พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 19 เมษายน 2567
ปีนี้ก็ครบ 85 ปีพอดีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เราคงทราบกันอยู่แล้วว่าสงครามโลกนี้มันเกิดหรือมันเริ่มต้นที่เยอรมัน ฮิตเลอร์ทำการบุกอย่างสายฟ้าแลบยึดครองประเทศสำคัญในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เดนมาร์ก ฮอลแลนด์ หรือว่าประเทศเล็กๆ อย่างโปแลนด์ ที่เหลือนอกนั้นถ้าไม่เป็นพันธมิตรอย่างอิตาลี ก็ต้องประกาศวางตัวเป็นกลาง แต่ก็เป็นกลางแบบอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮิตเลอร์หรือเยอรมัน
มีประเทศใหญ่ประเทศเดียวที่ยังไม่ได้ถูกเยอรมันยึดครองก็คือ อังกฤษ เพราะฉะนั้นเป้าหมายใหญ่ของฮิตเลอร์คือการยึดครองอังกฤษ อังกฤษเป็นเกาะ จะยึดครองได้ก็ต้องอาศัยเครื่องบินทิ้งระเบิดถล่ม เมืองที่เป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญคือ ลอนดอน ซึ่งเป็นเมืองหลวง
ก่อนที่ฮิตเลอร์จะส่งกองทัพอากาศไปถล่มลอนดอน ทางรัฐบาลอังกฤษเขาก็มีการคาดคะเนแล้วว่าถ้าเกิดสงครามเมื่อไหร่ ฮิตเลอร์ก็จะต้องยึดครองอังกฤษให้ได้ด้วยการใช้กองทัพอากาศ แล้วเขาคำนวณเลยก่อนที่จะเกิดสงคราม ว่าถ้าเกิดเครื่องบินของเยอรมันบินมาถล่มลอนดอน จะเกิดอะไรขึ้น
เขาคาดว่าจะมีคนตายประมาณสัก 6 แสนคน บาดเจ็บ 1 ล้าน 2 แสนคน แล้วก็คนจำนวนไม่น้อยประมาณสัก 3-4 ล้านคนก็ต้องอพยพไปอยู่นอกเมือง และแน่นอนตึกรามบ้านช่องก็ต้องถูกถล่มราบคาบ ความอัตคัดขัดสนด้านอาหาร พลังงาน ก็จะรุนแรง
แล้วเขาก็คาดว่าจะต้องมีความตื่นตระหนกตกใจทั่วกรุงลอนดอน เพราะว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับคนอังกฤษ เขาคาดว่าจะต้องมีคนที่เป็นโรคประสาทหวาดผวามากมายทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงมีการเตรียมสร้างโรงพยาบาลจิตเวชตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงลอนดอน แล้วก็เตรียมรับมือกับอาการหวาดผวาตื่นตระหนกของคนลอนดอนซึ่งมีหลายล้านคน เป็นปัญหาที่หนักอกหนักใจของทางการอังกฤษมาก
ในที่สุดก็เป็นไปอย่างที่คาด ฮิตเลอร์ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดถล่มลอนดอนไม่ใช่แค่ 1-2 วัน เกือบ 2 เดือน คือ 57 วัน ถล่มไม่หยุด ถล่มไม่ยั้ง แล้วก็เป็นอย่างที่คาดว่าคนตายกัน 4 แสนคน บาดเจ็บอีก 4-5 แสนคน ตึกรามบ้านช่องนับล้านอาคารพังทลายเรียกว่าราพณาสูรเลย การขนส่ง การอุตสาหกรรมเสียหายยับเยิน ก็เป็นไปอย่างที่คาดทุกอย่าง
ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการพยากรณ์ของนักวิชาการในเวลานั้น แต่ว่ามีผิดอย่างเดียว ไม่ได้เป็นไปตามคาดก็คือความตื่นตระหนกของคนลอนดอน ไม่ได้ตื่นตระหนกกันอย่างที่คาด ผู้คนไม่ได้แห่กันอพยพหนีสงครามไปต่างจังหวัด มีบ้างผู้หญิงกับเด็ก แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากเพราะว่ามันไม่มีความปลอดภัยเอาเสียเลย
