝดคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน คุณหมอเป็นอาจารย์แพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย รวมทั้งผู้ป่วยหนักในห้อง ICU ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ คุณหมอเคยสอบถามผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด หายใจไม่ค่อยสะดวก ว่าถ้าจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดชีวิตนี้จะเอาไหม ส่วนใหญ่ 90% หรือแทบทั้งหมดบอกไม่เอา
แต่ครั้นไปถามผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่แล้ว ว่าถ้าย้อนกลับไปได้ตอนที่จะตัดสินใจว่าจะใส่หรือไม่ใส่ดี จะตัดสินใจว่าอย่างไร 50% บอกว่าก็ยังใส่
ขณะที่คนที่ยังไม่เคยใส่ กลุ่มนี้เกือบจะร้อยทั้งร้อยบอกว่าไม่เอาดีกว่า พูดง่าย ๆ คือว่า ตายดีกว่า แล้วทำไมคนที่ไม่เคยใส่เกือบร้อยทั้งร้อยบอกว่าไม่เอา แต่คนที่ได้ใส่แล้วได้ใช้เครื่องช่วยหายใจแล้วอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งบอกว่า ถ้าย้อนกลับไปได้ก็ยังจะตัดสินใจใช้เครื่องช่วยหายใจ
ความแตกต่างนี้เกิดจากอะไร อันนี้ชี้ให้เห็นเลยว่าคนเราบางครั้งก็วาดภาพอนาคตไว้ในทางที่เลวร้าย คนที่ไม่เคยใช้เครื่องช่วยหายใจก็คิดว่า ถ้าฉันต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดชีวิต ฉันแย่แน่ ๆ เลย วาดภาพไว้ในทางที่เลวร้ายว่าจะต้องทุกข์มาก
แต่พอถึงคราวที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจริง ๆ หลายคนพบว่ามันก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาดหรืออย่างที่นึกเอาไว้ ก็เลยตัดสินใจว่าถ้าย้อนกลับไปได้ก็ยังจะใส่ หรือไม่ก็เป็นเพราะว่าพอได้ใส่แล้ว แม้จะมีความทุกข์ ความลำบาก อึดอัดอย่างไร สุดท้ายก็ปรับตัวได้ ความทุกข์ที่อาจจะเคยเกิดขึ้นตอนแรกที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ พอใช้ไปนาน ๆ ก็ปรับใจปรับตัวได้ ก็เลยไม่รู้สึกว่าทุกข์เหมือนกับตอนแรก ๆ
ทั้งสองอย่างนี้เป็นธรรมชาติของคนเรา ก็คือว่าเรามักจะวาดภาพหรือคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตไปในทางที่เลวร้ายกว่าความเป็นจริง แต่มนุษย์เราก็มีความสามารถในการปรับตัวเหมือนกัน เจอความทุกข์ เจอความลำบาก สุดท้ายก็ปรับตัวได้ จนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือว่ามีความรู้สึกไม่ต่างจากตอนที่ยังไม่ได้เจอเหตุการณ์นั้น
อันนี้คล้าย ๆ กับคนที่พิการ เช่น ตาบอดหรือว่าเสียขา ถ้าไม่ใช่พิการแต่กำเนิด หรือว่าเสียขาแต่กำเนิด คือมาเป็นเอาตอนที่มีอายุแล้ว ตอนโตแล้ว ถามว่าถ้าหากว่าจะต้องตาบอดตลอดชีวิตหรือว่าเสียขาตลอดชีวิตนี้ คิดว่าจะไหวไหม จำนวนไม่น้อยก็บอกว่าฉันตายดีกว่า จะอยู่ได้อย่างไรถ้าหากว่าฉันตาบอด จะอยู่ได้อย่างไรถ้าหากว่าฉันเสียขา ต้องนั่งรถเข็น หรือว่าต้องใช้ขาปลอม
