พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 4 กรกฎาคม 2567
คนที่เป็นพ่อแม่ย่อมปรารถนาที่จะให้ลูกมีความสุข มีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย ยิ่งถ้าเป็นลูกที่รักดีขยันเรียนหนังสือ ไม่เกเร ไม่ติดยา หรือว่าไม่ติดการพนัน ก็น่าจะมีความสุข แล้วน่าจะเรียกว่ามีโชค แต่ก็มีบางครอบครัว ทั้ง ๆ ที่ลูกมีอย่างที่ว่านี้ครบแต่ไม่มีความสุข เพราะว่าอยากให้ลูกเรียนหรือมีวิถีชีวิตอย่างที่ลูกไม่ได้ต้องการ
ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ว่าหลายครอบครัวความคิดที่แตกต่างกันระหว่างพ่อหรือแม่ กับลูก ก็ทำให้กลายเป็นความทุกข์ที่สร้างความกลัดกลุ้มให้กับผู้เป็นพ่อแม่ แล้วอาจจะรวมถึงลูกด้วย
มีครอบครัวหนึ่ง ลูกสาวอายุ 17 เรียนดี ขยันเรียน ไม่เกเร ความประพฤติก็เรียบร้อย ไม่ติดยา ไม่เป็นโรคซึมเศร้า ครั้นจะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ลูกอยากเรียนสถาปัตย์ แต่แม่อยากให้ลูกเรียนหมอ ลูกยืนยันจะเรียนสถาปัตย์ แม่ก็เลยบอกว่า “งั้นไม่ส่งเสียให้ ไปหาเงินเรียนเอง”
ลูกก็เลยไม่คุยกับแม่ อยู่บ้านเดียวกันแต่ไม่คุยกันเป็นเดือน แม่เครียดมาก ไปปรึกษาเพื่อนหรือไปขอความช่วยเหลือของเพื่อนว่า ให้ช่วยคุยกับลูกหน่อย
อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัว ที่จริงการที่ลูกรู้ว่าเขาชอบอะไร อยากเรียนอะไรมันเป็นเรื่องดี เพราะเด็กสมัยนี้จำนวนมากไม่รู้เลยว่าอยากจะเรียนอะไร อยากจะมีอาชีพอะไรในภายภาคหน้า
การที่ลูกอยากเป็นสถาปัตย์ ถือว่าเป็นเรื่องดี และการเป็นสถาปนิกมันก็ไม่ใช่ขี้เหร่อะไร แต่คนที่เป็นแม่นี่ทุกข์ใจมาก โดยเฉพาะเหตุผลว่าถ้าลูกเรียนหมอ ต่อไปพ่อแม่ก็จะสบาย เพราะว่าครอบครัวตอนนี้ฐานะการเงินก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ถ้าลูกเป็นหมอก็คงช่วยทำให้พ่อแม่สบายขึ้น พอลูกไม่สนใจคำแนะนำหรือความเห็นของแม่ แม่ก็เลยยื่นคำขาดจะไม่ส่งเสียให้ลูกเรียนสถาปัตย์ ให้ลูกหาเงินเรียนเอง
พอลูกไม่พูดไม่คุยเป็นเดือน แม่ก็เลยทุกข์ อยากจะหาเพื่อนมาช่วยคุยกับลูก ที่จริงเรื่องนี้มันก็ไม่ยาก ถ้าแม่อยากจะคุยกับลูกจริง ๆ ก็เป็นฝ่ายเริ่มต้น ถ้าแม่เป็นฝ่ายเริ่มต้นคุย เข้าหาลูก ลูกก็คงจะคุยด้วย แต่ฟังดูแม่ก็คงมีทิฏฐิว่าฉันเป็นแม่ ฉันจะไปเริ่มต้นคุยกับลูกได้ยังไง ลูกเป็นฝ่ายไม่คุยกับฉันก่อน
แล้วที่จริงเวลาบอกว่าอยากให้เพื่อนมาช่วยคุยกับลูกนี่ คงไม่ใช่ช่วยคุยอะไรก็ได้ ช่วยคุยให้ลูกเปลี่ยนใจมาเรียนหมอแทน ก็คือแม่ก็ยังไม่ยอมที่จะให้ลูกเรียนสถาปัตย์ ยังอยากจะให้ลูกเรียนหมอ ถามว่าทำไมถึงอยากให้เรียนหมอ เพราะความเข้าใจของแม่ อาชีพหมอทำรายได้ดีกว่าสถาปนิก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า เพราะว่าหมอทุกวันนี้ในโรงพยาบาลของรัฐก็ไม่ได้มีฐานะหรือมีเงินเดือนดีเท่าไหร่
ถ้าแม่คิดว่าอยากจะให้ลูกสบาย การเป็นหมอก็ไม่ใช่ว่าจะสบายเท่าไหร่ แต่ว่ามันเห็นได้ชัดว่าคนที่เป็นแม่นี้ยึดติดกับค่านิยมว่าเป็นหมอนี่มันสูงกว่าเป็นสถาปนิก แล้วก็รวมไปถึงการมีรายได้ที่ดีกว่า ก็แสดงว่ายังติดในค่านิยมที่สังคมเขาหลงใหลกัน จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้
ที่จริงการที่ลูกจะเรียนอะไร สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ความชอบ อันนี้สำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าลูกชอบเรียนสถาปัตย์ ลูกก็ย่อมมีความสุขกับการเรียนวิชานี้ แล้วคนเราจะเรียนอะไรก็ควรจะเรียนด้วยความชอบ คือมีฉันทะ
คนเราถ้ามีฉันทะในการเรียน ในการทำอะไร มันก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ อย่างน้อย ๆ ก็มีความสุขที่ได้เรียน แล้วก็ได้เป็นสถาปนิก คนเป็นแม่เขานึกถึงความสบาย แล้วเข้าใจไปว่าเป็นหมอแล้วจะสบาย ซึ่งมันเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
เพื่อนอาตมาหลายคนที่เป็นหมอ เขาไม่อยากจะให้ลูกเป็นหมอเลย เพราะเขารู้ว่ามันลำบากโดยเฉพาะหมอสมัยนี้ แต่ว่าพ่อแม่จำนวนไม่น้อยยังไปเข้าใจว่าเป็นหมอแล้วจะสบาย เงินเดือนดี ฐานะดี คิดแค่นี้ แต่ไม่ได้คิดว่าคนเป็นลูกเขาอยากเรียนไหม เขาชอบเรียนไหม เขาเรียนได้ก็จริง เพราะเขามีหัวทางด้านการเรียน มีสติปัญญา
แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับ การมีฉันทะในการเรียน หรือ ในการทำอะไรก็ตาม เรากลับมองว่า รางวัลที่ได้ หรือ ผลลัพธ์ที่ได้ จะเป็นยังไง เช่น เงินเดือนสูง รายได้ดี มีสถานภาพทางสังคม อาจจะเป็นเพราะว่าปรารถนาดีกับลูก แต่มันเป็นการเอาความปรารถนาดีของตัวเองนี้ไปยัดใส่ตัวลูก มันก็เลยเกิดความเครียดขึ้นมาระหว่างแม่กับลูก
ที่จริงนอกจากแม่จะไปให้ค่ากับความร่ำรวย การมีรายได้ดี การมีสถานภาพทางสังคม โดยคิดว่าหมอจะทำให้มีสิ่งเหล่านี้ได้ สิ่งที่เป็นปัญหาพื้นฐานก็คือ ความยึดติดถือมั่นในตัวแม่
ความยึดติดถือมั่นของแม่ว่า “นี่เป็นลูกของฉัน” ความยึดว่านี่คือลูกของฉัน ก็เลยคิดว่าสามารถจะสั่งได้ หรือว่าสามารถบังคับให้ลูกทำอะไรอย่างที่แม่ต้องการก็ได้ หรือว่ามีความคาดหวังว่าลูกจะต้องทำตามความต้องการของพ่อแม่ เพราะเป็นลูกของฉัน
อันนี้เป็นความเข้าใจผิดพื้นฐานเลยทั้งในทางโลก และทางธรรม ในทางธรรมก็คือว่ามันไม่มีอะไรที่เราจะยึดมั่นว่าเป็นของเราได้เลย แม้แต่ตัวเราเองก็ยึดมั่นไม่ได้ว่าเป็นของเรา อันนี้เรียกว่าเป็นความหลงผิดในทางธรรม
