พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 11 มิถุนายน 2567
เวลาอาตมาแสดงธรรมหรือบรรยาย บางครั้งก็อาจจะเผลอพูดผิดพูดพลาดโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับชื่อคน เดี๋ยวนี้ความจำเกี่ยวกับชื่อคนหรือว่าแม้แต่ชื่อธรรมะ องค์ธรรม บางทีก็นึกไม่ออก หรือว่านึกหรือจำผิด ๆ พลาด ๆ
อย่างเมื่ออาทิตย์ที่แล้วพูดถึงนักปราชญ์ฝรั่งเศสคนหนึ่ง ดีเดอโร เป็นนักปราชญ์ชื่อดังเมื่อ 250 ปีที่แล้ว อาตมาก็คุ้นกับชื่อนี้มา 30-40 ปีแล้ว เพราะว่าเป็นนักปราชญ์ที่สำคัญมากไม่ใช่ของฝรั่งเศสด้วย ของอารยธรรมตะวันตกเลย เป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับเดียวกับ วอลแตร์ มองเตสกิเออ ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสที่เรียกว่าเป็นนักปราชญ์ระดับโลก
แต่ว่าวันนั้นแทนที่จะพูดว่า ‘ดีเดอโร’ ก็ไปพูดว่า ‘เดอดีโร่’ อาจจะเป็นเพราะว่าชื่อต้นเขาชื่อ ‘เดอนี’ เดอนี ดีเดอโร แต่ว่าพอนึกชื่อต้น เดอนี ก็เลย เดอดีโร่ ไปด้วย หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าไปนึกถึงดาราคนหนึ่ง เดอนีโร (Robert De Niro) ดาราชื่อดัง ก็เลยแทนที่จะ ดีเดอโร ก็เป็น เดอดีโร่ ไป
ตอนที่พูดก็รู้สึกแปร่ง ๆ เหมือนกัน ไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ แต่ก็พูดไปหลายครั้งทีเดียว อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้ฟังว่าเวลาฟังบรรยายของอาตมาหรือของใครก็ตามก็อย่าไปเชื่อทั้งหมด ก็มีผิดมีพลาดบ้าง แม้แต่เอ่ยชื่อข้อธรรมบางทีก็พูดผิด สับสน ชื่อบุคคลในสมัยพุทธกาลบางทีก็นึกไม่ออกหรือว่าพูดผิดพูดพลาด
ระยะหลังนี้ก็เป็นบ่อยเพราะว่าพูดเยอะ บรรยายเยอะ ความผิดพลาดก็เลยมากตามไปด้วย ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของวัยด้วย เพราะว่าพออายุมากความจำโดยเฉพาะเกี่ยวกับชื่อคน หรือว่าชื่อที่เขาเรียกว่าอสาธารณนาม มันก็เริ่มผิดเพี้ยนไป
อันนี้ผู้ฟังนี้ก็ควรจะระลึกหรือตระหนักว่าเวลาฟังบรรยายของอาตมาก็ดี ของใครก็ดี อย่าไปเชื่อทั้งหมด ให้ตระหนักว่าอาจจะมีผิดมีพลาด ไม่ว่าจะเป็นชื่อคน ปี พ.ศ. หรือว่าตัวเลขต่าง ๆ อันนี้ก็เป็นการย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของหลักกาลามสูตร “อย่าเชื่อเพียงเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา” เดี๋ยวนี้เราเชื่อง่ายเกินไป อาจจะเป็นเพราะศรัทธาที่มีมาก หรือจะเป็นเพราะว่าไม่ค่อยมีเวลาตรวจค้น ถ้ามีเวลาตรวจค้นหรือว่าตรวจสอบสักหน่อยก็อาจจะพบว่า เออ อันนี้มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น หรือว่าอันนี้ก็ดูทะแม่ง ๆ
