พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2567
มีหลายคนถามอาตมาว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ คำถามนี้ก็ดี แต่ว่ามันเป็นคำถามที่ข้ามขั้นตอนไปสักหน่อย เพราะว่าปุถุชนย่อมมีความโกรธเป็นธรรมดา จะมากหรือน้อย
เมื่อมีความโกรธแล้ว คำถามที่น่าถามมากกว่าคือว่า ทำอย่างไรจะหายโกรธ หรือว่าทำอย่างไรจะหายโกรธได้ไว อันนี้น่าสนใจกว่า เพราะว่ามันโกรธแล้ว สิ่งที่ควรทำก็คือว่า ทำอย่างไรจะหายโกรธได้ไว หรือทำอย่างไรจึงไม่จมอยู่ในความโกรธได้นานๆ
สิ่งที่ช่วยให้เราหายโกรธได้ไว ที่สำคัญก็คือสติ สติคือความระลึกได้ สติมี 2 ระดับ ที่จะช่วยให้เราหายโกรธได้ไว
สติระดับแรก คือ สติที่ช่วยให้เราระลึกได้ถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ หรือของพระพุทธเจ้า เช่น คำเตือน หรือคำสอนที่ว่า โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ถ้าเกิดว่าเรานึกขึ้นมาได้ถึงคำสอนหรือคำเตือนที่ว่านี้ ก็จะเกิดอาการสะดุด หรือยับยั้งชั่งใจ
หรือมิฉะนั้น ก็ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ผู้ที่มีความโกรธ ย่อมเป็นผู้ฉิบหาย ก็หมายความว่าความโกรธ ถ้าเกิดขึ้นแล้ว มันมีแต่จะพาเราไปสู่ความฉิบหาย พอระลึกได้เช่นนี้ มันก็ทำให้ไม่หลงไปกับความโกรธได้ง่าย
หรือระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ผู้ฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุข พอระลึกได้ถึงคำสอน มันก็เหมือนกับว่า มีสิ่งที่ช่วยเตือนใจ ไม่ให้ไหลไปตามอำนาจของความโกรธ ไม่ว่าจะพูด หรือกระทำ
แต่ว่าสติในระดับนี้ บ่อยครั้งก็เอาความโกรธไม่อยู่ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า โกรธจนไม่มีสติ โกรธจนกระทั่งระลึกไม่ได้เลยถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ ในหัวมันมีแต่ความคิดที่จะตอบโต้แก้แค้น มีแต่เหตุผลที่สนับสนุนความโกรธ หรือการตอบโต้แก้แค้นของเรา
แม้กระทั่งคำสอนของครูบาอาจารย์ว่า โกรธเมื่อไหร่ ให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ ให้กลับมาอยู่กับพุทโธ ให้กลับมานับ 1 นับ 2 ขณะที่หายใจเข้าหายใจออก ก็รู้ แต่พอโกรธแล้วมันลืม ลืมหมด คำแนะนำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ของพระพุทธเจ้า ตั้งหน้าตั้งตาจะโกรธอย่างเดียว
แต่สติระดับที่สองเป็นสติอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยได้มาก คือ สติที่ช่วยให้เห็นความโกรธ ต่างจากสติชนิดแรก ชนิดแรกเป็นความระลึกได้ถึงคำสอนคำเตือนที่เคยอ่านที่เคยได้ยิน แต่ว่าสติชนิดที่ 2 เราเรียกว่าสัมมาสติ เหมือนเป็นตาในที่ทำให้เห็นความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ ที่ทำให้เกิดความรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา เกิดความรู้ตัวว่าโกรธ ต้องอาศัยการปฏิบัติ การฝึก