ส่วนความหลงผิดในทางโลก ก็คือว่าลูกแม้เขาจะเกิดมาจากเรา แต่เขาก็มีชีวิตของเขาเอง เราไม่สามารถบังคับให้เขาเป็นดังใจได้ แล้วที่จริงก็ควรจะให้เขามีชีวิตของเขาเอง เพราะว่าสุดท้ายเขาก็ต้องใช้ชีวิตของเขาตามที่เขาเลือก
คนที่เป็นพ่อแม่ก็ไม่สามารถจะอยู่กับลูกไปได้นาน ในเมื่อลูกเขาจะต้องมีชีวิตของเขา ก็ต้องให้เขาเลือกว่าเขาจะเลือกเรียนอะไร จะเลือกมีอาชีพอะไร
เพราะสุดท้ายนั่นคือชีวิตที่เขาต้องเดินเอง มันเป็นเส้นทางชีวิตที่เขาจะต้องเดินไปทั้งชีวิต ก็ควรจะเป็นเส้นทางที่เขาเลือกเอง ไม่ใช่พ่อแม่ไปบงการ พ่อแม่ทำได้อย่างมากคือ เดินเคียงข้างลูก ทำได้แค่นั้นแหละ แต่คนเดินจริง ๆ ก็คือลูก พ่อแม่คงจะไม่สามารถจะอุ้มลูกเดินไปตลอดเส้นทางได้ อาจจะอุ้มได้ชั่วคราว ถ้าอุ้มเขาไปตลอด เขาจะเดินเองได้อย่างไร
ถ้าพ่อแม่เลือกเส้นทางของพ่อแม่ที่เห็นว่าดี หากเขาไม่ชอบแต่จำเป็นต้องเดิน มันก็จะเป็นความทุกข์ที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ เป็นอย่างนี้กันเยอะพ่อแม่ที่ยึดมั่นว่าลูกเป็นของฉัน ก็เลยไปเข้าใจว่าจะสามารถเรียกร้องให้ลูกทำอย่างที่ตัวเองต้องการก็ได้
แล้วก็ไม่ใช่แค่ความยึดมั่นว่าลูกเป็นของฉัน มันยังเป็นความยึดมั่นในความคาดหวัง คือคาดหวังอยากจะให้ลูกเรียนแพทย์จะได้มีอนาคตที่มั่นคง มีเงิน มีรายได้ดี เป็นความคาดหวังที่เจ้าตัวนี้ยึดมั่น พอลูกไม่ได้เป็นไปอย่างที่ตัวเองคาดหวัง ก็เลยไม่พอใจ ถึงกับบอกว่าถ้าอยากเรียนสถาปัตย์ ก็ไปหาเงินเรียนเอง
อันนี้คงเป็นคำพูดที่ออกมาจากอารมณ์ความไม่พอใจ เพราะว่าลูกไม่เชื่อฟัง จะว่าไปมันก็เป็นกิเลสหรืออุปาทานของพ่อแม่ คือลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ และนี่คือความทุกข์ของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ในยุคนี้
คนเราเป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ของคนเป็นพ่อเป็นแม่คือ การที่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เพราะไปคิดว่าลูกเป็นของฉัน จะต้องเชื่อฟังฉัน ถ้าไม่เชื่อฟังก็โกรธ แล้วก็ยื่นคำขาด ลูกก็ใจเด็ด ไม่พูดไม่คุยกับแม่เลย จริงอยู่จะว่าไปแล้วนี่ความทุกข์ของแม่ ไม่ได้เกิดจากตัวลูก มันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นว่าลูกเป็นของฉัน ลูกต้องเชื่อฟังฉัน ลูกจะต้องเรียนในสิ่งที่ฉันเลือก
อันนี้คือกิเลสของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ซึ่งถ้าหากว่าไม่มีอุปาทาน หรือกิเลสตัวนี้ ไม่ทุกข์หรอก ลูกเขาจะเลือกเรียนอะไร พ่อแม่ก็ไม่ทุกข์ ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่า ลูกเป็นของฉัน ต้องเชื่อฟังฉัน หรือไม่ยึดมั่นในความคาดหวังว่าลูกจะต้องเรียนในวิชาที่พ่อแม่เห็นดี
