พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 13 เมษายน 2567
ช่วงนี้อากาศร้อน ร้อนมากด้วย อยู่ที่ไหนก็ร้อน ร้อนทั้งเช้าสายบ่ายเย็นค่ำ ก็เรียกว่าคงไม่มีใครที่ไม่ทุกข์เพราะความร้อน เว้นแต่จะเก็บตัวอยู่ในห้องแอร์ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าได้ออกมาจากห้องแอร์ ออกมาสัมผัสกับอากาศตามธรรมชาติก็คงรู้สึกทุกข์
ให้เราลองสังเกตว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรา ทุกข์กายกี่ส่วน แล้วก็ทุกข์ใจกี่ส่วน บางคนอาจจะไม่รู้สึกเลยว่าทุกข์ใจ ไม่ใช่เพราะไม่มีแต่เพราะไม่รู้ว่าใจมันเป็นทุกข์ ใจที่หงุดหงิด ใจที่ขุ่นมัว แล้วบางครั้งก็มีเสียงในหัวดังออกมา เป็นเสียงบ่นโวยวายตีโพยตีพาย นั่นแหละคือสิ่งที่บ่งชี้ของความทุกข์ใจ
ทั้งๆ ที่ความทุกข์ใจมันเป็นความทุกข์ก้อนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเราหรือที่เรารู้สึก แต่ว่าคนจำนวนไม่น้อยกลับไม่รู้ ไม่สังเกตว่ามันมีความทุกข์ใจเกิดขึ้น ไปคิดแต่ว่ามันเป็นความทุกข์ของกายเพราะอากาศร้อน มันแปลก ความทุกข์ใจมันอยู่ข้างในและเป็นสิ่งที่รับรู้ได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ไม่สังเกต อาจจะไม่รู้ว่ามีอยู่ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่มันมีเสียงบ่นโวยวายอยู่ในหัว แล้วก็มีอาการหงุดหงิดอยู่ในใจ
เคยถามคนที่นั่งฟังธรรมแล้วก็นั่งปฏิบัติธรรมทั้งวันเลยตั้งแต่เช้าจนเย็น นั่งเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็นั่งพื้นด้วย ถามเขาว่า “โยมทุกข์ไหม” บอก “ทุกข์” ถามว่า “ทุกข์ที่ไหน” ตอบ “ทุกข์ที่หัวเข่า ทุกข์ที่ขา ทุกข์ที่หลัง เพราะว่านั่งนาน นั่งเป็นวัน” แล้วถามเขาอีกว่า “แล้วมีทุกข์ตรงไหนอีกไหม” ไม่มีคำตอบ หลายคนก็ตอบอยู่เป็นนัยว่า “ก็มันมีทุกข์แค่นี้แหละ” คือทุกข์กาย
ก็เลยถามเขาว่า “แล้วใจไม่ทุกข์เลยเหรอ” พอถามอย่างนี้เข้า หลายคนก็งง “หมายความว่ายังไง” ก็ความหงุดหงิด ความรู้สึกกระสับกระส่าย ซึ่งมันอาจจะทำให้เกิดความอยากที่จะให้เลิกบรรยายไวๆ อาจจะมีเสียงบ่นว่า “เมื่อไหร่จะหยุดบรรยายซะที ฉันนั่งจนเมื่อยแล้ว” หรือบางทีก็อยากจะรีบลุกไปเข้าห้องน้ำหรือยืดเส้นยืดสาย
ความคิดเหล่านั้นแหละ มันก็เป็นตัวบ่งชี้ว่ามีความทุกข์ใจ และพอไม่สามารถที่จะลุกจากที่นั่งได้เพราะยังบรรยายไม่จบ ก็จะมีความหงุดหงิด มีความโกรธน้อยๆ ที่ไม่เป็นดั่งใจ อยากจะให้หยุดบรรยายไวๆ อยากจะให้พักเร็วๆ แต่ว่าก็ไม่สมหวัง มีความหงุดหงิด มีความเครียดเกิดขึ้น
ถามว่า “มีไหม” ร้อยทั้งร้อยบอก “มี” “อ้าว แล้วทำไมไม่เห็นล่ะ” เมื่อกี้ถามว่าทุกข์ใจไหม ทำไมไม่มีใครตอบว่าทุกข์ใจเลย แต่พอชี้เข้าก็จะเห็นแล้วก็ยอมรับ คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อย คือเวลามีความทุกข์กายนี้เห็นชัด แต่เวลามีความทุกข์ใจตามมามองไม่เห็น ไม่รับรู้ ทั้งๆ ที่ใจมันจมเข้าไปแล้วในความทุกข์ ใจถลำเข้าไปในความหงุดหงิดแล้ว
แล้วความทุกข์ใจหรือความหงุดหงิดที่มันเป็นตัวซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับเรา นอกจากไม่รู้ว่ามีความทุกข์ใจแล้ว แม้กระทั่งทุกข์กาย บางทีก็แยกแยะไม่ออกว่ามันทุกข์แบบไหน สับสน บอกไม่ถูกว่าเป็นความทุกข์แบบไหน
อย่างพวกที่เป็นแพทย์ที่เขาเรียกว่าเรสซิเด้นท์ (Resident) ที่เรียกว่าแพทย์ประจำบ้าน เป็นแพทย์ที่จะไปเรียนเฉพาะทาง พวกนี้ต้องอยู่ดูแลผู้ป่วยแทนเจ้าของไข้ เจ้าของไข้นี้เป็นอาจารย์แพทย์ หมอเรสซิเด้นท์ก็ต้องไปดูแล แล้วก็ดูแลหลายเตียง ทำงานหนักมาก บางทีต้องเข้าเวรดึกหลายคืนติดต่อกัน ไม่ได้นอน อาจจะได้งีบสักพัก พยาบาลก็มาเรียกเพราะคนไข้มีอาการหนัก หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันตก
บางครั้งแพทย์เรสซิเด้นท์ดูแลคนไข้ตั้งแต่เช้า ถึงกลางคืนไม่ได้นอนเลย 36 ชั่วโมงทำแต่งาน นอนได้แค่แว่บเดียว ก็มีหลายคนพอเข้าเวรดึกหลังจากที่ดูแลคนไข้ แล้วก็มั่นใจว่าไม่มีอะไร พอใกล้จะออกเวร ด้วยความที่ไม่ได้หลับมาตลอด 24 หรือ 30 ชั่วโมง ก็ย่อมเพลีย ย่อมล้า ย่อมง่วง แต่พอเลิกเวรเสร็จ แห่งแรกที่ไปไม่ใช่ไปหอพัก แต่ว่าไปซื้อของกิน เข้าโรงอาหาร ไปหาของกินเพราะคิดว่าหิว
เขาคิดว่าความทุกข์กายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะหิว หรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นคือความหิว แต่ที่จริงมันคือความล้า ความง่วง ความเพลีย เพราะไม่ได้หลับเลย ถ้าแยกแยะออกว่าที่ทุกข์นี้มันเป็นเพราะว่าง่วง เพราะเพลีย เพราะล้า เขาคงจะตรงไปที่หอพักเพื่อนอนให้เต็มที่ แต่เปล่าเขาไปหาของกิน เพราะคิดว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นคือความหิว
มันต่างกันระหว่างความหิวกับความง่วง ความเพลีย ความล้า แต่บางคนแยกไม่ออก อาจจะเป็นเพราะว่าพอทำงานมาก ๆ มันเครียด มันไม่ใช่ล้า แต่มันเครียด พอเครียดแล้วก็อยากจะดับความเครียดด้วยการหาอะไรกินโดยเฉพาะของหวาน ๆ พวกนี้พอทำเป็นนิสัยก็ปรากฏว่าอ้วน น้ำหนักขึ้น แต่ก็นอนไม่พอ มีปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น ความดัน สมองแย่
ขนาดทุกข์กาย ยังแยกไม่ออกเลยว่า หิวกับความง่วง ความล้า ความเพลีย มันต่างกันอย่างไร นับประสาอะไรกับความทุกข์ใจ หรือว่าเวลามีอารมณ์ที่มันเป็นเหตุให้รู้สึกทุกข์ บางทีก็ไม่รู้
มีคนหนึ่งทำร้ายเมียเกือบตาย ดีที่ตำรวจมาช่วยทัน ติดคุก ตอนที่อยู่ในคุกนี้ เขาก็มีการสอนสมาธิ เจริญสติให้กับนักโทษ นักโทษคนนี้แกก็บอกกับอาจารย์สอนสมาธิว่า “ผมไม่มีความโกรธเลย” ที่แกพูดอย่างนี้เพราะอาจารย์บอกว่า “โกรธ ก็ให้รู้ว่าโกรธ” แต่แกก็เถียงอาจารย์ว่า “ผมไม่มีความโกรธเลย”
พูดได้ยังไงว่าไม่มีความโกรธ ก็ทำร้ายเมียจนเกือบตายเป็นเหตุให้ต้องเข้าคุก ความโกรธเกิดขึ้นรุนแรงขนาดนี้ยังไม่รู้เลย หรืออาจจะไม่ยอมรับก็ได้ แล้วคงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงที่ความโกรธที่เป็นเหตุให้ทำร้ายเมีย ก่อนหน้านั้นก็คงโกรธ ทำตามความโกรธครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่รู้ตัวเองว่าโกรธ แล้วไม่ยอมรับ
ความโกรธนี้มันทำให้ทุกข์ใจ ร้อนรุ่ม การที่ไม่เห็น หรือไม่ยอมรับ หรือไม่รู้ว่าตัวเองโกรธนี้ ก็แสดงว่าไม่รู้ว่าตัวเองมีความทุกข์ใจเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความโกรธ บางทีความกลัวก็ไม่รู้
มีผู้หญิงคนหนึ่งไปเป็นอาสาสมัคร อาจารย์นักวิจัยต้องการทดสอบความเป็นไปหรือการทำงานของสมองเวลาคนมีความกลัว ก็ให้อาสาสมัครรวมทั้งผู้หญิงคนนี้ ดูวิดีโอที่มันมีภาพที่น่ากลัว ภาพคนประสบอุบัติเหตุรถยนต์ เจอภัยแผ่นดินไหว หรือว่าคนที่ถูกระเบิด
ภาพแต่ละภาพก็น่ากลัว แต่เพื่อความปลอดภัย เขาก็มีการตรวจว่าอาสาสมัครมีความดันขึ้นไหม หัวใจเต้นเป็นอย่างไร ใครที่ความดันสูงพุ่งพรวด หัวใจเต้นเร็ว เขาก็จะหยุดเพราะว่าแสดงว่าอาสาสมัครคนนั้นกำลังกลัว
ผู้หญิงคนนี้ก็เหมือนกัน พอได้ดูภาพสักหน่อย แกก็หัวใจเต้นเร็ว ความดันขึ้น นักวิจัยก็เลยบอกให้หยุดเลย ไปต่อไม่ได้ ผู้หญิงคนนั้นงงเลย “หยุดทำไม ฉันปกติ” ร่างกายมันฟ้องว่ากลัว ทั้งความดัน ทั้งหัวใจ ทั้งชีพจร แต่เขาไม่รู้ว่าตัวเองกลัว
เพราะฉะนั้นก็ธรรมดาที่คนเราเวลามีความทุกข์ใจ หงุดหงิด ขุ่นมัว โวยวาย ตีโพยตีพายเพราะเจออากาศร้อน แต่ไม่รู้ ไม่รู้ว่าใจกำลังเป็นทุกข์ สำหรับนักปฏิบัติธรรม เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาฝึก ฝึกดูใจ เห็นใจที่มันบ่นโวยวายตีโพยตีพาย ใจที่มันหงุดหงิด แค่เห็นนี้มันก็ช่วยได้เยอะ พอใจมันถูกเห็น เสียงบ่นโวยวายมันก็จะสงบ ที่เคยหงุดหงิดก็เป็นปกติ มันก็ช่วยทำให้ทุกข์ใจลดลง มันก็จะเหลือแต่ความทุกข์กายเพราะอากาศร้อน
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้คิดที่จะคลายร้อนด้วยวิธีนี้ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นโอกาสดีในการที่เราจะได้มาฝึกสติ ทำความรู้สึกตัว จริงๆ อยากจะพูดว่าถ้าหากเรามีความรู้สึกตัว อากาศร้อนแบบนี้ เราก็จะไม่ทุกข์มาก
วิธีที่จะช่วยคลายร้อน คลายความทุกข์ก็คือ กลับมารู้สึกตัว รู้เนื้อรู้ตัว เพราะถ้าเราเกิดหลง ปล่อยใจให้จมอยู่ในความหงุดหงิด มันยิ่งซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง แต่ถ้าเราฝึก ฝึกดูใจให้กลับมารู้สึกตัว กลับมารู้เนื้อรู้ตัว มันได้ 2 อย่าง ความทุกข์ก็ลดลง แล้วก็ได้สติ ได้ความรู้สึกตัวเพิ่มขึ้น
ที่จริงเราอาจจะลองสังเกตอีกสักหน่อยก็ได้ เวลาเจออากาศร้อนๆ นอกจากใจมันจะรู้สึกหงุดหงิดโวยวายตีโพยตีพายแล้ว มันยังมีความอยากอย่างหนึ่ง คืออยากหนีทุกข์ อยากหนีทุกข์ อยากหนีความร้อน เราลองสังเกตใจของเรา มันจะเห็นตรงนี้ แล้วคนที่ไม่เห็น มันก็คิดแต่จะอยากหนีทุกข์ พอหนีทุกข์ไม่ได้คือหนีความร้อนไม่ได้ มันก็จะหงุดหงิดหัวเสีย
