พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็น วันที่ 9 เมษายน 2567
มีพระมหายานรูปหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นพระเวียดนาม สำนักของท่านคงจะมีท่านรูปเดียว เพราะว่าเวลาสวดมนต์มีท่านรูปเดียวที่สวดมนต์ ท่านมีหมา 2 ตัว เป็นลูกหมากำลังน่ารัก แล้วคงจะคุ้นกับท่านมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านสวดมนต์ หมา 2 ตัวนี้จะมาอยู่ใกล้ ๆ
เป็นธรรมดา หมาพออยู่ใกล้ ๆ กัน มักจะหยอกล้อกัน ระหว่างที่ท่านสวดมนต์อยู่ 2 ตัวนี้ก็หยอกล้อกันข้าง ๆ ท่าน ท่านสวดไป ๆ คงรำคาญ เพราะว่าสวดไปสักพักก็หันมา แล้วตบหมา 2 ตัวนี้เบา ๆ คงตั้งใจจะปรามให้มันหยุดเล่น
แต่หมายังไม่หยุด เมื่อท่านสวดไปอีกสักพักก็หันมาตีหมา 2 ตัวนี้ คราวนี้บ่นหรือว่าต่อว่าหมา 2 ตัวนี้ด้วย แล้วก็หันไปสวดมนต์ต่อ หมา 2 ตัวนี้พอถูกตี ก็ย้ายที่จากข้างขวาของพระ มาอยู่ข้างซ้าย แล้วก็เล่น หยอกกันต่อ พระท่านทนไม่ได้จึงหันมาตีหมา 2 ตัวนี้อีก มันก็ไม่สนใจ ยังเล่นกันต่อไป
มีคนถ่ายคลิปนี้ แล้วค่อนข้างจะแพร่หลายพอสมควร ใครเห็นก็อดหัวเราะไม่ได้ หัวเราะที่หมาตัวน้อยรบกวนหลวงพี่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภาพที่ดูขัดแย้ง พระที่กำลังสวดมนต์อยู่ ที่จริงควรจะอยู่ในอาการที่สงบสำรวม แต่ว่าสวดไปก็หันมาตบหมา สวดทีก็หันมาบ่นว่าหมา แล้วตีหมาอีก แม้จะตีเบา ๆ แต่ว่าดูขัดแย้งกัน เพราะว่าจากอาการของพระรูปนี้แล้ว ท่านคงจะรู้สึกหงุดหงิด
ที่จริงเวลาเราสวดมนต์ เราสวดเพื่ออะไร เราสวดเพื่อให้ใจสงบ เพื่อให้ใจเป็นกุศล และแน่นอนเมื่อเวลาเราจะสวดมนต์ เราควรจะน้อมใจให้เป็นกุศลด้วย เพราะว่าอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า อยู่ต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์
การสวดมนต์ถือเป็นเรื่องดี เป็นสิริมงคล แต่ว่าทำไมพระรูปนี้สวดมนต์ไป ใจหงุดหงิดไปด้วย ถ้าดูเผิน ๆ เป็นเพราะว่าหมา 2 ตัวนี้มารบกวนการสวดมนต์ของท่าน แต่ถ้าดูให้ดี เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน เราสวดมนต์เพื่อให้ใจสงบ ใจเป็นกุศล แต่แล้วการสวดมนต์กลับทำให้จิตใจของพระรูปนั้นไม่สงบ ไม่สงบเพราะอะไร เพราะว่ามีหมาตัวน้อย ๆ มารบกวน มาขัดขวางการสวดมนต์
พูดอีกแง่หนึ่งคือว่า การสวดมนต์แม้จะเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่น้อมใจให้เป็นกุศล แต่ถ้าหากว่าไปยึดติดถือมั่นกับการสวด อาจจะส่งผลทำให้ใจไม่สงบได้
ที่หลวงจีนรูปนี้หงุดหงิดไม่พอใจเพราะว่าหมา 2 ตัวนี้มารบกวนการสวดของท่าน มาขัดขวางการสวดของท่าน โดยลืมไปว่าเราสวดเพื่ออะไร เพื่อให้ใจสงบ เพื่อให้ใจเป็นกุศล หรือใช้โอกาสนี้น้อมใจให้เป็นกุศล เพื่อที่ให้การสวดเป็นไปด้วยดี แต่พอไปยึดติดกับการสวดว่าต้องสวดให้ได้ ต้องสวดให้ได้ตามกำหนด พอมีหมาหรือมีใครมาขัดขวางจึงขุ่นมัว
