พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 24 มิถุนายน 2567
หลายๆ คนในที่นี้คงรู้จัก หรือเคยได้อ่านหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อย ใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ย่อมรู้ว่า ผู้แต่งคือ อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ( Antoine de Saint-Exupéry) ชาวฝรั่งเศส ซูว์เปรีเคยเขียนข้อความ 2-3 ประโยคที่น่าสนใจว่า
“ความสมบูรณ์แบบเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ด้วยการเพิ่ม จนไม่อาจจะเพิ่มอะไรได้อีก แต่เกิดขึ้นเมื่อเราได้ลด จนไม่อาจจะลดทอนหรือพรากสิ่งใดไปได้อีก”
คนมักจะคิดว่าชีวิตที่สมบูรณ์แบบนั้นคือ ชีวิตที่มีนั่นมีนี่จนถึงจุดหนึ่งที่คิดว่า ถ้ามีเกินกว่านี้ มันจะกลายเป็นความฟุ่มเฟือย นี่คือความเข้าใจคนส่วนใหญ่ ชีวิตที่สมบูรณ์แบบคือชีวิตที่มีเงิน มีทอง มีรถ มีบ้าน แต่ว่าถ้าเลยจุดหนึ่งไป มันก็ไม่ใช่แล้ว เพราะมันกลายเป็นความฟุ่มเฟือย อันนี้คือความเข้าใจของผู้คนส่วนใหญ่
แต่ว่าซูว์เปรีเขาให้ข้อคิดที่ดีซึ่งสอดคล้องกับพุทธศาสนา ชีวิตที่สมบูรณ์แบบคือ “ชีวิตที่ลดทอน หรือสละสิ่งต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ไม่อาจจะลดได้อีก” อย่างเช่น ชาวพุทธเราถือว่าพระอรหันต์เป็นบุคคลสมบูรณ์แบบ เป็นบุคคลอุดมคติ
นอกจากพระอรหันต์แล้วก็คือ พระพุทธเจ้า ชีวิตของพระองค์คือ ชีวิตที่ไม่มีอะไรนอกจากบริขาร 8 อยู่ได้ด้วยปัจจัย 4 อันนี้เราเรียกว่าเป็นชีวิตอุดมคติ หรือชีวิตสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็เป็นไปตามพระวินัย
พระพุทธเจ้า พระองค์สละทั้งราชสมบัติ ทรัพย์สินบริวาร ปราสาท 3 ฤดู ความสะดวกสบาย แม้กระทั่งครอบครัว และไม่ใช่แค่สละสิ่งภายนอกเท่านั้น สิ่งภายในก็สละด้วย เช่น ความโลภ ความหลง กิเลส อวิชชา ความยึดติดถือมั่น จนไม่เหลือแม้กระทั่งความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู แล้วก็ทรงอยู่ได้ด้วยสิ่งจำเป็นเพียงเล็กน้อยที่ว่าคือ อัฐบริขาร หรือบริขาร 8 พระอรหันต์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน นี้ถือว่าเป็นตัวอย่างของชีวิตสมบูรณ์แบบ
ยิ่งลดยิ่งละมากเท่าไร ก็เข้าถึงชีวิตที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ว่าการลดการละ ก็ไม่ใช่ลดจนหมด ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่เหลือเอาไว้ เช่น จีวร ผ้าไตร เป็นต้น ไม่ใช่ว่าลดจนหมด หรือละจนหมดอย่างเช่นพวกฤๅษีชีไพรหรือว่าพวกลัทธิเชน ซึ่งแม้กระทั่งเครื่องนุ่งห่มก็ไม่มี เรียกว่านุ่งลมห่มฟ้า อันนั้นเรียกว่าเกินเลยจากความสมบูรณ์แบบไปแล้ว
ชีวิตสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเลย มีเท่าที่จำเป็น แต่ว่ากลับรุ่มรวยด้วยความสุข ไม่ใช่ว่าลดละจนกระทั่งกลายเป็นการทรมานตน อย่างพระภัททิยะ ซึ่งเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า เดิมก็เป็นพระราชา มีทรัพย์สินบริวาร มีอำนาจล้นเหลือ แต่เมื่อมาบวชแล้วทิ้งหมดเลย คงเหลือแต่แค่บริขาร 8
ทีแรกก็ไม่ได้ตั้งใจบวช แต่ว่าบวชตามเพื่อน หรือเพราะเพื่อนขอร้อง คือพระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะนี้อยากบวช ไม่ใช่บวชเพราะอยากจะบรรลุพระนิพพาน แต่ได้รับการเรียกร้องว่าในเมื่อพระพุทธเจ้าออกบวช ก็ควรจะมีพระญาติร่วมบวชด้วย ก็เลยเป็นภาระตกมาที่พระอนุรุทธะ แต่ให้เลือกเอาระหว่าง บวช หรือว่า รับผิดชอบต่อครอบครัว รับผิดชอบต่อวงศ์ตระกูล
พอท่านรู้ว่า รับผิดชอบวงศ์ตระกูลเป็นภาระมาก บวชดีกว่า ไม่ได้บวชเพราะศรัทธา และจะบวชได้ต้องมีเพื่อนบวชด้วย คือ พระภัททิยะ พระภัททิยะก็ทนเพื่อนรบเร้าไม่ได้ จึงบวช คิดว่าคงจะบวชชั่วคราว แต่ที่ไหนได้ พอบวชแล้วได้เห็น ได้เข้าใจธรรมะ จนได้บรรลุนิพพาน วันหนึ่งท่านก็นั่งอยู่ผู้เดียว แล้วก็อยู่ในภาวะที่เปี่ยมสุขมาก ถึงกับอุทานว่า สุขหนอ สุขหนอ ไม่เคยสุขแบบนี้มาก่อน
ตอนที่เป็นพระราชาผู้ปกครอง มีทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างล้นเหลือ แต่ไม่มีความสุขเลย มีความเครียด มีความกลัว มีความอยาก แต่พอมาบวชแล้ว ฉันมื้อเดียว นอนใต้ต้นไม้ อยู่โคนไม้ แต่ที่สำคัญคือ ได้สละหรือละกิเลส ความยึดมั่นถือมั่น ก็มีความสุขอย่างยิ่ง นี่เป็นแบบอย่างของชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ซูว์เปรีพูดไว้ ความสมบูรณ์แบบไม่ได้เกิดจากการเพิ่ม จนไม่อาจเพิ่มอะไรได้อีก แต่เกิดจากการลด เกิดจากการทอน จนถึงจุดที่ไม่อาจจะลดได้อีก
อันนี้เป็นทัศนคติที่สวนทางกับความเชื่อของคนทั้งโลก ความเชื่อที่คนในทางโลกเชื่อ คือ ชีวิตที่ดีต้องมีเยอะ ๆ มีรถ มีบ้าน มีเงิน มีทรัพย์สิน มีชื่อเสียง มีบริษัทบริวาร แต่ขอเพียงอย่าให้มันเกินจุดพอดี ถ้าเกินจุดพอดีเรียกว่าฟุ่มเฟือย แต่ความเชื่อนี้ก็ต้องมีมาก ๆ เอาไว้ก่อน อันนี้คือชีวิตสมบูรณ์แบบในทางโลก
แต่ชีวิตสมบูรณ์แบบในทางธรรม คือ เกิดจากการลดการละ ตั้งแต่ปัจจัยภายนอก จนกระทั่งไปถึงสิ่งที่เป็นเรื่องภายใน ไม่ว่าจะอารมณ์บวกหรือลบ ก็ละ ไม่ใช่แค่ละสุขอย่างเดียว ละทุกข์ด้วย ไม่ใช่ละทุกข์อย่างเดียว ละสุขด้วย ไม่เอาเลย แต่เพราะละสุข แล้วก็ละทุกข์ จึงเป็นสุขอย่างยิ่ง อย่างที่พระภัททิยะท่านได้รู้สึกสัมผัสได้ และเป็นแบบอย่าง
