พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 24 พฤษภาคม 2567
มีคำถามหนึ่งที่หลายคนอยากรู้คำตอบ แล้วก็เป็นคำถามที่อาตมาเจอบ่อย ๆ คือ “ทำอย่างไรจะหายโกรธ”
เวลาโกรธมาก ๆ มันก็ทุกข์ และหลายคนพบว่าเวลาปล่อยใจไปตามความโกรธหรือระบายความโกรธ มันเกิดปัญหา เช่น พอโกรธมาก ๆ แล้วก็ด่า หรือว่าแสดงอาการไม่พอใจต่อคนที่ตัวเองโกรธ หรือว่าบางครั้งก็ถึงกับทำร้ายข้าวของ ทำไปแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาก็รู้สึกไม่สบายใจ แล้วพอปล่อยใจไปตามความโกรธอยู่บ่อย ๆ มันก็จะโกรธง่ายขึ้นทุกที
อะไรมากระทบก็เกิดอาการโกรธแล้ว อาจจะมีการต่อว่าด่าทอหรือว่าแสดงอาการต่อหน้าธารกำนัล ต่อหน้าผู้คน แต่แล้วตัวเองก็เดือดร้อนต้องรับผลของการกระทำนั้น ๆ แต่ครั้นไม่ระบายความโกรธ ทำตรงข้ามคือกดข่มมันเอาไว้ ก็รู้สึกอัดอั้น เพราะว่าความโกรธพอกดข่มมันแล้ว มันก็ไม่ได้ไปไหนหรอก มันก็อัดแน่นอยู่ในใจ และถ้าอัดแน่นมาก ๆ มีอะไรมากระทบนิดเดียวก็ระเบิดออกมา ก็เรียกว่าปรี๊ดแตก หรือบางทีเรียกว่าสติแตก ก็เกิดปัญหา
หรือถึงแม้จะไม่ปรี๊ดแตก พยายามกดข่มมันเอาไว้ แม้จะไม่แสดงอาการออกมา แต่ว่าข้างในมันก็ทุกข์ รู้สึกอัดอั้น บางทีความดันขึ้น ปวดหัว แล้วบางคนนี้ก็ดูเหมือนจะกดข่มได้สำเร็จ แต่ว่าไปมีอาการแปลก ๆ
อย่างมีชายหนุ่มคนหนึ่ง แกทะเลาะกับพ่อ ถูกพ่อด่า พ่อก็ใช้ถ้อยคำรุนแรง แล้วก็กล่าวหาชายหนุ่มผู้เป็นลูกอย่างไม่สมควร ลูกก็ไม่พอใจโกรธมาก เพราะรู้สึกว่าถูกพ่อกระทำแบบนี้มานานตั้งแต่เล็กแล้ว พอถูกด่าแรง ๆ ก็อยากจะใช้กำลังกับพ่อแต่ว่าก็ยั้งเอาไว้ได้ พอรู้ตัวว่าตัวเองโกรธพ่อถึงขั้นจะใช้กำลัง มันรู้สึกยอมรับไม่ได้ เพราะว่าลูกที่ดีเขาไม่ทำอย่างนั้น ไม่รู้สึกอย่างนั้นกับพ่อ จะเรียกว่าความใฝ่ดีก็ได้ ก็พยายามกดข่มความโกรธเอาไว้ ไม่ยอมรับว่าตัวเองโกรธพ่อถึงขั้นจะทำร้ายพ่อ
ดูเหมือนกดข่มได้สำเร็จ แต่พบว่าความโกรธนี้ไปโผล่ทางอื่น ไปโผล่ยังไง คือเวลาเห็นศาลพระภูมิ ก็อยากจะเข้าไปเตะ เข้าไปทำลาย อดรนทนไม่ได้ มันเหมือนกับมีแรงผลักอะไรบางอย่างที่จะเข้าไปทำลายศาลพระภูมิ ตัวเองก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงรู้สึกแบบนั้นกับศาลพระภูมิ
ตอนหลังไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็ให้ชายคนนี้เล่าถึงประสบการณ์ในอดีต มีเรื่องอะไรที่ไม่พอใจ มีเรื่องอะไรที่โมโหโกรธาไหม ซักไปซักมาชายคนนั้นก็ยอมรับว่าเคยโกรธพ่อ ถึงขั้นจะทำร้าย ถึงขั้นจะใช้กำลังกับพ่อ
จิตแพทย์ก็เลยชี้ว่านี่แหละเป็นเพราะการพยายามกดข่มความโกรธเอาไว้ เพราะว่ารู้สึกว่าความโกรธไม่ดี คนมีคุณธรรมเขาไม่ทำแบบนี้กัน จิตส่วนลึกนี้กดข่มความโกรธพ่อเอาไว้ มันก็ไปออกที่ศาลพระภูมิ เพราะศาลพระภูมิเป็นสัญลักษณ์ของพ่อ เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่มีอำนาจที่ใคร ๆ ก็เคารพ เป็นที่เคารพ
