พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2567
ผู้ที่มาฝึกกรรมฐานที่เป็นผู้ฝึกใหม่ หลายคนก็มักจะถามว่า จะเริ่มต้นอย่างไร ถ้าจะตอบแบบฟันธงก็คือว่า ให้ทำเยอะๆ ไว้ก่อน ความหมายหนึ่งก็คือว่า อย่าเอาแต่คิด อย่าเอาแต่นึก หรือว่าอย่าเอาแต่ฟัง ต้องลงมือทำ
เมื่อลงมือทำแล้ว ก็ทำเยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม การสร้างจังหวะ ทำเยอะๆ นี่ยังมีอีกหมายความว่า เอาปริมาณไว้ก่อน ส่วนคุณภาพนี่เอาไว้ทีหลัง
คนที่เขาฝึก ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม อย่างแรกที่ต้องทำก็คือทำเยอะๆ เช่น เวลาเราฝึกเขียน ก ไก่ ข ไข่ สมัยที่เราเป็นเด็ก การบ้านที่ครูให้ก็คือเขียนเยอะๆ ก ไก่ ข ไข่ เขียนเป็น 10 เป็น 100 ครั้ง กว่าจะเขียนเป็นตัว ยังไม่ต้องเอาสวย ยังไม่ต้องเอาตรง ให้เขียนไปก่อน มันจะโย้เย้ มันจะไม่สวยอย่างไร ก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำเยอะๆ แล้วความสวยความบรรจงมันก็จะตามมาทีหลัง
ฟุตบอลที่เขาฝึกเตะลูกโทษ ใหม่ ๆ นี้ ก็คือเตะเยอะ ๆ เตะ 100 ครั้ง 200 ครั้ง 300 ครั้ง 400 ครั้ง เข้าไม่เข้านี่ เอาไว้ทีหลัง เตะไว้ก่อน แล้วพอเตะไปนานๆ เข้า คุณภาพมันก็จะมาเอง
เช่นเดียวกัน การปฏิบัติถ้าเราเริ่มต้นจะทำให้มันดีเลย ใหม่ ๆ เช่น ให้ใจสงบ ให้มีสติ รู้สึกตัวต่อเนื่อง ถ้าเราตั้งความคาดหวังไว้อย่างนั้นตอนที่เริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ เราจะท้อได้ง่าย เพราะว่าทำอย่างไร มันก็ยังไม่มีสติหรอก ทำอย่างไรมันก็ยังไม่สงบ และการปฏิบัติจะกลายเป็นเรื่องยาก ถ้าเราเอาคุณภาพไว้ก่อน
แต่ถ้าเอาปริมาณ มันจะง่ายขึ้น เดินไปก่อน ยกมือไปก่อน อย่างน้อยมันก็ได้ลงมือทำ ดีกว่าตั้งท่า แต่ไม่ทำ ตั้งท่าแล้วคิดว่าทำอย่างไรให้มันดี มันไม่มีประโยชน์
เหมือนกับคนที่นั่งคิดว่า เตะลูกโทษอย่างไร มันถึงจะเข้า ทำให้โกล ผู้รักษาประตูจะรับไม่ได้ ถ้าเอาแต่คิด หรือเอาแต่วางแผน มันไม่มีทางที่จะพัฒนาความสามารถหรือฝีมือได้
การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน พอเรารู้แล้วว่าทำไปเพื่ออะไร มันมีคุณค่าอย่างไร ก็ลงมือทำเลย ไม่ต้องคิด ไม่ต้องวางแผน ว่าทำท่าไหนมันถึงจะออกมาดี เพราะว่าสิ่งที่คิดกับสิ่งที่ทำนี่ มันคนละเรื่องกันเลย
เหมือนกับว่ายน้ำ หรือเหมือนกับขี่จักรยาน คิดเอาอย่างไร มันก็ไม่ได้แปลว่าลงมือขี่จักรยานแล้ว มันจะขี่เป็น ว่ายน้ำทีแรกมันก็จะว่ายเป็น มันไม่ใช่ จะขี่เป็น ว่ายน้ำเป็น มันเกิดจากการทำบ่อย ๆ ขี่จักรยานใหม่ ๆ มีแต่ล้มท่าเดียว ถ้าตั้งความคาดหวังว่าขี่ปุ๊บทรงตัวได้เลย อันนี้ก็จะผิดหวัง คนที่ขี่จักรยานเป็นเพราะเขาไม่กลัวล้ม ล้มก็ไม่ได้เสียหาย จะทำไปเรื่อยๆ ว่ายน้ำก็เหมือนกัน ใหม่ ๆ ก็จม สำลักน้ำ
ถ้าเอาคุณภาพตั้งแต่แรกนี่ก็จะท้อ แต่ถ้าเราไม่สนใจคุณภาพ จะทรงตัวอยู่บนน้ำได้หรือไม่ เอาไว้ก่อน แต่โจนลงน้ำก่อน แล้วก็ว่าย มันจะสำลักน้ำอย่างไร มันก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องผ่านไปให้ได้
การเจริญสติก็เหมือนกัน ใหม่ ๆ มันมีแต่หลง ใจก็มีแต่ฟุ้ง แต่เราก็อย่าไปสนใจ อย่าไปหวังผล อย่าไปเอาคุณภาพ ทำไปเรื่อยๆ เดินกลับไปกลับมาเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ยกมือสร้างจังหวะหลายจบ อาจจะเป็นร้อยจบ หรือว่าพันจบ หรือถ้าทำทั้งวัน ไม่ว่าเดินหรือนั่ง คนที่เอาคุณภาพก่อนเลยนี่ จะทำได้ไม่นาน แล้วก็ท้อ
หลายคนมาฟังธรรม เกิดความสนใจอยากจะนั่งสมาธิ ตั้งใจว่ากลับไปบ้านจะนั่งสมาธิทุกวัน ๆ ละ 10 นาที แต่ทำไปได้แค่อาทิตย์เดียวก็เลิกแล้ว ถามว่าทำไมถึงเลิก มันฟุ้งเหลือเกิน มันคิดมากเหลือเกิน ก็เลยท้อ แล้วก็เลิกในที่สุด อันนี้เรียกว่า ท่าดีแต่ทีเหลว
ตั้งใจดี แต่ว่าทำไปได้ไม่ตลอด เพราะว่าวางใจผิด ไปเอาคุณภาพ ไปคาดหรือไปตั้งความหวังว่า ทำแค่อาทิตย์เดียวมันจะต้องสงบ ต้องมีสติ ถ้าคิดแบบนี้เหลวทุกราย แต่ถ้าตั้งใจว่าปฏิบัติ จะดีหรือไม่ ไม่สำคัญ ขอแค่ทำ ทำเยอะ ๆ อย่างน้อยก็ทำให้ได้ครบ 10 นาที อย่างที่ตั้งใจไว้
หรือจะทำให้ครบ 1 ชั่วโมงก็ได้ แต่ถ้าเริ่มต้น 1 ชั่วโมงที่บ้าน สุดท้ายก็ทำได้แค่ครั้งสองครั้ง มันไปต่อไม่ไหว เพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่คุ้น เริ่มต้นก็เริ่มเอาแบบเยอะ ๆ เลย
แต่ถ้าเราเริ่มต้นทีละน้อย สมมุติว่าทำที่บ้าน แต่ว่าทำให้ได้ครบอย่างที่ตั้งใจไว้ ตั้งใจว่าทำ 5 นาที อย่างไรก็ 5 นาที ไม่ว่าจะมีอะไรมาขวาง ไม่ว่าจะมีงานอะไรมาแทรก ก็จะทำให้ได้ 5 นาที พอทำทุกวัน ๆ มันก็จะขยับขยายเป็น 10 นาทีได้ไม่ยาก
แต่ถ้ามาทำที่วัดนี่ มันไม่มีงานอื่นแล้ว นอกจากการปฏิบัติ ก็ยิ่งดี ทำได้ทั้งวันเลย และเมื่อจะทำทั้งวัน ก็ยิ่งจำเป็นต้องเอาปริมาณไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอาคุณภาพ อย่าเพิ่งไปคิดว่ามันจะต้องทำได้ดี
การที่เราไม่คาดหวังคุณภาพนี่ มันจะได้ผลอย่างไร ก็ไม่เป็นไร อันนี้ก็เรียกว่าทำเล่น ๆ หลวงพ่อเทียนท่านก็จะสอนลูกศิษย์ว่าให้ทำเล่น ๆ ตั้งแต่วันแรกเลย อาตมาก็ได้รับคำสอนว่าให้ทำแบบนี้ ทำเล่นๆ ก็หมายความว่า อย่าไปคาดหวังผล มันจะหลง มันจะฟุ้ง ไม่เป็นไร
เหมือนกับเราเล่นหมากฮอส เล่นหมากรุก ถ้าทำเล่นๆ แล้วมันแพ้ ก็ไม่เป็นไร สนุก แต่ท่านบอกให้ทำเยอะ ๆ ทำจริง ๆ ก็คือทำทั้งวัน ก็คือทำเยอะ ๆ ไม่หวังผลก็จริง แต่ว่าต้องทำมาก ๆ อย่าไปดูแคลนการทำมาก ๆ ทำเยอะ ๆ หรือเอาปริมาณไว้ก่อน นอกจากมันจะเป็นตัวสร้างนิสัยให้เกิดขึ้น คือนิสัยใฝ่ปฏิบัติ แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติในรูปแบบ แต่ถ้าหากว่าเรามีนิสัยนี้ก่อรูปขึ้นมาในจิตใจของเรา ถึงเวลากลับไปบ้าน เราก็จะเริ่มทำต่อ เพราะว่ามันเป็นนิสัยแล้ว
และอะไรก็ตามที่ทำบ่อย ๆ ทำเยอะ ๆ สุดท้ายมันก็จะทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ อันนี้เป็นธรรมดา อะไรที่เราทำบ่อย ๆ ทำเยอะ ๆ คุณภาพมันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ
เหมือนกับเราเขียน ก ไก่ ข ไข่ ใหม่ ๆ ก็ไม่เป็นตัว แต่พอเราเขียนไป ๆ โอ้ มันสวย หรือเหมือนกับเล่นดนตรี ใหม่ ๆ ก็ฟังไม่เป็นเพลง ไม่ว่าจะเป็นเล่นกีต้าร์ สีไวโอลิน ดีดเปียโน ไม่เป็นเพลงเลย ไม่ไพเราะด้วย
แต่พอเราทำไปเรื่อย ๆ 10 ชั่วโมง 50 ชั่วโมง 100 ชั่วโมง 200-300 ชั่วโมงนี่ เราจะแคล่วคล่องมากขึ้น แล้วก็จะไพเราะ หรือเป็นเพลงมากขึ้น คุณภาพมันจะมาพร้อมกับปริมาณที่สะสม
แม้ว่าใหม่ ๆ ดูเหมือนมันจะไม่ค่อยมีความก้าวหน้า เดินทั้งวันก็ยังฟุ้ง แต่ว่าเดินต่อไปอีก 2 วัน 3 วัน 4 วัน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเรา
มันก็เหมือนกับคนที่ทุบหิน เขามีค้อน แล้วใช้ค้อนทุบหิน ทุบไปร้อยครั้ง หินไม่แตก แต่พอทุบครั้งที่ 101 หินแตกเลย ที่หินแตกไม่ใช่เพราะว่าทุบครั้งที่ 101 แต่เป็นเพราะว่าก่อนหน้านั้นทุบมาร้อยครั้ง ร้อยครั้งที่ทุบ แม้ว่าหินไม่แตก แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีความหมาย มันส่งผล สะสมแรงอัดที่กระแทกลงไป พอถึงจุดหนึ่ง คือทุบครั้งที่ 101 แรงอัด แรงกระแทกมันมากพอ จนกระทั่งทำให้หินแตกได้
ที่ทุบร้อยครั้งแรกนี่มีความหมาย ถึงแม้ว่าหินจะไม่แตก ถ้าไม่ทุบร้อยครั้งแรก ทุบครั้งที่ 101 ก็คงไม่ทำให้หินแตกได้ อันนี้คือเรื่องปริมาณมันจะนำไปสู่คุณภาพ ทีแรกเป็นเรื่องของปริมาณ แต่ตอนหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา
มันก็เหมือนกับต้มน้ำให้เดือด ทีแรกน้ำอุณหภูมิสูง 91 92 93 94 95 องศา น้ำก็ยังเฉย แต่พอความร้อนมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึง 99 องศา ก็ยังไม่มีอะไรเท่าไหร่ น้ำยังไม่เดือด แต่พอเพิ่มขึ้นอีกองศา ที่ 100 แค่องศาเดียว น้ำเดือดแล้ว
มันไม่ได้แปลว่าที่น้ำเดือด 99 องศาแรกนี่ไม่มีความหมาย ที่น้ำร้อนอุณหภูมิ 99 องศาแรก แล้วเราไม่หยุดเติมความร้อน เราเติมเข้าไปอีก 1 องศา มันก็เดือดเลยทันที
การปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ทำไป ปฏิบัติไป บางที 100 ชั่วโมง ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงชัดเจน หลายคนก็ท้อแล้ว แต่ถ้าปฏิบัติเพิ่มอีก ชั่วโมงที่ 101 โอ้ ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในจิตใจ เช่น มีสติ เห็น รู้ทันความคิดได้เร็ว อย่างที่แปลกใจว่าก่อนหน้านั้น ทำมาตั้งนานไม่เห็นมีอะไร แต่พอเราทำต่อเนื่องไปอีกหน่อย มันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในใจของเราเลย
อันนี้เพราะอะไร เพราะว่าทำเยอะ ๆ ทำมาก ๆ แล้วสุดท้ายพอถึงจุดหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ก็เรียกว่าปริมาณเปลี่ยนเป็นคุณภาพ เพราะฉะนั้น ทำเยอะ ๆ นี่ อย่าไปดูแคลน เอาปริมาณไว้ก่อน แล้วก็อย่างที่บอกทำไปเยอะ ๆ มันก็จะมีความสามารถมากขึ้น เหมือนนักฟุตบอลที่เตะลูกโทษ ซ้อมลูกโทษไป 200 ครั้ง จะเตะขึ้นดีขึ้นเรื่อยๆ
ทีนี้พอเราทำบ่อย ๆ ทำเยอะ ๆ มันจะกลายเป็นนิสัย และเมื่อเราเห็นความก้าวหน้า เห็นผลที่เกิดขึ้น เราจะเกิดฉันทะ
ฉันทะคือความพอใจ การที่คนเราจะปฏิบัติได้นาน ๆ ได้เยอะ ๆ นี่ ลำพังการเคี่ยวเข็นตัวเองมันไม่พอ มันต้องมีฉันทะ มีความชอบ หรือมีความสุขที่ได้ทำ ส่วนหนึ่งมันก็เกิดจากความเคยชินด้วย พอเราเคยชินแล้ว แรงต้านมันก็น้อย ความทุกข์มันก็น้อยลง มันจะมีความสุขได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเราปฏิบัติได้ดีขึ้น มีสติ เห็นความคิด มีความรู้สึกตัว ใจมันก็จะโปร่ง ใจจะเบา เกิดความสุขเล็กๆ เกิดความพึงพอใจน้อยๆ ที่สะสม
และความสุขนี่แหละ จะเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้เราทำไปเรื่อย ๆ คนอื่นไม่ทำ เราก็ยังทำ ใหม่ ๆ นี่ อิจฉาคนอื่นเขาเลิกปฏิบัติไปแล้ว เขากลับบ้านไปแล้ว แต่เราก็ยังต้องทำอยู่ แสดงว่าเรายังไม่มีความสุขกับการทำ เรายังอิจฉาคนที่เขากลับบ้านไปก่อน แต่พอถึงจุดหนึ่ง เรามีความสุขกับการทำ จะเรียกว่าสนุกก็ได้
มันจะมีความสนุกกับการที่เห็นความคิด มีความคิดเกิดขึ้น เห็นมัน แหม มันสนุก ถึงตอนนี้ใครเขาจะเลิก ใครเขาจะกลับบ้านก่อน เราไม่อิจฉาเขาเลย เรากลับสงสารเขาด้วยซ้ำ ว่าเขาขาดโอกาส ไม่ได้มีเวลาปฏิบัติมากเหมือนเรา แล้วตรงนี้แหละ นิสัยที่ก่อตัวขึ้นมาก็ดี รวมทั้งความสุขที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติก็ดี มันจะทำให้เราปฏิบัติได้เรื่อย ๆ แต่ก่อนต้องเคี่ยวเข็นตัวเองให้ปฏิบัติเยอะๆ แต่ตอนหลังนี่มันกลายเป็นความสมัครใจไปแล้ว
กลับไปบ้านก็ทำ ไม่ว่าจะทำในรูปแบบ หรือทำในชีวิตประจำวัน กินข้าวก็ฝึกรู้เนื้อรู้ตัว อาบน้ำก็ฝึกรู้เนื้อรู้ตัว เดินไปไหนก็ฝึกรู้เนื้อรู้ตัว มันไม่มีใจที่จะอยากจะปล่อยใจลอยไปเหมือนเมื่อก่อน อันนี้เรียกว่ามันเริ่มกลายเป็นนิสัย เริ่มกลายเป็นธรรมชาติของเรา
อย่างไรก็ตาม มันก็จะมีจุดหนึ่ง พอเราทำไปเยอะๆ ทำไปบ่อยๆ มันจะมีจุดหนึ่ง ที่เกิดความเบื่อขึ้น ความเบื่อนี่มันเลี่ยงไม่ได้
มีโค้ชที่ให้คำแนำนักกีฬาชื่อดังหลายคน มีคนถามโค้ชคนนี้ว่า นักกีฬาที่เก่ง ที่ประสบความสำเร็จ มันมีอะไรที่แตกต่างจากนักกีฬาทั่ว ๆ ไปบ้าง เขาบอกว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้นักกีฬาที่เก่งที่ประสบความสำเร็จแตกต่างจากนักกีฬาทั่วไปก็คือ เขามีความสามารถในการจัดการความเบื่อหน่ายได้
เขาบอกว่า คนที่เป็นนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นนักยกน้ำหนัก นักวิ่ง นักว่ายน้ำ พวกนี้ เขาเก่ง เพราะเขาขยันซ้อม มีความขยัน ซ้อมประจำ สม่ำเสมอ เพราะว่าเขามีความขยัน เขามีความสุข เขามีจุดมุ่งหมาย บางคนก็มุ่งหมายจะเอาเหรียญทอง ก็เลยมีความขยันหมั่นเพียร
แต่พวกนี้ พอถึงจุดหนึ่ง จะเกิดความเบื่อ เกิดความเบื่อ แต่คนที่เก่ง คือคนที่เขาสามารถจะจัดการกับความเบื่อได้ หมายความว่าถึงเบื่อก็ซ้อม อย่างไรก็ซ้อม แล้วยิ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จ
มีคนพูดไว้ดีเลย คนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อุปสรรคสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความล้มเหลว แต่อยู่ที่ความเบื่อ นี่เป็นอุปสรรคของความสำเร็จทางโลก
แต่ที่จริงในทางธรรมก็เหมือนกัน อุปสรรคของความเจริญงอกงามในทางธรรม มันก็คือความเบื่อ
นักปฏิบัติธรรมทุกคน แม้ว่าจะมีฉันทะในการปฏิบัติ มีความสุขกับการปฏิบัติ แต่ถึงจุดหนึ่ง ทำไปนานๆ จะมีความเบื่อเกิดขึ้น พวกที่ประสบความสำเร็จในทางโลก ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี นักกีฬา ที่สามารถ ที่มีชื่อเสียงพวกนี้ นอกจากขยันซ้อมเป็นชีวิตจิตใจแล้ว ความสามารถที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเขาคือ สามารถเอาชนะความเบื่อหน่ายได้
หมายความว่า เบื่อหน่ายอย่างไร ก็ยังขยันซ้อม ขยันฝึก ขยันทำ นี่ขนาดคนที่สนใจแต่ความสำเร็จทางโลก แล้วยิ่งถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมนี่ ถ้าเจอความเบื่อหน่ายแล้วยอมแพ้นี่ มันก็ไม่ใช่แล้ว
ในขณะที่คนที่เขาต้องการความต่างความสำเร็จทางโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสูงส่งเท่าไหร่ เขายังสามารถเอาชนะความเบื่อได้ เขารู้จักวิธีที่จะจัดการความเบื่อ ยิ่งเป็นนักปฏิบัติธรรมด้วยแล้ว ยิ่งหวังความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ ก็จะต้องไม่ยอมให้ความเบื่อหน่ายเป็นอุปสรรค
ถ้าเกิดความเบื่อใหม่ ๆ บางทีเราอาจจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนสถานที่บ้าง แต่ไม่ใช่เปลี่ยนแบบจับจด ไม่ใช่เปลี่ยนจากนั่งเป็นเดิน เดินประเดี๋ยวเดียวก็นั่งแล้ว ไม่ใช่ หรือว่าปฏิบัติในวัด เดี๋ยวเบื่อ ออกไปเดินเล่นนอกวัด เบื่อ อ้าว กลับมาปฏิบัติในวัด จับจด ก็ไม่ใช่ แต่การเปลี่ยนอิริยาบถก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยทำให้มันหายเบื่อได้ แต่สุดท้ายไม่ว่าจะเบื่อแค่ไหน ก็ต้องทำ
อย่างที่ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเทียน หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนไว้ เบื่อก็ทำ ไม่เบื่อก็ทำ
ไม่ใช่ทำเพราะว่ามันได้ผล เกิดความสนุกแล้วจึงทำ พอไม่สนุก หรือพอไม่มีความสุข จึงเลิกทำ ไม่ใช่ เบื่อก็ทำ ไม่เบื่อก็ทำ แล้วสุดท้ายจะพบว่า ความเบื่อมันมาแล้วก็ไป ไม่ได้อยู่ถาวร มันก็เหมือนกับอารมณ์อื่น มันเป็นของชั่วคราว และที่สำคัญก็คือมันมาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ มาเพื่อฝึกให้เราเห็นความเบื่อ อย่าปล่อยให้มันครองใจเรา
พวกที่เป็นนักกีฬานักดนตรีนี่ เขาอาจจะโดนความเบื่อครอบงำ เพราะเขาไม่รู้จักวิธีการฝึกจิต ไม่ได้ฝึกเรื่องการเจริญสติ
แต่ในเมื่อเราเจริญสติ เรามาฝึกจิตกันแล้ว ก็ต้องมีความสามารถมากกว่าคนทั่วไป ในการที่จะรู้ทันความเบื่อ หรือไม่ปล่อยให้ความเบื่อครอบงำ ในแง่หนึ่ง เราก็เหมือนคนทั่วไป เราก็มีความเบื่อ มีความเศร้า มีความโกรธ ไม่ต่างจากคนอื่น แต่ที่เราต่างจากคนอื่นก็คือว่า เรามีความสามารถในการรักษาใจไม่ให้อารมณ์พวกนี้มาครอบงำได้
ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมแล้ว จะไม่มีความเบื่อ ไม่มีความเหงา ไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีความคับข้องใจ ไม่มีราคะ ไม่ใช่ มันมีเหมือนกับคนอื่นนั่นแหละ แต่มีแล้วมันทำอะไรเราไม่ได้ สามารถจะยกจิตอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ หรือวางใจเป็นกลางกับสิ่งเหล่านี้
เบื่อก็รู้ว่าเบื่อ และวางใจเป็นกลางกับมันได้ หรือยิ่งกว่านั้นก็คือว่า เป็นมิตรกับมัน เป็นมิตรกับความเบื่อ
อันนี้มันเป็นการบ้าน สำหรับนักปฏิบัติ ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ไม่ใช่เฉพาะผู้ฝึกใหม่ แม้กระทั่งผู้ที่ฝึกมานาน มันก็หนีพวกนี้ไม่พ้น อารมณ์พวกนี้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร ซึ่งที่สำคัญก็คือการมีสติ เห็นมัน แล้วก็ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ เรียกว่าต่างคนต่างอยู่ก็ได้ หรือว่าเป็นมิตรกับมันเสียเลย โอบกอดความเบื่อ
เหมือนกับที่ท่านติช นัท ฮันห์ สอนไว้ โอบกอดความโกรธ โอบกอดความทุกข์ พอเราเป็นมิตรกับมัน ไม่ผลักไสมัน มันก็ทำอะไรใจเราไม่ได้ แล้วจะว่าไป มันก็ทำให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้า และทำให้เราสามารถจะปฏิบัติได้ต่อเนื่อง แล้วก็เกิดความเจริญงอกงามยิ่งขึ้น.