พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 21 มิถุนายน 2567
พวกเราที่เป็นชาวพุทธควรหาโอกาสมาวัดบ้าง อย่ารอให้คนอื่นหามเราเข้ามาวัด ถึงไปตอนนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะว่าหมดลมไปแล้ว จะรอให้เขาหามมาเพื่อประกอบพิธีศาสนา มาในลักษณะนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลยหรือมีประโยชน์ก็น้อย
สู้เดินเข้าวัดเองขณะที่ยังมีลมหายใจดีกว่า และเมื่อมาวัดทั้งที ก็อย่ามาเพียงแค่ใส่บาตร ถวายสังฆทาน หรือว่าทำบุญตามประเพณี มาแบบประเดี๋ยวประด๋าว มีประโยชน์แต่ก็น้อย เมื่อจะมาก็ควรจะมาให้นานกว่านั้น ค้างคืนได้ยิ่งดีโดยเฉพาะที่นี่ก็สามารถจะอยู่ค้างคืนได้
และไม่ใช่แค่คืนเดียวหรือวันเดียว ควรจะหาโอกาสอยู่ให้ได้หลายวัน ไม่ใช่เพื่อมาสวดมนต์ ถือศีล หรือว่ามาพักผ่อน สัมผัสกับความสงบจากธรรมชาติเท่านั้น มันก็มีประโยชน์อยู่ แต่ว่าเมื่อจะมาก็ควรจะใช้โอกาสนี้ปฏิบัติธรรมคือการเจริญสติหรือภาวนาด้วย
ใหม่ๆ นี่จะมีแรงต้านเยอะ โดยเฉพาะถ้ามาเองมาคนเดียว ไม่ได้มาเข้าคอร์ส เพราะว่าพอมาคนเดียวหรือแม้แต่มาหลายคน แต่ว่ามันไม่มีแบบแผนกำหนดการที่ทางวัดจัดให้ หลายคนก็ปล่อยตัวปล่อยใจตามสบาย แค่ไม่เอาโทรศัพท์มาไถก็เก่งแล้ว แต่ว่าถ้าหากว่าตั้งใจจริงๆ มาวัดก็ควรจะใช้โอกาสนี้เจริญสติ ยิ่งถ้ามาร่วมคอร์สที่เขาจัดไว้รองรับอยู่แล้วก็ยิ่งดี เพราะว่ามีเพื่อนร่วมปฏิบัติด้วย
และใหม่ๆ ก็ต้องทำใจว่ามันจะฟุ้งมากเลย แต่ถ้าหากว่าไม่ได้คาดหวังที่จะบังคับจิตให้สงบ การที่ใจฟุ้งมันก็ไม่ได้ก่อความทุกข์ให้กับเราเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าทำไปๆ อาจจะรู้สึกเบื่อบ้าง อาจจะรู้สึกง่วงบ้าง แต่ถ้าเราเห็นคุณค่าของการปฏิบัติโดยเฉพาะมีเพื่อนปฏิบัติด้วยนี่มันก็เกิดกำลังใจ
คนเราบางครั้งทำอะไรคนเดียวก็ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง มีกำลังใจเท่าไหร่ เหมือนกับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ถ้าออกกำลังกายคนเดียวก็ทำได้ไม่นาน แต่ว่าทำกันเป็นกลุ่ม วิ่งด้วยกันหลายคน หรือว่าไปออกกำลังกายแบบแอโรบิก 20-30-50 คน ออกกำลังกายด้วยกัน หรืออออกกำลังกายในลักษณะใดก็ตาม ที่สวนลุมฯ อย่างนี้ บรรยากาศพาไป บางทีอาจจะอยากจะเลิกแต่เห็นคนอื่นเขาทำก็ต้องทำกับเขา ใหม่ๆ ก็อาจจะไม่ค่อยเต็มอกเต็มใจ ว่าไปตามกระแส แต่พอทำไปๆ ทำบ่อยๆ เข้า มันก็เกิดความคุ้นเคย ทำให้การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
เวลาเรามาปฏิบัติที่นี่ถ้าหากว่าเรามีโอกาสปฏิบัติหลายวัน จะไม่มีคำว่า สูญเปล่า หรือ เปล่าประโยชน์ แม้ว่าเวลาที่ปฏิบัติส่วนใหญ่จะหมดไปกับความฟุ้งหรือความหลง แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้ว่า เราชอบหลง แต่ก่อนไม่รู้เลย การที่เรารู้ว่าเราชอบฟุ้งชอบหลง มันก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง แต่ว่าเราจะรู้อะไรได้มากกว่านั้นอีกเยอะถ้าทำไปเรื่อยๆ