สิ่งที่มันช่วยเราได้คือ ยอมรับ แทนที่จะหนีทุกข์ ปฏิเสธความทุกข์ ยอมรับมันซะ ยอมรับว่า เออ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ ยอมรับความร้อนที่เกิดขึ้น แต่ลองสังเกตดูมันจะมีบางส่วนในใจที่ไม่ยอมรับ การบ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย หงุดหงิด หัวเสีย ขุ่นมัว เพราะอากาศร้อน มันคือการที่ใจไม่ยอมรับ มันจึงพยายามที่จะหนีความทุกข์
แต่พอหนีไม่ได้ เพราะว่าที่ไหนๆ ก็ร้อน มันก็จะยิ่งหงุดหงิด ถึงแม้เราจะไม่มีสติเห็นความหงุดหงิด เห็นหรือรับรู้เสียงที่บ่นในหัว แต่เพียงแค่เรายอมรับมัน ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ว่า เออ ที่ไหนๆ ก็ร้อนทั้งนั้นแหละ หน้านี้มันก็ร้อน ยังดีที่ไม่ร้อนไปกว่านี้ โน่นที่ตากหนักกว่านี้ หรือเชียงใหม่เจอฝุ่นเข้าไปด้วย ที่ยังดีกว่าเยอะ พอคิดแบบนี้เข้า มันก็ยอมรับได้
อันนี้เป็นโอกาสดีสำหรับนักปฏิบัติที่เราจะได้มาฝึกดูใจ หรือดีกว่านั้นคือฝึกดูเวทนา แต่ก่อนที่จะฝึกดูเวทนา คือเห็นความร้อน เห็นมันร้อน แต่ใจไม่ร้อน ก็ให้มาดูจิตก่อน เห็นความหงุดหงิด เห็นมันบ่น เห็นมันโวยวายตีโพยตีพาย
หลวงพ่อคำเขียนท่านย้ำนักย้ำหนาว่า “นักภาวนาต้องเป็นนักฉวยโอกาส” ร้อนๆ แบบนี้คือโอกาสดีที่เราจะได้ฝึก ฝึกสติ ฝึกทำความรู้สึกตัว มันได้ฝึกทั้งวันเลย เช้าสายบ่ายเย็นค่ำ ไม่ต้องไปหาเครื่องฝึกที่ไหน ไม่ต้องไปเข้าคอร์สที่ไหน ก็ฝึกจากความร้อนที่มันเกิดขึ้นกับเราแหละ
ฝึกเห็นความหงุดหงิด เห็นใจที่มันบ่นโวยวายตีโพยตีพาย หรือฝึกใจยอมรับ ไม่ผลักไส ไม่คิดหนีความทุกข์หรือความร้อน หรือถ้าจะดับร้อนก็อย่าคิดแต่การดับร้อนกาย การดับความร้อนทางกายนี้มันก็เป็นเรื่องที่ธรรมดา ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ก็อย่าคิดแต่เรื่องการดับความร้อนที่กาย ให้เห็นความร้อนที่ใจด้วย ให้เห็นความทุกข์ที่ใจด้วย ต้องเติมส่วนนี้เข้าไป
คนส่วนใหญ่คิดแต่จะดับร้อนทางกายแต่ไม่คิดที่จะเห็นความร้อนที่ใจ ถ้าเห็นความร้อนที่ใจ มันก็ทำให้ใจนี้เป็นปกติได้ แต่ถ้าพยายามดับร้อนที่กาย แต่ว่าไม่สนใจดับร้อนที่ใจ ก็อาจจะยิ่งหงุดหงิดเข้าไปใหญ่เมื่อดับร้อนที่กายไม่สำเร็จสักที หรือหนีร้อนยังไงก็หนีไม่พ้น ยิ่งหงุดหงิด หงุดหงิดก็ไม่เป็นไร ถ้าเห็นมัน
มันมาให้เราเห็น มาให้เราฝึก อย่าปล่อยให้มันมาเพื่อซ้ำเติมเรา นิสัยนักปฏิบัติธรรมก็คืออันนี้ ฉวยโอกาสจากทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรืออะไรที่เจอะเจอ เวลาพูดถึงการปฏิบัติ เช่น การเจริญสติหรือการสร้างความรู้สึกตัว มันก็ทำได้จากการฝึกปฏิบัติคือ ฝึกทำอย่างมีสติ ไม่ว่าจะทำในรูปแบบ เช่น เดินจงกรม สร้างจังหวะ หรือว่าอาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ทำอะไรก็ทำอย่างมีสติ ทำด้วยความรู้สึกตัว นั่นก็อันหนึ่ง
แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ การฝึกกับการที่ได้เจออะไรก็ตาม ฝึกสติด้วยการทำคือทำอย่างมีสติ ดีแล้ว แต่ว่าต้องไม่มองข้ามการฝึกสติเมื่อต้องเจอะเจออะไรก็ตาม โดยเฉพาะที่มันไม่ค่อยอยากจะปรารถนาเท่าไหร่ เช่น ความร้อน ความหนาว เจอเสียงดัง เสียงต่อว่าด่าทอ อะไรก็ตามที่เราเจอะเจอ ก็เอามาใช้ในการฝึกสติได้ แล้วมันไม่ใช่แค่ช่วยทำให้สติเราดีขึ้น แต่ยังช่วยดับทุกข์ใจให้กับเราด้วย
เพราะถ้าเราเจออะไรก็ตาม แล้วเราไม่มีสติ หรือไม่ใช้สติในการรับมือ เราก็จะทุกข์ เพราะความโกรธ ความขุ่นมัวที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะมองในแง่ของการฝึกสติเพราะเป็นทั้งปฏิบัติ หรือในแง่ของการดับทุกข์ บรรเทาทุกข์ตามประสาปุถุชน
การมีสติในการรับมือกับทุกอย่างที่เราเจอะเจอก็สำคัญ การเจริญสติมันก็อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านบอก “เห็นกายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก” ถ้าจะขยายความต่อไปได้อีกก็คือว่า “เห็นกายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ เห็นจิตคิดนึกเมื่อเจอะเจอ”
เจอะอะไรก็ตาม เช่น เจอความร้อน มันคิด มันนึก มันรู้สึกอย่างไร ก็เห็นมัน แค่เห็นก็ช่วยได้เยอะแล้ว เห็นความหงุดหงิด เห็นความขุ่นมัว เห็นความสุข เห็นความโศกความเศร้า หรือแม้กระทั่งเห็นความดีใจ
สงกรานต์หลายคนก็ได้สนุกสนาน ดีใจหรือรู้สึกสนุกก็ควรจะเห็นมัน เห็นความดีใจ เห็นความเพลิดเพลิน อันนี้ก็ควรจะเห็นด้วย เห็นแล้วก็อย่าได้ไปติดมัน เจอความเพลิดเพลินก็เห็นใจที่มันเพลิน จะได้ไม่ไปติดกับความเพลิดเพลิน เจอความร้อนก็เห็นใจที่หงุดหงิด จิตจะได้ไม่ไปผลักไสความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ เพราะยิ่งผลักไสก็ยิ่งเท่ากับเพิ่มทุกข์ให้กับใจ
เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะมัวบ่นโวยวายตีโพยตีพายกับความร้อน อย่างนี้เรียกว่าขาดทุน หลวงพ่อคำเขียนท่านก็คงจะพูดว่า “ทุกข์ฟรี ๆ” อย่าทุกข์ฟรี ในเมื่ออากาศร้อน กายมันร้อนแล้วคือกายทุกข์ ก็อย่าทุกข์ฟรี ๆ ให้มาเรียนรู้จากความทุกข์ด้วยการเห็น เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้น
หรือถ้ายังเห็นไม่ถนัด ก็เห็นปฏิกิริยาของใจเมื่อเจอความทุกข์ เห็นความทุกข์โดยเฉพาะทุกข์กาย เรียกว่าเห็นเวทนา ซึ่งยากส่วนใหญ่พอเห็นความปวดก็เป็นผู้ปวดเลย แต่ว่าเห็นปฏิกิริยาของใจเมื่อเจอความปวด เห็นปฏิกิริยาของใจเมื่อเจอความร้อน อันนี้ทำได้ง่ายกว่า เพราะว่ามันจะมีเสียงบ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย มีความหงุดหงิด
แค่เห็นนี้ก็ถือว่าได้ปฏิบัติแล้ว แต่ต้องเห็น ไม่ใช่เข้าไปเป็น ไม่ผลักไส หรือไหลตาม แล้วคือโอกาสดีของการปฏิบัติ เจอความร้อน ก็ฝึกสติกับความร้อนแหละ และแน่นอนถ้าทำอะไรก็ให้มีสติกับการทำสิ่งนั้น ฝึกสติกับการทำ และการได้เจอะเจอกับอะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา.