พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 พฤษภาคม 2567
มีภาพ ๆ หนึ่งเป็นการ์ตูน ดูแล้วก็เนื้อหามันชวนคิด เป็นภาพชายคนหนึ่งอยู่ในห้องขัง และห้องขังก็มีเขาคนเดียว ท่าทางก็ผอมโซ แล้วก็โทรม แสดงว่าอยู่ในคุกนี้มานาน หน้าห้องขังหรือว่าหน้าซี่กรงมีของ 2 สิ่งวางอยู่ ได้แก่ ขนมปังแถวยาวน่ากิน อีกชิ้นหนึ่งเป็นลูกกุญแจที่ใช้ไขห้องขัง ของ 2 สิ่งนี้ชายคนนั้นเอื้อมมือไม่ถึง มันอยู่ห่างจากซี่กรงก็ประมาณสัก 1 ฟุตครึ่งหรือ 2 ฟุต
แต่บังเอิญในห้องขังนี้คล้าย ๆ มีกิ่งไม้หรือไม้บรรทัดที่ชายคนนั้นนี้สามารถจะเอามาใช้เขี่ยของที่อยู่ข้างหน้าห้องขังได้ ก็ทายดูว่าเขาจะใช้ไม้นั้นเขี่ยอะไร ระหว่างขนมปังกับลูกกุญแจ
ปรากฏว่าในภาพ ชายคนนั้นใช้ไม้เขี่ยขนมปัง ซึ่งมันก็ชวนให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมเขาถึงเลือกเขี่ยขนมปัง ทำไมไม่เขี่ยลูกกุญแจ ภาพนี้อาจจะบอกว่าคนเรานี่ถ้าให้เลือกระหว่างอิ่มท้องกับอิสรภาพ คนเลือกท้องอิ่มก่อน ขณะที่กำลังหิว ขออาหารหรือขนมปังก่อน ให้อิ่มท้อง หายหิว ส่วนอิสรภาพนี่เอาไว้ทีหลัง
เรื่องพวกนี้ มันก็น่าคิดว่าคนเราถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทำไมคนเราจึงเลือกอิ่มท้องก่อนอิสรภาพ อาจจะเป็นเพราะอิสรภาพมันเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ว่าท้องหิวนี่มันเป็นความทุกข์ที่ชัดเจน
ที่จริงถ้าชายคนนั้นเลือกเขี่ยกุญแจก่อน แล้วก็ใช้ลูกกุญแจนั่นไขประตู พอเขามีอิสรภาพออกมาจากห้องขังได้ เขาก็สามารถจะหยิบขนมปังไปกินได้ ก็หมายความว่าอิสรภาพกับความอิ่ม มันไม่ใช่เป็นเรื่องสิ่งที่แยกขาดจากกัน หรือต้องเลือกระหว่างอันใดอันหนึ่ง
แต่คนเราบ่อยครั้ง เราชอบมองปัญหาหรือมองสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะของการแบ่งออกเป็นคู่ตรงข้าม คือว่าต้องเลือกอันใดอันหนึ่ง ระหว่างขนมปัง หรือไม่ก็กุญแจ แต่ที่จริงแล้วขนมปังกับกุญแจนี่มันก็ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ต้องแยกกัน เราเลือกกุญแจมีอิสรภาพ แล้วออกมาจากห้องขังก็สามารถจะหยิบขนมปังกินได้
ทุกวันนี้ผู้คนก็มักจะมองสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นขั้ว ออกเป็นคู่ อย่างเช่นหลายปีก่อน แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมองว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติกับการพัฒนานี่เราต้องเลือก ถ้าจะเลือกการพัฒนา การอยู่ดีกินดีก็ต้องยอมให้มีการเบียดเบียนธรรมชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติไม่ได้ถ้าเราเลือกจะพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าจะอนุรักษ์ธรรมชาติก็หมายความว่าเราก็เลือกที่จะไม่พัฒนา
อันนี้มันเป็นเป็นขั้วตรงข้ามที่มันหลอกเรา เพราะจริง ๆ แล้วการพัฒนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติมันไปด้วยกันได้ แล้วมันจำเป็นต้องไปด้วยกันด้วย
เพราะว่าถ้าเกิดธรรมชาติถูกทำลาย เช่น เกิดมีการตัดไม้ทำลายป่า ต่อไปน้ำท่าก็จะไม่อุดมสมบูรณ์ พอน้ำแห้งขอดการพัฒนาการเกษตรกรรมก็ลำบาก หรือแม้แต่อุตสาหกรรมก็ไม่มีน้ำใช้ หรือว่าพอหน้าแล้ง พอฝนตกน้ำท่วม ไม่มีป่าคอยดูดซับน้ำ พอน้ำท่วมเศรษฐกิจมันก็ถูกกระทบ ทำอะไรไม่ได้เลย
อย่างชัยภูมินี่พอน้ำท่วม ธนาคาร ร้านค้า ร้าน 7-11 ร้านอาหาร เรียกว่าต้องปิดตัวหมด เศรษฐกิจก็ยุบ แย่ไปเลย นี่เพราะเราไม่อนุรักษ์ธรรมชาติ หรือพอปล่อยให้ดินมันแห้งเพราะใช้สารเคมีเยอะ ใช้ปุ๋ยเคมีมาก ดินมันแข็ง เรียกว่าดินตาย ปลูกอะไรก็ขึ้นยาก มันก็ทำให้การเกษตรมีปัญหา ต้นทุนก็สูง ต้องซื้อปุ๋ยมากขึ้น มันก็เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ยังไม่นับถ้าใช้ยาฆ่าแมลงมาก เกิดผึ้งตายหรือว่าผีเสื้อลำบาก เรือกสวนไร่นาก็ลำบากเพราะว่าไม่มีตัวแมลงที่ผสมเกสร อันนี้มันก็ชี้ให้เห็นว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติกับการพัฒนาเศรษฐกิจมันไม่ใช่สิ่งที่ต้องเลือก ไม่ใช่ขั้วตรงข้าม แต่มันไปด้วยกัน
เช่นเดียวกัน โลกกับธรรมมันก็ไม่ได้แยกกัน บางคนบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมหรอก ฉันต้องทำมาหากิน ฉันต้องทำมาหากินเพื่อจะได้ประสบความสำเร็จ ไม่มีเวลามาปฏิบัติธรรม นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด
เพราะว่าถ้าไม่สนใจฝึกจิตด้วยการปฏิบัติธรรม ในการทำมาหากินเพื่อหวังความสำเร็จก็อาจจะไปได้ไม่ไกล ก็อาจจะเสียศูนย์ เป็นโรคความดัน เส้นเลือดในสมองแตก โรคซึมเศร้า เพราะเครียดมากจากการทำงาน หรือเป็นเพราะว่าไม่สนใจธรรมะ ศีลไม่สน คอรัปชั่นดีกว่า ก็อาจจะประสบความสำเร็จไม่ได้นาน สุดท้ายก็ติดคุก หรือว่าถูกคดีความ หรือถูกกลั่นแกล้ง ถูกแก้แค้น ฉะนั้นโลกกับธรรมก็ไปด้วยกัน
ที่จริงแล้ว เราสามารถจะเอาธรรมะไปใช้กับการทำงานทางโลกได้ อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดอยู่เสมอ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม โลกกับธรรมไม่ได้แยกกัน
แม้แต่การปฏิบัติธรรมหลายคนก็มองว่า ต้องเลือกระหว่างสติหรือสมาธิ ต้องเลือกระหว่างความสงบกับความมีสติระลึกได้ หรือความรู้สึกตัว ต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จริงไม่ใช่เลย แม้ว่าที่นี่เราจะได้เน้นเรื่องสติเรื่องความรู้สึกตัว แต่สุดท้ายมันก็นำพาไปสู่ความสงบทางจิต เพราะว่าถ้าเรามีสติรู้ทันความคิด และอารมณ์มันก็ไม่ถูกความคิดที่เป็นลบ อารมณ์ที่อกุศลมาครอบงำ ทำให้จิตใจรุ่มร้อน
ถึงแม้ว่าใหม่ ๆ เราจะไม่เน้นเรื่องความสงบ ไม่ห้ามคิด เปิดตาเคลื่อนไหว บางคนมองว่าที่นี่ ที่อื่นเขาสอนให้นิ่งจะได้สงบ แต่ที่นี่สอนให้เคลื่อนไหวแล้วก็จะได้รู้ รู้ คือรู้สึกตัว แต่พอรู้สึกตัวมาก ๆ มันก็สงบได้แม้จะไม่นิ่ง แม้จะเคลื่อนไหว แม้จะทำงาน แม้จะเปิดตา จิตก็สงบได้ เสียงกระทบหู จะเป็นเสียงดัง คำต่อว่าด่าทอใจก็สงบ เจอคนไม่น่ารัก จิตใจก็ไม่ขุ่นมัว เพราะรู้ทันความคิดที่มันเกิดขึ้น นี่เรียกว่าสงบเพราะว่ารู้สึกตัว
มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องแยกกันในระหว่างสติกับสมาธิ หรือว่าต้องแยกระหว่างจะเอาความสงบหรือจะเอาความรู้สึกตัว
ถ้าเราเจริญสติทำความรู้สึกตัวมาก ๆ ความสงบก็เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นอิสรภาพกับการอิ่มท้องมันก็ไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่าต้องเลือก ต้องเลือกระหว่างขนมปังกับลูกกุญแจ ถ้าเลือกลูกกุญแจเปิดห้องขังเป็นอิสระก็สามารถเดินมาหยิบขนมปังได้
มองในแง่หนึ่ง ชายคนนั้นแกอาจจะคิดว่าเอาขนมปังก่อนเพราะหิว เสร็จแล้วค่อยมาเขี่ยกุญแจ เขี่ยขนมปังก่อนแล้วค่อยมาเขี่ยกุญแจ แต่ก็อาจจะเขี่ยไม่ทันก็ได้ พอเขี่ยขนมปัง กินขนมปังเสร็จ ไม่ทันเปิดประตูห้องขังเจ้าหน้าที่มาเห็นเสียก่อน ก็เป็นอันว่าต้องติดคุกต่อไปถึงแม้จะอิ่มท้อง
แต่คนเรา แม้จะรู้ว่าอิสรภาพเป็นของดี แต่อะไรก็ตามที่ช่วยทำให้อิ่มท้องก่อนฉันก็เลือก คนเราโดยพื้นฐานหรือนิสัย เราชอบสบายก่อน การที่จะอด ยอมหิว แล้วก็มาสบายทีหลัง คนไม่ค่อยเลือก
เพราะฉะนั้นในภาพนี้เขาก็เลยเลือกขนมปังก่อน อิสรภาพเอาไว้ทีหลัง คนส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ เลือกความสบายก่อน จะให้รอ เช่น รอหิวอีกสักหน่อย แล้วค่อยอิ่มทีหลังเมื่อเป็นอิสระแล้ว หลายคนไม่ยอม เพราะว่าคนเราส่วนใหญ่แล้ว อะไรที่มันสบายก็เอาก่อน ถึงแม้ว่าตอนหลังจะลำบาก
ของบางอย่างถ้าเราอดทนเสียหน่อยแล้วสบาย คนไม่ค่อยเลือก เขาเคยทดลองกับเด็ก 5 ขวบ เอาขนมลูกกวาด ฝรั่งเขาใช้ขนมที่เด็กชอบ คือมาร์ชแมลโลว์ สวย ๆ อร่อย ๆ มาวางไว้บนโต๊ะในห้อง ให้เด็ก 20-30 คน
ขนมมาร์ชแมลโลว์ก็มีพอสำหรับเด็กทุกคน เกินพอด้วยซ้ำ ครูบอกว่าถ้านักเรียนหยิบเดี๋ยวนี้เลย ได้ไปเลยคนละ 1 ชิ้น แต่ถ้าอดทนอีก 15 นาที ได้ 2 ชิ้น คิดด้วยหัว ด้วยเหตุผล ด้วยสมอง ก็รู้ว่า 2 มันดีกว่า 1
แต่พอให้นักเรียนเลือกโดยที่ครูไม่อยู่ในห้อง ปรากฏว่าส่วนใหญ่เลือกหยิบมาร์ชแมลโลว์ทันทีเลย ไม่ยอมคอย มีแค่เด็ก 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ที่คอย 15 นาที เพราะรู้ว่าถ้าคอยแล้วจะได้ 2 แต่เด็กส่วนใหญ่ไม่ยอมคอย ขอกินทันทีเลย ก็คงใช้คล้าย ๆ กับชายที่อยู่ในคุก หิว ขอกินขนมปังก่อน ส่วนอิสรภาพเอาไว้ทีหลัง หรืออาจจะไม่สนก็ได้
คนที่เขารู้จักอดกลั้น หิวก็จริงแต่ว่าอดไว้ก่อน ขอเขี่ยเอาลูกกุญแจก่อน เพราะว่าไขกุญแจออกแล้วมันถึงจะได้กินทีหลัง ซึ่งก็ไม่รู้จะไขออกได้นานเท่าไหร่ เพราะว่าลูกกุญแจอาจจะมีสนิม บางคนก็คิดแบบนี้นะ กว่าจะเป็นอิสรภาพอีกตั้งนาน ขอกินอิ่มก่อน แต่อิ่มแล้วจะได้เป็นอิสระหรือเปล่าก็ไม่รู้
คนเราถ้าหากว่าเรารู้ ถ้าเรายอมลำบาก เราอาจจะสบายทีหลังได้ เช่น เด็กหลายคนที่อุตส่าห์เรียนหนังสือ ทำไมถึงยอมเรียนหนังสือทั้ง ๆ ที่มันลำบาก ไม่ได้เล่น เพราะเขาเชื่อว่าหรือมั่นใจว่า เมื่อเรียนหนังสือ ตั้งใจเรียนแล้ววันหน้าก็จะสบาย
หรือบางคนขยันทำงาน เที่ยวไม่ค่อยเที่ยวหรอก เสาร์อาทิตย์ถ้าทำงานได้ก็ทำ เพราะอะไร เพราะเขาเชื่อหรือเขาคิดว่า วันนี้ยอมลำบากยอมเหนื่อยแล้วพรุ่งนี้หรือว่าวันหน้าจะสบาย คนที่อดออมนี่แทนที่จะเอาเงินไปซื้อโน่นซื้อนี่ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น เพราะอะไร เพราะเขามีความรู้จักอดทน อดออมวันนี้เพื่อที่เราจะได้สบายวันหน้า
ทำไมเราต้องออกกำลังกาย ยอมเหนื่อยเพราะว่าถ้าเรายอมเหนื่อยวันนี้ วันหน้าเราสบาย สุขภาพเราดี โรคอ้วนไม่เล่นงาน โรคหัวใจไม่ถามหา เบาหวานก็ด้วย แต่ทำอย่างนี้ได้มันต้องยอม ยอมลำบากก่อน วิ่งออกกำลังกายก็เหนื่อย แทนที่จะนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ นั่งดูโทรทัศน์ ต้องไปวิ่งออกกำลังกาย อันนี้เหนื่อยแน่ แต่ว่ามันสบายทีหลัง แล้วคนที่มีปัญญาเขาจะยอมลำบากก่อนเพราะเขารู้ว่าวันหน้าจะสบาย อดออมวันนี้แล้ววันหน้าก็จะมีใช้ รวมทั้งในวัยชรา
แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากจะอดออมวันนี้ มีเท่าไหร่ก็ใช้หมด ถ้าวันนี้ยังกิน ดื่ม เที่ยวเล่นได้ก็ทำ ไม่คิดจะออกกำลังกาย เฉพาะคนที่เขาสามารถที่จะรู้จักลำบากก่อน เขาจึงจะมีความสุขสบายวันหน้า เช่น กินอาหารก็ยอมกินอาหารจืด ๆ รสไม่จัดจ้าน หวาน มัน เค็ม ก็เลี่ยง แม้จะอร่อยแม้จะชอบแต่ก็อดเอาไว้ เพราะรู้ว่าถ้ากินอาหารแบบนี้ อาหารที่รสไม่จัดจ้านมากสุขภาพจะดี ไม่เป็นโรคอ้วน ไม่เป็นโรคสารพัด โรคหัวใจ
เช่นเดียวกัน การที่เรามาปฏิบัติธรรม มันก็หมายถึงว่าเราเลือกที่จะไม่ไปเที่ยวสนุกสนาน การปฏิบัติธรรมนั้นลำบากในแง่ที่ว่านอกจากไม่สนุกแล้ว บางทีเบื่อ บางทีต้องสู้กับอารมณ์ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ แต่ว่ามันก็ลำบากแค่วันนี้ วันหน้าก็จะสบาย เพราะพอเราจิตเรามีการพัฒนา มีสติ มีสมาธิ มีความรู้สึกตัว เจอสิ่งกระทบต่าง ๆ ก็ปล่อยวางได้ง่าย เจอสิ่งที่ไม่น่ารักไม่พอใจก็ไม่ทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็ไม่ทุกข์
เพราะเรารักษาจิตเอาไว้ได้ หรือมีปัญญา ไม่ปล่อยให้ใจถูกบีบคั้นด้วยอนิฏฐารมณ์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่น่าพอใจ หรือว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ถูกอกถูกใจ มันเกิดขึ้นรอบตัว แต่ใจไม่ทุกข์ เพราะว่าปฏิบัติมีการฝึกจิต
ในขณะที่คนที่ไม่ปฏิบัติเพราะเขาไม่อยากลำบาก เขาอยากจะสบาย หรือเขาอยากจะใช้เวลาหาเงินหาทอง สุดท้ายพอถึงเวลาที่เจอความพลัดพรากสูญเสียก็กลุ้มอกกลุ้มใจ เจอคำต่อว่าด่าทอก็เครียด คนเราถ้าหากว่าเรารู้จักอดทน รอคอยได้ ยอมลำบากก่อน ก็มีโอกาสที่จะสบายในวันหน้า
แต่ว่าน้อยคนที่จะเลือกวิถีอย่างที่ว่า ส่วนใหญ่ก็ขอสบายก่อน ส่วนวันหน้าเป็นอย่างไรว่ากันอีกที ตอนนี้สูบบุหรี่ กินเหล้า จะให้เลิกน่ะยาก เลิกแล้วมันทุกข์ จะลงแดงเอา ทั้งที่ถ้าเลิกแม้จะทุกข์แม้จะลงแดงบ้าง แต่ว่าวันหน้าก็จะสบาย แต่น้อยคนจะเลือกวิธีนี้ ก็สนองกิเลสต่อไป กินเหล้า สูบบุหรี่ เพลิน ส่วนวันหน้าจะเจอโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร ไม่สนใจ แต่ถึงไม่สนอย่างไรก็ต้องเจอ ถ้าหากว่าไม่มีการยับยั้งชั่งใจ
สมัยนี้แม้ผู้คนจะสอนลูกสอนหลานว่า ต้องมีความรู้มาก ต้องมีรู้ภาษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน รู้วิชาการต่าง ๆ มากมาย แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่มีความหมายเลยถ้าไม่รู้จักอดทนรอคอย และนี่คือสิ่งที่จะทำให้ลูกหลานมีความได้เปรียบ
ความได้เปรียบไม่ได้อยู่ที่ว่ามีความรู้เยอะ แต่อยู่ที่ว่ามีความรู้จักอดทนรอคอย และควบคุมตัวเองได้ เพราะอะไร เพราะเดี๋ยวนี้เขาไม่สนใจกันแล้วที่จะฝึกให้รู้จักอดทนรอคอย หรือว่าฝึกให้มีระเบียบวินัย อยากได้อะไรก็เสพทันที เลือกสุขไว้ก่อน ทั้งที่อาจจะรู้ว่าวันหน้าจะลำบาก แต่อดทนไม่ได้ เขาเรียกว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ทีนี้อดเปรี้ยวไว้กินหวานนี่อดยาก เพราะว่าไม่รู้จักควบคุมจิต จิตถูกล่อเร้าเย้ายวนได้ง่ายเพราะว่าไม่รู้จักอดทนรอคอย
แต่ถ้าเรารู้จักอดทนรอคอย แม้กระทั่งในการปฏิบัติธรรม อดทนรอคอย เจริญสติ ทำแล้วทำเล่า ทั้งวันก็ยังไม่เห็นอะไรก็ไม่ท้อ ทำไปเรื่อย ๆ อย่างที่พูดเมื่อวาน คนที่จะทำไปเรื่อย ๆ เอาปริมาณไว้ก่อน ทำเยอะ ๆ มันต้องเป็นคนที่ไม่ใจร้อน ต้องรู้จักอดทนรอคอย ไม่หวังผลเร็ว
ถ้าหวังผลเร็วจะทำไม่ได้นานเพราะผลมันออกมาช้า ก็ท้อแท้ผิดหวัง แล้วเลิกทำดี แต่ว่าคนที่อดทนรอคอยได้ แม้ผลที่ปรารถนายังไม่เกิด ก็ไม่เป็นไร ก็ยังทำไปเรื่อย ๆ ถือว่าทำเล่น ๆ ไป แต่ทำจริง ๆ คือ ทำเยอะ ๆ ทำบ่อย ๆ
แต่ว่าในบรรดานักปฏิบัติธรรม น้อยคนที่จะอดทนรอคอยได้ หลายคนมักจะบอกว่า ทำอย่างไรจิตมันจะสงบเร็ว คำถามนี้เป็นคำถามที่เจอบ่อย ทำอย่างไรจะสงบเร็ว ทำอย่างไรจะรู้สึกตัวได้เร็ว จะเอาเร็วไว้ก่อน อยากจะหาทางลัด
เผอิญการปฏิบัติธรรมมันไม่มีทางลัด แม้ทางที่เป็นทางตรงแล้วนี่ มันก็ต้องอาศัยเวลา ต้องอาศัยความเพียร ต้องทำเยอะ ๆ ทำบ่อย ๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์ล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ต้องล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรเสียอย่างแล้ว แม้จะปฏิบัติถูกทางมันก็ไปไม่ถึงไหน
เพราะฉะนั้นการรู้จักอดทนรอคอยนี่สำคัญมาก คือหมายความว่ายอมลำบาก ยอมเหนื่อยวันนี้ เพราะเชื่อว่าผลพวงข้างหน้า มันก็คือความสำเร็จ
ความสำเร็จมันจะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะกับคนที่รู้จักคอยเท่านั้น ถ้าไม่รู้จักคอยแล้วมันก็ได้แค่ความสุขชั่วครู่ชั่วยาม
เพราะฉะนั้นฝึกเอาไว้ สะสมนิสัยให้รู้จักอดทนรอคอย ซึ่งมันไม่ใช่แค่ขันติอย่างเดียว มันต้องมีสติด้วย เพราะถ้าไม่มีสติมันก็จะพ่ายแพ้ต่อกิเลส ต่อสิ่งล่อเร้าเย้ายวน ต่อนิวรณ์ 5 ไม่ว่าจะเป็น กามฉันทะ พยาบาท อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน หรือว่าในความง่วงเหงาหาวนอน รวมทั้งความลังเลสงสัยวิจิกิจฉา
เราจะฝ่าทะลุนิวรณ์ 5 หรืออุปสรรคของการปฏิบัติ มันต้องมีความรู้จักอดทนรอคอย โดยมีสติเป็นตัวนำ แล้ววิริยะเป็นตัวผลัก มันถึงจะประสบความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ.