พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 4 พฤษภาคม 2567
เวลาเราภาวนา หรือทำกรรมฐาน ใจก็อย่าไปคิดถึงเรื่องความสงบมากนัก หรือไปนึกถึงสิ่งที่เราอยากจะให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกตัว หรือว่าการรู้ธรรม เห็นธรรม เพราะว่าถ้าใจเราคิดถึงแต่สิ่งนั้น มันก็จะทำให้เราเกิดความทุกข์ได้ง่าย
ทุกข์หรือหงุดหงิดเพราะว่ามันไม่เกิดขึ้นสักที ทำตั้งนานแล้วก็ไม่เห็นความสงบเกิดขึ้นสักที ทำตั้งนานแล้วมันก็ยังไม่เกิดความรู้สึกตัว หรือเห็นนั่นเห็นนี่สักที แล้วยิ่งเราหงุดหงิด ยิ่งเกิดความทุกข์ มันก็ยิ่งเกิดความท้อ ซึ่งก็กลายเป็นอุปสรรค ทำให้การปฏิบัติของเรามันไม่ได้ผล
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้าเกิดว่าเรามัวแต่คิดถึงสิ่งที่เราต้องการบรรลุ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต มันก็จะทำให้เราพลาดโอกาส ที่จะได้เห็นความเป็นไปของใจ หรือได้เรียนรู้ เกิดปัญญาเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตของใจ ซึ่งเราสามารถจะเห็นได้ จากทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น กับกายและใจ ในระหว่างที่เราปฏิบัติ
มันมาให้เราเห็นอยู่แล้ว แต่เรามักจะไม่เห็น เพราะว่าไปมัวแต่ไปจดจ้องอยู่กับจุดหมายข้างหน้า สิ่งที่ต้องการบรรลุ ยิ่งถ้าเกิดเราหงุดหงิด เราก็ยิ่งไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับกายและใจของเรา
สิ่งดีๆ ที่ว่านี่ก็คือ ธรรมชาติ ความเป็นจริงของกายและใจ โดยเฉพาะความคิดและอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ถ้าเกิดว่าเราเห็นอยู่เรื่อยๆ มันก็จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา เช่น เมื่อเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะสงบหรือไม่สงบก็แล้วแต่ เราก็จะพบว่าความคิดและอารมณ์นี่ มันไม่เที่ยง มาแล้วก็ไป
แล้วยิ่งกว่านั้นคือว่า แม้มันเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นความคิดลบ คิดร้าย อารมณ์อกุศลก็แล้วแต่ เช่น โกรธ หงุดหงิด ขุ่นมัว แม้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ว่าใจเรามันจะทุกข์ไปทันทีนะ หรือไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นปุ๊บ แล้วมันจะทุกข์ปั๊บ ไม่ใช่นะ
เพราะว่าถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว มีสติเห็นมัน มันก็ทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ แม้สิ่งนั้นจะเป็นความโกรธ ความหงุดหงิด ความคิดลบ คิดร้าย มันไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นแล้วมันจะทำให้ใจเราทุกทันที อย่างนี้ไม่ใช่ ใจจะเป็นทุกข์ก็ต่อเมื่อหลง ปล่อยให้มันครอบงำใจ หรือหลงเข้าไปยึด หรือที่บางทีครูบาอาจารย์ใช้คำว่า เข้าไปเป็น
