พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 พฤษภาคม 2567
คนทุกวันนี้มีชีวิตที่สะดวกสบาย พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ เรียกว่าไม่มียุคใดสมัยใดที่จะเทียบได้ แต่อนาคตก็ไม่แน่ นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ความบันเทิงเริงรมย์ก็มีช่องทางเข้าถึงได้มากมายแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง จนไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยก็ได้ ถ้าหากว่าไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ เพราะสิ่งเสพสิ่งปรนเปรอมันเยอะมาก
แต่ในเวลาเดียวกัน คงไม่มียุคใดสมัยใดที่ผู้คนจะถูกรุมเร้าด้วยความเครียดเท่าคนยุคนี้ คนเดี๋ยวนี้เครียดกันมาก และความเครียดส่วนหนึ่งหรือก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งก็มาจากความวิตกกังวล
ความวิตกกังวลนี้มักจะหนีไม่พ้นความวิตกว่าจะทำงานไม่ทัน จะหารายได้ไม่ถึงเป้า หรือว่ากังวลว่าทำแล้ว คนจะไม่เห็นด้วย ต่อว่าด่าทอวิพากษ์วิจารณ์ หรือทำแล้วล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จ นี่เฉพาะเรื่องทำงาน ยังไม่นับเรื่องอื่น เช่น กังวลว่าลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ กังวลว่าผลตรวจสุขภาพจะแย่ เช่น พบเนื้อร้าย หรือกังวลว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ ค่าเงินจะตก หรือหุ้นจะดิ่งลงเหว
สังเกตว่ามันเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่เกิด แต่ว่าที่ทุกข์ ที่เครียด ก็เพราะไปคิดว่า มันน่าจะเป็นอย่างนั้น หรือคิดเป็นจริงเป็นจังว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความคิดล้วน ๆ เลยก็ว่าได้
ซึ่งต่างจากความทุกข์ของคนสมัยก่อน ทุกข์เพราะไม่มีจะกิน ทุกข์เพราะยากจน หรือทุกข์เพราะอันตรายอยู่รอบตัว งูเงี้ยวเขี้ยวขอสัตว์ร้าย นี่เรียกว่าเป็นความทุกข์ทางกายภาพ ซึ่งอาจจะทำให้บาดเจ็บล้มตายถึงแก่ชีวิต เป็นทุกข์เพราะภัยที่เห็นตัว หรือจับต้องได้
ต่างจากความวิตกกังวล มันเป็นความทุกข์ที่มักจะเกี่ยวข้องกับอนาคต และเป็นเรื่องของความคิดเสียส่วนใหญ่ แต่ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องของความคิดมันก็ทำให้คนสุขภาพย่ำแย่ได้
เวลามีความวิตกกังวลรวมไปถึงความโกรธ ความกลัว ครูบาอาจารย์หลายท่านก็สอนว่าให้กลับมาตามลมหายใจ บริกรรมด้วยก็ยิ่งดี คำบริกรรมที่นิยมแนะนำก็คือ “พุทโธ” หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลได้
มันน่าสนใจตรงที่ เดี๋ยวนี้ผู้รู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสาท ด้านสมอง นักวิทยาศาสตร์หลายคน รวมทั้งนักจิตวิทยาก็แนะนำว่าเวลามีความวิตกกังวล มีความเครียด ให้กลับมาตามลมหายใจ เหมือนคำแนะนำทางพุทธศาสนา แต่ว่าเหตุผลอาจจะแตกต่าง
เขาให้เหตุผลว่าถ้าหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ จะช่วยไปกระตุ้นสมองส่วนที่เรียกว่า พาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) ช่วยทำให้เกิดความผ่อนคลาย
