พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 23 พฤษภาคม 2567
การฟังธรรมถือว่าเป็นสิ่งดีงาม ในทางพระพุทธศาสนานี้ท่านถือว่าเป็นมงคลสูงสุดประการหนึ่ง กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง การฟังธรรมตามกาลเป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าฟังเป็น เพราะถ้าฟังไม่เป็นก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์อะไรเท่าไหร่ มงคลที่ควรจะเกิดขึ้นกับตัวเองก็เกิดขึ้นน้อย
มีหลายคนที่ฟังธรรมทุกวัน ทาง YouTube บ้าง ทางวิทยุบ้าง โทรทัศน์บ้าง หรือสมัยก่อนก็ทางซีดีบ้าง แต่ว่าก็ยังขี้โกรธเหมือนเดิม ยังเป็นคนที่เจ้าอารมณ์ หงุดหงิด จู้จี้ ขี้บ่น อันนี้เจ้าตัวอาจจะไม่รู้ แต่ว่าคนที่อยู่รอบ ๆ นี้ เขาตั้งข้อสังเกต
อาจจะเป็นลูกหลานที่สังเกตว่าแม่หรือว่ายายฟังธรรมอยู่ทุกวัน แต่ก็ไม่ค่อยเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ บางทีความหงุดหงิดเกิดขึ้นแม้กระทั่งระหว่างที่ฟังธรรม เช่น มีเสียงมารบกวนระหว่างที่ฟังธรรมก็หงุดหงิดขึ้นมาเลย ทั้ง ๆ ที่ครูบาอาจารย์ที่กำลังแสดงธรรมอยู่ ท่านพูดเรื่องการมีสติ การมีความเมตตา หรือว่าไม่เป็นทาสของความโกรธ
บางทีขณะที่ท่านสอนแท้ ๆ ว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” แต่คนฟังนี้ก็รู้สึกหงุดหงิด รำคาญ เพราะว่ามีเสียงมารบกวน เสียงหมาเห่า เสียงไก่ หรือว่าเสียงมอเตอร์ไซค์ หรือเสียงเพลงที่ลูกหลานเปิด แต่บางคนระหว่างที่ฟังธรรม จิตใจก็สบาย แต่พอเลิกฟังธรรม กลับมาใช้ชีวิตตามปกติก็เหมือนเดิม จู้จี้ ขี้บ่น
หรือว่าบางคนก็ยังเป็นคนที่ชอบวิตกกังวลเหมือนเดิม บางคนที่เคยตระหนี่หวงทรัพย์ ก็ยังตระหนี่หรือว่าห่วงทรัพย์เหมือนเดิม ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็คงเพราะว่าขณะที่ฟังธรรม ก็ไม่ได้ใส่ใจกับธรรมะที่ได้ยินเท่าไหร่ ระหว่างที่ฟังธรรม หูได้ยินเสียงแต่ใจไม่รู้อยู่ไหนคือใจลอย ก็คงไม่ต่างจากเวลาเราสวดมนต์ สวดมนต์ถ้าเราสวดคล่อง ๆ ปากก็ว่าไปแต่ใจไม่รู้อยู่ไหน ก็สวดได้เหมือนกัน
บางคนก็เคลิ้มคล้อยกับเสียงบรรยาย เพราะครูบาอาจารย์หลายท่านน้ำเสียงท่านก็ไพเราะ มีจังหวะจะโคน ฟังแล้วก็เคลิ้มดี แบบนี้ก็ได้ประโยชน์แต่ได้ประโยชน์น้อย ได้ประโยชน์ตรงที่ว่า เออ ใจก็สบาย ไม่มีเรื่องให้วิตกกังวล ไม่มีเรื่องให้เครียด ไม่มีเรื่องให้ขุ่นเคือง เพราะตอนนั้นใจก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องลูกเรื่องหลาน ไม่ได้คิดถึงเรื่องงานการ ไม่ได้คิดถึงเรื่องหนี้สิน หรืออาจจะไม่ได้นึกถึงสุขภาพของตัวเองด้วยซ้ำ เพราะว่าใจก็เพลินอยู่กับการฟัง
โดยเฉพาะเพลินกับน้ำเสียง เพลินกับจังหวะจะโคน อันนี้ก็เรียกว่าได้ประโยชน์อยู่ อย่างน้อย ๆ ก็ในช่วงเวลาที่ฟัง ใจก็สบาย ปล่อยวางเรื่องที่ชวนให้วิตกกังวล เรื่องที่ทำให้หนักอกหนักใจ หรือเรื่องที่ทำให้หงุดหงิดรำคาญ แต่พอฟังเสร็จ ใจก็หวนกลับไปนึกถึงเรื่องเดิม ๆ ที่ค้างคาอยู่ในใจ หรือที่ยังแบกเอาไว้อยู่ ปล่อยชั่วคราว วางชั่วคราวเฉพาะตอนฟัง เพราะจิตของคนเรานี้รับได้อารมณ์เดียว หรือว่ารับได้แค่เรื่องเดียว ถ้าใจอยู่กับการฟังหรือใจอยู่กับเสียงบรรยาย ก็ต้องวางเรื่องอื่นลง
แล้วก็จำนวนไม่น้อยก็ฟังแบบประเภทว่าฟังแบบผ่าน ๆ ให้ผ่านหูไป การฟังแบบผ่าน ๆ หรือให้ผ่านหูไป บางทีเราก็เรียกว่าเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เหมือนกับเราสวดมนต์ เราก็สวดไป ๆ แต่ไม่รู้ความหมายหรือไม่ได้ประโยชน์จากข้อความที่สวด ไม่ว่าสวดขึ้นใจหรือว่าสวดโดยการอ่านหนังสือ
ก็มีไม่น้อยประเภททั้ง ๆ ที่ข้อความที่สวด หรือข้อความที่อ่าน เป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง หรือว่าสามารถตอบโจทย์ชีวิตของตัวได้แต่ว่าก็ไม่ได้อะไร เพราะว่าเรียกว่าฟังแบบผ่าน ๆ หรืออ่านแบบผ่าน ๆ จะว่าใจลอยก็ไม่ใช่ แต่ว่าไม่ได้ใคร่ครวญพิจารณาสิ่งที่ได้ยินหรือสิ่งที่ได้อ่านเท่าไหร่ ซึ่งก็แปลกข้อธรรมดี ๆ เราได้ยินแบบผ่าน ๆ แต่เวลามีคนมาต่อว่าเรา นินทาเรา แหม รู้สึกว่าถ้อยคำแต่ละคำจิตใจประทับตรึงแน่นเลย เรียกว่าติดหูเลย ถ้อยคำแต่ละคำที่เขาตำหนิเรา ที่เขานินทาเรา ติดหูเลย แต่ว่าข้อธรรมที่ชวนให้จิตเป็นกุศลนี้กลับได้ยินแบบผ่าน ๆ หูไป
ที่จริงถ้าหากว่าเรากลับกัน ถ้อยคำที่เขาตำหนิเรา วิพากษ์วิจารณ์เรา เราปล่อยให้มันผ่าน ๆ ไปซะ ได้ยินแบบผ่าน ๆ ส่วนข้อธรรมที่ครูบาอาจารย์ท่านบรรยาย เรากลับมาครุ่นคิด ใคร่ครวญ จะได้ประโยชน์ได้เยอะ
ทำไมเวลาเราฟังธรรม เราฟังแบบผ่าน ๆ หู แต่เวลาเจอคำนินทา เจอคำว่าร้าย กลับคว้าเอาไว้ ไม่ยอมปล่อย ติดตรึงแน่นอยู่ในใจ เรียกว่าติดหูเลย แต่แล้วเกิดอะไรขึ้น เกิดความทุกข์ เกิดความไม่พอใจ เกิดความหงุดหงิด ครูบาอาจารย์บอกให้ปล่อยให้วาง ก็วางไม่ได้
สิ่งที่ควรจะฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวากลับไม่ทำ สิ่งที่ควรจะพิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ กลับปล่อยให้ผ่าน ๆ ไป ใจคนเราก็มักจะเป็นแบบนี้ สิ่งที่มีประโยชน์ เราก็ปล่อยให้ผ่านเลยไป แต่สิ่งที่เป็นโทษก็กลับเก็บ กลับจดจำเอาไว้อย่างแน่นแฟ้น
ก็ไม่ต่างจากเวลามีคนเขาทำดีกับเราซึ่งเราจำไม่ค่อยได้ ใครให้เงินเรา เราจำไม่ค่อยได้ แต่เวลาใครโกงเงินเรา เบี้ยวเงินเรา ยืมแล้วไม่คืนนี้จำได้แม่นเลย เสร็จแล้วก็เกิดความขุ่นเคือง ไม่พอใจ สิ่งที่เป็นโทษต่อจิตใจ เรากลับเก็บ กลับจำเอาไว้แน่น สิ่งที่ช่วยให้ใจเราเป็นกุศล โปร่ง เบา หรือว่าเกิดความสุข เรากลับลืมเลือน
ธรรมะถ้าหากว่าเราไม่ปล่อยให้ผ่าน ๆ หูไป แต่กลับมาใคร่ครวญ เราจะได้ประโยชน์มากเลย อาจจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า “ที่เราได้ยิน นั่นจริงไหม” แค่ถามว่าจริงไหมก็ช่วยได้เยอะ เช่น ครูบาอาจารย์บอกว่า “ทุกข์เพราะหลง หลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์” ก็ลองพิจารณาสักหน่อยว่าจริงไหม
