พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 16 พฤษภาคม 2567
มีหลายคนสนใจธรรมะ สนใจอ่านหนังสือธรรมะ ฟังคำบรรยายธรรมะ แต่พอถึงเวลาปฏิบัติ มักจะมีข้ออ้างมากมาย ที่อ้างกันอยู่บ่อย ๆ คือ ไม่มีเวลา ไม่มีเวลา
ส่วนหนึ่งก็สะท้อนภาพชีวิตของคนสมัยใหม่ ที่มีอะไรให้ทำเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้น คำว่าไม่มีเวลาก็กลายเป็นข้ออ้างของหลายคน ทั้ง ๆ ที่เรื่องที่ควรจะให้เวลาเป็นเรื่องสำคัญ
ไม่ใช่แค่เรื่องปฏิบัติธรรมอย่างเดียว รวมถึงการให้เวลากับลูก ให้เวลากับพ่อแม่ หลายคนก็บอกว่าไม่มีเวลา แต่มีเวลาเที่ยว มีเวลาช็อป มีเวลาดูหนังซีรีย์ มีเวลาเล่นเกม มีเวลาสังสรรค์พูดคุย แต่พอเวลาปฏิบัติธรรมบอกไม่มีเวลา จำนวนไม่น้อยมีเวลาอยู่บ้าง แต่ก็คงเพราะว่ารู้สึกว่าเวลามีน้อยจึงมักจะถามว่า วิธีใดที่ให้ผลเร็วบ้าง ทำให้หายโกรธเร็ว ทำให้พ้นทุกข์ไว ทำให้หายเครียดเร็ว บางคนยังไม่ทันเริ่มทำเลยก็เรียกร้องวิธีที่เร็ว ๆ แล้ว
อันนี้ก็สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของคนปัจจุบันที่ชอบอะไรที่เร็ว ๆ ฟาสต์ฟู้ดแปลว่าอาหารด่วน Instant Coffee กาแฟที่ละลายเร็ว ความสุขก็ต้องการ Instant Happiness ถึงเวลาจะปฏิบัติธรรม ก็เรียกร้องวิธีการที่เร็ว ๆ เพราะอะไร จะได้ไม่ต้องเหนื่อยมาก คือชอบทางลัด
เดี๋ยวนี้จะเปิดโทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ ก็ต้องให้เครื่องบูทเร็ว ๆ ติดนิสัยเร็ว ๆ ทางโลกนี้เอามาใช้กับทางธรรม ซึ่งลึก ๆ ก็คือเพราะว่าไม่อยากจะเหนื่อย หรือไม่อยากจะให้เวลากับมันมาก
หลายคนปฏิบัติเข้าไปแล้ว ทำได้ไม่นานก็เลิกแล้ว เพราะว่าใจร้อน เห็นผลช้า ไม่ทันใจ นั่งทำสมาธิแค่อาทิตย์เดียว เลิกแล้ว เพราะว่าฟุ้ง ไม่มีวิธีเร็ว ๆ ที่จะระงับดับความฟุ้งได้ เลยเลิก
อีกประเภทหนึ่งก็คือ ชอบอะไรที่สั้น ๆ ฟังธรรมะก็อยากได้ธรรมะที่สั้น ๆ แต่ว่าแก้ทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว หรือว่าอย่างสิ้นเชิง
เคยมีโยมคนหนึ่ง ถามหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เป็นคำถามที่คงจะแทนใจหลายคนมาก บอกว่าหลวงปู่ขอธรรมะสั้น ๆ เรื่องการปฏิบัติเพื่อให้โลภ โกรธ หลงหมดไปจากใจ จะทำอย่างไร ธรรมะสั้น ๆ เรื่องการปฏิบัติ
เรียกว่าให้โลภ โกรธ หลงหมดไปจากใจเลย
หลวงปู่ท่านพูดเสียงดังฟังชัดแค่คำเดียว “สติ” สตินี่แหละสั้นที่สุดแล้ว แต่ว่าเวลาจะเจริญสติให้เกิดผล ชนิดที่รื้อถอนโลภ โกรธ หลงออกไปจากใจได้ มันต้องใช้เวลา
แล้วก็ต้องรู้จักใช้ในทุกที่เลย จริง ๆ สติเป็นสิ่งจำเป็นในทุกที่ ทุกสถาน ทุกกาล ทุกโอกาส แล้วที่จำเป็นต้องใช้มากก็คือ เมื่อเกิดการรับรู้ เรียกว่ามีสติในการรับรู้ทุกอย่าง ที่เข้ามาทางทุกทวาร ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้นกาย และใจ นี่สำคัญมากเลย เป็นสิ่งที่คนมองข้าม
หลายคนก็สนใจแต่ทำบุญ หลายคนก็สนใจแต่เรื่องการรักษาศีล แต่ว่ามองข้ามเรื่องการมีสติในการรับรู้ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น
คำว่าอารมณ์นี้ หมายถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมทั้งธรรมารมณ์ คือความคิดและอารมณ์ด้วย นี่จำเป็นมากเลย มันเป็นวิธีการรักษาใจ
เรารักษากายด้วยศีล เราควบคุมกายวาจาด้วยศีล ศีลก็ช่วยทำให้อันตรายเข้ามาสู่ตัวเราได้น้อย แต่เรายังต้องรักษาใจด้วย เพราะว่าเรายังต้องใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าอยู่ในวัด หรืออยู่ที่ไหน แล้วยังไม่นับธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดความทุกข์ให้แก่จิตใจเราได้
