แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 เมษายน 2567
[00:00]
เมื่อวานได้พูดถึงไอน์สไตน์ว่า เขาแบ่งคนเป็น 3 ประเภท คือ คนที่อ่อนแอ คนเข้มแข็ง และคนฉลาดหรือว่ามีปัญญา เมื่อได้ฟังแล้วก็ให้เราลองจัดตัวเองดู ว่าอยู่ในประเภทไหน ประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 หรือประเภทที่ 3 แล้วถ้าหากเราพบว่าตัวเองอยู่ในประเภทแรก คือคนอ่อนแอ ซึ่งชอบเอา คืน หรือชอบแก้แค้น แล้วถ้าเราอยากจะเป็นคนเข้มแข็ง หรือคนฉลาด คนมีปัญญา เราควรจะทำอย่างไร
อันนี้เราก็อาจจะได้ประโยชน์จากคำกล่าวของไอน์สไตน์ที่ว่านี่ คนเข้มแข็งก็คือรู้จักให้อภัย ส่วนคนฉลาดมีปัญญา หรือบัณฑิต ถ้าพูดในทางพระพุทธศาสนา ก็คือคนที่เลือกที่จะไม่ใส่ใจ ไม่ถือสา มันก็เป็นข้อคิดง่ายๆ ที่ช่วยให้เราสามารถจะเลือก ว่าเราอยากเป็นคนประเภทไหน และควรจะทำอะไร หรือมีคุณธรรมอย่างไร ข้อไหนที่จะพาให้เราเป็นคนในประเภทที่เราปรารถนาหรืออยากเป็น อยากเป็นคนเข้มแข็งก็ต้องรู้จักให้อภัย อยากเป็นคนมีปัญญา ฉลาด ก็ต้องรู้จักไม่ถือสาหรือว่าไม่ใส่ใจ
ที่จริงในทางพระพุทธศาสนา คนเราควรรู้จักใส่ใจ ท่านสอนว่าให้ ใส่ใจในสิ่งที่เป็นคุณ สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ หรือว่าธรรมะ รวมทั้งการใส่ใจกับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน เรียกว่าให้ความใส่ใจกับปัจจุบันขณะ แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ต้องรู้ว่าอะไรที่เราไม่ควรไปใส่ใจ อย่างเช่น สิ่งที่เป็นโทษ หรือสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเราใส่ใจในสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งไม่เป็นประโยชน์ นอกจากจะเกิดโทษกับตัวเองแล้ว ก็ยังทำให้ไม่มีเวลาที่จะใส่ใจในสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์
เอาง่าย ๆ อย่างการใส่ใจกับวิชาความรู้ สำหรับเด็ก สำหรับนักเรียน จะใส่ใจได้ก็เพราะว่า รู้จักหันหลัง ไม่ใส่ใจกับสิ่งล่อเร้าเย้ายวน เช่น การพนัน อบายมุข แล้วเดี๋ยวนี้ก็รวมไปถึงความบันเทิงที่มากับโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งเกมต่าง ๆ นานาชนิด ถ้าไปใส่ใจกับมันมาก ก็ไม่มีเวลาที่จะมาเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ หากว่าใส่ใจธรรมะ ใส่ใจการฝึกตน แต่ถ้ามัวไปให้เวลา ไปใส่ใจกับโทรศัพท์มือถือ กับภาพยนตร์ซีรีส์เกาหลี หรือว่าหนังซีรีส์ต่าง ๆ มันก็ไม่มีเวลาที่จะมาศึกษาธรรม หรือว่าปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นปัญหาของคนในยุคนี้มาก ธรรมะก็รู้ว่าดี แต่ว่าพ่ายแพ้ต่อสิ่งล่อเร้าเย้ายวน
มีโยมคนหนึ่งบอกว่า นิพพานก็อยากบรรลุแต่ว่าจะทำอย่างไรดี ติดซีรีส์เกาหลีเหลือเกิน ไม่ก็ซีรีส์จีน ซีรีส์ไทย ซีรีส์ฝรั่ง มันดึงเวลา ดึงความสนใจ ดึงพลังงานของผู้คน แม้กระทั่งคนที่สนใจธรรมะรู้ว่าพระนิพพานมีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่ว่าสุดท้ายก็ไม่มีเวลาให้กับการปฏิบัติแม้จะเขยิบเข้าใกล้เพียงเล็กน้อยซึ่งพระนิพพาน ก็เพราะมัวแต่ไปใส่ใจให้เวลากับความบันเทิงเหล่านี้ที่ทุกวันนี้มีเยอะด้วย
เพราะฉะนั้น คนเราจะมีชีวิตที่เจริญงอกงามได้ ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม มันต้องรู้จักที่จะไม่ใส่ใจ หรือไม่ให้ค่ากับบางสิ่งบางอย่าง
ซึ่งไม่ใช่หมายความเฉพาะสิ่งที่ล่อเร้าเย้ายวนให้เกิดความเพลิดเพลินหลงใหล อย่างเช่น ภาพยนตร์ ดนตรี หรือว่าหนัง ละคร เกมออนไลน์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ลามไปถึงการพนัน ยาเสพติด พวกนี้เป็นสิ่งล่อเร้าเย้ายวน ที่เดี๋ยวนี้มีเกลื่อนกลาดมาก แล้วถ้าเราไปให้ความใส่ใจ ให้ความสำคัญกับมัน เราก็ไม่มีเวลาเหลือ ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังที่จะใส่ใจกับสิ่งที่มีคุณค่าได้ แต่ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่เฉพาะสิ่งล่อเร้าเย้ายวนที่เราต้องรู้จักหันหลังให้มัน หรือว่าไม่ให้ค่ากับมัน นอกจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวนแล้ว สิ่งยั่วยุก็เหมือนกันเราก็ต้องรู้จัก ที่จะหันหลังให้มัน ไม่ใส่ใจมันด้วยหลายคน สิ่งล่อเร้าเย้ายวนสามารถที่จะหันหลังให้กับมันได้ แต่พอเจอสิ่งยั่วยุให้เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ กลับพลาดท่าเสียที ไปจดจ่อใส่ใจกับมัน
แล้วทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่สิ่งเย้ายวนอย่างเดียวที่มีมากมาย สิ่งยั่วยุก็มีเยอะจนบางทีอาจจะอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าสิ่งเย้ายวนเสียอีก สิ่งเย้ายวนอาจจะมาทางโทรศัพท์มือถือ อาจจะมาทางสื่อ แต่สิ่งยั่วยุจะมาอยู่รอบตัวอาจจะได้แก่ เสียงดัง อากาศร้อน พวกนี้มันก็ยั่วยุให้เกิดความขุ่นมัวได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเสียงที่มาจากคนรอบข้าง เสียงนินทา หรือเสียงพูดคุยรบกวน บางอย่างมันไม่กระทบกับเราโดยตรง แต่ว่าเราบังเอิญไปรับรู้เข้า ไปได้ยินเข้า อย่างเช่น เสียงมอเตอร์ไซค์ ขณะที่เรากำลังฟังธรรม เสียงหมาเห่า
เสียงมอเตอร์ไซค์ เขาก็ไม่ได้คิดจะมายั่วยุอะไรเรา แต่ว่าเผอิญเราไปได้ยิน หรือเผอิญเสียงมันมากระทบหูเรา เสียงหมาเห่าก็เหมือนกัน หรือแม้แต่เสียงโทรศัพท์มือถือในศาลาหอไตรขณะที่กำลังฟังธรรมอยู่นี้ พอเราไปใส่ใจ ไม่ว่าเราจะเป็นคนฟังหรือคนพูดก็ตาม เราก็จะเกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นมัว ทั้ง ๆ ที่เสียงเหล่านี้ เขาก็ไม่ได้มุ่งที่จะมารบกวนเราเลย แต่ว่าจิตเราจะถูกรบกวนด้วยเสียงเหล่านั้นทันที ถ้าเราไปใส่ใจกับเสียงเหล่านั้น แต่น้อยคนที่เลือกจะไม่ใส่ใจกับเสียงที่ว่า ทั้งที่ไม่ชอบ แต่ว่าพอเสียงมากระทบหู ก็ไปจดจ่อใส่ใจกับเสียงนั้นเต็มที่ กำลังฟังธรรมอยู่ แต่มีเสียงพูดคุยกันอยู่ข้างหลัง หรือว่าเสียงคนคุยอยู่ข้างล่าง หรือว่าเสียงโทรศัพท์ดังในศาลา ใจนี่มันพุ่งไปเลย ไปจดจ่ออยู่ที่เสียงเหล่านั้น และเกิดอะไรขึ้นตามมา เกิดความไม่พอใจ เกิดความหงุดหงิด นี่เป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักหันหลังให้มัน
