พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 22 มิถุนายน 2567
เมื่อสองวันก่อนมีข่าวหนึ่งที่ค่อนข้างแพร่หลาย ทั้งทางโทรทัศน์แล้วก็ทางโซเชียลมีเดีย คือเรื่องของอาม่าวัย 74 ถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกเอาเงินไปล้านกว่าบาท ที่น่าสนใจคือว่า จุดเริ่มต้นไม่ใช่ว่าเสียเงินเป็นแสน จุดเริ่มต้นคือถูกหลอก 50,000 บาท และตอนหลังเรื่องบานปลายจนกระทั่งเงินที่สูญไปรวมแล้วร่วมล้านหก
และที่น่าสนใจประการที่สองก็คือว่า ปกติแก๊งมิจฉาชีพจะเป็นฝ่ายเข้าหาเหยื่อ แต่รายนี้อาม่าแกไปเข้าหาพวกแก๊งมิจฉาชีพเอง ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านคือหมูไปชนปังตอ เรื่องมันเกิดขึ้นได้อย่างไร
อาม่าแกอยากจะได้เงินหยวนเพื่อไปเที่ยวเมืองจีน ก็พยายามหาที่แลกเงินที่ให้ราคาดี ถ้าไปแลกตามธนาคารหรือว่าบริษัทรับแลกเงินแกรู้สึกว่าราคาที่ได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็เลยไป search (ค้นหา) เอาทางเว็บต่าง ๆ แกก็รู้เรื่องการใช้เน็ตนี้พอสมควร ก็ไปเจอเว็บหนึ่งเขาให้ราคาดีมาก แกก็เลยโอนเงินไป 50,000 บาท ปรากฏว่าเงินสูญไป แกร้อนใจ ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ตำรวจก็บอกว่า พวกนี้นี่มันมิจฉาชีพ
แต่อาม่าคงจะไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ แกยังคิดว่ามีโอกาสที่จะได้เงินคืน ทำอย่างไร ด้วยความเสียดายเงิน 50,000 บาท ก็เลยไปค้นหาจากกูเกิลว่ามีที่ไหนบ้างที่เขาจะช่วยให้สามารถเอาเงินที่เสียไปได้คืนมา ไปเจอตำรวจปลอม ก็มิจฉาชีพนั่นแหละ ตำรวจปลอมให้คำแนะนำว่าถ้าอยากได้เงินคืนมันก็มีวิธี แต่ก่อนอื่นต้องสมัครสมาชิกผู้เสียหายก่อน มันจะมีแบบนี้ได้ยังไง เป็นผู้เสียหายนี่ไม่ใช่ต้องสมัครสมาชิก กฎหมายเขารับรองอยู่แล้ว
แต่นี่ด้วยความพาซื่อ สมัครสมาชิกก็ต้องจ่ายเงินไป 15,000 บาท แกก็โอนเงินไป ก็มีคนเตือนแล้วว่า ไอ้นี่มันเป็นพวกมิจฉาชีพปลอมตัวมาเป็นตำรวจ แกก็ไม่เชื่อ ส่วนหนึ่งเพราะแกมีความหวังว่าจะได้เงินคืน
ทีนี้ตำรวจปลอมได้เงินไป 15,000 บาท แล้วก็ไม่หยุดเท่านี้ ก็หลอกว่านี่ถ้าโอนเงินมาให้อีก 500,000 บาท จะช่วยวิ่งเต้นให้ได้เงินคืน เงินที่แกอยากได้คืน 50,000 บาท แต่แกยอมโอนเงิน 500,000 บาทด้วยความหวังว่าจะได้เงิน 50,000 บาทคืน แล้วแกก็คงคิดว่า 500,000 บาทที่โอนไปคงจะได้คืนด้วย เพราะตำรวจเขาจะอมเงินไปทำไม