จิตของเราแปลก หรือถ้าจะว่าไป ความโกรธนี้แปลก ถูกกดข่มเอาไว้ ก็ไม่ใช่ว่ามันจะยอมแพ้ มันก็จะไปออกทางอื่น เพราะฉะนั้นการกดข่มก็ไม่ใช่วิถีที่ถูกต้องในการจัดการกับความโกรธ ทำตามมันก็ไม่ใช่ กดข่มหรือว่าขัดขืนมัน มันก็ไม่ใช่ทางออก
เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไร ก็มีหลายวิธี อย่างเช่น เอาใจหรือหันเหความสนใจไปอยู่กับสิ่งอื่นแทน ที่เขานิยมให้ทำก็คือว่าไปอยู่กับลมหายใจ เพราะเวลาเอาใจไปจดจ่อลมหายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ หรือบางทีพ่วงคำบริกรรมเข้าไปด้วย หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” หรือว่านับทุกครั้งที่หายใจออก มันทำให้ใจละหรือวางจากเรื่องราวที่ทำให้โกรธ เพราะอารมณ์คือความโกรธนี้ จะเกิดขึ้นได้มันก็อยู่ที่ว่าใจไปคิดนึกจดจ่ออยู่กับสิ่งใดด้วย
เช่น ไปนึกถึงถ้อยคำหรือการกระทำของคน ๆ หนึ่ง ยิ่งคิดก็ยิ่งโกรธ หรือไปนึกถึงหน้าเขา นึกถึงพฤติกรรมของเขา ก็ยิ่งโกรธ แต่ถ้าเบนความสนใจไปอยู่กับสิ่งอื่นแทน ที่มันเป็นกลาง ๆ เช่น ลมหายใจ ถ้าหากว่าอยู่กับลมหายใจได้นานพอ อารมณ์โกรธก็จะค่อย ๆ ละลายหายไป เหมือนกับกองฟืนหรือกองไฟที่พอไม่มีเชื้อไฟเติม มันก็ค่อยดับไป
เพราะฉะนั้นท่านก็สอนให้มาตามรู้ดูกาย บางทีก็มาใช้วิธีดูท้องที่พองยุบ หรือว่าใช้วิธีสแกนตามร่างกาย เอาใจนี้ไปไล่ความรู้สึกตั้งแต่หัว ขมับ จมูก ปาก แก้ม ต้นคอ ไล่ไปเรื่อย ๆ ถ้าหากว่าใจอยู่กับกายได้ต่อเนื่องแล้วก็นานพอ เรื่องที่เคยโกรธก็เลือนไปจากใจ ความโกรธก็เลือนหายไป อันนี้เรียกว่าวิธีเบนความสนใจออกจากความโกรธ หรือออกจากอารมณ์ บุคคล เหตุการณ์ที่ทำให้เราโกรธ
แต่วิธีหนึ่ง ก็คือท่านให้ไปดู ให้ไปสังเกต ไปรับรู้ความโกรธ ที่ท่านใช้คำว่า “เห็น” เห็นหรือรู้ทันความโกรธอันนี้ยากหน่อย ถ้าเรารู้ทันมัน ไม่ปล่อยใจให้พลัดเข้าไปในความโกรธจนอยู่ในอำนาจของมัน แล้วก็ทำตามมัน แต่แค่ดูมันอยู่ห่าง ๆ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่า “เห็น อย่าเข้าไปเป็น” ก็จะช่วยทำให้ความโกรธเบาบางลงไป
แต่บางคนก็สงสัยว่า “เอ๊ะ ทำไมก็ทำแล้วนะ มีความโกรธก็เห็นความโกรธ แต่ทำไมความโกรธไม่หายเลย กลับรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ” อันนี้ก็คงเป็นเพราะว่าไม่ได้เห็นอย่างถูกต้อง เพราะว่าถ้าเห็นจริง ๆ มันต้องเห็นแบบเห็นเฉย ๆ โดยที่ไม่เข้าไปทำอะไรกับความโกรธ รวมทั้งไม่มีความรู้สึกลบต่อความโกรธด้วย อันนี้ที่ครูบาอาจารย์ท่านใช้คำว่า “รู้ซื่อ ๆ”
เห็นเฉย ๆ ก็คือรู้ซื่อ ๆ หรือรู้หรือเห็นด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ผลักไส หลายคนพอเห็นหรือรู้ว่าโกรธ มันรู้ได้แค่ประเดี๋ยวเดียวแล้วก็เข้าไปเป็นเสียแล้ว หรือแค่เห็นเฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ สัก 2-3 ขณะ จากนั้นก็เข้าไปผลักไส กดข่ม เพราะไม่ชอบความโกรธ เพราะรู้สึกลบต่อความโกรธ เพราะเห็นว่าความโกรธไม่ดี “ฉันเป็นลูกจะมาโกรธพ่อได้ยังไง” หรือ “ฉันเป็นนักปฏิบัติธรรมจะมีความโกรธโน่นโกรธนี่ได้อย่างไร”
ความรู้สึกสำคัญมั่นหมายว่า “ฉัน” เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นลูกก็ดี เป็นนักปฏิบัติธรรมก็ดี เป็นพระก็ดี มีความโกรธไม่ได้ ความโกรธไม่ดี มันก็เลยอดไม่ได้ที่จะเข้าไปผลักไสหรือกดข่ม แล้วธรรมชาติของอารมณ์ ยิ่งผลักไส ยิ่งกดข่ม มันยิ่งมีอำนาจ เหมือนกับเป็นการต่ออายุให้มัน หรือถ้าเป็นกองไฟก็เหมือนกับว่าไปต่อไปเติมเชื้อให้มัน
ยิ่งผลักไส มันยิ่งคงอยู่หรืออายุยืน แต่เราก็มักจะทำอย่างนั้นแหละ ทั้ง ๆ ที่ทีแรกก็รู้ว่าโกรธ แต่ว่ามันไม่ได้รู้ซื่อ ๆ มันอดไม่ได้ที่จะเข้าไปทำอะไรกับความโกรธ แต่ถ้าหากว่าเรารู้ซื่อ ๆ จริง ๆ รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง รู้ด้วยสติที่บริสุทธิ์ ความโกรธก็ทนอยู่ไม่ได้ แต่ที่มันอยู่ได้เพราะความหลง เพราะไม่มีสติ
มันเหมือนกับการดับไฟ เราจะดับไฟได้ต้องอาศัยน้ำ ประการแรกคือน้ำต้องเยอะ ถ้าน้ำน้อยก็ดับไฟไม่ได้ ถ้าสติน้อยก็ดับความโกรธไม่ได้ แล้วนอกจากน้ำมากแล้ว ต้องเป็นน้ำบริสุทธิ์ หรือว่าอย่างน้อยก็ไม่ใช่น้ำที่เจือไปด้วยน้ำมัน
เวลาเราโกรธ แล้วเราคิดว่าเรารู้ทัน เห็นมัน เราคิดว่าเรารู้ซื่อ ๆ หรือเห็นเฉย ๆ แต่ที่จริงไม่ใช่หรอก ลึก ๆ มันมีความรู้สึกไม่ชอบความโกรธ มีความรู้สึกอยากจะผลักไสความโกรธ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะเป็นการรู้ มันก็ไม่ใช่การรู้ซื่อ ๆ มันเหมือนกับดับไฟด้วยน้ำ แต่ว่าน้ำนี้มีน้ำมันเจือปนอยู่ น้ำที่มีน้ำมันเจือปนสาดเข้าไปในกองไฟ แม้จะมากแต่ว่ามันก็ไม่ได้ทำให้ไฟดับ อาจจะลดความร้อนแรงสักพัก แล้วมันก็ฟู่ขึ้นมาใหม่ โหมลุกขึ้นมาใหม่ แรงกว่าเดิม
นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนบางคนทั้ง ๆ ที่บอกว่า “รู้ว่าโกรธ รู้ว่าโกรธ” แต่ทำไมยังโกรธอยู่ ก็เพราะว่ามันไม่ได้รู้ซื่อ ๆ ไง แต่ถ้ารู้ซื่อ ๆ หรือเอาแค่ว่ายอมรับมัน ยอมรับด้วยใจที่เป็นกลาง มันก็ดับได้
มีผู้หญิงคนหนึ่งแกไปรู้เหตุการณ์ความจริงเหตุการณ์หนึ่ง พอแกรู้เบื้องหลังนี้ แกโกรธมากเลย เป็นความโกรธที่พุ่งไปที่คน ๆ หนึ่ง แล้วเธอโกรธรุนแรงมากเรียกว่าพล่านเลย เธอก็พอรู้วิธีการปฏิบัติธรรมอยู่บ้าง ก็เลยตามอารมณ์หายใจ ตามลมหายใจเป็นชั่วโมง มันก็ยังโกรธอยู่ ก็เลยเดินจงกรม เดินจงกรมเป็นชั่วโมงก็ยังโกรธอยู่ เอ้า ลองใช้วิธีเรียกชื่อมัน “โกรธหนอ โกรธหนอ”