แต่ถ้าเห็นนี่ มันทำอะไรไม่ได้นะ เหมือนกับเราเห็นก้อนหิน เห็นเศษแก้ว แล้วเราไม่เดินไปเตะ ไม่เดินเหยียบ การเห็นนี่มันทำให้ใจเราไม่ถูกอารมณ์เหล่านี้ครอบงำ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ไม่เผลอเข้าไปแบก เข้าไปยึด หรือเข้าไปเป็น
มีก้อนหินแล้ว ถ้าไม่เห็น ก็อาจจะเดินเตะ มีหนาม ถ้าไม่เห็น ก็อาจจะปัดป่ายมือไปโดน ให้มันทิ่ม มีเศษแก้วอยู่บนทาง อยู่บนถนน ถ้าไม่เห็น ก็อาจจะเดินเหยียบ หากว่าเดินเท้าเปล่า มันไม่ใช่ว่าบนทางถ้ามีหิน ถ้ามีเศษแก้ว ถ้ามีหนาม ถ้ามีตะปูแล้ว เราจะต้องเจ็บ เราจะเจ็บก็ต่อเมื่อเราเดินเตะ มันเราจะเจ็บก็ต่อเมื่อเราเดินไปเหยียบมัน หรือไปเดินให้มันทิ่ม และที่ทำอย่างนั้น เพราะว่าไม่เห็น เพราะหลง
เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ แม้ว่าจะเป็นอารมณ์ลบ อารมณ์อกุศล มันเกิดขึ้นในใจ ไม่ได้แปลว่าเราจะทุกข์ทันที มันอยู่ที่ว่าเราไปทำอะไรกับอารมณ์นั้น ถ้าเห็น ไม่เข้าไปผลักไส ไม่เข้าไปทำอะไรกับอารมณ์นั้น มันก็ทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ เพราะว่าการเห็นนั่นแหละ ที่จะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกตัว ไม่ปล่อยให้อารมณ์เหล่านั้นมาทำร้าย หรือไม่ไปทำอะไรกับอารมณ์นั้น ที่จะทำให้จิตใจเป็นทุกข์
อันนี้ก็คือความรู้นะ ที่สำคัญมาก แล้วมันก็เป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็จะกลายเป็นปัญญา แล้วมันทำให้เราเกิดความฉลาดในเรื่องของใจ
หากเราพิจารณาหรือว่าดูต่อไปเรื่อย ๆ เราก็จะเห็นว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่เดิมเราก็นึกว่ามันเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการกระทบ เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นได้รับรส มันก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา บวกก็ตาม ลบก็ตาม เช่น มีเสียงดังมากระทบหู ก็จะเกิดความหงุดหงิด มีเสียงโกรธ มีเสียงต่อว่า มากระทบหู มันก็จะเกิดความโกรธ
จริงๆ แล้ว มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันทีอย่างนั้นนะ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง มันก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะเป็นความอยาก อยากมี อยากได้ หรืออยากผลักไส ถ้าเราสังเกตดูดีๆ เมื่อมีการกระทบ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ถ้าเกิดว่าเราไม่ใส่ใจ หรือไม่ไปรับรู้ มันก็ไม่เกิดอารมณ์
เช่น มีเสียงต่อว่า เสียงนินทาเรา แต่ว่าเราบังเอิญไปนึกคิดเรื่องอื่น เสียงมันกระทบหูก็จริง ได้ยินแต่ว่าไม่ได้ใส่ใจ เพราะว่าตอนนั้นกำลังคิดเรื่องอื่น กำลังกังวลเรื่องลูก กำลังนึกถึงเรื่องงานการ หรือกำลังคิดถึงเรื่องการไปเที่ยวต่างประเทศ ตอนนั้นจิตจะไม่รับรู้ ไม่รับรู้เสียงที่มากระทบ แม้จะเป็นเสียงต่อว่า เสียงนินทา อันนี้เรียกว่าไม่เกิดโสตะวิญญาณ ไม่เกิดวิญญาณคือการรับรู้ ทั้งๆ ที่การกระทบเกิดขึ้นแล้ว เสียงกระทบหูแล้ว