ที่จริงซูว์เปรีเขาพูดถึงความสมบูรณ์แบบนี้ไม่ใช่เฉพาะเกี่ยวกับชีวิต อย่างอื่นด้วย ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ มันไม่ใช่เพิ่มโน่นเพิ่มนี่ จนเทอะทะ หรือจนดูเหมือนว่าเป็นสิ่งอเนกประสงค์ แต่ว่าหมายถึงการลด ลดจนกระทั่งเหลือแค่เท่าที่จำเป็น อันนี้ก็เป็นไอเดียของสตีฟ จอบส์
สตีฟ จอบส์ คิดโทรศัพท์สมาร์ทโฟน สมาร์ทโฟนของเขามันตรงข้ามกับแบล็คเบอร์รี (Blackberry) แบล็คเบอร์รีมีปุ่มเยอะแยะไปหมด แต่ว่าสมาร์ทโฟนของสตีฟ จอบส์มีแค่ปุ่มเดียว เกลี้ยงเกลามาก เรียกว่าเขาลดทอนสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป จนกระทั่งกลายเป็นผลงานที่คนชื่นชม และก็เลียนแบบ
เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือมีปุ่มน้อยมาก รวมทั้งแป้นคีย์บอร์ดก็หายไปหมด เพราะมันไปอยู่ใน screen หรืออยู่ในจอเรียบร้อย อันนี้เรียกว่าอิทธิพลจากความเชื่อว่า ความสมบูรณ์แบบเกิดขึ้นได้เมื่อลดละไปเรื่อย ๆ จนเหลือเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เฉพาะผลิตภัณฑ์อย่างเดียว ชีวิตก็เหมือนกัน สมบูรณ์แบบเป็นอย่างนั้น
เมื่อ 2,500 ปีก่อนนี้ มีประติมากรคนหนึ่งสร้างผลงานที่ลือลั่นมาก ประติมากรนี้คือ ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) ภาพประติมากรรมที่เขาสร้างขึ้นก็คือ ดาวิด ซึ่งคนเห็นแล้วทึ่งมาก เพราะว่าสวยงาม แล้วก็มีรายละเอียดที่คล้ายมนุษย์มาก แต่ก็มีความเป็นอุดมคติเหนือมนุษย์
ที่คนเขาทึ่งกันเพราะว่า ดาวิดนี้สร้างมาจากหินอ่อนที่คนเขาทิ้งแล้ว ผ่านมือช่างมา 2 คน แล้วช่างเขาก็ยอมแพ้ ทิ้ง หินอ่อนนี้ก็เรียกว่าขี้เหร่แล้วเพราะผ่านการปู้ยี่ปู้ยำมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ปรากฏว่าไมเคิลแองเจโล กลับสามารถจะสร้างสรรค์ภาพรูปปั้นดาวิดนี้ได้อย่างสวยงาม แล้วก็ใหญ่โตมากสูงถึง 5 เมตร
มีคนถามไมเคิลแองเจโลว่าสร้างได้อย่างไร แกะสลักได้อย่างไร ไมเคิลแองเจโลบอกไม่มีอะไร ก็แค่แกะสลักเอาส่วนที่ไม่ใช่ดาวิดออกไป ที่เหลือก็คือภาพดาวิดที่สวยงาม
แนวคิดเขาน่าสนใจ เขาทำหน้าที่เพียงแค่สลัก แกะสลักเอาสิ่งที่ไม่ใช่ดาวิดออกไป ซึ่งก็คล้ายกับที่ซูว์เปรีพูด ความสมบูรณ์แบบเกิดขึ้นจากการที่ลด ทอน สละสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจนเหลือเท่าที่จำเป็น ยิ่งสลักหรือสละออกไปมากเท่าไร ถึงจุดหนึ่งมันจะเกิดความสมบูรณ์แบบขึ้นมา
