พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 กรกฎาคม 2567
ใครที่รู้จักพุทธศาสนา และสมาทานพุทธศาสนา ถือตัวเป็นชาวพุทธ ก็ต้องรู้จักนำธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนี่มาปฏิบัติด้วย ไม่ใช่แค่มีพุทธศาสนาเป็นยี่ห้อที่จะไปบอกใครว่า ฉันเป็นพุทธ
เป็นพุทธแล้วก็ไม่ใช่ว่านึกถึงแต่การทำบุญ อันนั้นก็ดีอยู่หรอก แต่ว่าการปฏิบัติธรรมก็ไม่ควรมองข้าม ถ้ามองข้ามการปฏิบัติธรรมถือว่าไม่ได้ประโยชน์จากพุทธศาสนาเท่าไหร่
ถึงแม้ว่าจะฟังธรรมมาเยอะ อ่านหนังสือมามาก ก็ไม่เหมือนกับการได้นำธรรมะมาปฏิบัติ อย่างน้อยๆ ก็ธรรมะระดับศีล แม้ว่าอาจจะดูเชยในสายตาคนรุ่นใหม่เรื่องศีล แต่จริงๆ แล้วช่วยให้ชีวิตของเรามีความสุขได้มาก หรืออย่างน้อย ๆ ช่วยลดความเดือดเนื้อร้อนใจ
และแน่นอนเฉพาะศีล 5 ก็ไม่พอหรอก เพราะเป็นเพียงแค่ยับยั้งใจเราไม่ให้ทำชั่ว แต่ ต้องทำความดีด้วย ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การมีศีล 5 อย่างเดียวยังไม่เรียกว่าเป็นคนดี เพราะว่าศีล 5 เป็นเพียงแค่ยับยั้งไม่ให้เราทำชั่ว ไม่ให้เราเบียดเบียนใคร
ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำชั่วก็ดีแล้ว แต่ต้องทำความดีด้วย มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รับผิดชอบต่อส่วนรวม และจะดียิ่งขึ้นถ้าหากว่า เรารู้จักฝึกจิตด้วย คือไม่ใช่ปฏิบัติแต่ศีล แต่ว่าไปถึงสมาธิด้วย สมาธิก็หมายถึงการฝึกจิต ที่ท่านใช้คำว่าอธิจิตตสิกขา
สิกขาในที่นี้คือศึกษา แต่ว่าศึกษาไม่ใช่อ่านจากตำรา แต่คือการปฏิบัติ เพื่อให้จิตเจริญงอกงาม บางทีเราก็เรียกสั้น ๆ ว่า ทำสมาธิ แต่ว่าในการฝึกจิตนี้ไม่ได้มีแต่แค่การทำสมาธิ การเจริญสติ หรือว่าการฝึกเมตตาภาวนา เป็นต้น ก็เป็นเรื่องของสมาธิ
เวลาฝึกจิตหลายคนทำไปสักพักก็จะพูดขึ้นมาว่า ทำไมยังไม่ได้ความสงบสักที หรือบางคนที่ฝึกสติก็อาจจะพูดว่า ทำไมยังไม่ได้ความรู้สึกตัว ทำไมสติก็ยังไม่ได้ก้าวหน้าเท่าไหร อันนี้ก็ต้องถามตัวเองว่า เราเองทำมากเพียงไร
บางคนทำประเดี๋ยวประด๋าวก็ทวงแล้ว ทวงผลของการปฏิบัติ ทำไมยังไม่ได้ความสงบสักที ทำไมยังไม่ได้ความรู้สึกตัวสักที ทั้งที่ทำได้แค่ไม่กี่วัน มันเหมือนกับปลูกต้นไม้ เอาต้นไม้ลงดินแล้วก็รดน้ำ ทำไม่กี่วันก็ถามทำไมยังไม่ออกดอก ไม่ออกผลสักที
เดี๋ยวนี้คนจำนวนไม่น้อยใจร้อน บางคนทำใช้เวลาพอสมควรแต่ก็ยังบ่นหรือตัดพ้อว่านี่ไม่เห็นได้ความสงบสักที ทำไมสติความรู้สึกตัวยังไม่เห็นได้เลย แล้วก็รู้สึกว่าทำแล้วไม่ได้อะไร ที่จริงถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ความสงบ ยังไม่ได้สติ ยังไม่ได้ความรู้สึกตัว แต่ถ้าลงมือทำแล้ว มันก็ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ความสงบ ไม่ได้ความรู้สึกตัว แต่ว่าได้แน่ ๆ อยู่ที่ว่าจะมองเห็นหรือเปล่า
ที่ว่าได้นี้หมายถึงว่า ได้รู้ ได้เห็น ว่าใจของเราเป็นอย่างไร การได้แบบนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญญา ทั้ง ๆ ที่สมาธิยังไม่ได้พัฒนา แต่ว่าปัญญาก็เกิดขึ้นแล้ว ถ้าได้ลงมือปฏิบัติ