เราจะพบว่าสิ่งที่พูดไปหรือที่ได้ยินไปมันผิด แล้วไม่ใช่เฉพาะคำบรรยายของอาตมาหรือคำบรรยายของคนอื่น ข้อมูลข่าวสารที่เราได้อ่านก็มีผิดมีพลาดได้ ต้องเผื่อใจไว้ก่อน อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ฟัง
สำหรับผู้พูดควรมีท่าทีอย่างไรเวลาพูดผิดพูดพลาด อย่างแรกคือยอมรับความจริง ยอมรับความจริงว่า เออ ฉันพูดผิดไป เพราะถ้าไม่ยอมรับมันจะเกิดอาการอีกแบบหนึ่งคือโทษคนอื่น โทษโน่น โทษนี่ โทษคนอื่นว่า “มาทำให้ฉันเสียสมาธิ มาพูดรบกวน พอฉันเสียสมาธิ ฉันก็เลยพูดผิดไป” อันนี้ก็เป็นวิสัยของคนจำนวนไม่น้อยเวลาทำอะไรผิดพลาด หรือว่าทำสิ่งที่เขาเรียกว่าปล่อยไก่หรือหน้าแตกขึ้นมา แทนที่จะยอมรับ เออ ผิดพลาดไป ก็ไปโทษคนโน้นคนนี้ว่าเป็นตัวการ เป็นสาเหตุ หาแพะรับบาปนั่นเอง
หรือมิเช่นนั้นก็โกรธ โกรธคนที่รับรู้อยู่ในเหตุการณ์ ถ้าบังเอิญเขาเห็นว่าเราปล่อยไก่ เราทำอะไรที่ผิดพลาดเรียกว่าหน้าแตก เขาหัวเราะ เราก็โกรธเขา ไม่พอใจ ก็ไปโวยวายใส่คนที่อยู่ข้างหน้าเราหรือคนที่อยู่รอบตัวเรา นั่นไม่ใช่วิสัยของผู้ใฝ่ธรรม ที่จริงก็ไม่ใช่วิสัยของคนที่รู้จักแยกแยะว่าอะไรถูก-อะไรผิด เมื่อทำอะไรผิดพลาดหรือว่าเผลอปล่อยไก่ก็ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันจะเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา
เราก็เจอบ่อย บางทีพ่อแม่ทำผิดทำพลาดต่อหน้าผู้คนหรือครูบาอาจารย์ ปล่อยไก่ แทนที่จะยอมรับว่า เออ พ่อทำผิด แม่ทำผิด หรือครูทำผิด พูดผิดไป บางทีก็เล่นงานนักเรียนหรือเล่นงานลูกว่า “มาหัวเราะอะไร” เรียกว่าหาแพะรับบาป
แต่การที่เราจะไม่ทำอย่างนั้น หรือไม่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้น อย่างที่ 2 ที่เราควรทำ ก็คือว่าให้เรารักษาใจ อย่าให้ความรู้สึกเสียหน้ามาครอบงำจิตใจ หรือว่าอย่าให้ความรู้สึกเสียหน้ามาบงการจิตใจของเรา เพราะถ้าเกิดปล่อยให้ความรู้สึกเสียหน้ามาครอบงำจิตใจ มันก็อดไม่ได้ที่จะไปโทษคนโน้นคนนี้ หรือว่าเล่นงานคนรอบตัวที่เขาอยู่ในเหตุการณ์ เป็นธรรมชาติของอัตตา
อัตตานี้มันยอมรับไม่ได้เวลาทำอะไรผิดพลาด มันหวงแหนหน้าตามาก แล้วเมื่อใดที่มันรู้สึกเสียหน้า มันจะไม่พอใจ จะเป็นทุกข์ แล้วก็จะพยายามหาแพะรับบาป ฉะนั้นถ้าเราปล่อยให้ความรู้สึกเสียหน้ามาครอบงำใจ สิ่งที่ควรทำก็เลยไม่ได้ทำ สิ่งที่ควรทำก็คือยอมรับความจริง แล้วระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก หรือเอามาเป็นบทเรียน คนเราก็ผิดพลาดกันได้