เป็นธรรมดาของพ่อแม่ก็ต้องมีความคาดหวัง คนเราก็ต้องมีความคาดหวัง แต่ถ้ายึดมั่นในความคาดหวังเมื่อไหร่มันก็ทุกข์ มันทุกข์ได้ง่ายมาก เพราะมันทำให้เราไม่สามารถจะยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้
ความจริงหรือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เลวร้ายหรือดีในตัวมันเอง แต่ถ้าความเป็นจริงอันใดเกิดขึ้น แล้วเรามีความทุกข์ขึ้นมา ก็เพราะเราไปยึดมั่นในความคาดหวัง คาดหวังในสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
อย่างเวลาเราเดินทางแล้วรถติด จิตเราตก หงุดหงิดขึ้นมา หลายคนมักจะโทษว่าเป็นเพราะรถติด แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะความคาดหวังต่างหาก คาดหวังว่าจะถึงที่หมายเร็ว พอคาดหวังแล้วรถติด ก็หมายความว่าจะถึงที่หมายช้ากว่าที่คาดหวัง ก็เลยทุกข์
คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้นึกว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้น ความหงุดหงิด จิตตก แท้จริงมันไม่ใช่เป็นเพราะรถติด แต่เป็นเพราะความคาดหวัง แล้วบังเอิญความคาดหวังนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือ ความเป็นจริงไม่สามารถจะทำให้ความคาดหวังเป็นดั่งใจได้
มีบางคนมาปรึกษาว่า ทำยังไงเวลาเจอคน toxic ความหมายคน toxic คือคนที่ไม่น่ารัก มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ เจอคน toxic ในที่ทำงานยังพอว่า แต่เจอคน toxic ในบ้านนี้ ทำยังไงดี หนีไม่พ้น
ต้องกลับมาถามว่า จริง ๆ แล้วเขา toxic จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพราะเรามองเห็นแต่ด้านลบของเขา เราไม่ได้เห็นด้านดีของเขาเลย พอเราเห็นด้านลบของเขา เราก็เห็นว่าเขาเป็นคน toxic ไม่น่าคบ ไม่น่าอยู่ใกล้ แต่ถึงแม้ toxic จริง ๆ เขาก็ทำให้เราทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไม่คาดหวัง
เราคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นคนน่ารัก ไม่ใช่คนจู้จี้ขี้บ่น ไม่ใช่คนเอารัดเอาเปรียบ พอเราคาดหวังเขาว่าเขาจะต้องทำดีกับเรา พูดดีกับเรา พอเขาไม่พูดดีกับเรา เราก็เลยทุกข์ แต่ลองวางความคาดหวังลง แล้วก็ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น มันก็จะทุกข์น้อย
อย่างเช่น พ่อแม่จะจู้จี้ขี้บ่น เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะหยุดจู้จี้ เขาจะจู้จี้ขี้บ่น เรายอมรับได้เราก็ไม่ทุกข์ เขาจะชอบเล่นการพนัน เรายอมรับเขาได้เราก็ไม่ทุกข์