แล้วที่แปลกก็คือว่า โรงพยาบาลจิตเวชที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับคนที่เป็นโรคจิต โรคประสาท ปรากฏว่ามีคนป่วยน้อยมาก มีคนมาหาหรือมาเข้าโรงพยาบาลน้อยมาก จนโรงพยาบาลเหล่านั้นต้องเปลี่ยนไปใช้ในเรื่องทางทหารแทน เพราะไม่มีคนป่วยมารับบริการเลย
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เขาแปลกใจกันมาก มันเกิดอะไรขึ้นทั้ง ๆ ที่อันตรายมันก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 เดือน พบว่าคนลอนดอนทีแรกก็ผวา แต่ว่าอยู่ไปๆ ก็เฉย มีคนเล่าว่ามีคราวหนึ่งได้ยินเสียงเครื่องบินเตรียมจะมาทิ้งระเบิด เสียงหวอดังลั่นเลยเพื่อเตือนคนให้หลบภัย แต่ปรากฏว่าเด็ก ๆ ก็ยังเล่นกันอยู่บนฟุตบาท คนก็ยังขับรถซึ่งส่วนใหญ่เป็นจักรยานอยู่บนถนน จราจรก็ยังทำงานอยู่ตามสี่แยก ผู้คนผู้ใหญ่ก็ไปจับจ่ายซื้อของตามร้าน เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เขาบอกว่าตัวเขาเองซึ่งเป็นผู้ที่เป็นคนใหม่ คอยมองว่าเครื่องบินจะมาถึงเมื่อไหร่ มองไปแต่ที่ท้องฟ้า แต่ว่าคนลอนดอนที่เหลือไม่สนใจเลย เสียงเครื่องบินดังก็ดังไป เสียงหวอดังก็ดังไป แต่ไม่มีใครเงยหน้ามองท้องฟ้าเลย ยังใช้ชีวิตหรือทำกิจวัตรตามปกติ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คนที่เป็นอาคันตุกะนี้แปลกใจ
และที่จริงแม้แต่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของอังกฤษก็แปลกใจ ว่าทำไมคนไม่ค่อยตื่นตระหนกกันเลย อาจจะเป็นเพราะความชาชินก็ได้ แต่ว่ามีจิตแพทย์คนหนึ่งที่เขาจำแนกแยกแยะว่าจริง ๆ แล้วมีคนจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากการทิ้งระเบิด คือเขาแยกว่ามีคนอยู่ 3 ประเภทที่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดของเยอรมัน
ประเภทแรก คือโดนระเบิดเต็มๆ ก็คือตาย อาจจะตายเพราะระเบิด หรือตายเพราะตึกถล่ม หรือมิเช่นนั้นก็พิการเรียกว่าอย่างหนักเลย
ประเภทที่ 2 ก็คือประเภทที่รอดแต่ว่าเจอหนัก เช่น มีความบาดเจ็บแต่ก็ไม่ถึงกับพิการ ประเภทนี้ก็จะมีอาการผวา แม้ว่าจะรอดตายแต่ว่าก็อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มาก นอกจากตัวเองบาดเจ็บแล้ว ก็ยังเกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ มีความผวา ฝันร้าย
ประเภทที่ 3 คือเจอเหมือนกันแต่ว่าเจอไม่หนัก คือไม่ถึงกับบาดเจ็บ แต่ว่าก็เจอเสียงระเบิด เจอเสียงตึกถล่มอยู่ใกล้ ๆ
เขาพบว่ากลุ่มที่ 3 นี้น่าสนใจ เพราะว่าจากเดิมที่คาดว่าจะผวาหรือว่าตื่นตระหนก กลับกลายเป็นคนประเภทที่ว่าไม่ค่อยสนใจ ไม่กลัวเลย หลายคนกลับรู้สึกว่าตัวเองมีความกล้า มีความมั่นใจขึ้นกว่าเดิม เพราะพบว่าที่เคยหวาดกลัวว่ามันจะเลวร้าย มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด หรือที่คิดว่าตัวเองถ้าเกิดเจอเหตุการณ์จริง ๆ จะหวาดผวา จะตื่นตระหนก จะฝันร้าย ปรากฏว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย
คนประเภทนี้เขาจะรู้สึกเข้มแข็งกว่าเดิม แล้วก็มีความกล้ามากกว่าเดิม แล้วก็รู้สึกชิล ๆ อย่างที่ตัวเองก็แปลกใจ แล้วประเภทนี้ที่น่าสนใจคือ ทั้งที่อยู่ใกล้กับเหตุการณ์ อยู่ใกล้กับอันตราย แต่ว่าความที่รอดมาได้อย่างปลอดภัย มันทำให้จิตใจเขาเข้มแข็งขึ้น ทำให้เขามีความกล้ามากขึ้น แล้วก็ใช้ชีวิตท่ามกลางความเสี่ยง ท่ามกลางอันตรายได้อย่างชิล ๆ กลายเป็นว่ามีความรู้สึกสบายใจโปร่งเบายิ่งกว่าคนที่อยู่ห่างไกลจากเหตุการณ์
คนที่อยู่ในต่างจังหวัดไม่ได้เจอผลกระทบของสงคราม ไม่ได้เจอความเสี่ยงที่เกิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิด คนเหล่านี้อาจจะยังมีความกลัว แต่ว่าคนลอนดอนที่เขาเจอเหตุการณ์แต่ไม่หนัก ปรากฏว่าเขากลับเข้มแข็งกว่าเดิม แล้วก็อยู่ได้สบายใจกว่าคนกลุ่มอื่น
อันนี้มันก็เลยทำให้ได้ข้อคิดว่า คนเราเวลาเจอความทุกข์ ก็มีประเภทที่ว่าเจอเข้าไปจัง ๆ ก็ทรุดเลย แต่ถ้าเกิดว่าไม่ได้เจอจัง ๆ เขากลับเข้มแข็งกว่าเดิม ฉะนั้นถ้าเรามองว่าความทุกข์นี้มันไม่ได้มีแค่เจอภัยจากระเบิด แต่อาจจะรวมถึงความยากจน ชีวิตที่ลำบากขัดสนในวัยเด็ก หรือว่าชีวิตครอบครัวที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้สามารถจะทำให้คนหลายคนเมื่อเติบโตขึ้นมาแล้วเข้มแข็งกว่าเดิม มีความสามารถมากกว่าเดิม
เขามีการศึกษาพบว่า คนที่เป็นกำพร้าตั้งแต่วัยเด็ก ครอบครัวจะไม่อบอุ่นเหมือนกับคนที่มีพ่อแม่ครบ แต่ว่าหลายคนก็ประสบความสำเร็จในด้านการเมือง ในด้านธุรกิจบ้าง หรือแม้แต่ในด้านศิลปะ อันนี้มันก็เลยทำให้ได้ข้อคิดว่า คนเราถ้าหากว่าเจอความทุกข์ยาก เจอความลำบาก มันสามารถจะกลายเป็นของดีได้
เคยมีคำพูดว่า “ความทุกข์อะไรก็ตาม ถ้าไม่ทำให้เราตาย ก็จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น” คำพูดนี้มันก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง ถ้าหากว่าความทุกข์ที่เจอไม่ได้เจอแบบหนัก ๆ เพราะถ้าเจอแบบหนัก ๆ ก็เหมือนกับคนที่รอดตายจากระเบิด แต่ถ้าบาดเจ็บก็อาจจะผวาฝันร้าย แต่ถ้าเจอไม่จัง ประสบการณ์นั้นก็อาจจะทำให้พัฒนาขึ้น จิตพัฒนาขึ้น เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม
ความทุกข์นี้ มีประโยชน์ ถ้าหากว่าไม่ถึงกับเจอเข้าไปหนัก ๆ ถ้าไม่เจอเลยก็ไม่ได้ทำให้เข้มแข็งเท่าไหร่ คนที่เจอความทุกข์ยากในวัยเด็กหรืออาจเจอความทุกข์ยากในโรงเรียน แม้ว่าตอนนั้นจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า “ทำไมถึงต้องเป็นฉัน” “ทำไมฉันต้องมาเจอแบบนี้” แต่พอเวลาผ่านไป หลายคนก็ขอบคุณความทุกข์ที่ได้เจอ เพราะว่าทำให้ตัวเองเข้มแข็ง ทำให้ตัวเองรู้จักพึ่งพาตัวเอง หรือว่าทำให้ขยันหมั่นเพียรกว่าเดิม และมีประสบการณ์มากขึ้น
อันนี้ก็รวมไปถึงคนที่ประสบความล้มเหลวด้วย ใครที่ประสบแต่ความสำเร็จตลอดเวลาตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ได้คะแนนดีตลอด ไม่เคยเจอความล้มเหลวเลย แต่ถ้าเกิดเจอความล้มเหลว เจอความผิดหวังจัง ๆ สักครั้งหนึ่ง ก็อาจจะเสียศูนย์ไปเลยก็ได้
อันนี้เราก็เห็นจากวัยรุ่นหลายคนที่พ่อแม่เป็นครอบครัวที่ดี ตามใจลูกทุกอย่าง เด็กก็เรียนเก่ง ประสบความสำเร็จในการเรียน ไม่เคยเจอความผิดหวัง ไม่เจอความล้มเหลว แต่วันดีคืนดีเกิดผิดหวังในความรักแค่ครั้งเดียว อกหักแล้วก็เสียศูนย์ไปเลย บางทีถึงกลับฆ่าตัวตาย หรือมิเช่นนั้นก็ไปฆ่าคนอื่นที่เป็นตัวขัดขวางความรัก
อย่างเช่นรายหนึ่ง นอกจากไปยิงพ่อของหญิงสาวที่สั่งให้ลูกสาวเลิกคบกับตัวเองแล้วนี้ ตัวเองผิดหวังมาก ไปฆ่าพ่อของหญิงสาวที่เลิกเป็นแฟนกับตัว แล้วก็ไปฆ่าคนอื่นอีก ทีแรกก็นึกว่าเป็นเด็กเหลือขอ เป็นเด็กเกเรอันธพาล ที่จริงไม่ใช่เลย เป็นเด็กเรียบร้อย เด็กที่เรียนเก่ง แต่ว่าประสบความสำเร็จทุกอย่างจนไม่รู้จักคำว่าผิดหวัง
มันก็คงไม่ต่างจากนักธุรกิจนะที่เจอแต่ความสำเร็จ ที่จริงตั้งแต่วัยเรียน เวลาจะมาทำธุรกิจก็จะกลายเป็นพวกที่กลัวความล้มเหลวเพราะมีความสำเร็จมาตลอด มันทำให้เกิดนิสัยอย่างหนึ่งคือกลัวความล้มเหลว ก็เลยไม่กล้าเสี่ยง ทำอะไรก็จะเอาชัวร์ไว้ แต่สุดท้ายพอเจอความล้มเหลวเข้าก็แย่เลย แต่ถ้าเกิดเจอความล้มเหลวที่ไม่หนัก มันก็ได้สติ ได้ปัญญาขึ้นมา
อย่างมีนักธุรกิจคนหนึ่งกลัวความล้มเหลวมากเพราะว่าประสบความสำเร็จมาทุกเรื่อง แต่พอล้มเหลวเข้า ทีแรกนึกว่าฟ้าจะถล่มดินจะทลาย แต่ที่ไหนได้โลกก็ยังเหมือนเดิม คนในวงการธุรกิจเขาก็ไม่สนใจเพราะว่าใครๆ เขาก็ล้มเหลวกันทั้งนั้น ก็เลยพบว่าความล้มเหลวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด พอรู้ว่าความล้มเหลวไม่น่ากลัว คราวนี้กล้าเสี่ยงแล้ว การทำธุรกิจกลายเป็นเรื่องสนุก แล้วก็ประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ
ที่จริงไม่ใช่แต่ความสำเร็จในทางโลก ที่มีความสำเร็จในทางธรรมหรือความเจริญงอกงามในทางธรรมของหลายคนก็เพราะเจอความทุกข์ ที่จริงไม่ใช่ว่าหลายคน ต้องเรียกว่าทุกคนเลย อริยสัจ 4 เริ่มต้นด้วยทุกข์ แล้วคนที่จะเข้าถึงนิโรธได้ต้องผ่านทุกข์ก่อน อริยสัจข้อแรก มันเป็นประตู เป็นทางผ่านไปสู่อริยสัจข้ออื่น ไม่ว่าจะเป็นข้อที่ 2 ข้อที่ 3 หรือข้อที่ 4 ต้องเริ่มต้นที่ทุกข์
พอเจอทุกข์ ถึงจะรู้จักทุกข์ว่าทุกข์มีสาเหตุมาจากอะไร แล้วเมื่อพบว่าสาเหตุแห่งความทุกข์มันอยู่ที่ใจ อยู่ที่กิเลส อยู่ที่โลภ โกรธ หลง ก็จะรู้ว่าการพ้นทุกข์ก็คือ การดับโลภโกรธหลงไปจากใจ แล้วเมื่อรู้เช่นนี้ก็จะสนใจมรรคแล้วว่า มีวิธีใดที่จะทำให้โลภ โกรธ หลง หมดไป ถ้าไม่เจอทุกข์ มันก็ไม่สนใจที่จะหาหนทางแห่งความดับทุกข์ ไม่สนใจที่จะเจริญในองค์มรรค
ในสมัยพุทธกาลก็มีหลายท่านทีเดียวที่บรรลุธรรมได้ก็เพราะเจอทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ธรรมดา ทุกข์หนัก ๆ เลย ฉะนั้นสำหรับคนทั่วไปถ้าเจอทุกข์พอประมาณ มันก็กลายเป็นของดี แต่ถ้าเจอทุกข์หนัก ๆ เข้าก็อาจจะเสียศูนย์ได้ แต่มันก็มีข้อยกเว้นถ้าหากว่าเจอธรรมะ แม้เจอทุกข์หนัก ๆ ก็อาจจะไม่เสียศูนย์ กลับตรงข้ามคือพัฒนากลายเป็นพระอริยบุคคลไปเลย
อย่างนางกีสาโคตมี นางปฏาจารา ท่านเหล่านี้เจอทุกข์หนักมาก ซึ่งตอนแรกที่เจอเรียกว่าเสียศูนย์ไปเลย ถ้าเทียบกับคนที่เจอภัยในสงคราม สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เปรียบได้กับคนที่อาจจะรอดจากระเบิดแต่ว่าก็เจ็บหนัก คนที่เจ็บหนักก็ยากที่จะมีความเจริญงอกงามในชีวิตได้เพราะว่ามีความฝังใจ แต่ว่าถ้าหากว่าเข้าใจธรรมะ แม้เจอทุกข์หนักๆ ถึงขั้นสาหัส ก็สามารถที่จะเข้าถึงธรรมได้
อย่างนางกีสาโคตรมี เสียลูกแล้วเหมือนเสียศูนย์เลย ไม่ยอมรับว่าลูกของตนตายแล้ว แบกศพลูกไปให้ใครต่อใครช่วยฟื้นชีวิตขึ้นมา แต่พอได้เจอพระพุทธเจ้า ในที่สุดก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะได้เห็นว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เพราะสูญเสียลูก แต่เป็นเพราะไปยึดติดในลูก พอรู้ว่าเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจ อยู่ที่ความยึดติด พอปล่อยวางได้ จิตก็หลุดพ้นเลย
นางปฏาจาราก็เหมือนกัน ซึ่งจะว่าไปแล้วเจอหนักกว่านางกีสาโคตรมี หรืออย่างพระติสสะซึ่งป่วยหนัก คนที่ป่วยหนักบางทีก็แย่เลย ถ้าป่วยพอประมาณก็ยังสามารถพอที่จะเห็นธรรมได้ แต่ถ้าป่วยหนักก็เหมือนกับเจอระเบิดเต็มๆ ก็แย่นะ แต่ว่าถ้าเห็นธรรม ก็สามารถจะพลิกจากทุกข์ให้กลายเป็นธรรม สามารถจะหลุดพ้นจากความทุกข์เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงได้ คือไม่ใช่แค่โสดาบันแต่เป็นพระอรหันต์เลย
ไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรม ความทุกข์มันมีประโยชน์ ไม่เจอความทุกข์เสียเลยมันก็ไม่ดี แต่ถ้าเจอความทุกข์หนักไปก็อาจจะไม่รอด ถ้าเจอความทุกข์พอประมาณก็สามารถที่จะเป็นเครื่องหนุนส่งให้ชีวิตนี้เจริญงอกงามได้ ไม่ใช่เฉพาะในทางโลก แต่ว่ารวมถึงในทางธรรม
เพราะฉะนั้นชาวพุทธจริง ๆ ไม่กลัวทุกข์ เพราะว่าถ้าไม่เจอทุกข์ จะรู้ธรรมหรือเห็นธรรมได้อย่างไร แต่ถ้ารู้จักพุทธศาสนาอย่างผิวเผิน คิดแต่จะหนีทุกข์อย่างเดียว ทำบุญเพื่อหนีทุกข์ เพราะคิดว่าบุญนี้จะทำให้มีโชคมีลาภ ไม่เจ็บไม่ป่วย ทั้งที่มันก็สวนทางกับความเป็นจริง
แต่ถ้าหากว่าเข้าใจธรรมะอย่างแท้จริง ก็จะรู้ว่าทุกข์นี้มีประโยชน์ เพราะว่าถ้ารู้ทุกข์ก็สามารถพ้นทุกข์ได้ ท่านติช นัท ฮันห์ ถึงกับเขียนเป็นคติธรรมสั้น ๆ เป็นภาษาอังกฤษ No Mud, No Lotus ไม่มีโคลนตมก็ไม่มีดอกบัว คือไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีการรู้ธรรมหรือตรัสรู้
เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เราเจอทุกข์ให้ถือว่าได้ของดี แม้จะเจอทุกข์หนักๆ แต่ถ้าหากว่ามีธรรมะ ทุกข์หนักๆ ก็สามารถจะกลายเป็นแรงผลักให้เกิดดวงตาเห็นธรรมได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเจอทุกข์แบบพอประมาณ แต่อันนี้ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรช่วยด้วย เจอทุกข์หนักๆ แต่มีกัลยาณมิตรก็สามารถที่จะเกิดสติได้ปัญญาได้.