ขึ้นชื่อว่าการลงปฏิบัติแล้วไม่มีคำว่าไม่ได้ ถึงแม้ยังไม่ได้ความสงบ ยังไม่ได้สติ ยังไม่ได้ความรู้สึกตัว ยังไม่ได้เห็นรูปนาม แต่ว่ามองดูดี ๆ เราได้แล้วแหละ อย่างน้อยก็ได้เห็นได้รู้ว่า จิตเราชอบหลงเหลือเกิน บางคนไม่รู้เลยว่า ใจนี่หลงเป็นส่วนใหญ่ ไม่เคยรู้เลยแม้ว่าจะลืมตาตื่นขึ้นมาทั้งวัน 17-18 ชั่วโมง แต่ว่าที่ลืมตาตื่นมานี้มันตื่นแต่กาย แต่ว่าใจหลงเยอะ
หลายคนไม่เห็น หรือไม่รู้เลยว่า ใจชอบหลงแล้วก็ลืม ลืมในที่นี้ไม่ใช่ลืมสิ่งของ ไม่ได้ลืมรถ ลืมบ้าน หรือลืมโทรศัพท์มือถือ แต่ว่าลืมตัว แต่ถ้าลงมือปฏิบัติคือสิ่งหนึ่งที่จะได้รู้ได้เห็น คือได้เห็นความจริงของใจตัวเอง หรือทำให้ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่รู้เฉพาะในส่วนที่เป็นรูปร่างหน้าตา แต่รู้เรื่องใจ ได้รู้ว่าใจเราหลงแทบทั้งวัน แล้วก็ฟุ้งปรุงแต่งเยอะเหลือเกิน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนเลย แต่น้อยคนที่จะเลยรู้ได้เห็น หรือได้คิดว่า นี่แหละคือสิ่งที่เป็นความรู้อย่างหนึ่ง
และยังได้รู้ต่อไปว่า ใจเรานี่คุมไม่ได้เลย คาดหวังไม่ได้เลย จะให้มันนิ่ง มันก็ไม่ยอมนิ่ง จะให้รู้สึกตัว มันก็กลับหลง จะให้อยู่กับเนื้อกับตัว มันก็ส่งออกนอก ปลุกปล้ำเท่าไหร่มันก็ไม่ยอม ตรงนี้แหละที่จะได้รู้ได้เห็นแล้วว่า ใจจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ของเรา เคยคิดว่าใจคือเรา คือเรา คือเรา เป็นของเรา แต่พอปฏิบัติจะเห็นเลย
แต่บางคนก็ไม่เห็น แล้วก็บ่นว่าไม่ได้อะไร ไม่ได้อะไร เพราะไปตั้งเป้าว่าจะเอาแต่ความสงบ แล้วสิ่งอื่นที่เกิดขึ้นไม่สนใจรับรู้ทั้ง ๆ ที่มีประโยชน์มาก มันเป็นตัวเพิ่มความรู้ หรือเป็นตัวทำให้เกิดปัญญา เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราคาดหวังตั้งแต่แรก คาดหวังความสงบ คาดหวังความรู้สึกตัว แต่ที่เกิดขึ้นมันอยู่นอกเหนือความคาดหวังก็เลยมองไม่เห็น ทั้งที่มาปรากฏแก่ใจเราตลอดเวลาที่ปฏิบัติ หรือส่วนใหญ่ของการปฏิบัติ แต่ไม่เห็น เพราะจ้องแต่จะเอาความสงบ เอาความรู้สึกตัว เอาสติ นี่เป็นปัญหาของนักปฏิบัติจำนวนมากคือ ทั้ง ๆ ที่ได้ แต่ไม่รู้ว่าได้
สิ่งที่ได้ถือว่าเป็นปัญญาอย่างหนึ่งคือ ความเข้าใจ หรือได้เห็นความจริงของจิต และเราจะเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราปฎิบัติ ว่าใจนี่มันเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย เดี๋ยวก็ดีใจเดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็ฟูเดี๋ยวก็แฟบ แล้วมันจะคิดอะไรนี่ก็คุมไม่ได้ ตั้งใจว่าจะไม่คิดประเดี๋ยวก็เผลอแว่บคิดขึ้นมาแล้ว เราไม่รู้แม้กระทั่งว่าอีกหนึ่งนาทีข้างหน้าจะคิดอะไร แต่ก่อนไม่สังเกต เพราะคิดว่าใจอยู่ในอำนาจของเรา จะคิดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ก็หลายอย่างมันคิดโดยไม่รู้ตัว อันนี้เป็นความรู้อย่างหนึ่ง
แล้วต่อไปพอปฏิบัติไป ๆ จะเริ่มเห็นกิเลสของตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก่อนไม่เห็น อาจจะเป็นเพราะหลงคิดว่า ฉันเป็นคนดี ฉันเป็นคนมีน้ำใจมีเมตตา แต่ว่าพอมาสังเกตดูใจ ใจเราจู้จี้ขี้บ่น ชอบบ่นโน่นบ่นนี่ เดินไปก็บ่นไป ยกมือสร้างจังหวะไปก็บ่นไป ที่จริงก็บ่นอยู่เรื่อย ๆ แต่มองไม่เห็นเพราะว่าส่งจิตออกนอก แต่พอมาปฏิบัติแล้วเริ่มที่จะมาสังเกตดูใจก็จะเริ่มเห็น กิเลสเราเยอะเหลือเกิน จู้จี้ขี้บ่น ชอบมองลบ มองร้าย หรือว่าอิจฉาเขา นี่ก็เป็นความรู้ ซึ่งมีประโยชน์
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราดีทั้งนั้น อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้จักตัวเราเองมากขึ้น แต่คนจำนวนไม่น้อยมองไม่เห็น หรือถึงมองเห็นก็ไม่คิดว่าเป็นของดี แต่ที่จริงเป็นของดี ทำให้เรารู้จักตัวเราเองมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราได้จากการปฏิบัติ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ความสงบ ยังไม่ได้ความรู้สึกตัว
แล้วหลังจากที่หลงไปพักหนึ่งหรือหลงไปยาว เราก็จะเริ่มรู้ตัวว่าหลง รู้ว่าหลง แค่รู้ว่าหลงนี่ก็ถือว่าเป็นของดี เพราะแต่ก่อนไม่รู้เลย ถูกความหลงมันครอบ การที่จะรู้ว่าหลงได้ มันต้องมีสติชนิดที่ทำให้จิตหลุดจากความหลง หรือทำให้ความหลงหายไป พอความหลงหายไปเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาทันทีก็จะเห็นเลยว่า เมื่อกี้เราหลง ตอนที่รู้ว่าหลงก็รู้ว่าหลงนี่ก็เป็นของดี เพราะว่ามันทำให้เราได้รู้ว่า นอกจากหลงแล้วยังมีความรู้สึกตัว
มันเกิดการเปรียบเทียบ เห็นความแตกต่างระหว่างรู้กับหลง แล้วพอเรารู้บ่อย ๆ รู้บ่อย ๆ ก็จะทำให้รู้ได้เร็วขึ้น รู้ได้ไวขึ้น หรือพอหลง ก็จะเริ่มรู้สึกผิดปกติ ผิดสังเกต แต่ก่อนนี้ไม่รู้ว่าตัวรู้เป็นยังไง มันก็เลยหลงตะพึดตะพือ เหมือนคนที่เห็นแต่สีดำ ไม่เห็นสีขาวเลย แต่พอรู้จักสีขาวแล้ว ก็รู้จักสีดำชัดขึ้น เวลามีสีดำเกิดขึ้นเราก็รู้แล้วว่านี่ดำ เพราะมีสีขาวมาเปรียบเทียบ จะรู้ว่าหลงก็เพราะได้สัมผัสกับตัวรู้ รู้บ่อย ๆ รู้บ่อย ๆ มันจะรู้ทันมากขึ้นเวลาหลง
ความคิดฟุ้งซ่านก็เหมือนกัน แม้จะเกิดขึ้นเยอะก็ถือว่าดี เพราะมันเป็นตัวฝึกให้เรารู้ทัน เราในที่นี้หมายถึงสติ อย่าไปบังคับจิตให้หยุดคิด เพราะการที่มันมีความคิดฟุ้งนี่ ก็ทำให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้า เพราะว่าอย่างที่หลวงพ่อเทียนบอก ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้อย่าไปห้ามคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ คือรู้ทันความคิด
การรู้ทันความคิดนี่สำคัญ เพราะถ้าเรารู้ทันความคิดได้ เราก็จะสงบจากความคิดได้ เพราะพอความคิดมันถูกรู้ทันมันก็จะจางคลายไป ตามมาด้วยความสงบ เป็นความสงบเพราะรู้ทันความคิด ไม่ใช่สงบเพราะไม่มีความคิด แต่สงบเพราะรู้ทันความคิด แล้วจะรู้ทันความคิดได้ยังไงถ้าไม่มีความคิดโผล่มาเรื่อย ๆ ให้สติได้ฝึกรู้ทันบ่อย ๆ