คนก็เตือนแล้วว่าอย่าไปโอน ไอ้นี่มันมิจฉาชีพ แต่แกไม่เชื่อ โอนไป 500,000 บาท ไม่มีอะไรคืบหน้า ก็ติดต่อไปติดต่อมาไปเจอกลุ่มผู้เสียหาย ที่จริงก็คือพวกมิจฉาชีพนี่แหละ ปลอมมาเป็นผู้เสียหายว่าฉันก็เคยเจอแบบนี้แหละโดนโกงไป แต่ว่าก็ดิ้นรนจนได้เงินคืน แกก็ดีใจ เคยมีคนที่ประสบเหตุการณ์เดียวกับเธอ ได้เงินคืน
ผู้เสียหายปลอมก็หลอกว่าให้โอนเงินไปอีก 500,000 บาท เพื่อช่วยในการดำเนินการหาจับตัวผู้ที่หลอกเอาเงินไป
ทั้งหมดนี้ก็เพียงเพราะอยากจะได้เงิน 50,000 บาท คืน แต่ว่าจ่ายไปแล้วล้านหก สรุปแล้วก็ล้านหก เรียกว่าการดิ้นรนของอาม่านี่มันพาตัวเองไปเจอเว็บปลอม จนเสีย 50,000 แล้วก็ไปเจอตำรวจปลอมก็เสียอีก 5 แสนกว่า แล้วก็ยังไปเจอพวกผู้เสียหายปลอมอีก เป็นกลุ่มผู้เสียหาย หลอกให้จ่ายไปอีก 500,000 บาท จนถึงป่านนี้แกก็ยังคิดว่ามีโอกาสได้เงินคืน
ทุกครั้งก็มีเพื่อนบ้านเตือน ชื่ออาเจ็ก อาเจ็กแกเตือนว่าอย่าไปเชื่อ ไอ้พวกนี้มันมิจฉาชีพ แต่อาม่าแกไม่ยอมเชื่อ แกก็ยังขวนขวายหาเงินไปโอนให้เขาตามที่เขาเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจปลอมหรือว่าผู้เสียหายปลอม จนกระทั่งเงินมันบานปลายเป็นล้านหก ตอนนี้อาม่าแกเริ่มเชื่อแล้วว่าถูกหลอกจริง ๆ ไม่มีสิทธิ์ได้คืนแล้ว อย่าว่าแต่ 50,000 บาทก้อนแรกเลย หลังจากนั้นก็ไม่มีโอกาสได้คืนแล้ว
มันก็เลยกลายเป็นข่าว เพราะว่าถูกหลอกโดยเริ่มต้นจากเงินแค่ 50,000 บาท เรื่องนี้นี่มันไม่ใช่เป็นเพราะว่ามีพวกมิจฉาชีพคอยหลอกเอาเงินคนแก่อย่างเดียว แต่มันยังเป็นเพราะว่า ตัวผู้เป็นเหยื่อนี่ให้ความร่วมมือด้วย ตั้งแต่ไปสรรหาจนไปเจอพวกมิจฉาชีพ อย่างที่อาตมาเรียกว่า หมูไปชนปังตอ แล้วทำไมยอมจ่ายเป็นล้านด้วยความหวังว่าจะได้เงินห้าหมื่นคืน เงินมันต่างกันมากเลย
คนที่เขาเฉลียวใจหน่อยเขาก็ต้องคิดแล้ว เราจะยอมเสียห้าแสนเพื่อให้ได้ห้าหมื่นคืนนี้ มันคุ้มหรือ แต่คนเราบางครั้งยอมรับไม่ได้ที่เสียเงินไป แม้ว่าก้อนแรกที่เสียไปคือ 50,000 บาท คิดว่าอาม่าแกยอมรับไม่ได้ แกก็มีความอยากจะได้คืน แล้วก็มีความหวังว่าจะได้คืน ความหวังว่าจะได้คืนก็ทำให้พยายามหาหนทาง แม้จะยอมเสียมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยอม เหตุผลประการเดียวก็คือยอมรับไม่ได้ที่เสียเงินไป แล้วก็ยังอยากได้คืน
