พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 13 มิถุนายน 2567
คนเรามาวัดด้วยเหตุผลแตกต่างกัน บางคนมาเพื่อเที่ยวเห็นสิ่งแปลกหูแปลกตา เสร็จแล้วก็ถ่ายรูป แล้วก็ไป แต่บางคนมาทำบุญ อีกส่วนหนึ่งมาเพื่อปฏิบัติธรรม
หากว่าเรามาวัดเพื่อปฏิบัติธรรม สิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ การสร้างนิสัยใฝ่รู้
ใฝ่รู้นี้ ไม่ใช่แค่รู้ข้อธรรมคําสอนจากครูบาอาจารย์ จากพระไตรปิฎก อันนั้นก็มีประโยชน์อยู่ และมีประโยชน์มากด้วย แต่ใฝ่รู้อีกอย่างหนึ่งคือ ขยันรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ อันนี้เป็นการรู้โดยไม่ต้องพึ่งพิงตําราหรือครูบาอาจารย์ก็ได้
นิสัยใฝ่รู้ เราต้องทำให้มีขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นจะโดน นิสัยใฝ่เสพ มาครอบงำ
คนเราทุกวันนี้บ่มเพาะนิสัยใฝ่เสพมากทีเดียว เสพในที่นี้ไม่ใช่แค่เสพอาหารที่อร่อย ฟังเพลงเพราะ หรือว่าเสพข้อมูลข่าวสาร เสพความบันเทิง เสพความตื่นเต้นเร้าใจจากวิดีโอเกม หลายคนมาวัดก้าวพ้นจุดนั้นไปแล้ว หรืออาจจะยังมีความใฝ่เสพในเรื่องอาหารอร่อย เพลงเพราะอยู่บ้าง แต่อาจจะมีความใฝ่เสพอย่างอื่น
ใฝ่เสพความสะดวกสบาย มาวัดแล้วต้องมีกุฏิที่สะอาดโอ่โถง มีห้องน้ำในตัว มีไฟฟ้า น้ำไหล ไฟสว่าง อันนี้เป็นนิสัยใฝ่เสพอย่างหนึ่งที่สวนทางขัดขวางการปฏิบัติ และเป็นปฏิปักษ์กับความใฝ่รู้ด้วย
ใฝ่เสพอีกอย่างหนึ่งที่เป็นกันมากคือ เสพความสงบ หลายคนเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง ที่อร่อย ไพเราะ น่ายินดี อาจจะไม่ค่อยหลงเท่าไรแล้ว อาจจะพอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย แต่อาจจะติดนิสัยไฝ่เสพที่มักจะเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติจำนวนมากคือ ใฝ่เสพความสงบ
ความสงบในที่นี้ไม่ใช่แค่ความสงบจากสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีคนพูดคุยให้รําคาญใจ แต่รวมถึงความสงบภายใน ซึ่งหมายถึงการที่ไม่มีความคิดมารบกวน ไม่มีอารมณ์มารุมเร้า อันนี้เป็นความใฝ่เสพอย่างหนึ่ง ถึงแม้หลายคนอาจจะไม่ได้สนใจอาหารอร่อย เรื่องหนังสนุกสนานไม่สนใจแล้ว เพลงไม่ได้ฟังแล้ว แต่ว่ายังปรารถนาที่จะเสพความสงบ ซึ่งอันนี้คนละอย่างกับความใฝ่รู้
ใฝ่รู้ หมายความว่า ขยันรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้นก็รู้อย่างเดียว มีความโกรธเกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นความรู้อย่างหนึ่ง มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นความรู้อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อมองว่าเป็นความรู้ก็ไม่ผลักไส แต่ก็ไม่หลงเข้าไปในอารมณ์เหล่านั้น
ใฝ่รู้แบบนี้ไม่ต้องใช้ความคิด ไม่เหมือนใฝ่รู้ข้อธรรมคําสอนของครูบาอาจารย์หรือคําสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก อันนี้ต้องใช้ความคิดหน่อย ซึ่งมีประโยชน์
แต่ว่าใฝ่รู้ที่สำคัญคือ รู้โดยไม่ต้องคิด แค่รู้เฉย ๆ เป็นการรู้ที่อาศัยการเห็น การดู ด้วยอะไร ด้วยสติ ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชังว่าความคิดแบบนี้เอา ความคิดแบบนี้ไม่เอา เช่น ความคิดเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีต ความทรงจำที่เจ็บปวด ถูกทรยศหักหลัง สูญเสียทรัพย์เพราะมีคนโกง พอคิดเรื่องพวกนี้ขึ้นมาก็ผลักไสออกไป เพราะอะไร เพราะทำให้ใจไม่สงบ
แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่ได้มีนิสัยใฝ่เสพ คือเสพความสงบ แม้จะมีความคิดแบบนี้เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นความรู้ รู้อย่างแรกคือรู้ว่ามีความคิดแบบนี้อยู่ในใจ รู้ว่ามันมีอยู่ นี่ก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง ต่อไปอาจจะรู้ว่า มันมาแล้วก็ไป นี่ก็เป็นความรู้ ความคิดหรืออารมณ์ต่าง ๆ มาแล้วก็ไป แล้วเราควรจะรู้ธรรมชาติของมันด้วย ไม่ใช่แค่รู้ว่ามันมีอยู่ แต่รู้ว่ามันไม่เที่ยง
และต่อไปก็รู้ว่า มันไม่ใช่เรา ความคิดและอารมณ์พวกนี้ไม่ใช่เรา ถ้าเราไม่ขยันรู้ ไม่ขยันดู พอมีความคิดหรืออารมณ์เหล่านี้ขึ้นมาก็เผลอยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา จึงเกิดความไม่สงบ เกิดความรุ่มร้อน แล้วทำอย่างไร ก็พยายามผลักไส กดข่มความคิดและอารมณ์เหล่านั้น แต่ทำเท่าไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ ยิ่งหงุดหงิดหัวเสียเข้าไปใหญ่ ยิ่งอยากได้ความสงบกลับไม่ได้
แต่ถ้าเราหันมาสร้างนิสัยใฝ่รู้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจเป็นความรู้ทั้งนั้น
หลวงพ่อคำเขียนท่านเปรียบเปรยว่า ให้มีสติเป็นนักศึกษา ส่วนกายและใจเป็นตํารา นักศึกษาที่ว่านี้ไม่ต้องใช้ความคิดอะไร แค่ขยันรู้ในความหมายที่ว่า รู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนาที่เกิดกับกาย ความยินดียินร้ายที่เกิดกับใจ ชอบ ชัง โกรธ หงุดหงิด ดีใจ ปลาบปลื้ม
ถ้าหากว่าเป็นผู้ใฝ่เสพจะคอยเก็บหรืออยากได้ความเบิกบาน ความแจ่มใส ความยินดี แต่ถ้าเป็นความหม่นหมอง ความหงุดหงิด ไม่เอา แล้วทำอย่างไร กดข่มมัน ผลักไสมัน แล้วยิ่งถูกมันรบกวนรังควาน
นิสัยใฝ่เสพสุดท้ายก็สร้างปัญหา อยากได้ความสงบกลับไม่ได้ แต่พอใฝ่รู้ แค่รู้เฉย ๆ ว่ามันเกิดขึ้น ความโกรธ ความหงุดหงิด ความเศร้าเกิดขึ้นก็เป็นความรู้ แล้วรู้เฉย ๆ ก็ไม่มีความทุกข์ แถมเกิดปัญญาขึ้นมา เพราะว่าไม่ใช่แค่รู้ว่ามันมีอยู่ แต่รู้ว่ามันเกิดขึ้นแล้วดับไป และรู้ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเกิดขึ้นก็ช่างมัน
ต่อไปจะเห็นหรือรู้ธรรมชาติของมันอีกมากมาย เช่น รู้ว่าความโกรธเกิดขึ้นเพราะมีเหตุมีปัจจัย เหตุปัจจัยนี้คืออะไร คือความคิด คิดถึงการกระทำหรือคําพูดของใครบางคนก็โกรธ คิดถึงเหตุการณ์บางอย่างก็เศร้าเสียใจ หรือว่าคิดอะไรบางอย่างก็เกิดความหงุดหงิดหัวเสีย วิตกกังวล มันไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มีเหตุมีปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้แก่ความคิดเกี่ยวกับอดีตบ้าง เกี่ยวกับอนาคตบ้าง
จริงอยู่ อารมณ์บางอย่างเกิดจากการกระทบในปัจจุบัน เช่น เสียงที่มากระทบ เสียงด่าว่า เสียงตําหนิกระทบหู โกรธ แต่ถ้าหากว่าเป็นผู้ใฝ่รู้จะไม่มัวแต่หงุดหงิดหัวเสีย คิดตอบโต้แก้แค้น แต่จะมาพิจารณาว่าโกรธเพราะอะไร โกรธเพราะเขามากระทบอัตตาของเรา มาทำให้ภาพลักษณ์ของเราดูไม่ดีในสายตาคนอื่น จะเห็นได้ว่าที่โกรธเป็นเพราะมีความยึดมั่นถือมั่นในภาพลักษณ์ ในตัวตน
คือบางทีโกรธเพราะเขามาวิจารณ์รถของเรา วิจารณ์เสื้อผ้าของเรา ถ้าเป็นผู้ใฝ่รู้จะเห็นเลย โอ้ เป็นเพราะความยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา
คําพูดของเขาจะไม่มีความหมายอะไรกับเราเลยถ้าเราไม่ได้ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นเรา เป็นของเรา เสื้อผ้าของเรา รถยนต์ของเรา ลูกของเรา อันนี้เกิดขึ้นจากความใฝ่รู้ รู้ไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นธรรมชาติ ความจริงของกายและใจ ของอารมณ์ ความคิดต่าง ๆ
เริ่มต้นมาจากการรู้ว่ามีความโกรธอยู่ มีความโศกอยู่ มีความหงุดหงิดอยู่ แต่ก่อนเกิดขึ้นแล้วไม่รู้ แทนที่จะรู้ก็หลง หลงเข้าไปในอารมณ์เหล่านั้น แล้วพอปรารถนาความสงบ ใฝ่เสพความสงบ พอเกิดหลงเข้าไปในความโกรธ ในความหงุดหงิด จิตใจจึงรุ่มร้อน เกิดทุกข์ ยิ่งไม่พอใจ
ความใฝ่รู้เราต้องสร้างให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม อะไรเกิดขึ้นกับกายก็รู้ แม้กระทั่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น แค่กายขยับตัวเคลื่อนไหวก็รู้
ถ้ารู้กายต่อไปจะไปรู้ความคิด อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า ดูกายเห็นจิต ตัวใจมารับรู้กายที่เคลื่อนไหว แต่ประเดี๋ยวเดียวเผลอ เผลอไปคิดโน้นคิดนี่ก็เห็นใจที่มันเผลอ ใจที่มันวอกแวก อันนี้เรียกว่า ดูกายเห็นจิต จิตที่มันวอกแวก จิตที่มันเถลไถล หลุดจากความรู้เนื้อรู้ตัว
ทีนี้ ต่อไปถ้าดูจิตก็จะเห็นธรรม เห็นว่ามันไม่เที่ยง เห็นว่ามันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เห็นว่ามันมีเหตุมีปัจจัย ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอย ๆ อย่างตอนนี้จะให้เราโกรธ เราก็ไม่รู้สึกว่าจะโกรธได้ จะให้เราเศร้าก็เศร้าไม่ได้ จนกว่าจะคิดอะไรสักเรื่องหนึ่ง คิดถึงใครบางคน คิดถึงเหตุการณ์บางอย่างจึงจะโกรธ จึงจะเศร้า อันนี้เรียกว่ามันเกิดขึ้นเพราะมีเหตุมีปัจจัย เรียกว่าเห็นธรรม สัจธรรม ความจริงว่าทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัย
ธรรมทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุ นี่คือสัจธรรม ถึงเรียกว่า ดูจิตเห็นธรรม ไม่ว่าจิตหรืออารมณ์จะเป็นกุศลหรืออกุศล แม้จะเป็นปฏิฆะ พยาบาท ความโกรธ ความโลภ ถ้าเราขยันรู้ ไม่เลือกที่รักมักที่ชังว่า อย่างนี้เอา อย่างนี้ไม่เอา เราจะเห็นธรรมจากนิวรณ์ต่าง ๆ จากอกุศลธรรมหรืออารมณ์อกุศลที่เกิดขึ้นในใจ
และต่อไป เราก็เอานิสัยใฝ่รู้มาใช้เวลาเราเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคําต่อว่าด่าทอกระทบหู เราก็เห็น เราก็รู้ว่ามีความโกรธเกิดขึ้น มีความหงุดหงิดเกิดขึ้น แล้วเกิดเพราะอะไร หรือเวลาทำงานล้มเหลว เสียใจ แทนที่จะมัวทุกข์ ซึ่งเป็นนิสัยของผู้ใฝ่เสพ ใฝ่เสพความสำเร็จ
คนที่ใฝ่เสพความสำเร็จ เจอความล้มเหลว โวยวาย ตีโพยตีพาย แต่คนใฝ่รู้เมื่อเจอความล้มเหลวเขาจะได้บทเรียน ได้รู้ว่าผิดพลาดเพราะอะไร รวมทั้งได้เห็นใจ ได้รู้อาการที่เกิดขึ้นกับใจเวลามีความล้มเหลวเกิดขึ้น อันนี้เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ และคนที่ใฝ่รู้ แม้กระทั่งใฝ่รู้ในทางโลก เขาจะเป็นคนที่ทุกข์น้อย หรือทุกข์ได้ยากเวลาเจอความล้มเหลว
อย่าง โธมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบหรือประดิษฐ์หลอดไฟที่ให้แสงสว่างแก่คนทั้งโลกมาร้อยกว่าปี หลอดไฟสมัยนั้นต้องใช้ใส้ที่มีแรงต้านทาน เวลาปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปจะเกิดแรงต้าน และจะสว่าง
สว่างอย่างเดียวไม่พอ ต้องทนด้วย เขาใช้เวลาในการหาวัสดุเพื่อจะทำไส้หลอดไฟ ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นร้อย ๆ ครั้ง แต่เขาบอกว่า ผมไม่ได้ล้มเหลว ผมแค่รู้ว่าวิธีใดที่ใช้ไม่ได้ ไม่ได้ผล ไม่มีคําว่าล้มเหลว มีแต่ได้ความรู้ ได้กําไร อันนี้เป็นนิสัยของคนใฝ่รู้
เด็กที่ใฝ่รู้จะไม่ทุกข์ ไม่เครียดกับการสอบ จะได้คะแนนเท่าไร ได้เกรดเท่าไร เขาไม่ทุกข์ ไม่วิตก เพราะว่าเขาได้ความรู้แล้ว ใฝ่รู้ทำให้ใฝ่ธรรม เด็กที่ใฝ่รู้เขาจะขยัน อ่านหนังสือ ค้นคว้า สอบถามผู้คน สํารวจโลกรอบตัว ใฝ่รู้นําไปสู่การใฝ่ธรรม ซึ่งเราสามารถจะสอนลูกสอนหลานของเราได้
เวลาเขาทำอะไรล้มเหลวขึ้นมา แทนที่จะไปต่อว่าเขา เล่นบอลแพ้ได้ที่สอง พ่อแม่ที่ไม่เก่ง ไม่เข้าใจจะต่อว่าลูกว่าไปแพ้เขาได้อย่างไร แต่พ่อแม่ที่เข้าใจ ครูที่เข้าใจจะถามลูกหรือลูกศิษย์ว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ทําไมถึงแพ้ เดี๋ยวเขาจะบอกว่าเป็นเพราะยังเตรียมตัวไม่พอ หรือเป็นเพราะว่าประมาท หรือเป็นเพราะว่าวางแผนไม่ดี ได้ประโยชน์ ความใฝ่รู้ไม่ทำให้เกิดความทุกข์เวลาล้มเหลว
เช่นเดียวกัน เวลาเจ็บป่วยให้มีความใฝ่รู้ ไม่ใช่แค่รู้ว่าเราป่วยเพราะอะไร เราต้องคุมอาหาร ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อันนั้นเป็นรู้ในทางโลก แต่เราสามารถรู้ในทางธรรมได้ คือเห็นว่า โอ้ สังขารมันไม่เที่ยง สังขารมันเปราะบาง ทำให้ไม่ประมาทกับสังขารร่างกาย รวมทั้งได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ความรู้สึก
เช่น ตอนป่วยจะไม่ค่อยเบิกบาน จะหม่นหมอง ถ้าป่วยหนักเหมือนกับกลายเป็นคนละคนไปเลย ถ้าเป็นคนใฝ่รู้ เขาจะสังเกตใจของเรา อารมณ์ของเราสัมพันธ์กับร่างกายนะ และถ้าใฝ่รู้แบบนี้จะไม่ทำให้ตก หลงอยู่กับความหม่นหมอง ความห่อเหี่ยว ความไม่มีชีวิตชีวา สามารถที่จะยกจิตให้เป็นปกติได้ เพราะว่าเมื่อรู้ก็ไม่หลง เมื่อไม่หลงก็ไม่ถูกมันครอบงำ
ไม่ว่าจะรู้ด้วยสติ คือรู้ว่ามีอารมณ์ใดเกิดขึ้น เห็นความรู้สึกที่แปรเปลี่ยนไปเมื่อเจ็บป่วย หรือรู้ว่าสังขารร่างกายไม่เที่ยง เปราะบาง อันนี้ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น เรียกว่า รู้ทางธรรม ฉะนั้น มีแต่ได้
ถ้าสร้างนิสัยใฝ่รู้จะนําไปสู่นิสัยใฝ่ธรรม ถ้าเราใฝ่รู้ ขยันรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ยิ่งรู้ก็ยิ่งสนุก ยิ่งเพลิดเพลิน และยิ่งเกิดฉันทะในการเพียร ในการทำ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีความฟุ้งซ่าน บางครั้งใจไม่สงบเลย แต่ถ้าใฝ่รู้แล้ว ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน นี่ถือว่าได้กําไร
แต่ถ้าใฝ่เสพ ใฝ่เสพความสงบ พอฟุ้งซ่าน พอมีความคิดมาก ๆ หงุดหงิดหัวเสีย บางทีจะท้อ ไม่อยากปฏิบัติ ทำแล้วฟุ้งซ่าน ทำทีไรก็ฟุ้งซ่าน ความคิดเยอะเหลือเกิน
แต่นักปฏิบัติที่ใฝ่รู้ ความฟุ้งซ่านก็ให้ความรู้กับเรา เพราะว่าดูจิตก็เห็นธรรม จิตที่ฟุ้งซ่านก็สอนธรรมให้กับเราได้เยอะแยะ เช่นเดียวกับร่างกายที่ป่วยก็สอนธรรมให้กับเราได้เหมือนกัน.