พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 กรกฎาคม 2567
มีฝรั่งคนหนึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง ตัวแกกับพ่อแม่เรียกว่าสนิทสนมกันมาก ใกล้ชิดและคุ้นเคยกัน แกเคยเล่าว่าถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ในเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อแม่ ต่อมาพ่อก็ป่วยและเสียชีวิต อายุก็ 70 กว่า หลังจากที่ทำงานศพของพ่อเสร็จสิ้น ตัวอาจารย์คนนี้ซึ่งเป็นลูกชาย ก็ไปจัดการข้าวของส่วนตัวของพ่อ รวมทั้งสะสางเอกสารที่พ่อเก็บเอาไว้ ก็ไปเจอจดหมายฉบับหนึ่ง
จดหมายฉบับนี้เก่าแก่มาก คือเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ๆ เกือบ 80 ปีแล้ว จดหมายนี้ทางกองทัพเขียนมาเพื่อประกาศเกียรติคุณของผู้เป็นพ่อ เพราะว่าตอนที่พ่ออายุ 20 ต้นๆ ไปเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วตอนที่กรีธาทัพไปจนถึงเยอรมัน มีตอนหนึ่ง เยอรมันก็ถล่มด้วยปืนใหญ่ กองร้อยของพ่อเจอเข้าไปเต็มๆ 8 คนเสียชีวิตทันที อีกหลายคนบาดเจ็บ
ในจดหมายเขียนว่าพลทหารคนนี้ ไม่ได้ห่วงหรือสนใจความปลอดภัยของตัวเลย ออกจากหลุมหลบภัยเพื่อไปช่วยทหารที่บาดเจ็บ ไปทำแผล ทั้งๆ ที่ปืนใหญ่ก็ระดมยิงไม่หยุด สุดท้ายก็สามารถพาผู้ป่วยผู้บาดเจ็บทุกคน กลับมาสู่ที่ที่ปลอดภัยได้ กองทัพก็เลยมอบเหรียญสดุดีให้กับผู้เป็นพ่อ
ลูกชายอ่านจดหมายฉบับนี้แล้วก็ประหลาดใจ เพราะว่าตลอด 50 ปีที่ได้อยู่กับพ่อ คุ้นเคยกันมาก คุยกันเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง แต่พ่อไม่เคยเล่าเรื่องนี้เลยว่า ตัวเองได้เหรียญกล้าหาญ เขาได้เห็นเลยว่า พ่อเป็นคนที่ถ่อมตัวมาก แม้จะได้เหรียญกล้าหาญ ก็ไม่เคยอวดแม้กระทั่งกับลูก อย่าว่าแต่เพื่อนบ้านเลย ไม่มีใครรู้เลยว่าพ่อของอาจารย์คนนี้ เคยได้เรียนกล้าหาญมาแล้ว
ลองนึกนะ คนเราถ้าเกิดว่ายอมเสียสละเพื่อช่วยชีวิตเพื่อน สามารถช่วยชีวิตเพื่อนมาได้หลายคนเลย แถมได้เหรียญกล้าหาญ คงอดไม่ได้ที่อยากจะอวด ว่าฉันมีความกล้าหาญ ฉันมีความเสียสละ ฉันได้รับเหรียญกล้าหาญจากกองทัพ คนธรรมดาเป็นอย่างนั้น แต่ว่าพ่อของอาจารย์คนนี้ ปรากฏว่าไม่เคยอวดเลย แม้กระทั่งกับคนใกล้ชิดคือลูก แล้วก็คงจะรวมถึงภรรยาด้วย
พอเขาคิดเช่นนี้แล้วก็รู้สึกซาบซึ้งประทับใจพ่อมากเลย ว่านี่คืออีกด้านหนึ่งของพ่อที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลย มองในแง่นี้ก็ถือว่า พ่อของอาจารย์คนนี้เป็นคนที่ถ่อมตัวมาก หรือถ้าพูดอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นคนที่มีอัตตาน้อย แม้ว่าทำความดี ได้รับเหรียญกล้าหาญ แต่ก็ไม่เคยคิดจะอวดใคร