ถ้าสังเกตจะพบว่า ความคิดนี่เป็นเรื่องที่คุมไม่ได้เลย หรือพูดรวม ๆ คือ ใจเราไม่อยู่ในอำนาจการควบคุมของเราเลย อยากให้ใจสงบ อยากให้ใจไม่ฟุ้งแต่มันก็ฟุ้ง จะคิดเมื่อไหร่เราก็บอกไม่ได้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอีก 15 วินาทีข้างหน้านี่จะคิดหรือเปล่า ขนาดนั่งฟังบรรยายนี้ ตั้งใจว่าจะฟังให้ต่อเนื่อง ประเดี๋ยวไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว
คนเรามีความสามารถในการหลงหรือลืมได้ง่ายเหลือเกิน ลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่แต่ลืมของ ไม่ใช่ลืมรองเท้า ไม่ใช่ลืมกระเป๋าโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ที่สำคัญคือ ลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ ความสามารถในการลืมแบบนี้หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเราหลงลืมได้ง่ายเหลือเกิน ซึ่งมันก็ดีทำให้เรารู้ตัวว่า ความหลงเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้ คิดว่าจะไม่หลง คิดว่าจะไม่ลืม อ้าว เดี๋ยวลืมแล้ว
การตระหนักอย่างนี้ทำให้เราตั้งใจหรือกำหนดจริงจังมากขึ้น แม้ว่าใจรวมทั้งความคิดและอารมณ์จะไม่อยู่ในการควบคุมของเรา แต่เราฝึกได้ หรือว่าถ้าเราฝึกใจให้มีสติ สติจะช่วยกำกับความคิด แล้วก็กำกับอารมณ์ไม่ให้มาบงการจิตใจของเรา หรือทำให้เราหลง ทำให้เราลืมหนักขึ้นโดยเฉพาะลืมตัว ในขณะเดียวกันเราก็พบว่า ความคิด จิตใจ อารมณ์พวกนี้ มันไม่เที่ยงเอาเสียเลย บางเรื่องนี่คิดเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย แต่ประเดี๋ยวเดียวลืมมันแล้ว
การที่มันลืมแปลว่ามันไม่เที่ยง มาแล้วก็ไป อารมณ์บางอย่างเราหงุดหงิด ประเดี๋ยวเดียวอารมณ์ที่เกิดขึ้นมาแทนที่กลับกลายเป็นความดีใจ เพราะมันนึกถึงอะไรบางอย่าง เมื่อกี้ยังหงุดหงิดอยู่เลยแต่ตอนนี้สบายใจแล้ว หรือเมื่อกี้ยังสบายใจอยู่เลยแต่ตอนนี้ขุ่นมัวเสียแล้ว นี่ก็เป็นความรู้ คือ มันไม่เที่ยง แม้อารมณ์ที่มันรุนแรง ไม่ว่าดีใจ เสียใจ ฟูหรือแฟบ มันไม่เที่ยงเอาเสียเลย จะมาตอนไหนก็ไม่รู้ จะไปตอนไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน
ถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จะเห็นเลยว่า ความคิดนี่แม้ว่ามันจะยืดจะยาวเป็นสาย แต่จะมีจุดหนึ่งที่เกิดความระลึกได้ หรือความรู้ตัวขึ้นมา พอรู้ตัวขึ้นมานี่ ความคิดที่ยืดยาวเป็นสายสะดุดเลย เหมือนกับว่าจิตหลุดจากความคิด หรือกระแสความคิดนั้น
คนเรานี่ไม่ใช่ว่าจะหลงไปได้ตลอด จะหลงไปถึงจุดหนึ่งหรือฟุ้งไปในจุดหนึ่ง ก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา หรือรู้ตัวว่าเผลอไป แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ จิตจะกลับมา กลับมาอยู่กับการปฏิบัติ กลับมาอยู่กับการทำในสิ่งนั้นๆ ในปัจจุบันขณะ เช่น ฟังบรรยายหรือสวดมนต์ ขณะที่ฟังบางช่วงใจลอย คิดถึงลูก คิดถึงงานการ แต่แล้วความคิดนี่ก็เกิดหยุด สะดุด เพราะเกิดความรู้ตัว ตรงนั้นแหละแปลว่าสติทำงานแล้ว
