พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 พฤษภาคม 2567
คนทั่วไปเรียกว่าทุกคนก็ว่าได้ ล้วนอยากให้ทุกอย่างราบรื่น คาดหวังให้ทุกอย่างเป็นไปดั่งใจ ทุกอย่างนี้ก็รวมตั้งแต่ผู้คนแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ ข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งความเป็นไปในโลก อยากให้สิ่งเหล่านี้มันราบรื่น คาดหวังให้เป็นไปดั่งใจ ตรงนี้นักปฏิบัติส่วนใหญ่ก็ว่าได้ รวมทั้งนักบวช ก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าวิถีชีวิตจะแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือความปรารถนา
ความคาดหวังที่ว่า
เพียงแต่ว่าสิ่งที่มุ่งหวังของคนทั่วไป มักจะหนีไม่พ้นเรื่องความสำเร็จ ความร่ำรวย ลาภยศสรรเสริญ ขณะที่นักปฏิบัติรวมทั้งนักบวช แม้จะไม่ได้หวังสิ่งเหล่านี้ แต่หวังอย่างอื่น เช่นความสงบ หรือว่าอยากจะให้ทุกอย่างมันเป็นไปอย่างถูกต้อง ถูกธรรม หรืออาจจะลงลึกไปถึงว่าถูกระเบียบ ก็แตกต่างกันตรงจุดนี้เท่านั้น แต่ว่าสิ่งที่เหมือนกันก็คืออยากให้ทุกอย่างมันราบรื่น คาดหวังให้เป็นไปดั่งใจ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ใจมุ่งหวังของคนทั่วไป กับของคนที่เป็นนักปฏิบัติ นักบวช อาจจะต่างกัน
ฝ่ายหนึ่งก็มุ่งลาภยศสรรเสริญ ความสำเร็จ ความมีหน้ามีตา อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องการความสงบ ความถูกต้อง ถูกศีลถูกธรรม แล้วสิ่งที่เหมือนกันที่เป็นพื้นฐานของความคิดหรือความคาดหวังเหล่านี้ ก็คือความเข้าใจว่าทุกอย่างสามารถบังคับหรือบงการให้เป็นไปดั่งใจได้ เพราะมีความเชื่อแบบนี้เป็นพื้นฐานก็เลยมีความคาดหวังอย่างนั้น อยากให้ทุกอย่างราบเรียบ อยากให้อะไรต่ออะไรเป็นไปดั่งใจ เพราะมันมีความคิด ความเชื่อเป็นพื้นฐานว่า ทุกอย่างมันอยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมบังคับให้เป็นไปดั่งใจได้
แล้วลึกไปกว่านั้นคือความเชื่อที่เหมือนกันว่า สุขหรือทุกข์มันเกิดจากคนอื่น เกิดจากสิ่งอื่น เกิดจากสิ่งรอบตัว ฝ่ายหนึ่งก็คิดว่าจะสุขได้ก็ต้องมีลาภยศสรรเสริญ มีคนยอมรับชื่นชม หรือว่าได้รับความสำเร็จ อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าความสงบหรือความสุขจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนที่อยู่รอบตัวเขาทำตัวเรียบร้อย ไม่ก่อความวุ่นวาย ไม่มารบกวนเบียดบัง หรือทำตัวน่าระอา ถ้าไม่มีพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่มีคนประเภทนี้ ฉันก็จึงจะมีความสุข แต่ถ้ามีคนประเภทนี้ ฉันก็หาความสุขได้ยาก