อันนี้คล้าย ๆ กับการสร้างสรรค์ชีวิตของคนเราในทัศนะพุทธศาสนา การสร้างสรรค์ชีวิตของคนเราเพื่อให้เกิดภาวะที่สมบูรณ์แบบหรือที่เข้าถึงภาวะอุดมคติ ก็คือ การลด การละ การสลักสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เหลือเฉพาะสิ่งที่เป็นเรื่องของภาวะภายใน
ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู สลักออกไปหมด มันก็เหลือแต่ชีวิตที่งดงาม จะว่าไปแล้วในทัศนะพุทธศาสนาอาจจะพูดได้ว่า การสร้างสรรค์ชีวิตก็เหมือนกับประติมากรที่แกะสลักไม้หรือหิน ซึ่งต่างจากอีกแนวคิดหนึ่งที่เขาคิดว่า การสร้างสรรค์ชีวิตไม่ต่างจากจิตรกรที่วาดภาพ
เวลาจิตรกรวาดภาพ เขาจะเติมสี เติมเส้นลงไปจากพื้นเดิมผืนผ้าใบที่ว่างเปล่า เติมโน่นเติมนี่เข้าไป หรือถ้าเติมจนถึงจุดพอดี ก็จะได้ภาพที่สวยงาม อันนี้เป็นความสมบูรณ์แบบที่เกิดจากการเติม การเพิ่ม ซึ่งก็เป็นแนวคิดหนึ่งซึ่งเป็นแนวคิดทางโลก คือ ต้องมีมาก ๆ มีเรื่อย ๆ มีเยอะ ๆ
แต่ว่าในทางพุทธศาสนาชีวิตสมบูรณ์แบบ ชีวิตที่งดงาม ชีวิตในอุดมคติ ไม่ต่างจากช่างสลักหิน ก็คือสลักหรือสละสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป จนกระทั่งเกิดผลงานที่งดงาม
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า สมบูรณ์แบบจะเกิดขึ้นได้ ต้องเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ จนถึงจุดที่เพิ่มไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามันต้องลด ต้องละ ต้องแกะเอาสิ่งอื่นออกไป จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ลดละต่อไปไม่ได้
สำหรับเราชาวพุทธ ถ้าหากว่าเราต้องการชีวิตที่บรรลุถึงอุดมคติ หรือสมบูรณ์แบบ ก็ต้องใส่ใจกับการลดการละ สามารถที่จะมีความสุขได้ด้วยสิ่งที่น้อยที่สุด ซึ่งอันนี้พระอรหันต์ท่านเป็นแบบอย่าง พระอรหันต์จะมีความสุขได้ด้วยเพียงแค่บริขาร 8
ผู้คนในโลกสมัยนี้เขาคิดว่าจะมีความสุขได้ ต้องมีเยอะ ๆ มีมาก ๆ แต่พุทธศาสนามองว่าชีวิตที่ดีงามคือ ชีวิตที่มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่น้อยที่สุด โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องของวัตถุ และครูบาอาจารย์ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ท่านเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ หลวงพ่อโต หลวงปู่มั่น แล้วก็ครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่านเป็นแบบอย่างของการที่สามารถจะเข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้งด้วยวัตถุสิ่งเสพที่น้อยมาก
ที่จริงไม่ใช่แค่พึ่งพิงวัตถุสิ่งเสพน้อยมากอย่างเดียว แต่หมายถึงว่าการลดการละสิ่งที่อยู่ข้างในใจด้วย อย่างไตรสิกขาประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นเรื่องของการลดการละ ยิ่งการเจริญสติด้วยแล้วนี่ ก็คือ การลด การละ การปล่อยการวาง
