พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 18 เมษายน 2567
เมื่อตอนบ่ายมีไฟไหม้ในป่า โชคดีที่ไม่เสียหายมาก ส่วนหนึ่งเพราะว่ามีคนรู้เสียก่อน ก่อนที่มันจะลามหนัก พอรู้ว่ามีไฟเข้ามาก็ระดมคน ทั้งพระ ทั้งแม่ชี ทั้งชาวบ้าน มาช่วยกันดับ ก็สามารถที่จะระงับความสูญเสียไว้ได้ ถึงแม้ว่าจะยังมีไฟสุมขอนอยู่บ้าง แต่ว่าก็ยังเรียกว่าคุมสถานการณ์ได้
ปกติถ้าถึงเดือนเมษามันไม่ค่อยเกิดไฟป่าแล้ว เพราะว่าพอถึงเดือนเมษาก็จะมีฝนลงมาก่อนสงกรานต์ พอฝนมา ป่าก็ชุ่มฉ่ำ ไฟก็เกิดขึ้นยาก มีน้อยครั้งที่จะเกิดไฟป่าในเดือนเมษา ส่วนใหญ่ก็กุมภาถึงมีนา เพราะว่ามันทั้งร้อนแล้วก็อากาศแห้งมาก แล้วพอฝนลงแล้วก็เรียกว่าปลอดภัย ใจชื้นได้
แต่ก่อนนี้ที่สุคะโตพอถึงช่วงเดือนกุมภาถึงมีนา ก็เตรียมรับมือกับไฟป่าได้เลย หลวงพ่อคำเขียนท่านจะเป็นกำลังสำคัญในการดับไฟป่า สัก 30-40 ปีก่อน คนก็ไม่เยอะหรอก บางทีมีพระแค่ 1-2 รูป แล้วก็เณรอยู่อีก 3-4 รูป จำได้ว่าปี 2527 ประมาณเดือนมีนาคม จู่ ๆ ก็เห็นหลวงพ่อกับเณร 3-4 คนเดินออกมาจากป่า ถามก็เลยรู้ว่าไปดับไฟป่ากันมา
หลวงพ่อไปดับไฟก็ไม่ได้บอกพระหรือบอกอาตมา ท่านไม่อยากจะรบกวนการปฏิบัติ ก็มีแต่ชวนเณรไปช่วยกันดับ ธรรมชาติของไฟป่าที่จริงมันก็ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ ที่ไหม้ๆ กันนี้โดยเฉพาะที่สุคะโตหรือแม้แต่ที่ภูหลง ร้อยทั้งร้อยก็เกิดจากฝีมือคน ส่วนใหญ่ก็มาจากไร่ที่อยู่รอบวัด เช่น ไร่มันสำปะหลัง พอใกล้ถึงฤดูฝน เขาก็จะเริ่มทำความสะอาดไร่เพื่อที่จะลงมัน ก็ใช้ไฟนี่แหละ
พอไฟเกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่สนใจดับ ลมมันก็จะช่วยพัดพาไฟลามเข้ามาถึงสุคะโต แต่ก่อนสมัยที่ป่ามันยังแน่นๆ ไฟเกิดขึ้นยากเพราะว่าความชื้นสูง แม้ว่าจะเป็นช่วงหน้าแล้งมันก็ยังมีความชื้น และยิ่งถ้าเป็นป่าหนาๆ ลมมันก็จะเข้ามาได้ยาก มีไฟเกิดขึ้นไม่นานก็ดับ เพราะไม่มีลมเข้ามาหนุนช่วย
แต่ว่าพอป่านี้มันเกิดไฟสักครั้งหนึ่ง ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ก็จะเกิดขึ้นง่ายแล้ว เพราะว่ามันมีปัจจัยหนุน สิ่งนั้นก็คือหญ้า หญ้านี้มันเกิดจากพื้นที่ที่เปิดโล่ง เวลาไฟเข้ามาครั้งแรกถ้าปล่อยไว้นานๆ หรือดับช้า มันก็จะไหม้ต้นไม้ มันก็จะลามไหม้ต้นไม้ ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้ออ่อน เปลือกมันอ่อน มันติดไฟง่าย แล้วพอติดไฟแล้วมันก็ลามเข้าไปเผาเนื้อไม้ แก่นไม้ข้างใน แล้วก็ลามไปทั้งต้น บางทีไหม้จากโคนขึ้นไป มันใช้เวลา 2-3 วันกว่าต้นไม้จะโค่นลงมา