ความอยากได้คืนมันรุนแรงมากจนกระทั่งยอมที่จะเสีย ยอมที่จะทุ่มเงินมากกว่านั้น มันเป็นเหตุผลเดียวกับคนที่เล่นการพนัน คนบางเล่นการพนันเพราะว่าเล่นทีแรกได้ ความโลภอยากจะได้เงินเพิ่มง่าย ๆ เลย เล่นไปเรื่อย ๆ แต่เล่นทีหลังนี่มีแต่เสีย
ทีแรกเสีย1,000 บาท แต่ก็ยอมไม่ได้ที่เสียเงิน 1,000 บาท ก็เลยต้องเล่นต่อ เล่นไปแล้ว ลงเงินไปแล้วแทนที่จะได้เงิน 1,000 กลับคืน กลับเสีย 3,000, 4,000 แล้วยังไง ทำใจไม่ได้ที่เสีย 4,000 ก็เลยเล่นต่อ คราวนี้ทุ่มเป็นหมื่น ปรากฏว่าเสีย เสียเป็นหมื่นนี่ ทำใจไม่ได้ อยากจะแก้ตัว อยากจะเอาคืน ก็ทุ่มอีก เลิกเล่นไม่ได้ ก็กลายเป็นว่าคราวนี้เสียหลายหมื่น เป็นแสนเลย
เหตุผลเดียวคือ ไม่ใช่อยากได้ แต่อยากเอาคืน อยากได้คืน ยอมรับไม่ได้ที่เสียไป แล้วพอถลำไปมากแบบนี้นี่เริ่มแย่แล้วเพราะว่าเงินที่เอามาเล่นนี่บางทีก็ไปยืมเขามา ยืมเขามาแล้ว ไม่มีเงินจ่ายทำอย่างไร ก็ต้องเล่นให้มันหนักขึ้นจะได้มีเงินไปจ่ายคืนเขา ประสบการณ์ที่ผ่านมามันมีแต่เสีย แต่ก็คนเราเวลาเสียมาก ๆ ก็ยังมีความหวังว่าจะมีโอกาสได้คืนบ้าง ความหวังนี่แหล่ะแม้จะมีเปอร์เซ็นต์น้อยว่าจะได้คืน มันก็ทำให้คนเรายอมที่จะจ่ายหรือทุ่มหนักเข้าไปใหญ่
ตัวความหวังนี่มันก็น่ากลัว แม้ว่าความหวังมันจะน้อย แต่มันทำให้คนเราขาดสติได้ง่าย เพราะว่ามันคิดแต่ได้ ก็เลยทุ่มลงไป คราวนี้ที่เสียก็เลยเสียหนัก คนที่ติดพนันจำนวนมากเพราะเหตุนี้คือ ยอมรับไม่ได้ที่เสียเงินไป ที่จริงถ้ารู้จักหยุดตั้งแต่แรกก็อาจจะเสียแค่พัน แต่ว่าพอไม่รู้จักหยุด ยังอยากจะเอาคืนเพราะยอมรับไม่ได้ที่เสียไป มันก็เลยทุ่มเข้าไปเรื่อย ๆ
หารู้ไม่ว่า กติกาของการพนันนี่มันมีแต่จะทำให้คนเล่นมีแต่เสีย ไม่มีได้ ไม่ว่าจะพนันในรูปใดก็ตาม ถ้าหากว่ายอมเสียตั้งแต่แรก มันจะไม่เสียหนักขนาดนี้ แต่ธรรมดาคนเรา นี่มันยอมรับไม่ได้ที่เสียไป
ความยอมรับไม่ได้ที่เสียไปนี่มันก็เกิดขึ้นกับคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนอย่างอาม่า ไม่ใช่เฉพาะนักการพนัน เคยมีอาจารย์คนหนึ่ง เป็นศาสตราจารย์ แกสอนนักศึกษา วันหนึ่งแกไม่ได้เลกเชอร์แต่ว่าแกให้นักศึกษาทำกิจกรรม เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ คณะเศรษฐศาสตร์ แกเอาเงินมา เป็นเงินธนบัตร 100 ดอลลาร์ แล้วบอกนักศึกษาว่าจะให้ประมูล