ถ้าหากว่าเรายอมรับความผิดพลาด เราก็เอามาเป็นบทเรียน รวมทั้งรู้จักรักษาใจไม่ให้ทุกข์เพราะความรู้สึกเสียหน้า หลายคนจะทุกข์มากเวลาทำอะไรผิด ปล่อยไก่ หน้าแตก เป็นความทุกข์เพราะรู้สึกเสียหน้าซึ่งมันเป็นเพราะอำนาจของอัตตา อัตตานี้อย่างที่บอกมันหวงแหนหน้าตา มันต้องการแสดงประกาศว่ากูเก่ง กูแน่ กูถูก
เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไรผิดพลาด โดยเฉพาะถ้าเกิดรู้สึกว่าเสียหน้าหรืออับอาย มันจะเป็นทุกข์มากเลย แล้วก็พยายามแก้ทุกข์ด้วยการโทษคนอื่น ป้ายความผิดไปให้คนอื่นแทน จะได้สบายใจ ดังนั้นถ้าเราไปเชื่ออัตตา หลงอำนาจของอัตตา เราก็จะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง แทนที่จะเรียนรู้จากเหตุการณ์และปรับปรุงแก้ไข ก็เลยไปสร้างปัญหา
มันก็ธรรมดา ทุกคนเราก็มีอัตตา มีความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ฉะนั้นเวลาทำอะไรผิดพลาดต่อหน้าผู้คน โดยเฉพาะทำสิ่งที่เรียกว่าปล่อยไก่หรือหน้าแตก บางทีชาวบ้านเรียกว่าเสียเซลฟ์ มันจะทุกข์มาก แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสติไว เราก็จะเห็นสิ่งที่จะไม่ให้มีความรู้สึกเสียหน้านี้อาจจะยาก แต่ว่าถ้ามีสติเห็นมัน มันก็ทำอะไรจิตใจไม่ได้
แล้วถ้าหากว่าเราเป็นคนที่เห็นความสำคัญของการฝึกตนให้ลดละอัตตา หรือลดละความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา เห็นว่าความหลงในอัตตา ความยึดมั่นในอัตตาเป็นโทษ เราก็กลับจะมองว่าเป็นเรื่องดี เรื่องดีที่ได้ดัดนิสัยอัตตามั่ง มันรู้สึกทุกข์ที่เสียหน้า ก็ควรมอง “เออ ก็ดีเหมือนกัน อัตตานี้ต้องดัดนิสัยบ้าง ต้องทรมานมันมั่ง” ยิ่งมันทุกข์ก็ยิ่งดี มันจะได้เข็ดหลาบ แล้วจะช่วยทำให้ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตามันเบาบางลง
ฉะนั้นถ้าเราตระหนักว่าการดำเนินชีวิตของเรานี้ ก็มีงานส่วนหนึ่งคือการลด ละ ขัดเกลาอัตตาให้เบาบาง เราจะไม่ทุกข์เพราะความเสียหน้า เรากลับจะรู้สึกว่า “เออ ก็ดีเหมือนกัน เห็นอัตตามันทุกข์ มันทรมานก็ดีแล้ว เพราะว่าต้องดัดนิสัยมันบ้าง ไม่ให้มันเหิมเกริม” อันนี้เป็นงานของนักปฏิบัติธรรมเลยทีเดียว
ความรู้สึกเสียหน้าจะไม่มารบกวนจิตใจเรา ถ้าเราตระหนักว่าการขัดเกลาอัตตา ลดละกิเลสเป็นของดี เป็นหน้าที่ที่ควรทำ พูดง่าย ๆ คือเอาธรรมะเป็นจุดหมาย ถ้าเรานึกถึงธรรมเมื่อไหร่ มันจะนึกถึงอัตตาหรือนึกถึงตัวเองน้อยลง คนเราถ้าหากว่านึกถึงธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นธรรมะระดับศีลธรรม หรือว่าธรรมะในระดับที่สูงขึ้นไป เราจะเห็นความสำคัญของการไม่เอาตัวตนเป็นใหญ่
