พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็น วันที่ 11 เมษายน 2567
กำแพงประกอบด้วยอิฐนับร้อยนับพันก้อน ความเป็นตัวเราก็เหมือนกัน ประกอบไปด้วยนิสัยน้อยใหญ่ที่เราทำในแต่ละวัน ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วมีมากนับเป็นร้อย นิสัยแต่ละอย่าง ๆ ที่เราทำวันหนึ่งนับร้อย แล้วทั้งหมดประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา ในด้านหนึ่ง นิสัยแต่ละอย่างสะท้อนความเป็นตัวเรา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวกำหนดความเป็นตัวเราด้วย
เราอาจจะไม่ได้คิดว่าวันหนึ่ง ๆ เราทำอะไรต่ออะไรมากมาย นิสัยที่เราได้ทำสม่ำเสมอทุกวัน ๆ โดยเฉพาะนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน รวมแล้วนับร้อย อาจจะหลายร้อยเลยทีเดียว ไม่ต่างจากอิฐแต่ละก้อน ๆ ที่พอก่อกันนับร้อยนับพันก้อนก็กลายเป็นกำแพง ความเป็นตัวเราก็เช่นเดียวกัน
นิสัยคืออะไร นิสัยคือสิ่งที่เราทำเป็นประจำ ไม่ใช่แค่ว่าทำอะไรอย่างเดียว แต่รวมถึงว่าทำที่ไหน ทำอย่างไร ทำเมื่อไร ทำแค่ไหน หรือทำกับใครด้วย
ลองพิจารณาดู เมื่อเราตื่นนอน ทันทีที่เรารู้สึกตัว เรานอนแช่อยู่สักพัก หรือว่าเราลุกขึ้นมาทันที นี่ก็เป็นนิสัยหนึ่งแล้ว หลายคนนอนแช่เกลือกกลิ้ง อาจจะ 5 นาที 10 นาที แล้วค่อยลุกขึ้นมา แต่บางคนพอรู้สึกตัวก็ลุกขึ้นมาเลย อันนี้ก็เป็นนิสัยหนึ่ง
พอลุกขึ้นนั่งแล้วทำอะไรต่อ บางคนอาจจะยืดเส้นยืดสาย บางคนอาจจะคว้าโทรศัพท์มาดูข้อความ นี่ก็นิสัยหนึ่ง หลังจากนั้น บางคนอาจจะกินน้ำ แต่บางคนไม่กิน บางคนถือหลักดื่มน้ำ 5 แก้วก่อนจะลุก นี่ก็นิสัยหนึ่ง แล้วลุกขึ้นมา บางคนลุกแล้วเก็บที่นอน แต่บางคนลุกแล้วไม่เก็บที่นอน นี่ก็หนึ่ง ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 นาที มีนิสัย 4 ประการที่เราได้ทำ
ลุกขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเก็บที่นอนหรือไม่เก็บที่นอน บางคนตรงไปล้างหน้า แต่บางคนตรงไปชงกาแฟ นี่ก็นิสัยหนึ่ง ล้างหน้าแล้วถูฟัน ถูฟันนานแค่ไหน หรือว่าแปรงฟันอย่างไร ซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย นี่ก็นิสัยหนึ่ง บางคนชอบใช้แปรงธรรมดา แต่บางคนชอบใช้แปรงไฟฟ้า อันนี้ก็นิสัยหนึ่ง
ถูฟันเสร็จ บางคนหวีผม สางผม หรือว่าจัดผม แต่บางคนไม่สนใจ เอาไว้ก่อน นี่ก็นิสัยหนึ่ง แล้วบางคนกลับไปเข้าห้องพัก ห้องนอน อาจจะเริ่มเก็บที่นอน แต่บางคนเข้าห้องน้ำ ถ่ายหนักบ้าง ถ่ายเบาบ้าง นี่ก็นิสัยหนึ่ง แล้วแต่งตัว บางคนชอบเสื้อผ้าชุดเก่าชุดเดิม หรือเสื้อผ้าลำลอง บางทีก็ปอน ๆ แต่บางคนอาจจะชอบเสื้อผ้าฉูดฉาด นี่ก็อีกนิสัยหนึ่ง
จากนั้น บางคนอาจจะไปเปิดโทรศัพท์เช็คข้อความ ดู Facebook ตอบอีเมล แต่บางคนไปนั่งสมาธิ หรือว่าฟังเพลง บางคนอาจจะแต่งตัวเพื่อจะไปวิ่งจ๊อกกิ้ง วิ่งเสร็จแล้วอาจจะกลับมารดน้ำ แต่บางคนทำกับข้าว
ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมง มีนิสัยที่ขับเคลื่อนการกระทำของเรานับ 10 นิสัย แล้วคิดดู ทั้งวันจะมีนิสัยอีกมากมายนับสิบ หลายสิบ หรือนับร้อย รวมกันประกอบขึ้นเป็นชีวิตประจำวันของเรา แต่มันไม่ใช่แค่นั้น มันส่งผลต่อความเป็นตัวเราด้วย
หลายคนมักจะคิดว่า ความเป็นตัวเราขึ้นอยู่กับว่านิสัยอะไรที่เราใช้เวลาเป็นส่วนใหญ่ เช่น บางคนใช้เวลาไม่น้อยไปกับการทำสมาธิ การปฏิบัติธรรม อันนี้ก็สร้างความเป็นนักปฏิบัติธรรมให้กับตัวเรา แต่บางคนใช้เวลาไม่น้อยกับการสอนหนังสือ อันนี้ก็ก่อรูปความเป็นครูของเรา บางคนอาจจะใช้เวลาไม่น้อยไปกับการเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน อันนี้ก็ก่อความเป็นผู้ปกครอง เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นปู่ย่าตายาย ถือว่าเป็นตัวเราอย่างหนึ่ง
แต่จริง ๆ แล้ว ความเป็นตัวเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่านิสัยใหญ่ ๆ ที่เราใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันในการทำสิ่งนั้น ยังขึ้นอยู่กับนิสัยปลีกย่อยมากมาย หรือนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำสะสมตลอดทั้งวัน
เป็นครูก็จริง แต่ว่าเป็นครูที่ใจดี มีน้ำใจต่อลูกศิษย์ เป็นครูที่เจ้าระเบียบ หรือว่าผ่อนคลาย อันนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งละอันพันละน้อยที่เราทำในแต่ละวันจนเป็นนิสัย ซึ่งมีมากมาย
เป็นนักปฏิบัติธรรมอาจจะเป็นเพราะว่าเราใช้เวลาจำนวนไม่น้อยกว่ากับการเจริญสติ ทำสมาธิ แต่นักปฏิบัติธรรมที่เจ้าระเบียบก็มี หรือรักระเบียบก็มี นักปฏิบัติธรรมที่ไม่ค่อยเจ้าระเบียบก็มี นักปฏิบัติธรรมที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพก็มี นักปฏิบัติธรรมที่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสุขภาพก็มี จะใส่ใจเรื่องสุขภาพหรือไม่ จะเป็นคนเจ้าระเบียบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำในแต่ละวันที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวเรา
และนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำทุกวัน ๆ ๆ สำคัญ อย่าไปมองข้าม เพราะว่าสามารถที่จะก่อรูปเป็นตัวเราได้ไม่น้อยไปกว่านิสัยที่เราใช้เวลาหลายชั่วโมงในการทำสิ่งต่าง ๆ
และนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าหากว่าเราตั้งใจทำ เช่น ไม่ว่าจะเมื่อตื่นนอนขึ้นมา เมื่อลุกไปอาบน้ำล้างหน้า เมื่อแต่งเนื้อแต่งตัว ใส่เสื้อผ้า ถ้าแต่ละอย่าง แต่ละนิสัย เราทำอย่างมีสติ มีความรู้สึกตัว มันส่งผลต่อคุณภาพชีวิต คุณภาพจิตเรามากทีเดียว เพียงแค่เราทำแต่ละอย่างอย่างมีสติ เริ่มต้นเพียงแค่เล็กน้อย แต่ถ้าเกิดว่าเราทำทุกอย่างอย่างมีสติ และทำทุกวัน มีอานิสงส์มากทีเดียว
มีคนเขาคำนวณว่า อะไรก็ตาม ถ้าเราทำให้ดีขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ ทุกวัน ๆ ๆ พอครบปีเราจะก้าวหน้ากว่าเดิม 37 เท่าทีเดียว สมมุติว่าเราทำอะไรก็ตาม 1 ชั่วโมง แค่เรามีสติเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 36 วินาที แล้วเราทำให้ดีขึ้นทุกวัน วันละ 1 เปอร์เซ็นต์ เราจะมีสติ มีความรู้สึกตัวเกือบ 20 นาที ในสิ่งนั้น ในนิสัยนั้นที่เราทำ และถ้าเราทำ 2 ปี 3 ปี จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้น เวลาเราต้องการที่จะเป็นผู้ที่มีสติ มีความรู้สึกตัว แม้เราจะไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่ถ้าหากว่านิสัยแต่ละอย่าง ๆ ที่เราทำ เราทำอย่างมีสติแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ตื่นขึ้นมารู้สึกตัวแล้ว ลุกขึ้นมาด้วยความรู้สึกตัว แม้ว่าจะรู้สึกตัวเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืองัวเงีย คิดโน่นคิดนี่
หรือว่าเมื่อลุกขึ้นมาแล้ว ก่อนที่จะเข้าห้องน้ำ เราเก็บที่นอนอย่างมีสติ ด้วยความรู้สึกตัว นอกจากจะทำให้เราเป็นคนมีระเบียบแล้ว ถ้าหากว่าตอนที่เราเก็บที่นอนเราทำด้วยความรู้สึกตัว แม้เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ สะสมมาก ๆ เข้า ทุกวัน ๆ 1 ปีก็เยอะ
แล้วเราไม่ได้ทำแค่นั้น เมื่อเวลาเราไปห้องน้ำ เราล้างหน้าด้วยความรู้สึกตัว ถูฟันด้วยความรู้สึกตัว แม้จะเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ 2 เปอร์เซ็นต์ ของเวลาที่ทำกิจวัตรนั้น แต่ว่าทุกกิจวัตรหรือทุกนิสัยที่เราทำ เราทำอย่างมีสติ แม้เพียงน้อยนิด
เช่น ถูฟันแล้ว เราอาจจะหวีผม สางผม ก็ทำอย่างมีสติ แม้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ถึงเวลาสวมเสื้อผ้า เราก็ทำอย่างมีสติ แม้ส่วนใหญ่อาจจะเผลอ เวลาเรากลับไปที่ห้องนอน เราดื่มน้ำ ชงกาแฟ หรือไปที่ห้องครัวชงกาแฟ เราทำอย่างมีสติ
แม้สติจะแค่ 1 หรือ 2-3 เปอร์เซ็นต์ของเวลาที่เราทำ แต่ถ้าเราทำทุกวัน ๆ ๆ แล้วทำสิ่งละอันพันละน้อยทุกอย่างอย่างมีสติ ภายใน 1 ปี มันส่งผลมากทีเดียว ช่วยทำให้เรากลายเป็นคนที่มีสติ มีความรู้สึกตัวมากขึ้น
และถ้าเราทำอะไรแต่ละอย่าง ทำอย่างช้า ๆ ไม่หุนหันพลันแล่น ไม่ว่าจะเก็บที่นอน ไม่ว่าจะล้างหน้า ไม่ว่าจะใส่เสื้อผ้า หรือว่าดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ ไม่รีบ รวมทั้งเวลากินข้าว
แต่ก่อนเราอาจจะกินอย่างไม่สนใจอะไร ปล่อยใจลอยไปตามเรื่องตามราว แต่ว่าเราเริ่มกลับจะมามีสติ มีความรู้สึกตัว แม้เพียงแค่ 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ ตอนที่เริ่มต้น จากเดิมที่เคยกินข้าวไปดูโทรศัพท์ไป กินข้าวไปคุยไป หรือกินข้าวไปนึกถึงงานไป เรากลับมามีสติ รู้สึกตัวกับการกิน แม้ว่าจะมีสติแค่ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วเดี๋ยวใจก็ลอย แต่ถ้าเราทำอย่างนี้ทุกวัน ๆ ๆ เราจะมีสติมากขึ้น มีความรู้สึกตัวมากขึ้น
และถ้าหากว่านิสัยนับร้อยที่เราทำแต่ละวัน หรือกิจวัตรที่เราทำเป็นนิสัยนับร้อยในแต่ละวัน ถ้าแต่ละกิจวัตร เราเติมสติลงไป แม้เพียงเล็กน้อย เป็นร้อยกิจวัตรในแต่ละวัน แล้วทำทุกวัน ๆ 365 วัน มันส่งผลต่อคุณภาพจิตของเราไม่น้อยเลย
ดีกว่ามาเข้าคอร์ส 7 วัน แม้จะเป็นการปฏิบัติแบบเข้มข้น แต่พอกลับไป ใช้ชีวิตเหมือนเดิม กิจวัตรอะไรที่ทำเป็นนิสัยทำเหมือนเดิม คือใจลอย ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ทำอย่างหุนหันพลันแล่น ไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว แบบนี้จะมีผลต่อชีวิตเรา หรือความเป็นตัวเรา หรือคุณภาพจิตของเราน้อยกว่าคนที่ไม่ได้มาปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น 7 วัน 15 วัน แต่ว่าทำทุกวัน กิจวัตรที่ทำเป็นนิสัยนับร้อย ทำอย่างมีสติ หรือตั้งใจทำอย่างมีสติ
แม้จะมีสติเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทำทุกวัน ๆ ๆ มันส่งผลมาก เพราะแค่นิสัยอย่างเดียว ทำอย่างมีสติ สมมุติวันละไม่ถึงนาที พอครบปีก็เกือบ 20 นาที แล้วไม่ใช่แค่นิสัยหรือกิจวัตรที่ทำอย่างเดียว กิจวัตรที่เราทำเป็นนิสัย 20-30 กิจวัตร หรืออาจจะมากกว่านั้น แต่เมื่อเราตั้งใจทำอย่างมีสติ รวมกันแล้วก็ให้ผลเยอะทีเดียว เยอะกว่าคนที่มาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมเข้มข้น แล้วกลับไปเหมือนเดิม
อันนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบางคนมาเข้าปฏิบัติธรรม แต่ว่าชีวิตไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไร
ยิ่งบางคนไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย เอาแต่ฟังธรรมะ แม้จะฟังวันละ 2 ชั่วโมง ระหว่างที่ฟังก็ปล่อยใจลอย คิดโน่นคิดนี่บ้าง หรือว่าฟังแล้วสบายใจ เพราะว่าใจไม่ได้คิดอะไร รู้สึกเหมือนว่าใจถูกกล่อมให้สงบ เพราะไม่ต้องคิดถึงเรื่องงานการที่ชวนให้เครียด ไม่ต้องนึกถึงลูกหลานที่ชวนให้กลุ้ม ตอนที่ฟังก็สบายใจ แต่พอไม่ได้ฟัง กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ นิสัยหรือกิจวัตรที่ทำเป็นนิสัยนับร้อยก็ยังทำด้วยความหลง ทำด้วยความหุนหันพลันแล่น ปล่อยใจลอย จึงไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร
รู้ว่าโกรธไม่ดี แต่ว่ายังเผลอโกรธ หรือว่าเจ้าอารมณ์อยู่เหมือนเดิม รู้ว่ายึดติดในตัวกูไม่ดี ก่อให้เกิดโทษ แต่ยังมีความยึดในตัวกูสูง ใครมาแตะมาต้อง พูดจากระทบตัวกูไม่ได้เลย โกรธ โมโห ทั้งที่ฟังธรรมะขั้นสูง เรื่องจิตว่าง เรื่องปรมัตถธรรม เรื่องการไม่มีตัวกู
เห็นด้วย พยักหน้าระหว่างที่ฟัง แต่ว่าเวลาที่เหลือ อย่างกิจวัตรที่ทำเป็นนิสัยนับร้อย ทำด้วยความหลง ทำไปตามความเคยชิน คุณภาพจิตก็ไม่เปลี่ยน หรือเปลี่ยนน้อยมาก เพราะเขาไม่ได้เอาสิ่งที่ได้เรียนหรือว่าได้ฟังมาใช้กับชีวิตประจำวันด้วยการเอามาใช้กับกิจวัตรต่าง ๆ ที่ทำเป็นนิสัย ไม่ว่าน้อยใหญ่
ลองพิจารณาดู กิจวัตรที่เราทำเป็นนิสัยต่อเนื่องกันวันหนึ่งมีเป็นร้อย เฉพาะช่วงตื่นเช้าขึ้นมา 30 นาที เราทำกิจวัตรเกือบ 10 หรืออาจจะมากกว่านั้น ที่ทำเป็นนิสัย ทุกวัน ๆ เพียงแค่เราเติมสติลงไปในกิจวัตรหรือในนิสัยแต่ละอย่าง ๆ แม้จะทำได้เพียงเล็กน้อย เพราะว่าความเคยชินหรือความหลงยังแรงอยู่ 1 ชั่วโมง หรือ 3,600 วินาที มีสติแค่ 36 วินาที หรือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าถ้าตั้งใจทำให้ดีขึ้นวันละ 1 เปอร์เซ็นต์ พอครบปี เกิดความก้าวหน้าถึง 37 เท่า ไม่น้อยเลย
เพราะฉะนั้น สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่ามองข้าม และเราสามารถที่จะพัฒนาชีวิตหรือคุณภาพจิตเราได้ด้วยการสร้างนิสัยใหม่ กิจวัตรเดิมนั่นแหละ แต่ว่าทำด้วยคุณภาพใหม่ คือทำด้วยความรู้สึกตัว เช่น เมื่อนอนรู้สึกตัวขึ้นมาก็ลุกเลย ไม่ต้องนอนแช่ ลุก ในที่นี้หมายถึง ลุกนั่ง
แล้วอาจจะทำความรู้สึกตัว ตามลมหายใจ ยังไม่ต้องหยิบโทรศัพท์มาดู พอลุกก็ลุกด้วยความรู้สึกตัว ไม่หุนหันพลันแล่น แล้วเก็บที่นอน ระหว่างที่เก็บที่นอน พับที่นอน ก็ทำอย่างมีสติ ด้วยความรู้สึกตัว
ทำเสร็จเป็นอย่าง ๆ ไม่ใช่ปล่อยค้างเอาไว้ ด้วยความเข้าใจว่า เดี๋ยวก่อนจะก่อนจะออกจากบ้านไปทำงานค่อยมาเก็บที่นอน อันนั้นไม่ทำให้เกิดนิสัยใหม่ที่ทำอะไรให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ทำให้เรามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือว่าช่วยเสริมสร้างความรู้สึกตัวให้มากขึ้น
อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า หวีผม ใส่เสื้อผ้า แม้กระทั่งว่าจะสวมหรือว่าใส่เสื้อด้วยแขนซ้ายหรือแขนขวาก่อน ก็เป็นนิสัย สวมกางเกง จะเริ่มจากขาซ้ายก่อนหรือหรือขาขวาก่อน นี่ก็เป็นนิสัย แต่จะขาซ้ายก่อนหรือขาขวาก่อน แขนซ้ายก่อนหรือแขนขวาก่อน ไม่สำคัญ แต่ขอให้ทำอย่างมีสติ
แล้วไม่ต้องคาดหวังว่าต้องมีสติเต็มร้อย แม้ว่าแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็มีค่า มีความหมาย ถ้าหากว่าทำทุกวัน ด้วยความตั้งใจว่าจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมวันละ 1 เปอร์เซ็นต์ ครบปี ตัวเลขมันเยอะ
เอาง่าย ๆ เวลาที่เราใช้ในห้องน้ำ ตลอดทั้งชีวิต ถ้าเราอายุ 75 รวมเวลาที่เราใช้ในห้องน้ำตลอดชีวิต 7 ปีได้ ถ้าเราอยู่ในห้องน้ำอย่างมีสติเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกวัน รวมแล้วจะเยอะแค่ไหน รวมแล้วเกือบปีเลย แต่คนเราถ้าหากว่าทำทุกวัน ๆ จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 12 เปอร์เซ็นต์ 13 เปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น เวลาเราคิดถึงการเจริญสติ ทำความรู้สึกตัว หรือต้องการทำให้เราเป็นคนที่มีสติ อย่านึกแต่เพียงแค่มาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ทำเต็มที่ เสร็จแล้วกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม นิสัยเดิม ๆ
อย่างนี้สู้การที่เราอยู่ที่บ้าน แต่ว่าเราพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการทำให้กิจวัตรที่ทำเป็นนิสัย สิ่งละอันพันละน้อยดีขึ้นเรื่อย ๆ ใส่สติ ความรู้สึกตัว เติมไปเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือสร้างความเป็นตัวเราให้ดีกว่าเดิม หรือที่เขาเรียกว่า “ตัวเราในเวอร์ชั่นใหม่” ที่ดีกว่าเดิมได้.