พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมหลังวัตรเย็น ค่ายสามเณรและศีลจาริณี วัดป่าสุคะโต วันที่ 12 เมษายน 2567
วันนี้กิจกรรมสำคัญของวัดป่าสุคะโตก็คือ ค่ายสามเณรศีลจาริณีภาคฤดูร้อนก็สิ้นสุด สำหรับหลายคนก็รู้สึกว่าความสงบได้กลับคืนมา แต่สำหรับอีกหลายคนก็รู้สึกว่าได้ทำภารกิจที่สำคัญเสร็จสิ้น ก็รู้สึกโล่งเบา ส่วนใหญ่ก็ได้แก่พี่เลี้ยง ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่มีส่วนสำคัญมากในงานนี้ แล้วก็จะเรียกว่าเหนื่อยที่สุดก็ได้
เพราะว่าต้องดูแลรับผิดชอบเด็กกว่า 60 ชีวิต เป็นการดูแลแบบ 24 ชั่วโมงเลย อาจจะเบาหน่อยก็ช่วงกลางคืน แต่ก็วางใจไม่ได้เพราะว่าบางทีเด็กก็ป่วย อาการก็กำเริบตอนกลางคืนก็เป็นภาระของพี่เลี้ยงที่จะต้องจัดการช่วยเหลือ มันเป็นภาระหนักที่แม้แต่ครูของเด็กเหล่านี้ก็คงไม่ได้ทำมากขนาดนี้เพราะว่าคนที่เป็นครูส่วนใหญ่ก็ดูแลเด็กเฉพาะกลางวัน กลางวันที่ว่านี้ก็คือตั้งแต่เช้าจนถึง 4 โมงเย็น พอเด็กกลับบ้านออกจากโรงเรียนไป ก็เหมือนกับพ้นภาระความรับผิดชอบของครู
แต่ว่าพี่เลี้ยงค่ายสามเณรศีลจาริณีไม่ใช่อย่างนั้น ก็เรียกว่าต้องดูแลใกล้ชิดเกือบ 24 ชั่วโมง แม้ว่าจะได้พักบ้างก็ช่วงกลางคืน สำหรับหลายคนก็เป็นภาระที่หนักทีเดียว แม้ว่าจะไม่ได้นานเป็นปีเหมือนครู แต่ช่วง 3 อาทิตย์นี้ก็ถือว่าหนักมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ถือว่าคุ้ม เพราะว่า เชื่อว่าสามเณรแล้วก็ศิลาจาริณีจะได้อะไรหลายอย่าง สิ่งที่ได้ อันที่เด่นชัดก็คงเป็นความประทับใจ
ความประทับใจที่จะประทับอยู่ในใจของเด็กส่วนหนึ่งก็คือ ความยากลำบาก คนเราถ้าพูดถึงความสุขแล้วนี่แม้บางอย่างจะประทับใจก็จริง แต่ว่าที่จะประทับใจมากกว่า ที่ชวนให้ระลึกนึกถึงอยู่ หนึ่งก็คือ ความยากลำบาก โดยเฉพาะความยากลำบากที่ผ่านมาได้ด้วยดี เด็กจะประทับใจมาก ซึ่งมันจะช่วยทำให้เด็กเขาเกิดความภาคภูมิใจว่า เออ ฉันก็ผ่านความยากลำบากแบบนี้มาได้
จริง ๆ แล้วความภาคภูมิใจ มันไม่ค่อยเกิดขึ้นจากความสุข อะไรที่ทำได้ง่าย ๆ หรือว่าความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน มันไม่ค่อยทำให้คนเราเกิดความภาคภูมิใจได้เท่ากับการที่ได้เจอความยากลำบากและผ่านมาได้ แม้ว่าตอนนั้นจะรู้สึกเป็นทุกข์เจ็บปวด แต่ว่าพอเวลาผ่านไป อาจจะนานเป็นปีหรือหลายปี เด็กเหล่านี้เมื่อโตขึ้น เวลาย้อนกลับมามองชีวิตในค่ายสามเณรศีลจาริณี เขาจะไม่ได้นึกถึงแต่ความสนุกอย่างเดียว แต่นึกถึงความยากลำบากที่ตอนนั้นอาจจะบ่นโวยวายตีโพยตีพาย พอนึกถึงในเวลาต่อมากลับกลายเป็นเรื่องสนุก
สมัยที่อาตมาเป็นเด็กวัยรุ่น อายุประมาณ 15 - 16 ไปเข้าค่าย เรียกว่าค่ายอาสาพัฒนา ของโรงเรียน เป็นค่ายระดับโรงเรียนแห่งเดียวในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่เป็นค่ายของนิสิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ว่าค่ายอาสาพัฒนาที่ไปสร้างโรงเรียนอะไรแบบนี้ ถ้าเป็นระดับนักเรียนก็มีแต่อัสสัมชัญ
ปีแรกที่ได้ไปเข้าค่าย ที่แถวสีชมพู ขอนแก่น อากาศร้อนมาก ความรู้สึกที่จำได้คือความร้อน ถ้าได้กินน้ำแข็งมีความสุขมากเลย ดินก็แข็งเวลาขุด ส้วมนี่ลำบากมาก และกันดาร น้ำที่ใช้กินมันเป็นน้ำจากบ่อในนา ในทุ่งนาก็จะขุดบ่อแล้วก็มีน้ำที่เขาตักมา ใช้ดื่ม ไม่ได้ใช้ทำความสะอาดแต่ใช้ดื่ม เป็นน้ำขุ่น ๆ ขาว ๆ เหมือนกับเติมนมลงไปในน้ำใส หรือเหมือนกับเวลาเรากินนมแล้ว แก้วเดิมนั้นเราก็เติมน้ำลงไป น้ำก็จะขุ่น ๆ ขาว ๆ เราก็กินน้ำอย่างนั้น
เวลาจะไปอาบน้ำนี่ก็ต้องไป เดินไปเป็นกิโลฯ เพื่อไปอาบน้ำจากบ่อ อาหารการกินก็ลำบาก อาหารทุกมื้อก็คือวิญญาณหมู วิญญาณไก่ ลำบาก แล้วก็มีการแก่งแย่งของกินกันเพราะว่ามันกันดาร 3 อาทิตย์พอ ๆ กับค่ายเณร แต่ว่าหลังจากที่ผ่านไปหลายปีเวลาเจอเพื่อนที่ร่วมค่ายนี่ สิ่งแรก ๆ ที่เราจะพูดกันก็คือความยากลำบากในค่าย เราพูดไปก็หัวเราะไป พูดไปก็สนุกสนานไป ผ่านมาเป็น 30 - 40 ปี เวลาเจอกันแล้วก็ย้อนระลึกถึงชีวิตในค่ายก็จะนึกถึงแต่ความยากลำบาก
ความยากลำบาก มันก็หล่อหลอมคนให้เกิดความรักความสามัคคี ถึงแม้ตอนนั้นมันจะทะเลาะกันเพื่อเอาตัวรอด เพื่อเอาความสบายไว้ก่อน แต่พอผ่านไป ความยากลำบากมันก็เหมือนกับความร้อนที่มันหลอมเหล็กให้เชื่อม ละลายเป็นผืนเดียวกัน เขาเชื่อว่าเด็กเหล่านี้ในค่ายสามเณรศีลจาริณีเมื่อโตขึ้นแล้วเขาจะนึกถึงความยากลำบาก แล้วก็จะพูดด้วยความภาคภูมิใจ พูดด้วยความสนุก
มันคงคล้าย ๆ กับนักเรียนที่ตอนเรียนหนังสือเจอครูดุ ชีวิตที่ลำบาก ถูกครูตี ทำผิดก็ถูกครูตี มาสายก็ถูกครูตี หลายคนก็แอบนินทาครู หรือไม่ก็ตั้งสมญานามให้ครูสารพัด ไม่ชอบครูเลย แต่พอโตขึ้นเวลาพูดถึงชีวิตในวัยเรียน ในโรงเรียน ก็ยังนึกถึงความยากลำบากนี่แหละ ถูกครูตีบ้าง ถูกครูกล้อนผมบ้าง เป็นการพูดแบบสนุก เพราะว่าได้เรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น แม้กระทั่งครูที่ดุ ๆ พอผ่านไปก็เกิดความรู้สึกสำนึกในบุญคุณของครู อายุจนป่านนี้แล้วก็ยังไปเยี่ยมครู อายุเกือบ 60 - 70 แล้วก็ยังมาเยี่ยมครูเก่า ๆ ซึ่งอายุก็ 90 เกือบร้อยแล้ว
ครูบางคนตอนเป็นนักเรียนบางทีก็เรียก ไอ้ เพราะโกรธมาก แต่พอเราโตขึ้น เราก็นึกถึงครูเหล่านั้นด้วยความประทับใจ ก็ไม่รู้ว่าเด็กสมัยนี้จะมีความรู้สึกแบบนั้นกับครูในวัยเรียนหรือเปล่า แต่อย่างน้อยมันก็ชี้ให้เห็นว่า คนเราเวลาเจอความยากลำบาก แม้ตอนนั้นจะรู้สึกแย่ โกรธ โมโห ไม่พอใจ ท้อแท้ แต่พอเวลาผ่านไปแล้วมันไม่มีอะไรที่จะชวนให้นึกถึงด้วยความประทับใจ ด้วยความภาคภูมิใจ หรือด้วยความรู้สึกสนุก เท่ากับช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้เพราะลำบากด้วยกัน
คนเราสามารถจะเรียนรู้จากความยากลำบากหรือความล้มเหลวได้มากกว่าความสำเร็จ เป็นเพราะว่าตอนเด็ก ๆ เราล้มบ่อย ๆ เราล้มบ่อย ๆ เราจึงเดินเป็น ฉะนั้นเด็กที่พ่อแม่ประคบประหงมไม่ให้ล้มเลย คอยอุ้มคอยจับ เด็กคนนั้นจะเดินไม่เป็น เมื่อล้มก็ไม่รู้วิธีที่จะลุกขึ้นมา ถ้าเราไม่เรียนรู้จากการล้มเราก็ลุกไม่เป็น แล้วก็เดินไม่เก่ง ไม่คล่อง ถ้าเราทำการบ้านไม่ผิดเลยเพราะการบ้านมันง่าย เราก็ไม่ได้ความรู้ ไม่ได้ประสบการณ์
เพราะฉะนั้นความยากลำบาก ก็คือสิ่งที่จะช่วยสร้างความ เรียกว่าเติมเต็มดีกว่า หรือสร้างความอดทน สร้างความแข็งแกร่งทางด้านบุคลิกนิสัย แล้วก็สามารถจะเป็น จะให้ความรู้สึกดี ๆ ที่ชวนให้ระลึกถึง ดีกว่าการไปกิน ดื่ม เที่ยว เล่น ไปกินที่ไหน ไปดื่มอะไร ไปเที่ยวอะไร แม้ว่าจะเพลิดเพลิน สนุก มีความสุข แต่มันก็อยู่ได้ไม่นาน มันไม่สามารถสร้างภาพประทับได้เท่ากับความทุกข์ ความลำบาก ถ้าหากว่าเราผ่านมาได้ด้วยดี
ทีนี้นอกจากความประทับใจที่คิดว่าเด็ก ๆ จะได้แล้ว สิ่งหนึ่งก็คือการที่ได้พัฒนาทุกส่วน เรียกว่าอย่างครบองค์รวมของชีวิต เพราะว่าที่โรงเรียนส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้เขาก็สอนแต่เรื่องความรู้ สนใจแต่เรื่องหัวคิด หรือหัวสมอง พัฒนาแต่ตรงนั้นแหละ พัฒนาเรื่องสมองเรื่องการคิดเรื่องความรู้ ยัดข้อมูลเข้าไป แต่ว่าสิ่งที่ขาดไปคือเรื่องของการพัฒนาด้านจิตใจ ด้านอารมณ์ รวมทั้งด้านร่างกายด้วย
ค่ายเณรนี้จะว่าไป มันก็เป็นการช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งในบ้านของเด็ก เพราะว่าเดี๋ยวนี้เด็กก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร ยิ่งถ้ามีพ่อแม่ที่ประคบประหงมมากเขาจะให้เด็กเอาแต่เรียน แต่ว่าเด็กไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้ใช้มือ ไม่ได้ใช้ทักษะ ไม่ได้ใช้ได้พัฒนาร่างกาย แถมเดี๋ยวนี้มีโทรศัพท์มือถือ มีอุปกรณ์แบบนี้ก็เด็กก็วันทั้งวันก็ขลุกอยู่กับโทรศัพท์มือถือ กับเกม ออนไลน์บ้าง ก็ไม่ได้ออกไปกลางแจ้ง ไม่ได้ใช้เรี่ยวใช้แรง
พูดง่าย ๆ คือไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ใช้มือใช้ไม้ ไม่ได้ใช้ไม่ได้พัฒนาทักษะ อย่างที่เรียกว่าอะไร 3H Head Hand Heart หัวคิด หัวใจ แล้วก็มือ หรือพูดรวม ๆ คือร่างกาย ฉะนั้นการทำค่ายเณรก็พยายามที่จะพัฒนา หรือว่าเอาทุกส่วน องคาพยพของชีวิตเด็กแต่ละคน พัฒนาให้เป็นองค์รวม อันนี้คือสิ่งที่มันขาดหายไปในโรงเรียน แล้วก็ในครอบครัว ไม่ว่าในการศึกษาหรือการเลี้ยงดูของเด็ก