ทีแรกก็ไม่เอาความโลภของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่เอาความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ ต่อไปมันก็จะเห็นถึงความสำคัญของการลดละความยึดมั่นในอัตตาตัวตน แต่สำหรับคนที่เขาไม่ได้สนใจธรรมะ แต่เขาก็อาจจะมีบางอย่างหรือสิ่งอื่นมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจแทน ทำให้ไม่ถูกอัตตาครอบงำ
เมื่อสัก 70 ปีก่อน ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) มีศาสตราจารย์คนหนึ่งเป็นคนที่มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะและมีชื่อเสียงมาก เป็นศาสตราจารย์ทางด้านสัตววิทยา แกมีความรู้ถึงระดับเซลล์ของสัตว์ชนิดต่าง ๆ
ในช่วงนั้นมีนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี เขาศึกษาเรื่องเซลล์ของสัตว์ แล้วเขาบอกว่าในเซลล์ของสัตว์หรือเซลล์ของคนเรา มันจะมีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่เขาให้ชื่อว่ากอลจิแอพพาราตัส (Golgi apparatus) สมัยนั้นยังไม่มีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน มีแต่กล้องจุลทรรศน์แบบธรรมดา เพราะฉะนั้นมันก็เลยมีการถกเถียงกันว่า กอลจิแอพพาราตัส มันมีจริงหรือเปล่า
ศาสตราจารย์คนนี้แกบอกว่า “ไม่มีจริง มันเป็นแค่ทฤษฎี” แกทั้งบรรยาย แกเขียนหนังสือ เขียนในงานวิชาการว่า “มันไม่มีหรอก กอลจิแอพพาราตัส” แกยืนยันมาเป็นเวลา 10 กว่าปี แล้ววันหนึ่งมีอาจารย์หนุ่มชาวอเมริกันมาบรรยายที่คณะของแก คณะชีววิทยา มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด คนก็มาฟังกันเยอะเลย
อาจารย์หนุ่มคนนี้แกก็บรรยาย แล้วก็เอาหลักฐานมาชี้มายืนยันว่า กอลจิแอพพาราตัสมีจริง เป็นการบรรยายที่เนื้อหาสวนทางกับผลงานและความคิดของศาสตราจารย์คนนี้ แกก็นั่งฟัง นั่งฟังจนตลอดเลย แล้วสิ่งที่ได้ยินก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่หักล้างกับทฤษฎีและผลงานของแก
พออาจารย์หนุ่มชาวอเมริกันบรรยายเสร็จ ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษคนนี้ก็เดินไปที่เวทีเลย ทีแรก ใคร ๆ ก็นึกว่าแกคงจะไปโต้เถียงกับอาจารย์หนุ่มคนนี้ แต่ที่ไหนได้แกขึ้นเวทีไปจับมือแล้วไปแสดงความขอบคุณ “โอ้ ขอบคุณนะพ่อหนุ่ม ผมผิดพลาดมาถึง 15 ปี” แกยอมรับความผิดพลาดอย่างหน้าชื่นตาบานคนระดับศาสตราจารย์คนนี้
ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงรู้สึกเสียหน้า ที่มีนักวิชาการรุ่นหลังนี้มาโต้แย้งคำสอน ทฤษฎี และผลงานของแก แกน่าจะรู้สึกเสียหน้าที่ถูกแย้งต่อหน้าธารกำนัล แต่แกไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย หรืออย่างน้อยก็ไม่แสดงอาการขุ่นเคือง โมโห กราดเกรี้ยว กลับไปแสดงความชื่นชมและขอบคุณ เท่านั้นไม่พอยังยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดมาถึง 15 ปี