อันนี้รวมไปถึงคนที่เพิ่งตาบอดใหม่ ๆ หรือว่าคนที่เขาเพิ่งผ่าตัดตัดขา หลายคนทุกข์ทรมานมาก แล้วก็คิดว่าไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ แต่ว่าพอผ่านไป ๆ ก็สามารถใช้ชีวิตได้เกือบจะเหมือนเดิม หรือถึงแม้ไม่เหมือนเดิมแต่ว่าก็ไม่ได้ทุกข์ทรมานมาก ยังอยากที่จะมีชีวิตต่อไป ทั้งที่ตอนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ ถ้าให้คาดเดา ก็จะรู้สึกว่าทรมานมากเลย ฉันจะอยู่ได้ยังไง ถ้าฉันตาบอด หูหนวก หรือว่าฉันเสียขา แต่พอเกิดขึ้นจริง ๆ ก็อยู่ได้ แล้วก็อยู่ได้อย่างมีความสุขด้วย
อันนี้ก็เป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งไปคาดการณ์ว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริง คงจะเลวร้ายมาก แต่พอเกิดขึ้นจริงก็พบว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด หรือถึงแม้ว่าจะรู้สึกแย่ตอนแรก ๆ แต่ว่าพออยู่ไปนาน ๆ ก็ปรับตัวได้
มนุษย์เรามีความสามารถในการปรับตัวได้สูงมาก ไม่ว่าเจอความทุกข์ เจอความยากลำบากอย่างไร ใหม่ ๆ ก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ไหว บางทีคิดฆ่าตัวตายไม่อยากอยู่แล้ว อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการสูญเสียความสามารถทางกายหรือทางกายภาพ เช่น ตาบอด หูหนวก หรือว่าเสียขา เสียแขน แต่ยังรวมไปถึงการสูญเสียคนรัก สูญเสียสิ่งที่เคยถนอม เคยครอบครอง
หลายคนก็คิดว่าถ้าหากว่าสูญเสียสิ่งนั้นไป ฉันต้องตายแน่ ๆ แต่ว่าพอเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง ๆ แม้ว่าจะทุกข์ตอนแรก หนักหนาด้วย แต่ว่าพออยู่ไปนาน ๆ ก็สามารถจะหัวเราะได้ ยิ้มได้ สามารถจะใช้ชีวิตเหมือนก่อนเกิดเหตุการณ์ได้
เมื่อสัก 80 ปีก่อน เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ ก็มีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าลอนดอนนี้ต้องเจอแน่ ฮิตเลอร์จะต้องส่งเครื่องบินมาถล่มลอนดอนแน่ หลังจากที่ประกาศสงครามกันแล้ว ก็มีการคำนวณว่าคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการทิ้งระเบิดใส่กรุงลอนดอน เขาก็ประมาณว่าถ้าทิ้งระเบิดหลายเดือนติดต่อกัน ก็คงจะมีคนตายสัก 6 แสน บาดเจ็บสัก 1.2 ล้านคน
แล้วเขาก็คาดการณ์ต่อไปว่าผู้คนในกรุงลอนดอนซึ่งมี 3-4 ล้านคน คงจะตื่นตระหนกกันมากเลย จะต้องมีคนที่เป็นโรคประสาท ต้องได้รับการบำบัดทางจิต เขาก็เลยเตรียมสร้างโรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อรองรับคนที่จะตื่นตระหนกตกใจ จนเป็นโรคจิต โรคประสาท
ครั้นถึงวันที่เยอรมันส่งเครื่องบินมาถล่มลอนดอนอย่างที่คาด ตลอด 8 เดือน แต่ไม่ใช่ทุกวัน ก็มีบางช่วงที่ยืดเยื้อติดต่อกันตั้งเกือบ 2 เดือน คือ 57 วัน ตึกรามบ้านช่องนี่เรียกว่าระเนระนาดถูกทำลาย ผู้คนก็ตายจำนวนไม่น้อย ถึงแม้ไม่เท่ากับที่คาดเอาไว้
แต่ที่ผิดคาดมาก ๆ คือคนไม่ได้ตื่นตระหนกเท่าไหร่ แทนที่จะอพยพหลบลี้หนีภัยออกจากลอนดอนไปอยู่เมืองอื่น ปรากฏว่าคนก็ยังอยู่ลอนดอน แล้วคนที่ป่วยเป็นโรคจิต โรคประสาท ตื่นตระหนกตกใจจนเป็นบ้าก็มีน้อยมาก โรงพยาบาลที่เตรียมไว้รองรับคนป่วยเหล่านี้ สุดท้ายต้องเปลี่ยนให้ไปเป็นค่ายทหารหรือว่าค่ายสงเคราะห์ สถานสงเคราะห์ผู้ที่ประสบภัยสงคราม