ฉะนั้นเด็กอยากเล่น อยากมีประสบการณ์กับของจริง อยากได้ออกไปสู่โลกภายนอกแม้ว่าจะติดสบาย แต่ว่าพอได้ออกไปแล้ว มันก็เกิดความติดใจขึ้นมา แต่บางทีพ่อแม่ก็เป็นห่วงไม่อยากให้ลูกลำบาก อยากให้ลูกอยู่แต่ในห้องแล้วก็อ่านหนังสือ หรือว่าเล่นคอมฯ ดูแท็บเล็ต อันนี้มันมีแต่พัฒนาด้านหัว หัวคิด แต่ว่าด้านอารมณ์ รวมทั้งการที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตขาดหายไป อันนี้รวมถึงการได้ใช้แรงงานหรือแรงกาย ได้ใช้มือใช้ไม้ รวมทั้งการที่สัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข อย่างราบรื่น ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน
สมัยก่อนก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำกิจกรรมให้กับสามเณรและศีลจาริณีในลักษณะนี้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องยาก เพราะว่าเด็กถูกหล่อหลอมถูกฝึกมาให้อยู่ ให้ใช้แต่หัว หรือว่าให้เรียนรู้จากหนังสือ จากตำรา แต่ว่าไม่ได้เรียนรู้จักประสบการณ์จริง แถมยังติดสบายอีก ยิ่งเพลินหรือรู้จักแต่ความสุขที่เกิดจากการกิน ดื่ม เที่ยว เล่น ช็อป จะเอาให้เด็กนี่ออกมาเดินป่า มาเรียนรู้จากของจริงนี่เป็นเรื่องยาก เพราะว่าแค่เจอแดดก็บ่นกันแล้ว
แต่ก็ต้องชมพี่เลี้ยงที่พยายามที่จะออกอุบายต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กได้ออกมาเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านี้ และที่จริงแล้วสิ่งที่พี่เลี้ยงทำมันไม่ได้เป็นประโยชน์แต่เฉพาะเด็กหรือว่าผู้ปกครอง แต่จริง ๆ ก็สามารถจะเป็นประโยชน์กับพี่เลี้ยงเองได้ด้วย นั่นคือการที่ได้เรียนรู้จากเด็กเหล่านี้
เด็ก เขาก็มีความสามารถ หลายอย่างที่เราเรียนรู้จากเขาได้ แม้เราจะเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ว่าเด็กจะต้องเรียนจากผู้ใหญ่อย่างเดียว ผู้ใหญ่ก็เรียนจากเด็กได้ เด็กเขาก็มีความสามารถ อยู่ที่ว่าเราจะมองเป็นหรือเปล่า เช่นเดียวกับที่เราสามารถจะเรียนรู้จากสัตว์ สัตว์เขาก็สอนทำให้กับเราได้ เด็กยิ่งแล้วใหญ่ เขาสามารถที่จะสอนอะไรผู้ใหญ่ได้มากมาย
ตอนเดินธรรมยาตรา เด็กเขามีวิธีการน่าสนใจหลายอย่างในการที่จะเดินอย่างไรไม่ให้ใจเป็นทุกข์มาก อย่างเด็กบางคนมาวันแรกงอแง มันร้อน เดินเหนื่อย ไม่เคยเดินอย่างนี้มาก่อน เด็ก 10 ขวบ 9 ขวบ พ่อแม่พามา แต่พอเดินไปได้ 2-3 วัน เขารู้วิธี ถามว่า เดินเหนื่อยไหมวันนี้ ไม่ค่อยเหนื่อยแล้วล่ะ ทำยังไงล่ะ ดูขาคนข้างหน้า
การที่ดูขาคนข้างหน้าคือการมีสมาธิกับขาของคนข้างหน้านั่นเอง เอาใจไปจดจ่ออยู่กับขาคนที่เดินข้างหน้า ใจมันก็ไม่ไปจดจ่อกับความเหนื่อย ความร้อน ใจมันก็ไม่มามัวแต่บ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย เด็กเขาอาจจะอธิบายไม่ได้นะว่าทำไมการที่ไปมองขา หรือไปจดจ้องขาของคนจะเดินข้างหน้า มันทำให้เหนื่อยน้อยลง แต่ว่ามันก็เกิดจากการคิดค้นของเขา เขาอาจจะไม่รู้ว่าการที่ใจมีสมาธิกับเท้าของคนข้างหน้า หรือขาของคนข้างหน้ามันทำให้ความทุกข์ใจมีน้อย เหลือแต่ความทุกข์กาย
ความทุกข์ทั้งหมดถ้ามันเหลือแต่ความทุกข์กายนี่มันเบาไปเยอะเลย ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ใจมันหายทุกข์ ซึ่งสำหรับเด็กคือการไปจดจ่อที่เท้าของคนข้างหน้า แล้วเด็กเขาก็ไม่ต้องฝึกอะไรมาก ความทุกข์มันสอนให้เขามีสมาธิกับเท้าของคนข้างหน้า หรือมีสมาธิกับขาของคนข้างหน้าเอง บางทีผู้ใหญ่กับทำยากเพราะว่ามีเหตุมีผลต่าง ๆ มากมายที่จะทำให้ใจไม่มีสมาธิ กับการไปจดจ่อใส่ใจกับขาของคนข้างหน้า หรือว่าแม้กระทั่งกับลมหายใจ เพราะมันจะมีเหตุมีผล บางทีก็บ่นว่าไม่ถูกเลย ทำไมเดินไกลแบบนี้ เดินวันละ 5 กิโลฯ ก็พอ ไม่ถูกต้องเลย มันจะมีเหตุผล มันจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำให้ใจนี้ไม่มีสมาธิกับการอยู่กับลมหายใจ หรืออยู่กับขาของคนข้างหน้า
ยิ่งผู้เป็นผู้ใหญ่มากก็ยิ่งมีความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์มาก อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า อย่าเอาถูกเอาผิด อย่าเอาเหตุเอาผล เพราะถ้าเอาเหตุเอาผล เอาถูกเอาผิดแล้ว มันก็จะยากที่ใจจะสงบหรือเป็นสมาธิได้
และที่จริงแล้วสิ่งที่เป็นเรื่องยากสำหรับพี่เลี้ยงอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ทำอย่างไรจะให้เด็กเขาไม่ไปมัวหวนคิดถึงความสุขความสบายที่บ้าน หรือที่กรุงเทพฯ ซึ่งที่จริงก็เป็นความสุขจากการเสพนั่นเอง สุขจากการกิน การดื่ม การเที่ยว การเล่น การช็อป อันนี้มันเป็นความสุขที่คนสมัยนี้โดยเฉพาะเด็ก แล้วก็ผู้ใหญ่ด้วยรู้จักอย่างเดียวเลย การที่จะให้เด็กไม่ไปคิดถึงความสุขเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดความความสุขกับการเป็นนักบวช ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาทางทำให้เด็กเขามีความสุข ความพอใจกับการเป็นสามเณร เป็นศีลจาริณี หรือมีความสุข มีความพอใจกับชีวิตนักบวชที่ห่างไกลจากการการเสพ
แต่ถ้าทำได้มันก็สามารถที่จะสอนตัวเองได้ด้วย เพราะบางทีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นนักบวชหลายคนก็ไม่ค่อยมีความสุขกับการเป็นนักบวชเท่าไหร่ ยังหวนคิดติดใจกับความสุขจากการเสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือการกิน การดื่ม การเที่ยว การเล่น การช็อป แต่ถ้าหากเรารู้วิธีที่จะทำให้เด็กเขามีความพอใจกับชีวิตนักบวช มันก็สามารถจะเอามาใช้กับตัวเองได้ ทำให้ตัวเองมีความพอใจกับชีวิตนักบวชด้วยเหมือนกัน ไม่ไปเพลิดเพลินกับ หรือไปหลงเสน่ห์ของการกิน การดื่ม การเที่ยว การเล่น การช็อป มากเกินไป ประโยชน์มันจะเกิดขึ้นกับพี่เลี้ยงเองด้วย ไม่ใช่เกิดขึ้นกับเด็ก
แล้วก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะเรียนรู้ด้วย ในเมื่อเราเป็นพี่เลี้ยงแล้ว นอกจากการมาเป็นประโยชน์ท่านแล้ว เราก็ควรจะได้รับประโยชน์ตนด้วย ประโยชน์ตนก็เกิดจากการที่ได้เห็น ได้เรียนรู้จากเด็กเหล่านี้ ให้เด็กเหล่านี้เป็นครูสอนเรา รวมทั้งประโยชน์ที่ได้จากการทำให้เด็กเขาเกิดความสุขกับการเป็นนักบวช หรือว่าไม่หลงใหลเพลิดเพลินกับการเสพ ไม่หลงใหลเพลิดเพลินกับความสุขจากการเสพ ถ้าทำได้มันก็มาใช้กับตัวเองได้เหมือนกัน