อันนี้ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป หรือนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ก็มีความเชื่อแบบนี้เป็นพื้นฐาน ซึ่งมันเป็นความเชื่อที่สวนทางกับความเป็นจริง ไม่ว่าความเชื่อว่าทุกอย่างหรือว่าส่วนใหญ่อยู่ในบังคับบัญชาของเราได้ สามารถจะคาดหวังให้เป็นไปดั่งใจได้ อันนี้มันสวนทางกับความจริง เพราะว่าความจริงก็คือว่ามันไม่มีอะไรที่เราจะบงการ ควบคุม หรือจัดการ ให้เป็นไปดั่งใจหรือถูกใจเราได้เลยแม้แต่อย่างเดียว อันนี้รวมไปถึงร่างกายและจิตใจ ที่เราคิดว่าเป็นของเราด้วย
ความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจยังสั่งไม่ได้เลย ซึ่งถ้าพูดสรุปรวบยอดก็คือเพราะทุกอย่างมันเป็นอนัตตา อนัตตาความหมายหนึ่งก็คือไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครได้ เพราะมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันไม่มีใครจะอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของสิ่งนั้น ควบคุมบังคับบัญชาได้
และความคิดที่ว่าสุขหรือทุกข์อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่สิ่งภายนอก อันนี้มันก็ไม่ใช่เป็นสัจธรรมความจริง ไม่ใช่เป็นคำสอนในพุทธศาสนาเลย เพราะว่าสมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ ถึงที่สุดแล้วมันก็อยู่ที่ใจของเรา จะปรารถนาความสงบ ความสงบที่แท้ก็ไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก อยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่การวางใจ อยู่ที่การฝึกจิต อยู่ที่การเข้าใจความจริงของสัจธรรม
ที่เราทุกข์นี่เรามักจะเข้าใจเป็นเพราะคนโน้นพูดไม่ดีกับเรา เขาต่อว่าเรา แต่ที่จริงแล้วปัจจัยสำคัญก็คือใจของเรา ถ้าใจเราไม่ใส่ใจ ไม่สนใจรับรู้ เขาพูดกระทบหูเรา เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เราก็ไม่ทุกข์ เราก็ไม่โกรธ เขามาต่อว่าด่าทอเรา แต่เราไม่สนใจ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ เราจะโกรธได้อย่างไร
มีบางคนถูกเจ้านายว่า ยังหัวเราะเลย ยังยิ้มเลย แล้วยังพนมมือไหว้ขอบคุณ เพราะไม่ได้ถือสาเอาเป็นสาระกับคำพูดของเขา กลับมองว่าเขามาเตือนให้เราพิจารณาว่าเราทำผิดตรงไหน ถ้าเราไม่ผิดเราก็ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องโมโห หรืออย่างที่หลวงพ่อชาบอกว่าใครเขาด่าว่าเราเป็นหมา ถ้าเราคลำก้นเราแล้วไม่มีหางงอกออกมา ก็ไม่สมควรไปโกรธเขา แต่ที่เราโกรธเพราะเราไปใส่ใจ หรือว่าเราเอาตัวกูไปรับคำต่อว่าของเขา