สติ คือความระลึกได้ เมื่อเราระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ นั่นคือสติ และการปฏิบัติของเราก็คือทำให้เกิดความระลึกได้บ่อยๆ จะระลึกได้บ่อยๆ ก็ต้องทำเยอะๆ ให้เวลามากๆ ชั่วโมงแรกๆ อาจจะรู้สึกตัวหรือระลึกได้แค่ 6-7 ครั้ง ที่เหลือคือฟุ้ง แล้วก็หลง แต่พอเราทำบ่อยๆ ทำเยอะๆ จะระลึกได้บ่อยขึ้น ไม่ใช่ 5-6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง แต่ว่าอาจจะ 9 หรือ 10 ครั้งใน 1 ชั่วโมง และถ้าทำต่อไปอีกวันรุ่งขึ้นก็อาจจะระลึกได้ไม่ใช่ 9 หรือ 10 ครั้งแล้ว แต่ 15 ครั้ง แปลว่าอะไร แปลว่าความคิดมันสั้นลงๆ
เคล็ดลับของการปฏิบัติก็คือ เคล็ดลับของการเจริญสติก็คือทำให้ความรู้สึกตัวมันเกิดขึ้นบ่อย ทำให้ความระลึกได้เกิดขึ้นบ่อยๆ จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ คือต้องทำเยอะๆ แล้วก็ทำแบบไม่ได้คาดหวัง เพราะถ้าคาดหวัง ไปจ้อง ไปเพ่ง ไปทำงานแทนสติ แทนที่จะปล่อยให้สติทำงาน ก็อาจจะไม่ได้ผลเท่าไหร่ ต้องให้สติมันทำงานเอง หรือเกิดความระลึกขึ้นมาได้เอง สิ่งที่เราทำได้คือให้โอกาสสติเขาได้ทำงานบ่อยๆ ให้โอกาสสติทำงานบ่อยๆ คือการที่เราให้เวลากับการปฏิบัติเยอะๆ
เพราะฉะนั้นการทำเยอะๆ หรือว่าการเอาปริมาณเป็นหลักไว้ก่อนเป็นพื้นฐานสำคัญของการปฏิบัติโดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้น ทำเยอะๆ แล้วมันก็จะระลึกได้บ่อยๆ ระลึกได้บ่อยๆ สติมันก็จะทำงานได้เร็วขึ้นๆ แล้วต่อไปความหลงมันก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง ความคิดที่ฟุ้ง ที่ไม่ตั้งใจคิด มันก็จะหดสั้นลง ๆ
แต่ว่าเราจะทำแบบนี้เฉพาะเวลาอยู่วัดไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็ต้องกลับบ้าน มาเข้าคอร์สอยู่ได้แค่ 7 วัน หรืออาจจะสั้นกว่านั้นด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญก็คือว่า กลับไปแล้วต้องทำต่อ หลายคนแม้รู้ว่าการปฏิบัติดี การเจริญสติดี แต่พอกลับไปถึงบ้านก็ปล่อยปละละเลย หรือทำแบบกระพร่องกระแพร่ง ทำแบบขอไปที อาจจะเป็นเพราะว่าความเคยชิน ภารกิจการงานไม่ใช่แค่แย่งเวลาการปฏิบัติ แต่มันทำให้เราลืมการปฏิบัติ
ที่บอกว่าการปฏิบัติไม่ได้แย่งเวลา เพราะว่าไม่ว่าเราทำอะไรก็สามารถปฏิบัติได้ ไม่ได้ต้องใช้เวลาพิเศษ จริงอยู่การปฏิบัติในรูปแบบนี่ต้องใช้เวลาที่จัดให้เป็นพิเศษ อย่างเช่นตื่นนอนขึ้นมา ก็สร้างจังหวะ เดินจงกรม อาจจะ 10 นาที 20 นาทีก็แล้วแต่ ซึ่งต้องจัดเวลาให้เขา แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติที่กลืนไปกับชีวิตประจำวันนี่ไม่ต้องจัดหาเวลาพิเศษเลย ทำอะไรก็ให้เป็นการปฏิบัติในตัว เช่น เก็บที่นอน ล้างหน้า ถูฟัน ล้างจาน กินข้าว กวาดบ้าน พวกนี้เราทำอยู่แล้ว เรามีเวลาให้กับมันอยู่แล้ว เราก็แค่เติมสติลงไป เติมสติลงไปกับการปฏิบัติ ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ทั้งวันยิ่งดีเลย