แต่ผู้คนไม่ค่อยตระหนักว่าความทุกข์ใจของตัว แท้จริงไม่ได้เกิดจากคนอื่น มันเกิดจากความคาดหวังของเราเอง อย่างที่เราสวดทุกเช้า “มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์” การที่เราไม่ได้อะไรนี้ มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ถ้าหากว่าสิ่งที่เราไม่ได้นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนา
การที่เราแค่ไม่ได้อะไรนี้ มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ จนกว่าเราจะปรารถนาสิ่งนั้น ถ้าเราไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้เป็น สส. ไม่ได้เป็น สว. เราทุกข์หรือเปล่า เราไม่ทุกข์เพราะเราไม่อยาก ต้องมีความอยากก่อน แล้วไม่ได้จึงจะทุกข์
พูดอีกอย่างก็คือว่า ความอยากคือเหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่เพราะไม่ได้ เราไม่ได้อะไรตั้งหลายอย่าง ทำไมเราไม่ทุกข์ ก็เราไม่ได้อยากได้สิ่งเหล่านั้น เมื่อไม่ได้ เราก็ไม่ทุกข์ รางวัลที่ 1 เราก็ไม่ได้อยากได้ เพราะฉะนั้นถึงไม่ได้รางวัลที่ 1 หรือว่าเลขท้าย 2 ตัว เราก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้มีความคาดหวัง ไม่ได้มีความอยาก
ในทางตรงกันข้าม ได้อะไรแล้ว แต่ถ้าเราไม่อยากหรือไม่คาดหวัง บางทีอาจจะทุกข์ เช่น กินข้าวอิ่มแล้ว แต่ก็ยังมีคนเอาของมาให้กิน ทั้งที่อร่อยแต่เราไม่อยากแล้วเพราะเราอิ่ม หรือไม่มีการเจริญอาหาร การกินเข้าไปมันทำให้พะอืดพะอม ทั้งที่เป็นของอร่อย ของดี แต่เราไม่อยาก
ลองมาคิดดูดี ๆ การที่เราเจออะไร จริง ๆ สิ่งที่เราเจอไม่ได้ทำให้เราทุกข์หรอก แต่ถ้าหากว่าเราจะทุกข์ก็เพราะเราไปคาดหวังในสิ่งที่มันไม่เป็นจริง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ตรงกับความคาดหวัง
อย่างเรื่องที่เคยเล่าอยู่บ่อย ๆ ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็ง ไปทำการรักษามะเร็งด้วยการฉายแสง ฉีดคีโม ทั้ง ๆ ที่แพ้ยังไงก็อดทน เพราะหวังว่ามันจะหาย พอฉายแสงฉีดคีโมครบคอร์ส มะเร็งก็หดไป กลับบ้านได้ แต่ผลข้างเคียงคือ ตัวผอม ผิวคล้ำ ไปไหนนี่คนก็มองเหล่คิดว่าเป็นคนติดยา มองด้วยสายตาที่ดูถูก ไม่ว่าเขาจะไปเที่ยวห้าง ไม่ว่าจะไปไหน
แต่ว่าฟางเส้นสุดท้ายคือ ตอนเขาเข้าห้างเซเว่นแล้วเจอเด็ก 10 ขวบ เห็นสารรูปของเขา เด็กร้องไห้เลย แสดงว่าน่าเกลียดมาก แม่ของเด็กนี้มาเห็นลูกร้องไห้ ก็มองหน้าเขาเหมือนกับว่าเขาเป็นแกล้งลูก เขาเล่าว่ากลับไปบ้าน วันนั้นร้องไห้เลยว่า อุตส่าห์สู้กับมะเร็งจนชนะ กลับจะต้องมาเจอแบบนี้ รู้งี้ตายดีกว่า
แต่สักพักคิดขึ้นมาได้ว่าเราเปลี่ยนความคิดของคนอื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนความคิดของเราได้ แทนที่เราจะไปคาดหวังการยอมรับจากใครต่อใคร เราก็พยายามเข้าใจเขาแทน
ปรากฏว่านับแต่นั้นมา เขาไม่ทุกข์เลย ใครจะมองจะเหล่ด้วยสายตาที่ดูถูกยังไง เขาก็ไม่ทุกข์เลย เพราะอะไร เพราะไม่คาดหวังแล้ว รู้เลยว่าที่ทุกข์เพราะไปคาดหวังการยอมรับจากคนอื่น
ความคาดหวังนี้ มันเป็นเหตุแห่งทุกข์อันหนึ่งเลยที่เราต้องระมัดระวัง ความทุกข์ของพ่อแม่จำนวนไม่น้อย เพราะคาดหวัง และยึดมั่นในความคาดหวังว่า ลูกต้องเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ พอลูกไม่เรียนอย่างที่ตัวเองคาดหวังก็ทุกข์ แล้วก็ไปโทษลูก
บางคนเรียนนิติ เรียนจบแล้วแทนที่จะเป็นทนายความ บอกพ่อแม่ว่าขอไปเป็นช่างภาพอิสระ ทีแรกพ่อแม่ก็ทุกข์ แต่ตอนหลังทำใจได้ว่า นี่มันเป็นสิ่งที่ลูกเลือก มันอาจจะไม่สบายเหมือนทนายความ แต่ว่าเขามีความสุข พ่อแม่จะนึกถึงความสบายของลูก แต่ว่าลืมไปว่า ความสบายกับความสุข มันคนละอันกัน
ชีวิตที่สบาย ไม่ได้แปลว่าเป็นชีวิตที่มีความสุข ที่จริงพ่อแม่ก็สามารถที่จะมองได้ว่าชีวิตของตัวเองมันสบายจริงแล้วมีความสุขหรือเปล่า บางทีอาจจะมีความสุขน้อยกว่าชาวนาชาวไร่เสียอีก ทั้งที่ชาวนาชาวไร่เขาลำบากกว่า
อย่างกรณีนี้ แม่อยากจะให้เพื่อนไปคุยกับลูก ที่จริงถ้าหากว่าคนเป็นแม่ลองนึกสักหน่อยว่าเราก็เคยเป็นวัยรุ่น จะรู้ว่าวัยรุ่นทำไมเขาจึงมีปฏิกิริยากับแม่
เวลาแม่บอกว่าไปหาเงินเรียนหนังสือเองก็แล้วกัน แม่ไม่ส่งให้ ลูกก็เลยไม่พูดคุย ถ้าคนที่เป็นแม่เข้าใจเพราะว่าเคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน ก็จะเป็นฝ่ายที่ลดทิฏฐิมานะ เข้าหาลูก ไปคุยกับลูกดี ๆ ฟังลูก ไม่ใช่มีทิฏฐิ ไม่ยอมไปคุยกับลูก แล้วก็ไปหาเพื่อนให้มาคุยหว่านล้อมลูก
ส่วนลูกก็มีทิฏฐิ แต่ว่าเขาเป็นวัยรุ่น เขายังเด็ก ยังไม่มีวุฒิภาวะ จะไปคาดหวังอะไรกับเขา เขายังไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ แต่แม่เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน ย่อมรู้ว่าวัยรุ่นเขาคิดยังไง ถ้าลองคิดแบบนี้เสียบ้าง ก็จะลดทิฏฐิมานะ ก็ไปคุยกับลูก เลิกยึดมั่นถือมั่นว่านี่ลูกของฉัน จะต้องเชื่อฟังฉัน
วางความยึดติดถือมั่นอย่างนี้ หรือว่าอย่างน้อยก็วางความยึดติดถือมั่นในความคาดหวังของตัว อย่าไปยึดในความคาดหวัง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่า ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ เพราะถ้ายึดในความคาดหวัง แล้วความจริงไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังก็ทุกข์ แต่พอลดความคาดหวังลง ยอมรับความจริงได้ ใจก็ไม่ทุกข์.