ปกติประมูลนี่จะมีกติกาว่าใครให้เงินสูงสุดก็ได้สิ่งที่ประมูลไป ซึ่งถ้าต้องการประมูลเงินดอลลาร์ เงินที่ประมูล ถ้าต้องการเงิน 100 ดอลลาร์นี่ เงินที่ใช้ประมูลไม่ควรจะถึง 100 ดอลลาร์ แต่กติกาของอาจารย์คนนี้ไม่เหมือนใคร บอกว่าใครที่ให้เงินสูงสุดได้เงินไปก็จริง แต่ว่าคนที่ให้เงินสูงสุดเป็นอันดับ 2 ต้องเป็นคนจ่าย แต่ปกติใครให้เงินสูงสุดเป็นคนจ่าย คนที่ให้อันดับ 2 นี่ไม่ต้องจ่าย
อาจารย์คนนี้มีกติกาพิเศษ ใครที่ให้ตัวเลขสูงสุดได้แบงก์ดอลลาร์ไป 100 ดอลลาร์ แต่คนจ่ายคือคนที่ให้ตัวเลขเป็นอันดับ 2 นักศึกษาทั้งห้องก็เล่นเลย เอาเลย
แต่ว่าพอเล่น ๆ ไป หลายคนก็รู้ หลายคนก็จับทางได้ ว่าถ้าเล่นไปนาน ๆ นี่มันมีแต่เสีย ปกติเวลาประมูลเราก็ประมูลเพราะอยากจะได้ แต่ว่าคนที่เล่นประมูลตามกติกาของอาจารย์คนนี้ก็เริ่มรู้แล้วว่ายิ่งเล่นไปนี่มันมีแต่เสีย เลิกยาก เพราะว่าทีแรกให้ตัวเลขสูงกว่าคนอื่น แต่คนอื่นก็จะเกทับ เช่น ทีแรกให้ 50 อีกคนบอก ถ้าอย่างนั้นให้ 55 ก็แล้วกัน คนที่ให้ 50 นี่หยุดไม่ได้ ต้องให้ 60 คราวนี้คนที่ให้ 55 ถ้าหยุดก็ต้องจ่าย เพราะให้ตัวเลขเป็นอันดับ 2 ก็เลยเล่นต่อ ให้เป็น 65
จากเดิมนี่เล่นเพื่อที่จะได้ของถูก กลายเป็นว่าเล่นไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่าย เพราะถ้าหยุดเล่นเมื่อไหร่นี่มีสิทธิ์จ่าย หากว่าให้ตัวเลขเป็นอันดับ 2
แล้วคนก็พบว่ายิ่งให้ตัวเลขสูง ก็ยิ่งเป็นเงื่อนไขให้ตัวเองจะต้องจ่ายเพิ่ม ยิ่งให้ตัวเลขสูงมากเท่าไหร่ก็เป็นเงื่อนไขหรือกับดักให้ตัวเองต้องจ่าย เพราะอีกคนเขาก็จะให้สูงกว่า ฉะนั้นเล่นไป ๆ คนก็เล่นน้อยลง ๆ ถอนตัวเสียก่อน เพราะจับทางได้ว่า เล่นไปเรื่อย ๆ นี่มีหวังจ่าย แต่บางคนนี่ มีประมาณ 2-3 คนเลิกเล่นไม่ได้เพราะถลำไปแล้ว หยุดเล่นเมื่อไหร่ก็ต้องเป็นฝ่ายจ่าย เพราะว่าให้ตัวเลขเป็นอันดับ 2
สุดท้ายเงินประมูลมันสูงขึ้น เพิ่มเลย จาก 100 ไปจนถึง 150,160 แล้วก็มีบางคนยอมแพ้ คนยอมแพ้ก็เลยจ่ายไป 150 เพื่อจะได้แบงก์ 100 ดอลลาร์ ถือว่าขาดทุน แต่ทำไมเป็นอย่างนั้น ก็เพราะทีแรกเขาไม่ยอมเสีย ทีแรกตอนที่เขาให้ตัวเลข 50, 60 นี่ แล้วคนอื่นให้มากกว่า ถ้าเขาเลิกเล่นเขาจ่าย 50 แต่เขาไม่ยอมจ่ายเพราะเขาก็ไม่อยากเสีย เขาก็เลยเล่นไปเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายเขารู้ว่าเล่นต่อไปนี่มีแต่จะเสียหนัก ก็เลยหยุดเล่น แทนที่จะเสีย 50 ก็กลายเป็นเสีย 150
