พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 3 มิถุนายน 2567
มีคนเขาจำแนกวิธีการเลี้ยงดู ให้การศึกษาเด็กว่ามีอยู่ 2 วิธีการใหญ่ ๆ วิธีแรกทำกับเด็ก เหมือนกับเป็นช่างไม้ที่มาทำมาต่อไม้ที่มีอยู่ อีกวิธีหนึ่งคือทำกับเด็กเหมือนกับชาวสวน หรือว่าคนดูแลสวนที่ทำกับต้นไม้ พ่อแม่หรือครู ส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติกับลูก หรือกับนักเรียนด้วย 2 วิธีการนี้เป็นส่วนใหญ่ แล้ว 2 วิธีนี้ต่างกันอย่างไร
ช่างไม้เขาสามารถจะเอาไม้มาต่อเป็นเก้าอี้เป็นโต๊ะได้ตามใจปรารถนา อยากให้เก้าอี้มีรูปทรงอย่างไร โต๊ะกว้างใหญ่แค่ไหน ก็ทำได้ไม่ยาก ขอให้มีฝีมือ อันนี้ก็หมายถึงวิธีการที่เลี้ยงดูหรือให้การศึกษาเด็ก ด้วยความคิดว่า สามารถจะปลุกปั้นหรือกำหนด ให้เด็กเป็นอย่างไรก็ได้ตามใจปรารถนา
อยากจะให้เด็กเก่งทางไหน หรือว่าถนัดวิชาอะไร เป็นหมอ เป็นสถาปนิก เป็นศิลปิน เป็นวิศวกร มันก็ทำได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะให้การศึกษาหรือว่าสอนอบรมเด็กอย่างไร ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของครู หรือของพ่อแม่ ซึ่งเขาเปรียบว่าการให้การศึกษาเด็ก ถ้าหากว่าทำกับเด็กเหมือนกับช่างไม้ มันก็จะออกมาในแนวนี้
ส่วนวิธีการ ให้การศึกษาฝึกฝนเลี้ยงดูเด็กแบบชาวสวนหรือคนดูแลสวน ก็คือ การส่งเสริมให้ต้นไม้แต่ละต้นเติบโตในแบบของเขา แต่ละต้นจะโตอย่างไรหรือโตแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับนิสัย หรือศักยภาพของต้นไม้
บางต้นต้องการแดดแรง บางต้นต้องการที่ร่ม บางชนิดต้องการอยู่ใกล้น้ำ แต่บางชนิดต้องการอยู่บนที่ดอน ผู้ปลูกหรือชาวสวน ก็ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของต้นไม้แต่ละต้น แล้วก็ช่วยจัดสรรสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับต้นไม้แต่ละชนิด แต่ละต้น
ถ้าจะไปสั่งการ บังคับ ให้เป็นไปตามใจของตัวเองนั้น ทำไม่ได้ ปลูกทุเรียนแล้วอยากให้ออกมาเป็นมะม่วง มันก็เป็นไปไม่ได้ หรือปลูกมะม่วงแล้วอยากให้เป็นทุเรียน มันก็ทำไม่ได้ เพราะขัดกับธรรมชาติของต้นไม้แต่ละต้น จึงเป็นหน้าที่ของชาวสวนที่ต้องรู้จักลักษณะของต้นไม้แต่ละชนิด แต่ละต้น แล้วก็ทำหน้าที่เลี้ยงดู อำนวยให้เขาเติบโตอย่างเต็มที่ในแบบของเขา
ซึ่งก็หมายความว่า เวลาเลี้ยงดูเด็ก จะกำหนดให้เด็กเป็นอย่างไร ตามใจพ่อแม่ ตามใจครู มันทำไม่ได้ เราไม่สามารถที่จะบงการให้เขาเป็นตามใจปรารถนาของเรา หน้าที่ของเราคือ รู้ว่าเขามีธรรมชาติ มีนิสัยอย่างไร มีความถนัดตรงไหน ก็ส่งเสริมให้เขาเจริญเติบโตในทางนั้นให้ดีที่สุด
พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่สามารถจะให้เขาเติบโตในแบบของเราได้ หรือว่าเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา มันอยู่ที่เขา ไม่ได้อยู่ที่เรา หน้าที่ของเราไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู ก็คือ ช่วยส่งเสริมให้เขาเติบโตในแบบของเขา แล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาด้วย
เหมือนกับเวลาเราปลูกต้นไม้ เราจะใส่ปุ๋ย หรือว่าเราจะเร่งให้ออกดอกออกผลอย่างไร มันก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างที่เราต้องการ เขาจะออกดอกออกผลอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา อยู่ที่ดินฟ้าอากาศด้วย ฉะนั้น ปลูกต้นไม้ก็ต้องใจเย็น รู้จักอดทนรอคอย สิ่งที่ทำได้ก็คือ ดูแลบำรุงให้เต็มที่ ส่วนผลนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้ หรือบงการให้ได้อย่างใจ
ไม่เหมือนกับการต่อเก้าอี้ ประกอบเก้าอี้ ประกอบเฟอร์นิเจอร์ ถ้าหากว่าชัดเจนว่า อยากจะให้ออกมาเป็นอะไร ขอให้มีวัสดุ มีไม้ ก็สามารถที่จะทำ ให้ได้อย่างที่ต้องการ
อันนี้คือวิธีการที่แตกต่างกันในเรื่องการให้การศึกษากับเด็กหรือการเลี้ยงดูเด็กว่า จะเลี้ยงแบบช่างไม้ หรือจะเลี้ยงแบบชาวสวน
ทุกวันนี้ เราก็คงเห็นว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่เลี้ยงดูลูกหรือครูอบรมลูกศิษย์ทำอย่างช่างไม้ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็เปรียบเหมือนกับช่างหม้อ สามารถจะตกแต่งให้ได้ตามใจปรารถนา บางทีก็เรียกว่า ครูคือแม่พิมพ์ สามารถจะพิมพ์หรือหล่อให้เด็กเป็นอย่างไรก็ได้ แต่วิธีการแบบนี้ ทัศนคติแบบนี้ เขาถือว่าล้าสมัยแล้ว
ครูไม่ใช่แม่พิมพ์ แล้วครูก็ไม่ใช่ช่างไม้ด้วย พ่อแม่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ควรจะเป็นคือเป็นเสมือนชาวสวนที่คอยส่งเสริมให้ต้นไม้แต่ละชนิดเติบโตในแบบของเขา ซึ่งก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงธรรมชาติของต้นไม้แต่ละต้น แต่ละพันธุ์ แล้วก็ทำให้เขาเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับเขา หรือเติบโตในแบบของเขา
