พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 เมษายน 2567
พูดถึงบรรยากาศของที่นี่ก็จัดว่าสงบพอใช้ได้ กิจวัตรก็น้อย วิถีชีวิตก็ไม่ค่อยเร่งรีบเท่าไหร่ แต่หลายคนที่มาปฏิบัติธรรมในช่วง 2-3 วันนี้ อาจจะรู้สึกได้ถึงข้างในที่มันมีความว้าวุ่น ใจฟุ้งกระจาย แล้วก็อาจจะมีเสียงอยู่ในหัวตลอดเวลานานาชนิด
อาจจะเป็นประสบการณ์ที่ต่างจากตอนที่ไม่ได้มาวัด ทั้งๆ ที่ข้างนอกหรือที่ที่เราจากมามีเสียงดัง ไม่ใช่แค่เสียงดังจากนอกบ้าน บางทีก็มีเสียงจากในบ้าน แล้วก็มีอะไรต่ออะไรทำมากมาย มีคนมาพูดมาคุย แล้วชีวิตก็เร่งรีบ แต่ทำไมพอมาที่นี่ มันกลับมีความคิดที่ฟุ้งกระจายยิ่งกว่าตอนอยู่ที่บ้าน หรือมีเสียงนานาชนิดดังระงมอยู่ในหัวมากกว่าตอนอยู่ที่ทำงาน
อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกับที่บางคนอาจจะรู้สึกง่วงสลับกับความฟุ้ง ความว้าวุ่นในใจ ฉะนั้นถ้าเรารู้สึกง่วง อันนี้ก็ธรรมดา โดยเฉพาะสำหรับคนที่มาปฏิบัติ ยิ่งถ้าปฏิบัติทั้งวันใหม่ ๆ ก็ง่วงกันทั้งนั้น แต่บางทีถ้าไม่ง่วงก็ฟุ้ง ว้าวุ่น เสียงดังนานาชนิดในหัว
อันนี้เป็นเพราะว่าที่นี่สิ่งเร้ามันน้อยกว่าโลกภายนอก น้อยกว่าที่บ้าน น้อยกว่าที่ทำงานของเรา สิ่งเร้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้ทางใจ อาจเป็นสิ่งเร้าจากโทรศัพท์มือถือ สิ่งเร้าจากคนแวดล้อม หรือว่าแม้กระทั่งงานการที่มันกระตุ้นให้ต้องคิด คิดอยู่ตลอดเวลา
ความคิดนี้ก็เป็นสิ่งเร้าอย่างหนึ่งที่ทำให้ใจมันตื่น ยังไม่นับกาแฟที่ไปกระตุ้นให้จิตมันตื่น โลกภายนอกมันเต็มไปด้วยสิ่งเร้ามากมายที่รุมกระหน่ำหรือว่าระดมใส่จิตใจของเรา ผ่านทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สิ่งเร้านี้เองที่ทำให้เราตื่นทั้งวันเลย บางทีถึงขั้นว่ากลางคืนก็ไม่หลับ หลายคนก็มีปัญหา มันมีความคิดถูกปรุง ถูกปลุก ถูกเร้าจนไม่ยอมหลับง่ายๆ แต่พอมาที่นี่ทำไมมันหลับง่ายเหลือเกิน ทั้งที่เป็นกลางวัน ทั้งที่กำลังเดินจงกรม ทั้งๆ ที่กำลังยกมือ
อันนี้เพราะว่าสิ่งเร้ามันน้อย จิตเราถ้าหากว่าถูกเร้าถูกกระตุ้นไปนานๆ แล้วพอสิ่งกระตุ้นสิ่งเร้าลดลง มันก็จะง่วง แต่ว่าก็จะเป็นอย่างนี้สักพัก พอวันที่ 3 วันที่ 4 ก็เริ่มปรับตัวได้ เพราะว่าที่นี่มันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีสิ่งเร้าเลย มันก็มีแต่ว่ามันน้อยแล้วมันก็เบา เสียงนก เสียงไก่ เสียงลม เสียงรถที่แล่นภายในหมู่บ้าน พวกนี้ก็เป็นสิ่งเร้าอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนกับโลกภายนอก
พอจิตเราเริ่มปรับตัวได้ หลังจากง่วงมาสักพัก มันก็ค่อยๆ ที่จะตื่นขึ้นมา แต่นอกจากความง่วงแล้ว มันก็มีความฟุ้ง หลายคนก็มักจะพูดว่า “ทำไมตอนที่ไม่ปฏิบัติ ไม่เห็นฟุ้งอย่างนี้เลย พอปฏิบัติทำไมมันฟุ้งเหลือเกิน” ตอนที่ไม่ปฏิบัติมันมีอะไรทำ ดูโทรทัศน์ ตอบข้อความ เล่น Line Facebook หรือว่าทำงาน
พวกนี้มันเป็นสิ่งที่ชวนให้จิตไปจับ ไปเกาะ จิตพอไปจับหรือไปเกาะสิ่งใด มันก็จะอยู่นิ่ง หรือว่าจะไม่เตลิดเปิดเปิงมาก แต่พอมาที่นี่ไม่มีสิ่งอะไรให้จิตไปเกาะหรือน่าเกาะ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีคนมาคุย ไม่มีงานการทำ จิตมันไม่มีที่เกาะ มันก็เลยเรียกว่าฟุ้งเลย
เปรียบเหมือนกับลิง ลิงถ้าให้มันเล่น ให้มันทำอะไรสักอย่างหนึ่ง มันก็จะอยู่นิ่งๆ ได้ หรือว่าถ้ามีอะไรให้มันสนใจ มันก็จะอยู่นิ่ง มีอะไรให้มันทำ มีของให้มันแกะ มันก็จะอยู่กับที่ แต่พอมันไม่มีอะไรทำ มันก็จะเพ่นพ่าน กระโดดไปโน่น ปีนโน่นปีนนี่ มันจะไม่ค่อยอยู่นิ่งแล้ว ฉะนั้นจิตเราก็เหมือนกับลิง ถ้าไม่มีอะไรให้มันทำ มันก็จะกระโดดโลดเต้นหรือว่าเตลิดเปิดเปิง
ที่จริงระหว่างที่เรามาปฏิบัติ มันก็มีงานให้จิตทำก็คือให้มารู้กาย เวลาเดินก็ให้รู้ว่าเดิน เวลายกมือสร้างจังหวะ ก็ให้รู้ว่ามือกำลังเคลื่อน หรือกำลังแบมือ กำลังยกมือ แต่ว่ามันไม่ค่อยน่าสนใจ ใหม่ๆ ตอนที่เริ่มทำใหม่ๆ จิตจะไม่ค่อยฟุ้งหรอก แต่พอทำไปได้สัก 5 นาที พอมันเริ่มคุ้นแล้ว มันก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรเลย เดินกลับไปกลับมา ยกมือไปยกมือมา พลิกคว่ำ มันไม่ชวนสนใจ คราวนี้มันก็เลยเตลิดแล้ว เกิดอาการฟุ้งขึ้นมา
ไม่เหมือนกับเวลาเราทำงาน ไม่เหมือนกับเวลาเราดูหนัง ซีรีส์ หรือฟังเพลง หรือว่ากำลังคุยกับเพื่อน มันไม่ค่อยฟุ้งหรอก เพราะมันมีงานทำ มันมีสิ่งให้จิตมันเกาะ แล้วก็น่าสนใจที่จะเกาะด้วย แต่ว่าพอมาปฏิบัติอย่างนี้ มันไม่มีอะไรที่น่าสนใจให้จิตมันไปเกาะอยู่ได้นานๆ มันก็เลยฟุ้ง ก็เป็นธรรมดา
แล้วที่จริงการฟุ้งก็ดีเหมือนกัน มันเป็นการฝึกหัดให้สติได้ทำงาน เพราะว่าสติมีหน้าที่ที่จะรู้ทันความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จิตที่มีสติอ่อน มันก็จะไหลไปตามความคิดและอารมณ์ จนลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ อย่างหลายคนเมื่อสักครู่หรือว่าตอนนี้อาจจะลืมไปว่ากำลังฟังคำบรรยาย เพราะว่าใจมันเผลอคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ อาจจะนึกไปถึงบ้าน นึกไปถึงพ่อแม่ นึกไปถึงลูก แต่สักพักมันก็จะรู้ จิตก็จะรู้ว่าเผลอไปแล้ว
พอรู้ว่าเผลอไปก็จะกลับมา กลับมาที่หอไตร กลับมารับรู้เสียงบรรยาย กลับมาจดจ่อใส่ใจอยู่กับเสียงที่ได้ยิน ตัวที่ช่วยให้จิตรู้ว่าเผลอ แล้วก็พาจิตกลับมาสู่หอไตรก็คือสติ มันเป็นความระลึกได้ชนิดหนึ่ง ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้นถ้าเกิดว่าเผลอบ่อยๆ แล้วระลึกได้บ่อยๆ กลับมาบ่อยๆ สติก็จะแก่กล้า มีความรวดเร็ว ทำงานได้คล่องแคล่ว ซึ่งก็คือเหตุผลที่เรามาปฏิบัติ แต่ก็ต้องวางใจให้ดีเพราะว่าหลายคนไม่ชอบให้ใจมันฟุ้ง ไม่ชอบให้ใจมันหลุดลอยออกไปจากสิ่งที่กำลังทำอยู่
หลายคนมาด้วยความคาดหวังว่าจะมาบังคับจิต ฝึกจิตให้สงบ แต่พอจิตมันทำตรงข้าม คิดโน่นคิดนี่ก็จะรู้สึกผิดหวัง ไม่พอใจ ใหม่ๆ อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่พอมันฟุ้งบ่อยๆ แล้วพยายามที่จะบังคับให้มันสงบ แต่มันก็ไม่สงบสักที มันไม่ยอมนิ่งสักที ก็จะยิ่งรู้สึกหงุดหงิด และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายคน นอกจากความง่วงและความฟุ้งแล้ว ก็คือความหงุดหงิด ความขุ่นเคือง ขุ่นเคืองใจของตัว อันนี้เพราะวางใจผิด
คือเข้าใจว่ามาปฏิบัตินี้ มาเพื่อบังคับจิตให้นิ่ง มาฝึกจิตให้สงบ ก็จะมุ่งบังคับจิต ไม่ให้จิตนี้มันเพ่นพ่านเถลไถล ไม่ให้จิตฟุ้ง แต่พยายามทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จก็เลยหงุดหงิด เกิดความขุ่นเคืองขึ้นมา หรือเกิดความเครียด ให้รู้ว่านี่คือสัญญาณว่าเราวางใจผิดแล้ว
การฝึกที่นี่ เราไม่ได้ฝึกบังคับจิตให้นิ่งหรือว่าบังคับจิตให้สงบ ตรงข้ามเลย เราอนุญาตให้มันฟุ้งได้ อนุญาตให้มันคิดได้ ให้เขาเป็นไปอย่างที่เขาเคยเป็นหรือกำลังเป็นอยู่ จะไปไกลแค่ไหนก็ไม่ห้าม แต่ไม่ส่งเสริม ไม่หาเรื่องคิด
สิ่งที่จะกระตุ้นให้เราคิดเยอะๆ ก็จะพยายามไม่ให้มี เช่น งดการพูดคุยกันหรือว่างดใช้โทรศัพท์ เพราะถ้าพูดคุยกันแล้ว จิตมันก็จะฟุ้งกระเจิงได้ง่าย โดยเฉพาะมีโทรศัพท์และตอนที่เล่นโทรศัพท์อาจจะไม่ฟุ้ง แต่พอเล่นเสร็จ มันก็จะฟุ้ง คิดโน่นคิดนี่ แต่แม้ไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว จิตมันก็อยากจะคิดโน่นคิดนี่อยู่นั่นแหละ หรือจะไปโน่นไปนี่
การฝึก ก็คือให้รู้ว่าไป ให้รู้ว่าเผลอ แล้วก็พาจิตกลับมา หลวงพ่อเทียนท่านจะเน้นอยู่เสมอว่า “อย่าห้ามคิดนะ” หมายถึงว่าอย่าบังคับจิตไม่ให้คิด ปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ว่าเมื่อมันคิดก็ให้รู้ เมื่อมันไปก็ให้กลับมา
หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดว่า “มันจะเก่งก็ตรงที่กลับมานั่นแหละ ไม่ใช่ไป” การปฏิบัติบางวิธีการจะเน้นไม่ให้จิตไป ไม่ให้จิตฟุ้ง แต่ที่นี่เราไม่เน้นอย่างนั้น เราเน้นฝึกให้จิตกลับมา ที่จริงพอฝึกกับครูบาอาจารย์หลายท่าน ทีแรกท่านอาจจะสอนให้รู้จักข่มใจ บังคับจิต ระงับความอยาก ระงับความโกรธ แต่พอมาปฏิบัติจริงๆ จังๆ ท่านก็จะไม่ทำอย่างนั้น