ฉะนั้น เวลามีความโกรธ ความหงุดหงิด มันก็ดี เป็นของดี เพราะทำให้มีสติรู้ทันความหงุดหงิด รู้ทันความโกรธ มันทำให้เห็นความโกรธได้เร็วขึ้น เห็นความโกรธได้ไวขึ้น แต่ก่อนไม่เห็นเลย ที่ไม่เห็นอาจเป็นเพราะโดนความโกรธครอบเอาไว้ หรือความโกรธไม่ค่อยโผล่ออกมา
บางคนเหมือนกับว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทุกอย่างมันถูกใจ ไม่มีอะไรที่ขัดใจ เพราะฉะนั้นความโกรธก็เลยไม่โผล่มา ความหงุดหงิดไม่โผล่มา ก็ไปหลงคิดว่า ฉันไม่โกรธ ๆ แต่พอความโกรธเกิดขึ้นก็ได้เห็น เรายังมีความโกรธ แต่ไม่ใช่แค่รู้ว่ามีความโกรธ แต่ว่าความโกรธนั้นแหละที่จะเป็นอุปกรณ์สอนจิต สอนสติให้รู้ทัน
บางครั้งสำหรับคนที่หลงเข้าใจว่าตัวเองไม่มีกิเลส หรือกิเลสเบาบางก็เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ที่จะกระตุ้น หรือแหย่ให้กิเลสออกมา เจ้าตัวจะได้รู้ว่า โอ ฉันยังมีกิเลสอยู่ ไม่ตายใจ หรือไม่หลงผิด หน้าที่ของครูบาอาจารย์ส่วนหนึ่งก็คืออันนี้ด้วย ไม่ใช่แค่น้อมนำใจเราให้พบกับสิ่งดี ๆ ที่เป็นกุศล บางทีก็ต้องแหย่ให้อารมณ์ที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น จะได้รู้ว่าตัวเองมีการบ้านที่จะต้องทำ ไม่ประมาท ไม่หลงผิด
มีคราวหนึ่งหลวงปู่ตื้อท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เมื่อหลายสิบปีก่อนท่านไปแสดงธรรมที่วัดอโศการาม ท่านพูดถึงอริยสัจ 4 พูดถึงเรื่องการออกจากทุกข์ด้วยการไม่ยึดติดถือมั่น ไม่ยึดติดถือมั่นในขันธ์ 5 ท่านแสดงธรรมอย่างหมดจด พอแสดงธรรมเสร็จ คนก็สาธุ จู่ ๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินแหวกผู้ฟังจนกระทั่งมาอยู่ต่อหน้าธรรมาสน์ของหลวงปู่ตื้อ แล้วก็บอก “หลวงปู่คะ ดิฉันฟังธรรมแล้วรู้สึกเบากายเบาใจเหลือเกิน ตอนนี้ดิฉันปล่อยวางหมดแล้ว” หลวงปู่ท่านก็อนุโมทนา
แต่ผู้หญิงคนนี้ก็ยังไม่หยุด ยังพูดอีกว่า “จริงๆ คะหลวงปู่ ดิฉันปล่อยวางหมดแล้ว ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น” คราวนี้หลวงปู่ท่านก็พูดขึ้นมาเลย “อีตอแหล” โห โยมคนนั้นโมโหมากถึงกับพูดเลยว่า “หลวงปู่ทำไมพูดอย่างนี้กับดิฉัน” แล้วก็เดินกลับไปเลยด้วยความโกรธกระฟัดกระเฟียด
มันก็แสดงให้เห็นชัดว่า เจ้าตัวยังไม่ได้ปล่อยวางจริง ยังมีความรู้สึกยึดมั่นในหน้าตา พอถูกหลวงปู่ว่าอีตอแหลนี่ก็โกรธทันทีเลย ความโกรธที่หลวงปู่ตั้งใจพูดกระตุกขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อให้เจ้าตัวได้เห็นว่า ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีความยึดติดถือมั่นในหน้าตาจะได้ไม่หลงผิด เพราะว่าอุบายของกิเลสที่สำคัญก็คือ การที่มันหลอกเราว่า ไม่มีมันอยู่ในใจแล้ว
อุบายสำคัญของกิเลสก็คือหลอกเราว่า จิตใจเราไม่มีกิเลส ซึ่งก็ทำให้ประมาท หน้าที่ของครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่ตื้อก็คือกระตุ้นให้กิเลสโผล่ขึ้นมา กิเลสนี่ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี มันก็มีข้อดีคือ ทำให้เจ้าตัวได้เห็นว่ายังมีการบ้านที่ต้องฝึก ทุกสิ่งทุกอย่างมีประโยชน์ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะมองเห็นหรือเปล่า หรืออยู่ที่จะใช้เป็นหรือเปล่า