อย่างที่พูดเมื่อเช้า คนเราถ้ามั่นใจในความดีของตัว หรือในความสามารถของตัวแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ต้องไปอวดใคร หรือไปเรียกร้องให้ใครมาชื่นชมสรรเสริญ อย่างที่เล่าเมื่อเช้าว่า เจ้าของหมากับเสือชีตาห์ อยากจะรู้ว่าตัวไหนที่วิ่งเร็วที่สุด เขาเลี้ยงทั้งหมาเกรย์ฮาวด์ซึ่งวิ่งเร็วมาก หมาอัฟกันฮาวด์ แล้วก็เลี้ยงเสือดาว เสือชีตาห์มาตั้งแต่เล็ก แต่ไม่เคยพิสูจน์ฝีมือกันเลยว่า ใครเร็วกว่ากัน ได้ยินแต่กิตติศัพท์ว่า เสือชีตาห์เป็นสัตว์ที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก อยากจะแข่ง
ปรากฏว่าหมาทุกตัวร่วมมือกัน แต่ว่าเสือชีตาห์ไม่สนใจเลย อยู่กับที่ ไม่เขยื้อนขยับเพื่อมาวิ่งแข่ง สุดท้ายก็มีแต่หมาด้วยกันที่วิ่งแข่งกัน ผลก็คือเกรย์ฮาวด์ชนะ เจ้าของแปลกใจมากว่าทำไมเสือชีตาห์ไม่สนใจแข่งขันเลย ไปถามผู้รู้ ผู้รู้ก็บอกว่า เสือคงคิดว่า การแข่งขันกันแบบนี้เป็นการดูถูกเขา แกบอกว่าบางครั้ง การที่เราพยายามพิสูจน์ว่า คุณเป็นคนที่สุดยอด อาจจะเป็นการไปดูถูกเขาก็ได้
เสือคงรู้สึกว่า การแข่งขันแบบนี้เป็นการดูถูกตัวเอง เพราะว่าเขาก็รู้อยู่แล้วว่า เขาวิ่งเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องไปพิสูจน์ หรือไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันหรือว่าไปอวดใคร เสือที่มั่นใจในความเร็วของตัว มันไม่สนใจที่จะไปอวด หรือไปพิสูจน์ว่ามันวิ่งเร็วที่สุด
อันนี้ก็เป็นข้อคิดสำหรับคนเราเหมือนกัน คนเราถ้าหากว่ามั่นใจในความดีของตัว มั่นใจในความสามารถของตัวแล้ว ไม่สนใจที่จะไปอวด ไปเรียกร้องคำชื่นชมสรรเสริญ หรือว่าไปพิสูจน์ตัวเองว่าฉันเก่ง ฉันแน่ มีแต่คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองนั่นแหละ ที่เรียกร้องคำชื่นชมสรรเสริญ หรือต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าฉันเก่ง ฉันแน่
ที่จริงก็มีคนที่เก่งมากๆ ด้วย ไม่ว่าจะในทางกีฬา ในทางวิชาการ หรือว่าในทางศิลปะ เก่งด้วย แล้วก็ต้องการที่จะอวดให้คนรู้ว่าฉันเก่งฉันแน่ แบบนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคนที่อวดหรือคนที่เรียกร้องคำชื่นชมสรรเสริญ จะมีแต่คนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง คนที่มั่นใจตัวเองมากๆ ก็มีเหมือนกัน
อันนี้เพราะอะไร ถ้าเรียกภาษาชาวบ้านคือ มีอัตตาสูง หรือถ้าพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ เขาอยู่ในอำนาจการบงการของอัตตา เพราะฉะนั้นเมื่อมีดี มีความสามารถ มีความเก่งกล้า ก็อยากจะอวดให้ใครๆ รู้ว่ากูเก่งกูแน่ นี้เป็นธรรมชาติของตัวกิเลสที่ชื่อว่ามานะ เดี๋ยวนี้คำว่ามานะ คนไทยไปแปลว่าความเพียรพยายาม เวลาพูดถึงเรื่องของการต้องการอวดตัว เลยไปใช้คำว่าอัตตาหรืออีโก้