ระบบสมองของคนเรานี้จะว่าไปแล้วมีสองส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนคันเร่ง เกิดขึ้นเมื่ออยู่ภายใต้กดดัน เรียกว่าซิมพาเทติก (Sympathetic) เช่น เวลาเจออะไรคุกคามก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า “ไม่สู้ก็หนี” เกิดความเครียดขึ้นมา พร้อมที่จะวิ่งอ้าว หรือถ้าจะจนตรอกก็พร้อมจะสู้ สู้ยิบตา เรียกว่าเป็นตัวกระตุ้น
อีกตัวหนึ่ง พาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) เรียกว่าเป็นตัวเบรก ทำให้ผ่อนคลาย ทำให้สบาย เขาบอกว่าคนเราเวลาหายใจลึก ๆ เข้า-ออกยาว จะกระตุ้นสมองส่วนที่เป็นพาราซิมพาเทติก ช่วยทำให้ผ่อนคลาย มันก็ไปถ่วงดุลกับความเครียดที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ทำให้เลือดสูบฉีดแรง ซึ่งเกิดขึ้นเวลาคนมีความกังวล มีความกลัว มีความโกรธ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นมากก็ทำให้สุขภาพย่ำ โรคหัวใจ โรคความดัน
แต่พอหายใจเข้าลึก ๆ หายใจยาว ๆ มันช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย อันนี้เป็นเหตุผลทางกายภาพหรือสรีรวิทยา
แต่เหตุผลทางด้านธรรม คือ เวลาเราวิตกกังวลเรื่องอะไร ถ้าเราเอาใจไปจดจ่ออยู่กับเรื่องนั้น เราจะยิ่งวิตกกังวลหนักขึ้น คือมันครอบงำ แต่ถ้าเราเอาใจไปอยู่ที่ลมหายใจ มันก็ทำให้ใจต้องวางเรื่องที่กำลังวิตก มันเป็นวิธีการช่วยให้ปล่อยวางจากเรื่องที่กำลังวิตก มาอยู่กับลมหายใจซึ่งเป็นอารมณ์กลาง ๆ
อารมณ์ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่จิตสนใจรับรู้ มันเป็นอารมณ์กลาง ๆ ก็ทำให้ความวิตกกังวลทุเลาลง ยิ่งถ้าเกิดมีสมาธิกับลมหายใจ เรียกว่าเท่ากับปล่อยวางเรื่องที่วิตกเลย ก็ทำให้อารมณ์วิตกกังวลมันเบาบางลง นี่เป็นการอธิบายการทำงานของจิต
ยิ่งถ้าเกิดมีคำบริกรรมด้วยแล้ว พุท-โธ พุท-โธ ก็ทำให้จิตเป็นสมาธิกับลมหายใจ เมื่อใจไม่ไปคิดกับเรื่องที่วิตก ก็ทำให้ความวิตกกังวลค่อย ๆ จางคลาย เรียกว่าไม่ต่ออายุให้มัน หรือจะเรียกว่าปล่อยวางก็ได้
ผู้รู้ทางด้านประสาทวิทยา ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็บอกว่า เวลาหายใจให้หายใจเข้านับสี่ กลั้นหายใจสี่ แล้วหายใจออกสี่ แล้วกลั้นหายใจสี่ เขาบอกว่าจะช่วยทำให้ความวิตกกังวลบรรเทาเบาบางลง ซึ่งถ้ามองในแง่ธรรม มองในแง่จิต การที่ใจเราไปจดจ่ออยู่กับการนับ การหายใจเข้าหายใจออก ก็ทำให้จิตวางเรื่องที่วิตกได้ดีขึ้น
เพราะถ้าไม่นับเดี๋ยวจิตก็แวบไป แวบไปถึงเรื่องที่วิตก ซึ่งก็มีแรงดึงดูดจิตมาก แต่พอเราบังคับตัวเองให้นับด้วย หายใจเข้านับสี่ กลั้นหายใจนับสี่ หายใจออกนับสี่ กลั้นนับสี่ ถ้าเราตั้งใจทำ ก็จะทำให้จิตมีสมาธิ และวางเรื่องที่วิตกกังวลได้ แต่ว่าผลพลอยได้ทางด้านกายภาพคือ ผู้รู้เขาว่าทำให้สมองส่วนที่ทำงานผ่อนคลายร่างกาย คือพาราซิมพาเทติกทำงานได้ดีขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือมีผลดีทั้งในแง่กายและใจ
และเขายังแนะนำว่าให้ออกไปเดินเล่นบ้าง เพราะการเดินเล่นมันช่วยทำให้เกิดสารสื่อประสาทหลายตัวออกมา เป็นสารแห่งความสุข เช่น โดพามีน เซราโทนิน เอ็นโดฟีน อันนี้เป็นคำอธิบายทางด้านวิทยาศาสตร์
แต่ถ้าอธิบายในแง่ของจิตใจก็คือ พอเราออกไปเดิน ไปรับรู้สิ่งอื่น ๆ ท้องฟ้า ธรรมชาติ ต้นไม้ ก็ทำให้เราละวางเรื่องที่วิตกกังวล เป็นการหยุดชั่วขณะ ซึ่งก็ทำให้ความวิตกกังวลค่อย ๆ จางคลายไป
สรุปก็คือเวลามีความวิตกกังวล มีความโกรธ มีความกลัว การตามลมหายใจก็ดี การเดินโดยเฉพาะการเดินอย่างมีสมาธิ มีความรู้สึกตัว ไม่แวบไปถึงเรื่องที่คิด มันช่วยได้เยอะ
อันนี้มันก็ชี้ให้เห็นว่า เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เขาก็เห็นพ้องกับการปฎิบัติธรรม การเจริญสติ การทำสมาธิ ว่ามันช่วยคลายความวิตกกังวลได้ แต่มองคนละมุม เหตุผลคนละแง่ ซึ่งก็ดีทั้งนั้น
แล้วเขายังบอกอีกว่าพอความวิตกกังวลมันจางคลาย มันเป็นโอกาสที่จะทำให้เราพิจารณาว่า ที่วิตกนี้วิตกเรื่องอะไร ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน คนบางคนหรือคนส่วนใหญ่พอถูกอารมณ์วิตกครอบงำ มันก็จมดิ่งอยู่ในอารมณ์นั้น และไม่รู้ว่าสาเหตุที่ตัวเองวิตกคืออะไร ก็ทำให้การจัดการแก้ไขปัญหา การจัดการกับสาเหตุ มันทำไม่ได้
เช่น ถ้าเราใคร่ครวญว่า ที่วิตกกังวลเพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้ดี เป็นเพราะเราไม่มีความสามารถเรื่องนี้ เราไม่ถนัดเรื่องนี้ ฉะนั้นทางแก้คือไปเพิ่มความสามารถ ไปฝึกปรือ ไปถามขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ขอคำแนะนำ มันก็ทำให้เรารู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
มองในแง่หนึ่งก็คือเรารู้จักหาประโยชน์จากความวิตกกังวล เพราะความวิตกกังวลนี้เขาบอกว่ามันเป็นอารมณ์ที่มีประโยชน์ ที่มันตกทอดมาถึงเราทุกวันนี้ ก็เพราะมันมีประโยชน์ มีประโยชน์ต่อการอยู่รอดของมนุษย์ ไม่อย่างนั้นมันไม่ตกทอดไปถึงเราจนถึงทุกวันนี้
มีประโยชน์ยังไง มีประโยชน์ที่ทำให้เรารู้ว่าปัญหาหรือภัยคุกคามคืออะไร หรือมีโอกาสจะเกิดขึ้น พอเรารู้ว่ามันคืออะไรและมีโอกาสจะเกิดขึ้น เราก็ได้เตรียมตัวรับมือกับมัน อันนี้เรียกว่ารู้จักหาประโยชน์จากความวิตกกังวล คือ อาศัยอารมณ์นี้เป็นเครื่องมือบอกให้เรารู้ว่าปัญหาคืออะไร
ถ้าเรามัวจมอยู่กับความวิตกกังวล มันก็ไม่มีสติ และไม่มีการใคร่ครวญว่าปัญหาคืออะไร และพอไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร การที่จะแก้ปัญหานั้นก็ทำไม่ได้ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการรู้จักใช้ความวิตกกังวลให้เป็นประโยชน์ คือทำให้เรารู้ว่าปัญหาคืออะไร และจะแก้อย่างไร
คราวนี้พอพูดถึงเรื่องการคลายความวิตกกังวล จริง ๆ แล้วเราสามารถทำได้มากกว่านั้น นอกจากการตามลมหายใจ หรือนอกจากการเดินแล้ว การที่เรากลับมารู้กาย ไม่ใช่แค่กลับมารู้ลมหายใจ แต่รู้ว่ากายเป็นอย่างไร เรียกว่ามาดูกาย หัวใจเต้นอย่างไร ลมหายใจที่สั้น หน้านิวคิ้วขมวดไหม มือเท้าเกร็งไหม การที่เรามาสแกนหรือสำรวจร่างกายก็ช่วยลดความวิตก หรือลดความกลัว ความโกรธได้เหมือนกัน อันนี้เรียกว่ารู้กาย รวมทั้งรู้การเคลื่อนไหวด้วย ขณะที่กำลังเดิน ก็รู้กายเคลื่อนไหว เอาใจมาอยู่กับกาย ก็ทำให้ปล่อยวางจากอารมณ์ที่วิตก
ยิ่งกว่านั้นถ้ารู้ใจ คือมาเห็นความกังวลที่มันเกิดขึ้น อันนี้เป็นวิธีที่ชะงัดมาก เพราะอารมณ์พวกนี้ นอกจากการที่เราหันหลังให้มันแล้ว เพื่อที่เราจะได้ไม่สนใจมัน และไม่ปล่อยให้มันมาสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจของเรา การที่เราหันมาดูมัน แต่ดูแบบเห็นไม่เข้าไปเป็น มันเป็นวิธีการที่ช่วยได้มาก เพราะถ้าเราเห็นอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์ใด มันอยู่ไม่ได้
อารมณ์ทุกชนิดมันกลัวการถูกรู้ถูกเห็น ถ้าเราฝึกจิตให้รู้จักเห็น รู้ทันอารมณ์เหล่านี้ มันก็จะอยู่ไม่ได้ เห็นได้อย่างไร เห็นด้วยสติ หรือพูดอีกอย่างก็คือว่า ความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น เพราะอารมณ์พวกนี้มันอยู่ได้เพราะความหลง หลงเมื่อไหร่ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น เหมือนไฟอยู่ได้เพราะออกซิเจน แต่ถ้าเผื่อดับออกซิเจน ไม่มีออกซิเจนหลงเหลือไฟก็ดับ
ในทำนองเดียวกัน เราเปลี่ยนความหลงให้เป็นความรู้สึกตัว พอรู้สึกตัวขึ้นมา ก็ดับไป รู้สึกตัวเกิดขึ้นได้เมื่อมีสติ เห็นมัน เป็นการพาจิตกลับมารู้สึกตัว
อันนี้เป็นวิธีที่ต้องอาศัยการฝึก วิธีที่ผู้รู้เขาแนะนำเป็นวิธีง่าย ๆ ตามลมหายใจเป็นจังหวะ หรือการเดิน เดินเล่น แต่ถ้าให้ได้ผลจริง ๆ มันต้องอาศัยการฝึกสติมารู้กายรู้ใจ และรู้ใจไม่ใช่แค่รู้อารมณ์ แต่รู้ความคิด เราจะเห็นเลยว่าบางครั้งเราวิตกกังวลเพราะเราคิดมากไป ปรุงแต่งมากไป หรือคิดลบคิดร้ายมากไป
บ่อยครั้งเรามักจะมองสิ่งที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นในทางลบทางร้าย หรือจะเรียกว่าวิตกเกินเหตุก็ได้ ถ้าเรารู้จักทักท้วงความคิด ทักท้วงอารมณ์ อย่างที่เคยพูด มันก็ทำให้เราไม่ตกเป็นทาสของความวิตกกังวลมาก แล้วเราก็จะเห็นที่ทุกข์นี้ไม่ใช่เพราะสิ่งที่อยู่ข้างหน้า แต่ทุกข์เพราะความคิดว่า มันอาจจะเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เอาเข้าจริงมันก็อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ หรือเกิดขึ้นแต่ไม่เลวร้ายอย่างที่เราคิด
สติทำให้เราเห็นว่า เราทุกข์เพราะความคิด ไม่ใช่ทุกข์เพราะสิ่งที่อยู่ข้างหน้า มันจะเกิดหรือเปล่าก็ไม่รู้ ความคิดว่าลูกจะสอบไม่ได้ ความคิดว่าหุ้นจะตก ค่าเงินจะตก มันเป็นการคิดเอาทั้งนั้น ถ้าหากว่าเราใช้สติพิจารณาดู ในที่สุดก็จะเห็นว่าที่ทุกข์นี้เป็นเพราะความยึดติดบางอย่าง
ไม่ใช่เพราะการคิดปรุงแต่งไปในทางลบทางร้ายเท่านั้น เบื้องลึกเบื้องล่างของมันก็คือความยึดติด เช่น กังวลว่าพูดแล้วคนจะหัวเราะ เพราะไม่เคยพูดมาก่อน กังวลว่าเศรษฐกิจมันจะแย่ หรือกังวลว่าทำไปแล้วคนเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เห็นด้วยกับเรา
พวกนี้ลึก ๆ มันเกิดจากความยึดติด เช่น ยึดติดในหน้าตา กลัวว่าคนเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของเรา หรือคนจะไม่ฟังเวลาเราพูด เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน อันนี้ก็เป็นทุกข์เพราะเกิดจากความยึดติดในหน้าตา หรือทุกข์เพราะวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจจะล่ม อันนี้เพราะยึดติดในทรัพย์ กลัวว่าถ้าเศรษฐกิจมันแย่ หุ้นที่เราซื้อมันจะไม่มีค่า ทรัพย์สินที่มีก็จะราคาถูก หรือไม่มีค่ากลายเป็นขยะไป
พวกนี้มันก็สะท้อนถึงความยึดติด สำหรับคนที่เป็นผู้ที่มุ่งประสบความสำเร็จทางโลกเขาจะไม่สนใจเรื่องการยึดติด แต่คนที่สนใจเรื่องธรรมะ มาปฎิบัติธรรม เราปฎิบัติธรรมเพื่ออะไร เพื่อลดละความยึดติดถือมั่น และถ้าเรารู้ว่าเรายึดติดอะไร ยึดติดในหน้าตา ยึดติดในทรัพย์สิน ยึดติดในความสำเร็จ ในชื่อเสียงเกียรติยศ หรือยึดติดในตำแหน่ง
ในเมื่อเรารู้ เราก็ต้องหาทางที่จะแก้ทุกข์ด้วยการลดความยึดมั่นถือติดในสิ่งนั้น สำหรับคนทั่วไปเขาไม่สนใจเรื่องว่า การยึดติดถือมั่นนี้ก่อปัญหาอย่างไร เขาจะเห็นว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ แต่สำหรับคนที่สนใจธรรมะ เราจะเห็นว่าความยึดติดถือมั่นเป็นเหตุแห่งทุกข์
เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าเรายึดติดตรงไหน เราก็พยายามลดละความยึดติดถือมั่นตรงนั้น ซึ่งก็จะเป็นตัวการที่ทำให้เราออกจากทุกข์ได้ มองในแง่นี้ความวิตกกังวลมันก็มีประโยชน์ มันเป็นสิ่งที่มาบอกมาเตือนให้เราเห็นว่า เรายึดติดถือมั่นในเรื่องอะไร ถ้าเราไม่วิตกกังวลเลย บางทีเราก็จะไม่รู้ว่าเรายังมีงานที่ต้องทำ เป็นงานภายในที่ต้องทำ นั่นคือ การลดความยึดติดถือมั่น
เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เรามีความกลัวก็ดี ความวิตกกังวลก็ดี ความโกรธก็ดี อย่าไปมองว่ามันเป็นอารมณ์ที่แย่อย่างเดียว มันมีประโยชน์ มันสามารถจะบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราได้เยอะเลย เป็นการชี้ช่องให้เราเห็นว่า เรายังมียึดติดถือมั่นที่ตรงไหน และถ้าเราใส่ใจการปฎิบัติธรรม เราก็จะพยายามลดละตรงนั้นให้มันเบาบางลง
แม้ว่าจะลดละไม่ได้ทั้งหมด และสิ่งที่ได้คืออะไร คือความอิสระ ความเบา ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความยึดติดถือมั่นในหน้าตา ใครเขาจะต่อว่านินทาเรา เราก็ไม่สะดุ้งสะเทือนอะไร หรือว่าถ้าเราไม่ยึดติดในทรัพย์ หรือยึดแต่น้อย เราก็ไม่ห่วงว่าเศรษฐกิจมันจะเป็นอย่างไร เพราะว่าถึงอย่างไรเราก็อยู่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำรวยมาก
ดังนั้น เราต้องรู้จักใช้ความวิตกกังวลให้เป็นประโยชน์ เอามาเป็นเครื่องสอนบ่งบอกว่าเรายังสอบตกในเรื่องอะไร และเราจะฝึกตนพัฒนาตนในเรื่องไหนได้บ้าง.