พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 วันเข้าพรรษา
วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา แล้วก็เป็นวันแรกของเทศกาลเข้าพรรษา เมื่อเช้านี้หลังทำวัตรเรามีพิธีกรรมเล็กๆ แต่มีความหมาย ปกติพิธีกรรมนี้ก็มีแต่เฉพาะพระ หรือถ้ามีเณรก็ร่วมด้วย แต่ว่าที่นี่ ราให้แม่ชี แล้วก็ฆราวาสที่จะจำพรรษามาร่วมพิธีด้วย พิธีนี้ก็ชื่อว่าพิธีอธิษฐานพรรษา
อธิษฐานพรรษา แปลว่าความตั้งใจมั่นที่จะจำพรรษาในอาวาสนี้ให้ครบ 3 เดือน ให้สังเกตความหมายของอธิษฐาน คือความตั้งใจมั่นที่จะอยู่จำพรรษาให้ครบ 3 เดือน
ที่พูดอย่างนี้เพราะว่า ชาวพุทธจำนวนมาก ที่จริงก็รวมถึงคนไทยด้วย ส่วนใหญ่เวลาพูดถึงอธิษฐาน ก็นึกถึงการตั้งจิตปรารถนาที่จะขออะไรสักอย่าง ซึ่งที่จริงแล้วมันเป็นความหมายที่คลาดเคลื่อนจากความหมายเดิมของคำว่าอธิษฐาน
อธิษฐานซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลว่าความตั้งใจมั่นที่จะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ในที่สุด และส่วนใหญ่สิ่งที่ทำนี้ ก็ล้วนแต่เป็นความดี เป็นสิ่งดีงามทั้งนั้น หมายถึงความตั้งใจมั่น ความตั้งใจแน่วแน่ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ที่จะทำการใดการหนึ่งให้สำเร็จ
แต่พออธิษฐานกลายเป็นภาษาไทย กลายเป็นว่าตั้งจิตปรารถนาที่จะขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยที่ไม่ต้องทำ
อธิษฐานความหมายเดิมคือ ความตั้งใจทำ อันนี้พูดแบบย่อๆ แต่อธิษฐานในความเข้าใจของคนไทยคือ การตั้งจิตขอ ซึ่งเรียกว่าแทบจะตรงกันข้ามกันเลย และเวลาขอ ขอกับใคร หรือขอจากใคร ก็ขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือขอให้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้สัมฤทธิ์ในสิ่งที่ได้ขอ
ขณะที่อธิษฐานในความหมายที่แท้จริง เป็นการตั้งใจมั่นกับตัวเอง บอกย้ำตัวเองว่าเราจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปให้ได้ ไม่ได้ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นการย้ำเตือนตัวเอง
พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ในคืนที่ทรงประทับบำเพ็ญภาวนาที่ใต้ต้นโพธิ์ ก็ทรงอธิษฐานว่า แม้เลือดในกายจะเหือดหาย จะเหลือแต่หนังเอ็นกระดูก ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะไม่ลุกจากที่นั่ง ไม่ได้มีการขอจากเทวดา มาร พรหม ว่าขอให้บรรลุอรหันต์ หรือพระสัมมาสัมโพธิญาณเลย
แต่คนไทยเดี๋ยวนี้ถนัดอธิษฐานมาก เพราะอธิษฐานที่เราเข้าใจคือการตั้งจิตอธิษฐานขอ ขอต่อหน้าพระพุทธรูป ขอต่อหน้าศาลพระพรหม ขอต่อหน้าชูชกก็ยังมีเลย ซึ่งมันคลาดเคลื่อนจากความหมายของพระพุทธศาสนามาก
แล้วอธิษฐานในพุทธศาสนา มันเป็นบารมีอย่างหนึ่ง แต่เวลาพูดถึงบารมี เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจกันคลาดเคลื่อนแล้ว ‘บารมี’ ภาษาบาลีแปลว่าคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวดเพื่อบรรลุจุดหมายที่สูงสุด และพระอรหันต์หรือผู้ที่จะบรรลุโพธิญาณสมัยยังเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านต้องบำเพ็ญบารมีครบ 10 ประการ จึงจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ แล้วอธิษฐานนี้ก็เป็นบารมีข้อหนึ่ง