พอโค่นมันก็พาเอาต้นไม้แถวนั้นพังระเนระนาด มันก็จะเกิดเป็นพื้นที่โล่ง ตอนหน้าแล้งไม่เป็นไร แต่พอถึงหน้าฝนหญ้าก็จะขึ้นตามพื้นที่โล่ง พอถึงหน้าแล้ง หญ้าก็จะแห้งก็กลายเป็นเชื้อไฟ ทีแรกอาณาบริเวณของหญ้าแห้งนี้ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ว่าพอลูกไฟจากไร่มันลอยเข้ามา เจอหญ้าแห้งก็ไหม้ ไฟมันก็เลยไหม้ขยายวงกว้างขึ้น แล้วถ้าเกิดไปติดเอาต้นไม้สูงสักต้นหนึ่ง ต้นไม้นั้นก็จะกลายเป็นเชื้อไฟ เป็นตัวที่ทำให้ไฟลามไปไกลขึ้น
เพียงแค่มันโค่นลงมา แล้วก็พาต้นไม้แถวนั้นล้มระเนระนาด มันก็เปิดพื้นที่กว้างขึ้น กว้างขึ้น กว้างขึ้น กว้างขึ้น หญ้าก็จะขึ้น เพราะว่าหญ้าพวกนี้มันขึ้นเมื่อเจอแดด ถ้าไม่เจอแดด มันก็ขึ้นไม่ได้ แต่พอเจอแดดมันก็ขึ้นใหญ่เลย โดยเฉพาะหญ้าพง พอถึงหน้าร้อน มันก็แห้งก็กลายเป็นเชื้อไฟ เป็นอย่างนี้ปีแล้วปีเล่า ไฟก็จะลามรุนแรงขึ้น
แล้วหญ้าพงมันสูง เวลาไฟไหม้ เปลวไฟนี้มันสูง 3-4 เมตร บางทีถ้าหญ้ามันอัดแน่น ๆ เปลวไฟสูง 5 เมตร 10 เมตร ดับยากเลย ถ้าเปลวไฟสูงขนาดนี้ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ดูอย่างเดียวเลย หรือไม่ก็เตรียมตัวหนี หนีให้รอด
สุคะโตหรือภูหลง ที่ไฟมันรุนแรงขึ้นปีแล้วปีเล่าก็เพราะเหตุนี้แหละ เริ่มจากพื้นที่ในป่าเปิดโล่ง อาจจะไม่กว้างเท่าไหร่ แต่พอมันขยายวงมากขึ้น มันก็ทำให้ไฟรุนแรงขึ้น ถ้าว่าเรารู้ตัวได้เร็ว ไปดับไฟได้เร็ว ความเสียหายก็น้อย แต่ถ้ารู้ช้าหรือตอนนั้นไม่มีคนอยู่ สุคะโตบางช่วงนี้สัก 40 ปีที่แล้ว บางทีไม่ค่อยมีพระ มีพระก็ 2-3 รูป ดับไม่ไหว ใช้เวลาเป็นอาทิตย์เพราะว่าไฟสุมขอน
ไฟที่เผาหญ้านี่ไม่เท่าไหร่ แต่พอมันกลายเป็นไฟสุมขอน อันนี้ลำบากแล้วเพราะว่าดับก็ดับยาก ไฟนี้มันซ่อนอยู่ข้างใน กลางคืนพอลมแรง ๆ เข้า มันก็จะมีลูกไฟปลิว ทำให้ไฟนี้ไปติดในที่ที่ไกลๆ ออกไป หรือมิเช่นนั้นไฟที่มันโหมแรง มันหลายร้อยองศาทีเดียว ไฟสุมขอน ข้างในมันสูงมาก เปลวไฟแรงมาก มันก็ทำให้ต้นไม้ข้างๆ ติดเปลวไฟแล้วมันก็จะล้ม ก็จะกลายเป็นตัวเชื่อม ชื่อว่าสะพานไฟแล้วกัน เป็นสะพานไฟหรือสะพานของไฟ ให้ไฟขยายไปไกลขึ้น ๆ