เสร็จแล้วก็มาเทียบเคียงกับประสบการณ์ตัวเองว่า เออ เวลาเราทุกข์ใจ เวลาเราเศร้า เวลาเราโกรธ จริงหรือเปล่าที่เป็นเพราะใจหลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ คิดเป็นวรรคเป็นเวร คิดไม่ปล่อยไม่วาง แล้วก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา เศร้า โกรธ เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “ทุกข์เพราะไปยึดติด” เช่น เสียงที่ไม่ชอบ ประสบการณ์หรือความทรงจำที่เจ็บปวด ทั้งที่ไม่ชอบแต่ว่าใจก็ไปปักตรึงอยู่กับสิ่งนั้นหรือจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น เสียงไหนที่ไม่ชอบ จิตยิ่งเพ่งเข้าไปที่เสียงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงโทรศัพท์ที่ดังระหว่างที่กำลังฟังธรรม หรือว่าเสียงคนพูดคุยระหว่างที่ปฏิบัติ หรือว่าเสียงหมาเห่า เสียงมอเตอร์ไซค์ ไม่ชอบ แต่ยิ่งไม่ชอบก็ยิ่งกลับปักตรึงอยู่ตรงนั้น
เวลาเราได้ยินครูบาอาจารย์พูดอย่างนี้ เออ เราลองถามตัวเองสักหน่อย “มันจริงไหม” เอามาเทียบเคียงกับประสบการณ์ของตัวเอง ว่าความหงุดหงิด ความโกรธ เป็นเพราะเราหลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์หรือเปล่า หรือว่าเป็นเพราะจิตไปจดจ่ออยู่กับเสียงที่ดังกระทบหู หรือว่าความทรงจำที่ผุดขึ้นมา บางทีไม่ใช่ว่าผุดขึ้นมาอย่างเดียว ไปขุดคุ้ยขึ้นมา แล้วก็ไปจมปลักอยู่กับอารมณ์หรือประสบการณ์ความทรงจำเหล่านั้น
ฉะนั้นถ้าเราถามตัวเองสักหน่อยว่า เออ มันจริงไหม แล้วก็ลองใคร่ครวญดู เราจะได้ประโยชน์ รวมทั้งที่เวลาครูบาอาจารย์บอกว่า “มันทุกข์เพราะผลักไส” “มันทุกข์เพราะดิ้น” ดิ้นนี้มีดิ้น 2 อย่าง คือ 1) ดิ้นเพื่อจะเอา เพื่อจะมี เพื่อจะเสพ 2) ดิ้นเพื่อจะผลักออกไป
มันจริงไหม เวลาใจมีความทุกข์ จิตดิ้นจริงหรือเปล่า ดิ้นเพราะอยากได้ หรือดิ้นเพราะอยากผลักไส เสียงดังที่ได้ยินแล้วเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ จริง ๆ เป็นเพราะเสียงที่มากระทบหู หรือเป็นเพราะใจที่ดิ้น ดิ้นที่จะผลักไสออกไป แต่ยิ่งดิ้นเพื่อผลักไสก็กลับยิ่งจดจ่อ ลองสังเกตดูว่าจริงไหม
หรือเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “เวลามีความทุกข์อะไรขึ้นมา เรามักจะชอบโทษสิ่งภายนอก” เช่น โทษต้นเสียงที่ดัง โทษการกระทำหรือคำพูดของคนที่อยู่รอบตัว โทษดินฟ้าอากาศ โทษแมลง เวลาได้ยินแบบนี้ เราลองถามตัวเองสักหน่อยว่า เราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เราชอบโทษคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นตัวการให้เราทุกข์ แล้วเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