เราจำเป็นมากที่ต้องรักษาใจ เพื่อไม่ให้บาปและอกุศลกรรม หรืออกุศลธรรม เกิดขึ้นในใจเรา ทำได้อย่างไร ก็คือเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นรับรส ก็ให้มีสติ อันนี้เรียกว่ารักษาใจด้วยสติ หรือสำรวมด้วยสติ
ภาษาธรรมก็เรียกว่า สติสังวร หรือที่นิยมใช้บ่อย นิยมพูดบ่อยคืออินทรียสังวร อินทรียสังวรก็คือ การรู้จักรักษาใจ ไม่ให้บาปและความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 อินทรีย์ทั้ง 6 ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะมีศีลแค่ไหน เราก็ต้องรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์อยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักใช้สติ ในการรับรู้สิ่งเหล่านี้ มันก็ทำให้ใจไม่ทุกข์
นี่เป็นขั้นต้นเลยในการรักษาใจ แล้วก็จำเป็นมากทีเดียว ผู้คนไม่เคยไม่ค่อยนึกถึงการรักษาใจเท่าใด ก็เลยทำให้ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งแวดล้อม อยากให้ใจสบาย ก็คาดหวังว่าสิ่งแวดล้อมจะถูกอกถูกใจ อากาศไม่ร้อน คนน่ารัก พูดจาไพเราะ แต่พออากาศร้อน คนไม่น่ารัก พูดจาไม่เพราะ จิตใจก็เกิดทุกข์ทันที
ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น เราเลือกสิ่งแวดล้อมไม่ได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แม้กระทั่งธรรมารมณ์ เราก็เลือกไม่ได้ แต่เราสามารถรักษาใจได้ หมายความว่า แม้จะเจอรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิด อารมณ์ ที่มันเป็นลบ แต่ว่าใจเราก็ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดทุกข์ นี้ทำได้ ถ้าเรามีสติ
แล้วทีนี้ มันช่วยรักษาใจ ไม่ให้หลงคล้อยเคลิ้มไปตามอำนาจของสิ่งที่กระทบ จะเป็นสิ่งยั่วยุให้โกรธ เป็นสิ่งเย้ายวนให้เกิดความโลภ แต่ถ้ามีสติแล้ว ใจก็ไม่คล้อยตาม
แต่เป็นเพราะทุกวันนี้ เราไม่ค่อยได้สนใจเรื่องสติสังวร หรืออินทรียสังวร หรือการรักษาใจด้วยสติ หรือการมีสติในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ เราจึงตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งแวดล้อมมาก จึงเกิดความโกรธ จึงเกิดความเครียด จึงเกิดความโลภ เวลาเปิดโทรศัพท์มือถือ เกิดความโลภ อยากได้โน่น อยากซื้อนี่ บางทีก็ติดเกม หรือว่าเผลอ ๆ ก็หลงเป็นเหยื่อของพวกบ่อนพนันออนไลน์
พวกนี้เป็นเพราะไม่มีสติทั้งนั้น ถูกมันเย้ายวน ก็เกิดความโลภ เกิดความอยากขึ้นมา บางทีก็ถูกยั่วยุให้โกรธ เจอภาพ เจอข้อมูล เจอข้อความ ก็ไม่รู้จักรักษาใจ ก็เลยโกรธ ขุ่นเคือง เกิดความเกลียด เสร็จแล้วก็เผารนใจ
นอกจากโกรธแล้ว ยังหลง เป็นกันเยอะ หลงเชื่อแก๊งมิจฉาชีพ เขาส่งข้อความมาล่อหลอก ให้กลัว ให้อยาก แล้วก็เลยหลงเชื่อ แต่ถ้ามันมีสติ มันจะหลงยาก หลงเชื่อได้ยาก แต่ทุกวันนี้โลภโกรธหลงครองใจ ทำให้ทุกคนมีความทุกข์เพราะขาดสติ เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบโลก ๆ การมีสติสังวรหรืออินทรียสังวร หรือการมีสติเมื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ ทางอินทรีย์ทั้ง 6 ก็สำคัญ
มันไม่ใช่เฉพาะรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ด้วย คนเราทุกข์ไม่น้อยก็เพราะธรรมารมณ์ หรือความคิด และอารมณ์ รวมทั้งภาพจำ ความทรงจำ
บางครั้ง ภาพจำ หรือความทรงจำในอดีต เหตุการณ์ในอดีต ผุดขึ้นมา ไม่มีสติ ก็ไหลไปตามอำนาจของมันจมดิ่งอยู่ในเรื่องราวที่เจ็บปวดในอดีต เกิดความโศก ความเศร้า เกิดความโกรธ