ถ้าเราฝึกเจริญสติอย่างถูกต้อง สัมมาสติจะทำงานได้เร็วได้ไว ไม่ใช่แค่ระลึกนึกได้ถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ ที่เคยผ่านหู หรือที่เคยอ่าน แต่มันทำให้ระลึกรู้ หรือรู้สึกตัวขึ้นมา เพราะว่าเห็นความโกรธที่มันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ความโกรธที่มันเกิดขึ้นนี้ มันทำให้จิตถอนมาจากความโกรธ กลับมารู้เนื้อรู้ตัว ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน
อย่างเช่น ก่อนที่จะโกรธ อาจจะกำลังประชุมกันอยู่ กำลังแนะนำสั่งสอนลูก แต่พอลูกเถียง ก็เลยโกรธ แล้วก็ลืมหมดว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่พอมีสัมมาสติ เห็นความโกรธ กลับมารู้เนื้อรู้ตัว มันก็ช่วยให้เราระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราก็ทำสิ่งนั้นได้ถูกต้อง
แต่ว่าปกติ พอมีความรู้ตัวว่าเผลอโกรธไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็รู้ตัวได้ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็จมเข้าไปในความโกรธ อันนี้ก็เป็นเพราะว่าสติยังอ่อน ไม่มีกำลัง เหมือนว่า น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟมาก ไฟก็คือไฟโทสะ น้ำก็คือความรู้สึกตัว หรือการมีสติ
หลายคน ตอนที่โกรธก็รู้ตัวว่าโกรธ แต่ประเดี๋ยวก็ลืมตัวเสียแล้ว เพราะว่าสติไม่มีกำลังเพียงพอ บางคนอาจจะไม่ใช่ไหลเข้าไปในความโกรธ แต่ว่าทำตรงข้าม คือพยายามกดข่มความโกรธ ตรงนี้แหละที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ว่า เวลาเห็นความโกรธ หรือว่าโกรธ มันต้องรู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ คือไม่ใช่ผลักไสกดข่มความโกรธ แล้วก็ไม่ไหลตาม
หลายคนก็พยายามไม่ไหลตาม แต่ว่าตั้งหน้าตั้งตาจะกดข่มความโกรธ ผลักไสความโกรธ อันนี้มันไม่ใช่รู้ซื่อๆ เพราะถ้าขืนทำอย่างนั้น มันก็จะเป็นการต่ออายุให้กับความโกรธ ยิ่งผลักไส ยิ่งพยายามกดข่ม มันก็เท่ากับยิ่งต่ออายุให้มัน เหมือนกับวัยรุ่น ยิ่งว่าก็เหมือนกับยิ่งยุ บ่อยครั้งเราต่ออายุให้กับความโกรธโดยไม่รู้ตัว
ที่จริงมันก็มีวิธีง่ายๆ ที่เราจะไม่ต่ออายุให้กับความโกรธ ก็คือว่า พาตัวออกจากเหตุการณ์ หรือบุคคลที่เขายั่วยุให้เราโกรธ เช่น เดินหนีออกไป อันนี้มันก็ช่วยทำให้ความโกรธมันทุเลา
แต่ส่วนใหญ่ ทั้งที่เรารู้ว่าความโกรธไม่ดี แต่ตอนนั้นมันลืมตัว ก็กลับไปต่ออายุให้กับความโกรธ ด้วยการครุ่นคิด จมดิ่งอยู่กับเรื่องราว การกระทำ คำพูด ที่ทำให้เราโกรธ บางทีอยู่ต่อหน้าคนที่เขายั่วยุกระตุ้นเร้าให้เราโกรธ ก็ไปโต้เถียง ก็กลายเป็นการต่ออายุให้กับความโกรธได้
เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราจะยังทำให้ความโกรธไม่หายไป แต่อย่างน้อยก็อย่าไปต่ออายุให้มัน ด้วยการเดินออกไปจากเหตุการณ์ จากบุคคล จากสถานที่ เสร็จแล้วก็พยายามที่จะวางเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นออกจากใจด้วยการกลับมาอยู่กับลมหายใจ กลับไปทำอะไรก็ตามที่ทำให้ใจไม่หวนกลับไปหมกมุ่นครุ่นคิดปรุงแต่งกับเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งก็ต้องอาศัยสติเหมือนกัน เพราะถ้าไม่มีสติมันก็จะโรมรันพันตูอยู่กับคู่กรณี แล้วบางทีก็คิดจะเอาชนะหรืออาจจะต้องการพิสูจน์ความถูกต้อง แต่ยิ่งทำก็ยิ่งถลำเข้าไปในความโกรธมากขึ้น
เพราะฉะนั้น การที่เราไม่ต่ออายุให้กับความโกรธ ก็ทำง่ายๆ ด้วยการพาตัวออกมาจากเหตุการณ์ แล้วไปหาอะไรทำเพื่อให้ใจไม่ไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวเหล่านั้น พอเราไม่ต่ออายุให้กับความโกรธ มันก็จะเริ่มทุเลาเบาบางลง ข้อสำคัญก็คือว่า ต้องรู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ รู้ได้อย่างเดียว คือมีสัมมาสติ เพราะถ้าไม่รู้ซื่อๆ มันก็จะผลักไส หรือไม่ก็ไหลตาม
แม้ว่าบางครั้งเราจะคิดว่า เราพยายามไม่ต่ออายุให้กับความโกรธ เช่น พอเราโกรธแล้ว ก็กลับมาตามลมหายใจ ก็กลับมาเดินจงกรม แต่ว่าในใจลึกๆ มันก็ยังมีความรู้สึกอยากจะกดข่มความโกรธอยู่ แบบนี้ทำไปก็อาจจะไม่ค่อยได้ผล แม้จะทำไปเป็นชั่วโมง โดยเฉพาะถ้าความโกรธมันรุนแรง
อย่างมีผู้หญิงคนหนึ่งโกรธมากกับผู้ชายคนที่พอเธอรู้ความจริงว่าไม่จริงใจด้วย กล่าวหานินทาใส่ร้ายเธอ ทั้งๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมงานที่น่าจะดีต่อกัน พอรู้ว่าเขาตีสองหน้านี่โกรธมาก โกรธอย่างรุนแรง แต่เธอก็รู้ว่า การไปต่อล้อต่อเถียง ต่อว่าดาท่อ มันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ควรทำคือจัดการกับความโกรธของตัว
เธอพยายามตามลมหายใจ ทำไปเป็นชั่วโมงก็ยังไม่หาย เอ ทำไมไม่หาย ถ้างั้นเปลี่ยนเป็นเดินจงกรมก็แล้วกัน ทำเป็นชั่วโมง ก็ยังรุ่มร้อน ตอนหลังก็มาใช้วิธีเรียกชื่อมัน โกรธหนอ โกรธหนอ แต่มันก็ยังไม่หาย รู้สึกผิดหวัง แล้วก็ไม่เข้าใจ ทำไมมันไม่หายเสียทีทั้งที่ทำตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์แล้ว
ตอนหลังถึงจุดหนึ่ง เธอบอกตัวเองว่า เธอโกรธก็ได้ โอเคที่เธอจะโกรธ เพราะว่าใครที่เจอแบบเธอ ก็โกรธทั้งนั้นแหละ เธอโกรธได้ พูดกับตัวเองอย่างนี้พบว่า ความโกรธมันลดวูบลงไปเลย เธอก็แปลกใจ เอ ทำไมพอบอกกับตัวเองว่าโกรธได้ โอเคที่มันโกรธ ที่จะรู้สึกโกรธ ทำไมมันดับวูบไป
ทำไมตอนปฏิบัติ ตามลมหายใจ เดินจงกรม ไม่หายเลย ก็คงเป็นเพราะว่า ตอนที่เดินจงกรม ตามลมหายใจ หรือว่าบริกรรมว่าโกรธหนอ โกรธหนอ ลึกๆ แล้ว มันมีความอยากจะให้ความโกรธหาย มันมีความรู้สึกรับไม่ได้ที่ตัวเองมีความโกรธ
แต่พอบอกกับตัวเองว่า โกรธได้ มันเหมือนกับว่าใจมันยอม ยอมรับความโกรธ อนุญาตหรือยอมได้ที่ความโกรธจะเกิดขึ้น ไม่มีอาการผลักไสอีกต่อไป ก็เรียกว่าใกล้เคียงกับความรู้ซื่อๆ คือรู้เฉยๆ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรกับมัน
เหมือนกับว่า แขกมาเยือนบ้านก็ไม่ผลักไส จะมาก็มาได้ จะมาอยู่ก็ได้ เหมือนกับต่างคนต่างอยู่ ฉันเลิกไล่เธอแล้ว ฉันเลิกตอแยกับเธอแล้ว พอทำเช่นนี้ แขกที่เคยมาป่วนก็เลยกลายเป็นอาคันตุกะที่ดี อันนี้เขาเรียกว่า วางใจให้เป็นกลางกับความโกรธ มันก็เป็นการรู้ซื่อๆ อีกแบบหนึ่ง
เพราะฉะนั้น เวลาเราโกรธ แล้วเราคิดว่า มันต้องตามลมหายใจ พุทโธ เดินจงกรม หรือบริกรรมว่า โกรธหนอ โกรธหนอ ถึงแม้จะทำเป็นชั่วโมง ถ้าทำแต่รูปแบบแต่ว่าในใจลึกๆ ยังมีความเกลียดชัง มีความลบกับความโกรธ อยากจะให้ความโกรธมันหายไป สิ่งที่ทำไปก็อาจจะไม่ได้ผล แต่พอเรายอมรับมันได้ว่าจะมาก็มา จะอยู่ก็อยู่ มันก็วางใจได้ผล
ต่างจากการอยากให้ความโกรธหายไวๆ มันกลับกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ความโกรธมันหายช้า เพราะว่าพออยากให้ความโกรธหายไวๆ มันก็ทำท่าตั้งหน้าตั้งตาจะขับไล่ไสส่งมัน กดข่มมัน มันก็ยิ่งต่อต้าน ก็เหมือนกับที่ว่า ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งไล่ก็ยิ่งดื้อ
แต่ถ้าการรักษาใจ ให้รู้ซื่อๆ ดูมันเฉยๆ เพราะว่าการปฏิบัติที่เป็นการเจริญสัมมาสติ มันเกิดขึ้นได้เมื่อเราฝึกใจให้ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาไม่ว่าจะดีหรือร้าย จะกุศลหรืออกุศล ก็แค่รู้เฉยๆ ดีก็ช่าง ไม่ดีก็ช่าง กุศลก็ช่าง ไม่กุศลก็ช่าง คือแค่ดูเฉยๆ อันนี้เขาเรียกว่ารู้ซื่อๆ ไม่รู้สึกลบ ไม่รู้สึกบวก มันก็ช่วยทำให้ความโกรธทุเลา อย่างนี้เรียกว่าความโกรธหายไปเพราะสติ
แต่ถ้าจะไม่ให้ความโกรธขึ้นเลย มันต้องอาศัยปัญญา ปัญญาจะช่วยเป็นตัว เรียกว่าตัดตอนก็ได้ ทำให้ความโกรธไม่เกิดขึ้น ปัญญาหมายถึงอะไร หมายถึงความเข้าใจว่ามันไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ หรือการที่เห็นชัดว่า มันไม่มีตัวเรา มันไม่มีสิ่งที่จะยึดได้ว่าเป็นตัวกูของกู
การที่เราโกรธเพราะอะไร เพราะว่าเรายังยึดว่า เงินของฉัน พอใครขโมยเงินไป หรือโทรศัพท์ของฉัน พอใครมาทำให้โทรศัพท์ของฉันเสียหาย มันก็โกรธ ความโกรธเกิดจากความยึดในตัวกูของกู ยึดในร่างกายว่าของกู ร่างกายนี้เป็นกู พอใครมาวิจารณ์ร่างกายหน้าตา ก็โกรธ หรือใครมากระแทกกระทั้นร่างกาย ก็โกรธ เว้นแต่ว่า คนที่มาชนเรากลายเป็นคนตาบอด ก็เลยหายโกรธ หรือกลายเป็นคนเมา ก็เลยหายโกรธ
หรือว่า ใครมาต่อว่าด่าทอ ความยึดมั่นถือมั่นในหน้าตา มันก็ทำให้โกรธ ยึดมั่นถือมั่นในลูกว่าเป็นเรา เป็นของเรา พอใครมาทำร้ายลูกของเรา มาต่อว่าลูกของเรา เราก็โกรธ
ความโกรธล้วนแต่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา แม้กระทั่ง ยึดมั่นในความถูกต้อง ใครทำอะไรไม่ถูกต้องในแบบของเรา เราก็โกรธ
หรือเจอคนที่เขามาวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของเรา เราก็โกรธ เพราะความยึดมั่นถือมั่น ว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เป็นเรา เป็นของเรา พอมีอะไรมากระทบ ก็โกรธ แม้เพียงแค่เขาตำหนิรถของเรา เสื้อผ้าของเรา เราก็โกรธ เหมือนกับว่าเขาทำร้ายเราโดยตรง
การที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในกูของกูได้ ก็เพราะมันยังมีความหลง หลงยึดว่ามีตัวเรา หลงคิดว่ามีตัวกู มันก็ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกู ของกู หรือว่านี่กู