อันนี้มันก็ไม่ต่างจากการเทศน์การสอน การเทศน์การสอนมันไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังอย่างเดียว ผู้เทศน์ผู้สอนก็ได้ประโยชน์ด้วย อย่างน้อยมันก็ เวลาเราจะแนะนำหรือจะอธิบายธรรมะซึ่งเป็นเรื่องยาก ๆ ให้เขาเข้าใจง่าย พอเราคิดทบทวนที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจง่าย เราเองก็พลอยเข้าใจไปด้วย จะเข้าใจ อธิบายเขาเข้าใจเรื่องอนัตตา ทำอย่างไรจะให้เขาเข้าใจได้ พอเราใคร่ครวญเราก็ได้เข้าใจในเรื่องที่เราอยากจะสอนด้วย
การสอนการบรรยาย ถ้าเราจริงใจกับการสอนการบรรยายเราก็พลอยได้ประโยชน์จากเนื้อความที่เราสอน คือเข้าใจชัดเจนขึ้น ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็ไม่สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจได้ แล้วขณะเดียวกันถ้าเราต้องการให้เขามีความสนุกกับการเรียน เราก็ต้องมีความสุขกับการสอน
ครูที่ไม่มีความสุขหรือความสนุกกับการสอน มันก็ยากที่จะทำให้เด็กมีความสุข หรือสนุกกับการเรียน ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นประโยชน์ที่คนที่เป็นครูจะได้รับ ส่วนผู้สอนผู้บรรยายก็เหมือนกัน ยิ่งถ้าเกิดว่าจะแนะนำให้เขาทำอะไร ในเรื่องศีลเรื่องธรรมมันก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ตัวเองต้องทำสิ่งนั้นด้วย เพราะว่าถ้าหากว่าตัวเองไม่ทำ หรือทำไม่ได้ สิ่งที่พูดไปมันก็ไร้ประโยชน์
พ่อแม่ถ้าเกิดว่าสอนอะไรไป แต่ตัวเองทำไม่ได้อย่างที่สอนลูก มันก็ไม่ค่อยมีค่าเท่าไหร่ ดังนั้นการสอนใคร การแนะนำใคร ไม่ว่าจะเป็น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นพ่อแม่หรือเป็นครู มันก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้ตัวเองทำให้ได้อย่างที่พูด แนะนำเขาอย่างไรเราก็ควรจะทำได้อย่างนั้น อันนี้ก็เป็นประโยชน์ แนะนำให้เขาทำความเพียรเราก็ต้องทำให้เป็นตัวอย่างให้เขาเห็น ไม่ว่าเราคือครูหรือเป็นผู้ปกครองก็ตาม อันนี้ก็เป็นประโยชน์ที่ผู้สอน ผู้เป็นครูจะได้รับ
ในสมัยพุทธกาล มีพระบางท่านเทศน์ไป สอนไป ไม่ใช่แค่ทำให้ผู้อื่นตรัสรู้เท่านั้น ตัวท่านเองก็พลอยตรัสรู้ไปด้วย บรรลุธรรมขั้นสูงไปด้วย มีประเภทว่าสอนให้ผู้อื่นบรรลุธรรมแต่ตัวเองไม่บรรลุธรรม แต่ว่าก็มีบางท่านสอนไป ๆ ก็เกิดบรรลุธรรมในขณะที่กำลังสอน กำลังบรรยายนั้น
อันนี้เรียกว่าทำทั้งประโยชน์ท่านและประโยชน์ตน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราควรจะเข้าถึงให้ได้ เมื่อเราทำประโยชน์ท่านแล้ว ก็อย่าลืมเก็บเกี่ยวประโยชน์ตนให้เกิดขึ้นกับตนด้วย.