เหมือนกับมีลิงเกเร มันเห็นเราเดินผ่านมา เราเข้าไปในสวน สวนมะพร้าวมีลิงเกเรไม่ชอบขี้หน้าเรา ก็ขว้างลูกมะพร้าวใส่เรา ถ้าเราเห็นมะพร้าวพุ่งเข้ามา เราควรจะทำอย่างไร คนที่มีสติเห็นมะพร้าวพุ่งมาก็ต้องหลบ แต่ถ้าไม่หลบทั้งๆ ที่รู้ว่ามันพุ่งเข้ามา แล้วเจ็บเพราะลูกมะพร้าวกระแทกตัว กระแทกหัว จะโทษใคร ฉะนั้นถ้าเราพิจารณาดูดีๆ ที่เราทุกข์ มันไม่ใช่เพราะเขาว่าเรา แต่เป็นเพราะเราไปถือสา หรือไปเอาอัตตาตัวกูไปรับคำด่าว่าของเขา เราจึงทุกข์เราจึงเจ็บ
เคยมีพราหมณ์คนหนึ่งเดินตามพระพุทธเจ้าไป แล้วก็ด่าว่าพระพุทธเจ้า เพราะไม่พอใจที่พระองค์ทำให้เพื่อนของเขา ศิษย์ของเขา เปลี่ยนมาสมาทานพุทธศาสนา ทิ้งความเชื่อเดิม เขาด่าพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่สนใจ จนกระทั่งไปถึงเชตวันก็เลยมาหันมาคุยสนทนากับเขา แล้วก็ถามว่าพราหมณ์เคยมีใครมาบ้านท่านไหม
พราหมณ์ก็บอกว่ามีสิ มีอยู่เรื่อยๆ เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่เป็นคนที่สิ้นไร้ไม้ตอก มีอาคันตุกะมาอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าก็ถามว่าเมื่อมีแขกมีอาคันตุกะมา ท่านทำอย่างไร พราหมณ์ก็บอกก็เอาน้ำ เอาของขบเคี้ยวมาต้อนรับ
พระองค์ก็เลยถามต่อไปว่าถ้าหากว่าอาคันตุกะนั้นไม่รับของขบเคี้ยวหรือน้ำที่ท่านนำมาต้อนรับ ของเหล่านั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ก็บอกว่าก็เป็นของข้าพเจ้าสิ พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า ฉันใดก็ฉันนั้น คำต่อว่าของท่าน คำด่าว่าของท่าน เมื่อเราไม่รับ มันจะเป็นของใคร
พราหมณ์ด่าว่าพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่โกรธเลย เพราะพระองค์ไม่เอาจิตไปรับคำด่านั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่เอาอัตตาไปรับคำด่า เหมือนกับไม่เอาตัวเข้าไปรับลูกมะพร้าวที่ลิงขว้างมา เมื่อทำเช่นนั้นก็เลยไม่เจ็บ ไม่ทุกข์ ในทางกลับกันที่เจ็บที่ทุกข์เพราะอะไร เพราะไปรับเอาคำด่าของเขามา
เพราะฉะนั้นจะโทษใครเวลาทุกข์ โทษคำพูดของเขา หรือโทษที่ใจเราเผลอไปรับเอาคำด่าของเขามา เหมือนกับไปหยิบเอาเศษแก้วเศษตะปูที่เขาพ่นออกมา แล้วเอามาทิ่มแทงตัวเอง เขาพ่นอย่างไร จะเป็นเศษตะปู เศษแก้ว ถ้าเราไม่หยิบมาทิ่มแทงตัวเอง เราก็ไม่ทุกข์นะ
คนมักจะไม่มองตรงนี้ว่าที่เราทุกข์เป็นเพราะใจเราไปร่วมมือ หรือว่าไปทำในสิ่งที่เป็นโทษแก่ตัวเอง เสียงดังก็เหมือนกัน เรามักจะโมโหคนที่ส่งเสียงดัง แต่เราลืมมองดูใจของเรา ว่าในเมื่อเราไม่ชอบเสียงดัง แล้วไปจดจ่อเสียงดังทำไม เสียงมันดังกระทบหู แต่เราไม่สนใจ ก็ไม่ทุกข์ เหมือนกับหลวงปู่บุดดาที่เตือนลูกศิษย์ ที่รำคาญเสียงเกี๊ยะจากห้องข้างๆ ว่า เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง ถ้าเราไม่เอาหูไปรองเกี๊ยะ ใจก็ไม่ทุกข์ ไม่หงุดหงิด ในเมื่อไม่ชอบเสียงเกี๊ยะ แล้วเอาหูไปรองเกี๊ยะทำไม
อันนี้ก็คล้ายกับที่หลวงพ่อชาท่านพาพระและโยมนั่งสมาธิตอนเย็นๆ ปรากฏว่ามีเสียงดนตรีดังเข้ามาในห้องที่พระและโยมกำลังนั่งสมาธิ พระหลายรูป โยมหลายคนนั่งสมาธิไม่เป็นสุขเลย แต่หลวงพ่อชาท่านนั่งสงบเหมือนกับไม่ได้ยินอะไรเลย พอนั่งสมาธิเสร็จ โยมที่เป็นเจ้าภาพก็มาหาหลวงพ่อชา บอกขอโทษที่เสียงดนตรีรบกวนการนั่งสมาธิของพระ ของโยม
หลวงพ่อชาท่านยิ้มแล้วก็บอกว่า โยมไปคิดว่าเสียงดนตรีรบกวนเรา แต่ที่จริงเราต่างหากที่ไปรบกวนเสียงดนตรี ท่านหมายความว่าเป็นเพราะใจเราไปทะเลาะกับสิ่งที่ดนตรี ไปผลักไสเสียงดนตรี เป็นเพราะใจรู้สึกลบกับเสียงดนตรีต่างหาก จึงทุกข์ จึงหงุดหงิด จึงนั่งสมาธิไม่เป็นสุข
คนมักจะมองไม่เห็นว่าที่หงุดหงิดเวลามีเสียงกระทบ เป็นเพราะใจรู้สึกลบกับมัน เป็นเพราะใจไปผลักไสมัน อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะเราวางใจไม่ถูกต้อง จึงเกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ แต่คนเรามักจะมองไม่เห็น ก็เลยไปโทษเสียงภายนอกว่าทำให้ทุกข์ แล้วก็เลยคาดหวังเรียกร้องว่าจะต้องไม่มีเสียงดัง รอบตัวจะต้องสงบ ไม่มีเสียงรบกวน เราถึงจะสงบได้ ที่จริงไม่ใช่ รอบตัวเสียงจะดัง แต่ใจเราก็สงบได้ เพราะวางใจถูกวางใจเป็น
เหมือนกับถนน เราอยากจะให้มันราบเรียบ แต่มันยังมีก้อนหิน มีหลุมมีบ่อ บางทีก็มีกองขี้หมา ตราบใดที่เราไม่ไปเดินเตะหิน ไม่ไปเหยียบกองขี้หมา ไม่ไปเดินตกหลุม ก็ไม่มีปัญหาอะไร เราก็สามารถจะเดินได้ปกติ แต่ถ้าเราเดินไปเตะหิน ไปเหยียบกองขี้หมา ไปตกหลุม จะโทษใคร ก็ในเมื่อเราเห็นแล้วยังเดินไปเตะอีก เดินไปเหยียบอีก หรือเดินไปตกอีก
แต่คนส่วนใหญ่ก็ไปโทษก้อนหิน ไปโทษกองขี้หมา ไปโทษหลุม ปัญหาคือว่าบ่อยครั้งเราไม่เห็นก้อนหิน เราไม่เห็นกองขี้หมา เพราะเราอาจจะกำลังคุยกันเพลินกับเพื่อน หรือกำลังก้มหน้ามองโทรศัพท์มือถือ เราก็เลยไม่เห็นก้อนหิน ไม่เห็นกองขี้หมา ไม่เห็นหลุม เราก็เลยเดินเตะก้อนหิน เดินเหยียบขี้หมา เดินตกหลุม แล้วเราก็โทษว่าเป็นเพราะก้อนหิน เป็นเพราะกองขี้หมา เป็นเพราะหลุม หรือบางทีก็โทษว่าใครเอาก้อนหินมาวาง ใครมาปล่อยหมามาขี้บนถนน
เราโทษคนอื่น แต่เราไม่ยอมโทษตัวเอง ว่าไปเดินเตะทำไม ไปเดินเหยียบทำไม ไปเดินตกหลุมทำไม ความทุกข์ใจของเราเป็นแบบนี้แหละ บางครั้งมันก็เกิดจากการที่เราตั้งความหวังเอาไว้ แล้วพอคนอื่นไม่ทำตามความคาดหวังของเรา เราก็เลยโกรธ อย่างอาจารย์คนหนึ่งโกรธลูกมากเลย ที่เรียนหมอปี 4 แล้วตอนหลังออกไปเรียนไฟแนนซ์ เพราะอยากจะเป็นนักวิเคราะห์การเงิน
พ่อโกรธมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ทั้งเสียใจ ทั้งโกรธลูก จนกระทั่งย่ำแย่ไปเลย แต่แล้ววันหนึ่งก็ได้คิดขึ้นมา นึกถึงพี่ชาย ลูกเกิดมาพิการตั้งแต่เกิด พ่อก็เครียดมาก ทั้งที่พ่อเป็นแพทย์ เป็นแพทย์ใหญ่ด้วย แต่เครียดที่ลูกเกิดมาพิการ พอเครียดแล้วกินเหล้าจนเมา เพื่อจะได้กลบเกลื่อนความทุกข์ สุดท้ายก็เป็นโรคสุราเรื้อรัง แล้วก็ตาย ตายก่อนลูกเสียอีก ทั้งที่ห่วงลูก แต่ว่าตัวเองตายก่อนลูกเสียอีก
พออาจารย์คนนี้นึกถึงลูกชายของพี่ แล้วนึกถึงชะตากรรมของพี่ชาย ก็เลยได้คิดเลย ที่เราทุกข์นี่เป็นเพราะเราวางใจไม่เป็น ที่จริงเราควรจะดีใจที่ลูกชายเราไม่เจ็บไม่ป่วย แถมขยันเรียน ไม่ได้ติดยาอะไร แล้วเขาก็รู้ว่าเขาชอบเรียนวิชาอะไร อยากเป็นอะไร ถ้าเราคิดถูกคิดเป็น เราควรจะส่งเสริมเขา ควรจะดีใจกับเขา ไม่ใช่มาทุกข์
แล้วก็เลยรู้ว่าที่ทุกข์เพราะไปยึดติดกับความคาดหวัง ยึดติดความคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นอย่างที่ฉันวางแผนชีวิตเอาไว้ อยากให้ลูกเป็นหมอก็ต้องเป็นหมอ พอรู้ว่าที่ทุกข์เป็นเพราะความคาดหวังของตัว เพราะยึดติดความคาดหวัง ไม่ใช่เพราะลูก พอเห็นเช่นนี้วางความคาดหวังเลย
ปรากฏว่าหายทุกข์เลย ไม่คาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นหมอแล้ว เพราะลูกเรียนไฟแนนซ์นี่ก็ดีแล้ว หลงคิดตั้งนานว่าเป็นเพราะลูกทำให้เราทุกข์ทุกข์ เป็นเพราะลูกไม่เป็นไปดั่งใจ เราจึงทุกข์ แต่ที่จริงลูกไม่ได้ทำให้เราทุกข์หรอก แต่เป็นเพราะความคาดหวัง เป็นเพราะความยึดติด เอาจริงเอาจังกับความคาดหวัง เอาความคาดหวังตัวเองเป็นใหญ่ก็เลยทุกข์
แต่ก่อนเรียกร้องให้ลูกเปลี่ยนมาเรียนหมอ แต่พบว่าพอตัวเองเลิกคาดหวังในตัวลูก แถมควรจะยินดีที่ลูกตัดสินใจอย่างนั้น หายทุกข์เลย ก่อนหน้านี้คิดว่าเป็นเพราะลูกทำให้เราทุกข์ แต่สุดท้ายก็พบความจริงว่าเป็นเพราะไปยึดในความคาดหวังของตัวเองต่างหาก อยากจะให้ลูกเป็นไปอย่างที่ตัวเองคาด พ่อน้อยคนนะที่จะมองเห็นแบบนี้ เพราะมักจะโทษลูกว่าลูกทำให้พ่อเสียใจ แต่ลืมมองไปว่าเป็นเพราะความคาดหวังกับลูกต่างหาก