เวลาเราเจริญสติ เราฝึกที่จะลด ละ ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ที่เกิดจากความหลง ความคิดจะเกิดขึ้นกี่เรื่อง อารมณ์ ความรู้สึกจะมีมากมายเพียงใด สิ่งที่เราทำก็คือ แค่ปล่อยแค่วาง ดีใจก็รู้เฉย ๆ แล้วก็วางมันลง เสียใจก็รู้แล้วก็วาง อันนี้คือ การลดการละอย่างหนึ่ง
แม้กระทั่งมีสุขเวทนาเกิดขึ้น ก็แค่รู้ แล้วก็วาง กินอาหารอร่อย เกิดสุขเวทนาขึ้น ก็รู้แล้วก็วาง หรือว่าเจอทุกขเวทนา เพราะความเจ็บความป่วย ก็รู้แล้วก็วาง ไม่เอาทั้งบวกและลบ ไม่เอาทั้งสุขและทุกข์ ยินดีก็ไม่เอา ยินร้ายก็ไม่เอา
คนเราจะว่าไปแล้ว เราจะดูพัฒนาการของชีวิต ก็ดูตรงที่ว่าเราลดละได้มากน้อยเพียงใด หรือเรามีความสุขได้โดยพึ่งพาวัตถุสิ่งเสพน้อยลงเพียงใด ตราบใดที่ยังมีความสุขเพราะต้องอาศัยสิ่งเสพมากมาย อันนั้นยังเรียกว่าชีวิตยังไม่พัฒนาเท่าไร แต่เป็นที่มุ่งหมายของชาวโลกที่เขาวัดว่าชีวิตที่ประสบความสำเร็จ คือ ชีวิตที่มีเงินเยอะ ๆ มีบ้านหลายหลัง มีรถหลายคัน นี้คือสิ่งที่วัดความสำเร็จของชีวิตในทัศนะชาวโลก
แต่ในทางธรรมหรือในทางพุทธศาสนานี้ สิ่งที่วัดความสำเร็จของชีวิต คือ สามารถที่จะมีความสุขได้โดยพึ่งพิงวัตถุสิ่งเสพน้อย และไม่ใช่แค่วัตถุรูปธรรมอย่างเดียว แม้กระทั่งอำนาจ ชื่อเสียง คำชื่นชมสรรเสริญ ก็ไม่ได้พึ่งพา หรือหาความสุขจากสิ่งนั้น เพราะว่าเข้าถึงความสุขจากการลดการละ ความโลภ ความอยาก ปรารถนาชื่อเสียง ปรารถนาการยอมรับก็วาง สุดท้ายแม้กระทั่งความยึดติดในตัวกูหรือความยึดมั่นในตัวกูของกูก็วางให้หมด
ฉะนั้น ถ้าเรายังต้องพึ่งพาวัตถุสิ่งเสพ ยังต้องพึ่งพาหลายสิ่งหลายอย่าง แม้กระทั่งคำชื่นชมสรรเสริญ การยอมรับ การคาดหวังจากผู้คน อันนี้ก็ยังถือว่าเรายังมีภาระที่ต้องทำต่อไปเพื่อจะลดละ สามารถจะอยู่ได้ สามารถจะมีความสุขได้แม้ผู้คนรอบข้างเขาจะไม่ได้ชื่นชมสรรเสริญ หรือว่าอาจจะถึงขั้นต่อว่าด่าทอ หรือมองด้วยสายตาที่ดูถูก แต่ว่าใจก็ยังเป็นสุขอยู่ได้
และถ้าลดละมากเท่าไร สุดท้ายมันไม่ใช่แค่มีความสุขขณะที่มีชีวิต แม้กระทั่งเมื่อจะตาย ก็ไม่มีความทุรนทุราย ไม่มีความวิตก ไม่มีความกังวล เพราะว่าไม่มีความหวงแหน ไม่มีความยึดมั่นในสิ่งใด คนเราเมื่อจะตายก็หมายถึงการพลัดพรากจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ
ถ้าเราไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวางเสียแต่ตอนนี้ ถึงเวลาจะตายมันก็ทุกข์ทรมานมาก ยังไม่ต้องพูดเรื่องนิพพาน ว่าบรรลุได้ด้วยการปล่อยวางสิ่งทั้งปวง ไม่มีความยึดติดถือมั่นในสิ่งใด แค่จะตายให้สงบ ไม่ทุกข์ทรมาน ก็ต้องอาศัยการปล่อยการวาง การลดละความคาดหวังต่าง ๆ
มีบางคนบอกว่า อยากบรรลุนิพพาน เพราะอะไร เพราะไม่อยากเกิดอีก ทำไมไม่อยากเกิด เพราะว่าเกิดมาแล้วมันทุกข์ เพราะว่าเราทำดีแล้วแต่ไม่มีคนเห็น เราทำความถูกต้องแต่ก็ยังมีคนมาจับจ้อง ต่อว่า จับผิด ถ้าคิดแบบนี้มันก็ยากที่จะบรรลุนิพพาน
ที่เขาอยากจะนิพพานก็เพียงเพราะว่ามันจะได้ไม่เกิด และที่ไม่เกิดเพื่อจะได้ไม่ไปรับรู้ว่ามีคนดูถูก ไม่ไปรับรู้ว่ามีคนมาต่อว่า ที่จริงแล้วก็เพียงแค่ไม่มีความยึดมั่นสำคัญหมายในตัวกูเท่านั้นแหละ หรือว่าลดละความยึดมั่นในหน้าตา เพียงเท่านี้ใครจะมาดูถูก ใครจะมาต่อว่า เราก็ไม่ทุกข์แล้ว
ไม่ใช่ว่าต้องไม่เกิดจึงจะไม่ทุกข์ ไม่เกิดในที่นี้ก็เพียงหมายความเพียงแค่ว่าจะได้ไม่ไปรับรู้เวลามีคนมาว่าเรา มีคนมาดูถูกเรา ตราบใดที่ยังรับรู้ว่ามีคนดูถูกเราว่าเราแล้ว ก็ยังทุกข์ อย่างนี้ก็แสดงว่ายังมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในหน้าตามาก แล้วแบบนี้จะเข้าใกล้พระนิพพานได้อย่างไร กลับเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพระนิพพาน แบบนี้ตายก็ต้องไปเกิดอีกไม่รู้กี่ชาติ เพราะว่ายังมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู
อันนั้นเป็นเพราะว่าไม่ได้คิดที่จะใช้ชีวิตเพื่อการปล่อยการวาง เพื่อการสละ ยังอยากได้การยอมรับ ยังอยากได้คำชื่นชม แต่ถ้าใช้ชีวิตนี้เพื่อการลดการละ ไม่ได้มีจิตที่คิดจะเอา ไม่ว่าจะเป็นคำชื่นชมสรรเสริญ หรือว่าแม้กระทั่งความสงบ มีชีวิตด้วยจิตที่คิดจะละ คิดจะวาง อย่างนี้แหละที่จะทำให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ที่สมบูรณ์แบบได้ แม้จะไม่ถึงขั้นนิพพานก็ตาม แต่ว่าก็จะเป็นชีวิตที่มีความสุข
ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงชีวิตที่ดีงาม อย่านึกถึงแต่เรื่องการมีการได้ ต้องนึกถึงการลดการละให้มาก ๆ แล้วก็จะพิสูจน์ตัวเองว่า เราสามารถจะมีความสุขได้ไหม แม้จะมีสิ่งเสพ มีวัตถุไม่มาก หรือถึงมีเยอะ ๆ แต่ก็ไม่ยึด แถมยังสละ บริจาค
อย่างเศรษฐีจำนวนมากเขาสละเงิน รายได้ มาใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย แบบนี้ต่างหากที่เป็นชีวิตที่น่ายกย่อง แม้ว่าจะยังไม่เข้าถึงพระนิพพาน แต่ก็เป็นชีวิตที่มุ่งเพื่อการสละ การปล่อย การวาง แม้จะเป็นเรื่องของวัตถุภายนอก แต่ก็เชื่อว่า ก็มีการสละความยึดติดถือมั่น ในเรื่องวัตถุ ในเรื่องหน้าตา ไม่น้อยทีเดียว.