แต่ที่จริงแล้ว ถ้าพูดให้ถูกก็คือตัวมานะซึ่งเป็นกิเลสชนิดหนึ่งที่มีกันทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนเก่งคนไม่เก่ง คนไม่เก่งอยากจะอวดให้ใคร ๆ รู้ หรืออยากจะให้ใครชมว่าฉันเก่ง ส่วนคนที่เก่งอยู่แล้ว ถ้าหากว่าไม่รู้เท่าทันอัตตา ไม่รู้เท่าทันมานะ หรือว่าอยู่ในอำนาจของมานะ ก็มีความอยากจะอวดเหมือนกัน
แต่ก็มีไม่น้อย ที่เก่ง ดี มีความสามารถ แต่เขาเห็นโทษของการอยู่ในอำนาจของอัตตา หรือเห็นโทษของมานะ เขาก็พยายามไม่ปล่อยให้กิเลสตัวนี้มาครอบงำ อาจจะอยากอวด แต่ก็ข่มใจไว้ได้ ใหม่ๆ ก็คงรู้สึกยาก เพราะว่าใครที่เวลามีดี ได้รางวัล ก็อยากอวดทั้งนั้นแหละ แต่ว่าเพราะการฝึกตน พยายามข่มใจ ใหม่ๆ อาจจะรู้สึกว่ามันอัดแน่นอยู่ในอก อยากจะพูด อยากจะอวด แต่ตอนหลัง พอฝึกจิตจนเป็นนิสัย ตัวอัตตาหรือมานะก็อยู่เป็นที่เป็นทาง กำเริบเสิบสานน้อยลง มันก็ไม่อาละวาด คนแบบนี้ก็มี แต่ว่านับวันจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ ผู้คนถูกกระตุ้นเร้าให้มานะแรงกล้า ถูกกระตุ้นให้อยู่ในอำนาจของอัตตามากๆ
ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนถูกกระตุ้นให้เกิดความยึดมั่นในตัวกูของกูมาก ตัวกูของกูก็มาจากภาษาบาลี อหังการ มมังการ ที่จริงมี 3 ตัว อหังการ มมังการ และมานานุสัย มานาคือมานะนั่นเอง อนุสัยที่ชื่อมานะ ตัวกูของกูนี่ยังไม่ครบ ถ้าให้ถูกต้องมีสาม
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านใช้คำว่า “นี่กูนะ” “ตัวกูของกู” และนี่กูนะ ‘นี่’ เป็นลักษณะของตัวมานะเลย คือมันต้องการประกาศว่า กูเก่ง กูแน่ หรือว่า กูมีอำนาจ ถ้าคนเราปล่อยให้ตัวกูของกูหรือนี่กูนะมีอำนาจหรือกำเริบ มันก็สามารถจะสร้างความทุกข์ให้กับเราได้ เพราะว่าทำอะไรก็อยากให้คนชม อยากให้คนสรรเสริญ อยากให้คนเห็นความสำคัญ
เดี๋ยวนี้มันมีช่องทางในการที่จะอวดตัว แสดงตน หรือประกาศตัวตนได้ง่ายดายเหลือเกิน แล้วก็เป็นที่ยกย่องกันว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือว่าเป็นเรื่องธรรมดา สมัยก่อนการที่จะมาอวดตัวแสดงตน อาจจะทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะว่าโอกาสที่จะอวดมีไม่มาก แต่เดี๋ยวนี้โอกาสเยอะมาก เพราะว่ามีพวกโซเชียลมีเดียใครๆ ก็อยากจะอวดตัวแสดงตน ก็ใช้โซเชียลมีเดีย อย่างน้อยๆ ก็โพสต์รูป เวลาโพสต์รูปของตัวเองก็ต้องทำให้รูปของตัวเองดูดี สวย มีการตกแต่งด้วยโฟโตชอป ด้วยโปรแกรมต่างๆ
เดี๋ยวนี้ทำกันเป็นจริงเป็นจังมาก มิหนำซ้ำมีการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ทางอินสตาแกรม เวลาไปทำอะไร กินข้าวที่ไหนก็อยากประกาศให้โลกรู้ แม้กระทั่งทำความดี เช่น มาทำบุญที่วัด มาเป็นประธานทอดผ้าป่า ก็อดไม่ได้ที่จะประกาศให้โลกรู้ว่าฉันมาทำความดีนะ