เราทุกข์เพราะความคาดหวัง แต่เรามักจะมองไม่เห็น หลายคนอยากจะให้คนอื่นเขาชื่นชมสรรเสริญเรา แต่พอเขาไม่ชื่นชมเรา เขามองเราด้วยความไม่ไว้วางใจ เพราะตัวเราผอม เพราะว่าสารรูปเราเหมือนคนติดยา อย่างมีคนหนึ่งไปรักษาโรคมะเร็ง ต้องผ่านการใช้แสงฉีดคีโม จนตัวผอม ผิวคล้ำ มะเร็งมันหายนะ มะเร็งมันลดนะ แต่ว่าสารรูปเปลี่ยนไป ไปไหนคนก็มองเหล่ ไม่ไว้วางใจ เพราะเข้าใจว่าเป็นคนติดยา
วันหนึ่งเขาห้างเซเว่น เด็กตัวเล็กๆ เห็นสารรูปของแกนี่ร้องไห้เลย แม่ของเด็กก็เลยมองหน้าชายคนนี้เหมือนกับด้วยสายตาที่ตำหนิ เหมือนกับว่าไปแกล้งลูกของตัว ชายคนนี้พอแกไปบ้าน แกร้องไห้เลยนะ อุตส่าห์สู้กับมะเร็ง ไม่คิดว่าจะต้องมาเจอกับสายตาเหยียดหยามของคนทั้งโลก
แต่จู่ๆ แกก็ได้คิด ว่าเราเปลี่ยนความคิดของใครไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนความคิดของเราเองได้ แทนที่เราจะไปเรียกร้องให้คนอื่นเขามองเรา ชื่นชมเรา เราก็หันมาเข้าใจเขาแทนว่าทำไมเขามองเราแบบนี้ ปรากฏว่าแกหายทุกข์เลย แทนที่จะไปเรียกร้องใครให้เป็นไปดั่งใจ ก็กลับมาปรับใจตัวเอง
อันนี้คือวิถีหรือวิสัยของนักปฏิบัติธรรม เราอย่าคาดหวังให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเรา เราอย่าไปคาดหวังว่าทุกอย่างรอบตัวต้องสงบ ต้องเรียบร้อย ถูกต้อง ถูกระเบียบ เราถึงจะมีความสุขหรือจะมีความสงบได้ อย่าไปเรียกร้องความสงบจากโลกภายนอก เพราะว่าแม้แต่วัดนี้ก็ยังมีเสียงรบกวน เสียงประทัด เสียงดังอยู่เรื่อยๆ แต่ถึงแม้โลกรอบตัวจะดังอย่างไร แต่ใจเราสงบได้ เพราะเรารู้จักฝึกใจ แม้โลกมันจะแปรปรวนอย่างไร แต่ใจเราสงบเย็นได้ หากว่าเรามาฝึกที่ใจ
เพราะฉะนั้นเวลาเราเจออะไรต่ออะไรไม่เป็นไปดั่งใจ เจอความไม่ราบรื่น ไม่ปกติ เจอเสียงดัง เจอคนทำตัวน่าระอา แทนที่เราจะปล่อยใจให้ทุกข์ ก็กลับมาฝึกว่าเราจะรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้อย่างไร เป็นเพราะเราวางใจผิดหรือเปล่า เราจึงทุกข์ เราจึงโมโห เราจึงหงุดหงิด เป็นเพราะเราคาดหวังจากคนอื่นหรือเปล่า
แต่พอเรามาปรับที่ใจของเรา เรายังสามารถพบความสงบได้ ตัวอย่างของคนที่พูดมานี่เขาไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรมเลยนะ แต่ว่าเขาพบว่าเขาออกจากทุกข์ได้ เพราะว่าเขาปรับที่ใจ แก้ที่ใจ ลดความคาดหวัง หรือแก้ที่ใจของตัว
ฉะนั้นเวลาเราเจอปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ให้ถือว่ามันเป็นแบบฝึกหัด ให้เรากลับมาดูใจของเรา แล้วก็ลองปรับ ลองแก้ที่ใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักไม่ใส่ใจ ไม่ไปผลักไสสิ่งต่างๆ หรือว่าไม่คาดหวังว่ามันจะต้องเป็นไปดั่งใจ แล้วเราก็จะพบว่ากุญแจออกจากทุกข์ มันอยู่ที่ใจเรานั่นเอง.