แล้วก็แปลก คนลอนดอนหลังจากที่เจอการทิ้งระเบิดมาอยู่พักใหญ่ ทีแรกก็ตื่นตกใจ หลบเครื่องบิน หลบระเบิด แต่ตอนหลังนี่ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องบินบินมาทิ้งระเบิด มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เสียงหวอดัง แต่ว่าคนจำนวนมากก็ยังเฉย เด็กก็ยังวิ่งเล่นอยู่บนถนน ผู้คนก็ยังเดินไปจับจ่ายซื้อของ คือไม่มีอาการตื่นตระหนกตกใจเลย
อันนี้ชี้ให้เห็นว่าคนเราบางครั้งก็คาดการณ์ล่วงหน้าไปในทางลบทางร้าย ว่าจะเลวร้ายกว่าความเป็นจริง คนอังกฤษก็กลัวเหมือนกัน ทีแรกว่าถ้าเกิดเยอรมันเอาเครื่องบินมาถล่มนี่ฉันตายแน่ ฉันจะอยู่ยังไง แต่พอเกิดขึ้นจริง ๆ ทั้งที่ระยะเวลาก็ยาวนานนับ 8 เดือน แต่จำนวนไม่น้อยกลับอยู่กับมันได้ เครื่องบินมีสัญญาณว่าจะมาถล่ม ก็ไม่หลบ ไม่ตื่นตระหนก
ส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า คนเรามีความสามารถในการปรับตัวได้ ถึงแม้ว่าภัยสงครามจะรุนแรง มีความเดือดร้อน มีความยากลำบาก แต่ว่าก็สามารถปรับตัวปรับใจได้ ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีสองด้าน ด้านหนึ่งชอบคิดในทางลบทางร้าย โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องการคาดการณ์ซึ่งก็เป็นการเพิ่มความทุกข์ให้กับตัวเอง บางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้าหากว่ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับตน
ฉะนั้น คนทุกวันนี้ก็มีความเครียดสูงกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ตั้งแต่เหตุการณ์ธรรมดาในชีวิตประจำวัน เช่น รถติด หรือว่าลูกกลับบ้านผิดเวลา ถึงเวลายังไม่กลับ ก็คิดไปแล้วในทางลบทางร้ายว่าเกิดอันตรายกับลูกไหม ลูกถูกลักพาตัวไป หรือเกิดอุบัติเหตุอะไรหรือเปล่า เครียดขึ้นมาทันที หรือไปตรวจสุขภาพ ก็คิดไปแล้วว่าจะต้องพบโรคร้าย ยังไม่เกิดขึ้นเลย ยังไม่รู้ด้วยว่ามันเป็นยังไง แต่คิดไปแล้วในทางลบทางร้าย แล้วก็เลยเครียด
ขณะเดียวกัน คนเราก็มีความสามารถอีกอย่างหนึ่งคือ ความสามารถในการปรับตัว สิ่งแย่ ๆ ที่มันเกิดขึ้น แม้ว่าทีแรกไม่อยากให้มันเกิด หรืออาจจะคิดว่าเกิดแล้วฉันแย่แน่ ๆ แต่พอเกิดขึ้นจริง มันก็ทุกข์อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วเสร็จแล้วก็ค่อย ๆ รู้สึกดีขึ้น
เคยมีการทดลองให้คนลองฟังเสียงเลื่อยยนต์หรือว่าเสียงเครื่องดูดฝุ่น ฟังโดยใส่หูฟังประมาณ 45 วินาที ทุกคนเลยบอก โห มันแย่มาก อึดอัดรำคาญเสียงดังมาก ต่อมาเขาก็ให้ทดลองกับอีกกลุ่มหนึ่งให้ฟังเสียงเดียวกันเลย แต่ใช้เวลา 15 วินาที แล้วถามความรู้สึกของคน 2 กลุ่มนี้ว่ารู้สึกแย่ รู้สึกทุกข์ รู้สึกหงุดหงิดมากน้อยเพียงใด
แล้วก็ให้แต่ละคนให้คะแนนว่ามีความรู้สึกหงุดหงิดอย่างไร โดยเฉพาะในช่วง 15 วินาทีสุดท้าย โดยสามัญสำนึก คนที่ฟังเสียงเลื่อยยนต์ เสียงเครื่องดูดฝุ่น 45 วินาที น่าจะทุกข์กว่าคนที่ฟังเสียงเครื่อง 15 วินาที เพราะฟังนานกว่า แต่ปรากฏว่าคนที่ฟัง 15 วินาที กลับมีความทุกข์ มีความเครียด มีความหงุดหงิดมากกว่าคนกลุ่มแรกที่ฟัง 45 วินาที
