พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 พฤษภาคม 2567
มีหลวงพ่อรูปหนึ่ง ผู้คนเคารพนับถือมาก ลูกศิษย์ลูกหาก็เยอะ วันหนึ่งก็มีหญิงคนหนึ่งพาลูกชายวัย 12-13 มาหาหลวงพ่อ แล้วก็บอกว่า “หลวงพ่อช่วยลูกของหนูที หนูไม่เห็นใครแล้วนะที่จะมาช่วยแนะนำลูกของหนูได้ ลูกของหนูชอบกินของหวาน ชอบกินน้ำตาล อะไรหวาน ๆ นี้ก็กินไม่เลือก กินเอา ๆ จนกระทั่งอ้วน หลวงพ่อช่วยสอน ช่วยแนะนำ บอกเขาทีนะว่าให้เลิกกินของหวาน ๆ หนูพูดอย่างไร เขาก็ไม่เชื่อไม่ฟังเลย”
หลวงพ่อได้ยินเช่นนั้นก็บอกว่า “2 อาทิตย์ค่อยพาลูกมาใหม่นะ” ผู้เป็นแม่ก็แปลกใจถาม “ทำไมหลวงพ่อต้องใช้เวลา 2 อาทิตย์ หลวงพ่อแนะนำเขาไม่ได้เลยเหรอตอนนี้” หลวงพ่อก็บอกว่า “เรื่องแบบนี้หลวงพ่อต้องใช้เวลา 2 อาทิตย์นะในการที่จะแนะนำลูกของโยม จะให้บอกตอนนี้ แนะนำตอนนี้ไม่ได้หรอก”
ผู้เป็นแม่ก็แปลกใจ เพราะหลวงพ่อสอนธรรมะยาก ๆ มาเยอะแล้ว เรื่องการพ้นทุกข์ เรื่องการมีจิตเป็นอิสระ เรื่องปล่อยวาง เรื่องไม่มีตัวตน แต่ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงสอนตอนนี้ไม่ได้ ทำไมต้องใช้เวลา 2 อาทิตย์ แต่อย่างไรหลวงพ่อก็ไม่ยอมแนะนำ ท่านบอกให้กลับไปก่อน 2 อาทิตย์ค่อยมาใหม่
พอครบ 2 อาทิตย์ แม่ก็พาลูกมาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อก็เลยพูดกับเด็กคนนั้นว่า “หลวงพ่อเข้าใจนะความรู้สึกของเธอ เพราะว่าหลวงพ่อเองก็ติดของหวานเหมือนกัน แล้วตลอด 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาหลวงพ่อก็งดของหวานนะ แล้วก็รู้ว่ามันไม่ใช่ง่าย แต่หลวงพ่อก็ไม่กินเลยนะของหวาน ๆ ตลอด 2 อาทิตย์ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อชอบ”
แล้วหลวงพ่อก็พบว่า “พองดกินของหวานหรือกินแต่น้อย สุขภาพดีขึ้นเยอะเลย น้ำหนักก็ลด แล้วก็ดูกระชุ่มกระชวยขึ้น ดูหนุ่มขึ้นกว่าเดิม อย่างเธอนี่ก็ยังอายุไม่มากนะ ยังมีโอกาสที่จะรักษาวัยหนุ่มให้ยืดยาวไปได้นาน ๆ แล้วก็มีสุขภาพดี จึงอยากจะแนะนำนะให้กินของหวานน้อย ๆ หน่อย หลวงพ่อไม่ได้บอกให้เธองดกินนะแต่ให้กินน้อย ๆ หน่อย เพราะดีกับสุขภาพของเธอเอง”
เด็กชายหรือเด็กหนุ่มคนนี้พอได้ฟังเช่นนั้นก็ซาบซึ้งมากเลยนะ ถึงกับก้มกราบหลวงพ่อเลยทีเดียวซึ่งเป็นสิ่งที่แม่ไม่เคยเห็น แม่ไม่เคยให้เด็กคนนี้ก้มกราบพระเลย แต่เป็นครั้งแรกที่เห็นลูกก้มกราบพระ
เสร็จแล้วหลวงพ่อก็พูดกับแม่ว่า “ที่อาตมาขอเวลา 2 อาทิตย์นี้ก็เพื่อจะได้งดกินของหวาน เพราะตราบใดที่หลวงพ่อยังติดของหวานอยู่ แล้วไปสอนลูกหรือสอนใครให้เลิกกินของหวาน ก็กลายเป็นการโกหก จะสอนใครหรือสอนลูกของโยมให้งดกินของหวาน หรือกินของหวานให้น้อย ๆ หลวงพ่อต้องทำให้ได้ก่อน
แล้วก็ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาหลวงพ่อก็ทำอย่างนี้แหละ แล้วก็รู้ว่ามันไม่ง่าย แต่ว่าทำแล้วก็เกิดประโยชน์ ก็เลยสามารถจะพูดได้เต็มปาก บอกแนะนำลูกของโยมได้ว่าถ้ากินของหวานให้น้อยลง มันจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นก็ควรงดซะ หรือกินให้น้อย ๆ ซะ หลวงพ่อพูดได้ก็เพราะว่าตอนนี้ก็งดแล้วของหวาน น้ำตาล”
แล้วโยมคนนั้นก็ซาบซึ้งเลย โอ้ เข้าใจแล้ว ทำไมหลวงพ่อถึงขอเวลา 2 อาทิตย์ กับเรื่องง่าย ๆ หรือเรื่องที่ดูเหมือนง่าย กลับไปบ้านแม่ก็ถามลูก “แม่ไม่เคยเห็นลูกกราบพระรูปใดเลย แต่ทำไมวันนี้ลูกถึงกราบหลวงพ่อ”
ลูกก็ตอบว่า “รู้สึกซาบซึ้งประทับใจที่หลวงพ่อยอมลำบาก เพื่อที่จะได้มาสอนผม หลวงพ่อยอมงดของหวานเพื่อที่จะได้มาบอกผมว่าของหวานนี้ไม่ดียังไงบ้าง แล้วถ้าเลิกแล้วหรือกินให้น้อยลง มันจะมีประโยชน์อย่างไร หลวงพ่อสอนในสิ่งที่ทำได้หรือทำไปแล้ว ไม่ได้สอนแบบนกแก้วนกขุนทองอย่างที่แม่เคยพาไปหาหลวงพ่อองค์นั้น หลวงปู่องค์นี้
แต่ส่วนใหญ่ก็พูดเหมือนนกแก้วนกขุนทอง เพราะว่าเรื่องที่สอนนี้แต่ทำเองไม่ได้ แต่หลวงพ่อองค์นี้ทั้งที่ท่านติดของหวาน แต่ท่านก็ยอม ยอมลำบากเพื่อจะมาแนะนำผม หลวงพ่อเรียกว่าเคารพผมมากเลย หรือให้ความสำคัญกับผมมากถึงกับยอมทำสิ่งนี้ ผมก็เลยซาบซึ้งประทับใจหลวงพ่อ”
เรื่องนี้ให้ข้อคิดที่ดี คนเราเวลาจะสอนหรือแนะนำใคร สิ่งที่พูดนี้จะไม่มีน้ำหนัก ถ้าเกิดว่าเราไม่ได้ทำ สอนให้คนนั่งสมาธิ สอนให้คนปฏิบัติธรรม แต่ว่าผู้ที่สอนหรือผู้ที่แนะนำคือพ่อแม่ไม่ได้สนใจทำด้วยตัวเองเลย
หลวงพ่อท่านนี้ ท่านเห็นว่า “จะสอนใคร เราต้องทำให้ได้” จะสอนเด็กให้กินน้ำตาลให้น้อยลง กินของหวานให้น้อยลง ตัวเองก็ต้องทำให้ได้เสียก่อน แล้วในเมื่อตัวเองทำไม่ได้ก็ต้องฝึก ฝึกทำ พอทำได้แล้ว ถึงจะแนะนำใครได้อย่างเต็มปากว่า “กินของหวาน มันไม่ดี ถ้างดแล้วมันก็จะดี” ไม่ได้พูดจากตำรา แต่ว่าพูดจากประสบการณ์ของตัวเอง
อันนี้เป็นข้อคิดที่ดีสำหรับคนที่คิดจะไปสอนหรือไปแนะนำใคร ไม่ใช่แค่พระเท่านั้น พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน มีพ่อแม่หลายคนที่แนะนำเคี่ยวเข็ญให้ลูกนั่งสมาธิบ้างล่ะ สวดมนต์เป็นประจำมั่งล่ะ แต่ว่าตัวเองไม่ทำ
หรือบางทีลูกก็เป็นฝ่ายแนะนำพ่อแม่ที่ป่วย อยากให้พ่อแม่ได้เข้าใจธรรม เห็นธรรมในเวลาระยะสุดท้ายของชีวิต จะได้ไปดี แต่ว่าก็ได้แต่แนะนำให้พ่อแม่ทำแต่ตัวเองไม่ทำ เวลาพ่อแม่สวดมนต์ แทนที่ตัวเองจะสวดมนต์ด้วย ก็ให้พ่อให้แม่สวดกับเทป ฟังเทปไปแล้วก็สวดไปว่าตามเทป แต่ถ้าจริง ๆ แนะนำใครนี้ก็ควรทำให้ได้
ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้ก็มีค่านิยมหรือแฟชั่นว่าจะต้องพานักเรียนมาปฏิบัติธรรมที่วัด มาถือศีล มาเจริญสติ ทำสมาธิภาวนา แต่ว่าครูเองพาเด็กมาก็จริงแต่ว่าไม่เคยที่จะทำสมาธิกับเด็กเลย เวลาพระสอนก็คิดว่าเป็นเรื่องของพระกับนักเรียน ตัวเองไม่เกี่ยว เด็กเจริญสติ นั่งสมาธิไป ส่วนครูก็เล่นมือถือไถหน้าจอหรือบางทีก็คุยกัน อย่างนี้เด็กจะเกิดศรัทธาหรือคล้อยตามคำสอน คำแนะนำของครูได้อย่างไร ในเมื่อครูเองก็ไม่ได้สนใจที่จะเจริญสติ นั่งสมาธิ หรือแม้แต่ฟังธรรม ได้แต่เคี่ยวเข็ญให้เด็กทำแต่ตัวเองไม่สนใจ
เด็กเขาก็เห็น พอเห็นพฤติกรรมของครู เด็กก็จะเชื่อได้ยังไง ว่านั่งสมาธิเจริญสติเป็นของดี ฟังธรรมเป็นของดี บางทีครูก็ใช้วิธีการนั่งสมาธิเพื่อกำราบหรือลงโทษเด็ก เด็กมาสายก็มานั่งสมาธิ แต่ครูก็ไม่ได้มีทีท่าว่าสนใจการนั่งสมาธิ เด็กก็เลยรู้สึกว่าการนั่งสมาธิเป็นการลงโทษ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คนมีปัญญาพึงกระทำ หรือไม่ใช่สิ่งที่คนดีพึงกระทำ แต่เป็นสิ่งที่ใช้ลงโทษเด็กที่เกเร
เด็กก็เลยมองการนั่งสมาธิในแง่ลบ สำหรับการลงโทษเด็กที่เกเร ไม่ใช่เป็นวิสัยของคนดีหรือคนที่มีปัญญา เพราะแม้แต่ครูยังไม่ทำเลย อันนี้รวมไปถึงเรื่องพ่อแม่แนะนำลูกให้ออกกำลังกาย ให้กินอาหารสุขภาพ กินอาหารจังก์ฟู้ดให้น้อยลง แต่เด็กเขาก็เห็น ว่าพ่อแม่ก็ไม่ได้ทำ แนะนำอะไรไป ตัวเองไม่ได้ทำสักอย่าง ออกกำลังกายพ่อแม่ก็ไม่ได้สนใจ เวลากินพ่อแม่ก็กินตามใจปาก
ยิ่งเรื่องการแนะนำให้ลูกงดใช้โทรศัพท์มือถือ เด็กอายุ 11-12 ให้งดใช้โทรศัพท์มือถือ แต่พ่อแม่ติดโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่แค่ใช้เป็นครั้งคราวแต่ว่าติดเลย ยิ่งไปแนะนำลูกวัยรุ่นด้วย ว่า ‘ให้งดใช้’ หรือ ‘ใช้ให้น้อยลง’ แต่ว่าพ่อแม่ทำไม่ได้ สิ่งที่แนะนำไปก็เลยไม่มีความหมาย เสร็จแล้วพ่อแม่หรือครูก็บอกว่า “เด็กเขาไม่เชื่อ” “เด็กเขาไม่ฟัง” “พูดเท่าไหร่เขาก็ไม่ฟัง”
ก็จะฟังได้ยังไง เพราะในเมื่อสิ่งที่พ่อแม่หรือครูแนะนำ ตัวพ่อแม่หรือครูเองก็ไม่ได้เชื่อในสิ่งที่พูดจริง ๆ เพราะถ้าเชื่อก็ย่อมจะทำ อันนี้เป็นปัญหา เรามักคิดว่าคำแนะนำสั่งสอน สิ่งสำคัญอยู่ที่คำพูด คำพูดแม้จะมีเหตุผล แม้จะมีข้อมูลสนับสนุนอย่างไร แต่ว่าคนพูดไม่ได้ทำให้เป็นแบบอย่าง มันก็ไม่มีน้ำหนัก
