พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 2 มิถุนายน 2567
มีคำถามหนึ่งที่คนที่สนใจการปฏิบัติ แล้วก็ลงมือปฏิบัติโดยเฉพาะการเจริญสติ คำถามนั้นก็คือว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าการปฏิบัติมีความก้าวหน้า อันนี้เป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลายคน เป็นคำถามที่จะว่าไปแล้วก็เกิดจากความคิดที่จะเรียกว่า มุ่งหวังผลของการปฏิบัติก็ได้ อยากจะรู้ว่าที่ตัวเองปฏิบัติได้ผลมากน้อยแค่ไหน
ที่จริงสิ่งหนึ่งที่จะวัดว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติหรือไม่ก็คือว่า มีความยินดี มีความพอใจที่ได้ปฏิบัติ เวลานึกถึงการปฏิบัติก็ไม่รู้สึกเกี่ยงงอน ไม่รู้สึกฝืนในการปฏิบัติ ไม่มีข้ออ้างหรือไม่หาข้ออ้างอย่างโน้นอย่างนี้จะได้เลี่ยงการปฏิบัติ เวลานึกถึงการปฏิบัติก็เกิดความกระตือรือร้น หรือเกิดความพอใจที่จะได้ปฏิบัติ อันนี้หมายถึงการปฏิบัติในรูปแบบ
ถ้าหากว่ามีความรู้สึกแบบนี้ก็ถือว่าก้าวหน้าแล้ว เพราะว่าคนส่วนใหญ่ใหม่ ๆ ก็ไม่ค่อยอยากปฏิบัติ รู้สึกว่าต้องเคี่ยวเข็ญตัวเอง ทำด้วยความกล้ำกลืนฝืนทน แต่ว่าพอทำไปแล้วแรงต้านมีน้อยลง ไม่มีการเกี่ยงงอนหาข้ออ้างเวลาจะปฏิบัติ หรือดีกว่านั้นคือ เกิดฉันทะ เกิดความพอใจ วันไหนไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกับขาดอะไรไปบางอย่าง อันนี้ถือว่ามีความก้าวหน้า เรียกว่ามีฉันทะในการปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่การสร้างสมนิสัยใฝ่ปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะว่าถ้าหากว่าการปฏิบัติกลายเป็นนิสัย ความเจริญของการปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้
เหมือนกับคนที่ใหม่ ๆ ไม่อยากออกกำลังกาย รู้ว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องดี การวิ่งเป็นเรื่องดี แต่ไม่อยากออกกำลังกาย แต่ก็เคี่ยวเข็ญตัวเองให้ออกกำลังกายทุกวัน ๆ ทุกเช้า ๆ ไม่ว่าจะเป็นเดินหรือวิ่ง ถึงจุดหนึ่ง ก็ลุกขึ้นมา แล้วก็เต็มใจที่จะวิ่ง เต็มใจที่จะออกกำลังกาย ไม่มีแรงฝืน ไม่มีแรงต้าน วันไหนไม่ได้วิ่งก็ถือว่าขาดอะไรไปบางอย่าง อันนี้ยังไม่ต้องถามว่าวิ่งแล้วได้อะไร ทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้ปอดดีขึ้น ทำให้ไขมันลดลง ยังไม่ต้องไปดูตรงนี้ก็ได้ เพราะว่าแค่วิ่งเป็นอาจิณ ก็แน่นอนแล้วว่าผลดีเกิดขึ้นแน่
การปฏิบัติก็เหมือนกัน ยังไม่ต้องถามว่าปฏิบัติแล้วได้อะไร แต่ว่าเพียงแค่เกิดฉันทะในการปฏิบัติ เกิดความเต็มใจในการปฏิบัติ ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าแล้ว ยิ่งบางวันอาจจะเบื่อแต่ว่าก็ยังปฏิบัติ ไม่เกี่ยงงอน ก็เรียกว่ามีฉันทะ แล้วก็มีวิริยะ เพราะว่าบางครั้งคนเราย่อมมีความเบื่อ อย่างที่ครูบาอาจารย์บอก เบื่อก็ทำ ไม่เบื่อก็ทำ อย่าทำเพราะว่ามีความกระตือรือร้น เพราะว่าวันไหนไม่กระตือรือร้น วันไหนเบื่อก็เลยไม่ทำ ถ้าหากว่าเราทำให้การปฏิบัติเป็นนิสัย เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อเกิดฉันทะ ก็จะนำไปสู่วิริยะ ความเพียร ความขยัน ตามมาด้วยจิตตะ วิมังสา การจดจ่อ การใส่ใจ การใคร่ครวญ แก้ไขปรับปรุง ก็ดีขึ้น มันจะมาเป็นทอด ๆ เพียงแค่ปลูกฉันทะให้เกิดขึ้นกับการปฏิบัติ หรือปลูกฉันทะให้มีขึ้นในการปฏิบัติก็ถือว่าก้าวหน้า ทีนี้พอทำไป ๆ ถ้าเราทำถูกเราก็จะพบว่า เราเผลอบ่อยเหลือเกิน หลงเป็นประจำเลย เวลาเดินจงกรมเวลาสร้างจังหวะ มันเผลอ มันหลง มันลอย เยอะเหลือเกิน แค่รู้แบบนี้ก็ถือว่าก้าวหน้าแล้ว
เพราะแต่ก่อนหลงก็ไม่รู้ เผลอก็ไม่รู้ ไม่เคยหันมาดูจิตดูใจของตัว แต่พอเราปฏิบัติไป ๆ เราเห็นเลยมันหลงเยอะเหลือเกิน ฟุ้งมากเหลือเกิน หรือว่าเผลอบ่อยเหลือเกิน อย่างนี้ก็ถือว่าก้าวหน้า อย่างน้อยก็รู้ว่าเราหลงบ่อย ก็อย่าให้เป็นอุปสรรคกับการปฏิบัติ ทำต่อไปเรื่อย ๆ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความรู้สึกตัวที่เพิ่มมากขึ้น มีความรู้สึกตัวบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น ที่เคยเผลอไปไกล ๆ ยาว ๆ ก็กลับมารู้สึกตัวได้เร็วขึ้น มีความรู้สึกตัวได้ต่อเนื่องมากขึ้น
อันนี้เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของการปฏิบัติ มีความรู้สึกตัว มีความรู้เนื้อรู้ตัว เผลอน้อยลง หลงน้อยลง แต่ก่อนมันเบลอ ๆ ตลอดทั้งวันเลยเหมือนกับสะลึมสะลือ แต่ตอนหลังก็รู้สึกว่าเรามีบางช่วงที่รู้สึกตื่น เรียกว่าเต็มตื่น หรือรู้สึกตัว รู้เนื้อรู้ตัวบ่อยขึ้น
แล้วพอทำไป ๆ เรื่อย ๆ เราจะเริ่มเห็นความคิด เห็นอารมณ์ความรู้สึก เรียกว่ารู้ทัน เวลาคิดไป เผลอคิดไปก็รู้ อันนี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ปฏิบัติแบบเจริญสติ โดยเฉพาะแนวหลวงพ่อเทียน ความก้าวหน้าก็เห็นได้จากการที่รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ แต่ก่อนเผลอคิดไปยืดยาว ตอนหลังก็เห็นความคิด แม้ว่าจะเห็นไม่ตลอดสายแต่ก็เห็นความคิดท้าย ๆ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ 10 แล้ว ก็มาเห็นเรื่องที่ 10 เห็นอารมณ์ รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นความโลภ
ต่อไปก็จะยกระดับไปถึงมีการทักท้วง ทักท้วงความคิด โดยเฉพาะความคิดที่คิดเรี่ยราด หรือความคิดที่มาหลอกมาล่อให้เราอยากทำอย่างโน้นอยากทำอย่างนี้ อยากซื้อโน่นซื้อนี่ หรือว่าความคิดในเชิงคิดร้ายมุ่งร้าย ด่วนสรุป แต่ก่อนนี่คิดปุ๊บก็เชื่อปั๊บเลย แต่พอเราเห็นความคิดเรารู้ทันความคิดเราก็จะไม่หลงเชื่อง่าย ๆ จะเริ่มทักท้วง อยากซื้อโน่น อยากกินนี่ แต่ก่อนพอมีความคิดหรือความอยากแบบนี้ก็ไปเลย แต่ว่าตอนนี้รู้จักทักท้วง ทัดทานมันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรืออารมณ์