แต่เดี๋ยวนี้คำว่า บารมีเราแปลว่าอะไร แปลว่าผู้ที่มีอำนาจ มีบริษัท มีบริวาร มีอิทธิพล ซึ่งมักจะได้แก่ คนที่เป็นเจ้าพ่อ บางทีก็ทำผิดกฎหมาย ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นผู้มีบารมี ซึ่งมันตรงข้ามกับความหมายที่แท้จริงของบารมีในพระพุทธศาสนา
เพราะว่าก็มีแต่พระโพธิสัตว์ทั้งนั้นที่จะบำเพ็ญบารมีจนครบ 10 ประการได้ แล้วครบ 3 ขั้น ตั้งแต่บารมีชั้นต้น บารมีชั้นกลาง อุปบารมี แล้วก็บารมีชั้นสูงสุด ปรมัตถบารมี เป็นของดีทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้เราใช้คำว่าบารมีกับคนที่อาจจะอยู่ในอาณาบริเวณสีเทา ไม่ใช่เป็นคนดีที่ผู้คนจะยกมือกราบไหว้ได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
มีคำบาลีจำนวนมากที่พอแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจนเพี้ยนไปเลย นอกจากอธิษฐานหรือบารมีแล้ว ก็มีอีกคำหนึ่ง ‘มานะ’
‘มานะ’ กลายเป็นของดี ทั้งๆ ที่เป็นกิเลส แต่เราแปลว่าเป็นความพยายาม เช่น มานะพยายาม เป็นคนที่มุมานะมาก เป็นคนมานะพยายาม แต่มานะในพระพุทธศาสนาคือ กิเลส ความถือตัวถือตน
มีศัพท์ทางพระพุทธศาสนา หรือภาษาบาลี ที่พอแปลเป็นไทยแล้วเพี้ยนไปเลย ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิด ที่คุ้นเคยกันก็คือคำว่า ‘กรรม’ จริงๆ แปลว่าการกระทำ ซึ่งจะมีทั้งกรรมดีกรรมชั่ว แต่เดี๋ยวนี้เราไปเข้าใจว่าหมายถึงบทลงโทษ หรือวิบากที่ต้องรับ เกิดมาเพื่อชดใช้กรรม ชดใช้กรรมก็มักจะหมายถึงกรรมที่ไม่ดีด้วย แต่จริงๆ แล้ว คนเราจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะกรรมก็คือการกระทำ คือความเพียร
กลับมาที่ ‘การอธิษฐานพรรษา’ ถามว่าทำไมต้องอธิษฐานพรรษา ก็เพราะว่าการที่คนเราจะจำพรรษา โดยมุ่งการฝึกฝนอบรมตน ไม่ว่าในเพศบรรพชิต หรือแม้เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ตลอด 3 เดือนโดยอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าไม่ได้มาสบาย
หลายคนตั้งใจ หรือคิดว่ามาบวชแล้วจะมาสบาย มาหาความสงบ แต่ว่าต้องเจอกับการเคี่ยวกรำ การฝึกฝน ชนิดที่มันสวนทางกับกิเลส แถมต้องมาเจอกับผู้คนที่นิสัยใจคอแตกต่างกัน บางคนก็มีน้ำใจ บางคนก็เห็นแก่ตัว บางคนก็อารมณ์เย็น บางคนก็อารมณ์ร้อน ต่างจากเวลาอยู่บ้าน อยู่บ้านเราเป็นราชาหรือว่ามีอิสระ แต่พอมาอยู่วัดโดยเฉพาะผู้ที่บวชใหม่หรือผู้ใหม่ การที่จะอยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ไม่ใช่เรื่องง่าย
มีกิเลส รวมทั้งความท้อแท้ ความเบื่อหน่าย เหล่านี้มีกำลังที่จะผลักให้เราเลิกจำพรรษา อยากจะไปอยู่ที่อื่น อยากจะกลับบ้าน และวิธีที่จะทำให้เราสามารถที่จะอยู่จำพรรษาและปฏิบัติธรรมได้อย่างต่อเนื่องจนครบ 3 เดือนอย่างที่ตั้งใจ ต้องมีการอธิษฐาน
แต่ถ้าเกิดว่าอธิษฐานที่เราทำตอนเช้า อันนั้นเป็นแค่พิธีกรรม มันก็ไม่มีความหมาย แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่ใช่แค่เอ่ยคำอธิษฐาน สักแต่ว่าพูดไป แต่ว่าถ้าตั้งใจที่จะทำให้ได้ มันก็จะมีประโยชน์มากในเวลาที่มีปัญหา มีความขัดแย้งกับผู้คน เวลามีความลำบาก
แต่ถ้าหากว่าเราไม่ตั้งใจมั่น หรือปักหมุดว่าเราจะอยู่ให้ครบ 3 เดือน กิเลสจะหาข้ออ้างให้ไปที่อื่น บางทีก็บอกว่าแม่ไม่สบาย ได้ข่าวว่าแม่ป่วยหนัก หรือว่าแม่เหงา อยู่ที่บ้านไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อน เรานี้ก็เป็นลูกคนเดียว เป็นห่วงแม่ ก็เลยขอสึกกลางพรรษา หรือว่าขอเลิกจำพรรษา จะไปดูแลแม่ ก่อนหน้านี้ ก่อนบวช ก่อนจำพรรษา ไม่เคยสนใจห่วงใยแม่เลย แต่ตอนนี้เกิดรักแม่ ห่วงใยแม่ขึ้นมา เพราะกิเลสมันปั่นหัว หาข้ออ้าง
ถ้าหากว่าจิตใจใฝ่ดี แต่ไม่มีการย้ำเตือนด้วยการตั้งใจมั่นที่เรียกว่าอธิษฐาน ก็จะไถลไปได้ง่าย ก็มีอยู่เรื่อยๆ ตั้งใจว่าจะบวชให้ได้ครบ 3 เดือน แต่ว่าพออยู่ได้แค่อาทิตย์เดียวสองอาทิตย์ เกิดเหงา เกิดว้าเหว่ หรือรู้สึกว่ามันยากลำบาก ไม่เคยต้องมาอยู่แบบนี้ ก็หาเหตุข้ออ้าง ขอสึกไป อ้างพ่ออ้างแม่ว่าไม่สบาย ต้องไปดูแล อันนี้เพราะว่าไม่ได้มีความตั้งใจมั่นจริงๆ
แต่ถ้าเกิดว่าเรามีความตั้งใจมั่นด้วยการอธิษฐาน มันก็จะช่วยยับยั้ง ต้านทานกิเลสได้ หรือต้านทานความเคยชินเดิมๆ
สมัยตอนที่ผมไปปฏิบัติที่วัดสนามในใหม่ๆ ก็รู้ว่า ตัวเองคลอนแคลนโอนเอนได้ง่าย เพราะว่าใจไม่ค่อยโน้มไปทางการฝึกสติ ก็เลยอธิษฐานไว้ 2 ข้อ คือ 1) จะอยู่วัดสนามในให้ครบเดือน ไม่ว่าจะอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะไม่ไปไหน 2) จะไม่นอนกลางวัน
แค่นี้แหละ ปรากฏว่ามันก็ช่วยได้เยอะเพราะว่า ถึงเวลามีปัญหาการปฏิบัติ มันคิดแต่จะไปอยู่ที่อื่นท่าเดียวเลย แต่เนื่องจากอธิษฐานไว้แล้วว่ายังไม่ครบเดือนก็ยังไม่ไปไหน เลยต้องอยู่ แต่พออยู่แล้วก็ปรากฏว่า ที่ร้ายกลายเป็นดี
ฉะนั้น เวลาอธิษฐาน ไม่ต้องอธิษฐานให้ยากอะไรเลย อธิษฐานที่เป็นไปได้ หรือถ้าจะให้ดีก็อธิษฐานเพิ่มเติมนอกจากนั้น เช่น บางคนตั้งใจว่าจะภาวนาให้มากขึ้น ก็อาจจะอธิษฐานว่า จะภาวนาให้ได้อย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง, 4 ชั่วโมง หรือว่าพออธิษฐานว่าจะไม่นอนกลางวัน ไม่ว่าจะง่วงอย่างไรก็จะตื่นอยู่เสมอ แม้ว่าใจจะง่วง แต่ว่าตัวก็จะไม่นอน จะหาอะไรทำ
ที่จริงแล้ว แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้บวช เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาก็ควรที่จะอธิษฐานว่าจะทำสิ่งดีๆ พิเศษจากเดิม เพราะว่าเข้าพรรษานี้เป็นช่วงของการฝึกตนที่ดีมาก อย่างที่พูดเมื่อเช้าว่าช่วงอย่างนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีๆ ของชีวิตในการที่เราจะฝึกฝนพัฒนาตน ไม่ว่าจะเป็นพระ แม่ชี หรือว่าเป็นโยม อยู่วัดหรือไม่ได้อยู่วัด ควรใช้โอกาส 3 เดือนนี้ในการทำสิ่งดีๆ ให้เป็นกิจวัตร หรือให้มากขึ้น หรือไม่ก็ลดละสิ่งไม่ดี ให้ทำอย่างต่อเนื่อง
การลดการละก็มีอะไรหลายอย่างที่แต่ละคนควรจะทำ ถึงแม้ว่าศีล 5 จะครบ แต่ว่าอาจจะยังติดพันกับอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่ติดเกม ติดพนัน หรือว่าติดโซเชียลมีเดีย ติดโทรศัพท์มือถือ บางคนอาจจะมีนิสัยที่อยากจะเลิก แต่เลิกไม่ได้ เช่น จู้จี้ ขี้บ่น หรือว่าชอบวิพากษ์วิจารณ์ ชอบระบายอารมณ์ใส่คน เสร็จแล้วก็มาเสียใจภายหลัง อันนี้ก็ควรจะเป็นโอกาสที่จะใช้ช่วงเข้าพรรษาฝึก เพื่อให้อารมณ์ที่ว่า หรือนิสัยที่ว่า บรรเทาเบาบาง
ส่วนสิ่งดีๆ ที่อยากจะทำ แล้วก็ทำได้ไม่ค่อยต่อเนื่อง ก็ควรจะใช้ช่วงเข้าพรรษานี้ ไม่ว่าจะเรื่องการกิน การบริโภค ชอบกินของที่ถูกปาก ของหวาน ของที่มีไขมัน รู้ทั้งรู้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ว่าก็ยังเลิกไม่ได้ อย่างน้อยก็ลดเสีย บางคนก็หันมากินเจ บางคนจะกินหวานให้น้อยลง ช็อกโกแลต ไอติม ทองหยิบ ทองหยอด ก็จะกินเดือนละครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้งก็ว่าไป
ที่จริงคำแนะนำของพระพุทธเจ้าในโอวาทปาฏิโมกข์ เอามาใช้ได้เลย การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย การรู้จักประมาณในการบริโภค การนอนการนั่งในที่อันสงัด การหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง การสำรวมในปาฏิโมกข์ เลือกเอามาได้เลยว่า อะไรที่เรายังทำน้อยไป เราก็เอามาทำให้มากขึ้น
และการที่จะฝึกให้ได้ผลนอกจากอธิษฐานแล้ว มันต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า สิ่งที่อยากทำหรือที่อยากจะลด มันคืออะไร ระบุให้ชัดว่าถ้าจะทำสิ่งดีๆ เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์ เจริญสติ จะทำที่ไหน เมื่อไหร่ นานเท่าไหร่
การที่กำหนดชัดเจนลงไป ควบคู่ไปกับการอธิษฐาน จะช่วยทำให้สิ่งที่ตั้งใจทำนั้นทำได้ หลายคนมักจะบอกว่า จะทำดีที่สุด แต่ว่าคำว่า ‘ดีที่สุด’ มันมักจะเป็นการพูดแบบขอไปที ถึงเวลาก็จะอ้างนู่นอ้างนี่ ทำไม่ได้ มีงาน ไม่มีเวลา
แต่ถ้าเรากำหนดไปเลยว่า ออกกำลังกาย วิ่ง ฉันจะทำเวลาไหน นานเท่าไหร่ หรือเมื่อจะเจริญสติ ฉันจะเจริญสติที่ไหน ในห้องนอน ในห้องพระ หรือว่าในวัด ก็ว่าไป เมื่อไหร่ เช้า เย็น ก่อนนอน ตื่นนอน นานเท่าไหร่ 5 นาที 10 นาที บางคนก็บอกว่า 5 นาทีน้อยไป เอาหนึ่งชั่วโมง
แต่ถ้าหากว่า สิ่งที่ตั้งเอาไว้มันเยอะ ทำไม่ได้ทุกวัน อย่างนี้สู้เริ่มต้นน้อยๆ แต่ทำทุกวันหรือทำได้ทุกวันดีกว่า
และสิ่งที่ทำนี่ ถ้าหากว่าเราตั้งใจอีกอย่างหนึ่งว่า เราจะทำให้ดีขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การเจริญสติ หรือว่าการเดินจงกรม อย่าไปดูถูกนะแม้ตั้งใจว่าจะทำให้ดีขึ้นทุกวัน วันละ 1 % นี้พอครบปี มันให้ผลชัดเจนเลย
ยกตัวอย่างง่ายๆ เรารู้สึกว่าเวลาทำอะไร มันหลง ไม่เคยมีสติ ไม่เคยรู้ตัวเลย ทีนี้เราจะตั้งใจให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว เอาง่ายๆ แค่ว่า 1 ชั่วโมงเรามีสติแค่ 1% เราจะพยายามตั้งใจให้มีสติ 1% เวลา 3,600 วินาทีนี้ เราจะทำให้มีสติ 36 วินาที นี่คือ 1% แล้วพอเราตั้งใจจะทำให้ดีขึ้นทุกวัน
ตัวอย่างเช่น วันที่ 1 มกรา ทำ 1 ชั่วโมง มีสติรู้สึกตัวแค่ 36 วินาที มาวันที่ 2 มกรา มีสติรู้ตัว 36.36 วินาที วันที่ 3 ก็ดีขึ้นหน่อย แต่ยังไม่ถึง 37 วินาทีเลย แต่พอวันที่ 4 มกรา ขยับเป็นรู้สึกตัวเพิ่มเป็น 37 วินาทีแล้ว พอไปถึง 31 ธันวา ความรู้สึกตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1,332 วินาที หรือเท่ากับ 22 นาที
จากเดิมวันแรก 1 มกรา แค่รู้สึกตัว 36 วินาที แต่วันที่ 31 ธันวา รู้สึกตัว 22 นาทีใน 1 ชั่วโมงนี่ถือว่าไม่เลวเลย นี่แค่เราตั้งใจทำดี ตั้งใจทำทุกวันให้ดีขึ้นวันละ 1% เท่านั้น
จะเป็นการฟังธรรม จะเป็นการวิ่งก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่าเราจะวิ่ง แต่เราจะวิ่งให้เพิ่มระยะทางวันละ 1% จาก 1 มกรา ถึง 31 ธันวา เกิดความเปลี่ยนแปลงถึง 22 เท่า วันแรกอาจจะวิ่งแค่ 100 เมตร หรือว่า 1 กิโลเมตร สุดท้ายมันไปโน่นเลยนะ 22 กม. แต่จริงๆ ก็คงจะไม่ถึงขนาดนั้น มันชี้ให้เห็นว่าการที่เราตั้งใจทำ ทำให้ดีขึ้นทุกวันแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ว่าพอผ่านไป 1 ปี ดูมันเยอะมาก ยังไม่ต้องพูดถึงว่าตลอดทั้งชีวิต
เอาแค่เรามีสติรู้สึกตัว เวลาเข้าห้องน้ำ แม้เพียงนิดเดียว จากเล็กจนแก่ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงมากเลยทีเดียว เพราะว่าตลอดชีวิตเราเข้าห้องน้ำรวมแล้ว 7 ปี เข้าห้องน้ำไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ การถ่ายหนัก ถ่ายเบา การแต่งตัว ตลอดชีวิต ถ้าเราอายุถึง 75 ปี เราจะอยู่ในห้องน้ำรวมทั้งหมดทั้งชีวิต 7 ปี
ถ้าเราเพียงแต่พยายามเจริญสติแค่ 10% เท่านั้นของเวลาที่อยู่ในห้องน้ำ มันจะเป็นเท่าไหร่ ก็เท่ากับ 8 เดือนเลย มันก็ไม่น้อย เพราะว่าเรามาเดินจงกรม เข้าคอร์สเดินจงกรมทั้งชีวิตก็คงจะไม่เท่าไหร่ อาจจะอย่างมากก็ 12 เดือน แต่เพียงแค่อยู่ในห้องน้ำอย่างมีสติ 10% ทั้งชีวิตนี้ก็เท่ากับ 8 เดือนเลยทีเดียว
ฉะนั้น เมื่อเราพาตัวอยู่มาได้จนกระทั่งจนถึงวันเข้าพรรษา ถ้าเราไม่รีบด่วนตายซะก่อน เราก็จะมีเวลาในการปฏิบัติมากทีเดียว 3 เดือน ให้ตั้งจิตอธิษฐาน อธิษฐานคือตั้งจิตมั่นที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำความดีให้เพิ่มขึ้น หรือว่าลดละ ถ้ายังเลิกไม่ได้ สิ่งแย่ๆ ตั้งใจทำทุกวัน
บางอย่างอาจจะดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่ว่ามันขัดกับนิสัย แต่ถ้าทำบ่อยๆ อย่างเช่น บางคนชอบบ่น ชอบจู้จี้ ชอบตำหนิ ชอบวิจารณ์ ลองตั้งกติกาของตัวเองว่า เราจะชมคนวันละ 10 คน ทุกวัน ใครที่ชอบบ่น ชอบตำหนิ ชอบวิจารณ์ ก็ลองตั้งจิตอธิษฐานว่า วันหนึ่งเราจะขอบคุณอย่างน้อย 10 คน เชื่อได้เลยว่า 3 เดือนนี้ มันจะทำให้เราเลิกนิสัยจู้จี้ ขี้บ่น หรือชอบตำหนิไปได้เยอะเลย แล้วจะรู้สึกจิตใจมีความสงบเย็นมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถจะนึกขึ้นมาเองได้ ให้มันเหมาะกับตัวเราเอง.