จะว่าไปแล้ว การกระทำกับเด็กเหมือนกับเป็นชาวสวน ก็ไม่ต่างกับการฝึกจิต จิตของเรา จะว่าไปก็ไม่ต่างจากสวนหรือไม่ต่างจากพื้นที่ที่สามารถจะปลูกต้นไม้นานาชนิดได้ การฝึกจิตถ้าเราคิดว่า จิตของเราบังคับบัญชาได้ สามารถจะบงการให้เป็นไปดั่งใจ ก็คงจะไม่ต่างจากการคิดแบบช่างไม้ แล้วถ้าเราทำกับจิตของเรา เหมือนกับช่างไม้ทำกับไม้ ก็อาจจะผิดหวังได้ เพราะว่าจิตนี้บังคับไม่ได้ ไม่สามารถจะปรับแต่งให้เป็นไปดั่งใจได้
สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การส่งเสริม ฝึกฝนให้จิตได้เจริญงอกงาม โดยสอดคล้องกับธรรมชาติของเขา ซึ่งใจหรือจิตเป็นอนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ จะให้จิตเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ใจเรา จิตบังคับไม่ได้ แต่ฝึกฝนได้ อำนวยส่งเสริมเกื้อกูลให้เป็นไปในทางที่ดีงาม นี่ทำได้
ก็ไม่ต่างจากคนที่ปลูกต้นไม้ ต้นทุเรียน ต้นมะม่วง เราจะบังคับให้เป็นต้น ให้ออกดอกแบบอื่น ออกผลแบบอื่น มันทำไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถจะสนับสนุนให้เขาเติบโต ใส่ปุ๋ยหรือว่าตัดแต่งกิ่ง รวมทั้งจัดหาสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล นี่ทำได้
เวลาเราฝึกจิต ให้เราลองมองแบบนี้บ้างว่าเหมือนกับปลูกต้นไม้ เหมือนกับทำสวน ไม่ใช่ว่าจะอยู่ในการบังคับบัญชาของเราได้ นอกจากขึ้นอยู่กับต้นไม้แต่ละชนิด แต่ละพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ มีเหตุปัจจัยมากมายที่เราต้องคำนึง ไม่ได้อยู่ที่ใจเรา
การฝึกจิตนี่ นอกจากเราเข้าใจธรรมชาติของจิตแล้ว ก็ต้องรู้ว่ามันมีความหลากหลายด้วย เหมือนกับต้นไม้แต่ละต้นก็ไม่เหมือนกัน ต้นไม้แต่ละพันธุ์ก็มีนิสัยไม่เหมือนกัน จิตคนเราแต่ละคนไม่ใช่ว่าจะเหมือนกัน ที่เขาจำแนกว่า คนเรามีอยู่ 6 ประเภท จริต 6 จริต อันนี้แบ่งแบบหยาบ ๆ
ประเภทแรก คือ ราคจริต หนักไปทางด้านรักสวยรักงาม
ประเภทที่ 2 โทสจริต หนักไปในทางหงุดหงิด อารมณ์เสีย หรือมองลบ
ประเภทที่ 3 โมหจริต โง่เขลา เซื่องซึม หรือว่างมงาย
ประเภทที่ 4 สัทธาจริต เชื่อง่าย เลื่อมใสอะไรได้ง่าย
ประเภทที่ 5 พุทธิจริต หนักไปทางด้านการชอบใช้ความคิด
ประเภทที่ 6 วิตกจริต หนักไปทางด้านการฟุ้งซ่าน
แต่ละจริต ก็มีลักษณะนิสัยที่ไม่เหมือนกัน เวลาเราจะฝึกจิตก็ต้องรู้ว่าจิตของเราอยู่ในจริตประเภทไหน และเมื่อรู้แล้ว ก็ต้องใช้วิธีการที่เหมาะ
อย่างที่ท่านบอกว่า คนที่หนักไปทางราคจริต ให้รู้จักพิจารณาอสุภกรรมฐาน อสุภกรรมฐานไม่ใช่แค่หมายถึงดูซากศพ แต่ให้เห็นถึงความไม่งามของร่างกาย อย่างที่เราพิจารณาอาการ 32 ของร่างกายว่าประกอบไปด้วย ขน หนัง ฟัน เล็บ เป็นต้น นี่ก็เป็นวิธีการที่เหมาะกับราคาจริต