ถ้าเราเลือกที่จะไม่ใส่ใจมัน มันก็ไม่รบกวนเรา ใจเรามันก็ไม่เกิดความหงุดหงิด เรียกว่า ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน หรือแม้จะมีคนมาพูดคุยกัน เขาจะคุยกันอย่างไร แต่เราก็เลือกไม่ใส่ใจเสียงนั้นได้ ไม่ว่าเราจะเป็นคนฟัง หรือว่าคนพูด แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไปใส่ใจเสียงนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออะไร จิตใจเราก็ถูกรบกวนทันที เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ ขาดสมาธิในการฟัง ขาดสมาธิในการพูด แล้วบ่อยครั้ง มันก็จะมีปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เราอดไม่ได้ที่จะไปจดจ่อใส่ใจ ด้วยความไม่พอใจก็คือ การให้ค่า หรือการตัดสิน ว่าการกระทำเหล่านี้มันไม่ถูกต้อง มาเปิดเสียงโทรศัพท์ขณะฟังธรรมบรรยายได้อย่างไร หรือว่าพูดคุยกันได้อย่างไร ในขณะที่คนอื่นเขากำลังฟังธรรมกัน หรือว่าขี่มอเตอร์ไซค์ส่งเสียงดังผ่านหอไตรได้อย่างไร แทนที่จะดับเครื่อง
มันจะมีการตัดสินให้ค่าว่าไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง พอเห็นว่ามันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง มันก็ยิ่งเกิดความไม่พอใจเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ยึดมั่นในความถูกต้อง พอเจออะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกระเบียบ ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่ถูกเวลา จิตมันจะพุ่งไปทันที ใส่ใจเต็มที่เลย แล้วก็จะเกิดความหงุดหงิด เสียอารมณ์ ขาดสมาธิ รวมทั้งไม่สามารถจะใส่ใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟัง หรือการพูด
[14:20]
การยึดมั่นในความถูกต้องนั้น ถ้าเราไม่ระวัง มันก็จะเป็นตัวการที่ทำให้เราหงุดหงิดหัวเสียกับอะไรต่ออะไรมากมาย ที่ได้ยินได้เห็น การที่เรารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป โดยเฉพาะยึดมั่นในความถูกต้องแบบของเรา พอใครทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง การที่เราจะไม่ใส่ใจกับสิ่งนั้น มันก็เลยเป็นเรื่องยาก จิตมันจะพุ่ง มันจะใส่ใจด้วยความไม่พอใจ แล้วก็เกิดความหงุดหงิดรำคาญ สุดท้ายเราก็เสียอารมณ์ สิ่งที่เราควรจะใส่ใจ ทำให้ดีที่สุด ก็เลยไม่สามารถจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟังคำบรรยาย หรือการพูด หรือแม้แต่การรักษาใจให้ปกติ ฉะนั้นต้องเลือก ต้องรู้จักที่จะไม่ใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้
สิ่งที่มันสามารถจะยั่วยุให้เราขุ่นมัวได้ แต่มันจะยั่วยุให้เราขุ่นมัวได้ ก็ต่อเมื่อเราไปใส่ใจกับมัน ถ้าเราไม่ใส่ใจ มันก็ทำอะไรกับเราไม่ได้เลย
แม้จะเป็นเสียงนินทา หรือว่าคำพูดว่าร้าย พอเราไม่ใส่ใจเสียอย่าง มันก็หมดพิษสง หมดอำนาจ ไม่ใช่เฉพาะเสียงอย่างเดียว การกระทำหลายอย่าง ที่เราบังเอิญเห็น แต่พอเห็นแล้ว เราก็ตัดสินว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็จะใส่ใจ แล้วก็เกิดผลตามมาคือความหงุดหงิด อย่างเช่นบางคน คุณน้า คุณป้า คุณลุง เวลาไปเจอพฤติกรรมของวัยรุ่น เห็นการแต่งตัวตามศูนย์การค้า บนท้องถนน หรือได้ยินคำพูดคำจา เห็นเขาจับมือถือแขนกัน ก็เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ เก็บเอามาฝังใจ มาถึงบ้าน ก็บ่นโวยวายให้คนที่บ้านฟัง ว่าวัยรุ่นสมัยนี้มันแต่งตัวกันอย่างนี้มันชะเวิบชะวาบ มันพูดกูมึง หรือว่ามันจับมือถือแขนกัน
คนพูดก็พูดด้วยความทุกข์ พูดด้วยความหงุดหงิด คนฟังก็ไม่สบายใจ เพราะว่าแม่ก็ดี ป้าก็ดี ออกไปข้างนอกทีไร กลับมาก็มีแต่เรื่องบ่น เรื่องต่อว่า อันนี้ก็เหมือนกัน เป็นเพราะว่าไม่รู้จักที่จะวาง หรือว่าไม่ใส่ใจ ไม่ถือสา เพราะว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย แต่คนเดี๋ยวนี้ก็มีความทุกข์ มีความหงุดหงิดมากกับเรื่องพวกนี้ เพราะมัวแต่ไปใส่ใจกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ หรือสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับตัวเองเลย อาจจะไม่ใช่คนที่เห็นตามท้องถนน วัยรุ่นตามศูนย์การค้า หรือว่าบนรถเมล์ รถไฟฟ้า แต่บางทีอาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมงานบางคนเขาแต่งตัว ดูมันไม่ค่อยสุภาพเท่าไหร่ หรือว่าใช้เงินเปลือง หรือว่าเจ้าชู้ ชอบเล่นการพนัน ที่จริงมันไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวเลย แต่ว่าก็ไปใส่ใจ เก็บเอามาคิด เอามาบ่น เอามาวิพากษ์วิจารณ์ เสร็จแล้วตัวเองก็ทุกข์ ทั้งที่มันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเอง หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับหมู่คณะ หรือการงานอะไรเลย
แล้วทุกวันนี้ มันก็มีเรื่องพวกนี้สู่การรับรู้ของคนเรามากมาย ถ้าเราไม่รู้จักหันหลังให้มันบ้าง หรือถ้าเรามัวแต่เอาแต่ใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ มันก็จะเกิดความทุกข์ เกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ แล้วไม่พอ ก็ยังระบายความทุกข์ใส่คนอื่น ให้เขาพลอยรำคาญไปด้วย เขาก็เลยไม่ค่อยอยากอยู่ใกล้ อันนี้เรียกว่า เป็นเพราะว่าไม่รู้จักเลือก ว่าอะไรควรใส่ใจ อะไรไม่ควรใส่ใจ เพราะฉะนั้นก็เลยมีเรื่องขุ่นเคืองขุ่นมัว ไม่ใช่กับเพื่อนร่วมงานอย่างเดียว กับเพื่อนบ้านด้วย เพราะว่าเขาทำอะไร ก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง มันไม่ถูกต้องในสายตาของเรา มันก็เลยกลายเป็นเรื่องขวางหูขวางตา แล้วก็เก็บเอามาบ่น เอามาโวยวาย
ถ้าเพียงแต่ว่าเรารู้จักที่จะไม่ใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้ ชีวิตเราจะมีความสุขขึ้นเยอะเลย จริงอยู่ บางอย่างมันไม่ใช่เป็นสิ่งที่มาสู่การรับรู้ของเรา หรือมันมากระทบกับเราทางตาทางหู แต่ว่ามากระทบกับเราโดยตรงเลย เรื่องแบบนี้ก็ต้องรู้จักปล่อยวาง หรือปล่อยให้มันผ่านเลยไปบ้าง อย่างที่เคยเล่า คุณยายนั่งรถเมล์ แล้วมีช่วงหนึ่ง ก็มีสาวพนักงานขึ้นมาบนรถ สะพายกระเป๋าใบโต แล้วก็นั่งข้าง ๆ คุณยาย นั่งแบบนั่งพรวดเลย กระเป๋าของสาวคนนั้นก็ไปโดนหัวคุณยาย เท่านั้นไม่พอ พอนั่งเสร็จก็ไม่รู้ค้นหาอะไร กระเป๋านั้นก็ไปสะกิดตัวสะกิดแขนคุณยาย แล้วเธอก็ไม่ค่อยสนใจนัก ว่าตัวเองไปทำอะไรกระทบคนอื่นบ้าง
หาแล้วหาเล่าไม่เจอ สงสัยคงหาโทรศัพท์ หาไม่เจอก็รีบลุก พอลุกขึ้นมาไม่ระวัง กระเป๋าก็เหวี่ยงไปที่หน้าคุณยาย คุณยายแกเอาแขนกันไว้ทัน ก็พอดีเลย ผู้ชายที่นั่งอยู่ข้างหลัง แกก็เลยพูดขึ้นมาเลย ทนไม่ได้ บอกว่า "นี่ คุณ ระวังกระเป๋าคุณหน่อย มันไปโดนคนอื่นแล้ว" ผู้หญิงคนนั้นก็มองหน้าชายคนนั้นอย่างเย็นชา แล้วก็ไม่แม้แต่จะเอ่ยขอโทษคุณยาย แล้วก็ลงจากรถเมล์ไปเลย ชายหนุ่มคนนั้นก็อดรนทนไม่ได้ ก็ถามคุณยายว่า ทำไมคุณยายนิ่ง ไม่พูดอะไรเลย คุณยายก็ตอบดี แกบอกว่า "เรื่องเล็กแบบนี้ ถ้าเราไปใส่ใจกับมัน มันก็จะเสียอารมณ์เราเปล่า ๆ อะไรที่ไม่สำคัญ ก็อย่าไปเสียเวลากับมันเลย ถ้าปล่อยให้มันผ่านเลยไป ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ประเดี๋ยวเดียวฉันก็จะลืมมันไปแล้ว แต่ถ้าเราไปใส่ใจมัน เห็นเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต เอาเรื่องเอาราวกับมัน ก็จะเกิดการทะเลาะ เกิดการวิวาทกัน ทำให้เสียอารมณ์ไปทั้งวัน เผลอ ๆ ถึงเวลานอน ก็นอนไม่หลับ"
แล้วคุณยายแกมองว่าเรื่องแบบนี้ แม้ว่ามันจะมากระทบเรา แต่ว่าก็อย่าไปให้ค่า เสียเวลากับมันเลย เพราะว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย คุณยายเลือกที่จะไม่ใส่ใจ เพราะว่าถ้าใส่ใจแล้ว มันก็จะเป็นเรื่องเป็นราว มันก็จะเกิดเรื่องยืดยาว แต่บางคน ยอมไม่ได้ เพราะเห็นว่ามันเป็นเรื่องของสิทธิ เป็นเรื่องของความถูกต้อง มันก็จริง ความถูกต้อง ความไม่ถูกต้อง บางอย่างเราก็ต้องยืนหยัดคัดค้าน แต่บางอย่างมันเสียเวลา เสียอารมณ์ ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราก็ต้องเลือกที่จะปล่อยให้มันผ่านเลยไป หรือเลือกที่จะไม่ใส่ใจ ไม่เก็บเอามาเป็นอารมณ์
[24:51]
ในชีวิตเรา แต่ละวันมันก็จะมีเรื่องแบบนี้เยอะ บางทีกำลังเข้าคิวเข้าแถว ก็มีคนมาแซง ในห้างบ้าง หรือว่าในโรงหนังบ้าง แล้วถ้าเราเลือกที่จะไปยืนยันสิทธิ์ จนกระทั่งเกิดการทะเลาะวิวาทกัน มันก็คงไม่คุ้ม บางครั้งเราก็ต้องเลือกที่จะไม่ใส่ใจ เพราะถ้าเราใส่ใจ เอาเรื่องเอาราวกับมัน ให้มันเป็นเรื่องใหญ่ มันก็จะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน แล้วก็เรื่องยืดยาว ที่จริงไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่อยู่นอกตัวเรา เสียง คำพูด การกระทำของผู้คน แม้กระทั่งเสียงในหัวเรา เราก็ควรที่จะไม่ใส่ใจมันบ้าง
บางครั้งมันก็มีเสียงบ่น เสียงโวยวาย อากาศร้อน ๆ แบบนี้ มันก็คงจะมีเสียงบ่นในใจในหัวเรา ว่าทำไมมันร้อนเหลือเกิน บางทีก็บอกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว เสียงบ่น เสียงโวยวายเหล่านี้ ในหัวเรานี่ ถ้าเราไปใส่ใจกับมัน เราแย่ เราควรเลือกที่จะไม่ใส่ใจกับมัน แล้วมันก็มีเสียงในหัวเราอยู่เรื่อย ๆ อาจจะไม่บ่นเกี่ยวกับเรื่องดินฟ้าอากาศ แต่ว่าบ่นคนโน้นคนนี้ เพราะว่าการกระทำและคำพูดมันไม่ถูกใจเรา หรือไม่ถูกต้อง
ที่จริง แม้จะไม่มีเสียงบ่นทำนองนี้เลย แต่ว่ามีเสียงที่เกี่ยวกับการรำพึงรำพันเรื่องราวในอดีต บางทีก็มีภาพความทรงจำในอดีตผุดขึ้นมา ระหว่างที่เรากำลังปฏิบัติ ระหว่างที่เรากำลังเดินจงกรม พวกนี้นี่ เวลาเราเดิน เวลาเราปฏิบัติ เราจะเห็น หรือสังเกตได้ ว่ามันเกิดขึ้นตลอดเวลา เรื่องราวความทรงจำเกี่ยวกับอดีต หรือว่าการปรุงแต่งเกี่ยวกับภาพในอนาคต ผุดขึ้นมา แล้วการเจริญสติคือการเลือกที่จะไม่ใส่ใจกับความคิดและอารมณ์เหล่านี้ แต่ว่าใหม่ ๆ เราจะรู้สึกว่าการปฏิบัติเป็นเรื่องยากมาก เพราะว่าความคิดใดเกิดขึ้น ใจมันก็ไปไหล หลุดเข้าไปในความคิดเหล่านั้น มันไปเอาจริงเอาจังกับทุกความคิด ทุกอารมณ์ ที่เกิดขึ้น เสร็จแล้วก็เลยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย ว่าทำอะไร
เสร็จแล้วก็โมโหตัวเอง ว่าทำไมคิดมากเหลือเกิน ทำไมฟุ้งมากเหลือเกิน ความคิดเหล่านี้ ถ้าเราไม่ใส่ใจมัน มันทำอะไรเราไม่ได้เลย อารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความหงุดหงิด ถ้าเราไม่ใส่ใจมันเลย เราก็ไม่ทุกข์ แต่เพราะว่าเรามัวแต่ใส่ใจทุกความคิดทุกอารมณ์ มันคิดอะไรก็หลงเชื่อมัน ความโกรธสั่งอะไรก็คล้อยตามมัน เราก็เลยไม่มีความสงบสุขเสียที
การปฏิบัติธรรม หรือการเจริญสติ ก็คือการเลือกที่จะไม่ใส่ใจกับความคิดและอารมณ์เหล่านี้ ไม่ใส่ใจกับอดีตหรืออนาคต แต่ว่าใส่ใจกับปัจจุบัน
ใส่ใจกับสิ่งที่กายกำลังทำ จึงรู้กาย แล้วก็ เวลามันมีความคิดอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น พอไม่ใส่ใจมัน จิตมันก็กลับมาสู่ความปกติ ถ้าเราฝึกให้รู้จักที่จะไม่ใส่ใจกับความคิดและอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นกุศล หรืออกุศล แต่ว่าเลือกที่จะใส่ใจกับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ถึงเวลาที่ไปเจออารมณ์จากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือการกระทำ คำพูด หรือว่าอากาศร้อน อากาศหนาว เราก็สามารถจะเมินเฉย ไม่ใส่ใจ ไม่ถือสามันได้ และเราก็สามารถจะเลือกใส่ใจกับสิ่งที่มีประโยชน์ มีคุณค่า เรียกว่าสิ่งล่อเร้าเย้ายวนก็ดี หรือสิ่งยั่วยุก็ดี ก็ไม่มีอำนาจเหนือจิตใจเราอีกต่อไป เพราะเราสามารถที่จะไม่ใส่ใจ หรือไม่ถือสา หรือว่าแม้จะเผลอไปใส่ใจกับมัน แต่ก็สามารถจะวางมันได้ หรือปล่อยให้มันผ่านเลยไป.