สิ่งที่อาจารย์ต้องการบอก คืออะไร ต้องการบอกว่าคนเราเวลามันกลัวเสีย ไม่อยากจ่ายนี่มันทำให้เล่นไม่หยุด และสุดท้ายแทนที่จะเสียน้อยกลายเป็นเสียมาก เพราะว่ามนุษย์เราทุกคนมันจะมีจุดอ่อนอย่างหนึ่งคือไม่ยอมเสีย จึงเล่นไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะได้ไม่เสีย แต่สุดท้ายยิ่งเล่นกลับยิ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ต้องเสียหนักขึ้น ๆ
นักศึกษาเลยเข้าใจว่า ทำไมคนบางคนเล่นพนันไม่เลิก หรือว่าอาจจะเข้าใจว่าทำไมคนอย่างอาม่า ทำไมแกไม่ยอมเสีย ห้าหมื่น บาท ทำไมแกลงเอยด้วยการเสียเป็นล้าน
จะว่าไปแล้วมันก็เป็นสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของมนุษย์ทุกคน บางอย่างบางครั้งคนเราอาจจะแสดงอาการที่ไม่สุดโต่งขนาดนี้ แต่ว่าหลายคนอาจจะเคยประสบความรู้สึกแบบนี้ ไปซื้อของราคา 2,000 บาท คิดว่าได้ราคาดีแล้ว ปรากฏว่าไปเจอของชิ้นเดียวกันราคา 1,000 บาท ทีแรกดีใจว่าได้ของดี จ่ายไป 2,000 บาท แต่ปรากฏว่ามันมีที่อื่นขายถูกกว่า 1,000 บาท รู้สึกเป็นทุกข์เลย ที่จ่ายแพง
ลึก ๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองนี่น่าจะจ่ายแค่ 1,000 แต่ว่าจ่ายไป 2,000 เสียดายเงินที่จ่ายเพิ่ม พอเสียดายเงินที่จ่ายเพิ่มทำอย่างไร หลายคนก็เลือกซื้อของที่ราคา 1,000 นั่นแหละ ซื้ออีก เพื่อจะได้สบายใจว่าฉันไม่ได้ซื้อของแพง ฉันไม่ได้จ่ายเพิ่ม หรือฉันไม่ได้จ่ายแพงขึ้น แต่ปรากฏว่าลงเอยด้วยการจ่ายเงินหนักกว่าเดิม แทนที่จะเสีย 2,000 ก็กลายเป็นเสีย 3,000 เพราะยอมรับไม่ได้ที่ตัวเองจ่ายเงินแพงกว่าที่ควรจะเป็น
การจ่าย ความรู้สึกที่ว่าตัวเองจ่ายแพงกว่า มันก็คือการที่รู้สึกว่าเราเสียเงินไปฟรี ๆ 1,000 ถ้าเราจ่ายแค่ 1,000 เราก็ได้แล้วของชิ้นที่เราต้องการ แต่เราต้องจ่ายตั้ง 2,000 อีกหนึ่งพันคือจ่ายไปฟรี ๆ เสียดายเงิน ด้วยความเสียดายเงินก็เลยซื้อของนั้นที่ราคา 1,000 นั่นแหละ เพื่อความสบายใจ แต่กลายเป็นว่าจ่ายเพิ่ม
อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่าคนที่ถูกโกงหรือทำเงินหาย จะเสียใจ วิตก จะครุ่นคิดหรือว่าจะหมกมุ่นอยู่กับเงินที่หายไป มันคือการยอมรับไม่ได้ว่าเสียเงินไปแล้ว การที่ใจยอมรับไม่ได้ว่าเสียเงินไปนี่มันทำให้เป็นทุกข์ แทนที่จะเสียแค่เงินก็กลายเป็นว่าเสียใจด้วย ใจเสีย บางคนอาจจะไม่ได้เสียเงินเพิ่มแต่ว่ามีความทุกข์เพิ่มขึ้นมา คือ ความทุกข์ใจ มันก็คือการยอมรับไม่ได้กับการสูญเสีย
คนเรานี่ถ้าหากว่ารู้จักตัดใจ ยอมรับความสูญเสียได้ อย่างมากมันก็เสียเท่าที่เสียไป แต่พอเรายอมรับไม่ได้ก็กลายเป็นว่าเราเสียหนักกว่าเดิม อาจจะเสียในรูปของเงินที่เพิ่มมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็มีความทุกข์เพิ่มขึ้น เสียใจ วิตกกังวล โมโห แล้วตอนหลังก็ไม่ใช่เสียใจอย่างเดียว เสียสุขภาพเพราะป่วย
ทั้งหมดนี่มันเป็นเพราะการที่เรายอมรับความสูญเสียไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้จักตัดใจ เออ เสียก็เสียแค่นี้ หรือไม่ก็บอกตัวเองว่า ดีที่ไม่เสียมากกว่านี้ อย่างอาม่าถ้าเกิดแกยอมรับ ตัดใจได้กับเงิน 50,000 บาทที่เสียไปก็ช่างมัน หรือนึกไปว่ายังดีที่ไม่เสียมากกว่านี้ ปรากฏว่าแกไม่ได้นึกแบบนั้น ก็กลายเป็นเสียหนักกว่าเดิม มากกว่าที่เสียไปนี่กี่เท่าจาก 50,000 บาท สุดท้ายก็หมดไปเป็นล้านหก มัน 30 เท่าเลยทีเดียวเพียงเพราะยอมรับไม่ได้กับสิ่งที่เสียไป
อันนี้คนที่ได้ฟังเรื่องราวอาม่า บางคนบอกว่าแกโง่ แต่ใครที่คิดแบบนี้ถือว่าประมาท น่าจะคิดว่า นี่เป็นบทเรียนให้เรา เพราะต่อไปเราอาจจะเจอแบบนี้ก็ได้ เสียไปแล้วแต่เราไม่ยอมเสีย เราจะดิ้นรนเพื่อจะเอาคืน สุดท้ายเราเสียหนักกว่าเดิม อาจจะไม่ได้เสียในรูปเงินแต่อาจจะเสียในรูปอื่น เช่น ป่วยเพราะความเครียด แล้วบางทีหนักจนกระทั่งเป็นโรคซึมเศร้า เพราะว่าถูกโกงเงินแล้วหมกมุ่นครุ่นคิดกับมัน ปีแล้วปีเล่าจนกระทั่งเป็นโรคซึมเศร้า
ฉะนั้น ใครที่ไปมองว่าอาม่าว่าแกโง่ ถือว่าไม่ได้ประโยชน์ แต่มองว่าเป็นบทเรียนให้เรานี่อย่าไปผิดพลาดตามรอยอาม่า จะไม่ผิดพลาดได้ก็ต้องเรียนรู้ ว่าปัญหาสำคัญก็คือ การที่ไม่ยอมเสีย ยอมรับไม่ได้กับความความสูญเสีย ถ้ายอมรับได้ตั้งแต่แรกนี่มันก็จะจบเท่านั้น บอกกับตัวเองว่าดีที่ไม่เสียมากกว่านี้ เพราะไม่อย่างนั้นจะเสียหนักกว่านี้
อาม่าแกพูดตอนสุดท้าย แกบอกว่าทีหลังอย่าไปเชื่อคนอื่นง่าย แต่ที่จริงนี่ สิ่งที่น่ากลัวกว่า ไม่ใช่เชื่อคนอื่น แม้คนอื่นจะเป็นมิจฉาชีพ สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือ เชื่อความคิดของตัวเอง ที่อาม่าแกพลั้งแกพลาดเพราะแกเชื่อความคิดตัวเองว่ามีโอกาสจะได้คืน เพราะว่ายอมรับไม่ได้ที่เสียไป มันมีความหวัง มันมีโอกาส มันเป็นความคิดที่หลอกตัวเอง ไม่ให้ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น
คนเรานี่ถ้าหากว่าเชื่อความคิดตัวเองแล้ว การที่จะถูกมิจฉาชีพหลอกนี่มันก็เป็นเรื่องง่าย ต้องรู้จักทักท้วงความคิดของตัวเอง เวลาเสียไปมันจะมีเสียงกระซิบว่า ยังมีหวังจะได้คืน ลองทำทางนี้ดู มันจะไม่ยอมรับฟังคำแนะนำคำตักเตือนใดเลย อย่างกรณีนี้ เพื่อนบ้าน อาเจ็กนี่แกก็เตือนแล้วเตือนอีก แต่ว่าอาม่าไม่ฟังเพราะแกเชื่อความคิดของตัวเองว่า ฉันมีหวังจะได้คืน มันเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่คนเรานี่จะมีความหวังแบบนี้
คนที่เป็นมะเร็งนี่ แม้ว่าอาการจะหนักแล้วยังมีความหวังว่า ถ้ากินยาตำรับนี้ ตำรับนั้นเดี๋ยวจะดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่อาการนี่มันลามไปถึงระยะที่ 4 แล้ว บางทีถูกคนหลอก จ่ายเงินค่ายาสมุนไพรไปเป็นแสน เพราะว่าไปเชื่อความคิดของตัวเองว่ามันมีโอกาสที่จะหาย และที่มีความคิดแบบนี้เพราะมันยอมรับไม่ได้กับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น คนเราเวลาสิ้นไร้ไม้ตอกนี่มันจะมีความหวังแม้เพียงเล็กน้อย ถ้าเราเชื่อ มันก็สามารถพาเราเข้ารกเข้าพงได้ง่าย
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญนี่ก็คือ อย่าไปเชื่อความคิดตัวเองมาก รู้จักทักท้วงมันบ้าง จะว่าไปแล้วคนที่ถูกมิจฉาชีพหลอก 100 ทั้ง 100 นี่ ลึก ๆ ก็เพราะเชื่อความคิดของตัวเอง ไม่มีการทักท้วง อาจจะเป็นเพราะมีความอยากหาย อาจจะเป็นเพราะมีความโลภ อาจจะเป็นเพราะความกลัว พอเชื่อความคิด เชื่ออารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมา ก็เลยเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย
มันต้องทักท้วงความคิดตัวเองบ้าง อย่าไปเชื่อทุกอย่าง โดยเฉพาะเวลาที่เราจนตรอก เวลาที่เรามีความทุกข์ มันจะมีความเชื่อบางอย่างทำให้เราหลง ไม่ยอมรับความจริง ทั้ง ๆ ที่ความจริงมันแสดงข้อเท็จจริง มันแสดงตัวชัดเจน แต่ว่าไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมรับ เพราะมันเชื่อความคิดของตัวเอง ตรงนี้ต่างหากที่น่ากลัวกว่า.