หรือว่าตาเห็นรูป เห็นเพื่อนเดินมา แต่จริงๆ ใจไม่ได้รับรู้ จะเรียกว่าเห็นก็คงไม่เชิง เพียงแต่ว่าภาพมันมากระทบตาแล้ว แต่ว่าถ้าใจลอย มันก็เรียกว่าไม่เห็นนะ
พอไม่เห็น ก็เลยไม่ได้เกิดความดีใจ ตรงนั้นเรียกว่าไม่เกิดจากจักขุวิญญาณ วิญญาณไม่เกิด วิญญาณในที่นี้คือจักขุวิญญาณ พอวิญญาณไม่เกิด มันก็ไม่เกิดความดีใจ ทั้งๆ ที่รูปมันกระทบตาแล้ว
เช่นเดียวกัน แม้เสียงกระทบหู แต่ไม่เกิดวิญญาณ คือโสตวิญญาณ ทั้งๆ ที่เสียงนั้น เป็นเสียงต่อว่า เสียงเหน็บแนม แต่ว่าใจไม่รับรู้ มันก็ไม่ได้ยิน พอไม่ได้ยิน ก็ไม่เกิดอารมณ์โกรธ อันนี้เรียกว่าไม่รับรู้นะ แม้การกระทบเกิดขึ้น แต่ว่าใจไม่ไปรับรู้ มันก็ไม่เกิดอารมณ์ หรืออาจจะรับรู้ แต่ว่าไม่ใส่ใจ ไม่ใส่ใจอย่างที่เขาว่า เขาพูดอะไรไป ฉันก็ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ อันนี้เขาเรียกว่า เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา พอเราไม่ใส่ใจ เขาพูดอะไรไป เขาบ่นอะไรไป อารมณ์โกรธ อารมณ์หงุดหงิด ก็ไม่เกิดขึ้นในใจเรา
ต่อเมื่อเราไปรับรู้เสียงที่ได้ยิน หรือภาพที่เห็น หรือต่อเมื่อเราใส่ใจกับเสียงที่ได้ยิน กับภาพที่เห็น มันจึงจะเกิดอารมณ์ ดีใจก็ตาม เสียใจก็ตาม อยากก็ตาม หรือว่าชอบ ชอบก็ตาม ชังก็ตาม
อารมณ์นี่ มันไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการกระทบ แต่ต้องมีปัจจัยตัวอื่นเข้ามาประกอบ เช่น ความใส่ใจ ถ้าไม่ใส่ใจ หรือไม่รับรู้ เพราะว่ากำลังคิดเรื่องอื่น กำลังกังวลเรื่องอื่น กำลังเพลินกับเรื่องอื่น อันนี้ก็เรียกว่าไม่รับรู้
หรือถึงจะรับรู้ แต่ไม่ใส่ใจ มันก็ไม่เกิดอารมณ์
แล้วเราสังเกตดูนะ ว่าไม่ว่าตาจะเห็นรูป หูจะได้ยินเสียง ลิ้นจะได้รับรส มันไม่ได้เกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ 1) มีการรับรู้เพราะใจ ใจตอนนั้นไม่ได้เพลินไปถึงเรื่องอื่น ใจมันเปิดรับรู้พอดี หรือใส่ใจ
ทีนี้การใส่ใจ มันก็อาจจะเกิดขึ้นเพราะว่าความเคยชิน ใครพูดอะไร ก็อยากจะไปรับรู้สิ่งที่เขาพูด ทั้งๆ ที่คำพูดของเขามันเสียดแทงใจเรา มันทิ่มแทงใจเรา ถ้าหากว่าเรามีสติ มีปัญญา เราก็เลือกที่จะไม่สนใจ เลือกที่จะไม่ใส่ใจ เพราะใส่ใจไปแล้วจะทุกข์เปล่าๆ
แต่ว่าความเคยชิน สำหรับบางคน เขาเรียกว่าอยากรู้อยากเห็น หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าสอดรู้สอดเห็น มันก็ไปเปิดหู รับรู้ไปทุกอย่าง อาจจะไม่ตั้งใจ แต่มันเป็นนิสัยไปเสียแล้ว แต่คนที่เขามีความตั้งใจ มีความใส่ใจ มีสติ พอเขารู้ว่าไอ้ที่พูดมามันไม่มีสาระไม่มีประโยชน์ เขาก็ไม่ใส่ใจ พอไม่ใส่ใจ มันก็ไม่ทุกข์ ไม่หงุดหงิด
แต่คนจำนวนไม่น้อย เรียกว่าเป็นเพราะนิสัยความเคยชิน หรือเพราะว่าความหลง ไม่มีสติ ในระหว่างที่ได้ยิน หรือรับรู้ มันก็เลยใส่ใจไปตะพึดตะพือ ไม่มีการเลือก ไม่มีการแยกแยะ ทั้งๆที่สิ่งที่ได้ยิน ก็เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษกับตัวเอง แต่ก็ไปรับรู้ เรียกว่าเพราะความหลง ทีนี้ก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา เกิดความโกรธ หรือไม่เช่นนั้นก็เพราะว่ามีการปรุงแต่ง พอไปรับรู้แล้วมันมีการปรุงแต่งให้ค่า การปรุงแต่งให้ค่า ให้ค่าว่าอย่างนี้ดี หรือให้ค่าว่าอย่างนี้ไม่ดี หรือเกิดความชอบ ไม่ก็เกิดความชัง
อย่างเช่น คนสมัยก่อน เวลาใครเรียกว่าลุง ว่าป้า ว่ายาย เขาเฉยๆนะ แต่คนสมัยนี้ หลายคน เวลาได้ยินใครมาเรียกว่าลุง เรียกว่าป้า เรียกว่ายายนี่ โกรธ มาเรียกฉันว่าลุง มาเรียกฉันว่าป้าได้อย่างไร โกรธเพราะอะไร เพราะไปให้ค่า ว่าคำนี้เป็นคำที่ไม่ดี เพราะลึกๆ นี่ มีความเข้าใจ มีความคิดว่าความแก่ไม่ดี พอใครเรียกฉันว่าลุง เรียกฉันว่าป้า แสดงว่าฉันแก่ เนื่องจากไม่ชอบความแก่ ก็เลยไม่มีความพอใจ
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่แตกต่าง ระหว่างคนแต่ก่อนกับคนสมัยนี้ แต่ก่อนเรียกว่าลุง เรียกว่าป้านี่ ไม่โกรธเลย อาจจะเฉยๆ หรืออาจจะยินดีด้วยซ้ำ ที่เรียกด้วยความเคารพ แต่เดี๋ยวนี้นี่เป็นโกรธเลยนะ มาเรียกลุง เรียกป้า ทั้งที่เจ้าตัวนี่ก็ 60 แล้ว แต่ว่ายังไม่ยอมรับว่าแก่ แล้วก็ไม่ชอบความแก่ พอใครเรียกลุง เรียกป้า เรียกยายนี่ โกรธ นี่เรียกว่าเป็นการให้ค่าในทางลบ
คนบางคนนี่ เห็นทองเห็นเพชร เขาก็เฉยๆ แต่บางคนเห็นทองเห็นเพชรนี่ ตาลุกวาวเลย คนนี้เขาเห็นทองเห็นเพชร เขาเฉยๆ เพราะเขาไม่ได้ให้ค่ากับเพชรหรือทอง แต่คนที่ให้ค่ากับเพชรและทอง พอเห็นนี่ จะเกิดความสนใจขึ้นมาทันที อยากได้ หรือว่าอยากเข้าไปสัมผัสใกล้ๆ นี่ก็เรียกว่าเกิดการปรุงแต่งนะ ปรุงแต่งว่าชอบ หรือชัง หรือให้ค่าว่าดี คนบางคน คนจำนวนมาก ที่ไม่ได้ให้ค่ากับทองและเพชร เขาเห็นเขาก็เฉยๆ แต่คนที่ให้ค่ากับทองและเพชร เห็นแล้วก็จะมีอาการใจฟูขึ้นมาเลย หรือตาลุกวาว
เช่นเดียวกัน บางคนเห็นขวดเหล้า มีเหล้าเต็ม เขาเฉยๆ แต่บางคนเห็นขวดเหล้า โอ้โห นี่มันปากเปรี้ยวขึ้นมาทันทีเลย เพราะว่ามีความอยาก หรือมีการให้ค่าว่าเป็นของดี ยิ่งเหล้ารุ่นนี้ราคาแพง ถ้าเป็นไวน์ อายุนับร้อยปี ยิ่งเป็นของมีค่าเข้าไปใหญ่ แต่ว่าหลายคนเลยนะ เห็นแล้วก็เฉยๆ ไม่ได้แตกต่างไปจากขวดน้ำธรรมดา เขาก็ไม่ได้สนใจ เพราะว่าเขาไม่ได้ให้ค่า
เพราะฉะนั้นเวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงนี่ มันจะเกิดอารมณ์หรือไม่ หรือว่าจะเกิดอารมณ์ในทางลบทางบวก ชอบหรือชัง มันอยู่ที่การปรุงแต่ง อยู่ที่การให้ค่า ซึ่งการปรุงแต่งหรือการให้ค่า มันก็เป็นเรื่องของใจ มันมีพื้นฐานด้านจิตใจอยู่แล้ว เช่น ความชอบ ความไม่ชอบ ก็มีผลต่อการรับรู้นะ