ดับไฟที่เกิดจากหญ้านี้ไม่เท่าไหร่ ดับไฟสุมขอนนี้ยาก แล้วไฟสุมขอนนี้น่ากลัวที่สุด เพราะว่ามันใช้เวลาเป็นอาทิตย์กว่าจะไหม้จนกลายเป็นเถ้า ระหว่างนั้นมันจะปล่อยลูกไฟกระจายไปแค่ไหนก็ไม่รู้ ยังไม่นับต้นไม้ที่อยู่ข้างๆ มันก็จะกลายเป็นไฟ แล้วพอมันลามขึ้นมาจากโคนไปสู่ยอด ถ้ายอดนี้มันมีไฟ มีไฟไหม้ เกิดมันได้ลมพัดสักหน่อย ลูกไฟก็ปลิวไปไกล ไฟที่ดับยากคือ ไฟสุมขอน กับ ไฟที่มันไหม้เรือนยอด ไฟไหม้เรือนยอดนี้เราทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่ดู
นี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสุคะโตในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งไฟใหม่ใหญ่ครั้งหนึ่ง โอ้โห ไหม้เรียกว่าหมดไป 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 ของพื้นที่วัดเลย ต้นไม้ใหญ่ๆ กลายเป็นเถ้าไปหมด หลวงพ่อคำเขียนก็เลยใช้วิธีชวนชาวบ้านมา มาปลูกต้นไม้ จะมาปลูกไม้ผลก็ได้ แต่ว่าให้ปลูกไม้สำหรับทำให้ป่ามันเจริญงอกงามคือไม้ยืนต้น
ระหว่างที่ชาวบ้านมาทำไร่ก็ดูแลต้นไม้ไปด้วย พอต้นไม้โตมันก็จะคลุมพื้นที่ คือปิดพื้นที่ไม่ให้หญ้าขึ้น ทำอะไรก็ได้เพื่อไม่ให้หญ้าขึ้น เพราะถ้าไม่มีหญ้าก็ไม่มีเชื้อไฟ หลวงพ่อยังชวนคนมาปลูกป่า เอาต้นกล้าเรียกว่านับหมื่นนับแสนต้นมาปลูก แล้วก็ดูแลจนกระทั่งมันกลายเป็นป่าอีกครั้งหนึ่ง
เดี๋ยวนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของสุคะโตก็เรียกว่าปกคลุมด้วยต้นไม้ เพราะฉะนั้นไฟก็เกิดขึ้นยากเพราะว่ามันไม่มีหญ้าแห้ง ไม่มีพงหญ้า ถึงมีก็น้อย แล้วยิ่งหลวงพ่อคำเขียนท่านสร้างกำแพงล้อมวัดอีกนะ ไฟที่จะไหม้จากไร่ข้างๆ ก็เข้ามาลำบาก อาจจะมีเล็ดลอดมาบ้าง อย่างเช่นพวกที่เผาขยะข้างวัด ไม่รู้เอาขยะมากองไว้จากไหน ไม่มีคนสนใจ วันดีคืนดีก็จุดไฟเผากองขยะ ไฟมันก็ลามข้ามกำแพงเข้ามา แต่ถ้าไม่มีกำแพง สุคะโตนี้คงลำบาก
กำแพงนี้ที่หลวงพ่อคำเขียนชวนชาวบ้านมาสร้าง มาปลูก มาก่อไว้เอาไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันมีคุณูปการมากในการป้องกันไฟป่า รวมทั้งป่าที่ปลูกก็โตจนกระทั่งพื้นที่ที่เป็นหญ้าแห้งหรือพงหญ้าก็เกิดขึ้นน้อย เพราะฉะนั้นไฟที่เกิดขึ้นในวันนี้ มันก็เลยเป็นไฟที่แค่ลามเลีย ลามเลียตามพื้นคอยเผาใบไม้แห้ง ถ้าเป็นไฟที่ไหม้พงหญ้า มันจะเป็นไฟที่สูงมากเลย แล้วลูกไฟก็จะปลิว