ส่วนโทสจริต วิธีการที่เหมาะก็คือ การเจริญพรหมวิหาร โดยเฉพาะเมตตากรุณา เพื่อทำให้จิตใจอ่อนโยน คลายความโกรธ ความหงุดหงิด
ส่วนโมหจริต ท่านก็ให้รู้จักสนทนาสมาคมกับครูบาอาจารย์ ผู้รู้ ผู้มีสติปัญญา เพื่อที่จะได้หายจากความงมงาย
สัทธาจริต ท่านก็ให้พิจารณาอนุสสติ 6 จะได้มีศรัทธาในสิ่งที่ถูกต้อง ประกอบด้วยเหตุผล ไม่อย่างนั้นก็ไปศรัทธาในสิ่งที่ก่อทุกข์ แต่ถ้าพิจารณาหรือระลึกถึงอนุสสติ 6 คือ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ เทวตานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ มันก็ง่ายที่จะเลื่อมใสในสิ่งที่ดีงาม ไม่เกิดโทษ
พุทธิจริต ท่านก็ให้พิจารณาไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจในความจริงของชีวิต
ส่วนวิตกจริตที่ชอบฟุ้งซ่าน ก็จะให้เจริญอานาปานสติ ให้ทำสมาธิ จิตมันจะได้หายว้าวุ่นฟุ้งซ่าน
เหล่านี้เป็นวิธีการสำหรับคนที่มีนิสัยแตกต่างกัน ซึ่งก็หมายความว่าเราแต่ละคน ก็ไม่ใช่ว่าจะมีสูตรสำเร็จที่เหมือนกัน ก็เหมือนกับปลูกต้นไม้ แต่ละชนิดต้องการน้ำต่างกัน แดดต่างกัน ปุ๋ยต่างชนิด เราจะปลูกต้นไม้อะไร เราจะปลูกต้นไม้นานาชนิด ก็ต้องรู้ว่าแต่ละชนิดเขามีนิสัยอย่างไร ธรรมชาติอย่างไร ต้องเอาเขาเป็นหลัก ไม่ใช่เอาความต้องการของเราเป็นหลัก
ฝึกจิตก็เหมือนกัน เราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของจิต ไม่ใช่เอาความอยากของเรา หลายคนเวลาฝึกจิตก็เอาความต้องการของตัวเองเป็นหลัก เช่น ต้องการให้จิตสงบ ก็บังคับจิตให้หยุดคิด มันไม่หยุด ชอบฟุ้ง ก็ไม่ยอม จะบังคับให้มันหยุดคิดให้ได้
หรือว่าจิตชอบคิดลบคิดร้าย เกิดความหงุดหงิด เกิดโทสะ เกิดความโกรธ ก็ไปกดข่มมัน แทนที่จะใช้วิธีการที่ได้ผลกว่า เช่น เจริญเมตตา เพื่อโน้มน้าวจิตที่เคยโกรธให้นุ่มนวล จากความรู้สึกลบก็กลายเป็นความรู้สึกบวก
จะเอาตามใจของเราไม่ได้ เพราะว่านอกจากใจเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้แล้ว ยังมีความเป็นธรรมชาติของมันเอง ใจเราก็เหมือนกับสวน มันมีต้นไม้หลายชนิด มันไม่ได้มีแต่ต้นไม้ที่ดี ๆ อย่างเดียว วัชพืช หนาม หรือว่าต้นไม้ที่เป็นโทษ ก็มีเยอะในสวน