อย่างบนโต๊ะ มีหนังสือ มีดอกไม้ มีเหล้า มีสร้อยทอง มีพระเครื่อง ถ้าเกิดว่าคน 4-5 คนมาดูโต๊ะ มาเห็นโต๊ะ ในช่วงเวลาแค่ 1 วินาทีนี่ แต่ละคนอาจจะมองเห็นอะไรไม่เหมือนกัน บางคนเห็นหนังสือ บางคนเห็นดอกไม้ บางคนเห็นเพชรเห็นทอง อีกคนเห็นพระเครื่อง อย่างอื่นไม่เห็นนะ เห็นแต่พระเครื่อง อีกคนเห็นหนังสือ อย่างอื่นก็ไม่เห็น เพราะอะไร ก็เพราะว่า มันมีความชอบ มีความพอใจเป็นพื้นฐานอยู่ คนที่ชอบหนังสือ รักการอ่าน เขาก็จะเห็นแต่หนังสือ อย่างอื่นเขาไม่เห็นเลย ในช่วงเวลาแค่ 1 วินาทีนี้ มันจะเห็นได้เฉพาะสิ่งที่สนใจ แล้วก็จะเกิดอารมณ์ตามมา
แต่ถ้าเกิดว่าเห็นดอกไม้แล้ว แต่ไม่สนใจดอกไม้ มันก็เฉยๆ แต่บางคนเห็นดอกไม้ โอ เกิดความยินดี เพราะเขาสนใจ ในขณะที่บางคนเห็นพระเครื่องแล้วเฉยๆ แต่บางคนเห็นพระเครื่องแล้ว โห พระสมเด็จเชียวนะ ราคาหลายสิบล้าน อยากได้ เกิดอารมณ์ขึ้นมา คือความอยาก
ทั้งหมดที่พูดมานี้ เพื่อจะบอกว่า การที่คนเราเมื่อเกิดการกระทบแล้ว มันไม่ได้หมายความว่าจะเกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้ ความชอบ หรือว่าความยินดี หรือว่าความโกรธ ความรังเกียจ ความกลัว แต่มันขึ้นอยู่กับการปรุงแต่งในใจ หรือขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทางพระเรียกว่า สังขาร สังขารคือการปรุงแต่ง มีการปรุงแต่งอยู่แล้วในใจ มีพื้นฐานอยู่แล้วในใจ
เช่นเดียวกัน บางคนเห็นเลือดก็เฉยๆ เพราะว่าเป็นหมอคุ้นเคย แต่บางคนเห็นเลือดแล้วขนลุก เพราะว่าเป็นคนที่รักสวยรักงาม แล้วก็ไม่คุ้นเคยกับการเห็นเลือด พวกนี้มันก็เป็นเรื่องของพื้นนิสัย เรื่องของสังขาร เรื่องของการปรุงแต่งในใจ เรื่องของรสนิยม เรื่องของความชอบ เรื่องของการให้ค่า
ทีนี้ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เวลามีอะไรมากระทบ ใจเราก็สามารถจะเป็นกลางๆ ได้ ถ้าเรารู้ทันความคิดปรุงแต่ง รู้ทันความคิดปรุงแต่งในใจ พอรู้ทันว่ามันมีการปรุงแต่งในทางนี้ มีความโน้มเอียงในทางนี้ รู้ทัน วางใจเป็นกลางเสีย แทนที่จะรู้สึกลบหรือรู้สึกบวก อารมณ์มันก็ไม่เกิดขึ้น มันจะเป็นความรู้สึกเฉยๆ
แล้วตรงนี้แหละ มันเป็นโอกาสที่จะทำให้เราสามารถจะเป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อมได้ เสียงดัง แต่ใจก็ยังสงบ ใครเขาจะต่อว่าอย่างไร เราก็เฉย หรือว่าจะมีสิ่งยั่วยุให้โกรธ แต่เราไม่โกรธ มีสิ่งเย้ายวนให้อยากได้ แต่เราก็ไม่อยากได้ เพราะเรารู้ทัน รู้ทันความคิดปรุงแต่ง หรือรู้ทันอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น
ซึ่งก็หมายความว่า ไม่ว่าจะมีสิ่งแวดล้อมอย่างไร ใจเราไม่ทุกข์ก็ได้นะ อันนี้มันเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันช่วยทำให้เราเป็นอิสระจากสิ่งกระทบภายนอก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้าเราฝึกจิตไว้ดี รู้ทันความคิดปรุงแต่ง หรือรู้จักไม่ใส่ใจ ไม่ใส่ใจกับสิ่งที่มากระทบ อะไรเกิดขึ้น มากระทบตาหูจมูกลิ้นกาย มันก็ไม่มีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา หรือจิตใจเราไม่ตกอยู่ในอำนาจของมัน
คนมักจะเข้าใจว่า ถ้าเจอ ถ้าเห็นอะไร ใจก็จะคล้อยตามไปตามสิ่งนั้น ถ้ามีเสียงด่า ได้ยินก็โกรธ ถ้ามีเสียงชม ได้ยินก็เกิดความยินดี อันนี้แปลว่าอะไร แปลว่าสิ่งภายนอก หรือเสียง มันมีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา ซึ่งก็หมายความว่า มันสามารถจะทำให้ใจเราเป็นทุกข์ก็ได้ สามารถทำให้ใจเราเป็นสุขก็ได้ นั่นก็หมายความว่า จิตใจเราไม่เป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อม
แต่ถ้าเราฝึกจิตไว้ดี โดยเฉพาะการเจริญสตินี่ เวลามีอะไรมากระทบ เราไม่เกิดอารมณ์ลบ ไม่เกิดอารมณ์บวก ไม่เกิดความอยากได้ หรือไม่เกิดความรู้สึกผลักไส หรือโกรธก็ได้ หรือถึงเกิดความโกรธ ถึงเกิดหงุดหงิดขึ้นมา แต่เรารู้ทัน ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำใจให้เป็นทุกข์ก็ได้ มันมีหลายจังหวะมากเลยนะ ที่เราสามารถรักษาใจให้เป็นปกติได้
แม้ว่าจะมีสิ่งต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจมากระทบ เสียงต่อว่ามากระทบหู แต่ว่าเราไม่ใส่ใจ มันก็ไม่เกิดความโกรธ ไม่เกิดความหงุดหงิด หรือเรารู้จักปรุงแต่งในทางบวก เราก็ไม่โกรธ หรือเรารู้ทัน ว่าเราชอบมีความรู้สึกลบต่อสิ่งนี้ เช่น เขาเรียกเราว่าลุง ว่าป้า เราก็รู้นะ ว่าเป็นเพราะเราไม่ชอบความแก่ ใครมาเรียกลุงเรียกป้า เราก็เลยโกรธ แต่พอเรารู้ทันความคิดปรุงแต่งนี้ ก็วางใจเป็นกลางได้ ใครเขาเรียกลุงเรียกป้าก็ไม่โกรธ ก็ไม่ทุกข์แล้ว
ฉะนั้นใครเขาจะพูดอย่างไร เราไม่ทุกข์ เพราะว่าเรารู้ทันความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในใจ หรือถึงเกิดความโกรธขึ้นมา เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เราก็รู้ทันอารมณ์นั้น ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ ก็ไม่ทุกข์เหมือนกัน
อันนี้คือความรู้ ที่เราสามารถจะสะสมได้ หรือเห็นได้ จนเกิดปัญญาจากการที่เราสังเกตใจของเรา แม้ว่าใจจะยังไม่สงบอย่างที่หวัง แต่ปัญญาก็ค่อยๆ เกิดขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเห็นว่า อะไรเกิดขึ้นกับใจ ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องทุกข์เสมอไป นี่ข้อแรก
ข้อที่ 2) ไม่ว่ามีอะไรกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เราไม่ทุกข์ก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น สิ่งที่ถูกใจเรา เราถึงจะมีความสุข มีความสบาย ถ้ามีสิ่งไม่ดีมาเกิดขึ้นกับเรา เราก็จะต้องทุกข์เสมอไป จะต้องมีคนพูดชมเรา เราถึงจะมีความสุข ถ้าใครมาพูดว่าเรา เราก็ต้องเป็นทุกข์เสมอไป
เราต้องรู้จักรักษาใจ เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้มาสร้างความทุกข์ให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สิ่งที่มาสัมผัสภายนอก หรือว่าอารมณ์ภายในก็ตาม.