PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
  • ทำบุญ อย่าหวงบุญ
ทำบุญ อย่าหวงบุญ รูปภาพ 1
  • Title
    ทำบุญ อย่าหวงบุญ
  • เสียง
  • 13108 ทำบุญ อย่าหวงบุญ /aj-visalo/2024-10-21-05-29-10.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันจันทร์, 21 ตุลาคม 2567
ชุด
ธรรมะสั้นๆ ก่อนอาหารเช้า 2567
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • Tags
    การทอดกฐิน | กฐินสามัคคี
  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 19 ตุลาคม 2567

    [00:00] วันนี้วัดป่าสุคะโตมีงานใหญ่ งานใหญ่ที่ว่าก็คืองานทอดกฐิน ปีนี้เราทอดกฐินหลังจากออกพรรษาแค่วันเดียว หลายคนก็ทราบดีว่าการทอดกฐินนั้นไม่ว่าที่ใดเราจะทอดหลังจากออกพรรษาแล้ว แต่หลายคนไม่รู้ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องทอดเมื่อออกพรรษาแล้ว ทำไมทอดก่อนเข้าพรรษาไม่ได้ บางท่านก็เข้าใจว่าเป็นเพราะว่าออกพรรษาแล้วก็จะมีพระที่จะสึกหาลาเพศหรือว่าแยกย้ายกันไปจาริกธุดงค์ เพราะฉะนั้นก่อนที่ท่านจะแยกย้ายออกจากวัดก็ทำพิธีทอดกฐินเสียก่อน เพราะเป็นธรรมเนียมว่าพระเราจะไม่ยังไม่สึกหาลาเพศ ไม่จาริกไปไหนจนกว่าจะทอดกฐินแล้ว หลายคนก็เข้าใจเช่นนี้ว่าทอดกฐินก่อนที่พระจะแยกย้ายกันไป

    แต่ที่จริงแล้วเหตุผลหรือจุดมุ่งหมายมีมากกว่านั้นก็คือว่า การทอดกฐินนั้นสาระสำคัญก็คือเป็นการส่งเสริมเชิดชูสามัคคีธรรมในหมู่สงฆ์ เพราะในช่วงเข้าพรรษาหลายวัดจะมีพระหลายรูปมาอยู่ด้วยกัน การที่จะอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่นตลอดพรรษา 3 เดือนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยธรรมะหลายข้อซึ่งรวมแล้วก็คือสามัคคีธรรม พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับสามัคคีธรรมมากไม่ใช่เฉพาะในหมู่พระ แต่รวมถึงหมู่ญาติโยมด้วย เพราะเป็นแรงบันดาลใจหรือพลังที่ช่วยทำให้ความดีงามของบุคคลและของส่วนรวมเกิดได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การทอดกฐินเกิดขึ้นหลังจากออกพรรษาแล้ว เป็นการส่งเสริมเชิดชูหมู่สงฆ์ ที่วัดนั้นที่มีความสามัคคีอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น

    และความสามัคคีประการหนึ่งก็คือ การที่พระสงฆ์ทั้งวัดพร้อมใจกันมอบผ้ากฐินให้กับพระรูปใดรูปหนึ่ง นอกจากจะเป็นพระที่มีจีวรเก่าแล้วยังเป็นพระที่มีความประพฤติเรียบร้อย มีอาจาระงดงาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พระทั้งวัดตกลงเป็นเอกฉันท์มอบหมายให้พระรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้ครองผ้ากฐิน จะมีพระรูปใดรูปหนึ่งคัดค้านก็ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าอาศัยเสียงข้างมาก แต่ต้องอาศัยความเห็นที่เป็นเอกฉันท์เรียกว่าฉันทานุมัติซึ่งต้องอาศัยความสามัคคี เพราะฉะนั้นเมื่อพระในวัดมีความสามัคคีกันเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสงบราบรื่นหรือการพร้อมใจกันมอบผ้ากฐินให้กับพระรูปใดรูปหนึ่งไปครอง เพราะฉนั้นจึงเป็นเรื่องที่ญาติโยมควรจะส่งเสริมอนุโมทนาด้วย ซึ่งนี่คือจุดมุ่งหมายของการทอดกฐิน และยิ่งการทอดกฐินนั้นมีเวลาที่จำกัดคือภายใน 30 วันนับแต่วันออกพรรษาไปสิ้นสุดเอาวันลอยกระทง มีช่วงเวลาแคบๆ เรียกว่าหน้าต่างแห่งโอกาสก็ไม่กว้างสักเท่าใด เพราะฉะนั้นจึงเกิดเป็นเทศกาลทอดกฐินขึ้น และเลยกลายเป็นงานใหญ่หรืองานสำคัญเพราะปีหนึ่งทำได้แค่ครั้งเดียว จะทำก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ ไม่เหมือนสังฆทาน สังฆทานสามารถทำได้ตลอดปีและยิ่งกว่านั้นในแต่ละวัดจะรับกฐินได้แค่ครั้งเดียวใน 1 ปี ไม่เหมือนสังฆทานรับได้ไม่อั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีการทอดกฐินในแต่ละวัดจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่

    [05:40]  แต่ว่าการทอดกฐินนี้ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งจำเป็น หลายวัดเข้าใจว่าถ้าวัดตัวเองไม่มีการทอดกฐินแล้วจะเป็นเรื่องที่ไม่ดี รู้สึกเสียหน้า ถ้าจะเสียหน้าก็ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีคนมาทอดกฐิน ถ้าจะเสียหน้าก็เพราะว่าพระไม่สามัคคีกัน พระแตกแยกกัน อย่างนี้ต่างหากที่ควรจะรู้สึกเสียหน้า แต่ว่าถ้าไม่มีคนหรือโยมมาทอดกฐินก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เสียหายอะไร สมัยก่อนวัดป่าสุคะโตก็ไม่ใช่ว่าจะมีการทอดกฐินทุกปี เพิ่งมีช่วงหลังที่มีการทอดกฐินทุกปีต่อเนื่องกันมา บางวัดไม่เข้าใจพอไม่มีโยมมาทอดกฐินก็ต้องไปขนขวายหามา ไปโทรศัพท์หรือว่าไปหาญาติโยมว่ามาช่วยเป็นเจ้าภาพทอดกฐินหน่อย อย่างนี้ก็ไม่ถูกเพราะไม่ใช่เป็นหน้าที่ของพระแต่เป็นเรื่องของญาติโยม ไม่ใช่เป็นเรื่องของพระที่จะไปเจ้ากี้เจ้าการไปหาเจ้าภาพมาทอดกฐิน โดยเฉพาะถ้าไปเข้าใจว่าการทอดกฐินเป็นไปเพื่อหาเงินเข้าวัด เดี๋ยวนี้มีความเข้าใจแบบนั้น ว่าทอดกฐินคือการหาเงินเข้าวัด พระเมื่อไปขวนขายแบบนี้ก็จะยิ่งไม่เหมาะสมเข้าไปใหญ่เพราะเรื่องเงินเรื่องทองเป็นเรื่องของคฤหัสถ์แล้วแต่เขาจะมีจิตศรัทธา

    แต่ว่าเนื่องจากการทอดกฐินนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะส่งเสริมสามัคคีทำในหมู่สงฆ์เพราะฉะนั้นก็มีญาติโยมจำนวนหนึ่งตั้งแต่สมัยเก่าสมัยโบราณที่มีจิตศรัทธาอยากจะทอดกฐินให้กับวัดต่างๆ ก็เลยจัดการทอดกฐินที่เรียกกฐินเก็บตก ซึ่งภายหลังชาวบ้านเรียกว่ากฐินโจร กฐินเก็บตกหรือกฐินโจรก็คือกฐินที่ญาติโยมจำนวนหนึ่งไม่มากจะแค่1-2 คนอยากจะส่งเสริมพระที่จำพรรษาตลอดพรรษาแต่ไม่มีโยมมาทอดกฐินให้ ก็เลยทำเป็นกฐินโจร คือไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ถ้าวัดไหนมีคุณสมบัติพร้อมในการรับกฐินคือมีพระ 5 รูปขึ้นไปและอยู่กันอย่างสงบสุขก็จะไปทอดกฐินวัดนั้นเลย ด้วยการพายเรือและบรรทุกผ้าที่จะทำเป็นผ้ากฐิน ไม่ได้มีข้าวของอะไรมากเพราะสมัยก่อนกฐินสิ่งที่สำคัญคือผ้า เพราะฉะนั้นเรือแจวลำเล็กๆ ลำหนึ่งก็สามารถทอดกฐินได้เป็น 10 วัดทีเดียว

    ซึ่งต่างจากสมัยนี้จะทอดกฐินวัดใดวัดหนึ่งบางทีต้องใช้รถขนเครื่องไทยธรรมหลายคันทีเดียว เพราะน้ำหนักไม่ได้ไปอยู่ที่ผ้าเสียแล้วแต่ไปอยู่ที่บริขารโดยเฉพาะเงิน แต่สมัยก่อนนั้นเพียงแค่ผ้าผืนหนึ่งก็ทอดกฐินได้ ดังนั้นก็จะมีโยมจำนวนหนึ่งแม้จะไม่ร่ำรวยแต่มีจิตศรัทธา จะพายเรือไปตามลำน้ำเพราะสมัยก่อนวัดจะอยู่ติดลำน้ำ ติดแม่น้ำ ติดคลอง ถึงวัดใดที่เขาไม่เห็นธงจระเข้หรือธงเต่า แสดงว่ายังไม่มีการจองและยังไม่มีการทอดกฐิน ก็จะขึ้นไปที่วัดนั้นแล้วแจ้งเจ้าอาวาสให้ทราบและขอทำพิธีทอดกฐิน เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้ตามวัดต่างๆ จึงมีการติดธง ทั้งก่อนทอดกฐินและทอดกฐินแล้ว จะเป็นธงจระเข้ ธงปลา หรือว่าธงเต่าก็แล้วแต่ เพื่อคนที่ผ่านไปผ่านมาจะได้รู้ว่าวัดนี้มีการทอดกฐินแล้ว มีการจองแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่จะหาวัดทอดกฐินก็ผ่านไปเลยไปหาวัดที่ไม่ได้ติดธง และไม่ได้ทอดอะไรมากทอดแต่ผ้า แต่เดี๋ยวนี้การทอดกฐินกลายเป็นเรื่องใหญ่โตเป็นเรื่องหน้าตาและเป็นเรื่องการหาเงินเข้าวัด ส่วนจุดมุ่งหมายหรือเนื้อแท้ของการทอดกฐินก็ถูกมองข้ามไป

    เรื่องนี้การทอดกฐินถ้าเราเข้าใจว่าเรามาทอดเพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรมในหมู่สงฆ์ เพื่อส่งเสริมให้พระมีความมั่นคงในพระธรรมวินัย ถ้าเราเข้าใจแล้วการทอดกฐินก็จะเกิดคุณค่าขึ้นมา

    [11:03]  และสำหรับที่นี่ในทุกปีเราจะทอดกฐินที่เรียกว่า กฐินสามัคคี มีโยมบางรายบางปีบอกว่าขอทอดกฐินเจ้าเดียวได้ไหม ทางวัดเราไม่มีนโยบายเช่นนั้น เราบอกว่ามาทอดได้ เป็นเจ้าภาพได้ แต่ต้องอนุญาตหรือเปิดโอกาสให้คนอื่นร่วมเป็นเจ้าภาพได้ด้วย วัดป่าสุคะโตนี้กฐินแต่ละปีจะเป็นกฐินสามัคคี เพราะอะไร เพราะเปิดโอกาสให้คนได้ร่วมทำบุญ เจ้าภาพบางคนแม้จะมีปัจจัยมากแต่เราก็ไม่ส่งเสริมไม่สนับสนุนให้มาผูกขาดการเป็นเจ้าภาพในปีนั้นเพียงคนเดียว เราบอกว่ามันเป็นการส่งเสริมให้คนได้มีส่วนร่วมในบุญ อย่างนี้ก็เป็นบุญอย่างหนึ่งเรียกว่า “ปัตติทานมัย” ซึ่งคนมักจะเข้าใจว่าเป็นบุญที่อุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับ

    แต่ปัตติทานมัยจริงๆ ความหมายคือ บุญที่เกิดจากการแบ่งส่วนแห่งบุญกุศลให้กับผู้อื่น หรือพูดอีกอย่างก็คือว่าเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ร่วมทำความดีด้วย ในเมื่อคนที่อยากจะร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินก็ควรจะเปิดโอกาสให้เขาได้มาเป็นเจ้าภาพร่วมด้วยในปีนั้น เพราะฉะนั้นที่วัดนี้จึงมีแต่กฐินสามัคคี ใครที่อยากจะเป็นกฐินผูกขาดคนเดียววัดเราไม่สนับสนุนด้วยเหตุผลที่ว่า และญาติโยมก็เข้าใจว่า ในเมื่อเราอยากจะมาทำบุญเราก็อย่าเอาบุญคนเดียว เราต้องรู้จักแบ่งบุญให้คนอื่นหรือเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำบุญบ้าง

    การหวงบุญ หรือคิดจะครองบุญอยู่คนเดียวก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่งซึ่งชาวพุทธเราควรจะหลีกเลี่ยง

    เดี๋ยวนี้คนหวงบุญกัน เคยมีสามีภรรยาคู่หนึ่งมาถวายสังฆทานให้กับพระรูปหนึ่ง ปกติพระรับสังฆทานเสร็จพระท่านก็จะอนุโมทนา แต่โยมผู้ชายบอกว่าอย่าเพิ่งหลวงพ่อ อย่าเพิ่งอนุโมทนา แล้วก็ชวนคุยไปเรื่อยๆ คุยไปประมาณ 10 นาที 15 นาทีก็ยังไม่เปิดโอกาสให้พระอนุโมทนา จนกระทั่งภรรยาเดินออกไปจากศาลา สามีจึงบอกว่าหลวงพ่ออนุโมทนาได้แล้วท่านก็อนุโมทนาเสร็จก็สงสัยว่าทำไม ทีแรกท่านยังไม่อนุโมทนา ท่านบอกว่ารอให้ภรรยากลับมาก่อนแล้วเดี๋ยวจะอนุโมทนารับพรพร้อมกัน สามีบอกเอาตอนนี้แหละครับ ตอนนี้แหละดีแล้ว เวลานี้ดีแล้ว หลวงพ่อก็ถามว่าทำไม สามีก็บอกว่าถ้าภรรยามา เดี๋ยวบุญที่ได้รับต้องหาร 2 ผมจะได้รับแค่ครึ่งเดียว หวงบุญแม้กระทั่งภรรยาก็ไม่ยอมให้รับส่วนบุญเลย เข้าใจผิดนะ เพราะว่าแม้คนจะมารับพรกี่คนถ้าใจเราเปิดรับเราก็ได้รับเต็มๆ ไม่มีการหาร ไม่มีการหาร 2 หาร 3 ไม่เหมือนเงิน ไม่เหมือนโบนัสที่ต้องหาร หรือไม่เหมือนรางวัลหรือกำไรจากการขายหุ้นที่ต้องแบ่ง แต่บุญนั้นไม่ต้องแบ่ง รับได้เต็มๆ ถ้าใจพร้อม แต่การที่โยมท่านนี้พูดแบบนี้แสดงว่า

    1. เข้าใจผิดเรื่องบุญว่าบุญนั้นถ้ารับเยอะแล้วต้องหารตามจำนวนคน
    2. มีความหวงบุญ อยากจะครองบุญไว้คนเดียว อย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะถ้าเรามีจิตใจที่เป็นกุศลแล้ว เราพร้อมที่จะแบ่งบุญให้กับคนอื่นหรือเปิดโอกาสให้กับคนอื่นได้มาทำบุญร่วมกับเรา

    เพราะฉะนั้นที่วัดนี้เราจะไม่มีประเภทว่าเจ้าภาพรายเดียว และที่เหลือก็ต่อคิวเอาปีหน้า 2 ปีหน้า 10 ปีหน้า 50 ปีหน้า ไม่มี บางวัดมีแบบนี้แต่วัดนี้ไม่มี ใครอยากเป็นเจ้าภาพก็มาเป็นเจ้าภาพ เพราะกฐินที่นี่เป็นกฐินสามัคคีให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำความดี โรงทานก็เช่นกันโรงทานก็ไม่มีใครผูกขาดใครอยากมาเปิดโรงทานก็มาได้เลย ถ้าหากว่าเข้าใจจุดมุ่งหมายของการทำบุญ ที่นี่ไม่ว่าจะทำบุญอะไรเราจะเปิดโอกาสให้ได้ทำบุญ ไม่มีการผูกขาดเพราะเราไม่ส่งเสริมการหวงบุญ

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service