คำถามนี้ก็มีประโยชน์ เพราะทำให้เราได้มาหันมามองตน หันมาใคร่ครวญ แล้วเราก็จะได้รู้จักตัวเราเองมากขึ้น เพราะว่าถ้าเราไม่ถามแบบนี้ เราก็ไม่เกิดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ฟังก็ฟังอย่างนั้นแหละ “เออ เห็นด้วย เห็นด้วย” แต่ที่จริงก็ไม่ได้ใคร่ครวญอะไร
เห็นด้วยที่ครูบาอาจารย์บอกว่าคนเราเวลาทุกข์ชอบโทษคนอื่น แต่ไม่เคยถามตัวเองเลยว่าเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าเกิดเราถามตัวเองแล้วพบคำตอบว่า “เออ เราก็เป็นอย่างนั้นนะ” เราก็เกิดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
แต่ว่าเวลาได้ยินข้อความทำนองนี้ เห็นด้วยก็จริงแต่มักจะหมายถึงคนอื่น “เออ คนอื่นเขาเป็นอย่างนั้นเหมือนกันนะ เขาชอบโทษคนโน้นคนนี้” แต่ไม่ได้ถามตัวเองว่า “เออ แล้วเราเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า”
เวลาครูบาอาจารย์บอกว่า โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า “เออ จริงแฮะจริง เห็นเลยนะ ไอ้คนนั้นเวลาโกรธนี้มันโง่จริง ๆ เลย เวลามันโมโหนี่มันบ้าจริง ๆ เลย” เห็นด้วยแต่ไม่ได้ถามตัวเองว่า “เออ แล้วเราเป็นอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า” หรือ “เราเป็นอย่างนั้นบ้างไหม”
คือถ้ามองแบบนี้หรือถามแบบนี้ เราก็จะเห็นตัวเองชัดว่า เออ เรามีข้อบกพร่องอย่างไรบ้างที่เราต้องแก้ไข อันนี้เรียกว่า “หันมามองตน” ซึ่งเป็นวิสัยของบัณฑิต คือบัณฑิตนี้มุ่งแก้ไขตนหรือมุ่งมองตน
ถ้าเราถามตัวเองแบบนี้ การฟังธรรมก็จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเวลาครูบาอาจารย์พูดว่า “คนเราต้องรู้จักปล่อยรู้จักวาง” “เราทุกข์เพราะแบก” เราไม่ได้ทุกข์เพราะหิน แต่ทุกข์เพราะแบกหิน เราไม่ได้ทุกข์เพราะปัญหา แต่ทุกข์เพราะแบกปัญหา
นอกจากถามว่าจริงไหม อย่างที่พูดไว้ข้างต้นแล้ว “จริงหรือเปล่านะ” ถ้าเกิดว่าจริงขึ้นมา ก็ลองถามตัวเองว่า “เออ แล้วเราพยายามทำอย่างนั้นหรือเปล่านะ” คือการปล่อยการวาง สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำ หลายคนก็เห็นว่าดีแต่ไม่ทำตาม เสร็จแล้วก็บ่น “โอ๊ย มันยาก การปล่อยการวางนี้มันยาก”
คำพูดเหล่านี้ มักจะเกิดจากคนที่ไม่ได้พยายามทำตามที่ครูบาอาจารย์แนะนำ ได้แต่เห็นด้วย พยักหน้า เคลิ้ม คล้อย แต่ว่าไม่ได้เอาไปปฏิบัติ อันนี้ไม่ใช่เฉพาะครูบาอาจารย์แนะนำ แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าแนะนำ ก็เห็นด้วยแต่ว่าไม่ได้ทำ
แต่ถ้าเกิดว่าเราถามตัวเองสักหน่อยว่า “เออ แล้วเราทำอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า” “เราได้พยายามทำไหม” ถ้าเรารู้สึกว่าหรือเราพบว่า “เรายังไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่นะ” ก็เท่ากับว่า เออ เราก็ต้องทำให้มากขึ้น พยายามทำบ่อย ๆ ไม่ใช่ฟังแล้ว เออ ใช่เห็นด้วย แต่ว่าไม่ได้เกิดความเฉลียวใจเลย ว่าตัวเองนี้ฟังก็จริงแต่ไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่