ความโกรธก็เหมือนกัน โกรธแล้วอยากจะหลุดปากด่าออกไป แต่ว่าเริ่มรู้จักยับยั้ง ไม่ปล่อยใจไหลไปตามอารมณ์เหล่านั้น บางทีกำลังภาวนาอยู่ กำลังเดินจงกรมอยู่ กำลังสร้างจังหวะอยู่ ก็นึกถึงกาแฟ อยากกินกาแฟ แต่ก่อนก็ผลุนผลันไปเลย ไปที่ครัว โดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ตอนหลังก็ไม่ผลุนผลันแล้ว แม้แต่เวลาปวดท้องจะเข้าห้องน้ำแต่ก่อนเราก็ลุกพรวดพราดเลย ตามอำนาจความอยาก แต่ตอนหลังเริ่มทักท้วง ไม่ทำอะไรผลุนผลันตามอารมณ์แล้ว จะลุกก็ลุกอย่างมีสติ ลุกอย่างรู้สึกตัว
อันนี้เรียกว่าเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งคือ เห็น รู้ทันความคิดและอารมณ์ แล้วก็รู้จักทัดทานมัน ไม่ปล่อยให้มันบงการความคิด จิตใจ หรือการกระทำ และคำพูดอย่างง่าย ๆ อีกต่อไป พอปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เราจะเห็น เห็นความคิด เป็นการเห็น รู้ทันอารมณ์ แต่เป็นการเห็นแบบไม่เข้าไปเป็น จะเริ่มเข้าใจ แล้วเห็นไม่เข้าไปเป็นหมายความว่าอย่างไร แต่ก่อนฟังไม่เข้าใจ
คราวนี้พอมาปฏิบัติ ปฏิบัติไป เจริญสติบ่อย ๆ เราก็เข้าใจเลยว่า เห็น กับ ไม่เข้าไปเป็น เห็นกับเป็น ต่างกันอย่างไร เข้าใจว่าเห็นไม่เข้าไปเป็น เห็นความคิดไม่เป็นผู้คิด เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธเป็นอย่างไร เข้าใจแล้ว จากที่แต่ก่อนฟังครูบาอาจารย์พูดก็ไม่เข้าใจแยกไม่ออกหรือว่านึกไม่ออกว่าหมายความว่าอย่างไร แต่คราวนี้เห็นไม่เข้าไปเป็น รู้สึกว่าเป็นอิสระจากความคิด จากอารมณ์ขึ้นมา เห็นความโกรธ แต่ว่าไม่เป็นผู้โกรธ มันก็ทำให้ปล่อยวางความโกรธได้เร็ว หรือว่าไม่ปล่อยใจไหลเข้าไปในอำนาจของความโกรธ ตอนนี้แหละที่จะเข้าใจว่า รู้ซื่อ ๆ เป็นอย่างไร
เห็นหรือรู้ทันบางทีเราก็ยังเผลอ ยังพลั้ง เข้าไปผลักไสความคิด เข้าไปกดข่มอารมณ์ ก็เลยกลายเป็นว่า รู้ว่าโกรธแต่ทำอย่างไรก็ยังโกรธอยู่ รู้ว่าเศร้าแต่ทำอย่างไรก็ยังเศร้าอยู่ เพราะว่าที่รู้นี่รู้แบบประเดี๋ยวประด๋าว สักพักก็เผลอเข้าไปเป็น เข้าไปผลักไส อันนี้เพราะว่าไม่ใช่รู้ซื่อ ๆ
รู้ซื่อ ๆ ก็คือรู้แบบไม่เข้าไปผลักไสอารมณ์ที่เป็นลบ แล้วก็ไม่ไปเพลิดเพลินยินดีในอารมณ์ที่เป็นบวก เรียกว่ารู้จักวางใจเป็นกลางต่อความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าคิดดีหรือคิดร้าย ไม่ว่าอารมณ์ลบหรืออารมณ์บวก รู้จักเป็นกลางกับมัน เห็นมัน ไม่ไปทำร้ายหรือไม่ไปกดข่มมัน เรียกว่าทำให้ไม่อยู่ในอำนาจของมัน ไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม
อยู่ในอำนาจของมันทางตรงก็คือปล่อยให้มันครอบงำใจ บงการจิตใจ อยู่ในอำนาจของมันทางอ้อมก็คือไปผลักไสมัน ไปกดข่มมัน เสร็จแล้วก็หลงพลัดเข้าไปในอารมณ์นั้น เป็นการต่ออายุให้มัน ไม่ใช่ง่ายที่เราจะรู้ซื่อ ๆ เมื่อมีความโกรธ เมื่อมีความเศร้า เมื่อมีความหงุดหงิด เพราะว่าถ้าไม่เผลอปล่อยให้มันครอบงำใจ บงการจิตใจ ก็มักจะไปกดข่มมัน อดรนทนไม่ได้ที่มันเกิดขึ้น ไม่เฉพาะความโกรธ ยังรวมถึงความเศร้า ความเหงา มีความเหงาเกิดขึ้นก็อดรนทนไม่ได้ ต้องทำอะไรก็ตามเพื่อให้มันหายเหงา
แต่พอเรารู้จักเห็นไม่เข้าไปเป็น แล้วก็รู้ซื่อ ๆ เราก็อยู่กับความเหงาได้ เป็นมิตรกับความเหงา หรือว่าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าต่างคนต่างอยู่ มันทำอะไรเราไม่ได้ แล้วเราก็ไม่ไปต่ออายุให้มัน เรียกว่ารู้ซื่อ ๆ แล้วพอรู้ซื่อ ๆ ต่อมาเราก็จะเห็น เห็นกิเลสของตัวเองชัดขึ้น เห็นกิเลสที่มันบงการความคิด บงการการกระทำและคำพูด โดยเฉพาะตัวอัตตาที่มันคอยชักไยอยู่เบื้องหลัง ทำให้เราโกรธเวลาใครบางคนทักท้วงเรา
ใครมาแนะนำเรา ทำไมเราโกรธ ทำไมเราไม่พอใจเขา เพราะว่าอัตตาถูกกระทบ เพราะว่าอัตตานี้มันต้องการที่จะให้ใคร ๆ เห็นว่า ฉันเก่ง กูเก่ง กูดี กูแน่ กูคิดถูก กูคิดรอบคอบ หรือกูดี พอมีใครมาท้วงว่า เราก็มีความบกพร่อง มีความผิดพลาด ก็เหมือนว่าอัตตาถูกกระทบ ก็เลยโกรธ โกรธคนที่แนะนำ เวลาใครบางคนไม่ให้ความสำคัญกับเรา เราก็โกรธ เราก็ไม่พอใจเขา เพราะอัดตาต้องการได้รับความสำคัญ ได้รับการใส่ใจ พอใครบางคนไม่ให้ความสำคัญกับเรา ไม่ทักเรา ก็โกรธ ไม่พอใจเขา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเพราะอำนาจของอัตตา แต่ก่อนไม่เห็นก็ไปหลงโกรธเขา
แต่พอทีหลังเห็นแล้วว่ามันเป็นเพราะอัตตา อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับคำชม อยากได้รับคำสรรเสริญ พอไม่ได้หรือได้ตรงข้ามคือคำตำหนิ มันก็เกิดความโกรธ เกิดความไม่พอใจ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ก่อนไม่เห็น แต่พอปฏิบัติไป เห็นเลย อัตตาอยู่เบื้องหลังความโกรธ อัตตาอยู่เบื้องหลังความทุกข์ที่เกาะกุมจิตใจ
ถึงตอนนี้เราก็รู้จักทักท้วงอัตตาแล้ว ไม่ยอมให้มันมีอำนาจ บางทีอาจจะตวาดใส่มันก็ได้ อย่ามายุ่งกับฉัน ฉันจะไม่ยอมให้แกมาครอบงำกำกับจิตใจของฉัน เพราะความโลภความหลงก็เหมือนกัน แต่ก่อนมองไม่เห็น เราไปคิดว่าเราเป็นคนดี เป็นคนดี เป็นคนประเสริฐ เป็นคนเสียสละ แต่ปรากฏว่าเห็นความโกรธ เห็นความโลภ เห็นความเห็นแก่ตัว
การที่เราเห็นกิเลสมาก ๆ เห็นแรงผลักของอัตตามันก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้า ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนบางทีก็อาจจะรู้สึกแย่ไปพักหนึ่งว่า ฉันไม่ได้ดีอย่างที่คิด ฉันไม่ได้ดีอย่างที่วาดภาพเอาไว้ แต่ต่อไปเราก็จะเข้าใจว่าเป็นธรรมดา แล้วก็รู้ว่านี่คือสิ่งที่เราประมาทไม่ได้ เราก็ต้องระมัดระวัง
การเจริญสติ การรู้ซื่อ ๆ ทำให้เราเห็นลึก ได้เห็นลึกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เห็นกิเลส เห็นอัตตาชัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังเห็นเลยว่า ความคิดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรา อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรา แต่ก่อนเผลอ คิดว่าเป็นเรา เป็นเรา เป็นของเรา ไม่ใช่เรา ต่อไปเห็นแม้กระทั่งความทุกข์ ความทุกข์ก็ไม่ใช่เรา แต่ก่อนไปยึดมั่นสำคัญหมายว่า เป็นเรา เราทุกข์ ที่จริงเราไม่ได้ทุกข์เลย ความปวดก็เหมือนกัน คิดว่าเราปวด เราปวด ที่จริงไม่ใช่เราปวด กายปวด ไม่ใช่เราปวด เราจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ความรู้สึกมันไม่ใช่เรา แต่ก่อนไปเผลอไปเชื่อว่า เป็นเรา เป็นเรา ก็เลยทุกข์เพราะมัน หรือไม่เช่นนั้นก็ตกอยู่ในอำนาจของมัน
ตอนนี้เราเริ่มเป็นอิสระแล้ว ทีนี้จะเห็นชัดขึ้น เหตุแห่งทุกข์ไม่ได้อยู่ไหน มันอยู่ที่ใจเรานั่นแหละ เหตุแห่งทุกข์โดยเฉพาะความทุกข์ใจที่จริงมันก็เกิดจากอาการของจิต ไปปรุงแต่งก็ดี ไปผลักไสอารมณ์ที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง ก็ดี ใจที่บ่นโวยวายตีโพยตีพาย ใจที่ยึดมั่นถือมั่นสำคัญหมายในสิ่งต่าง ๆ พอไม่เป็นไปดั่งใจก็หรือไม่เป็นไปดังที่คาดหวัง ก็ทุกข์ ทุกข์เพราะไปยึดความคาดหวัง อยากให้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นไปดั่งใจ เป็นไปดังความคาดหวัง พอไม่สมหวังก็เลยทุกข์แล้วก็ไปโทษโลกภายนอก โทษคนนั้นคนนี้
แต่ที่จริงแล้วเห็นเลยว่า เป็นเพราะใจของเราต่างหากที่ไปยึดกับความคาดหวังหรือไปยึดติดแม้กระทั่งกับสิ่งต่าง ๆ ไปปรุงแต่ง ผลักไสอารมณ์ที่มากระทบ เริ่มเห็นขึ้นเรื่อย ๆ ว่าทุกข์ เหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจเราไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แล้วก็จะรู้ว่าวิธีที่จะแก้ทุกข์ ออกจากทุกข์ก็คือ การปรับที่ใจ โดยเฉพาะการไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ความคิดเป็นของเรา ความเศร้าเป็นของเรา ความโกรธเป็นของเรา โกรธแต่ไม่ทุกข์ก็ได้ เศร้าแต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าเห็นมัน หรือว่าไม่เข้าไปเป็นมัน
ตัวที่วัดความก้าวหน้าอีกอย่างหนึ่งของการปฏิบัติก็คือว่า สามารถสงบได้ ใจสามารถสงบได้แม้มีสิ่งกระทบ แม้มีสิ่งเร้า คนจำนวนไม่น้อยเวลาปฏิบัติจะสงบก็ต่อเมื่อปฏิบัติ เช่น หลับตาตามลมหายใจ สงบขณะที่เดินจงกรม ขณะที่นั่งสร้างจังหวะ สงบที่อยู่ในคอร์สปฏิบัติ แต่พอเจอสิ่งกระทบ เจอสิ่งเร้า ไม่สงบแล้ว อันนี้ก็ถือว่ายังไม่ก้าวหน้ามากพอ
ถ้าก้าวหน้ามากพอนี่สามารถจะสงบได้แม้เจอสิ่งเร้า เจอสิ่งมากระทบ ไม่ใช่สงบเพราะเวลาปฏิบัติในรูปแบบ แต่เวลาไม่ได้ปฏิบัติในรูปแบบ ออกไปเจอกับผู้คน อยู่ท่ามกลางสังคม เจอสิ่งเร้า เจอสิ่งกระทบ ใจก็สงบได้ เพราะว่าไม่ว่าสิ่งเร้าจะเป็นอะไร จะเร้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สิ่งกระทบจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือแม้แต่ธรรมารมณ์ก็ไม่สามารถทำให้จิตไหวใจกระเพื่อมได้ หรือว่าถึงแม้จิตจะเผลอไหว ใจจะเผลอกระเพื่อม ยินดียินร้ายชอบชังก็รู้ทัน และไม่ปล่อยให้อารมณ์เหล่านั้นมาครอบงำใจ สามารถรักษาใจให้เป็นปกติได้ นี่เรียกว่าเป็นเพราะรู้จักรักษาใจให้สงบได้แม้มีสิ่งมากระทบ แม้มีสิ่งเร้า
สิ่งกระทบสิ่งเร้าไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงดังเท่านั้น อาจจะเป็นภาพที่ไม่ถูกใจ บางคนเวลาปฏิบัตินี่สงบแต่เวลาพอเลิกปฏิบัติ ออกไปข้างนอก เจอรถติดก็หงุดหงิดขึ้นมาเลย หรือกลับไปบ้านเจอเสียงดัง ลูกพูดดัง มีเสียงริงโทนดังขณะกินข้าว หรือขณะพูดคุยกับลูกมีเสียงโทรศัพท์แทรก โมโหเลย ทั้ง ๆ ที่ตอนปฏิบัติในคอร์ส ใจสงบ แต่ว่าพอเจอสิ่งกระทบใจไม่สงบแล้ว อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะไม่มีสติหรือไม่มีความรู้สึกตัวที่ไวพอ ตราบเท่าที่เรายังสงบเพราะไม่มีสิ่งกระทบ ไม่มีสิ่งเร้ามันก็ดี แต่ว่ามันยังไม่เรียกว่าเป็นความก้าวหน้า ความก้าวหน้าสามารถวัดได้ก็โดยการที่ว่าเจอสิ่งกระทบ เจอสิ่งเร้า ใจก็ยังสงบได้
สิ่งกระทบ สิ่งเร้า ไม่ใช่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เท่านั้น ยังรวมถึงธรรมารมณ์คือความคิดและอารมณ์ด้วย ไม่ใช่ว่าพอมีความคิดฟุ้งขึ้นมา ใจไม่สงบ ความคิดที่ผุดขึ้นมาโดยไม่ได้เชื้อเชิญ หรือเรียกว่าธรรมารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งเร้าสิ่งกระทบอย่างหนึ่ง แต่ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้น แล้วเรายังรักษาใจสงบได้ อันนี้ถือว่าก้าวหน้า ไม่ใช่ว่าสงบก็ต่อเมื่อไม่มีความคิดฟุ้ง พอมีความคิดฟุ้งก็ไม่สงบแล้ว หรือว่าสงบได้เมื่อไม่มีความหงุดหงิด พอมีความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็ไม่สงบแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าเราเจริญสติได้ดี แม้จะมีความหงุดหงิดขึ้นก็ยังรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ รักษาใจให้สงบได้ เพราะอะไรเพราะมีสติเห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นหรือไม่เข้าไปยึด ไม่ไปผลักไสมันด้วย บางคนพอเวลาไม่มีความฟุ้ง ใจก็สงบ แต่พอมีความคิดเกิดขึ้นใจ ไม่สงบก็เลยเข้าไปกดข่มมัน ก็เลยยิ่งไม่สงบเข้าไปใหญ่ ยิ่งหงุดหงิดเพราะว่ากดข่มเท่าไหร่มันก็ไม่ไป มีความโกรธ มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าใจจะต้องว้าวุ่น เป็นทุกข์เสมอไป อยู่ที่ว่า เห็นมันไหม เห็นได้ไวพอหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นความก้าวหน้าของการปฏิบัติจะต้องวัดตรงนี้ด้วย วัดว่าสงบได้ไม่ใช่เฉพาะเวลาปฏิบัติ แต่ว่าสงบได้แม้มีสิ่งกระทบ มีสิ่งเร้า ถ้าหากว่าสงบได้เมื่อไม่มีสิ่งเร้า ไม่มีสิ่งกระทบ อันนี้ใคร ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก นักปฏิบัติต้องทำได้มากกว่านั้นคือว่าแม้เจอสิ่งเร้า เจอสิ่งกระทบ ตา หู จมูก ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าธรรมารมณ์ ใจก็สงบได้ ตรงนี้แหละคือสิ่งที่วัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ
ซึ่งแน่นอนถ้าเกิดว่าเข้าใจเรื่องหรือเห็นเรื่องรูป เรื่องนาม เห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเราก็ช่วยทำให้ใจสงบได้ง่าย ไม่ใช่สงบด้วยสติอย่างเดียว แต่สงบด้วยปัญญาด้วย.