คำว่า “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” อันนี้มีความหมายมาก อย่างหลวงพ่อท่านนี้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องการแนะนำเด็กให้กินอาหารหรือกินของหวานให้น้อยลง แต่ท่านรู้ว่าท่านจะแนะนำได้ก็ต่อเมื่อตัวเองทำได้หรือพยายามทำ ในเมื่อพยายามทำแล้วหรือทำได้แล้ว ก็จะสามารถแนะนำเด็กได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เป็นแม่ก็ไม่เข้าใจ คิดว่าเรื่องแค่นี้ทำไมต้องใช้เวลา 2 อาทิตย์ถึงจะสอนเด็ก ก็อย่างที่เด็กพูด ว่าที่หลวงพ่อพูดแล้วเด็กฟัง เด็กคล้อยตาม ก็เพราะว่าท่านจริงจังในสิ่งที่แนะนำ แล้วท่านก็ให้เกียรติ หรือเห็นคุณค่าเคารพเด็ก อย่างน้อยก็เคารพด้วยการไม่โกหก หรือว่าไม่พูดอย่างทำอย่าง
อันนี้สำคัญ “การพูดอย่างทำอย่าง” สำหรับเด็กนี้เขาเห็น เขาเห็นจากพ่อแม่ เขาเห็นจากครู หรือบางทีเขาเห็นจากพระ เขาก็เลยไม่เชื่อ เพราะว่าคนที่สอน คนที่แนะนำนี้พูดอย่างทำอย่าง ที่จริงถ้าหากว่าเมื่อเราจะสอนใคร เราต้องถามตัวเองก่อนว่า “เฮ้ย เราทำได้อย่างที่สอนไหมหรือพยายามทำไหม” แล้วถ้าลองพยายามทำดู ก็อาจจะพบว่า “โอ้ มันไม่ใช่ง่ายนะ”
อย่างพ่อแม่ที่เคี่ยวเข็ญให้ลูกมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม มาเจริญสติเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน มีเยอะทีเดียวเคี่ยวเข็ญลูก แต่ตัวเองไม่ยอมทำ ไม่ยอมมาเข้าคอร์สทดลองดูว่า 1) มันดีจริงหรือเปล่า 2) มันยากง่ายเพียงใด
ถ้าลองมาทำดู เข้าคอร์สก่อน แล้วพบว่า โอ้ มันไม่ใช่ง่ายเลย ถึงเวลาที่แนะนำหรือเคี่ยวเข็ญลูกให้มาเข้าคอร์ส ก็จะรู้สึกว่า เออ เข้าใจเด็ก ที่เด็กงอแง ที่เด็กไม่อยากจะเข้าคอร์ส หรือว่าเข้ามาแล้ว 2-3 วันก็เผ่นหาทางหนี ก็เพราะว่ารู้ว่ามันยาก เพราะตัวเองก็เจอมาแล้ว
หรือแนะนำลูกให้งดใช้โซเชียลมีเดีย งดใช้โทรศัพท์มือถือ แนะนำได้ แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามันยากแค่ไหน แต่ถ้าลองแนะนำ แล้วก่อนจะแนะนำลองทำดูเสียก่อน แล้วพบว่า โอ้ มันไม่ใช่ง่าย ถึงตอนนั้นก็จะเข้าใจเด็กแล้ว ว่าเวลาแนะนำเด็กแล้วทำไมเด็กไม่ทำตาม เพราะรู้ว่ามันเป็นเรื่องยาก
กับพ่อแม่ก็เหมือนกัน ลูกหลายคนก็เคี่ยวเข็ญพ่อแม่ให้นั่งสมาธิ ให้สวดมนต์ หรือแม้แต่ฟังธรรม แต่ลูกไม่เคยทำเลย รู้ว่ามันดี แล้วก็เห็นว่า เออ การมาสนใจธรรมะเป็นเรื่องดี แต่ตัวลูกเองก็ไม่เข้าใจ ว่าธรรมะคืออะไร
อยากให้แม่อยากให้พ่อเข้าใจธรรมะ แต่ตัวลูกเองไม่รู้เลย ว่าธรรมะคืออะไร เพราะเวลาบอกว่าอยากจะให้พ่อแม่เข้าใจธรรมะ ก็นึกถึงแต่เรื่องสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม ทั้งที่ธรรมะมีความหมายกว้างกว่านั้น แต่เพราะไม่เคยทำ ไม่เคยปฏิบัติธรรม ก็เลยไม่เข้าใจธรรม พอไม่เข้าใจธรรม ก็เลยไปเข้าใจว่าจะเข้าใจธรรมะก็ต้องสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือว่าฟังเทศน์ กลายเป็นสูตรสำเร็จไป แต่ถ้าคนที่แนะนำหรืออยากให้พ่อแม่ทำ เขาได้ลองศึกษาดู ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ก็จะพบว่า “โอ้ ธรรมะนี้มีความหมายกว้างกว่านั้น แล้วก็สามารถจะทำได้หลายอย่าง”