หรือมิฉะนั้น มันมีความคิดกังวล ชวนให้กังวล เกี่ยวกับเรื่องอนาคต ความคิดปรุงแต่งในทางลบทางร้าย เกี่ยวกับอนาคต เกี่ยวกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการงาน สุขภาพ ลูก คนรัก
พอไม่มีสติ ก็หลงเชื่อ ก็เลยเกิดความเครียด เกิดความกังวล บางทีเกิดความตื่นตระหนก พวกนี้ หลายคนไม่ตระหนัก เพราะไม่มีสติ ไม่มีสติในการรับรู้อารมณ์ทางทวาร หรืออินทรีย์ทั้ง 6
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงการปฏิบัติ ไม่ว่าเพื่อให้มีความสุขทางโลก หรือความร่มเย็นในจิตใจ หรือความสุขทางธรรม การมีสติรักษาใจ เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ ทางทวารทั้ง 6 สำคัญมาก ที่ทางพระเรียกว่าอินทรียสังวร
ต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้ไม่เสียผู้เสียคน เวลาเจอเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่น่าพอใจ เวลาเกิดความสูญเสียขึ้นมา ก็เสียแต่ของ เสียแต่ทรัพย์ แต่ใจไม่เสีย ถ้ามีสติ ก็มีโอกาสจะเสริมปัญญาให้เกิดขึ้นกับใจด้วย เวลามีคนตำหนิ ต่อว่า ถ้ามีสติ มันได้ประโยชน์
อย่างผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ ผู้ก่อสร้างเมืองโบราณ คุณ เล็ก วิริยะพันธุ์ แกเคยพูดว่า วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นวันอัปมงคล แต่ว่าวันไหนถูกตำหนิ วันนั้นเป็นวันมงคล
คนส่วนใหญ่ไม่ชอบคนตำหนิ เพราะว่าพอเกิดการตำหนิแล้วมันทุกข์ แต่ที่ทุกข์ก็เป็นเพราะขาดสติ ถ้ามีสติ มันช่วยรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ เมื่อเสียงตำหนิกระทบหู
หรือยิ่งกว่านั้น คือเอามาใช้ประโยชน์ อย่างคนที่ฉลาดอย่าง คุณ เล็ก วิริยะพันธุ์ พอถูกตำหนิ ก็ได้ประโยชน์ ทำให้รู้ว่าควรแก้ไขปรับปรุงงานการ หรือปรับปรุงตัวเองอย่างไร เรียกว่ามีสติในการรับรู้คำตำหนิที่มากระทบหู เรียกว่ารู้จักใช้ประโยชน์
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้สอนอยู่แล้ว ว่าให้รู้จักหาประโยชน์จากอนิฎฐารมณ์ อนิฎฐารมณ์ คือ รูป รสกลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่ไม่น่าพอใจ หรือว่าเหตุการณ์ที่ไม่น่ายินดี อย่างเช่น เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกต่อว่า ด่าทอ หรือว่าเจอความเจ็บป่วย เจอความล้มเหลว ก็รู้จักหาประโยชน์จากมัน จะหาประโยชน์ได้ ต้องรับรู้อย่างถูกต้องก่อน รับรู้ด้วยมีสติกำกับ ไม่ให้ใจเป็นทุกข์ แล้วมันก็จะเกิดปัญญา ในการใคร่ครวญ
ทีนี้พอเรามีสติในการรับรู้โลกภายนอก จนใจไม่เป็นทุกข์ หรืออยู่ในอำนาจของสิ่งล่อเร้าเย้ายวนแล้ว ต่อไปก็ให้มีสติในการบริโภค สติในการบริโภค คือ ไม่ได้บริโภคเพื่อปรนเปรอความอยาก ไม่ใช่กินเพราะมันอร่อย หรือมันถูกปาก แต่กินเพื่อรักษาชีวิต บำรุงสุขภาพให้แข็งแรง รวมทั้งการรู้จักประมาณในการบริโภคด้วย
อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนทุกวันนี้ บริโภคเยอะเหลือเกิน แล้วก็ไม่ใช่บริโภคทางปากอย่างเดียว บริโภคทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้าหากว่าเรามีสติสังวรในข้อแรกแล้ว การบริโภคทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็จะน้อยลง หรืออยู่ในความพอดี