แต่ใหม่ๆ มันยาก แม้ว่าตั้งใจว่ากลับไปบ้านเราจะทำทั้งวันเลย หรือว่าเราจะพยายามมีสติกับทุกงาน ทุกกิจกรรม ทุกอิริยาบถ ตลอดทั้งวัน แต่พอกลับไปบ้าน กลับไปสู่วิถีชีวิตเดิมๆ ลืมไปเลย ลืมแม้กระทั่งความตั้งใจ เพราะว่ามันมีเรื่องคิด มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ มีสิ่งที่มากระตุ้นเร้าจนลืมตัว แค่เปิดโทรศัพท์มือถือก็ลืมไปแล้ว ว่าเราจะพยายามมีสติกับการเสพข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือ
ฉะนั้น การที่คนเรา ใหม่ๆ จะมีสติหรือตั้งใจปฏิบัติเจริญสติตลอดทั้งวันเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นตัวช่วยเราได้ก็คือ ลองเลือกมาว่ากิจกรรมอะไรบ้างที่เราตั้งใจจะเจริญสติ ไม่ให้ลืม ไม่ให้คลาด ไม่ให้เคลื่อน ไม่ต้องมาก เอาแค่ 5 อย่างหรือ 6 อย่าง เช่น เมื่อเราตื่นนอน เวลาเราเก็บที่นอน เราก็จะมีสติ เราจะไม่คิดเรื่องอื่นเลย
อย่างแต่ก่อนเก็บที่นอนไปก็คิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ แต่ตอนที่เราตั้งใจว่า หนึ่ง เมื่อเก็บที่นอนเราจะมีสติอาการเก็บที่นอน หรือ สอง เวลาเราล้างหน้า ใจเราก็อยู่กับการล้างหน้า จะไม่หาเรื่องคิด สาม เวลาถูฟัน เราก็จะไม่คิดเรื่องอื่นเลย มีการกำหนดหรือว่ามีสติอยู่กับการถูฟัน
ต่อมาก็อาบน้ำ ไม่ว่าอาบน้ำนานเท่าไหร่เราก็จะมีสติอยู่การอาบน้ำ จะไม่หาเรื่องคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานการ หรือทำครัว หรือให้ดีกว่านั้นเวลากินข้าว เราก็ตั้งใจ เวลากินข้าวนี่เราจะไม่ทำอย่างอื่น ไม่เปิดโทรศัพท์ ไม่ดูข้อความ เราตั้งใจแบบนี้แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำได้ เพราะว่านิสัยความเคยชินเดิม ๆ เก็บที่นอนก็ใจลอย อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้าก็ใจลอย แต่อย่างน้อยเราจะระลึกได้เร็วว่า เราตั้งใจว่าเวลาทำกิจพวกนี้ 5-6 อย่างนี้ เราจะพยายามมีสติ ไม่คิดอะไร
แค่ความตั้งใจมันก็ช่วยได้เยอะ เพราะถึงแม้ว่าเวลาอาบน้ำ ถูฟัน ใจมันลอย มันลืมเลยเรื่องการมีสติ แต่ว่าพออาบน้ำเสร็จนึกขึ้นได้ เราตั้งใจจะมีสติแต่เราลืมไปเลย วันรุ่งขึ้นเราก็จะทำอีก แม้มันจะลืมแต่ว่าอาจจะระลึกได้เร็ว แต่ก่อนนี่ วันก่อนนี่อาบน้ำไปเรียบร้อยแล้วเพิ่งนึกได้ว่าเราจะเจริญสติระหว่างอาบน้ำ แต่วันนี้อาบน้ำไปเกือบจะเสร็จแล้วเพิ่งนึกได้ว่าเราจะมีสติกับการอาบน้ำ ความระลึกได้ ความรู้สึกตัวจะมาเร็วขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะโดนความหลงกินไป 80-90% ของเวลาที่อาบน้ำ หรือกินข้าว
แล้วถ้าเรากำหนดแบบนี้ เลือกมา กิจวัตรกิจกรรมใน 1 วันเราจะเลือกมาสัก 6-7 อย่างที่เราตั้งใจจะมีสติ ที่เหลือนอกนั้นก็ถ้ามีสติได้ก็ดี แต่ว่าไม่มีสติก็ไม่เป็นไร หากถ้าเราเลือก 6-7 อย่าง และตั้งใจจะให้มีสติ มันก็จะเริ่มมีสติมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วพอ 6 อย่างหรือ 7 อย่างที่เราเลือกมานี่เรามีสติเป็นส่วนใหญ่ หลังจากพยายามมาเป็นเดือน ต่อไปสติก็จะมีโอกาสที่จะแพร่ไปสู่กิจกรรมอื่น เช่น ตอนที่ล้างจานเราก็จะเริ่มมีสติแล้ว หรือว่ากวาดบ้านเราก็จะเริ่มมีสติแล้ว หรือว่ารดน้ำต้นไม้เราก็จะเริ่มมีสติแล้ว
สติ ก็เริ่มกระจาย แพร่ไปสู่กิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มต้นจาก 6-7 อย่างที่เราตั้งใจว่าจะทำให้ได้ พอทำทั้งวัน พอทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ เป็นเดือน 6-7 อย่างที่เราเลือกมา เราก็จะมีสติ ไม่มากก็น้อย อาจจะครึ่งหนึ่งที่รู้สึกตัว ที่เหลือก็หลง ฟุ้ง แต่ว่ามันก็ทำให้การปฏิบัติของเรานี่เริ่มจะมีสติ มีการปักธงแห่งสติในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นจากกิจกรรม 6-7 อย่างที่มีการปักธงของสตินี้ ต่อไปมันก็จะกระจายไปสู่กิจกรรมอื่นมากๆ ขึ้น
อันนี้คือสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นไปได้ง่ายกว่าที่เราตั้งใจไว้ว่าทั้งวันว่าเราจะพยายามมีสติตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ถ้าเราไม่มีการกำหนดเอาไว้ หรือเลือกว่ากิจกรรมไหนบ้างที่เราจะตั้งใจมีสติเป็นพิเศษ มันก็จะกลายเป็นว่าเราเผลอทั้งวันเลยไม่ว่าทำอะไรก็ตาม และพอเป็นอย่างนี้ 4-5 วัน 6 7 วันเราก็จะเริ่มท้อแล้ว เพราะมันไม่มีความก้าวหน้า แต่ถ้าเราตั้งใจเลือกเลย ในวันหนึ่งเราจะมีสัก 6-7 อย่างที่เราจะพยายามมีสติ มีความรู้สึกตัว จะไม่หาเรื่องคิด ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า แต่งตัว หรือว่ากินข้าว ล้างจาน เลือกเอาเลยตามถนัด
แล้วพอเราปักธงให้กับกิจกรรม 6 - 7 อย่างนี้แล้ว ต่อไปสติก็จะกระจายไปสู่กิจกรรมอื่นได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ใจร้อน ภายใน 1 ปี 6 เดือนนี่เราจะรู้สึกว่า ทำอะไรมันก็จะเริ่มมีความรู้สึกตัวมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ 100% อาจจะไม่ถึง 50% แต่ว่าทุกกิจกรรมเลยตั้งแต่เช้าตื่นขึ้นมาจนเข้านอน มันจะมีความรู้สึกตัวเจือปน หรือจะมีสติซึมทราบอยู่ และต่อไปการปฏิบัติก็จะก้าวหน้า
คราวนี้มันจะไม่ใช่แค่ว่ารู้กายเคลื่อนไหว ต่อไปมันจะเห็นใจคิดนึก ใจคิดนึกอะไรก็รู้ทัน แต่ก่อนก็แค่เห็นกายเคลื่อนไหว ล้างหน้า ถูฟัน กินข้าว ล้างจานพวกนี้ เห็นกายเคลื่อนไหว แต่ต่อไปมันจะเห็นใจคิดนึก สติมันจะเร็วขึ้น แล้วความรู้สึกตัวจะกลายเป็นส่วนของชีวิตประจำวันของเราได้ง่ายขึ้น ถ้าเราทำอย่างนี้เราจะเห็นผลได้เร็วโดยที่เราไม่ต้องหน้าดำคร่ำเคร่งกับการปฏิบัติเลย.