แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 2 ตุลาคม 2567
เมื่อวานมีเหตุการณ์ที่น่าสลดใจเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ หลายคนได้ข่าวแล้ว นั่นก็คือเหตุการณ์รถบัสนักเรียนจากจังหวัดอุทัยธานีเกิดเพลิงไหม้แถวรังสิต นักเรียนเต็มรถเกือบ 40 คน ครู 6 มีผู้เสียชีวิตเกินครึ่ง 20 กว่าคน เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ มีตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยม ระหว่างเดินทางจะไปทัศนศึกษาดูงานแถวเมืองนนท์ โรงไฟฟ้า แต่ยังไปไม่ถึง ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น เหตุการณ์แบบนี้ แต่ว่าก็เกิดขึ้นแล้ว เด็กจำนวนมากเสียชีวิต และที่บาดเจ็บสาหัสอีกมาก สำหรับผู้ที่จากไป เราในฐานะชาวพุทธสิ่งที่เราช่วยได้ก็คือว่าทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ให้ได้ไปสู่สุคติ
[01:31] แต่ว่านอกจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ที่ทุกข์มากและคนที่เราควรจะนึกถึงนี่ก็คือพ่อแม่ พ่อแม่ของเด็ก รวมทั้งพ่อแม่ของครูด้วยซึ่งอายุก็ยังไม่มาก ก็ยังแค่ยี่สิบกว่า เพิ่งจบ คนที่เป็นพ่อแม่นี่เรียกว่าใจคงแทบจะสลายเลย สิ่งที่เราช่วยได้อย่างหนึ่งก็คือว่าหลีกเลี่ยงการพูด การแสดงความเห็นในทางที่จะกระทบความรู้สึกของพ่อแม่ เพราะเดี๋ยวนี้เราแสดงความเห็นกันได้อย่างสะดวกผ่าน Facebook แล้วบางคนก็อยากจะปลอบใจ แต่คำปลอบใจบางอย่างอาจจะไม่ช่วยผู้ที่ประสบความสูญเสียเท่าไหร่ เช่น บางคนก็ปลอบใจว่า ลูกๆ หรือเด็กๆ ไปสู่สุคติแล้ว อันนี้คือคำปลอบใจที่เรามักจะใช้พูดกับคนที่สูญเสียคนรัก เป็นคำปลอบใจที่ดี แต่ว่าอาจจะไม่ใช่เวลา หรือบางคนก็บอกว่า อีกไม่นานลูกก็คงจะกลับมาเป็นลูกของเราใหม่ ถึงจะปรารถนาดีแต่ว่ามันไม่ช่วยเท่าไหร่
เพราะจริงๆ แล้วในยามนี้ผู้ที่สูญเสียเขาไม่ได้ต้องการคำปลอบใจ หรือบางคนเขาอาจจะให้คำแนะนำในทางธรรมะว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ คำพูดแบบนี้มีประโยชน์แต่ไม่ใช่เวลานี้ คนที่เศร้าโศกเสียใจเพราะสูญเสียคนรัก ลองนึกภาพถ้าเกิดว่าเราสูญเสียลูก สูญเสียคนรัก แล้วมีคนมาพูดแบบนี้ เราคงจะรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะในยามนี้คนที่ประสบความทุกข์เขาไม่ได้ต้องการคำปลอบใจ ไม่ต้องการคำแนะนำหรือว่าคำสอนทางธรรมะ เขาต้องการเพื่อนมากกว่า เพื่อนที่จะรับรู้ความรู้สึกของเขา แค่อยู่เป็นเพื่อนนิ่งๆ ถ้าเกิดว่าคนนั้นเป็นคนที่เรารู้จัก อยู่นิ่งๆ เป็นเพื่อนเขา ช่วยรับฟังความรู้สึกของเขา ไม่ต้องแนะนำอะไรมาก แค่แสดงความเป็นเพื่อนเขาก็ช่วยได้เยอะ เพราะในยามนี้คนเราเวลาสูญเสียก็ต้องการเพื่อนที่เข้าใจความรู้สึก ไม่ใช่ผู้ที่จะมาสอน มาแนะนำ
ฉะนั้นการให้ความเห็น หรือการปลอบใจ เป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง ต้องใส่ใจความรู้สึกของผู้สูญเสีย
การแสดงความเห็นบางอย่างจะไปกระทบความรู้สึกของผู้เป็นแม่ หรือผู้เป็นพ่อ หรือผู้ปกครอง ถึงแม้เราอาจจะไม่ได้คิดอะไร ทำด้วยความปรารถนาดี แต่พอโพสต์ข้อความบางอย่างไปแล้ว ถ้าเกิดพ่อแม่ที่สูญเสียลูกอ่านเขาอ่าน เขาจะรู้สึกแย่ เช่น บางคนก็ไปโพสต์ว่า “ทำไมถึงให้ลูกไปทัศนศึกษาไกลๆ เพราะลูกยังแค่อนุบาล” คำพูดแบบนี้มันไปซ้ำเติมคนที่เป็นพ่อแม่ของเด็ก ปรารถนาดีหรือห่วงใยก็จริงแต่ว่ามันไปกระทบความรู้สึก มันไปย้ำซ้ำเติมรอยแผลในใจของเขา
เดี๋ยวนี้เราแสดงความเห็นโดยไม่ค่อยคำนึงถึงความรู้สึก หรือผลกระทบที่จะตามมาถึงแม้ว่าเราปรารถนาดี บางคนก็โพสต์ภาพ โพสต์ข้อความสารพัด แต่ว่าไม่ได้นึกถึงปลายทางว่าถ้าเกิดคนที่เป็นพ่อแม่ของเด็กเขาอ่าน เขาจะรู้สึกอย่างไร บางคนก็คะนองปาก เหมือนกับว่าไม่รู้สึกรู้สากับความสูญเสียเลย เช่น ไปถามว่า ครูที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้จบมหาวิทยาลัยอะไร มันไม่ใช่เวลาที่จะมาถามหรือเขียนข้อความแบบนี้ แต่ว่าหลายคนก็ทำ เพราะว่าอยากจะเพิ่มไลก์ เพิ่มเรตติ้ง เพราะว่าถ้าทำอะไรที่มันเด่นน่าสนใจ ยอดไลก์ก็จะขึ้น คนก็จะสนใจ แต่ว่าลองนึกถึงคนที่เป็นพ่อแม่ของครูที่เสียชีวิตเขาจะรู้สึกอย่างไรกับข้อความแบบนี้ ถ้าไม่รู้สึกรู้สากับความเศร้าโศกความเสียใจก็ไม่ต้องทำอะไร แค่อยู่นิ่งๆ บางทีสำหรับบางคนการอยู่นิ่งๆ อาจจะดีกว่า เพราะพูดไปแล้วมันมีแต่เสีย เพราะว่าไม่ได้อ่อนไหวหรือเข้าใจความรู้สึกของผู้สูญเสีย
[07:19] นอกจากนั้นการแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ บางทีเราอาจจะต้องรอสักพักก่อน เพราะว่าข้อมูลมันสับสนมาก บางคนก็แสดงความเห็นว่า ทำไมคนขับรถหนีไป บางทีคนขับรถอาจจะไม่ได้หนีก็ได้ แต่อาจกำลังช่วยดับไฟก็ได้ ข้อมูลตรงนี้มันมาคนละทิศคนละทาง หลายคนก็มักแสดงความเห็นจากข้อมูลที่ได้รับทันทีโดยที่ไม่ได้เช็คไม่ได้ตรวจสอบ ซึ่งมันก็ธรรมดา ข้อมูลใหม่ๆ ตอนที่เกิดเหตุมันสับสนมาก แต่ว่าหลายคนก็ชิงแสดงความเห็นไปแล้ว ทาง Facebook บ้าง ทางทวิตเตอร์หรือเอ็กซ์ (X) บ้าง เพราะว่าอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็น ที่จริงควรจะเช็คให้มันแน่ใจว่าข้อมูลจริงๆ มันคืออะไร ไม่ว่าที่จะเกี่ยวกับรถ ไม่ว่าที่จะเกี่ยวกับคนขับรถ ไม่ว่าที่จะเกี่ยวกับเด็กก็ตาม อันนี้เป็นเรื่องที่ผู้คนควรจะใส่ใจให้มาก
ถามว่าสิ่งที่เราจะทำได้ถ้าเกิดว่าเราไม่รู้จักพ่อแม่ที่สูญเสียลูกนี่เราจะทำอย่างไร เราก็ส่งจิต ตั้งจิตปรารถนาดีไปให้เขา ความเมตตาของเรา ความปรารถนาดีของเรา ถ้าเราช่วยกันพร้อมใจกันส่งไปให้พ่อแม่ของเด็กของครูที่สูญเสียชีวิต ก็เชื่อว่าเขาคงจะได้รับ แล้วก็อาจจะทำให้เขามีกำลังใจมากขึ้น ตั้งจิตปรารถนาว่า ขอให้เขาได้ผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยดี จิตใจได้รับการเยียวยา อย่างนี้เป็นต้น และนอกจากสิ่งที่ควรทำกับผู้ที่จากไป คือครูและนักเรียนแล้ว หรือสิ่งที่ควรทำเกี่ยวกับพ่อแม่ที่สูญเสียลูกแล้ว เราก็ต้องกลับมาดูที่ตัวเราด้วย หลายคนก็มีความเศร้าโศกเสียใจมาก แม้ว่าผู้ที่สูญเสียไม่รู้จัก แต่ว่าการที่เด็กตายกันเยอะๆ แบบนี้นี่มันเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมเลยทีเดียว ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในเมืองไทย
[09:52] หลายคนก็บอกว่าฉันเศร้าไม่ได้เพราะว่าฉันปฏิบัติธรรมมา ที่จริงเราควร เพียงแค่รับรู้เฉยๆ ยอมรับ อนุญาตให้ตัวเองเศร้าได้ เพราะเราเป็นปุถุชน เราก็ย่อมมีความโศกเศร้าเป็นธรรมดา ไม่เสียหายที่เราจะโศกเศร้าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ต้องกดข่มมัน ขณะเดียวกันก็ควรจะถามด้วยว่า เหตุการณ์แบบนี้มันคงจะไม่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย เหตุการณ์ทำนองนี้อาจจะเกิดขึ้นอีก ถามว่า ถ้ามันเกิดขึ้นกับคนที่เรารักนี่เราจะทำอย่างไร หรืออาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราเองก็ได้ในวันข้างหน้า อาจจะไม่ใช่ถูกไฟคลอกในรถบัสแต่ว่าเจอเหตุการณ์ฉับพลันทำนองนี้ เพราะว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ อันนี้ควรจะถามตัวเราเอง สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ทำดีกับคนที่เรารักเสียแต่เดี๋ยวนี้ ทำดีกับเขาทุกวัน เพราะเราไม่รู้ว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่เราจะได้เจอกับเขาหรือเปล่า เขาอาจจะมีอันเป็นไปหลังจากวันนี้ ชั่วโมงนี้ หรือนาทีนี้ก็ได้ ถ้าเราทำดีกับคนที่เรารัก พูดจาด้วยดี ใส่ใจความรู้สึกของเขา อย่างน้อยเมื่อเขาจากไปเราก็จะไม่เสียใจว่า เราทิ้งอะไรที่แย่ ๆ ลงไปในจิตใจของเขาก่อนที่เขาจะจากไป
และที่จริงไม่ใช่ทำดีเฉพาะวันนี้ ทำดีทุกวัน ถึงเวลาที่เขาจากไปเราก็จะไม่เสียใจ
ถึงเวลาที่เราจากไปเราก็จะไม่มีความอาลัยอาวรณ์ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นลูกหลาน เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นเพื่อน เป็นคู่ครอง แล้วก็ถามตัวเองว่า ถ้ามันเกิดขึ้นกับเรา เราจะทำใจอย่างไร เราพร้อมแค่ไหนกับเหตุการณ์เหล่านี้ เพราะว่ามันปัจจุบันทันด่วนมาก แต่เท่านี้ยังไม่พอ คุณต้องถามต่อไปว่า แล้วเราจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับเรา หรือกับคนที่เรารักได้อย่างไร เรามีความพร้อมแค่ไหนเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินแบบนี้ในการที่จะเอาตัวรอด ไม่ว่าจะหัวใจหยุดเต้น ไม่ว่าจะเกิดไฟไหม้ในร้านอาหาร ในห้องประชุม หรือแม้กระทั่งในรถ แล้วก็อย่าคิดแต่เฉพาะตัวเรา คิดถึงคนอื่นด้วยว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับคนอื่นอีก ไม่ให้เกิดขึ้นกับเด็ก แล้วต้องทำให้การจากไปของคนเหล่านี้มีคุณค่ากับคนรุ่นหลัง เป็นเครื่องเตือนสติ เตือนใจว่าจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระทำของส่วนรวม ต้องมีการกวดขัน ต้องมีการหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก
เหมือนกับตอนที่เกิดแก๊สไหม้ระเบิดที่เพชรบุรีเมื่อ 30 ปีก่อน สูญเสียไปเยอะ แต่ว่ามันก็ทำให้มีการป้องกันในเวลาต่อมา ซึ่งแม้ว่าควรจะก่อนหน้านั้นแต่ก็ยังดีที่ยังมีการทำหลังจากนั้น แต่ว่าสุดท้ายมันก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก เพราะว่าความหละหลวมหรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะต้องมาต่อว่าใครตราบใดที่เรายังไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่ว่านี่คือสิ่งที่เราจะต้องคิดกันเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียหรือโศกนาฏกรรมแบบนี้ในอนาคต