แม้กระทั่งมาปฏิบัติธรรม ก็โพสต์รูป โพสต์ข้อความ ประกาศให้โลกรู้ว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ฉันสนใจปฏิบัติธรรม บางทีก็ทำให้เนียนๆ หน่อยคือ โพสต์ไปแล้วก็บอกว่าเอาบุญมาฝากนะ อันนี้อาจจะเป็นประเภทว่าปรารถนาดีจริง ๆ หรือเอามาเป็นข้ออ้างในการที่จะได้ประกาศตัวตน หลายคนไม่รู้ว่ามันเป็นแรงผลักของตัวมานะ ที่ชื่อว่า นี่กูนะ ๆ ๆ
ในวงการปฏิบัติธรรม มีแบบนี้เยอะ ถึงแม้หลายคนจะโลภน้อยลง คนที่ปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ความโลภก็ลดไปเยอะ แต่แม้โลภะจะน้อย แต่มันไปออกทางอื่น ตัณหาจะเบาบาง แต่ก็ไปออกทางทิฐิและมานะ บางทีก็อยากประกาศให้ใครๆ รู้ว่า ฉันมีธรรมะขั้นสูง แต่บางทีการประกาศหรือการอวด กลับกลายเป็นการประจานโดยไม่รู้ตัว
อย่างที่เคยเล่า เมื่อหลายสิบปีก่อน หลวงปู่ตื้อไปแสดงธรรมที่วัดอโศการาม ท่านแสดงธรรมได้หมดจดมาก พูดถึงเรื่องอริยสัจ 4 แล้วพูดถึงทางพ้นทุกข์ การปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่น พอแสดงธรรมเสร็จ ญาติโยมที่มาฟังก็สาธุการ แล้วจู่ๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง เดินแหวกฝูงชนตรงมาหาหลวงปู่ซึ่งกำลังนั่งอยู่บนธรรมมาสน์ แล้วก็บอกว่า “หลวงปู่เทศน์ได้หมดจด ดิฉันฟังแล้วรู้สึกเบากายเบาใจ ดิฉันปล่อยวางหมดแล้ว”
หลวงปู่ท่านก็สาธุนะ อนุโมทนาด้วย แต่ยังไม่จบ หญิงคนนั้นก็พูดอีกว่า “จริง ๆ นะคะ ดิฉันปล่อยวางหมดแล้ว ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใด ๆ เลย” คราวนี้หลวงปู่เลยพูดว่า “อีตอแหล” โกรธมากเลย “ทำไมหลวงปู่มาว่าฉันแบบนี้” แล้วก็เดินกลับไปที่เดิม หน้าแดงเลย
คือโยมคนนี้แกก็อยากจะอวดว่าตัวเองได้บรรลุธรรมแล้ว มันเกิดจากแรงผลักที่ชื่อว่านี่กูนะ หรือมานะ นี่กูนะ นักปฏิบัติธรรมนะ อยากจะอวดว่าตัวเองบรรลุธรรม แต่การกระทำนั้นกลับกลายเป็นการประจานตัวเอง แล้วยิ่งพอถูกหลวงปู่ว่าอีตอแหล มันยิ่งชัดเจนเลยว่า ไม่ได้ปล่อยวางจริง
คนจำนวนไม่น้อย เวลาต้องการอวด ต้องการประกาศตัวตน ไม่รู้ตัวเลยนะว่ามันเป็นการประจานตัวเอง ว่ามีความยึดติดถือมั่นในตัวตน หรือว่าหลงอยู่ในอำนาจของตัวมานะมาก อยากจะประกาศว่านี่กูนะ นี่กูเก่งนะ นี่กูดีนะ แต่ว่ามันกลับเป็นการเผยให้คนเห็นว่า ที่พูดมากิเลสทั้งนั้น หรือเป็นความหลงยึดหลงติดในตัวกูทั้งนั้นแหละ
แล้วเดี๋ยวนี้มีแบบนี้เยอะเลย เห็นได้ทางโซเชียลมีเดีย ทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม การประกาศตัวตนโดยไม่รู้ตัว เพื่อเรียกร้องเรตติ้ง หรือเพื่อแสวงหาคำชื่นชมสรรเสริญ เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่โดยที่ไม่ได้คิดว่า มันเป็นตัวที่ทำให้กิเลสครองใจ แล้วสุดท้ายตัวเองก็ทุกข์ ทุกข์ที่คนไม่เห็นความเก่งของเรา จนต้องอวด เพราะถ้าไม่อวด เขาก็จะไม่เห็นความดีของเรา ไม่เห็นความเก่งของเรา หรือบางทีอวดแล้ว ปรากฏว่าคนก็ยังไม่ได้ชื่นชมสรรเสริญมากเท่าไหร่ ก็ทุกข์
เดี๋ยวนี้เพียงแค่โพสต์อะไรไปแล้วคนไม่กดไลค์หรือคนกดไลค์น้อยก็ทุกข์แล้วนะ นี่ขนาดยังไม่ได้โดนตำหนิ ยังไม่ได้โดนทักท้วง ยิ่งถ้าเกิดถูกทักท้วง ยิ่งโกรธเข้าไปใหญ่ คนเดี๋ยวนี้ผิวบางมาก แตะต้องไม่ได้ ทักท้วงไม่ได้ เพราะว่าปล่อยให้กิเลสครองใจ
นักปฏิบัติธรรม สิ่งหนึ่งที่จะชี้วัดว่า เราปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้าเพียงใด ก็คือว่า ตัวกิเลสหรือมานะมันเบาบางลงไหม มันมีแรงผลักของตัวที่อยากประกาศให้โลกรู้ว่า นี่กูนะ นี่กูนักปฏิบัติธรรม นี่กูเป็นคนเก่ง คนดี มีความสามารถหรือเปล่า ถ้ามีแรงผลักแบบนี้ ก็แสดงว่ายังมีการบ้านที่ต้องฝึก เป็นธรรมดาที่คนเราจะมีความรู้สึกแบบนี้ ข้อสำคัญก็คือว่าต้องรู้ทัน แล้วก็ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ
ที่จริงมันไม่ใช่เฉพาะคนที่มุ่งมั่นปฏิบัติธรรม หรือมุ่งความเจริญงอกงามทางธรรมนะ แม้กระทั่งคนที่ใช้ชีวิตทางโลก ก็ควรจะมีสิ่งนี้ อย่างพ่อของอาจารย์คนที่กล่าวถึงในตอนต้น การที่แกไม่เคยอวดใครเลยแม้กระทั่งกับลูกว่า เคยได้รับเหรียญกล้าหาญ ก็ถือว่าเป็นคนที่มีธรรมะพอสมควร ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม และเป็นเพราะว่าแกมีความถ่อมตัว มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนน้อย แกจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกและภรรยาได้
จริงๆ แม้กระทั่งความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ลูก สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญก็คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู อันนี้รวมไปถึงคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ด้วย อย่าว่าแต่เป็นนักปฏิบัติธรรมเลย แม้กระทั่งเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดี ก็ต้องลดความยึดมั่นในตัวกู เพราะถ้าปล่อยให้ตัวกูครองใจ มันจะเรียกร้องการยอมรับหรือการเชื่อฟังจากลูก เวลาพูดแล้วลูกไม่ฟัง เวลาสั่งแล้วลูกไม่เชื่อ คนที่เป็นพ่อแม่หลายคนจะโกรธ นี่ฉันเป็นพ่อแม่เธอนะ ทำไมแนะนำแล้วไม่ฟัง หรือทำไมพูดแล้วเถียง
ตรงนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกแย่ลง แล้วเดี๋ยวนี้เป็นกันเยอะ เพราะว่าคนที่เป็นพ่อแม่ ความยึดมั่นในตัวกูของกูแล้วก็นี่กูนะ เดี๋ยวนี้ก็มีไม่น้อยเลย คือคิดว่านี่ฉันเป็นพ่อเธอนะ ฉันเป็นแม่เธอนะ ฉันพูดเธอต้องฟังนะ ฉันสั่งเธอต้องปฏิบัติตาม ฉันให้เธอเรียนแพทย์เธอก็ต้องเรียนนะ พ่อแม่หลายคนเป็นทุกข์มาก ลูกเรียนเก่งแต่ไม่เรียนหมอตามความต้องการของพ่อแม่ กลับไปเรียนนิติศาสตร์บ้าง ไปเรียนสถาปัตย์บ้าง ไม่พอใจ โกรธ เกิดการทะเลาะกัน
สุดท้ายลูกไม่คุยกับแม่ ไม่คุยกับพ่อ เพราะเดี๋ยวนี้เด็กก็ไม่ยอมเหมือนกัน จะว่าไปเด็กก็มีความยึดมั่นในตัวกูของกูเหมือนกัน แต่ว่าคนที่เป็นพ่อแม่ผ่านโลกมามากกว่า ควรจะรู้ว่าความยึดมั่นถือมั่นว่าฉันเป็นพ่อเธอฉันเป็นแม่เธอ อันนี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการที่จะบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก
แล้วบางทีมันไม่ใช่แค่ทำให้ลูกทุกข์อย่างเดียว บ่อยครั้งพ่อแม่ก็ทุกข์ ทำไมลูกไม่ฟังฉัน ทำไมฉันแนะนำลูกด้วยความหวังดี ทำไมลูกไม่ทำตาม ไม่เรียนหมออย่างที่ฉันแนะนำ หรืออย่างที่ฉันเรียกร้อง นี่เป็นทุกข์เพราะความยึดมั่นในตัวกูของกู เป็นเพราะตกอยู่อยู่ในกิเลสที่ชื่อว่ามานะหรือนี่กูนะ
แล้วมีบางรายบางครอบครัวหนักเลย แม่เห็นลูกเอาแต่เล่นเกมจนนอนดึก บางวันก็ตื่นสายไปโรงเรียนไม่ทัน แม่ก็ว่าลูก ลูกก็ไม่เชื่อ แม่ก็ยิ่งโกรธ ก็ว่าลูกหนักขึ้น ทีหลังตอนหลังลูกไม่คุยกับแม่เลย เพราะว่าถูกแม่ด่าแรงเหลือเกิน แม่ก็ทั้งเสียใจ แล้วก็ทั้งโกรธ ฉันเป็นแม่เธอนะ เธอทำไมไม่คุยกับฉัน ปรากฏว่าลูกใจเด็ดมาก ไม่คุยเลยเป็นเดือน แม่เสียใจ ฉันเป็นแม่เธอ ทำไมเธอไม่คุยกับฉัน ฉันเป็นแม่เธอ ทำไมฉันสั่งแล้วไม่ทำตาม เลยยื่นคำขาดว่า ถ้าลูกไม่คุยกับแม่ แม่จะกระโดดตึกตาย
ลูกก็ไม่ยอมแพ้ เพราะลูกก็มีตัวกูเหมือนกัน แม่ยิ่งโกรธมาก ทั้งโกรธทั้งเสียใจ ฉันเป็นแม่เธอทำไมเธอทำกับแม่แบบนี้ ปรากฏว่าโดดตึกลงมาอย่างที่พูดจริงๆ เลย คงเพราะต้องการเอาชนะ หรือทำด้วยความโกรธก็ไม่รู้ กลายเป็นว่าตัวเองก็ตาย แล้วก็สร้างบาดแผลที่ลืมไม่ลงให้กับลูก อันนี้เพราะอำนาจของความยึดมั่นในตัวกู
มันไม่ใช่เพียงแค่อยากจะอวด หรือแสวงหาคำชื่นชมสรรเสริญ แต่บางทีมันนำไปสู่การไปบังคับหรือคาดคั้น เพื่อให้คนอื่นทำตามความต้องการของตัว แล้วสุดท้ายก็เลยเกิดความขัดแย้ง เกิดการทำร้ายกัน หลายคนทำร้ายตัวเองก็เพื่อต้องการเอาชนะว่า นี่กูน่ะ
เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก มันเป็นสิ่งที่ไม่ว่าคนที่สนใจความก้าวหน้าทางธรรม หรือความสำเร็จทางโลก ต้องหาทางจัดการกับกิเลสตัวนี้ให้ได้ อย่าปล่อยให้มันครองใจ เพราะไม่อย่างนั้น มันจะสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง แล้วก็สร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่นได้ง่าย.