แต่พอมีปัญญาเห็นแจ้ง ว่ามันไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ไม่มีตัวกู ถ้าหากว่าถอนความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูได้ หรือเห็นชัดว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นตัวกู มีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ ถึงตอนนั้นแหละ ถึงจะเชื่อมั่นได้ว่า จะไม่มีความโกรธเกิดขึ้น
แต่ตราบใดที่ยังมีความหลงอยู่ หลงยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา หลงยึดในตัวกู มันก็ต้องมีความโกรธ แต่พอโกรธแล้ว ก็อาศัยสติมาช่วย ทำให้ความโกรธมันจางคลายหายไปในเวลาไม่นาน ต่อเมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งในความจริง ว่ามันไม่มีเรา ไม่มีของเรา จึงจะพูดได้ว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้โกรธมันไม่มี ใครมาพูด ใครมาทำอะไร ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเคยยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นของเรา เป็นตัวกูของกู มันก็ไม่โกรธอีกแล้ว
พระพุทธเจ้าเคยตอบคำถามมานพที่ชื่ออชิตมาณพว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแส ส่วนปัญญาเป็นตัวปิดกระแส
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสหมายความว่า มีกระแสเกิดขึ้นแล้ว ก็กั้นเอาไว้ มีความโกรธ ความโกรธก็ไม่ครอบงำ เพราะว่ามีสติเป็นเครื่องรักษาใจ แต่ถ้ามีปัญญา กระแสนี้ก็ไม่เกิดขึ้น กระแสที่ว่านี้คือกิเลส หรือความทุกข์ หรืออารมณ์อกุศล
เพราะฉะนั้น คนเราถึงแม้ว่าจะยังไม่มีปัญญาที่จะเห็นความจริง ว่ามันไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นว่า เป็นเรา เป็นของเราได้ แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีสติที่ไวพอจนเห็นความโกรธเกิดขึ้น ถึงตอนนั้นมันก็จะช่วยทำให้ความโกรธหายไปได้ไว ถึงแม้จะยังมีความโกรธอยู่
เช่นเดียวกัน ความเครียด ความกลัว ความวิตก ทำอย่างไรจะไม่ให้มันเกิดขึ้น สำหรับปุถุชนอย่างเราก็ยังเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าถามว่าทำอย่างไรจะให้มันหายไวๆ คำตอบคือสติ
ถ้าเราเจริญสติหรือสัมมาสติได้ถูกต้อง ได้มากพอ ต่อไปมันไม่เพียงแต่ทำให้ใจสงบจากความคิดและอารมณ์อกุศลเหล่านี้เท่านั้น มันยังจะทำให้เราเกิดปัญญา เห็นความจริงของกายและใจ เพราะความจริงของกายและใจที่จะทำให้เกิดปัญญาที่ช่วยทำให้ความทุกข์มันเกิดขึ้นได้ยาก หรือไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเครียด ความหงุดหงิด ความกังวล มันจะเป็นความสงบอย่างแท้จริง
สงบเพราะไม่มีความโกรธ หรือถึงจะมีแต่ไม่มีผู้โกรธ มีความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์ มีความปวดแต่ไม่มีผู้ปวด อันนี้ก็คือความสงบที่แท้จริง ไม่ใช่สงบเพราะไม่ปวด ไม่ใช่สงบเพราะไม่โกรธ ไม่ใช่สงบเพราะไม่ฟุ้ง
สำหรับปุถุชนอย่างเรา ก็มีความโกรธ มีความปวด มีความฟุ้ง มีความเครียด แต่ว่ามันจะครองใจไม่นานเพราะว่ามีสติเห็นมัน เห็นแล้วก็วางมันลงได้เร็ว ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น
