แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 4 มีนาคม 2567
[01:30] ทำงาน ถ้าไม่ประกอบไปด้วยธรรมหรือไม่มีธรรมะกำกับ มันก็เกิดความเสียหายได้
ทำอะไรก็ตามถ้าเกิดว่าไม่มีศีลกำกับ มันก็เป็นงานมิจฉาอาชีวะได้ง่ายๆ หรือกลายเป็นงานที่ผิดศีลไป แต่ที่จริงแล้วทำงานมันไม่ใช่แค่มีศีลมากำกับเท่านั้น จะให้ได้ผลก็ต้องมีธรรมะข้ออื่นมาหนุนเสริมด้วย อย่างเช่น ความเพียร (วิริยะ) ความอดทน (ขันติ) รวมทั้งการมีสติด้วย ถ้าไม่มีสติ ใจวอกแวก ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว สิ่งที่ทำมันก็เกิดผลเสีย ขับรถถ้าไม่มีสติก็เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หรือว่าแม้จะทำสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีอันตรายอะไร แต่มันก็สำเร็จได้ยากถ้าไม่มีสติ เพราะว่าเจอสิ่งล่อเร้าเย้ายวนให้หันเหออกไปทำอย่างอื่น ไปสนใจอย่างอื่น ก็วางมือทำได้ไม่ตลอด
ที่จริงแล้วเวลาเราทำงาน ถ้าเราวางใจไม่เป็นเราก็เครียด ฉะนั้นไม่ได้เครียดเพราะตัวงานเท่านั้น แต่อาจจะเครียดเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับคน เวลาเราทำงาน เราไม่ได้ทำงานกับคนอย่างเดียว เราทำกับคนด้วย แล้วมันก็มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเกิดว่าไม่มีสติหรือว่าไม่รู้จักควบคุมโลภะ ก็อาจจะถูกกิเลสหรือความโลภนั้นครอบงำ งานที่ทำมันก็เลยสร้างความเสียหายผู้คนเดี๋ยวนี้มักพ่ายแพ้ต่อกิเลสเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วเรายังต้องเกี่ยวข้องกับคน คนที่เกี่ยวข้องแม้จะเป็นเพื่อนร่วมงานแต่ว่าก็มีมากมายหลายประเภท เป็นเพราะเกี่ยวข้องกับคนไม่ถูก วางใจไม่เป็น หลายคนก็เลยเครียด ทุกข์
ทุกวันนี้ที่เหนื่อย ที่ล้า ที่ละเหี่ยใจ ส่วนใหญ่มันไม่ใช่เพราะว่าตัวงานเท่าไหร่ แต่เป็นเพราะคนที่เกี่ยวข้อง แต่จะว่าเป็นเพราะคนที่เกี่ยวข้องมันก็ยังไม่ถูกทีเดียว ต้องพูดว่าเป็นเพราะว่าวางใจไม่ถูกกับคนที่ตัวเองเกี่ยวข้องด้วย
อย่างเจอคนที่ชอบโอ้อวด เป็นคนที่ชอบกินแรง หรือว่าเป็นคนที่มีอัตตาสูง อวดอยู่เสมอ หรือคิดอยู่เสมอว่ากูเก่ง กูเก่ง ใครที่ทำงานกับคนแบบนี้ ถ้าวางใจไม่เป็นก็ทุกข์มากเลย แล้วเดี๋ยวนี้ก็มีคนแบบนี้เยอะด้วย คนที่มีอัตตาสูง หรือคนที่คิดว่ากูเก่งที่สุด หรือเก่งที่สุดในโลกเลย และเวลาจะพูด จะแนะนำอะไร ก็ไม่ยอมรับ หรือว่าเวลาจะทำงานด้วยก็จะเอาแต่ความดีของตัวเอง ไม่ฟังคนอื่น แถมด้อยค่าคนอื่นด้วย มีคนเป็นทุกข์มากที่ต้องมาเจอกับคนแบบนี้ งานหนักนี้ยังไม่เท่าไหร่ งานจ้างนี้ก็ยังพอไหว แต่พอเจอเพื่อนร่วมงานแบบนี้แล้ว ก็ทำให้ห่อเหี่ยวหรือว่าเหนื่อยล้า มีคนถามถ้าเจอคนแบบนี้จะทำอย่างไรกับเขาดี ที่จริงก่อนที่จะคิดทำอะไรกับคนเหล่านี้ ต้องให้ความใส่ใจว่าจะทำอย่างไรกับใจของตัวเองก่อน อันนี้สำคัญกว่า
[09:01] ก่อนที่จะไปทำอะไรกับใคร ต้องกลับมาดูแลใจของตัวเองก่อน
กลับมาจัดการกับใจของตัวเองก่อน ก็คือรักษาใจไม่ให้โกรธ ไม่ให้เกลียด ไม่ให้เครียด เมื่อเจอคนแบบนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมะทีเดียว เพราะธรรมะจะรวมถึงการที่รู้จักรักษาใจด้วย จะทำงานให้ได้ดี มีผล หรือเกิดความสุขขึ้นมา นอกจากมีความขยัน มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ก็ต้องรู้จักดูแลใจของตัวเอง ไม่ใช่แค่รักษาใจไม่ให้ความโลภเกิดขึ้นเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่รวมถึงรักษาใจไม่ให้โกรธ ไม่ให้เกลียด เวลาเจอคนที่มีอัตตาสูงแบบนี้ คนส่วนใหญ่พอเจอเพื่อนร่วมงานที่ทำอะไรไม่ถูกต้อง มีนิสัยไม่น่ารัก อย่างแรกที่นึกเลยคือว่าจะจัดการกับเขาอย่างไร แต่ลืมว่ามันมีสิ่งอื่นที่ควรทำก่อนก็คือดูแลใจของตัวเอง มีสติเห็นความรู้สึกเกิดขึ้นในใจไหมเวลาเจอคนประเภทนี้ รักษาใจ อย่าให้ความโกรธความเกลียดมันครอบงำ เพราะถ้าเกิดขึ้นแล้วเราก็เป็นคนแรกที่ทุกข์ แล้วพอเราโกรธ เราถูกความเกลียดครอบงำใจ แล้วมันก็เผลอทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง สร้างปัญหาตามมา การที่เราจะรักษาใจไม่ให้โกรธ ไม่ให้เกลียด ไม่ให้เครียด นอกจากรู้จักดูแลสังเกตอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจแล้ว ก็ควรจะรู้จักที่จะไม่ให้ค่ากับการกระทำและคำพูดของคนเหล่านั้นด้วย
เราไม่ชอบคนประเภทนี้ แต่ว่าทำไมเราจึงไปให้ค่า ไปใส่ใจกับการกระทำและคำพูดของเขา มันก็เหมือนกับว่ามีหินวางเกะกะอยู่บนถนน หรือมีหนามอยู่ริมทาง สิ่งที่เราควรทำ ก็คือว่าหลีกเลี่ยงไม่ไปเดินเตะ ไม่ไปเอามือปัดไปถูกหนาม หรือว่าถ้ามีเศษแก้วอยู่บนถนน ก็ต้องระวังไม่ไปเหยียบเศษแก้วนั้น แต่ถ้าเราเอาเท้าไปเตะหินแล้วปวด เหยียบแก้วนั้นแล้วเจ็บ เพราะว่าไม่ได้ใส่รองเท้า หรือว่าเอามือไปถูกหนามแล้วปวด เราจะโทษใคร เรามักจะโทษหนาม โทษหิน โทษเศษแก้ว ว่ามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร หรือโทษว่า ใครวะ ทำไมไม่ไปปัดกวาดเศษแก้ว ไม่ไปเอาหินออกจากถนน หรือทำไมปล่อยให้มีหนามขวางทาง แต่เราไม่ค่อยถามตัวเองว่า แล้วเราไปเดินเหยียบเศษแก้วทำไม ทำไมเผลอไปเตะก้อนหิน หรือทำไมเอามือไปโดนหนามทิ่ม เมื่อปวดแล้วเราจะโทษใคร ฉะนั้นถ้าไม่อยากจะทุกข์ ไม่อยากจะให้ความโกรธความเกลียดครอบงำใจ ก็อย่าไปใส่ใจกับคำพูดการกระทำของเขา แต่คนเราก็แปลก ยิ่งไม่ชอบใคร ยิ่งรำคาญระอาใคร ยิ่งโกรธใคร ยิ่งสอดส่ายคอยจ้องอยากจะรู้ว่าเขาพูดอะไร เขาทำอะไร ยิ่งจดจ่อใส่ใจเป็นพิเศษ เสร็จแล้วก็ทุกข์เอง เจ็บเอง
อันนี้ต้องอาศัย สติ สติจะบอกให้เรารู้ว่านี่เราไปจดจ่อ ใส่ใจ ให้ค่ากับการกระทำและคำพูดของเขาแล้ว ถอนใจออกมาจากการกระทำและคำพูดของคนเหล่านั้น ทำอย่างนี้ได้มันถึงจะรักษาใจให้ไม่ทุกข์ ไม่โกรธ ไม่เครียด แล้วที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า อย่าไปคาดหวัง ไปคาดหวังว่าเขาจะต้องพูดอย่างโน้นพูดอย่างนี้ หรือคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตัว เมื่อผิดก็รู้จักยอมรับ เป็นเพราะเราไปคาดหวังให้เขาเป็นอย่างที่ควรจะเป็น พอเขาไม่เป็นอย่างนั้นก็เลยทุกข์ ก็เลยเครียด ก็เลยแค้น และที่คาดหวังอีกอย่างหนึ่งก็คือ อยากจะให้เขาชื่นชมเรา เวลาเราทำอะไรดีก็อยากให้เขาชื่นชมเรา อยากให้เขายอมรับเรา แต่พอเขาด้อยค่าเรา ก็เลยโกรธ โมโห เราจะไม่โกรธ ไม่โมโห ไม่ผิดหวังเขา ถ้าเราไม่คาดหวังในตัวเขาว่าเขาจะชมเรา เขาจะให้เครดิตเรา หรือว่าเขาจะไม่ด้อยค่าเรา แต่พอเราไปคาดหวังแบบนั้นเข้า แล้วเขาไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง ก็เลยทุกข์ ก็เลยโมโห
[16:37] ถ้าไม่อยากทุกข์ก็อย่าไปคาดหวังเขา ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น
ไม่คิดจะไปเปลี่ยนแปลงเขา แล้วก็ไม่คิดจะไปโต้เถียงเพื่อให้เขายอมรับว่าเราก็ถูก บางทีเขาไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราเสนอนี้มันใช้ได้ แถมเขายังว่าเราอีก แล้วเราก็ไปโต้แย้งโต้เถียง ฉะนั้นถ้าเราไปเสียเวลาโต้เถียงเพื่อให้เขายอมรับว่า ที่เราเสนอมานี้ มันก็ถูก หรือว่าความคิดของเขา มันอาจจะไม่ถูกก็ได้ พอไปเสียเวลาโต้เถียง แล้วเขาไม่ยอมรับ เราก็เลยทุกข์เพราะฉะนั้นนอกจากไม่ไปให้ค่ากับการกระทำและคำพูดของเขาแล้ว ก็อย่าไปเสียเวลาโต้เถียงเพื่อให้เขายอมรับว่าเขาผิด เขาพลาด หรือความเห็นเขาไม่ถูกต้อง ของเราดีกว่า ถูกต้องกว่า หรือคาดหวังให้เขาชื่นชมสรรเสริญเรา ถ้าเราไม่ไปให้ค่ากับการกระทำและคำพูด ไม่ไปคาดหวังว่าเขาควรจะเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ แล้วก็ไม่เสียเวลาที่จะไปเปลี่ยนความคิดของเขา โต้แย้งกับเขา จนกระทั่งกลายเป็นการทะเลาะวิวาท มันก็ไม่ทุกข์ แต่ว่าเป็นเพราะว่าเราลืมตัว ไม่ได้ดูแลใจของตัวเองเพียงพอ แล้วก็ไม่ค่อยยอมรับความจริงหรือยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น เรื่องนี้เป็นเรื่องของธรรมะ
ธรรมะคือการที่เราไม่เพียงแค่รู้ทันอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ แต่ก็รู้จักรักษาใจไม่ให้ไปหาเรื่องมาใส่ตัว
หรือไม่ไปหาความทุกข์มาซ้ำเติมตัวเอง ด้วยการไปให้ค่ากับการกระทำและคำพูดของเขา ซึ่งก็ไม่ต่างจากการที่เดินไปเตะหินหรือว่าเดินไปเหยียบเศษแก้ว หลายคนบ่นว่าทำงานแล้วเจอเจ้านายที่เห็นแก่ตัว สนใจแต่ประโยชน์ของตัว ไม่สนใจทำหน้าที่ ไม่สนใจคนอื่น จะทำอย่างไรกับเขาดี อันนี้ก็เหมือนกัน ก่อนที่คิดจะทำอะไรกับเขา ต้องกลับมาดูแลใจของตัวเองก่อน กลับมาทำงานกับใจของตัวเองก่อน บ่อยครั้งเราคิดจะไปเปลี่ยนคนอื่นแต่ว่าลืมดูใจของเรา คิดจะไปจัดการคนอื่นแต่ว่าลืมจัดการกับใจของตัวเอง เช่นเดียวกัน เวลาเจอเจ้านายแบบนี้ รักษาใจ อย่าให้ความโกรธความเกลียดมันครอบครอบงำใจ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คืออย่าเพิ่งท้อ บางทีพอเจอเจ้านายแบบนี้แล้ว หลายคนก็บอกท้อ พอเขาไม่ใส่ใจในการทำงาน เราก็เลยไม่ค่อยอยากจะกระตือรือร้นทำงานด้วย อันนี้ถือว่าวางใจผิดแล้วก็ปฏิบัติผิดแล้ว เพราะว่าในเมื่อเราเห็นว่าเขาทำอะไรไม่ถูก เราก็ไม่ควรให้เขามาเป็นครูของเราหรือว่าเดินตามรอยเขา
ในเมื่อเขาไม่ใส่ใจในการทำหน้าที่ของเขา แล้วควรหรือเปล่าที่เราก็จะพลอยไม่ใส่ใจในการทำหน้าที่ของเราด้วย
อันนี้ก็ไม่ถูก เขาจะไม่รับผิดชอบ ละเลยหน้าที่การงานอย่างไร แต่เราก็ยังดูแลใส่ใจรับผิดชอบกับงานของเรา ไม่มีคำว่าท้อ ถ้าเราปล่อยให้คนเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลในการบั่นทอนกำลังใจของเรา ก็แสดงว่าเรายอมให้เขาเป็นนายของเรา เป็นนาย หมายถึง เป็นนายในการบงการชีวิตของเรา ไม่ใช่แค่เจ้านายของเราในการทำงานเท่านั้น เช่นเดียวกัน เวลาเราเจอใครที่ทำให้เรารู้สึกโกรธ เรากำลังปล่อยให้เขามามีอำนาจเหนือเรา มาเป็นนายของเรา มาบงการจิตใจของเรา และทำให้เราอยู่อย่างไม่มีความสุข ฉะนั้นไม่ว่าเราจะเจอเพื่อนร่วมงาน จะเจอเจ้านายที่มีนิสัยไม่น่ารัก ไม่ว่าจะลักษณะใดก็ตาม ก่อนที่จะไปจัดการกับเขา กลับมาดูแลใจของตัวเองก่อน อย่าให้ความโกรธ ความเกลียด ความท้อ มันครอบงำ จนกระทั่งเราไม่เป็นอันทำงาน แล้วก็กลายเป็นว่าเราบกพร่องในหน้าที่ ไปว่าเขาว่าเขาบกพร่องในหน้าที่แต่สุดท้ายเราก็ทำอย่างนั้นเสียเอง อันนั้นก็ไม่ถูกแน่
ธรรมะสำคัญตรงนี้ เพราะว่าถ้าเราไม่เอาธรรมะมาใช้ในการทำงาน มาใช้ในการดำเนินชีวิต เราก็จะปล่อยให้คนที่น่าระอา ประพฤติตนไม่ถูกต้องมาบงการชีวิตจิตใจของเรา แล้วทำให้เราทุกข์ ทำให้เราท้อ ทำให้เราบกพร่องในหน้าที่ แต่แน่นอนถ้าหากว่าเราสามารถที่จะพูดทักท้วงเขาได้ ก็ถือว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ไม่ว่าในฐานะเพื่อนร่วมงานหรือในฐานะของลูกน้อง อันนี้เรียกว่าเป็น การทำกิจ ทำกิจ ก็คือการทักท้วง ตักเตือน หรือแนำ แต่ทำแล้วไม่ฟังก็ไม่ลืมทำจิต ต้องทำจิตควบคู่กับการทำกิจ ต้องทำไปด้วยกัน ดังนั้นธรรมะสำคัญตรงนี้ ทำงานอะไรก็ตาม นอกจากความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์สุจริต จะต้องมีสติ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อให้เราทำงานได้ดี ต่อเนื่อง ไม่เหยาะแหยะ แต่ยังช่วยทำให้เราสามารถเกี่ยวข้องกับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านาย เกี่ยวข้องด้วยใจที่ไม่ทุกข์ ทำให้เราสามารถที่ประพฤติตนได้อย่างถูกต้อง
[26:32] ใครเขาจะเป็นอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ไม่เอาการกระทำของเขามาบั่นทอน
ไม่ใช่แค่บั่นทอนความสุขของเรา แต่บั่นทอนความตั้งใจที่จะทำหน้าที่ของเราให้ถูก ให้ดี ซึ่งถ้าหากว่าเราจะทำได้ก็อาจจะต้องบอกเพื่อนๆ ว่าอย่าไปท้อแท้ เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายแบบนี้ เขาทำไม่ถูกก็เป็นเรื่องของเขา ข้อสำคัญก็คือเราต้องทำให้ถูก เขาไม่รับผิดชอบก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราก็ยังรับผิดชอบต่อไป ไม่ใช่ว่าพอเขาทำไม่ถูก เราก็เลยท้อแท้ แล้วก็เลยบกพร่องในหน้าที่ ปล่อยปละละเลย ที่จริงอันนี้มันเป็นหน้าที่ที่จำเป็น แม้กระทั่งกับความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย ระหว่างพ่อแม่ลูก พ่อแม่จะเป็นอย่างไร บกพร่องในหน้าที่อย่างไร แต่ลูกนี้ก็ไม่คับแค้น หรือไม่ละเลยในการที่จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ถูกต้อง พ่อไม่ทำหน้าที่ ติดเหล้า แม่เล่นการพนัน แต่ลูกก็ยังมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ไม่ใช่พอเขาทำตัวไม่ถูกต้อง ลูกก็เลยเลิกเคารพนับถือพ่อแม่ ไม่สนใจที่จะแสดงความกตัญญูรู้คุณ อันนี้ก็ไม่ถูก
เขาบกพร่องในหน้าที่ก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราจะยังคงประพฤติธรรมหรือประพฤติความถูกต้องต่อไป นี่เป็นเรื่องของธรรมะ ที่จะต้องนำมาใช้ควบคู่กับการทำงานและในความสัมพันธ์กับผู้คนทั้งหลาย.