อย่างที่พูดอยู่เสมอ อะไรเกิดขึ้นกับเราไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร เราปฏิบัติกับมันอย่างไร ความคิดฟุ้งซ่าน ความหลงก็ดี ถ้าเราเห็น มันทำให้เรารู้จักตัวเองได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันถ้าเรารู้จักใช้มันเป็นเครื่องฝึกสติ ประโยชน์ก็เกิดขึ้นกับเรา ไม่ใช่ว่ามันจะไม่ดีไปเสียหมด เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องรู้จักหาประโยชน์จากมัน
ความหลงก็ดี ความฟุ้งก็ดี มีประโยชน์ เอามาฝึกสติให้รู้ทันความหลง รู้ทันความฟุ้ง นี่ก็คือประโยชน์อย่างหนึ่ง หรือต่อไปก็จะเห็น ว่ามันไม่เที่ยง มาแล้วก็ไป มีขึ้นก็มีลง มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จะรู้หรือจะเข้าใจว่า เห็น ไม่เข้าไปเป็น ก็ต่อเมื่อเจอสิ่งเหล่านี้ เจอความโกรธแล้วเห็นมัน เห็นว่าความโกรธมี แต่ผู้โกรธไม่มี มันทำได้
ความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็เห็นมัน แล้วก็จะเข้าใจว่า ความหงุดหงิดมีแต่ผู้หงุดหงิดไม่มี ทำได้ เป็นไปได้ แล้วที่จริงก็เป็นความจริงและเป็นสัจจธรรม แต่เป็นเพราะความหลงไปยึดว่า มันเป็นเรา เป็นของเรา ก็เลยมีผู้โกรธ มีผู้หงุดหงิด มีความปวดก็ไปยึดว่าความปวดเป็นเรา เป็นของเรา ก็เลยมีผู้ปวด ที่จริงมันเป็นความปรุงแต่ง
เราจะรู้ตรงนี้ได้ก็เพราะอารมณ์พวกนี้โผล่ขึ้นมาบ่อย ๆ เช่นเดียวกันกิเลส ตัวโทสะหรือว่าตัวอัตตานี่ถ้าปล่อยให้มันกบดาน มันก็สามารถชักใยจิตใจเรา สามารถครองจิตครองใจเราได้อย่างไม่รู้ตัว อย่างโยมผู้หญิงคนนั้น ถ้าหากว่าหลวงปู่ตื้อไม่หยอดคำว่าตอแหลไป แกคงเกิดความหลงตัวลืมไปว่า ฉันนี่บรรลุธรรมแล้ว ซึ่งก็เท่ากับว่าจะโดนกิเลสหลอก ชักใยหรือครองจิตครองใจไปอีกนาน
หน้าที่ของท่านคือ ปลุกกระตุ้นให้โทสะเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องชี้ว่า ยังมีความยึดติดในตัวตนอยู่ ไม่ได้ปล่อยวางจริง แม้กระทั่งถ้อยคำยังปล่อยวางไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับความยึดมั่นในตัวตนมันคงจะปล่อยวางได้ยังไง หรือว่าอัตวานุปาทาน การที่กิเลสโผล่ขึ้นมาก็เป็นของดีทำให้เจ้าตัวรู้ว่าจะต้องฝึกต่อไป ไม่ใช่ว่าบรรลุธรรมแล้ว
ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา มันก็ดีทั้งนั้นถ้าเรารู้จักใช้ เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติถ้าเรารู้จักมองได้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าบวกหรือลบ แม้ว่ายังไม่ทันได้ความสงบ ยังไม่ทันได้สติ ไม่ทันได้ความรู้สึกตัว แต่ก็ได้เรียนรู้ได้เห็นอะไรหลายอย่างจากใจของเรา ซึ่งอันนี้เป็นตัวเพิ่มปัญญาให้เจริญงอกงามมากขึ้น
และถ้ามองให้เป็น มันได้ทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าปฏิบัติแล้ว ได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะมองเป็นหรือเปล่า หรือว่าอยู่ที่จะหาประโยชน์จากมันได้หรือเปล่า.