ที่จริงสาเหตุที่ความโกรธมันอยู่ได้นาน ความเครียดมันอยู่ได้นาน ความกลัวมันครองใจเราได้นาน ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าใจเราไปยึดมันเอาไว้ ไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เวลามีความโกรธ ก็ไปยึดว่าความโกรธเป็นเรา ความโกรธเป็นของเรา นี่เพราะว่ามันขาดสติ ทำให้ไปยึด ไปหลงยึดอารมณ์
เวลาเจริญสติ เราจะเห็นเลย ถ้าสติดีๆ มันมีความโกรธ มีความฟุ้งเกิดขึ้น ก็เห็น มันเห็นแล้ว แม้มันจะมีอยู่ในใจ แต่ใจไม่ทุกข์ มีความคิดที่ไม่ได้เชื้อเชิญเกิดขึ้น แต่ใจก็ไม่ทุกข์เพราะอะไร เพราะไม่ไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ที่ไม่ยึดเพราะมีสติ
มันเหมือนกับมีกองไฟอยู่ข้างหน้า ตราบใดที่เราไม่โจนเข้าไปในกองไฟ เราก็ไม่ทุกข์ระทมมาก และยิ่งเราถอยห่างจากกองไฟมากเท่าไหร่ มันก็ไม่ทุกข์ กองไฟยังมีอยู่ แต่เราไม่ทุกข์ ความโกรธก็เช่นกันถ้ายังอยู่ในใจ แต่ถ้าหากว่าใจถอยห่างจากอารมณ์เหล่านั้น มันก็ไม่ทุกข์ ไม่ใช่ว่าจะไม่ทุกข์ต่อเมื่อมันไม่มี ถึงแม้มันมี แต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้ เพราะว่าเกิดระยะห่างระหว่างความโกรธกับใจ
หรือพูดอีกอย่างก็คือว่า เพราะว่ามีผู้เห็น จิตอยู่ในสภาวะที่เห็น ไม่โดดเข้าไปเป็น หรือไม่เข้าไปยึดในความโกรธ รวมถึงความเครียด ความวิตก ความกลัว ความโลภ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราจะยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้ความโกรธ ความเครียด ความทุกข์ใจ เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ใจก็ยังมีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์ ถ้าหากว่ามีสติ สติช่วยทำให้ถอนใจออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น เหมือนกับพาตัวเราออกห่างจากกองไฟ
และต่อไป พอเรามีปัญญา แม้จะยังไม่อาจจะหมดสิ้นซึ่งความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูได้ แต่ความยึดมั่นที่ว่ามันเบาบางลง ความโกรธก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง กองไฟที่มันเกิดขึ้นก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง เพราะว่าไม่ว่ามีอะไรมากระทบ มีอะไรเกิดขึ้น มันก็ไม่กระทบกับตัวกูอีกต่อไป เพราะว่าไม่มีตัวกูตั้งแต่แรกแล้ว
แม้แต่ก้อนหินตกลงมา ถ้าหากว่ามีกระจกขวางอยู่ กระจกก็แตก แต่ถ้าก้อนหินตกลงมา ไม่มีกระจกเลย มันก็ตกลงสู่อากาศธาตุ ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น มีคนมาด่า แต่ว่าเราไม่ทุกข์เลย เพราะความโกรธมันไม่ได้มากระแทกกับตัวกู เพราะไม่มีตัวกูตั้งแต่แรก สิ่งที่เขาพูด มันก็เป็นแค่อากาศธาตุ หรือพูดอีกอย่างก็คือ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่ใช่เข้าหูซ้ายแล้วเก็บเอาไว้ที่หูขวา แล้วก็มาทุรนทุรายกลัดกลุ้ม
ตราบใดที่ยังมีตัวกู มันก็ยังเป็นอย่างนั้น เหมือนกับใครโยนก้อนหินลงมาก็เอาตัวกูไปรับ ก็เจ็บ แต่ถ้าเขาโยนก้อนหินมา เราหลบ ไม่เอาตัวกูเข้าไปรับ มันก็ไม่เจ็บ แต่ที่เจ็บก็เพราะว่าเอาตัวกูเข้าไปรับทั้งนั้น หรือไม่ก็ไปยึด ว่าเป็นของกู.