การตั้งคำถามกับตัวเองเวลาฟังธรรมนี้ ช่วยให้เกิดการปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นฟังแล้วก็ไม่เกิดการปฏิบัติ หรืออย่างน้อยก็เกิดปัญญา รู้จักใคร่ครวญ แล้วทำให้เกิดความเฉลียวใจ แล้วส่วนใหญ่ฟังก็ไม่ค่อยได้ถามตัวเองว่าจริงไหม ที่ท่านพูดจริงไหม แล้วการใคร่ครวญก็ไม่ใช่แค่ใช้เหตุใช้ผลอย่างเดียว แต่ว่าเอาประสบการณ์ตัวเองมาเทียบหรือตอบโดยอาศัยประสบการณ์ตัวเอง จริงไหม
แล้วเวลาท่านพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก เราก็ต้องถามตัวเองว่า “เออ เราเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า” “เราเป็นอย่างที่ท่านว่ามาไหม” แล้วเวลาท่านแนะนำทางออกหรือข้อที่ควรปฏิบัติ ก็ควรจะถามตัวเองด้วยว่า “แล้วเราได้ทำอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า” หรือคิดจะไปทำบ้างไหม
ฉะนั้นถ้าเราไม่ถามตัวเองอย่างน้อย 3 คำถาม การฟังธรรมก็ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง แล้วนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทีเดียว การฟังธรรมก็เป็นเพียงแค่การทำให้ใจเพลิน ฟังแล้วเพลินดี ก็คงไม่ต่างจากวัยรุ่นฟังเพลง แต่ว่าคนแก่หรือว่า สว. ก็ฟังธรรม เหมือนกันตรงที่ว่าฟังแล้วเพลิน แต่ว่าไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาอย่างจริงจัง
มันก็ดี ดีกว่าเวลาไปทำอย่างอื่น เอาไปเล่นไพ่ เอาไปดูหนังหรือว่าดูซีรีส์ แล้วก็เกิดอารมณ์เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา หรือว่าเอาเวลาแทนที่จะฟังธรรมก็ไปซุบซิบนินทา เอาเวลาที่ว่ามาฟังธรรม อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้เราได้รักษาศีลได้ครบ เพราะว่าเวลาเราฟังธรรม การที่จะผิดศีลทั้ง 5 ข้อนี้ยากหรือเป็นไปไม่ได้
แต่ว่าการอยู่ในศีลก็แค่ชั่วคราวเท่านั้น คือระหว่างที่ฟังธรรม พอฟังเสร็จ กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม นิสัยเดิม ๆ ประโยชน์ที่จะได้จากการฟังธรรมก็น้อย เพราะไม่นำไปสู่การปฏิบัติ การปฏิบัติเริ่มต้นจากการที่เราตั้งคำถามกับตัวเอง อย่างน้อย ๆ ก็หันมามองตัวเอง แล้วก็รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เรายังทำน้อยหรือไม่ได้ทำ อะไรคือสิ่งที่เราควรทำให้มากขึ้น
ฉะนั้น การฟังธรรมตามกาลเป็นมงคลสูงสุด ก็เพราะเหตุนี้ ไม่ใช่เพราะว่าพาตัวมานั่งฟังธรรมจากวิทยุ โทรทัศน์ หรือว่าเดี๋ยวนี้มีวิทยุบุญ วิทยุธรรม หรือมาดู YouTube เสร็จแล้วก็สบายใจ รู้สึกภูมิใจว่า “เออ เราเป็นคนใฝ่ธรรม” แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจิตใจตัวเองมีน้อยมาก ซึ่งก็หมายความว่าการที่เราได้ประโยชน์จากธรรมะก็เลยน้อยตามไปด้วย.