เคยมีคนถามหลวงพ่อชา ผู้ที่ถามนี้เป็นพระถามว่า “เวลาภาวนาจิตมันเตลิด นั่งสมาธิอย่างไรจิตถึงจะสงบ” หลวงพ่อชาท่านตอบว่า “มันเตลิดก็ช่างมัน เดี๋ยวมันเหนื่อย มันก็กลับมาเอง” คือท่านไม่ได้สนับสนุนให้ไปบังคับจิตไม่ให้เตลิด ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ว่าเมื่อมันไปแล้วก็ให้รู้ทัน เมื่อมันเผลอก็ให้รู้ไวๆ แล้วก็กลับมา หลวงพ่อคำเขียนจึงบอกว่า “มันเก่งตรงที่กลับมา”
หลายปีก่อนเคยพานักปฏิบัติเดินรอบสระ มันจะมีหมาตัวหนึ่งชื่อปุ๊กกี้ ไม่ใช่หมาวัด แต่ว่าชอบมาอยู่วัด ปุ๊กกี้นี่เป็นหมาตัวดำแล้วก็จะเรียกว่าแสนรู้ก็ได้ เวลามีการเดินจงกรมเป็นแถวรอบสระ ปุ๊กกี้จะรู้เลยนะ จะมาเลยมาแจมด้วย แจมด้วยการเดินนำหน้า
ใหม่ๆ ทีแรกก็จะเดินเคียงข้างผู้นำ อาตมาพานำ ปุ๊กกี้ก็เดินข้างๆ อาตมา แต่สักพักปุ๊กกี้ก็จะไปสนใจอะไรไม่รู้ข้างหน้า ก็จะวิ่งไป วิ่งไปดู วิ่งไปคุ้ย สักพักเหมือนกับระลึกได้ว่าควรจะทำอะไร ก็กลับมา กลับมาเดินข้างๆ อาตมา หรือเดินนำนิดหน่อย เดินนำอยู่พักหนึ่ง เดี๋ยวก็วิ่งไปข้างหน้าหรือไม่ก็แฉลบไปข้างทาง เพราะว่ามันมีอะไรที่ดึงดูดความสนใจ แล้วสักพักก็จะเหมือนกับรู้ตัวก็จะกลับมา มาเดินนำนำแถว เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
การฝึกสติก็เหมือนกัน เราฝึกให้จิตมารู้กาย ให้จิตมาอยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อจิตมาอยู่กับเนื้อกับตัวก็จะรู้ว่ากำลังยกมือ กำลังพลิกมือ หรือว่ากำลังเดินก็รู้ว่าเท้ากำลังขยับ ตัวกำลังเขยื้อน แต่บ่อยครั้งจิตมันจะเถลไถล ออกไปคิดถึงเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้าง หรือไปจดจ่อกับสิ่งนอกตัวบ้าง เช่น ต้นเสียง เสียงดัง เสียงนก ก็ใจก็พุ่งไปที่นก เขาเรียกว่าจิตส่งออกนอก
หน้าที่ของเราก็คือว่าพอมันไปก็ดึงมันกลับมา จิตที่ฝึกดีแล้วนี้มันจะกลับมา มันจะกลับมาเหมือนกับปุ๊กกี้ ไปสักพักเดี๋ยวก็กลับมา เสร็จแล้วก็เผลอใหม่ออกไปอีก แล้วเดี๋ยวก็กลับมา ให้เราฝึกใจของเราแบบนั้น มันจะไปไกลแค่ไหน รู้ตัวเมื่อไหร่ก็กลับมา ไอ้การที่ใจมันคิดโน่นคิดนี่มันก็ดีเหมือนกันนะ เพราะมันเป็นแบบฝึกหัดให้สติได้ทำงาน มันเป็นวิธีการฝึกสติด้วยการที่อนุญาตให้ใจนี้มันไป แต่เราก็ดึงกลับมา
ให้เราสังเกตนะระหว่างที่ฟังคำบรรยายอยู่นี้ บางทีใจมันไปคิดโน่นคิดนี่ แล้วจู่ๆ มันนึกขึ้นมาได้เอง มันระลึกขึ้นมาได้เองว่ากำลังฟังคำบรรยายอยู่ พอระลึกขึ้นมาได้ จิตนี้มันกลับมาเลย บางทีคิดไปหลายเรื่องแล้วกว่าจะกลับมา ไม่เป็นไร ถ้าเราทำแบบนี้บ่อยๆ แบบนี้บ่อยๆ แบบนี้บ่อยๆ มันจะกลับมาเร็ว มันจะกลับมาเร็วขึ้น เร็วขึ้น เร็วขึ้น เขาเรียกว่าสติมันทำงานได้ไวขึ้น
และนี่แหละคือเหตุผลที่เรามาเดินจงกรมกันเป็นชั่วโมงหรือว่านั่งสร้างจังหวะ ปฏิบัติกันเป็นวัน เพื่อให้มันมีโอกาสที่จะระลึกได้แบบนี้บ่อยๆ เพราะถ้ามันระลึกได้บ่อยๆ มันจะระลึกได้ไวขึ้น ไวขึ้น มันจะกลับมาไวขึ้น ไวขึ้น มันเป็นการระลึกขึ้นมาได้เองนะ ไม่มีใครจะควบคุมบังคับได้
แต่สิ่งที่เราพอจะช่วยได้ก็คือว่าเปิดโอกาสให้มันมีโอกาส เปิดโอกาสให้มันได้ระลึกบ่อยๆ ก็คือทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ มันก็จะระลึกขึ้นได้เร็วขึ้น เร็วขึ้น เร็วขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้สติให้ทำงาน แล้วเราก็อย่าไปเผลอทำงานแทนสติ บางทีเราเห็นสติทำงานช้า คิดไปแล้ว 7-8 เรื่อง ถึงค่อยระลึกนึกขึ้นมาได้ พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน รู้สึกว่ามันช้าไป เราก็เลยทำงานแทนสติซะเลย คือคอยไปดักจ้อง ดักจ้องความคิด
(การดักจ้องความคิด) ทำแบบนี้บ่อยๆ ก็จะเครียด อย่าไปทำแทนสติ เราต้องให้สติทำงาน แม้จะช้าแต่ว่าเขาก็จะเติบโต เขาก็จะเรียนรู้ได้ เหมือนกับเราให้ลูกซักผ้า ล้างจาน กวาดบ้าน ใหม่ๆ ลูกก็ทำไม่สะอาดหรอก ใช้เวลานาน พ่อแม่บางคนเห็นลูกทำงานช้าแล้วก็ไม่ละเอียดลออ เลยทำเองเลย เร็ว ผลงานออกมาดี จานก็สะอาด แต่ลูกก็ไม่ได้ฝึกเลย แล้วเราก็เหนื่อยเพราะว่าเราก็ต้องทำหลายอย่าง
เราต้องให้โอกาสลูกได้ทำเอง แม้ว่าจะช้า แม้ว่าจะไม่เนี้ยบ แต่ว่าถ้าเราให้เขาได้ทำบ่อยๆ เขาจะทำได้ดีขึ้น แล้วก็จะทุ่นแรงเรา เราก็จะได้ไปทำอย่างอื่น เราก็จะเหนื่อยน้อยลง เพราะฉะนั้นในการฝึกให้มีความระลึกได้ หรือฝึกให้จิตกลับมา ต้องให้สติ เขาทำของเขาเองนะ แล้วพอสติพาจิตออกมาจากความคิด ต่อไปไม่ใช่แค่ความคิดอย่างเดียว อารมณ์นานาชนิดที่จิตมันเคยเผลอจมเข้าไป สติก็จะดึงจิตออกมาจากอารมณ์นั้น กลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วสิ่งที่ตามมาคือความสงบ
แต่ก่อนนี้ว้าวุ่น รุ่มร้อน เพราะความโกรธ เพราะความเครียด เพราะความเศร้า แต่ตอนหลังอารมณ์พวกนี้มันจะบรรเทาลง เราจะทุกข์น้อยลง ใจเราจะสงบมากขึ้น เพราะว่าสตินี้พาจิตกลับมาสู่ปัจจุบันได้เร็ว อารมณ์พวกนี้มันก็เลยไม่รบกวน รังควาน หรือเผาลนจิตนานเหมือนเมื่อก่อน เป็นความสงบที่เกิดขึ้นจากการที่รู้ทันความคิดและอารมณ์ เป็นความสงบที่เกิดจากการที่จิตกลับมาสู่ปัจจุบันได้เร็ว ให้เราฝึกแบบนี้แหละ.