แต่ถ้าไฟมันลามเลียตามพื้นอันนี้ดับง่าย แต่ก็ประมาทไม่ได้ถ้าเกิดมันไปเจอขอน หรือเจอไม้แห้ง ขอนแห้ง ถ้าเป็นขอนใหญ่ มันก็จะเป็นไฟสุมขอนที่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ กว่าจะดับได้ หรือถ้าหลงหูหลงตา มันต้องใช้เวลาหลายวันกว่ามันจะกลายเป็นเถ้า ระหว่างนั้นมันก็จะเป็นตัวส่งลูกไฟให้กระจายไปทั่ว แต่วันนี้นี่ความที่ไฟมันลามเลียตามพื้น มันก็เลยดับได้ง่าย แต่ว่าตราบใดที่ฝนยังไม่ลงมานะ ไม่ลงมาหนักๆ นี้ก็ยังต้องระมัดระวัง
พูดถึงไฟมันน่าศึกษา เพราะว่ามันมีความอึด มีความทน มีความเพียรมากเลย มันพยายามที่จะกระจายไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ เชื้อไฟอยู่ตรงไหน มันก็จะกระเสือกกระสนไปหาเชื้อไฟเพื่อจะหล่อเลี้ยงตัวมันให้ยังเผาไหม้ต่อไป ขนาดเวลาเราไปดับมัน ไม่ว่าใช้น้ำหรือว่าใช้กิ่งไม้ตี ดูเหมือนว่ามันสงบ แต่บางทีมันมุด มุดอยู่ใต้ดิน เคยเจอ ไฟนี้เราคิดว่าปลอดภัยแล้ว เพราะว่าเปลวไฟนี้ไม่เหลือให้เห็นแล้ว แต่ว่ามันซ่อน มันซุกอยู่ใต้ดิน แล้วมันก็ลามไปใต้ดิน กว่าเราจะรู้ตัวนี้ มันก็โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินแล้วก็ไหม้ต่อ
มันฉลาดมาก บางทีเราระดมกำลังเพื่อที่จะดับไฟ ไม่ว่าไฟสุมขอนหรือว่าไฟที่ไหม้พงหญ้านี้เราก็จัดการได้หมด ปรากฏว่ามันลามไปที่เรือนยอด อยู่ข้างล่างนี้มันไปต่อไม่ได้ ถ้ามันไม่ลงใต้ดิน มันก็ขึ้นบนต้นไม้ ถ้ามันขึ้นบนต้นไม้นี้ ยากแล้ว เพราะมันก็จะส่งลูกไฟกระโดดลอยไปเรื่อย ๆ จากต้นนี้ไปสู่ต้นนั้น แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ด้วย
แล้วมันฉลาดมาก ลูกไฟ หรือ เปลวไฟ มันทำทุกวิถีทางเพื่อที่มันจะต่ออายุให้มัน ให้มันลามไปได้เรื่อย ๆ เคยเห็นไฟไหม้อยู่บนยอดไม้ เราก็ไม่รู้จะทำไง แล้วก็เห็นมันกระโดดส่งลูกไฟ ถูกลมพัดปลิว ลูกไฟก็ปลิวไปตามลม ไปติดยอดต้นไม้ต้นนั้นที ต้นนั้นที ต้นโน้นที ได้แต่ดูตาปริบๆ
ธรรมชาติของไฟนี้มันน่าศึกษามาก ว่ามันมีความเพียรหรือเกิดมีความดื้อมากทีเดียว ที่จริงมันก็ไม่ต่างจากไฟอารมณ์ โดยเฉพาะไฟโทสะ เวลาเรารู้ว่ามันเกิดขึ้นในใจ เราพยายามดับมันหรือใช้วิธีการกดข่มมัน ดูเหมือนว่ามันหาย ที่จริงไม่หายหรอก มันหลบใน มันซ่อน มันซ่อน แล้วก็นึกว่ามันหายไปแล้ว แต่พอเราเผลอ มันก็จะโผล่มา
ความโกรธ หรือ โทสะ ถ้าเราไปกดมันบ่อยๆ มันไม่ได้หายไปไหนหรอก เพียงแต่ว่ามันรอ มันรอตอนเราเผลอ ไม่ต่างจากไฟที่ไหม้ในป่า เราเผลอเมื่อไหร่ มันก็โผล่มาจากดินมั่ง โผล่มาจากขอนมั่ง แล้วก็เผยแพร่กระจายวงกว้างไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไฟป่านี้มันต้องชัวร์จริงๆ แล้วก็จะใช้วิธีไปจัดการกับมันยังไงก็ไม่ดีเท่ากับการทำให้เชื้อมันหมดไป
วิธีที่ทำให้เชื้อหมดไปเป็นวิธีที่แน่นอนที่สุด อย่างเช่นการใช้เครื่องเป่า เป่าใบไม้แห้งให้มันไปสุมกอง หรือว่าให้ออกจากถนนกลายเป็นแนวกันไฟ ถ้าเราทำให้แนวกันไฟนี้มันปลอดจากใบไม้ ไฟมันก็ลามไม่ได้ เพราะมันต้องการเชื้อ วิธีดับจะดับอย่างไร ตราบใดที่ยังมีเชื้อ มันก็ยังเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับไฟอารมณ์ ไฟโทสะ ถ้ายังมีเชื้ออยู่ มันก็ยังเกิดขึ้นได้ เชื้อนั้นคืออะไร คือความหลง
แม้เราจะกดข่มมันอย่างไร แต่ตราบใดที่ยังมีความหลงอยู่ มันก็พร้อมจะเกิดขึ้น วิธีเดียวที่จะรับมือกับมันก็คือว่าเอาความรู้สึกตัวเข้าไป เวลาโกรธ เวลาโมโห หรือแม้แต่ความฟุ้งซ่าน กดข่มยังไงมันก็ยังพร้อมจะโผล่เมื่อเราเผลอ มันมีพฤติกรรมคล้ายๆ กับนักรบกองโจร พวกนักรบกองโจรเขามีคติ มึงมาข้ามุด มึงหยุดข้าแหย่ มึงแย่ข้าตี มึงหนีข้าตาม
ไฟนี้มันเป็นแบบนี้เลย มึงมา ข้ามุดเลย มึงหยุด ข้าแหย่ มึงแย่ข้าตี มึงหนีข้าตาม กดข่มมันไม่ได้ แต่ถ้าทำให้มันหมดพิษสงคือ ทำให้เชื้อมันหมดไปด้วยการทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น นอกนั้นมันก็จะไม่สามารถจัดการกับมันได้เด็ดขาด ก็เหมือนกับมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ “ทำยังไงจะตัดความโกรธให้ขาดได้” หลวงปู่บอก “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมัน เมื่อรู้ทันมัน มันก็ดับไป” พอเรารู้ทัน ก็คือรู้ทันด้วยสติ ก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา มันก็ดับไป
วิธีหนึ่งที่ทำให้เชื้อมันหมดไปก็คือใช้ไฟนี่แหละเผาเชื้อ มันมีคำพูดว่า “ใช้ไฟบ้านดับไฟป่า” หรือว่า “ใช้ไฟไล่ไฟ” ถ้าไฟมันแรงๆ วิธีที่จะรับมือกับมัน ถ้าเกิดว่าลมแรงๆ ก็คือจุดไฟไล่มัน ซึ่งก็ต้องอาศัยดูทิศทางลมนะ ถ้าเราอยู่เหนือลม เราก็จัดการเลย จุดไฟเป็นแนวเลย ไฟที่เราจุดนี้แหละมันจะไปไล่ไฟที่กำลังดาหน้ามาหาเรา บางทีเปลวไฟมันสูง 5 เมตร 10 เมตร เราสู้มันไม่ได้ แต่เราใช้ไฟสู้กับมันด้วยการจุดไฟเพื่อให้ลมมันพาไฟออกไป ไฟที่เราจุดมันไปปะทะกับไฟที่กำลังเข้ามาหาเรา
มันเอาอยู่เพราะว่าอะไร เพราะว่าไฟที่เราจุด มันจะทำลายเชื้อ ไฟที่เราจุดเป็นแนว มันจะทำลายเชื้อ ทำให้ไฟที่กำลังมาเป็นแผงเข้าหาเรา ไม่มีเชื้อต่อ พอมันไม่มีเชื้อ มันก็ดับ ดับอย่างเร็วเลย อีกอย่างหนึ่งไฟที่เราจุด มันก็ยังไปเผา ไปทำให้ออกซิเจนมันหมดไปด้วย เพราะไฟนี้มันต้องการออกซิเจน ถ้าไฟที่เราจุดมันแรงพอ มันก็จะไปกินออกซิเจน ทำให้ไม่มีเหลือสำหรับไฟที่กำลังดาหน้าเข้ามาหาเรา พอไม่มีออกซิเจน ไม่มีเชื้อ มันก็ดับไป
ดับไฟด้วยไฟ มันก็ได้ผล ถ้าหากว่าทำเป็นแล้วก็รู้จังหวะของลม ในแง่นี้ไฟก็มีประโยชน์ ไฟก็มีประโยชน์ มันก็เหมือนกับ โทสะ หรือ ตัณหา มันก็มีประโยชน์ถ้าเราใช้ให้เป็น อย่างที่มีการใช้ตัณหาเพื่อที่จะละตัณหา อย่างอนาถบิณฑิกะอยากจะให้ลูกชายมาสนใจธรรมะ ต้องจ้างลูกชายให้ไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า
ลูกชายไปแล้วแต่ไม่ได้ฟังหรอก กลับมาก็ขอเงินพ่อ พ่อก็ให้ แต่ว่าคราวต่อไปก็บอกว่า ถ้าจำได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เทศน์อะไร ก็จะให้รางวัลเพิ่ม ลูกชายอยากได้เงิน คราวต่อไปก็เลยตั้งใจฟัง พระพุทธเจ้าก็รู้นะก็เลยบันดาลให้ลูกชายจำไม่ได้สักที พระพุทธเจ้าสอนอะไร จำไม่ได้ เลยต้องตั้งใจฟังให้มากขึ้น เพื่ออะไร เพื่อจะได้เอาเงินจากพ่อ แต่ว่าพอตั้งใจฟังมากๆ ขึ้น ก็เกิดปัญญาขึ้นมาบรรลุเป็นพระโสดาบันเลย พอกลับไปที่บ้านพ่อจะให้เงิน บอก ไม่เอาแล้ว เพราะได้อริยทรัพย์ที่ประเสริฐกว่า
อันนี้ก็เรียกว่าใช้ตัณหาเพื่อจูงใจลูกให้สนใจธรรมะ จนกระทั่งลูกเข้าใจธรรม แล้วก็ละตัณหาได้ ตัณหาละตัณหาได้ฉันใด ก็เหมือนกับไฟที่เราสามารถใช้เพื่อดับไฟที่มันโหมกระพือขึ้นมาได้ ที่จริงไฟมีประโยชน์อยู่ด้วย นอกจากเอาไว้ใช้ดับไฟที่เราไม่ต้องการแล้วนี้ ที่จริงไฟมันยังช่วยกำจัดเชื้อไฟ ถ้าหากว่าป่ามันมีเชื้อไฟ แล้วเชื้อไฟมันสุมกองมากๆ พอไฟเกิดขึ้นทีมันจะแรงมาก แต่ถ้ามีไฟเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ มันก็จะช่วยกำจัดเชื้อไฟ ทำให้ไฟป่าครั้งต่อไปไม่แรง
ภูหลงมีช่วงหนึ่งที่ว่าสามารถที่จะกันไฟป่าไม่ให้เข้ามาได้ติดต่อกันหลายปี ดูเหมือนดี แต่ว่ามันก็มีข้อเสียก็คือว่ามันทำให้เชื้อไฟที่เกิดจากหญ้าแห้งมันสะสมอัดแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าทุกปีหน้าฝนก็จะมีหญ้าเกิดขึ้น แล้วพอถึงหน้าแล้งมันก็กลายเป็นหญ้าแห้ง แล้วถ้าไม่มีไฟมาเผามันนะ หญ้าแห้งก็จะอัดแน่นให้สะสมมากขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้หลายปี พอไฟเข้ามา ไฟมันจะแรงมากเลย ความร้อนนี้มันจะหลายร้อยองศาเลยนะเพราะว่าเชื้อนี้มันอัดแน่นมาก
อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างอเมริกา ที่เขาบอกว่าไฟป่ามันแรงมาก แต่ละทีแต่ละครั้งมันแรงมาก เพราะว่าอะไร เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมาเขาควบคุมไม่ให้มีไฟป่า เกิดขึ้น ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ที่มันเกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า พอไม่มีไฟมาเผา มาทำลาย มันก็สะสมมาก จนกระทั่งพอมีไฟเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่งนี้มันจะแรงมาก
แล้วระยะหลังนี้เขาก็จะพยายามใช้วิธีว่าให้มีไฟเข้ามาบ้าง แล้วก็ควบคุมมันให้อยู่พอดีๆ ไม่มีไฟป่าเลยก็ไม่ดี แต่ถ้าไม่ระวังปล่อยให้ไฟเกิดขึ้นก็ไม่ดีเหมือนกัน มีบ้างแต่ว่าควบคุมให้พอดีๆ มันก็ทำให้ไฟป่าที่จะเกิดขึ้นมันไม่แรง มันอยู่ในวิสัยที่จะคุมได้
ฉะนั้นไฟก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างเดียว มีประโยชน์สำหรับการรักษาป่าด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงว่าไฟมันยังช่วยทำให้เมล็ดหรือเม็ดของต้นไม้หลายชนิดมันสามารถจะเติบโตเป็นต้นกล้าได้ ถ้าไม่มีไฟเผามัน มันก็ไม่แตกเป็นต้นกล้านะ มันต้องโดนไฟเผา มันถึงจะแตกเป็นต้นกล้า แล้วก็ทำให้เกิดต้นไม้รุ่นต่อไป
มันก็สอดคล้องกับความจริงที่ว่า ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์ ตัณหาก็ดี หรือว่าความคิดฟุ้งซ่านก็ดี ความหลงก็ดีมีประโยชน์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดอยู่เสมอ อย่างเช่นความโกรธ ท่านก็เคยสอนว่ามันทำให้เราเห็นสัจธรรม ความโกรธก็ทำให้เราเห็นสัจธรรม ถูกต่อว่าก็เห็นสัจธรรมได้
ความหลงก็เป็นเชื้อให้เกิดความรู้ตัว เปลี่ยนความหลงให้กลายเป็นความไม่หลง เปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ หรือที่หลวงพ่อเทียนบอกว่า “ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้” หมายความว่ายิ่งคิดฟุ้งซ่าน ก็ยิ่งรู้ตัวได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น แล้วเราก็ต้องรู้จักใช้ของเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ แล้วรู้จักเกี่ยวข้องกับมันให้ถูกวิธี.