เช่นเดียวกัน ลูกที่บอกให้พ่อแม่ปล่อยวาง ปล่อยวาง มีลูกหลายคนเลยเห็นพ่อแม่กลุ้มอกกลุ้มใจ หรือว่าเครียด วิตกกังวล ยิ่งพ่อแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีความเครียดสูง เพราะหาของไม่เจอ ของหายอยู่เรื่อย หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ
ลูกก็บอกแม่ว่า “ปล่อยวางเถอะของ เดี๋ยวก็หาเจอเอง” แต่พูดเท่าไหร่แม่ก็ไม่ยอมปล่อย แม่ก็ยังถาม แม่ก็ยังหา แม่ก็ยังหงุดหงิด แม่ก็ยังกังวล คนที่เป็นลูกเครียดเลย เพราะว่าแนะนำแม่อย่างไรแม่ก็ไม่สนใจ เครียดกับพฤติกรรมหรืออาการของลูกจนนอนไม่หลับ ซึ่งก็แสดงว่าลูกเองก็ปล่อยวางไม่เป็นเหมือนกัน
ลูกบอกให้แม่ปล่อยวาง แต่ตัวเองปล่อยวางไม่ได้ ลูกก็บอกให้แม่ปล่อยวางเรื่องทรัพย์ แต่ตัวเองปล่อยวางเรื่องแม่ไม่ได้ อันนี้เจอเยอะเลยประเภทแนะนำคนนู้นคนนี้ให้ปล่อยวาง แต่ตัวเองปล่อยวางไม่ได้
ถ้าหากตัวเองลองฝึกปล่อยวางสักหน่อย ก็จะเข้าใจแม่หรือเข้าใจพ่อว่า เออ มันไม่ใช่ง่าย พอเข้าใจเขาแล้ว การที่จะหงุดหงิดหัวเสียก็จะน้อยลง เพราะรู้ว่ามันเป็นเรื่องยากหรือเห็นใจเขามากขึ้น ขนาดเราปกตินี้เรายังปล่อยวางไม่ได้เลย จะให้คนที่เป็นอัลไซเมอร์ปล่อยวางได้ยังไง ความหงุดหงิดหัวเสียแม่ก็จะน้อยลง กลายเป็นความเมตตา ความเห็นใจ ความเข้าใจ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว
เพราะฉะนั้นเวลาเราจะแนะนำใคร ไม่ว่าเรื่องอะไร ออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ หรือว่าใช้โทรศัพท์มือถือให้น้อยลง เล่นเกมให้น้อยลง รวมทั้งการนั่งสมาธิ เจริญสติ ก็ต้องกลับมามองที่ตัวเองก่อน ว่า “ทำได้หรือยัง” หรือ “ได้ลองทำบ้างหรือเปล่า”
เชื่อจริง ๆ หรือเปล่าอย่างที่พูดว่ามันมีคุณค่าจริง ๆ หรือไปฟังเขามาแต่ไม่ได้เชื่อจริง เพราะถ้าเชื่อจริงก็ต้องทำด้วยตัวเองแล้ว แต่พอไม่ได้เชื่อจริงก็เลยไม่ได้ทำ แต่อยากให้คนอื่นทำ เสร็จแล้วคนอื่นเขาก็รู้ ว่าคนพูด คนแนะนำนี้ก็ไม่ได้เชื่อจริง พูดอย่างทำอย่าง เขาก็ไม่ฟัง
แต่ถ้าเกิดว่าเราจริงจังหรือจริงใจในสิ่งที่พูด ในสิ่งที่แนะนำ เราต้องทำให้ได้ก่อน หรือพยายามทำแล้วเราถึงจะแนะนำคนอื่นได้เต็มปาก เราปล่อยวางได้แล้วไม่มากก็น้อย เราถึงแนะนำให้คนอื่นปล่อยวางบ้าง หรือว่าเราได้ทำสมาธิเจริญสติมาพอสมควร แล้วก็รู้รสชาติ รู้ความยากลำบากของมันว่าเป็นอย่างไร เราถึงจะแนะนำเขาได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นคำพูดที่ไม่มีความหมาย หรือกลายเป็นการกระทำแบบนกแก้วนกขุนทองแบบที่เด็กคนนั้นพูด.