ความโกรธไม่ได้ทุเลาเลย มันยังพลุ่งพล่านอยู่ในใจ แล้วเธอก็ไม่เข้าใจว่าทำไมตามลมหายใจก็แล้ว เดินจงกรมก็แล้ว เรียกชื่อมันก็แล้ว มันก็ไม่หายสักที รู้สึกท้อแท้ รู้สึกหมดหวัง แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง พอรู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้ว เธอก็บอกกับตัวเองว่า “เออ ถ้าเธอจะโกรธ เธอโกรธก็ได้นะ มันโอเคที่เธอโกรธ”
ใครที่เจอเหตุการณ์แบบเดียวกับเธอก็โกรธทั้งนั้นแหละ “เธอโกรธก็ได้นะ” ปรากฏว่าความโกรธนี้ดับวูบไปเลย ประหลาดใจมาก เอ๊ะ ทำไมความโกรธหายไป ทั้ง ๆ ที่ทีแรกตามลมหายใจเป็นชั่วโมง เดินจงกรมเป็นชั่วโมง เรียกชื่อมันว่าโกรธหนอ โกรธหนอ ตามสูตร ตามวิธีการมาตรฐานทุกอย่าง แต่ทำไมไม่หาย แต่พอบอกกับตัวเองว่า “เธอโกรธก็ได้นะ อนุญาตให้โกรธได้” หรือว่า “โอเคที่เธอโกรธ” ทำไมความโกรธหายไป
เพราะว่าตอนนั้นเธอยอมรับความโกรธ ไม่ต่อสู้ ไม่ขัดขืน ไม่ผลักไสมันอีกต่อไป คล้าย ๆ กับอาการรู้ซื่อ ๆ พอใจยอมรับ ใจไม่ผลักไสความโกรธ ความโกรธก็เหมือนกับหมดกำลังไป แล้วที่ความโกรธไม่หายทั้ง ๆ ที่เธอพยายามเดินจงกรมก็แล้ว ตามลมหายใจก็แล้ว เรียกชื่อก็แล้ว ทำไมมันไม่หาย ก็เพราะว่าลึก ๆ ใจของเธอยังต่อต้านความโกรธ อาจจะเป็นเพราะว่าเธอเป็นนักปฏิบัติธรรมก็เลยรู้สึกว่าความโกรธไม่ดี หรืออาจจะเป็นเพราะว่าปฏิบัติธรรมมา ก็รู้สึกว่า “ฉันจะมีความโกรธได้อย่างไร ฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม”
คนบางคนพอปฏิบัติมาก ๆ เข้า ก็มีความคาดหวังกับตัวเองสูงว่า “ฉันโกรธไม่ได้” พอโกรธขึ้นมา ก็เลยรู้สึกไม่ดีกับความโกรธ มันก็พยายามกดข่ม ผลักไส แต่พอถึงจุดหนึ่งที่พบว่าผลักไสไม่ไหว กดข่มไม่ได้ ก็เลยยอมรับ “เธอโกรธได้นะ” สำหรับคนที่เป็นนักปฏิบัติธรรม การที่ยอมให้ตัวเองโกรธเป็นเรื่องยาก แต่ว่าพอทำเช่นนั้นได้มันกลับทำให้ความโกรธนี้ทุเลา
ไม่ใช่เฉพาะความโกรธอย่างเดียว ความรู้สึกอย่างอื่นที่เป็นอกุศลด้วย อย่างมีผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 50 แต่งงานมาตั้ง 20 ปี ชีวิตครอบครัวราบรื่น สามีก็ดี ลูกแต่ละคนก็สนใจการเรียน เรียบร้อย ไม่เกเร ฐานะการเงินก็ดี เรียกว่าชีวิตเธอมีพร้อมทุกอย่าง แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปบางอย่าง คือไม่ค่อยมีชีวิตชีวาเท่าไหร่ รู้สึกเบื่อ เซ็ง เกิดอาการซังกะตาย
ดังนั้นเธอก็พยายามออกกำลังกาย เล่นโยคะ เจริญสมาธิ แต่ว่าก็ไม่หาย แล้วตอนหลังอาการก็หนักขึ้น มีอาการทางกาย เช่น นอนไม่หลับ เกิดกระสับกระส่าย รู้สึกวิตกกังวล ทีแรกนึกว่าเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ไปหาหมอ หมอบอกไม่มีอะไร ใจยิ่งเสียใหญ่ “เอ๊ะ ชีวิตฉันมีทุกอย่าง ฉันมีทุกอย่างแล้ว แต่ทำไมฉันถึงรู้สึกซังกะตาย เกิดอะไรขึ้น”
สุดท้ายไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์คนนี้แกไม่เหมือนจิตแพทย์ทั่วไป แกไม่ได้คิดจะให้ยากับผู้ป่วย ก็ให้ผู้ป่วยเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น พอผู้ป่วยเล่า หมอก็พอจะรู้ถึงความรู้สึกส่วนลึกของเธอ ก็เลยบอกผู้หญิงคนนี้ว่าให้ลองพูดประโยคนี้ดัง ๆ “ฉันอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกซังกะตายได้ เป็น ๆ หาย ๆ แม้มันจะเป็นไปตลอดชีวิต”
ทีแรกเธอไม่ยอมพูด หมอก็คาดคั้นให้พูด สุดท้ายเธอก็ยอมพูด 3 ครั้ง ตามคำคาดคั้นของหมอ “ฉันอนุญาตให้ตัวเองซังกะตายได้ เป็น ๆ หาย ๆ แม้มันจะเกิดขึ้นตลอดชีวิตก็ตาม”
โอ้ เธอใช้ความตั้งใจหรือต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองมากในการที่จะเอ่ยประโยคนี้ เสร็จแล้วหมอก็ถามว่า “ตอนนี้ร่างกายรู้สึกยังไง” เธอบอก “มันปวด มันตึงเกร็งที่ท้อง รู้สึกคลื่นไส้ แล้วก็รู้สึกแน่นหน้าอก รู้สึกติดขัดที่ลำคอ”
หมอก็เลยถามว่า “แล้วมันเป็นปัญหาไหม มันอันตรายไหม” ทีแรกเธอก็บอก “อึม มันก็ดูเหมือนเป็นปัญหา แต่คิดดูอีกทีมันก็ไม่เท่าไหร่นะ” หมอก็ให้เธอลองรับรู้ความรู้สึกซังกะตายที่เกิดขึ้น รับรู้เฉย ๆ โดยไม่ตัดสิน และถาม “เป็นยังไง ความรู้สึกนี้มันแย่ไหม เป็นปัญหามากไหม” เธอก็บอกว่า “มันก็ไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไหร่ ก็แค่รบกวนใจเท่านั้นแหละ” หมอก็เลยแนะนำให้เธอลองไปสังเกตความรู้สึกนี้ดูโดยไม่ตัดสิน แค่ดูมันเฉย ๆ
เธอมาหาหมอสักครั้งสองครั้ง ครั้งสุดท้ายเธอก็มาบอกหมอว่า ตอนนี้เธอมีความรู้สึกปะปนอยู่ 2 อย่าง ทีแรกผิดหวัง ความรู้สึกหนึ่งคือผิดหวังที่จะต้องมีอาการซังกะตายแบบนี้ไปตลอดชีวิต แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกปลอดโปร่งเบาสบายที่ยอมรับความรู้สึกนี้ได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แปลกมาก ความรู้สึกนี้ยังอยู่แต่เธอรู้สึกเบาสบายมากขึ้นเพราะว่ายอมรับมันได้ แล้วตอนหลังเธอก็รู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น รู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความซังกะตาย ความรู้สึกเฉาก็ยังมีอยู่ แต่ว่าใจไม่ทุกข์เท่าไหร่แล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเธออนุญาตให้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้
“อนุญาต” ก็คือยอมรับมัน การยอมรับก็เป็นการรู้ซื่อ ๆ อย่างหนึ่ง คนเราพอยอมรับได้ มันก็ไม่ต่อสู้ ไม่ขัดขืนแล้ว มันก็นำไปสู่การเห็นเฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ ไม่ผลักไส ไม่ต่อต้าน
กรณีของผู้หญิงคนนี้ก็คล้าย ๆ กับคนแรกที่มีปัญหาเรื่องความโกรธ แต่ว่าสุดท้ายเธอก็ยอมรับความโกรธได้ เธอโอเค เธอโกรธได้นะ ไม่ใช่ว่าเธอโกรธไม่ได้ แต่ก่อนเธอไม่ยอมรับเพราะว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม เพราะว่าเป็นคนดีโกรธไม่ได้ แต่ตอนนี้ยอมให้ตัวเองโกรธได้แล้ว พอยอมให้ตัวเองโกรธได้ หรือยอมให้ความโกรธเกิดขึ้นได้ โอเคที่จะเกิดขึ้น โอเคที่จะโกรธ มันก็หายไปเลย
ผู้หญิงคนที่ 2 ตอนหลังความซังกะตายก็ค่อย ๆ หายไป เพราะว่าเธออนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ อันนี้เป็นตัวอย่างของการที่เรารู้จักยอมรับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ผลักไส ซึ่งมันก็จะนำไปสู่การรู้ซื่อ ๆ
บางครั้งการปฏิบัติธรรมทำให้เราคาดหวัง ว่าเราจะต้องไม่มีความรู้สึกแบบโน้นแบบนี้ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความเซ็ง ไม่มีความเบื่อ ไม่มีความอิจฉา พอมันเกิดขึ้น โอ๋ เรายอมรับไม่ได้เลย อันนี้จะเรียกว่าเป็นเพราะความติดดีก็ได้ หรือเพราะคาดหวังว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้ว ต้องไม่มีอารมณ์แบบนี้ หรือชีวิตของเรา ถ้าชีวิตของเราพร้อมทุกอย่างแล้ว ต้องไม่มีความซังกะตาย
แต่ยิ่งเราไม่ยอมรับ ยิ่งเราผลักไสมัน มันก็ยิ่งมีอำนาจเหนือจิตใจของเรา วิธีที่จะทำให้มันหมดพิษสงก็คือยอมรับมัน หรือว่าถ้าพูดแบบภาษาธรรมะก็คือว่าแค่เห็นมันเฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ หรือยอมรับมันได้ มันมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ก็คือว่าไม่ผลักไส ไม่ต่อต้าน ไม่กดข่ม
แล้วถ้าเราใช้ท่าทีนี้กับสิ่งอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเซ็ง ความเบื่อ แต่ยังใช้กับเสียงที่มากระทบหู หรือภาพที่กระทบตา หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา หรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ถ้าเรายอมรับได้ ใจไม่ผลักไสอยู่ลึก ๆ อันนี้ท่านเรียกว่า “เห็น ไม่เข้าไปเป็น” อำนาจที่มันมีต่อจิตใจของเรา ทำให้ทุกข์ใจก็น้อยลง จะเหลืออยู่ก็แค่ความทุกข์กาย แต่ใจไม่ทุกข์แล้ว
ความซังกะตายก็เหมือนกัน จริง ๆ มันก็ไม่ได้ทำร้ายใจเราเท่าไหร่ แต่ที่มันทำร้ายจิตใจผู้หญิงคนนั้นมากคือเพราะไม่ยอมรับ ความซังกะตายไม่ได้ทำร้ายเรา แต่การที่เราไม่ยอมรับความซังกะตาย ความรู้สึกเฉาต่างหากที่ทำร้ายเรา
เหมือนกับนอนไม่หลับ นอนไม่หลับนี้ก็ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเรา แต่ที่ทุกข์กันมากก็เพราะว่าไม่ยอมรับ เวลานอนไม่หลับก็เกิดความวิตกกังวล พยายามข่มตาให้หลับ ความกลัวว่าจะไม่หลับ หรือความอยากให้หลับ แล้วพอไม่หลับก็เลยวิตกกังวล ตัวนี้ต่างหากที่สร้างปัญหา
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเรามากเท่ากับปฏิกิริยาหรือท่าทีที่เรามีต่อสิ่งนั้น ถ้าเราแค่ดู เห็น รู้ซื่อ ๆ หรือเป็นมิตรกับ ก็หมดพิษสงลง อันนี้คือสิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้หรือทดลองดูได้ ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันของเรา.