พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 กรกฎาคม 2567
ที่ประเทศเกาหลีใต้มีพระรูปหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมาก คนที่เคารพนับถือส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มสาว เป็นพวกที่พื้นเพก็ไม่ได้สนใจพุทธศาสนา แต่ว่าคนหนุ่มสาว ตอนหลังก็รวมไปถึงพ่อแม่ เขาก็หันมาเคารพนับถือท่านองค์นี้ ท่านชื่อพอมยุน สุนิม สุนิมก็หมายถึงพระ
ท่านไม่ได้มีโบสถ์ที่ใหญ่โตมีแต่อาคารเป็นที่ทำการของสมาคมจุงโต คล้าย ๆ มูลนิธิ ซึ่งรวบรวมคนหนุ่มสาวมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่ไม่ใช่แค่นั้น ท่านยังชวนคนหนุ่มสาวให้มาสนใจเรื่องสมาธิภาวนา สนใจการฝึกหัดขัดเกลาตน อยู่อย่างเรียบง่าย เบียดเบียนธรรมชาติน้อย คือเวลาท่านแสดงธรรม
คนหนุ่มสาวคนชั้นกลางคนมีการศึกษามาฟังการบรรยายของท่านเป็นพัน ๆ คน แต่ท่านไม่ค่อยบรรยาย หรือบรรยายก็ไม่พูดยาว ส่วนใหญ่ก็เป็นการตอบคำถาม ก็เป็นคำถามที่คนยุคใหม่ต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องการทำงาน เรื่องครอบครัว และท่านก็สามารถจะตอบได้กินใจคนเหล่านั้น เพราะว่าเอาคำสอนทางพุทธศาสนามาเชื่อมโยงกับชีวิตของเขา
ตอนที่ท่านพอมยุนยังเป็นพระหนุ่ม ท่านมีความอึดอัดมากกับสภาพของพุทธศาสนาในเกาหลี และท่านก็วิพากษ์วิจารณ์พระผู้ใหญ่เพราะว่าจำนวนไม่น้อยก็หลงใหลเพลิดเพลินในลาภสักการะ แล้วก็มุ่งเรื่องการสร้างถาวรวัตถุ เช่น โบสถ์วิหารใหญ่โต เต็มไปด้วยพิธีกรรม
ท่านก็พยายามวิพากษ์วิจารณ์แต่ก็ไม่ค่อยมีผล ซึ่งก็ทำให้ท่านยิ่งคับแค้นมาก มีคราวหนึ่งท่านไปพบพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านก็ไม่ได้รู้จักดีแต่ว่าพระผู้ใหญ่ท่านนี้คงจะมีเมตตา ท่านพอมยุนก็เลยระบายพร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์โดยเฉพาะพระผู้ใหญ่ในเกาหลีใต้ สิ่งที่ท่านวิจารณ์ก็คงคล้าย ๆ กับที่คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้วิจารณ์พุทธศาสนาในเมืองไทย เรื่องการเน้นเรื่องพิธีกรรม การทำพุทธพาณิชย์หรือไสยพาณิชย์ การสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างอาคารใหญ่โต โดยที่ไม่เชื่อมโยงกับชีวิตของผู้คนเลย
วันนั้นท่านพอมยุนระบายไปเป็นชั่วโมง พระผู้ใหญ่ท่านก็ดี ฟังอย่างเดียว ไม่ได้ชี้แจง ไม่ได้แก้ต่าง แล้วก็ไม่ได้ต่อว่าท่านพอมยุน จนกระทั่งท่านระบายเสร็จพระผู้ใหญ่ก็บอกสั้น ๆ ว่า เวลาคนเรานั่งอยู่บนคันนาและทำจิตให้บริสุทธิ์ ทำจิตให้สงบ นั่นคือการปฏิบัติชอบแล้วล่ะ และสถานที่ตรงนั้นก็ถือว่าเป็นวัดแล้ว และนี่ก็คือพุทธศาสนา ท่านตอบสั้น ๆ แบบนี้ ท่านพอมยุนตาสว่างเลย
ท่านพอมยุนหลงคิดตั้งนานว่า สิ่งที่ท่านวิจารณ์นี่คือพุทธศาสนาที่หลงทาง ท่านคิดว่านี่คือสิ่งที่จะต้องปฏิรูป อาจจะเรียกได้ว่าคำชี้แนะของพระผู้ใหญ่นี้ทำให้ท่านพอมยุนได้ตระหนักว่า สิ่งที่ท่านวิจารณ์นี่ไม่ใช่พุทธศาสนา ในเมื่อสิ่งนั้นไม่ใช่พระพุทธศาสนาที่แท้ มันก็เหลือวิสัยที่จะปฏิรูป ท่านพยายามปฏิรูปมานานเพราะคิดว่านั่นคือพระพุทธศาสนา แต่ที่จริงไม่ใช่
พุทธศาสนาก็อย่างที่พระผู้ใหญ่ท่านนั้นพูดว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับโบสถ์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิหาร แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ปฏิบัติที่ไหน แม้จะเป็นคันนากลางทุ่ง ตรงนั้นก็เป็นวัด และสิ่งที่คนผู้นั้นทำก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติชอบ หรือเป็นการปฏิบัติธรรม พุทธศาสนาอยู่ตรงนี้
หลังจากนั้นมา ท่านพอมยุนก็เลยเลิกบ่นเลิกวิจารณ์ความเป็นไปหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงพุทธศาสนา เพราะท่านรู้ว่ามันไม่ใช่พุทธศาสนาที่แท้ ท่านก็เลยเบนเข็มมาทำสิ่งที่ท่านคิดว่าสิ่งนั้นเป็นพุทธศาสนา ก็คือชวนคนมาปฏิบัติธรรม แม้จะเป็นฆราวาสท่านก็ถือว่าถ้าได้ปฏิบัติไม่ต่างจากพระ ถ้ามองอย่างเผิน ๆ เข้าใจว่าพระคือคนที่ห่มจีวรโกนหัว แต่ที่จริงไม่ใช่ ฆราวาสญาติโยมที่ใส่กางเกงนุ่งกระโปรงก็เป็นพระได้ถ้าหากว่าปฏิบัติ โดยเฉพาะการรักษาใจให้บริสุทธิ์ ทำกายวาจาให้ขาวสะอาด
พอท่านเบนเข็มมาตรงนี้ คำสอนของท่านก็สามารถจะดึงดูดใจของคนรุ่นใหม่และคนที่มีการศึกษาได้ เพราะคนเหล่านี้เขาไม่สนใจเรื่องพิธีกรรม เขาสนใจสิ่งที่เป็นการปฏิบัติ แล้วคนทุกวันนี้ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ แต่พอเขาได้รับฟังคำแนะนำของท่านแล้วมาแก้ทุกข์ของตัวเองได้ เขาก็เกิดศรัทธามาเป็นลูกศิษย์ท่าน ลูกศิษย์ของท่านมีเยอะมากในเกาหลีใต้ พระไทยไปดูงานของท่านก็ไม่น้อยรวมทั้งท่านอาจารย์ตงหมิง เจ้าอาวาสวัดภูเขาทองก็เคยไปดูงาน แต่อาตมาไม่เคยไป
แล้วท่านก็เป็นผู้ที่มีความสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาหรือที่จริงพูดให้ถูกก็คือพุทธธรรมนี่เข้าไปสู่ในใจและชีวิตของผู้คน ทำให้เขาเข้าใจว่าพุทธศาสนาหรือพุทธธรรมนี่ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ศาสนพิธี ศาสนวัตถุ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องห่มจีวรมาถึงจะเป็นพระได้ ตอนนี้ก็เรียกว่าสิ่งที่ท่านทำช่วยทำให้พุทธศาสนาในเกาหลีใต้มีชีวิตชีวาขึ้นมากโดยที่ท่านไม่ได้ไปทำอะไรกับพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม เขาจะทำอะไรเขาก็ทำของเขาไป
แต่ว่าท่านจะทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นพุทธศาสนา ฉะนั้นท่านสามารถทำให้คนรุ่นใหม่หันมาเข้าใจพุทธศาสนาอย่างเชื่อมโยงกับชีวิต ไม่ใช่มัวแต่ทำบุญ หรือว่าไปหวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคล แต่ว่าพยายามเอาการปฏิบัติมาใช้กับการดำเนินชีวิต พุทธศาสนากลายเป็นเรื่องง่าย ไม่ได้ซับซ้อน ไม่ได้มีความขึงขังด้วยพิธีกรรม
พูดถึงเรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึงพระทิเบตท่านหนึ่ง ท่านนี่ก็เรียกว่าน่าทึ่งมาก คือท่านลามะเยเช ตั้งแต่เล็กจนกระทั่งถึงวัยกลางคนท่านอยู่แต่ในทิเบตตลอด จนถึงอายุ 60 เป็นช่วงที่ทิเบตถูกกองทัพจีนเข้าไปยึดครอง ท่านก็ลี้ภัยไปไล่ ๆ กับทะไลลามะ ไม่เคยเจอโลกภายนอก
นับเป็นครั้งแรกที่ท่านลามะเยเชต้องเจอโลกภายนอก ตลอดชีวิตก่อนที่จะออกจากทิเบตไม่เคยเห็นรถยนต์ อย่าว่าแต่เครื่องบินเลย ปรากฏว่าต้องอพยพมาถึงอเมริกา เจอรถยนต์ เจอโทรศัพท์ เจอเครื่องบิน มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ต้องพูดถึงภาษา เรียกว่าออกจากโลกยุคกลางมาเจอโลกยุคใหม่ นี่ก็คือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
แต่ปรากฏว่าตอนนี้ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาชาวอเมริกันเยอะมาก สมัยนั้นคนอเมริกันยังไม่รู้จักทะไลลามะ ไม่รู้จักพุทธศาสนาแบบทิเบตเลยด้วยซ้ำ แต่เจอท่านลามะเยเชแล้วประทับใจ ทั้ง ๆ ที่ท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แต่ว่าท่านมีความเย็นข้างใน และที่สำคัญก็คือ ท่านสามารถชวนให้คนหนุ่มสาวหันมาสนใจพุทธศาสนา และเข้าหาการปฏิบัติคือ สมาธิ ภาวนา ได้
ท่านไม่มีความรู้ทางภาษาที่จะอธิบายเรื่องอริยสัจ 4 เรื่องสุญญตา เรื่องไตรลักษณ์ ไม่ต้องพูดถึงปฏิจจสมุปบาท แต่ว่าสามารถจะทำให้คนหนุ่มสาวชาวอเมริกันหันมาสนใจเรื่องวิปัสสนาได้แล้วกลายเป็นคนที่ศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา ก่อนที่ท่านตรุงปะจะมาทำให้พุทธศาสนาแบบทิเบตยิ่งแพร่หลายในอเมริกามากขึ้น และต่อมาภายหลังท่านทะไลลามะเข้ามาหนุนอีก แต่คนที่ริเริ่มนี่ คือท่านลามะเยเช
มีคนสงสัยว่าลามะเยเชทำให้คนหนุ่มสาวชาวอเมริกันมาสนใจพุทธศาสนาได้อย่างไร ในเมื่อท่านก็พูดอังกฤษไม่ได้ แล้วท่านก็ไม่ได้สนใจที่จะสอนหลักธรรมพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอริยสัจ 4 หรือว่า สติปัฏฐาน 4 ท่านบอกว่าก็ไม่มีอะไร เวลาใครมาหาท่าน สนใจอยากจะเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนา หรือแม้แต่เรื่องการปฏิบัติ ท่านจะถามว่า 1) เธอหายใจเข้าหายใจออกเป็นหรือเปล่า แน่นอนทุกคนก็หายใจเข้าหายใจออกเป็น 2) เธอมีใจเมตตาไหม ถ้ามีสองอย่างนี่ถือว่าปฏิบัติได้แล้ว
ท่านบอกว่า การที่คนเรารู้จักหายใจเข้าหายใจออก ถ้าหากว่าปฏิบัติถูก มันก็จะช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับร่างกายและกับชีวิต เกิดความเปลี่ยนแปลงภายใน ถ้าพูดแบบสมัยนี้ก็คือว่าทำให้อยู่กับเนื้อกับตัว ทำให้รู้เนื้อรู้ตัวมากขึ้น ส่วนความเมตตานี่ถ้าหากว่าเจริญให้มากก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลกภายนอกดีขึ้น คนเราก็มีแค่นี้แหละ ความสัมพันธ์กับตัวเองกับความสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือโลกภายนอก
ความสัมพันธ์กับตัวเองมันจะดีขึ้น เกิดความรู้เนื้อรู้ตัว หรือว่าเกิดความสงบภายใน ก็เพราะรู้จักหายใจ รู้เนื้อรู้ตัวขณะหายใจเข้าหายใจออก แล้วก็เจริญเมตตา ก็ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น นี่เรียกว่าเอาสาระของพุทธศาสนามาทำให้เข้าใจง่าย
ที่จริงสาระสำหรับพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับตัวเอง แทนที่จะเหินห่างแปลกแยกกับตัวเอง หรือบางทีแทนที่จะเกลียดชังตัวเอง ก็กลับมาเป็นมิตรกับตัวเองด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว
ส่วนความสัมพันธ์กับผู้อื่นนี่ก็อาศัยความเมตตา พอเรามีเมตตา ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็ดีขึ้น ท่านก็ใช้หลัก 2 ประการนี้แหละ ฝรั่งนี่ทีแรกอาจจะเข้าใจพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ซับซ้อน เพราะว่าเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยพิธีกรรม เต็มไปด้วยหลักธรรมที่เข้าใจยาก แต่ว่าท่านลามะเยเชทำให้พุทธศาสนากลายเป็นเรื่องง่าย สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือสาระสำคัญ คือการปฏิบัติ ส่วนเรื่องพิธีกรรม เรื่องศาสนพิธี เป็นเรื่องเปลือกนอก
การเข้าถึงพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติ ยังไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องอริยสัจ 4 ไม่มีความจำเป็นต้องรู้เรื่องพุทธประวัติ ไม่มีความจำเป็นจะต้องรู้เรื่องไตรลักษณ์ ให้มาปฏิบัติเลย แต่การรู้เรื่องไตรลักษณ์ รู้เรื่องอริยสัจ 4 ก็เป็นตัวเสริม แต่ถึงยังไม่รู้เลยก็ไม่เป็นไร ปฏิบัติก่อน แล้วถ้าปฏิบัติก็จะเข้าใจเรื่องอริยสัจ 4 เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ เพราะว่าไตรลักษณ์หรือว่าปฏิจจสมุปบาทก็คือสัจธรรมความจริง ซึ่งสามารถจะเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติ
ในขณะที่ครูบาอาจารย์หลายท่านนั้นเอาคำสอนมาเป็นจุดเริ่มต้น ก็ทำให้พวกที่ไม่คุ้นเคยพุทธศาสนารู้สึกว่าคำสอนนั้นเป็นกำแพงขวางกั้น แต่ว่าท่านลามะเยเชฉลาดบอกว่ายังไม่รู้เรื่องคำสอน ยังไม่รู้เรื่องหลักธรรมที่เป็นสัจธรรมนั้นก็ไม่เป็นไร ปฏิบัติก่อน และการปฏิบัตินั้นแหละจะพาให้เข้าใจหรือเข้าถึงสัจธรรม ถ้าปฏิบัติ ตามลมหายใจก็จะเข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เห็นเลยว่า ทุกข์นี่มันมีสมุทัยหรือสาเหตุอยู่ที่ใจของเรา และการที่จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติ แก้ทุกข์ที่ใจ
และถ้าหากว่าดูใจไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทได้เอง หรือเข้าใจได้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นกุศโลบายที่ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่เพราะว่าเข้าใจง่าย ถ้าเราทำให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ เข้าใจง่าย และถ้าทำให้การปฏิบัตินั้นไม่ยากเกินไป ก็ยิ่งทำให้คนเข้าถึงพุทธศาสนาได้มากขึ้น
อย่างการปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน จริง ๆ ก็เป็นการปฏิบัติที่ง่าย นอกจากท่านจะไม่ค่อยพูดเรื่องหลักธรรมขั้นสูงสำหรับผู้มาใหม่แล้ว บางทีท่านก็พูดแต่เรื่องง่าย ๆ เรื่องความรู้สึกตัว และการปฏิบัติก็ง่ายคือ แค่รู้สึกที่กายทำอะไร ก็ด้วยการปฏิบัติที่เริ่มต้นด้วยการมารู้กาย ท่านมักจะถามง่าย ๆ ว่า “นี่รู้สึกไหม” คือเคลื่อนไหวมือก็รู้สึก เดินก็รู้สึก รู้สึกที่ว่านี้ไม่ใช่เวทนา แต่เป็นความรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหว ภาษาฝรั่งเขาเรียก sensation มีการเคลื่อนไหวของกาย ในการยกมือ ในการเดิน ก็เป็นวิธีหรืออุบายที่ทำให้ใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว
พอใจมาอยู่กับเนื้อกับตัวเมื่อไหร่ก็รู้สึกตัว หรือว่ารู้สึกกายเคลื่อนไหว ต่อไปก็เห็นใจคิดนึก รู้ว่าคิดหรือว่าหลงโดยที่ไม่ต้องไปบังคับความคิด ไม่ต้องไปห้ามคิด การปฏิบัติสำหรับหลายคนเป็นเรื่องยากเพราะไปตั้งใจควบคุมความคิด บังคับจิตไม่ให้คิด บังคับจิตให้นิ่งไม่ให้ไปไหน แต่หลวงพ่อเทียนท่านบอกว่าไม่จำเป็น สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าพอมันไปแล้วให้กลับมา ไม่ต้องห้ามความคิด
ขอเพียงว่าคิดแล้วหรือเผลอคิดไปแล้วก็รู้ ไม่ต้องพยายามรู้สึกตัว จะหลงก็ได้แต่พอหลงแล้วก็ให้มันรู้ว่าหลง อะไรเกิดขึ้นกับใจก็ให้รู้อย่างเดียว ไม่ว่าดีหรือร้าย ไม่ว่าฟูหรือแฟบ เป็นการปฏิบัติที่ไม่เรียกร้องอะไรเลย ไม่เรียกร้องว่าจิตต้องนิ่ง ไม่เรียกร้องว่าต้องหยุดคิด อะไรเกิดขึ้นกับใจก็รู้ ดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้
ด้วยวิธีที่ว่านี้ปรากฏว่าแม้แต่เด็ก ๆ ก็ทำได้ อาจารย์ประสงค์ท่านเคยเล่าว่า ไปงานศพของโยมคนหนึ่ง เจ้าภาพไม่ว่างต้องรับแขกผู้ใหญ่ รับแขกคนที่มา ก็ให้ลูกสาวจัดหาน้ำมาถวายอาจารย์ประสงค์ อาจารย์ประสงค์ก็ชวนคุย เด็กคนนี้ 10 ขวบ ไม่ค่อยกลัวพระ คงคุ้นเคยกับพระ พูดจาฉะฉาน
อาจารย์ประสงค์บอกว่า “หนูเป็นเด็กฉลาด หนูจ๊ะหลวงพ่อจะให้รางวัลหนู” แล้วก็หยิบลูกประคำออกมาจากย่าม เด็กเห็นเด็กก็ร้อง อู้หู! ท่านประสงค์ท่านไว ท่านเห็นเด็กร้องอู้หูนี่ท่านก็เลยถามว่า “หนูร้องอู้หูนี่หนูเห็นอะไร” แทนที่บอกว่าหนูเห็นลูกประคำ เด็กตอบว่า “หนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ” เด็กไม่ได้ตอบว่าหนูดีใจ เด็กเขาตอบว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจ
อาจารย์ประสงค์ก็เลยถามต่อว่า “แล้วหนูทำอะไรกับมัน” “หนูไม่ได้ทำอะไรกับมันก็แค่ดูมันเฉย ๆ ตอนนี้ข้างในมันเบาลงแล้ว ความดีใจมันลดลงแล้ว” สิ่งที่เด็กตอบนี่มันออกมาจากการปฏิบัติ คือมาดู อะไรเกิดขึ้นกับใจก็รู้ ดีใจก็รู้ว่าดีใจ เห็นความดีใจ ก็ตรงกับที่หลวงพ่อคำเขียนว่า เห็นอย่าเข้าไปเป็น เห็นความดีใจอย่าเป็นผู้ดีใจ เห็นแล้วก็แค่รู้ซื่อ ๆ ไม่หลงเข้าไปในอารมณ์นั้น แล้วก็ไม่ผลักไส คือไม่ผลักไส ไม่ไหลตาม พอเด็กเห็นความดีใจก็ดูมันเฉย ๆ ปรากฏว่าความดีใจก็ลดลง
นี่เป็นการปฏิบัติที่ต้องเรียกว่าง่ายเพราะว่าเด็กก็ทำได้ แล้วถ้าเราเอาการปฏิบัตินี้มาทำให้มันเป็นเรื่องง่าย คนก็จะเข้าใจเรื่องความรู้สึกตัว เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน 4 ต่อไปก็เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ แล้วก็เข้าใจไปถึงเรื่องของปฏิจจสมุปบาทได้ไม่ยาก รวมทั้งเข้าใจเรื่องรูปเรื่องนาม
การปฏิบัติจริง ๆ มันก็ไม่ใช่ยาก เวลาใครมาถามว่าจะปฏิบัติอย่างไร ก็บอกเขาว่าให้อยู่กับปัจจุบัน ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ทำอะไรก็ทำด้วยใจเต็มร้อย ตัวอยู่ในห้องน้ำใจก็อยู่ห้องน้ำ ตัวอยู่บนที่นอนก็ใจก็อยู่ในห้องนอน ไม่ใช่ไปอยู่ที่อื่น
การปฏิบัติแบบนี้นี่ที่เรียกว่าสร้างสติทำความรู้สึกตัว มันก็จะช่วยทำให้การรักษาศีลเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าหากว่ามีสติ ความรู้สึกตัวแล้ว โลภะโทสะก็จะมาครอบงำได้ยาก มันก็จะบังคับให้ผิดศีลได้ยาก มันก็เป็นการเสริมการสมาทานศีลการรักษาศีล แล้วมันก็ไปส่งเสริมปัญญาด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของกายและใจ ต่อไปก็จะเข้าใจ เห็นเลยว่ามันไม่มีตัวเรา มันมีแต่รูปกับนาม กายก็ไม่ใช่เรา ใจก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราทั้งกาย ไม่ใช่ของเราทั้งใจ มันก็จะเห็นสัจธรรมความจริงจากการปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องยาก
มันอยู่ที่การปฏิบัติ อยู่ที่ความเพียรนั่นแหละ การปฏิบัติไม่ใช่ยาก แต่ยากตรงที่การลงมือปฏิบัติ และทำอย่างต่อเนื่อง
ที่จริงพุทธศาสนา สาระสำคัญก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ก็อย่างที่ท่านพอมยุมบอก อยู่ที่ไหนถ้าทำใจให้สงบบริสุทธิ์สะอาด ตรงนั้นก็เป็นวัดแล้ว การปฏิบัตินั้นก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติชอบ และนี่คือพุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรมาก ส่วนเรื่องหลักธรรมนี่ก็เป็นสิ่งที่ตามมาทีหลังจากการปฏิบัติ
ถ้าเราทำให้พุทธศาสนานี่เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะไม่ใช่ง่ายต่อการเข้าใจเท่านั้น แต่ง่ายต่อการปฏิบัติด้วย คนก็จะเห็นคุณค่าของพุทธศาสนามากขึ้น แล้วก็เอาพุทธศาสนาหรือการปฏิบัตินี่มาช่วยแก้ปัญหาชีวิตของตนได้.