แต่ว่าเขาให้บอกความรู้สึกของตัวเองในช่วง 15 วินาทีสุดท้าย กลุ่มคนที่ฟัง 45 วินาที พอถึง 15 วินาทีสุดท้าย มันเริ่มชินแล้ว คือปรับตัวได้ ก็เลยไม่หงุดหงิดมาก คะแนนความทุกข์ คะแนนความเครียด อาจจะแค่ 5 หรือ 6 แต่กลุ่มคนที่ฟัง 15 วินาที เนื่องจากไม่ได้มีเวลาได้ปรับตัว หรือทำใจ หรือทำความเคยชิน ก็เลยรู้สึกทุกข์มาก คะแนนความทุกข์ คะแนนความเครียด ก็พุ่งถึง 8 หรือ 9 หรือ 10
มันก็แปลก คนฟังนานกว่ากลับทุกข์น้อยกว่าคนที่ฟังไม่นาน แต่นี่ก็เป็นเพราะธรรมชาติของคนเรามีความสามารถในการปรับตัวสูง ฉะนั้น เวลาที่เราจะเจอความทุกข์ มันจะดีถ้าเราเตือนใจตัวเองว่าสิ่งที่เราคาดการณ์อาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิด หรือถึงแม้จะเลวร้าย แต่สุดท้ายเราก็จะปรับตัวได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรหรือเหตุการณ์อะไรก็ตาม
เพราะธรรมชาติของคนเรา ทุกข์แค่ไหนอย่างเช่น สมมุติมีทุกข์ระดับ -10 (ลบ 10) พออยู่ไปนาน ๆ มันจะทุกข์น้อยลง จาก -10 อาจจะขยับลดลงเป็น -5 แล้วก็ -3 สุดท้ายก็มาสู่จุด 0 คือจุดที่เป็นปกติ ระดับเดียวกับก่อนที่จะเจอความทุกข์ นี่เห็นได้ชัดอย่างคนที่คนตาบอด เสียขา ถ้าไม่ไปซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้ตัวเอง ความทุกข์จะค่อย ๆ ลดลง จนถึงระดับที่เท่ากับก่อนเกิดเหตุการณ์
ในทางตรงข้าม คนที่มีความสุข เพราะว่าได้โชค ได้ลาภ ได้เสพ ได้เจอของอร่อย ตอนที่เจอเหตุการณ์ใหม่ ๆ ความสุขก็พุ่ง อาจจะ +10 เลยก็ได้ แต่พออยู่ไปนาน ๆ ความสุขค่อย ๆ ลดลง +10 ผ่านไป 2 เดือน อาจจะเหลือ +5 ผ่านไปอีกหนึ่งเดือน อาจจะลดเหลือแค่ 0 คือความรู้สึกอยู่ในระดับเดียวกับก่อนที่จะเกิดโชคเกิดลาภ
อย่างคนที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ไม่ว่าสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ ในเมืองนอกอย่างเช่นในอเมริกา มีสลากกินแบ่ง สลากกินรวบเยอะมาก ไม่ได้ผูกขาดโดยรัฐ ฉะนั้น คนที่ถูกรางวัลที่ 1 มีเยอะ บางรางวัลก็ระดับร้อยล้าน พันล้านบาท อันนี้ก่อนเสียภาษี พอไปสอบถามความรู้สึกของคนเหล่านี้ตอนถูกรางวัลใหม่ ๆ แล้วก็ตามไปถามอีกหลังจากผ่านไป 6 เดือน
เขาพบว่าความสุขของคนที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ตอนแรก ๆ มันก็พุ่ง พุ่งสูงเลย แต่ว่าพอผ่านไป 6 เดือน ความรู้สึกลดลงสู่ระดับ 0 คือมีความรู้สึกเดียวกันกับก่อนถูกลอตเตอรี่
อันนี้ตรงกับหลักพุทธศาสนาที่ว่า ความสุขก็ไม่เที่ยง ยิ่งสุขที่เกิดจากโชคลาภ จะอยู่ไม่ได้นาน แม้กระทั่งสุขจากการกิน ดื่ม เที่ยว ดูหนังฟังเพลง กินอาหารมื้อแรกก็อร่อย คำแรกก็อร่อย กินไปนาน ๆ ความอร่อยลดลง ความสุขก็ลดลง ที่จริงความอร่อยไม่ได้ลดลง แต่ความสุขลดลง ยิ่งถ้ากินบ่อย ๆ กินซ้ำ ๆ กัน ความสุขจะลดจนอาจจะเท่ากับ 0 คืออยู่ในระดับเดียวกันกับตอนก่อนที่จะได้กินเสียอีก