แกทำอย่างนี้ได้ยังไง ในเมื่อปุถุชนอย่างแกก็ต้องมีอัตตา แต่ว่าแกมีสิ่งอื่นที่ให้ความสำคัญมากกว่า คือ ‘วิชาการ’ หรือ ‘ความรู้’ ศาสตราจารย์คนนี้แกทุ่มเทอุทิศตัวเพื่อความรู้ เพื่อวิชาการ แกให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้ เรื่องวิชาการ มากกว่าเรื่องของหน้าตาหรือเรื่องอัตตา ในเมื่อนัก วิชาการหนุ่มคนนี้มาทำให้ความรู้เพิ่มพูน วิชาการเจริญก้าวหน้า แกก็เลยยินดี ถ้าแกนึกถึงตัวเอง นึกถึงหน้าตาของตัวเอง แกคงโกรธ
แล้วคนที่ใฝ่ธรรมจำนวนไม่น้อยกลับทำไม่ได้แบบนี้ เพราะว่ามีความยึดมั่นในอัตตา เวลาลูกศิษย์มาเถียง มาแย้ง หรือมีโยมมาแย้ง บางทีก็แย้งถูกด้วย แต่ว่าหลวงพ่อ หรือว่าหลวงตา อาจารย์กลับรู้สึกโกรธเพราะเสียหน้า แต่ถ้าหากว่าให้ความสำคัญกับธรรมะยิ่งกว่าอัตตา มันก็เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อเอาธรรมะเป็นใหญ่คือมุ่งลดละอัตตาตัวตน
ฉะนั้นถ้าเกิดว่าอัตตาจะโวยวาย ตีโพยตีพาย ก็ไม่สนใจมัน ช่างมัน ดีแล้วที่มันโวยวาย ทรมานมันบ้าง ปรนเปรอมันตลอดเวลา มันยิ่งกำเริบ ยิ่งกำเริบเสิบสาน บางทีก็ต้องสวนทาง คนเรานี้ถ้าหากว่าเรามีสิ่งอื่นเป็นที่ยึดเหนี่ยว ไม่ว่าจะเป็นความ รู้วิชาการ หรือว่าธรรมะ เวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้ เช่น พบว่าตัวเองผิดพลาด มันก็จะไม่มีความโกรธ ไม่มีความขุ่นมัวมาก แต่ถ้าไม่รู้เท่าทันอัตตา เอาหน้าตาตัวเองเป็นใหญ่บางทีมันก่อปัญหา
อาจารย์อคิน รพีพัฒน์ เป็นอาจารย์ที่มีคนนับถือมากทางด้านมานุษยวิทยา เสียชีวิตไปแล้วเกือบ 10 ปี ถ้าเล่าว่าสมัยที่อายุสักประมาณ 60 กว่า เล่นน้ำทะเลอยู่ที่ระยอง ก็เห็นผู้หญิงวัยกลางคนกำลังคุยกับเด็กสาว 2 คน ซึ่งอยู่ในทะเล อายุประมาณ 13-14 ขวบ ข้าง ๆ เด็ก 13-14 ขวบนี้ ก็มีเด็กอายุ 6-7 ขวบอยู่บนเรือยาง คงจะเป็นลูกของผู้หญิงคนนั้นที่อยู่บนชายหาด
พอคุยกันสักพัก ผู้หญิงคนนั้นแกก็หายตัวไปจากชายหาด ส่วนพี่เลี้ยง 2 คนนั้นก็พาเด็กเล่นทะเล พอระดับน้ำลึกพอสมควร พี่เลี้ยง 2 คนนั้นก็ขึ้นบนเรือยาง กำลังเล่นกันอยู่ดี ๆ ปรากฏว่าเรือถูกคลื่นซัดออกไปไกลเรื่อย ๆ ไกลเรื่อย ๆ พี่เลี้ยงทีแรกก็ดีใจสนุกแต่ตอนหลังชักเอะใจ แล้วก็เริ่มตกใจเพราะว่าเรือยางถูกคลื่นซัดไปไกล ออกทะเลไปเรื่อย ๆ
อาจารย์อคินเห็นก็รู้สึกว่าท่าไม่ค่อยดีแล้ว จึงตะโกนเรียกคนที่กำลังเล่นน้ำอยู่ บอกให้ไปช่วยเด็ก 2 คนนั้นที่อยู่บนเรือยาง ก็มีผู้ชายคนหนึ่งกำลังเล่นน้ำอยู่พอดี ก็เลยว่ายน้ำไปช่วยเด็ก 2 คนที่อยู่บนเรือยาง พายเรือยางกลับขึ้นฝั่ง ปรากฏว่าพี่เลี้ยง 2 คนพอขึ้นฝั่ง แกก็มาขอบคุณ ขอบคุณอาจารย์อคิน
แต่จู่ ๆ แม่ของเด็กไม่รู้มาจากไหน เดินตรงมาที่ชายหาด สีหน้าโกรธจัด เดินมาหาอาจารย์อคินซึ่งลอยอยู่ในน้ำ บอกว่า “ทำไมคุณไม่ว่ายน้ำออกไปช่วยเองเล่า เอะอะเรียกคนเขาทำไม” อาจารย์อคินจึงตอบว่า "ก็ผมแก่ป่านนี้แล้วก็ป่วยด้วย ถ้าขืนว่ายออกไปก็ตายนะซิ" อาจารย์อคินบอกว่าตอนนั้นตกใจและประหลาดใจ ที่แม่ของเด็กพูดแบบนี้ ไม่ขอบคุณไม่ว่า แต่นี่มาด่าด้วย ที่จริงน่าจะขอบคุณอาจารย์อคินที่ช่วยตะโกนให้ใครต่อใครมาช่วยลูกของตน
แต่ทำไมแกโกรธ โกรธอาจารย์อคิน เพราะแกเสียหน้าไง เสียหน้าว่าไม่ได้ดูแลลูก ลูกเกือบจะประสบอันตรายแต่แม่ไม่รู้หายไปไหน แม่นี่คิดถึงหน้าตาของตัวเองมากกว่า รู้สึกเสียหน้าว่าอาจารย์อคินตะโกนแบบนี้ก็ทำให้ตัวเองเสียหน้า ลูกกำลังเสี่ยงอันตรายแต่แม่หายไปไหน แม่รู้สึกเสียหน้าเลยโกรธอาจารย์อคิน
อันนี้เรียกว่าพยายามโทษคนอื่น ที่จริงไม่ได้เป็นความผิดพลาดของแม่เลย แม่ก็อาจจะไปทำธุระที่อื่น แต่แกรู้สึกว่าคนเป็นแม่นี้มันต้องรับผิดชอบ ต้องดูแลลูก ลูกเกือบจะประสบอันตรายแต่แม่หายไปไหนไม่รู้ รู้สึกเสียหน้า ที่จริงถ้าแกนึกถึงลูกมากกว่านึกถึงหน้าตัวเอง แกจะขอบคุณอาจารย์อคิน ขอบคุณที่ช่วยลูก แต่นี้แกไม่ได้คิดถึงลูก แกคิดถึงหน้าตาตัวเอง
คนเรานี้ ถ้าเกิดว่าแม้จะเห็นว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเอง แล้วยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด สมมุติว่าเป็นความผิดพลาดซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ใช่ ถ้าเกิดยอมรับความจริงว่าตัวเองผิด ตัวเองพลาด ที่ไม่ได้ดูแลลูก ก็คงจะไม่ไปโทษคนนู้นคนนี้ หรือถ้าเกิดว่าแกรู้เท่าทันความรู้สึกเสียหน้า ก็คงจะไม่ปล่อยให้ความรู้สึกเสียหน้านี้ครอบงำจนตกอยู่ในอำนาจของอัตตา แล้วก็เลยโกรธคนที่ช่วยลูกของตัวเองแท้ ๆ
คนแบบนี้ก็มีแล้วก็มีเยอะด้วย เพราะว่าความรู้สึกให้ค่ากับหน้าตาของตัวเองมากกว่าอย่างอื่น แต่ถ้าหากว่าไปให้ความสำคัญกับลูกอย่างที่บอก มันก็จะไม่เห็นเรื่องของหน้าตาเป็นเรื่องใหญ่
เพราะฉะนั้นคนเรานี้ การที่รู้จักรับมือกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราปล่อยให้อัตตาครองใจ มันก็จะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้สร้างปัญหา แทนที่จะขอบคุณคนที่ช่วยลูก ก็กลับไปว่าเขา เพียงเพราะว่าเขาทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ตัวเองรู้สึกเสียหน้า ทั้งที่ก็ไม่ใช่เป็นความผิดพลาดของตัวเองเลย คนที่ยึดมั่นในหน้าตานี้ก็จะรู้สึกเสียหน้าได้ง่าย ๆ.