เช่นเดียวกัน ใจของเราก็ไม่ใช่มีแต่กุศลธรรมอย่างเดียว มันมีอกุศลธรรมเกิดขึ้น หรือแทรกอยู่ด้วย เช่น ความโกรธ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว เพราะว่ามีกิเลสอยู่ และการที่เราจะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ มันทำไม่ได้ ก็ต้องยอมรับว่า ใจเรามีความคิดลบคิดร้าย มีความเห็นแก่ตัว บางคนยอมรับไม่ได้ว่าทำไมถึงมีความเห็นแก่ตัว ทำไมถึงมีความอิจฉา ทำไมถึงมีความโกรธแค้นพยาบาท
จิตไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจที่เราจะบังคับบัญชาได้ สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องรู้จัก เข้าใจ และยอมรับ ยอมรับว่ามีกิเลสอยู่ ยอมรับว่ามีความโลภอยู่ เมื่อยอมรับแล้ว ก็ต้องเกี่ยวข้องให้ถูกต้อง เหมือนกับมีหญ้า มีพงหญ้า จะไปตัดอย่างเดียวก็ไม่เกิดประโยชน์ เดี๋ยวมันก็งอกออกมาใหม่ มันมีวิธีการที่ฉลาดกว่านั้น เช่น ต้นหญ้าหลายชนิดถ้ามันไม่เจอแดด ก็ตาย ฉะนั้นวิธีที่จะจัดการกับต้นหญ้าหรือวัชพืชเหล่านี้ก็คือ ปลูกต้นไม้ให้มีร่มเงา พอมันเจอร่มเงา ก็ตาย ไม่ใช่ว่าไปรื้อถอนไปตัด มันก็งอกได้อีก
ก็เหมือนกับอารมณ์โกรธ ความโลภ จะไปกดข่มมัน ก็ได้ผลชั่วคราว ประเดี๋ยวมันก็เกิดมาใหม่ แต่ว่าถ้าเรามีการฝึกที่ดี เช่น เวลามีความโลภ มีความโกรธ ก็มีสติเห็นมัน มีความรู้สึกตัว มันก็ดับไป หรือมีความโกรธ ก็รู้จักแผ่เมตตา เจริญพรหมวิหารธรรม มันก็ระงับดับไปได้
หรือมิฉะนั้น ก็รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ความโลภก็มีประโยชน์ ตัณหาก็มีประโยชน์ ความโกรธก็มีประโยชน์ ถ้าเรารู้จักใช้มัน ความโกรธนี่ถ้าเราเปลี่ยน จากโกรธคนโน้นคนนี้มาเป็นโกรธกิเลสแทน มันก็ช่วยรื้อถอนกิเลสได้เหมือนกัน
พระพุทธเจ้า เวลาพูดถึงการสู้รบกับกิเลส บางทีท่านก็ใช้อุปมาเหมือนกับการสู้รบกับกิเลส ทำศึกสงครามกับกิเลส วิธีนี้เหมาะกับคนที่ชอบบู๊ หรือว่าเป็นการเอาความโกรธมาใช้ในการรับมือกับกิเลส มันก็ได้ผล อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง
แต่ถ้าจะให้ดี ต้องรื้อถอนกิเลส ด้วยการรื้อถอนความยึดมั่นในตัวกู พอไม่มีตัวกู ไม่ไปยึดความโกรธว่าเป็นตัวกูของกู มันโกรธก็โกรธไป แต่ว่าทำอะไรใจไม่ได้ สุดท้ายมันก็ค่อยๆ เลือนหายไป
การที่เราปฏิบัติกับใจเหมือนกับชาวสวนหรือผู้ดูแลสวน มันเป็นอุปมาที่ดีทีเดียว เพราะว่าเวลาที่เราปลูกต้นไม้ เราก็ต้องปลูกให้มันเหมาะกับสถานที่ ถ้าเป็นที่ดอนจะปลูกต้นไม้อะไร ถ้าเป็นที่ลุ่มจะปลูกต้นไม้ชนิดไหน ไม่ใช่ว่าจะปลูกตามใจของเรา
การฝึกจิตก็เหมือนกัน เราก็ต้องรู้นิสัย รู้ธรรมชาติ แล้วก็ใช้วิธีการที่เหมาะ พระพุทธเจ้าทรงเป็นเหมือนชาวสวนที่เก่งมาก พระบางรูปนี่ ใช้วิธีที่เป็นมาตรฐานไม่ได้ผล แต่พอท่านพาท่านเหล่านั้นมาใช้วิธีการบางอย่าง นี่ได้ผล
อย่างลูกศิษย์ของพระสารีบุตรรูปหนึ่ง พระสารีบุตรให้พิจารณาอสุภกรรมฐาน แต่พิจารณาอย่างไรก็ไม่ได้ผล พอพระพุทธเจ้ามาแนะนำให้ไปพิจารณาดอกบัว ดอกบัวที่เคยสวยงาม ที่เคยตูม บาน แล้วก็ค่อย ๆ ร่วง ค่อย ๆ โรย พิจารณาไปเห็นอนิจจังของดอกบัว เห็นความเสื่อม ความร่วงโรยของมัน ที่เคยสวยงามก็กลายเป็นร่วงโรย ท่านบรรลุธรรมเลย
หรืออย่างท่านจูฬปันถก ความจำแย่ สมองทึบ ให้จำโศลกธรรมะแค่บทเดียว ใช้เวลาเป็นเดือนยังจำไม่ได้ พี่ชายท่าน พระมหาปันถก คิดว่าน้องชายไม่เอาใจใส่ในการศึกษาธรรม ไล่ให้ไปสึก ท่านจูฬปันถกเสียใจมาก น้อยเนื้อต่ำใจ หาว่าเป็นคนโง่ แม้แต่ข้อธรรม โศลกธรรมสั้น ๆ ก็จำไม่ได้ ก็เกิดความท้อแท้ในการบวช
แต่พอพระพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้วิธีง่าย ๆ คือ เอาผ้าขาวมาลูบ ๆ แล้วท่องไปด้วย บริกรรมไปด้วย รโชหรณํ (ระ-โช-หะ-ระ-นัง) ผ้าเปื้อนฝุ่น ลูบไป ลูบไป เป็นชั่วโมง ๆ ขณะที่ลูบไป ใจก็เริ่มสงบ เป็นสมาธิ แล้วก็เห็นเลย ผ้าขาวเริ่มคล้ำไปเรื่อย ๆ เพราะเหงื่อจากมือที่ลูบ จิตเมื่อมีสมาธิก็เห็นว่า ใจเรานี้ก็เหมือนกับผ้าขาว มันเคยขาวแต่ว่าบัดนี้ผ้าขาวหมองคล้ำเพราะเหงื่อ ใจเราหมองคล้ำก็เพราะกิเลส นอกจากเห็นความไม่เที่ยงแล้ว ยังเห็นความเป็นทุกข์ของจิตด้วย
ปรากฏว่าเกิดปัญญาแจ่มแจ้ง เข้าใจพระไตรลักษณ์ จิตหลุดพ้น เป็นพระอรหันต์เลย อันนี้เพราะว่าใช้วิธีการที่ไม่เหมือนใคร ไม่ใช่เป็นวิธีการมาตรฐาน แต่ว่าเหมาะกับตัวท่านเอง ซึ่งก็มีตัวอย่างของพระหลายรูปที่ท่านบรรลุธรรม ไม่ได้บรรลุธรรมด้วยวิธีการที่ใช้กับคนทั่วไป แต่เป็นวิธีการที่เฉพาะเจาะจงกับท่าน
ใจเราก็เหมือนกัน เราต้องรู้ ว่าใจเราถ้าเปรียบกับต้นไม้ เหมือนต้นไม้ชนิดไหน แล้วเราก็ต้องรู้จักบำรุงดูแลต้นไม้ให้เติบโตเต็มศักยภาพของมัน จะเอาตามใจเรา จะบงการให้มันเป็นไปดั่งใจไม่ได้ ต้องรู้ เข้าใจ ยอมรับข้อจำกัดของเขา แล้วก็พยายามส่งเสริมด้านบวก เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามทางกุศลธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ การปฏิบัติก็จะไม่ยากเท่าไหร่ แต่ถ้าเราคิดแต่จะบังคับใจให้เป็นไปตามความอยากของเรา อยากให้มันสงบ อยากให้มันไม่ฟุ้งซ่าน อยากให้มันคิดในทางดีอย่างเดียว อันนี้เราก็จะผิดหวังได้ง่าย เพราะว่าเราไม่รู้จักธรรมชาติของใจ เราคิดแต่จะบงการซึ่งก็มีแต่จะผิดหวัง.