ฉะนั้น คนที่ดีใจมาก ๆ ไม่ว่าจะได้อะไรมา แม้กระทั่งได้คู่ครองที่หลงรักมานาน ทีแรกก็มีความสุข แต่พอผ่านไป 2 ปี 3 ปี 6 ปี 7 ปี ความสุขก็ลดลงจนกระทั่งอาจจะกลายเป็นความเบื่อแทนไปเลย แปลว่าอะไร แปลว่าความสุขก็ไม่เที่ยง แล้วก็แปลว่าจิตของคนเราก็มีความสามารถในการปรับตัว จากสุขมาก ก็ค่อย ๆ ลดระดับ คือเกิดความเคยชินจน จนกระทั่งลดสู่ระดับปกติ
ทุกข์มากก็เหมือนกัน ความทุกข์ก็ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ถ้าไม่ไปซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้ตัวเอง ในที่สุดความทุกข์ก็จะลดน้อยจนเหมือนกับแทบจะเป็นปกติ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เตือนใจเรา ว่าเวลาทุกข์ก็อย่าไปกลัดกลุ้มกับมันมาก เพราะว่าถ้าให้เวลา ใจเราก็จะค่อย ๆ คลายจากความทุกข์
แต่ในทางตรงข้าม เวลาสุข ไม่ว่าสุขเพราะได้ลาภ ได้รับสิ่งที่สมหวัง โดยเฉพาะเป็นเรื่องของสิ่งเสพ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นการกิน ดื่ม เที่ยว เล่น ช็อป ความสุขนี้แม้จะขึ้นเร็ว แต่ว่าในที่สุดมันก็จะลง ค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย จนรู้สึกเฉย ๆ
เราสังเกตได้เวลาเราซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อแท็บเล็ต หรือได้รถคันใหม่ ดีใจมาก แล้วพออยู่ไป ๆ ผ่านไปสักระยะหนึ่งรู้สึกเฉย ๆ แล้ว นั่นก็คือความสุขลดลงเพราะใจของเราปรับตัว จากเดิมที่ทุกข์มาก ก็ปรับจนเหลือเฉย ๆ จากเดิมที่สุขมากก็ปรับตัวจนกระทั่งรู้สึกเฉย ๆ
นี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า เวลาทุกข์ก็อย่าไปกลัดกลุ้มมาก อย่าจมดิ่งในทุกข์ แล้วเวลามีความสุขก็อย่าเพลินในสุข เพราะอะไร ๆ ก็ไม่แน่ บอกกับตัวเราเองว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ทั้งความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับใจ ความทุกข์บางอย่าง เช่น การเสียขาพิการ อาจจะไม่ได้ขากลับคืนมา ตาก็เสียไปแล้ว ไม่ได้กลับคืนมา แต่ความรู้สึกทุกข์นี้จะค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งไม่ได้ทุกข์เท่าไหร่
ความสุขก็เหมือนกัน สุขมากก็อย่าไปเพลินในสุขมาก เพราะสุดท้ายเราก็จะกลับมารู้สึกปกติ เตือนตัวเองว่า แล้วมันก็จะผ่านไป สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง อย่าไปดีใจจนลืมตัวลืมตน แล้วก็อย่าทุกข์จนเสียผู้เสียคน
ยิ่งถ้าเรามีสติ รู้จักปล่อยรู้จักวาง รู้จักเท่าทันความคิดอารมณ์ ไม่ปรุงแต่ง หรือซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ ด้วยการคิดปรุงแต่งในทางลบทางร้าย เราก็จะดีวันดีคืนได้หากว่าเราประสบทุกข์ ขณะเดียวกันเวลาเรามีความสุข มีความยินดี ดีใจ ก็ให้รู้ว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป อย่าไปหลงเพลินดีใจกับมันมาก เพราะไม่งั้นจะเสียใจว่าทำไมเราไม่สุขเหมือนเดิมแล้ว อันนี้เป็นธรรมดา.