การทำอะไรก็ตาม แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากว่าไปยึดติดถือมั่นกับสิ่งนั้นก็กลายเป็นโทษได้ อย่างเช่น การทำบุญ เราทำบุญเพื่ออะไร ทำบุญเพื่อให้จิตใจเป็นกุศล อันนี้คือประโยชน์ตน นอกเหนือจากการบำเพ็ญประโยชน์ท่าน เช่น การใส่บาตร การถวายสังฆทาน เป็นการทำบุญที่ทำให้ได้น้อมใจให้สงบ แต่ถ้าเราไปยึดติดกับการทำบุญ อาจจะเกิดความรู้สึกที่เป็นอกุศลได้
อย่างเช่น แม่อยากจะพาลูกไปใส่บาตรที่วัด ต้องนั่งรถไป แต่ว่าลูกชายดันตื่นสาย แม่จึงโมโหลูก ทำให้แม่ไม่สามารถไปทำบุญถวายสังฆทานหรือถวายอาหารได้ทันเวลา ตัวอยากจะไปทำบุญ แต่ว่าพอไปยึดติดกับการทำบุญเข้า พอมีอะไรมาขัดขวางให้ไม่สามารถทำบุญได้อย่างที่ตั้งใจ หรือว่าอาจจะได้ทำบุญ แต่ว่าอาจจะไปสาย เลยเวลาพระฉัน จึงโมโห กลายเป็นว่าการทำบุญนั้นเป็นตัวทำให้จิตใจหม่นหมอง แทนที่จะเป็นตรงข้าม คือ การทำบุญทำให้จิตใจสงบ
แต่หลายคนพอจะไปทำบุญ ผลที่ตามมาคือหม่นหมอง หงุดหงิด เพราะอะไร เพราะยึดติดกับการทำบุญ จะต้องทำบุญให้ได้ จะต้องไปถวายสังฆทาน จะต้องไปใส่บาตรพระให้ได้ แต่พอมีอุปสรรคขัดขวาง จึงเกิดความขุ่นมัว เกิดความไม่พอใจ กลายเป็นว่าใจไม่เป็นบุญไปเสียแล้ว
ที่ใจไม่เป็นบุญเพราะอะไร เพราะอยากจะไปทำบุญ ดูขัดแย้ง ใจไม่เป็นบุญ ใจไม่เป็นกุศล เพราะอยากจะไปทำบุญ แต่ว่ามีคนมาขัดขวาง ทำให้ไม่สามารถจะทำบุญอย่างที่ต้องการ
บางทีจะไปทำบุญแล้ว มีเพื่อนบ้านเขาเกิดไม่สบายขึ้นมา หรือเขาอยากจะขอความช่วยเหลือ แทนที่เราจะช่วยเหลือเขาด้วยใจที่เป็นกุศล กลับขุ่นมัว กลับไม่พอใจ หาว่าเขามาขัดขวาง ทำให้เราไม่มีโอกาสได้ทำบุญ
ที่จริงการที่ช่วยเหลือเพื่อนบ้าน อย่างเช่น เขาป่วยแล้วเราช่วยเขา ก็เป็นการทำบุญ แม้จะไม่ได้ไปทำบุญที่วัด เช่น ใส่บาตร ถวายสังฆทาน แต่ว่าการช่วยเพื่อนบ้านหรือช่วยใครก็ตามที่เขาเดือดร้อน ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง และสมควรที่จะทำด้วยจิตที่เมตตา จิตที่เป็นกุศล ไม่ใช่ทำหรือช่วยเขาอย่างขอไปทีด้วยความรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจหาว่าเขามาขัดขวาง
อันนี้เพราะไปยึดติดกับการทำบุญ หรือว่าพูดอีกอย่างคือ ไปยึดติดกับรูปแบบ พอไปยึดติดกับรูปแบบ ก็ลืมสิ่งที่เป็นสาระหรือว่าจุดมุ่งหมาย
มีผู้ชายคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง แล้วมีช่วงหนึ่งอาการหนัก เข้าโรงพยาบาล โรงพยาบาลดูแลจนกระทั่งสามารถจะออกจากโรงพยาบาลได้ พอกลับไปบ้านต้องมีคนดูแล แต่คราวนี้ชายคนนี้กลับไม่มีคนที่จะดูแลช่วยเหลือ ที่จริงเคยมีแฟนสาวช่วยดูแล แต่ตอนหลังแฟนสาวนั้นถูกไล่ คนที่ไล่คือพี่สาวของผู้ป่วย บอกว่ายังไม่ได้แต่งงานกัน มาอยู่ด้วยได้อย่างไร ผิดศีลข้อ 3
ดูแล้วไม่เห็นผิดตรงไหนเลย เพราะว่าเขาแค่มาดูแลและเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ ทำอาหารให้ หรือแม้แต่จะมีอะไรกันก็ไม่เห็นผิดศีลข้อ 3 อะไรเลย เพียงเพราะไม่ได้แต่งงานกันไม่ได้แปลว่ามีอะไรกันแล้วจะผิด ขอให้มีความซื่อตรงต่อกันก็ถือว่าไม่ผิดศีลแล้ว
แต่คราวนี้ พอแฟนสาวของผู้ป่วยไม่อยู่ อยู่ไม่ได้ ทางโรงพยาบาลก็ดี พยายามติดต่อพี่สาวของผู้ป่วยให้มาช่วยดูแล พี่สาวอยู่ที่วัด ปฏิบัติธรรมอยู่ ซึ่งไม่ไกลนัก ห่างจากบ้านของน้องชายที่ป่วยประมาณสัก 20 กิโล
แต่พอติดต่อ พี่สาวคนนี้ปฏิเสธ บอกว่า “ฉันกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ ไม่อยากให้ใครมารบกวนการปฏิบัติธรรม” แถมยังพูดอีกว่า “กรรมใครก็กรรมมัน” คำพูดแบบนี้ไม่ได้แสดงถึงความเมตตากรุณาที่พึงมีต่อผู้ป่วยเลย ยิ่งผู้ป่วยเป็นน้องชายแท้ ๆ
แล้วที่จริงการดูแลผู้ป่วยเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ทำไมไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมจึงมีแต่เฉพาะการอยู่วัด แล้วอยู่ในอิริยาบถ เช่น นั่งหลับตา หรือว่าเดินจงกรม การดูแลน้องชายหรือใครก็ตามที่ป่วย ก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ฝึกจิตต้องอาศัยเมตตากรุณา หรือแกคงไม่พอใจน้องชายที่มารบกวนการปฏิบัติธรรมของแก
อันนี้ก็เหมือนกับหลวงจีนที่รำคาญหงุดหงิดหมาตัวน้อย ๆ 2 ตัว รำคาญเพราะอะไร เพราะมารบกวนการสวดมนต์ ไปยึดติดกับรูปแบบว่า สวดมนต์ต้องเป็นอย่างนี้ ๆ หรือไปยึดติดว่าต้องสวดมนต์ให้ได้ตามกำหนด พอมีหมามารบกวน ทำให้ไม่สามารถจะสวดมนต์ตามกำหนดได้อย่างที่ต้องการ จึงหงุดหงิด
ทั้งที่สวดมนต์เพื่ออะไร เพื่อน้อมใจให้เป็นกุศล เจริญศรัทธา อาจจะน้อมนึกถึงพระโพธิสัตว์ หรือว่าพระอมิตาภะพุทธเจ้า ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวอย่างแห่งความเมตตากรุณา แต่ว่าขณะที่สวดไปถึงพระพุทธเจ้า จิตกลับหงุดหงิด เพราะว่าหมามากวน บางทีไม่ใช่หมามากวน อาจจะเป็นคนก็ได้
มีอาม่าคนหนึ่ง แกศรัทธามาก ทุกเช้าทุกเย็นจะสวดมนต์ การสวดของคนจีนคือสวดเอ่ยนามพระพุทธเจ้า เช่น พระอมิตาภะ วันหนึ่งต้องสวดให้ได้เป็นพันเป็นหมื่นจบ ระหว่างที่สวดปรากฏว่าเพื่อนบ้านมีธุระสำคัญมาเรียกอยู่หน้าบ้าน ตะโกนเรียก “อากุ้ย ๆ ๆ”
ตัวอาม่าพอได้ยินเสียงเรียกของเพื่อนบ้าน รู้สึกรำคาญ เพราะกำลังสวดมนต์อยู่ แต่เพื่อนบ้านยังเรียกอยู่นั่นแหละ เพราะว่ามีธุระสำคัญ สุดท้ายอาม่าต้องหยุดสวดมนต์ด้วยความหงุดหงิด ด้วยความไม่พอใจ เดินไปที่ประตู พอเปิดประตูก็โวยวายใส่ด้วยความโกรธ ระบายอารมณ์ใส่เพื่อนบ้านด้วยความโกรธ “เรียกฉันทำไม ไม่รู้หรือว่าฉันกำลังสวดมนต์อยู่”
เพื่อนบ้านตกใจ ขอโทษขอโพยใหญ่ แล้วพูดขึ้นมาว่า “นี่ขนาดผมเอ่ยเรียก อาม่าเพียงแค่ 3-4 ครั้ง ท่านยังโกรธ แล้วที่ท่านเอ่ยนามถึงพระพุทธเจ้าเป็นหมื่น ๆ ครั้ง ท่านจะไม่รู้สึกอย่างไรหรือ” อาม่าอึ้งเลย
เอ่ยนามสวดมนต์เพื่อสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ใจสงบ แต่พอไปติดที่รูปแบบกลายเป็นว่า สักแต่ว่าสวด สวดให้ครบกำหนด หรือว่าสวดตามกำหนด ตามเวลา แต่ไม่สนใจว่าคุณภาพจิตเวลานั้นเป็นอย่างไร สวดให้ได้วันละหมื่นครั้งก็จะสวดให้ได้ตามกำหนด สวดไปก็บ่นไป
สวดไปก็หงุดหงิดไปเพราะว่ามีเสียงรบกวน หรือว่าอาจจะมีอากาศร้อน อันนี้เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะว่าไปเน้นที่รูปแบบ เป็นเน้นที่พิธีกรรม เป็นความยึดติดแบบหนึ่ง สวดมนต์เป็นสิ่งที่ดี การทำบุญเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะไปยึดติด อาจจะเกิดโทษได้
ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ แต่ว่าพอมีเสียงรบกวน ที่จริงเสียงไม่ได้ตั้งใจรบกวนหรอก แต่เพราะใจของเราไปจดจ่อ จึงเป็นการรบกวนไป อย่างที่พูดเมื่อวาน ถ้าเราไม่ใส่ใจก็ไม่รบกวน แต่พอไปใส่ใจเข้า กลายเป็นรบกวนไป ระหว่างที่นั่งสมาธิ มีเสียงมอเตอร์ไซค์บ้าง เสียงหมาเห่าบ้าง เสียงคนคุยกันบ้าง
ถ้าไปยึดติดที่รูปแบบ จะต้องนั่งให้ได้อย่างนี้ ๆ จะหงุดหงิด แต่ถ้าหากว่าเข้าใจสาระของการนั่ง หรือการทำสมาธิ หรือการปฏิบัติธรรมว่า เพื่อฝึกจิตของตน ฉะนั้นเวลามีอะไรมากระทบ ต้องรู้จักฝึกจิต วางใจให้เป็น เสียงดังก็ดังไปแต่ใจสงบ ใครจะมาพูดอะไรเข้าหูก็ไม่ใส่ใจ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หรือไม่ก็รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเวลาใจไม่สงบ
ตรงนี้คือการปฏิบัติ คือ ตัวเนื้อแท้ของการปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่พอไปเข้าใจว่าการปฏิบัติอยู่ที่รูปแบบ แล้วไปติดที่รูปแบบเข้า จึงกลายเป็นหงุดหงิดหัวเสียได้ง่าย เด็กมาเล่นฟุตบอลอยู่หน้าบ้านขณะที่กำลังนั่งสมาธิ นั่งไปก็บ่นก่นด่าเด็กไปว่า “ทำไมมันมาเล่นกันเวลานี้”
คนเป็นอย่างนี้กันเยอะ คือไปติดที่รูปแบบการปฏิบัติ แทนที่จะเข้าถึงเนื้อถึงตัวของการปฏิบัติ โดยเฉพาะการเจริญสติ ไม่ว่าเจออะไร ไม่ว่าทำอะไร เป็นการปฏิบัติได้ทั้งนั้น แต่พอไปติดที่รูปแบบ ทำให้วางใจผิดทิศผิดทางได้
อาตมาก็เคย ตอนที่ไปปฏิบัติใหม่ ๆ ที่วัดสนามใน ทีแรกไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติ แต่พอปฏิบัติไปก็เอาจริงเอาจังมากขึ้น เดินจงกรมทั้งวัน ถ้าไม่เดินจงกรมก็สร้างจังหวะ ไม่พูดไม่คุยกับใคร ในใจว่าคิดแต่ว่าจะเอาให้ได้ ๆ
มีวันหนึ่ง โยมพ่อโยมแม่มา เห็นแต่ไกลจากกุฏิที่พัก โยมพ่อโยมแม่เข้าประตูมา พอเห็น เกิดความขุ่นเคืองขึ้นมาเลย ขุ่นเคืองเพราะอะไร เพราะว่าจะมารบกวนการปฏิบัติของเรา เพราะเมื่อท่านมา เราต้องหยุด หยุดเดินจงกรม หยุดสร้างจังหวะ ต้องไปสนทนาพูดคุยกับท่าน ไม่พอใจว่ามารบกวนการปฏิบัติ
ทั้งที่การพูดคุยกับโยมพ่อโยมแม่หรือคุยกับใครก็ตามเป็นการปฏิบัติอย่างหนึ่ง คือขณะที่คุยไป เราก็ดูจิตดูใจเราไป แต่ทีนี้ พอไปติดที่รูปแบบเข้าก็เกิดอารมณ์เสียหงุดหงิดได้ง่ายเวลามีอะไรมาขัดขวางไม่ให้เราทำตามรูปแบบหรือตามประเพณี.
แล้วเราก็ไปโทษคนนั้นคนนี้ ไปโทษโยมพ่อโยมแม่ว่ามารบกวนการปฏิบัติ ไปโทษเสียงดังว่ามารบกวนการปฏิบัติ ไปโทษเพื่อนบ้านว่ามารบกวนการสวดมนต์ หรือว่าโทษลูกว่าทำให้เราไปทำบุญถวายสังฆทานช้า แต่จริงแล้วเป็นเพราะตัวเองต่างหาก
คลิปที่หลวงจีนสวดมนต์แล้วมีหมามากวน มีข้อความหนึ่งพ่วงมากับคลิปนี้ คล้าย ๆ พูดแทนความรู้สึกของหลวงจีนว่า “จะไปนิพพานไม่ได้เพราะหมา 2 ตัวนี้แหละ” ที่จริงไม่ใช่เลย ถ้าจะไปนิพพานไม่ได้เพราะปล่อยวางไม่ได้ต่างหาก
ขนาดหมา 2 ตัวนี้ยังทำให้ใจไม่สงบ ไม่สามารถจะมีสติ มีสมาธิกับการสวดมนต์ได้ ไม่ต้องพูดถึงนิพพานแล้ว เพราะว่านิพพานเป็นทางที่ยาวไกล ต้องเจออะไรอีกเยอะ นี่แค่หมา 2 ตัวมาเล่นกัน แล้วถ้าเกิดโดนคนด่า คนนินทา จะยิ่งไม่ว้าวุ่นหงุดหงิดงุ่นง่านยิ่งกว่านี้หรือ
หมา 2 ตัวเล่นยังน่ารักเลย ถ้าไม่ใส่ใจกับมัน หรือว่าเห็นว่ามันก็สนุกของมัน ขนาดทำใจกับหมา 2 ตัวไม่ได้แล้ว จะทำใจอย่างไรกับคำต่อว่าด่าทอเสียดสีวิจารณ์หรือว่าอะไรที่หนักกว่านั้น ที่จริงหมา 2 ตัวนี้มาฝึก ฝึกให้รู้จักปล่อยวาง ให้รู้จักไม่ใส่ใจกับมัน มันจะเล่นก็ช่างมัน แต่ว่าใจอยู่กับการสวดไป ฝึกให้อยู่กับปัจจุบัน ฝึกให้น้อมจิตถึงพระพุทธองค์ พระอมิตาภะก็ได้
ฉะนั้น ถ้าเกิดว่าหลวงจีนคนนั้นเชื่อจริง ๆ ว่า นิพพานไม่ได้เพราะว่าหมา 2 ตัวนี้ แสดงว่าผิดแล้ว ที่จริง นิพพานไม่ได้เพราะยังไม่ปล่อยวาง หรือพูดอีกอย่างคือว่า เรื่องแค่นี้ยังปล่อยวางไม่ได้ ไม่ต้องพูดเรื่องนิพพานแล้ว เอาแค่ว่าอยู่อย่างปกติสุขก็ทำได้ยากแล้ว
เพราะฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติธรรมหรือทำความดีอะไรก็ตาม ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายว่าทำไปเพื่ออะไร ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ เรื่องการปฏิบัติธรรมแล้ว สาระสำคัญอยู่ที่การวางใจ หรือ การฝึกใจ ไม่ว่ามีอะไรมากระทบใจก็ไม่กระเทือน หรือรู้จักที่จะไม่ใส่ใจ ไม่ถือสา เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา นี่แหละเป็นการฝึกขั้นต้นของการปฏิบัติ
ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ จิตใจก็ขุ่นมัวหงุดหงิดได้ง่ายกับอะไรต่ออะไรที่มากระทบ ที่มาเป็นอุปสรรคให้เราไม่สามารถจะทำความดีอย่างที่ต้องการได้ และที่จริงแล้ว เป็นไปเพราะความยึดมั่นในความต้องการ ความยึดมั่นในแบบแผนที่อยู่ในใจเราต่างหากที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ ไม่ใช่เพราะสิ่งอื่นเลย.