ครั้นพอถึงเวลาที่บริโภคทางปาก มันก็จะมีความพอเพียง เดี๋ยวนี้ไม่รู้จักความพอเพียง กินมากจนป่วย หรือใกล้ป่วย เพราะว่าน้ำหนักขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันก็เยอะ อันนี้เรียกว่าขาดสติในการบริโภค ต้องเอาสติมาใช้ในการบริโภค ทางพระเรียกว่า โภชเน มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การรู้จักเอาสติมาใช้ในการทำกิจการงาน เวลาคนเราทำงาน ไม่ว่าทำกิจ ทำหน้าที่ เราทำทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว หรือทำงานทำการ เลี้ยงลูก ทำงานก็ต้องมีสติ ถ้าเรามีสติ การทำงานก็จะเป็นการเสริมสร้างธรรมะ ให้เจริญงอกงามในตัวเรา ในใจของเรา ถ้าเรามีสติในการทำงาน มันก็จะไม่ถูกความเหงา ความเบื่อ ความเซ็ง ความท้อแท้ ความเครียด ความวิตก ครอบงำจิตใจ
เดี๋ยวนี้คนเครียดเพราะการงานเยอะ แต่ที่จริงไม่ได้เครียดเพราะงาน แต่เครียดเพราะวางใจไม่ถูก เพราะว่าไม่มีสติในการทำงาน การมีสติในการทำงานตลอดทั้งวัน มันมีคำเรียกว่า ชาคริยานุโยค ส่วนใหญ่ก็มักจะแปลว่า การประกอบ หรือการประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน
ปกติมักจะพูดถึงพระที่บำเพ็ญเพียรดึก ๆ ว่า เป็นผู้ที่มีชาคริยานุโยค ที่จริงชาคริยานุโยคนี้ มีความหมายกว้างกว่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นพระนักปฏิบัติธรรม ก็ได้ฆราวาสญาติโยมที่มีสติทั้งวัน มีสติเต็มตื่น ไม่ใช่ว่าไม่ง่วงก็จริง ไม่นอนก็จริง แต่ว่าอยู่ในความหลง เพราะว่าขาดสติสังวร หรืออินทรียสังวรนี่ ไม่ถูก
ชาคริยานุโยค หมายถึงว่า การมีสติ ในการทำกิจ ในการทำหน้าที่ตลอดทั้งวัน ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นอกุศล ซึ่งเป็นสิ่งที่คนยุคนี้จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว มีสติในอยู่ใน 3 ระดับ มีสติในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ทางทวารทั้ง 6 มีสติในการบริโภค มีสติในการทำงาน ภาษาพระเรียกว่า มีอินทรียสังวร มีโภชเน มัตตัญญุตา แล้วก็ชาคริยานุโยค
ธรรม 3 หมวดนี้ ท่านเรียกว่า อปัณณกปฏิปทา อปัณณกปฏิปทาแปลว่า ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด เป็นทางสายกลางเลยทีเดียว ซึ่งจะว่าไปแล้ว เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ปฏิบัติได้
คนที่บอกว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่ที่จริงแล้ว สามารถจะมีสติในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ ไม่ต้องใช้เวลาอะไรเลย ไม่ต้องสละเวลาเพิ่มเติม เพราะทุกวันนี้ ก็รับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่แล้ว ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพียงแต่เติมสติลงไป
การกินก็เหมือนกัน เรากินอยู่แล้ว ฆราวาสก็ 3 มื้อ ก็เติมสติลงไปในการบริโภค ทำงานก็ทำอยู่แล้ว ก็เติมสติลงไปในการทำงาน
อปัณณกปฏิปทานี้ จะว่าไปแล้วเป็นธรรมที่สำคัญที่ถูกมองข้ามไป เพราะว่าสามารถจะเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ แล้วก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่มีคำว่าผิด อปัณณก แปลว่าไม่ผิดอยู่แล้ว เป็นทางสายกลาง เป็นการปฏิบัติธรรม ที่สามารถจะทำได้ ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องการเวลาเพิ่มเติม เพราะว่าทำอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ทางทวารทั้ง 6 ไม่ว่าจะเป็นการกิน หรือว่าการทำงาน เพียงแต่เติมสติลงไป ให้เป็นอินทรียสังวร ให้เป็นโภชเน มัตตัญญุตา ให้เป็นชาคริยานุโยค แล้วก็ช่วยทำให้ไม่เพียงแต่การงานดำเนินด้วยดี แต่ยังช่วยทำให้ความทุกข์บรรเทาเบาบาง และเป็นกำลังในการสนับสนุนให้เกิดการเห็นธรรมที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ.