แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อีกไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็จะขึ้นปีใหม่ และเช่นเดียวกันกับปีก่อนๆ ที่จะมีหลายสิ่งหลายอย่างให้เราต้องเจอะเจอหรือผ่านเข้ามาในชีวิต สิ่งต่างๆ เหล่านี้แม้จะมีมากมายเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็จำแนกได้แค่ 2 อย่างเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราหรือว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา
อย่างแรก คือ สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่ถูกใจ สิ่งที่เราปรารถนา คาดหวัง
อย่างที่ 2 คือ สิ่งที่ไม่ถูกใจเรา สิ่งที่เราไม่ประสงค์ ไม่คาดหวัง ไม่อยากเจอะเจอ
ซึ่งอันที่จริงอาจจะมีประเภทที่ 3 คือ สิ่งที่เราเฉยๆ แต่ว่าสิ่งที่เรารู้สึกเฉยๆ มันจะมีน้อยเมื่อเทียบกับ 2 สิ่งแรก แล้วก็มีอิทธิพลต่อชีวิตของเราน้อยกว่า 2 สิ่งแรก เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว ที่สำคัญๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้อง ที่เราต้องเจอะเจอ ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะในปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป แต่ว่าต้องเจอะเจอมาโดยตลอดก็คือ 2 อย่างนั้นแหละ
สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถูกใจ สิ่งที่ปรารถนา มันก็มีอยู่ 2 อย่าง ถ้าจำแนกอย่างคร่าวๆ อย่างแรก คือสิ่งที่เติมสีสันให้กับชีวิตของเรา เช่น อาหารที่อร่อย เพลงที่เพราะ หรือว่าความสนุกสนาน สำหรับบางคนอาจจะได้แก่เกมออนไลน์ หลายคนอาจจะได้แก่โทรศัพท์มือถือ เพลินกับการไถทั้งวัน หรือบางคนอาจจะได้แก่การที่อยู่สบาย นั่งๆ นอนๆ สิ่งที่เติมสีสันให้กับชีวิตของเรานี้ ทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธ พระพุทธเจ้าเคยตรัสในธรรมที่ชื่อว่า ‘อายุวัฒนธรรม’ คือ ธรรมที่ทำให้อายุยืน
ข้อแรกก็คือ รู้จักทำความสบายให้แก่ตัวเอง ความสบายไม่ได้หมายถึงการอยู่สบายๆ อย่างเดียว อาจจะรวมถึงการที่ไม่ได้ทำงานหนัก การที่มีอาหารที่อร่อย หรือว่าเสื้อผ้าที่สวยงามก็ได้ แต่ว่าก็มีข้อที่ 2 ตามมา คือให้รู้จักประมาณในความสบาย คือให้รู้จักความพอดี เพราะถ้าสบายมากไปก็อาจจะเกิดโทษ กินแต่ของอร่อยก็จะเกิดอันตราย เกิดปัญหาสุขภาพ ถ้านั่งๆ นอนๆ หรือว่าไม่ค่อยออกกำลังกายก็อาจจะเจ็บป่วย
[05:27] สิ่งที่เราชอบที่เป็นสีสันของชีวิตก็เช่นกัน แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเพลิดเพลิน แต่ว่าท่าทีที่เราควรมีก็คือให้รู้จักความพอดี ให้รู้จักประมาณ เพราะว่าถ้าเราเสพมากไป หรือว่าบริโภคมากไป ให้เวลากับมันมากไป ก็จะเกิดโทษได้
เราลองมานึกดู ชีวิตของคนเราส่วนใหญ่โทษที่เกิดขึ้นมักจะเกิดจากสิ่งที่เราชอบ ชอบกินของหวานมากก็เลยเป็นเบาหวาน คนที่เป็นโรคหัวใจเพราะอะไร ก็เพราะชอบกินขาหมู ชอบกินสเต็ก ชอบกินเนื้อ หลายคนมีปัญหาเรื่องไตเพราะอะไร เพราะชอบกินของเค็ม คนเดี๋ยวนี้มีความเจ็บป่วย ส่วนใหญ่แล้วเพราะของที่ชอบทั้งนั้น ไม่ต้องพูดถึงบุหรี่หรือเหล้า เด็กๆ หลายคนไม่อันเป็นเรียนหนังสือเลยเพราะว่าติดเกมออนไลน์ บางทีไม่ใช่แค่เสียเวลาอย่างเดียว เสียเงินเป็นแสนเป็นล้าน ทั้งที่หาเงินไม่ได้เพื่อทุ่มเทกับเกมออนไลน์
ของที่ไม่ชอบไม่ค่อยก่อโทษหรือก่ออันตรายแก่เรา เพราะว่าเราไม่ค่อยอยากจะไปยุ่งเกี่ยวกับมันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ที่เราเดือดร้อน ที่เราเป็นทุกข์ หรือที่เกิดปัญหาก็เพราะของชอบ บางคนชอบเล่นพนัน หนี้สินเรียกว่าล้นพ้นตัว ไม่ต้องพูดถึงคนที่ชอบกาแฟ ชอบโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์มือถือ ไถทั้งวันจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน
สิ่งที่เป็นอันตรายแก่เราทุกวันนี้มันไม่ใช่ของที่เราไม่ชอบ ซึ่งล้วนแต่เป็นของที่เราชอบทั้งนั้น เพราะฉะนั้นแม้มันจะทำให้ชีวิตของเรามีสีสัน มีความสุข แต่ว่าก็ควรจะรู้จักความพอดี ท่านใช้คำว่า ‘รู้จักประมาณ’ ความรู้จักประมาณในการบริโภคนี้เป็นข้อหนึ่งเลยในโอวาทปาติโมกข์
สิ่งที่เราชอบ นอกจากสิ่งที่เป็นสีสันของชีวิตหรือเพิ่มความเอร็ดอร่อยให้กับชีวิตแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิต เช่น สุขภาพที่ดี แข็งแรง มีกำลังวังชา ไม่เจ็บไม่ป่วย หรือว่าการงานที่ดี มั่นคง ราบรื่น ครอบครัวที่อบอุ่น ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลแน่นแฟ้น อาจจะรวมไปถึงการได้รับความยอมรับจากผู้คน สิ่งที่ว่านี้ใครๆ ก็ชอบ แล้วมันก็มีคุณค่าต่อชีวิตด้วย แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะหามาได้ง่ายๆ อย่างของจำพวกแรก อาหารที่อร่อย เพลงที่เพราะ เกมออนไลน์ พวกนี้มันต้องอาศัยการเสพ แล้วก็มันหาง่าย แต่สิ่งที่เป็นคุณค่าต่อชีวิต เช่น สุขภาพที่ดี ครอบครัวที่อบอุ่น การงานที่ราบรื่นประสบความสำเร็จ พวกนี้มีเงินก็ไม่ใช่ว่าจะได้ มันต้องลงแรง บางทีก็เรียกว่าต้องลงทุนลงแรง ต้องทำความเพียร
คุณจะมีสุขภาพดี คุณก็ต้องหมั่นขยันออกกำลังกาย คุณจะมีการงานที่ดี คุณก็ต้องหมั่นต้องขยันเรียน มีวิชาความรู้ แล้วก็ขยันทำงาน คุณจะมีครอบครัวที่ดี คุณก็ต้องให้เวลากับบุคคลในครอบครัว ต้องรู้จักอดทนอดกลั้น พูดรวมๆ คือ ต้องมีความเพียร ต้องมีความพยายาม ต่อเมื่อมีความเพียร ความพยายาม ให้เวลากับมัน เราจึงจะประสบหรือเข้าถึงสิ่งดีๆ ที่เราชอบ ที่เราปรารถนา ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าสิ่งที่ชอบประเภทแรกนั้น มันมักจะดึงเวลา ดึงความสนใจของเรา จนกระทั่งเราไม่มีเวลาให้กับสิ่งที่ชอบประเภทที่ 2 เช่น ชอบกินของอร่อย ชอบกินของหวาน ชอบกินเนื้อ สุขภาพก็เลยแย่ แล้วแถมไม่ออกกำลังกาย นั่งๆ นอนๆ โรคภัยก็ถามหา ไถโทรศัพท์มือถือทั้งวัน ก็เลยไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก ไม่มีเวลาให้กับคนรัก
แล้วมันต้องใช้ความตั้งอกตั้งใจ ต้องใช้การรู้จักบริหารเวลา แล้วก็ต้องใช้ความเพียรพยายาม มันยากที่เราจะสามารถประสบเข้าถึงสิ่งที่เราชอบประเภทที่ 2 ได้ สุขภาพ ครอบครัว การงาน ความสัมพันธ์ การเป็นที่ยอมรับ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่าย เป็นเรื่องที่ยากแต่ก็ไม่เหลือวิสัย แต่สิ่งที่ยากกว่าคืออะไร ก็คือการที่เราต้องเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบ การที่เราเพียรพยายามจนกระทั่งมีสุขภาพดี มีการงานที่ดี มีครอบครัวที่ดี ได้รับสิ่งดีๆ ในชีวิต มันเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลา ต้องทุ่มเท ต้องใช้ความเพียรพยายาม ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าก็คือการยอมรับสิ่งที่ไม่ชอบ ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เราชอบ
การที่จะทำงานให้สำเร็จต้องใช้ความเพียรความพยายาม เป็นเรื่องยาก แต่ที่ยากกว่าก็คือการทำใจยอมรับเมื่อเจอกับความล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จ การที่เราจะยอมรับความล้มเหลวความไม่สำเร็จด้วยใจที่สงบ เป็นเรื่องยากกว่าการที่เราประสบความสำเร็จ สุขภาพเป็นสิ่งที่เราชอบ แล้วเราก็พยายามที่จะประคองรักษาตัว รักษาสุขภาพให้ดี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่สิ่งที่ยากกว่าก็คือยอมรับความเจ็บป่วย แล้วเราปฏิเสธไม่ได้ว่าในชีวิตของเรานั้นหรือในแต่ละวัน เราจะต้องเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบ แม้เราจะพยายามที่จะให้ได้บรรลุถึงสิ่งที่เราชอบก็ตาม ความสำเร็จ ความสุข การมีสุขภาพดี การมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น แต่ว่าสิ่งที่ตรงข้ามมันก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ แล้วมันเกิดขึ้นได้เสมอ ในโลกนี้การที่เราจะเจอแต่สิ่งที่ชอบมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องเจอกับสิ่งที่เราไม่ชอบด้วย
ในขณะที่มันมีวิธีการต่างๆ มากมาย ที่สอนเราว่าเราจะบรรลุถึงความสำเร็จได้อย่างไร เราจะมีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร เราจะมีครอบครัวที่อบอุ่นได้อย่างไร มี How to เพื่อที่จะบรรลุถึงสิ่งเหล่านี้มากมาย แต่สิ่งที่พูดถึงกันน้อยก็คือว่า แล้วถ้าเราไม่บรรลุ ถ้าเราไม่ได้สิ่งนั้น แทนที่จะได้ความสำเร็จกลับเจอความล้มเหลว แทนที่จะได้การมีสุขภาพดี มีกำลังวังชา กลับเจอความเจ็บป่วย แทนที่เราจะมีครอบครัวที่อบอุ่น ปรากฏว่าบางคนในครอบครัวที่เรารักล้มหายตายจากไป เราจะทำอย่างไร
อย่างที่อาตมาบอกว่าการที่เราจะได้บรรลุถึงสิ่งที่ชอบนั้นมันยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าก็คือการที่เราจะสามารถจะยอมรับสิ่งที่ไม่ชอบด้วยใจที่สงบ สิ่งที่เป็นความล้มเหลว ความเจ็บป่วย ความสูญเสีย พลัดพราก ไม่ว่าจะเป็นของรักหรือคนรัก การที่คนรักไม่เป็นไปตามใจ อาจจะมีจากเป็นหรือจากตาย หรือการที่ไม่ได้รับคำยกย่องสรรเสริญ มีแต่คำต่อว่าด่าทอ แล้วถ้าเราไม่รู้จักยอมรับสิ่งนี้ มันก็จะเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับเรา
[17:47] เราถูกสอนมาว่าจะทำอย่างไรเราถึงจะบรรลุความสำเร็จ แต่เราไม่ค่อยได้รับคำแนำว่าเราจะควรทำอย่างไรหรือควรจะวางใจอย่างไรเมื่อเจอสิ่งตรงข้าม
How to สู่ความสำเร็จนี้ มี How to สู่ชีวิตขาขึ้นมีเยอะ แต่ How to ในการรับมือกับความล้มเหลว หรือ How to ในการรับมือกับชีวิตขาลง เรากลับไม่ค่อยได้พูดถึงกันเท่าไหร่ หรือไม่ค่อยได้ใส่ใจกันเท่าไหร่ อาตมาว่าเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจกันให้มาก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องประสบ ไม่ว่าจะดูแลสุขภาพดีอย่างไร ก็อาจจะมีวันที่ต้องเจ็บป่วย ไม่ว่าจะทำงานดีอย่างไร ประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าก็ต้องเจอกับความล้มเหลว ไม่ว่าเราจะดูแลคนรัก ให้เวลากับเขาอย่างไร สุดท้ายก็ต้องมีวันที่เขาไม่เป็นไปดังใจ หรือว่าเขาต้องจากเราไป เราจะทำอย่างไร
อาตมาคิดว่าสิ่งสำคัญก็คือ การรู้จักยอมรับสิ่งเหล่านี้เมื่อมันเกิดขึ้น เพราะถ้าเรายอมรับไม่ได้ มันก็จะเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ให้กับเรา เมื่อเจ็บป่วย เรายอมรับความเจ็บป่วยไม่ได้ มันก็จะไม่ใช่แค่ป่วยกายแต่ป่วยใจด้วย เมื่อสูญเสียทรัพย์ เรายอมรับไม่ได้ ก็จะไม่ใช่แค่เสียทรัพย์ อาจจะเสียสุขภาพจิต แล้วก็ตามไปด้วยการเสียสุขภาพกาย แล้วก็เสียงานเสียการ แล้วอาจจะเสียความสัมพันธ์กับคน เพราะว่าพออารมณ์ไม่ดีก็หงุดหงิดใส่คนไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นลูก คนรัก เพื่อนร่วมงาน เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้างานล้มเหลวแต่วางใจไม่ถูก ยอมรับไม่ได้ มันก็จะไม่ใช่แค่งานล้มเหลว แต่ตัวเองก็จะล้มเหลวไปด้วย บางคนก็ถึงกับหมดสภาพไปเลยหรือถึงกับทำร้ายตัวเอง
ในยามที่คนรักของเราล้มหายตายจากไป ถ้าเรายอมรับไม่ได้ บางทีเราจะเสียยิ่งกว่านั้น อย่างมีครอบครัวหนึ่ง สามีเป็น Family Man ดูแลภรรยา ใส่ใจลูก ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่กินเหล้า ให้เวลากับครอบครัวมาก แล้ววันหนึ่งสามีป่วย ภรรยาชะล่าใจ ไม่คิดว่าจะเป็นอะไรมาก ในที่สุดก็พบว่าสามีเป็นโรคร้ายมะเร็งตับ แล้วมันก็ลามเร็วมาก ไม่กี่เดือนเท่านั้นแหละสามีก็จากไป ภรรยาทำใจไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ที่สามีจากไป แล้วก็โทษตัวเองด้วยว่าเป็นเพราะชะล่าใจทั้งที่ตัวเองก็ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล ที่จริงมันไม่ใช่ความผิดของเธอเลย เพราะว่ามะเร็งตับแม้จะรู้ล่วงหน้า แต่ว่าเมื่อรู้แล้วมันก็มักจะสายไปเสมอ
สามีตายจากไปแล้ว เธอก็ยอมรับไม่ได้ ทุกๆ เช้าเธอก็ทำอาหารให้สามีกิน วางไว้บนโต๊ะที่สามีเคยนั่ง เสมือนกับว่าสามียังอยู่ ทุกวันนี้หลายครั้งก็จะโทรไปหาเบอร์สามีซึ่งยังไม่เลิกตัดสาย เพื่อจะได้ฟังเสียงจาก Answering Machine จากเครื่อง เสมือนว่าเขายังมีชีวิตอยู่ เธอหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้ จนลืมไปว่าตัวเองมีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง อายุ 12 ปี หมกมุ่นอยู่กับการหลอกตัวเองว่าสามียังมีชีวิตอยู่ แล้วก็ลืมลูกสาวไปเลย ลูกสาวอายุ 12 แล้ว ลองคิดดู เสียพ่อแล้ว แม่ไม่สนใจลูกสาว ก็เป็นไปได้ง่ายมากที่ลูกสาวก็อาจจะกลายเป็นอื่นไปในเวลาไม่นาน อาจจะหันไปหาเพื่อน แล้วถ้าเป็นเพื่อนที่ไม่ดีก็เรียกว่าไม่ใช่แม่ที่เสียสามีเท่านั้น ต่อไปก็จะเสียลูกไปด้วย ลูกไม่ได้ตายแต่ว่ากลายเป็นอื่นไป เพราะว่ายอมรับการจากไปของสามีไม่ได้ สุดท้ายก็จะต้องเสียลูกไปอีกคน
การที่คนเราเรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งที่อาตมาเรียกว่า ‘ไม่ชอบ’ มันสำคัญมาก เพราะเราต้องเจอ ไม่ว่าเราจะเพียรพยายามอย่างไร มันก็ไม่ใช่ว่าเราจะประสบความสำเร็จได้ทุกครั้ง หรือได้บรรลุถึงสิ่งที่เราชอบได้ทุกเวลา ในเมื่อต้องเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ แล้ววิธีที่จะอยู่กับมันให้ได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ก็คือ ‘ยอมรับ’ มันเป็นเบื้องต้น
ยอมรับมันด้วยใจที่สงบ แล้วถ้าเรายอมรับมันได้ เราก็จะสามารถที่จะก้าวเดินต่อไปได้ เราสามารถที่จะเอาสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาเป็นบทเรียน
ในการที่จะทำให้เราไม่เพียงแต่สามารถรับมือกับความทุกข์ ความล้มเหลว หรือว่าสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ได้ในอนาคต แต่จะช่วยทำให้เราสามารถจะบรรลุถึงสิ่งที่ดีๆ ที่ปรารถนาได้มากขึ้นเรื่อยๆ
อันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตในทางโลกเท่านั้น การใช้ชีวิตในทางธรรมหรือการปฏิบัติธรรมเรื่องนี้ก็สำคัญด้วยเหมือนกัน เพราะเวลาปฏิบัติธรรมหลายคนก็ปรารถนาว่าจะได้ประสบพบธรรมเบื้องสูง อย่างน้อยๆ ก็ความสงบ หลายคนก็มีความเพียรจนสามารถที่จะเข้าถึงความสงบ พบความสงบได้จากการภาวนา จากการปฏิบัติ แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะประสบความสำเร็จ ได้พบกับความสงบ จะต้องมีบางครั้งหรือหลายครั้งที่เราต้องเจอกับสิ่งตรงข้ามที่เราไม่ชอบคือ ‘ความไม่สงบ’
นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อย แม้จะมีความเพียรในการที่จะเข้าถึงความสงบ แต่พอเจอความไม่สงบเข้าก็วางใจไม่ถูก เกิดความหงุดหงิด เกิดความทุกข์ขึ้นมา จริงๆ ความไม่สงบเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าพอวางใจไม่ถูก ยอมรับไม่ได้ มันก็สร้างทุกข์ มีหลายคนภาวนาไปภาวนามาเกิดความหงุดหงิดเพราะว่าจิตมันไม่สงบเลย ทำยังไงมันก็ไม่สงบ ยิ่งกดข่ม ยิ่งบังคับจิต มันก็ยิ่งฮึดสู้ ยิ่งพยศ สุดท้ายโมโหถึงขั้นเอารองเท้าแตะฟาดหัวตัวเอง บางคนภาวนาไปภาวนามา เอามือกำปั้นทุบอกตัวเอง ตุบตับๆ ทำไมมันคิดมากเหลือเกิน เป็นเพราะอะไร เพราะว่าไปคาดหวังความสงบ แต่พอไม่พบกับสิ่งที่คาดหวังสิ่งที่ถูกใจคือความสงบแล้ว ก็เสียศูนย์ไปเลย
คนที่เขาไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีใครที่เขาเอารองเท้าแตะฟาดหัวตัวเอง ไม่มีใครที่เขาเอากำปั้นมาทุบอกตัวเอง แต่ทำไมนักปฏิบัติธรรมหลายคนเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าไปคาดหวังจะได้พบกับความสงบ แต่พอเจอสิ่งที่ตรงข้าม วางใจไม่ถูก การเพียรให้บรรลุถึงความสงบนี้เป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการยอมรับความไม่สงบด้วยใจที่ไม่ทุกข์ นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากถูกฝึกมาเพื่อจะได้บรรลุถึง ‘ความสงบ’ แต่ว่าไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมใจฝึกใจเพื่อที่จะเผชิญกับ ‘ความไม่สงบ’ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันเป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะฉะนั้นพอเจอความไม่สงบไม่ว่าภายในใจหรือจากสิ่งภายนอก จึงเสียศูนย์ไปเลย หรืออย่างน้อยๆ ก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความทุกข์
มีหลายครอบครัว มาพูดให้อาตมาฟังว่าเวลาแม่กลับจากคอร์สปฏิบัติธรรม มาถึงบ้านเมื่อไหร่เตรียมตัวรับงานเข้าได้เลย แม่จะบ่นโน่นบ่นนี่ ตอนไม่เข้าคอร์สไม่ค่อยบ่นเท่าไหร่ แต่พอกลับจากคอร์สบ่นโน่นบ่นนี่ ลูกๆ เตรียมได้เลย งานเข้า พ่อก็เหมือนกัน พ่อกลับจากคอร์ส พ่อก็จะเทศน์เลย แต่ก่อนแค่บ่น แต่พอกลับจากคอร์สเทศน์ยาวเลย
เพราะอะไร เพราะว่าตอนอยู่ในคอร์ส มันสงบ แต่พอกลับมาบ้านเจอความไม่สงบ ที่จริงความไม่สงบในบ้านมันก็เหมือนกับตอนก่อนพ่อแม่ไปเข้าคอร์ส แต่ว่าพอเพลินกับความสงบในคอร์ส แล้วมาเจอกับความไม่สงบในบ้าน เกิดความทุกข์ขึ้นมาทันทีเลย เกิดความหงุดหงิด เกิดโทสะ เกิดความโมโห แล้วมาระบายใส่ลูก บางทีก็ใส่สามี ว่าพูดดังบ้าง หรือว่าเสียงโทรศัพท์ที่ปิ๊ด ปิ๊ด เสียงไลน์เสียงเตือน เวลากินข้าวก็ปิ๊ดๆ เวลาทำอะไรก็เสียงปิ๊ดๆ จากโทรศัพท์ของลูก ของสามี ก่อนเข้าคอร์สไม่เป็นอะไร แต่พอกลับจากคอร์สรำคาญขึ้นมาเลย เพราะอะไร เพราะว่าพอไปได้รับความสงบในคอร์ส เกิดติดใจ พอมาเจอกับความไม่สงบซึ่งที่จริงมันก็แค่เสียงรบกวนเล็กๆ น้อยๆ เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ยอมรับไม่ได้
การปฏิบัติธรรมมันไม่พอที่จะทำให้เราเข้าถึงความสงบ แต่มันต้องพาเราไปมากกว่านั้นคือ ให้เราสามารถยอมรับความไม่สงบที่เกิดขึ้นได้ เพราะไม่เช่นนั้นพอปฏิบัติธรรมพาให้เราพบกับความสงบ แล้วเกิดหลงติดในความสงบนั้น แต่พอมาเจอความไม่สงบ มันทนไม่ได้ ทั้งที่ก่อนปฏิบัติธรรม เสียงพวกนี้มันธรรมดามาก แต่พอมาปฏิบัติธรรมแล้ว เสียงพวกนี้กลับกลายเป็นเรื่องที่ทนไม่ได้ หงุดหงิดรำคาญ
เพราะการปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ มักไปเน้นแต่ให้เราเข้าถึงสิ่งที่พึงปรารถนา แต่ว่าไม่ค่อยได้ฝึกให้เราเตรียมรับมือกับสิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งที่ไม่ปรารถนา ซึ่งมันต้องอาศัยอะไรที่มากกว่าการที่จะเข้าถึงความสงบให้ได้ บางทีครูบาอาจารย์ก็สอน แต่ว่านักปฏิบัติธรรมไม่สนใจ เพราะคิดแต่จะเข้าถึงหรือประสบสิ่งที่ชอบ เช่น ความสงบ เป็นต้น แต่ว่าไม่ค่อยเรียนรู้ที่จะฝึกใจเพื่อให้ยอมรับกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ กับสิ่งที่ไม่ชอบ รวมทั้งกับสิ่งที่ไม่คาดหวัง
การที่คนเราจะไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่ชอบ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีความรู้สึกเป็นลบกับสิ่งนั้น เช่น รู้สึกลบกับความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามที่จะกดข่มความฟุ้งซ่าน บังคับจิตให้หยุดคิด ถ้ามันคิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็จะพยายามผลักไสมัน และอะไรที่ไม่ชอบ พอมันเกิดขึ้นเราทุกข์ทันที เสียงที่กระทบหูเรา ถ้าชอบเราไม่ทุกข์ แม้จะเป็นเสียงดัง แต่เสียงใดก็ตามที่เราไม่ชอบ แม้จะเบาเรากลับทุกข์ แล้วเราคิดเป็นเพราะเสียง แต่ที่จริงเป็นเพราะความไม่ชอบของเรา ตรงนี้คนไม่ค่อยมองหรือมองไม่เห็น ก็มักจะไปโทษเสียง พอเสียงเกิดขึ้นก็เลยเกิดความหงุดหงิด นอกจากไม่ชอบแล้ว ก็เป็นเพราะความคาดหวัง อะไรก็ตามที่มันไม่ตรงกับความคาดหวัง เราย่อมทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์”
เสียงดังถ้าเกิดเราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเกิดความสงบ ถ้าเราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะไร้เสียง เราก็ไม่ทุกข์ แต่พอเราคาดหวังเมื่อไหร่ว่าตรงนี้ไม่ควรมีเสียงดัง แล้วเกิดมีเสียงดังขึ้นมา เราทุกข์ทันทีเลย เหมือนกับถ้าเกิดมีเสียงริงโทนตรงนี้ในเวลานี้ หลายคนจะหงุดหงิด เพราะเราคาดหวังว่ามันไม่ควรจะมีเสียงดังในยามนี้ในสถานที่นี้ แต่ถ้าเสียงริงโทนมันไปดังที่บ้านหรือดังที่ตลาด มันไม่ทุกข์เลย เพราะเราไม่ได้คาดหวังว่าสถานที่ตรงนั้นจะไร้เสียง จะสงบ
เราคาดหวังอะไร ถ้ามันไม่ได้อย่างที่คาดหวัง เราทุกข์ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่มันไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา เราจึงมักจะยอมรับไม่ได้ และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรายอมรับสิ่งที่เราไม่ชอบ ก็เพราะว่ามันขัดแย้ง มันสวนทางกับภาพตัวตนของเรา อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะในใจของเรา กับกายของเรา กับพฤติกรรมของเรา ถ้ามันสวนทางกับภาพตัวตนของเรา เราจะยอมรับไม่ได้
นักปฏิบัติธรรมหลายคน เวลามีความโกรธเกิดขึ้น มีความหงุดหงิดขึ้นมา มีความโลภ ความอิจฉา จะปฏิเสธอารมณ์เหล่านั้น ยอมรับไม่ได้ว่า “ฉันมีความโกรธ” “ฉันมีความหงุดหงิด” เพราะอะไร “เพราะฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม จะมีความโกรธได้อย่างไร” มีภาพตัวตนว่านักปฏิบัติธรรมต้องไม่โกรธ ต้องไม่โลภ ต้องไม่อิจฉา แต่พอมันมีความรู้สึกนี้เกิดขึ้นยอมรับไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไร ก็คือพยายามกดข่มอารมณ์นั้น หรือถ้าเกิดกดข่มไม่ได้ แสดงอารมณ์นั้นออกมา จนมีคนทักว่า “เธอโกรธแล้ว” หลายคนจะบอกเลย “ฉันไม่โกรธ ฉันไม่โกรธ”
เวลาไปทักนักปฏิบัติธรรมว่ามีความโกรธ เขาจะโมโหมากเลย เพราะว่าเป็นการดูหมิ่นเขามากเลย ปฏิบัติธรรมแล้วจะโกรธได้ยังไง มันมีภาพตัวตนแบบนี้ว่า “ฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ฉันโกรธไม่ได้” นั้นใครมาทักมาว่า “เธอหงุดหงิดแล้ว เธอโกรธแล้ว” จะปฏิเสธ “ฉันไม่โกรธ ฉันไม่หงุดหงิด” พอเพื่อนทักบ่อยๆ ก็จะโมโหเลย “บอกแล้วไงว่าฉันไม่โกรธ” “กูไม่หงุดหงิด” ทั้งที่อาการมันบอกเลย
แต่การปฏิเสธแบบนั้นมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยกับนักปฏิบัติธรรมหลายคน เพราะว่าความโกรธนี้มันสวนทางกับภาพตัวตนของนักปฏิบัติว่า “นักปฏิบัติต้องไม่โกรธ” ก็จะบอกคนอื่นว่า “ฉันไม่โกรธ” และทำไปบ่อยๆ มันก็กลายเป็นการหลอกคนอื่น แต่มันไม่หนักเท่ากับการหลอกตัวเอง ซึ่งก็ทำให้กิเลส หรือตัวโทสะ มันสามารถที่จะเบ่งบานงอกงามขึ้นในใจ เพราะมันถูกกลบเกลื่อน เพราะเจ้าตัวไม่ยอมรับ แล้วพอกดข่มไปมากๆ มันไม่ได้ไปไหน สักวันมันก็จะระเบิดออกมา คนที่ปรี๊ดแตกทั้งที่ถูกกระทบด้วยเรื่องเล็กน้อยเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่ากดข่มความโกรธเอาไว้ แล้วที่กดข่มความโกรธเพราะอะไร เพราะว่าไม่ยอมรับว่ามีความโกรธเกิดขึ้นในใจ ไม่ยอมรับว่าตัวเองนี้มีความโกรธ “เพราะฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ฉันจะโกรธได้ยังไง”
บางทีมีเสียงต่อว่าครูบาอาจารย์ เสียงจ้วงจาบพระรัตนตรัยในหัวก็ไม่ยอมรับ ยังกดข่มมันเอาไว้ หารู้ไม่ว่ายิ่งกดข่ม มันยิ่งผุดยิ่งโผล่ มันยิ่งรบกวนรังควาน แล้วพอรบกวนรังควานมากๆ ก็พยายามกดมากๆ เข้า บางคนรู้สึกแย่กับตัวเองอยากจะฆ่าตัวตาย เพราะมันมีเสียงจ้วงจาบพระรัตนตรัย เสียงต่อว่าครูบาอาจารย์พ่อแม่อยู่ในหัว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะการที่ไม่ยอมรับว่ามันมีเสียงเหล่านี้อยู่ในหัว หรือมีความคิดแบบนี้อยู่ในใจตั้งแต่แรก “เพราะว่าฉันเป็นคนที่มีธรรมะ ฉันจะมีความคิดแบบนั้นได้อย่างไร”
แต่ถึงแม้ไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม ปัญหาทำนองนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างบางคนเวลาเกิดความรู้สึกซึมเศร้า หดหู่ ห่อเหี่ยว ซังกะตาย บางคนยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้ เพราะมีภาพตัวตนว่า “ฉันเป็นคนสดใสร่าเริง” “ฉันเป็นคนที่ทำความสว่างไสวมีชีวิตชีวาให้กับคนรอบข้าง” “ฉันเป็นคนอารมณ์ดี” “ฉันจะมีอารมณ์แบบนี้ได้ยังไง” ไม่ยอมรับตัวเองว่ามีอารมณ์แบบนี้ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือพยายามกดข่ม พยายามปฏิเสธ หรือกลบเกลื่อน ซึ่งมันก็จะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว เพราะบางทีชีวิตของตัวเอง การงานของตัวเอง มันทำให้เกิดสภาวะอารมณ์ แบบนั้น ซึ่งถ้าเกิดว่ามีการจัดการแก้ไขอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ปัญหาคลี่คลายไปได้ แต่พอไม่ยอมรับ พอปฏิเสธแล้ว มันก็พยายามกลบเกลื่อนว่า “ฉันไม่เป็นอะไร” หรือไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น อารมณ์แบบนี้เกิดขึ้น
บางคนมีภาพตัวตนว่าฉันเป็นคนที่เพอร์เฟค ดังนั้นพอมีความรู้สึกห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดกำลัง ก็ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองมีอารมณ์แบบนี้ได้ยังไง ไม่ยอมรับ ปฏิเสธ แล้วก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ชีวิตที่ดำเนินไปที่มันมีแต่ทำให้ตัวเองห่อเหี่ยวท้อแท้มากขึ้น หรือบางทีก็ทู่ซี้หรือว่าเคี่ยวเข็ญตนเองว่าที่ฉันมีอารมณ์แบบนี้เพราะว่าฉันยังพยายามไม่พอ ฉันต้องพยายามหนักกว่านี้ จัดการตัวเองให้หนักกว่านี้ เคี่ยวเข็ญตัวเองหนักขึ้น ทั้งๆ ที่การที่ตัวเองทำงานหนักจนแทบไม่ได้พักผ่อน มันทำให้เสียศูนย์ ทำให้ Burnout มันทำให้คนที่เคยรู้สึกสดชื่นแจ่มใสกลายเป็นคนที่ห่อเหี่ยวซึมเศร้า แต่ก็ไม่ยอมหยุด ยังเคี่ยวเข็ญตัวเองต่อไป
เพราะคิดว่าตัวเองนี้ยังพยายามไม่พอ ยังคิดบวกไม่พอ สุดท้ายสภาพจิตมันทนไม่ไหว
บางคนฆ่าตัวตายไปเลยก็มี เพราะว่าโดนโรคซึมเศร้ามันเล่นงานอย่างหนักซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คน เพราะเห็นเขาเป็นคนที่สดใสร่าเริง อารมณ์ขัน มีชีวิตชีวา ทำไมถึงทำแบบนี้ได้ สายตาของผู้คนที่มองเขา มันก็มีส่วนในการเสริมภาพตัวตน ความยึดมั่นในภาพตัวตนว่า “ฉันเป็นคนที่สดชื่นแจ่มใส” จึงยอมรับไม่ได้ว่ามีอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ “ฉันจะมีความรู้สึกแบบนี้ได้อย่างไร” “ฉันเป็นคนที่สดใสร่าเริง” “ฉันเป็นคนที่ Perfect” อันนี้เรียกว่ากลบเกลื่อน แล้วนำไปสู่การทู่ซี้หรือว่าการเคี่ยวเข็ญตัวเองต่อไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายไม่ไหวก็ระเบิดออกมา หรือไม่ก็ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของตน ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้
อาตมาคิดว่าสำคัญมากเลย การที่เรารู้จักยอมรับ ‘สิ่งที่ไม่ชอบ’ ไม่ว่าเกิดขึ้นรอบตัวเรา สิ่งที่เราต้องเจอะเจอหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ แล้วก็เป็นปัญหาของนักปฏิบัติธรรมด้วย เพราะนักปฏิบัติธรรมก็มักจะมีภาพตัวตนบางอย่างอยู่ ซึ่งพอมีปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับตัวเอง กับใจของตัวแล้ว มันสวนทางกับภาพตัวตนที่เคยยึดถือหรือหลงติด มันก็ยอมรับไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ก็นำไปสู่การกดข่ม ปฏิเสธ ผลักไส หรือกลบเกลื่อนว่า “ไม่เป็นอะไร” “ไม่มีอะไร” “ไม่ใช่” หรือว่ายังทู่ซี้ยังทำต่อไป
บางคนปฏิบัติธรรมแล้วปฏิบัติธรรมผิด เกิดอาการเกร็ง เครียด ปวดหัว แน่นหน้าอก บางทีมือสั่น แขนสั่น ทำงานที่ใช้ความละเอียดลออด้วยมือไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นหมอฟัน เป็นหมอผ่าตัด หรือว่าทำงานวาดรูป แต่ไม่ยอมรับว่าตัวเองปฏิบัติผิด เพราะอุตส่าห์ทุ่มเทมาตั้งนาน ฉันจะปฏิบัติผิดได้อย่างไร บางทีครูบาอาจารย์ก็บอก ให้เลิกปฏิบัติได้แล้ว เพราะว่าถ้าปฏิบัติต่อไปมันก็มีแต่จะเข้ารกเข้าพง แต่ก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองทำผิด หรือยอมรับไม่ได้ว่า “ฉันจะไม่ปฏิบัติเลยเหรอ ก็เคว้งดิ” ทนไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ที่จะไม่ปฏิบัติ ก็เลยทู่ซี้ดันทุรังต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายอาการก็หนัก
การที่คนเราจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการยอมรับความล้มเหลวความผิดพลาด
นี้คือการบ้านของนักปฏิบัติเลยทีเดียว การรู้จักยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจ สิ่งที่ไม่เป็นไปดังความคาดหวัง หรือสิ่งที่มันสวนทางกับภาพตัวตนได้อย่างไร ที่จริงมันก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ภาพตัวตนที่เรายึดถือมันเป็นมายา เราก็ยังเป็นปุถุชนอยู่ ถ้าเราไม่รู้จักยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจ สิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งที่ไม่เป็นไปดังความคาดหวัง มันจะเกิดปัญหามากทีเดียวโดยเฉพาะกับนักปฏิบัติ เพราะนักปฏิบัติจะมีความคาดหวังมากกว่าคนทั่วไป ไม่ใช่ความคาดหวังในทางโลกแต่เป็นความคาดหวังในทางธรรม ความคาดหวังในทางจิตใจ
แล้วในกระบวนการนั้น มันก็นำไปสู่การสร้างภาพตัวตน เช่น คาดหวังว่าฉันปฏิบัติธรรมมา ฉันควรจะได้รับความสงบ เวลามีความเจ็บความป่วย การปฏิบัติธรรมนี้ก็คาดหวังว่าจะช่วยทำให้ฉันไม่ทุกข์ใจ ไม่กระสับกระส่าย หลายคนพอเจ็บป่วยขึ้นมา มีความทุกข์ใจขึ้นมา ทนไม่ได้ คนธรรมดาเวลามีความเจ็บป่วย เขาจะไม่ป่วยแต่กาย เขาจะป่วยใจด้วย เพราะเขายอมรับความเจ็บป่วยไม่ได้ เขายอมรับทุกขเวทนาไม่ได้ เขาไม่ได้ถูกฝึกมาให้รู้จักยอมรับทุกขเวทนา เป็นสัญชาตญาณว่าเมื่อมีทุกขเวทนาความเจ็บป่วยก็จะเกิดการผลักไส มันก็เลยเกิดความทุกข์ใจ
ธรรมดาเวลาป่วยคนมักจะป่วยทั้งกายป่วยทั้งใจ พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับโดนธนู 2 ดอก ธนูดอกแรกคือป่วยกาย ธนูดอกที่ 2 คือป่วยใจ ซึ่งเกิดจากการที่ยอมรับความเจ็บป่วยไม่ได้ ยอมรับการที่ไม่มีกำลังวังชาที่ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ มันก็จะเกิดความทุกข์ใจเป็นธรรมดา เพราะการไม่ยอมรับนั้นมันเป็นตัวเพิ่มทุกข์ เป็นตัวซ้ำเติมทุกข์ให้กับเราอยู่แล้ว แทนที่จะป่วยกายก็ป่วยใจ
แต่นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยพอมีความทุกข์ใจแล้ว มีความกระสับกระส่าย มีความโกรธ ก็รู้สึกผิดหวังว่า ฉันปฏิบัติธรรม แล้วทำไมฉันยังมีความรู้สึกแบบนี้ ยังมีความรู้สึกกระสับกระส่าย ยังมีความไม่สงบในจิตใจ “อ้าว ก็ไหนครูบาอาจารย์บอกว่าถ้าปฏิบัติธรรมรักษาใจดี มันก็จะป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย สามารถจะข่มใจให้สงบได้ แต่ทำไมฉันยังมีความทุกข์ ทำไมฉันยังมีความหงุดหงิด ทำไมฉันยังมีความกระสับกระส่าย” ยอมรับไม่ได้ที่ตัวเองมีความรู้สึกนี้ มันก็ทำให้มีความทุกข์ซ้ำเข้าไปอีก ไม่ใช่แค่โดนธนู 2 ดอก โดนธนู 3 ดอก คนธรรมดาโดนธนู 2 ดอก คือป่วยกายและป่วยใจ แต่นักปฏิบัติธรรมหลายคนป่วยกายป่วยใจ ยอมรับความป่วยใจไม่ได้ ยอมรับความหงุดหงิดไม่ได้ ยอมรับว่าตัวเองมีความกระสับกระส่ายไม่ได้ “ก็ฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม”
การยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองมีความทุกข์ใจ มันเป็นการเพิ่มทุกข์เหมือนกับเจอธนูดอกที่ 3 เข้าไปอีก
ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้ ผิดหวังกับการปฏิบัติว่าทำไมการปฏิบัติไม่ช่วยทำให้ฉันนี้คลายความทุกข์ใจ ไม่ช่วยทำให้ฉันนี้มีความสงบใจ ผิดหวังตัวเองว่าทำไมฉันปฏิบัติแล้ว จึงไม่สามารถที่จะพบความสงบใจได้ในยามเจ็บป่วย โอ๊ย โดนธนูหลายดอกเลย
คนธรรมดาที่ไม่ปฏิบัติโดนธนู 2 ดอก แต่นักปฏิบัติบางคนเจอเพิ่มอีกหลายดอกเพราะยอมรับไม่ได้ที่ตัวเองมีความทุกข์ใจ ที่ตัวเองไม่พบความสงบใจในยามเจ็บป่วย ผิดหวังตัวเอง ผิดหวังการปฏิบัติ และเป็นเพราะยึดมั่นถือมั่นในความเป็นนักปฏิบัติ ทั้งที่ปวดทนไม่ไหวไม่ยอมใช้ยา หมอจะให้มอร์ฟีนระงับปวด “ไม่เอาเพราะว่าฉันเป็นนักปฏิบัติ ฉันจะรับมอร์ฟีนได้ยังไง” ความรู้สึกว่ามันเสีย self เสียภาพลักษณ์ความเป็นนักปฏิบัติว่า เป็นนักปฏิบัติได้ยังไง มารับมอร์ฟีน มันต้องใช้สมาธิข่มเอง แต่ว่าไม่สามารถปฏิบัติดีมากพอจนกระทั่งรักษาใจให้สงบได้ เพราะอะไร เพราะว่าถูกฝึกปฏิบัติมาแต่เพื่อมุ่งความสงบ ไม่ได้เตรียมใจมาเพื่อที่จะรับความไม่สงบ ไม่ได้เตรียมใจมาเพื่อที่จะเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ ปัญหาของนักปฏิบัติจำนวนมากคือปฏิบัติเพื่อที่จะบรรลุถึงบางสิ่งบางอย่างที่ปรารถนาที่ดี แต่ว่าไม่ได้ฝึกมาเพื่อที่จะเผชิญกับสิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจ โดยเฉพาะความไม่สงบในใจ เช่น ความโกรธ ความหงุดหงิด
จริงๆ แล้วความโกรธ ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น แม้มันเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่ว่าเราจะทุกข์ทันที จะทุกข์ก็ต่อเมื่อเข้าไปยึด หรือไปผลักไสมัน ถ้าไปทำอะไรกับมัน ไม่ว่าจะยึด จดจ่อ ผลักไส ความทุกข์จึงจะเกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราแค่ดูมันเฉยๆ มันไม่ทุกข์ เหมือนกับมีกองไฟกองใหญ่เลย ถ้าเราไม่กระโดดเข้าไปในกองไฟ ตรงข้ามเรากลับยืนอยู่ห่างๆ ยิ่งอยู่ห่างเท่าไหร่มันไม่ทุกข์เลย แม้จะมีกองไฟอยู่
‘กองไฟ’ นั้นอาจจะหมายถึงความโกรธ อาจจะหมายถึงทุกขเวทนาก็ได้ มันมีอยู่แต่ถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันให้ถูก มันก็ไม่ทุกข์ เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ว่า “หลวงปู่มีโกรธไหม” หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เขาเชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แทนที่ท่านจะบอกว่า “อาตมาไม่มีความโกรธ” ท่านบอกว่า “มีแต่ไม่เอา”
เพราะไม่เอาจึงไม่ทุกข์ ไม่ใช่ว่าไม่มีโกรธจึงไม่ทุกข์
เราอาจจะไม่สามารถฝึกจิตถึงขั้นว่าไม่มีความโกรธเลย ไม่มีความหงุดหงิดเลย โดยเฉพาะเมื่อเจอสิ่งกระทบที่รุนแรง คำต่อว่าด่าทอ ความเจ็บปวด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันไม่ได้แปลว่าเราจะทุกข์ทันที อยู่ที่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ถ้าเราไปผลักไสมัน ไม่ยอมรับมัน ทุกข์เลย แต่ถ้าเรายอมรับมัน ดูมันอยู่ห่างๆ ไม่ทุกข์
เป็นศิลปะที่คนจำนวนไม่น้อยไม่สนใจ แม้แต่นักปฏิบัติก็คิดแต่จะว่า “เออ ฉันจะทำยังไง ฉันจะมีความสงบได้” แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อเจอความไม่สงบ ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบเกิดขึ้นในใจ หรือความไม่สงบที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น เสียงดัง แต่ที่จริงมันเป็นสิ่งสำคัญมากเลย ความเจ็บปวดเราห้ามไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบแน่นอน ไม่มีใครชอบ แต่เราจะอยู่กับมันได้อย่างไรโดยที่ใจไม่ทุกข์ ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกว่า “ให้เห็นมัน ดูมัน อย่าเข้าไปเป็นมัน”
หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “ความปวดมันไม่ได้ลงโทษเรา ความเป็นผู้ป่วยต่างหากที่ลงโทษเรา” แล้วท่านก็บอกว่า “ความปวดมันมีไว้ดู มีไว้เห็น ไม่ใช่เข้าไปเป็น” การทำให้ตัวเองไม่ปวดเป็นเรื่องยาก แต่ที่ยากกว่าคือปวดแล้ว ทำอย่างไรใจไม่ทุกข์หรือใจไม่ปวดด้วย อันนี้ยากกว่าแต่มันทำได้ การฝึกจิต ไม่ได้ฝึกจิตให้สงบอย่างเดียว แต่ควรจะฝึกจิตเพื่อให้อยู่กับความไม่สงบโดยใจที่ไม่ทุกข์ หรือพูดอีกอย่างนั้นคือ อยู่กับความทุกข์โดยใจไม่ทุกข์ได้ มันโกรธ มันหงุดหงิด มันกระสับกระส่าย แต่ยอมรับมัน ไม่กดข่มมัน บางทีการทำอย่างนี้มันช่วยทำให้ความทุกข์บรรเทาเบาบางลง
นักปฏิบัติธรรมไม่ได้แปลว่าจะต้องมีความสดชื่น แจ่มใส มีชีวิตชีวาเสมอไป บางครั้งบางคราวมันก็ห่อเหี่ยวซังกะตายอย่างไม่มีเหตุผล แต่ถ้ายอมรับมันไม่ได้นี้ยิ่งทุกข์เลย บางทีถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ “เกิดอะไรขึ้นกับฉัน ฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ทำไมฉันจึงมีอาการซังกะตาย ไม่สดชื่นแจ่มใส ไม่ตื่นรู้เบิกบาน” พอไม่ยอมรับก็ไปกดข่มมัน ผลักไสมัน มันก็เพิ่มทุกข์เข้าไปแล้ว แต่ถ้าเรายอมรับมัน มันช่วยได้เยอะ
อย่างมีผู้หญิงคนหนึ่ง มีครอบครัวดี สามีดี ลูกดี ฐานะการเงินก็ดี แต่วันหนึ่งเกิดอาการซังกะตาย เบื่อ เซ็ง เธอไม่รู้เป็นเพราะอะไร เป็นอย่างนี้หลายเดือน ไปเที่ยวที่ไหนก็ไม่หาย กินของอร่อยก็ดีแต่อาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นชั่วครั้งชั่วคราว เธอคิดว่าเป็นปัญหาฮอร์โมน ไปตรวจสุขภาพก็ไม่มีอะไร ผิดปกติ เลยไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์ไม่ได้ให้ยา ไม่ได้วิเคราะห์อะไรมาก แต่ให้คำแนะนำดี บอกว่าให้เธอพูดประโยคนี้ 3 ครั้งว่า “ฉันอนุญาตให้ตัวเองซังกะตายได้ แม้มันจะเกิดขึ้นตลอดชีวิต”
เธอไม่ยอมพูด หมอก็เคี่ยวเข็ญ จนเธอพูด หมอถาม “เป็นยังไง” เธอบอก “ปวดท้อง แน่นหน้าอก มันมีอาการฝืนที่คอ” หมอถาม “มันเลวร้ายไหม” เธอตอบ“ไม่เลวร้าย”
“แล้วใจเธอเป็นยังไง เวลามันซังกะตายรู้สึกยังไง” เธอพูดว่า “มันเลว”
“มันเป็นปัญหามากมั้ย” เธอบอก “ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร อยู่กับมันได้”
หมอก็เลยบอก “ทีหลังมันเกิดขึ้นมา ก็ให้ดูมันเฉยๆ ไม่ต้องตัดสิน ไม่ต้องพิพากษา หรือว่าให้ค่ากับมัน ก็แค่ดูมันเฉยๆ” เธอก็ทำตาม เธอมาหาหมออีก 2-3 ครั้ง แล้วก็บอกว่าตอนนี้เธอมีความรู้สึก 2 อย่าง ความรู้สึกแรกก็คือว่ารู้สึกผิดหวังที่ความรู้สึกนี้มันจะเกิดขึ้นกับเธอไปจนตลอดชีวิต แต่อีกความรู้สึกหนึ่งคือ โปร่งโล่งเพราะยอมรับมันได้แล้ว นับแต่นั้นมาเธอมีชีวิตชีวามากขึ้น ทั้งที่ความรู้สึกนี้ยังไม่หายแต่มีชีวิตชีวามากขึ้น เพราะอะไร เพราะเธอยอมรับมันได้
ความรู้สึกซังกะตายไม่ได้ทำร้ายเรา แต่การไปผลักไสมัน ไม่ยอมรับมันต่างหากที่ทำร้ายเรา
กรณีนี้เป็นคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมจะยิ่งทนไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ เพราะมีภาพตัวตนว่านักปฏิบัติธรรม ต้องไม่มีความรู้สึกแบบนี้ พยายามเอาสมาธิ พยายามเอาสมถะไปเข้าข่ม แต่ว่าพอไม่หายก็ยอมรับไม่ได้ เคล็ดลับมันอยู่ที่ตรงนี้ คือ ‘ยอมรับมัน’ แล้วสิ่งที่จะช่วยทำให้ยอมรับมันได้ ก็อย่างที่หลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อเทียน ท่านใช้คำว่า ‘รู้ซื่อๆ’ รู้ซื่อๆ ดูมันเฉยๆ ไม่ผลักไส ไม่ไหลตาม
การรู้ซื่อๆ จะทำให้เราอยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ มันนำไปสู่การยอมรับอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราคาดหวัง มันเป็นวิชาหรือเป็นเคล็ดลับชีวิตที่สำคัญมาก และเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติธรรมควรจะมี เพราะมันทำให้ยอมรับสิ่งที่ไม่คาดหวัง สิ่งที่ไม่ชอบได้ มีความคิดฟุ้งซ่านก็ดูมันเฉยๆ รู้ซื่อๆ มีความหงุดหงิดขุ่นมัวก็รู้ซื่อๆ ถึงเวลาเจ็บป่วยมันมีความกระสับกระส่ายก็ยอมรับมัน ดูมันเฉยๆ แม้กระทั่งตัวทุกขเวทนาเองก็ควรเรียนรู้ที่จะดูมัน ดูมันเฉยๆ เพราะไม่เช่นนั้นความเป็นนักปฏิบัติธรรมของเราจะทำให้เราทุกข์มากขึ้น เวลาเจ็บป่วยแล้วไม่ได้ป่วยแต่กาย ใจป่วย ใจทุกข์ แล้วยอมรับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจไม่ได้ ยอมรับความกระสับกระส่ายความหงุดหงิดไม่ได้
จะให้รับมอร์ฟีนก็ไม่เอา เพราะฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่ว่าพอไม่รับมอร์ฟีนเกิดความปวดกายแล้วปวดใจตามมา ก็ยอมรับความทุกข์ใจไม่ได้ เจอธนูหลายดอกเลย ยอมรับไม่ได้ที่ตัวเองมีความทุกข์ก็ดอกหนึ่งแล้ว ผิดหวังในการปฏิบัติธรรม เพราะปฏิบัติธรรมมาตั้งหลายปีทำไมจึงเป็นอย่างนี้ก็ดอกหนึ่งแล้ว ผิดหวังที่ตัวเองล้มเหลวกับการปฏิบัติ ไม่พบความสงบสักทีก็ดอกหนึ่งแล้ว หลายดอกเหลือเกิน บางทีการปฏิบัติธรรม ถ้าเราวางใจผิด มันเพิ่มทุกข์ให้กับเรามากเลย อาจจะมากกว่าคนที่ไม่ปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะยอมรับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นไม่ว่าสุขหรือทุกข์ สุขก็ไม่เอา ทุกข์ก็ไม่เอา สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ ไม่ผลักไส อันนี้มันจะทำให้เรามีความสามารถในการรับมือกับความผันผวนปรวนแปร
สิ่งที่ชอบ เราก็ไม่หลงไม่เพลินไปกับมัน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความสุขทางกายหรือความสุขทางใจ เราแค่รู้เฉยๆ ถ้าเรารู้เฉยๆ แบบไม่ยึดติดในสิ่งที่ให้ความสุขกับเราสิ่งที่ชอบนี้เจอสิ่งที่ไม่ชอบเราก็สามารถที่จะอยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ เรียกว่า สุขก็ไม่เอา
พอสุขไม่เอา ถึงเจอทุกข์มันก็วางได้ ไม่เอาได้เหมือนกัน เรียกว่าอยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือสงบและเหนือความไม่สงบ อันนี้แหละคือสิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญแล้วก็ฝึกให้มากๆ
คำถาม : ถ้าจะขอสรุปเป็น 2 คำที่ท่านอาจารย์พูดถึง คือคำว่า ‘ภาพตัวตน’ กับ ‘การยอมรับ’ พอมานึกย้อนสมัยที่เราเป็นฆราวาส ทุกๆ วันเราจะมีภาพตัวตนเป็นแรงผลักดันให้เราดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์ต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต รูป-นามต่างๆ ขณะเดียวกันเราก็โดนท้าทายโดยความไม่สมหวัง ความผิดหวัง มันก็ไปทอนคุณค่าของภาพตัวตน ซึ่งในมิติหนึ่งผมเข้าใจว่ามันน่าจะเป็นแรงผลักดันให้เราทำในสิ่งที่ดี
ถ้าภาพตัวตนเราเป็นสิ่งที่ดี เราก็เป็นห่วงว่าการที่เราไม่สมหวัง แล้วเราต้องฝึกยอมรับบ่อยๆ ว่าภาพตัวตนของเรามันจะเลือนหายไป แล้วในอนาคตเราจะใช้เข็มมุ่งตัวไหนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่เราคิดว่าเราควรทำที่สุดครับ ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นคำถามไหม แต่ผมมีความสับสนในความเข้าใจคำว่า ‘ภาพตัวตน’ กับ ‘การยอมรับ’ บางครั้งมันเหมือนจะไปด้วยกันได้ แต่บางครั้งเหมือนมันดูขัดแย้งกัน ภาพตัวตนบางทีมีประโยชน์ การยอมรับมันมีประโยชน์แน่แท้ เพียงแต่ว่าเราจะดำรงอยู่ยังไงในภาพของฆราวาสครับ
พระไพศาล : คือภาพตัวตนก็มีประโยชน์ เพราะว่าการที่เราอยากจะรักษาภาพตัวตน มันก็ทำให้เราทำความดี บางทีมันมีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนอยากให้เราทำชั่ว แต่เราก็นึกถึงภาพตัวตนว่า “เออ เราเป็นคนดีมีคุณธรรม เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต” มันก็ทำให้เรายับยั้งชั่งใจไม่ทำสิ่งที่ว่า คนที่ตรงข้ามคือ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าอะไรแล้ว “ฉันเป็นคนที่ไม่มีดีอะไรเลย” คนแบบนี้ก็อาจจะทำชั่วได้ง่ายเพราะว่าฉันไม่ต้องแคร์ใครแล้ว นั้นภาพตัวตนมันก็ดี มันเป็นสิ่งที่ดี มันก็มีสิ่งช่วยยับยั้งให้เราไม่ทำชั่ว แล้วพยายามพัฒนาตนต่อไป
สิ่งสำคัญคือ อย่าไปยึดติดถือมั่นกับมันมาก ยอมรับความเป็นปุถุชน เช่นมีภาพตัวตนว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมแต่โกรธไม่ได้ “ฉันโกรธไม่ได้” อันนี้ผิดแล้วล่ะเพราะยังเป็นปุถุชนอยู่ บางคนมีภาพตัวตนว่าฉันเป็นคนที่สดใสร่าเริง แต่พอมีความห่อเหี่ยว มีความซึมเศร้า ก็ยอมรับไม่ได้ว่า “ฉันจะมีภาพแบบนี้ ฉันจะมีความรู้สึกแบบนี้ได้ยังไง ฉันเป็นคนสดใสร่าเริง” ทั้งที่ตัวเองสมควรจะไปหาหมอได้แล้ว หรือสมควรที่จะปรับเปลี่ยนชีวิต รู้จักหยุดพักบ้าง ไม่ดันทุรังหรือทู่ซี้ต่อไป
แต่เป็นเพราะภาพตัวตนทำให้ยังดันทุรัง ยังทู่ซี้ต่อไป งานก็หนัก จิตก็สลาย แต่ว่าก็ไม่ยอมรับ ประเด็นสำคัญคืออย่าไปยึดติดถือมั่น ให้รู้จักทักท้วงตัวเองบ้าง แล้วก็ยอมรับว่าเราเป็นปุถุชน เราไม่ได้ประเสริฐ เรามีความคิด เรามีความรู้สึกแบบนี้ได้ เจ็บป่วยได้ มีความหงุดหงิดได้ ถึงแม้เป็นนักปฏิบัติธรรม หรือถึงแม้เป็นพระหงุดหงิดโวยวายบ้างก็ได้ ไม่เป็นไรใช่ไหม ไม่ใช่ว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม เป็นอาจารย์กรรมฐาน แล้วจะไม่มีความรู้สึกแบบนี้ใช่ไหม ปวดไม่ไหว ทนไม่ไหว แต่ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมรับมอร์ฟีน แต่ว่าก็ยังยอมรับความเจ็บปวด ยอมรับความทุกข์ไม่ได้ เรียกว่าซ้ำเติมตัวเองหนักเลย แต่ถ้ายอมรับว่าเราไม่ไหว ไม่ไหวก็ใช้มอร์ฟีนได้ หรือไม่ไหวก็ยอมรับว่าเราไม่ไหวจริงๆ อย่าไปลงโทษตัวเองว่า “ฉันเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง ปฏิบัติธรรมยังไงฉันยังมีความรู้สึกแบบนี้”
มันจะไม่มีความรู้สึกแบบนี้ ถ้าเกิดเรายอมรับตัวเองได้อย่างที่เราเป็น แล้วก็ไม่ติดภาพตัวตนมาก ประเด็นสำคัญคืออย่าไปติดภาพตัวตน ถ้าไม่มีตัวตนได้แล้วยิ่งดี แต่ว่าปุถุชนก็คงยาก อาจารย์พุทธทาสก็บอกว่า “ให้ตายก่อนตาย ให้ตัวกูของกูมันตาย หรือไม่ยึดมั่นในตัวกูก่อนที่มันจะตายจริง” เพราะถ้าไม่มีตัวกู มันมีแต่ความปวด ไม่มีผู้ปวด มีแต่ความปวด ไม่มีผู้ปวด มีแต่ความทุกข์ ไม่มีผู้ทุกข์ มันก็ใจก็สบาย
แต่ตราบใดที่ยังมีตัวกูของกูอยู่ อย่างน้อยก็ให้มีสติยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าไปลงโทษตัวเอง อย่าไปโบยตีตัวเอง “ทำไมฉันปฏิบัติธรรมมา แล้วยังต้องมีความรู้สึกแบบนี้อยู่ ยังต้องทุกข์อยู่” “เป็นอาจารย์กรรมฐาน แล้วทำไมฉันยังมีความกระสับกระส่ายอยู่” อย่างนี้มันยิ่งเป็นการซ้ำเติมตัวเอง เพราะว่าเป็นการไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะยังติดในภาพตัวตน
คำถาม : ไม่ทราบว่าคำถามนี้จะเกี่ยวกับเรื่องที่พระอาจารย์ได้โปรดเทศน์ไปหรือเปล่าคะ คือว่ามีความกังวลกับลูกชาย เขาจะต้องไปทำงานต่างจังหวัด คือมันมีความสับสนคะ ใจหนึ่งพยายามที่จะให้เขาได้ไปเติบโตในหน้าที่การงาน แต่ก็ห่วง อยากจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองค่ะ
พระไพศาล : ก็ยอมรับว่าเรามีความรู้สึกแบบนี้ เรามีความห่วง ซึ่งก็เป็นธรรมดาของผู้เป็นแม่ แต่ก็ให้ลองพิจารณาอยู่อีกสักหน่อยว่าที่เราห่วงเพราะอะไร เพราะเรามองอนาคตไปในทางลบทางร้ายหรือเปล่า ใจเราไปอยู่กับอนาคตมากเกินไปไหม แล้วเป็นอนาคตในทางที่ลบในทางที่ร้าย บางทีความจริงอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด อาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคาดเดาก็ได้ อาจจะเป็นเพราะว่าเรามองในทางลบทางร้ายมากเกินไปไหม แล้วเป็นเพราะใจเราไปอยู่กับอนาคตเกินไปหรือเปล่าใช่ไหม กลับมาอยู่กับปัจจุบันหรือกลับมามองว่า “เออ มันอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่เราคิดก็ได้” “ความจริงอาจจะไม่เลวร้ายอย่างที่เรานึกก็ได้”
ลองคิดแบบนี้ดูบ้าง แล้วต้องเชื่อมั่นในตัวเขาว่า เขาจะสามารถแก้ปัญหา เอาตัวรอดเมื่อเจอความทุกข์ได้ และคิดต่อไปว่าเขาสามารถจะเติบโตได้จากการที่เจอความทุกข์ เติบโตได้จากการที่ได้เจอสิ่งเลวร้ายในชีวิต เพราะว่าคนเรานี้ไม่มีอะไรที่จะช่วยทำให้เราเติบโตได้ดีกว่าการเจอความทุกข์ ลองมองว่าความทุกข์มันสามารถทำให้เขาเติบโต เข้มแข็ง และสามารถจะอยู่รอดและมีความสุขได้ เมื่อถึงวันที่ไม่มีเรา ลองคิดแบบนี้บ้าง มั่นใจในตัวลูก และเห็นประโยชน์ของความทุกข์ที่มันสามารถจะหล่อหลอมเขาได้
คำถาม : ขอแนะนำตัวเองชื่อพีช เป็นนักวาดการ์ตูนค่ะ แล้วก็ได้ทำงานแบบงานการ์ตูนในเมืองไทยมา 7 ปีแล้วค่ะท่าน แต่ว่ามันก็จะประมาณว่าทรงๆ อยู่แบบนี้ค่ะ แล้วก็พอมีจังหวะอะไรที่ดีขึ้น งานก็เหมือนกับเออเริ่มจะก้าวกระโดด แต่ว่ากลายเป็นว่าเราก็เหมือนกับเสพติดค่ะ เหมือนแบบว่าพองานมันดี แล้วรู้สึก เออ เด็กๆ เรียนวาดรูปแฮปปี้ เราก็รู้สึกว่าอยากได้มากขึ้นเรื่อยๆๆๆ จนเรารู้สึกว่าเราไม่กล้าที่จะหยุดตัวเองอย่างนี้ค่ะ จนเราไม่รู้ว่า อ้าว แล้วอย่างนี้ถ้าปีหน้าเท่าไหร่เราควรจะพอ
มันเริ่มกลายเป็นความทุกข์ว่าเหมือนแบบเริ่มจะเหนื่อยแล้วก็หนัก แล้วก็เริ่มจะแบบทำไม่ไหวอย่างนี้ค่ะ แต่เราก็อยากให้มันประสบความสำเร็จแบบกว้างขึ้นแล้วก็เร็วขึ้นค่ะ ก็เลยเกิดเป็นแบบว่าทำยังไงให้มันเร็วขึ้นดีไหม อดทนอีกสัก 1-2 ปี แต่ว่าลึกๆ เราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่า เออ ไม่ไหวแล้วอย่างนี้ค่ะ
พระไพศาล : บางทีความสำเร็จหรือว่าการยอมรับจากผู้คนมันก็มีเสน่ห์ ไม่ใช่บางทีหรอก มันมีเสน่ห์อยู่เสมอเลย แล้วก็ถ้าเราหลงติดกับสิ่งนั้น มันก็จะมากลายเป็นนายของเรา แล้วพอมันเป็นนายของเราแล้ว ชีวิตเราหาความสุขได้ยากแล้ว
มันเหมือนกับดาราที่ได้รับความนิยมยกย่อง มีผลงานออกมาเยอะ ก็กลัวเรตติ้งจะตก ก็ต้องทำงานหรือว่ามีงานแสดงออกมาเรื่อยๆ ซึ่งถึงจุดหนึ่งมันบั่นทอน บั่นทอนจิตใจ บั่นทอนกำลัง อันนี้อาตมาก็คงบอกอะไรไม่ได้ คุณต้องดูตัวเอง แต่คุณเองก็ยอมรับว่าตอนนี้เริ่มจะไม่ไหวแล้ว แต่ว่าที่ยังหยุดไม่ได้เพราะว่าอาจจะเป็นเพราะยังติดในความสำเร็จ หรืออาจจะแคร์ความคาดหวังของผู้คน คุณอาจจะอยากจะรักษาเรตติ้งไม่ให้ตก
ซึ่งอันนี้อย่างที่อาตมาบอก พวกนี้อย่าให้มันเป็นนายเรา มันเป็นบ่าวที่ดีแต่เป็นนายที่เลว ชื่อเสียง คำยกย่อง สรรเสริญ พวกนี้ถ้ามันเป็นนายเราเมื่อไหร่ เราจะเหนื่อย เราจะหยุดไม่ได้ แล้วถึงวันหนึ่งเราก็จะหมดสภาพ อาตมาว่าถ้าร่างกายมันบอกว่าไม่ไหวแล้ว หรือจิตใจมันรู้สึกเหนื่อยล้า เราก็เชื่อเขาเถอะ ทำตาม อย่าไปแคร์กับความสำเร็จ อย่าไปแคร์กับเรตติ้งมาก เพราะดูแล้วคุณก็ยังมีอนาคตอีกไกล เพราะฉะนั้นถ้าจะพักบ้าง มันก็จะดี
มันเหมือนกับคนที่มีอาชีพตัดต้นไม้ วันนึงตัดต้นไม้ได้ 10 ต้น แต่ว่าพอตัดไปๆ จากวันละ 10 ต้น ก็ได้แค่วันละ 8 ต้น แล้วก็ 7 ต้น เขาคิดว่าเขาทำงานหนักไม่พอ เขาก็เลยออกไปทำงานเร็วขึ้น จาก 9 โมงก็เป็นไปทำงาน 8 โมง แล้วจากเลิกงาน 4 โมง ก็เลิกงาน 5 โมง แต่ยิ่งทำเขาก็ตัดต้นไม้ได้น้อยลง จาก 8 ก็เหลือ 7 เหลือ 6 เขาคิดว่ายังใช้เวลาไม่พอ ก็เลยตื่นเช้าตี 5 ตัดต้นไม้จนถึง 2 ทุ่ม แต่ก็ยังได้ไม่ถึง 10 ต้นอย่างที่เคยเริ่มตัด
เขาไปบ่นกับเพื่อนว่า “ทำไมยิ่งตัดยิ่งได้น้อยลง” เพื่อนก็ถามว่า “แล้วแกได้ขัด ลับคมเลื่อยบ้างหรือเปล่า ครั้งสุดท้ายที่แกลับคมเลื่อยนี้เมื่อไหร่” เขาบอก “โอ๊ย! ตั้งนานแล้ว” “อ้าว ทำไมไม่ลับคมเลื่อยให้มันคมล่ะ” “เสียเวลา ก็ขนาดฉันตื่นแต่เช้าเลิกดึก ฉันยังตัดต้นไม้ได้แค่ 5-6 ต้นต่อวัน ขืนไปเสียเวลาไปลับคมเลื่อย แล้วฉันจะตัดได้เยอะได้ยังไง” ที่จริงถ้าหากว่าเขาให้เวลากับการที่จะมาลับคมเลื่อยให้มันคม เขาอาจจะทำงานน้อยลงก็ได้ แต่ก็สามารถจะตัดต้นไม้ได้วันละ 10 ต้นเหมือนเดิมก็ได้ พูดง่ายๆ ก็คือว่า ‘การพัก’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานด้วยเหมือนกัน พักเพื่อที่จะมาลับคมเลื่อย มันก็ช่วยทำให้ตัดต้นไม้ได้ดีขึ้น
จริงๆ อุปมาอุปไมยนี้ไม่ค่อยดี เพราะเดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยนิยมตัดต้นไม้กันแล้ว ควรจะปลูกต้นไม้ให้เยอะๆ แต่ว่าเป็นอุปมาที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดว่าบางครั้งการหยุด การพัก มันก็เป็นส่วนหนึ่งของงานเหมือนกัน อย่าไปทำงานตะบี้ตะบันจนไม่ได้พัก เพราะสุดท้ายงานจะแย่ลง แต่ถ้าคุณลองพักสักหน่อย อย่าไปคิดว่าเป็นการเสียเวลา มันจะทำให้งานคุณดีขึ้นด้วย
คำถาม : ครับ เห็นด้วยกับท่านอย่างยิ่งเลยครับที่ท่านสอน เพราะว่าที่เคยไปปฏิบัติมา ส่วนใหญ่เขาจะสอนในทางแบบเป็นทางสุดขั้วครับ อย่างเช่นแบบว่านั่งปฏิบัติแล้ว จะไม่เจ็บไม่ปวด แม้แต่ผ่าตัดก็ไม่ต้องวางยาสลบ หรือไม่ก็ความโกรธก็เป็นบาป นั่งสมาธิฟุ้งซ่านแล้วก็เป็นบาป ซึ่งพอไปปฏิบัติลักษณะนั้นครับ เรารู้สึกว่าเราทุกข์มากขึ้นครับ รู้สึกว่ายิ่งปฏิบัติแล้วก็ยิ่งทุกข์ครับ
แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งครับ คืออย่างเช่นบางทีเราไปปฏิบัติครับ เขาบอกว่านั่งแล้วปวดก็ให้ทน แล้วก็กำหนดที่ความปวด ไปดูที่ความปวดน่ะครับ แต่ถ้าเกิดว่าไปถามหมออย่างนี้ครับ หมอเขาก็จะบอกว่าการนั่งขัดสมาธินานๆ อย่างนี้มันทำให้เข่าเสื่อม จะทำให้เป็นโรคเข่าเสื่อม แล้วทำให้ต้องผ่าตัดรักษา ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรครับ
พระไพศาล : การที่ทนกับความเจ็บปวดเวลานั่ง มันมีข้อดีก็คือ เป็นการฝึกให้ไม่ใช่แค่อดทนต่อความเจ็บปวด แต่ว่าฝึกให้เห็นเวทนา แต่ก็ไม่เข้าไปในเวทนานั้น ซึ่งมันทำได้ แต่ใหม่ๆ ก็ไม่อยากแนะนำถ้าสติยังไม่แข็ง การที่จะไปทนกับความเจ็บปวดมันจะเป็นประโยชน์ แต่ว่าพอเราสติเราดีแล้ว เราก็ใช้สตินี้มาดู ไม่ใช่สู้กับความปวด แต่มาดูความปวด มาดูเวทนา แต่ไม่เข้าไปเป็นเวทนา พูดง่ายๆ คือรู้ทุกข์ แต่ไม่เป็นทุกข์ ซึ่งอันนี้มันต้องอาศัยสติ แล้วต้องอาศัยการฝึกใจ เพราะจริงๆ แล้วถ้าใจเราวางไว้ถูก มันก็ทำได้เหมือนกัน การนั่งนานๆ มันก็นั่งได้นาน แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผู้ฝึกใหม่จะทำได้ แต่ว่ามันมีประโยชน์
อาตมาพาคนเดินธรรมยาตรา ก็พาคนไปหาความทุกข์น่ะ บางคนก็ถอดรองเท้าเดินบนทางร้อนๆ ไม่ใส่หมวก ก็เพื่อฝึกว่าทำยังไงที่กายเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อย กายร้อนแต่ว่าใจสงบเย็น พวกนี้มันทำได้ แต่ว่ามันต้องอาศัยการฝึกเป็นขั้นเป็นตอน
คำถาม : ในกรณีที่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เราจะมีวิธีพูดยังไงให้เขาปล่อยวาง แล้วก็ยอมรับความเจ็บป่วย แล้วก็ยอมรับว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติครับ ขอบคุณครับ
พระไพศาล : ถ้าให้ผู้ป่วยระยะท้ายปล่อยวาง แล้วก็ยอมรับความตาย มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายทีเดียว โดยเฉพาะถ้าไปสอนเขาตรงๆ บางคนที่เขายังไม่อยากตายเพราะเขายังมีภาระ เขายังมีความกังวล เขายังมีความห่วง เราต้องสอบถามให้ได้ว่าที่เขายังไม่อยากตาย เขากลัวตายเพราะอะไร เพราะว่าเขาอาจจะยังมีอะไรที่ยังคาใจอยู่ ถ้าเราแก้ตรงนี้ก็จะมีความพร้อมมากขึ้น เช่น ถ้าเขาห่วงลูก แล้วเราทำให้เขาพบว่าลูกจะอยู่ได้โดยที่ไม่มีเขา หรือลูกไปบอกว่าเขาจะอยู่ได้ แม่ไม่ต้องห่วงอะไร ทำนองนี้ พอเขาหมดห่วงแล้ว เขาก็พร้อมจะตาย
แต่ว่าจะให้เขาปล่อยวางนี้ ยาก แต่ว่าถ้าเราไปให้เขาไปยึดสิ่งอื่นอาจจะดีกว่า เช่น นึกถึงความดี นึกถึงบุญกุศล อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนคนที่ใกล้ตาย แนะนำโยมไปนำทางคนใกล้ตาย แบบนี้คือ
ให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย นึกถึงสิ่งที่เขาศรัทธา
ให้นึกถึงความดีที่เขาได้ทำ
ฝึกใจให้ปล่อยวาง
ซึ่งสรุปง่ายๆ ก็คือ “นึกถึงพระ ละทุกสิ่ง” คนทั่วไปจะให้เขาปล่อยวาง ยอมรับความตายจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าให้เขานึกถึงความดีที่เขาได้ทำ นึกถึงบุญที่ได้บำเพ็ญ มันก็เกิดความปีติอิ่มเอิบใจที่ทำให้เขามีความมั่นใจว่า ตายแล้วเขาไปดี ไปสู่สุคติ
คงต้องใช้วิธีนี้ ถ้าไม่ได้ฝึกมาตั้งแต่ต้นๆ จะให้เขาปล่อยวาง จะให้เขายอมรับความตายยาก นั้นเราต้องมีวิธีในการที่จะพูด โดยเฉพาะการที่เราสามารถที่จะสำรวจได้ว่าเขามีความทุกข์ เขามีความกังวล เขามีความติดใจเรื่องอะไร ถ้าแก้ตรงนี้ได้ หลายคนจะพร้อมยอมรับความตายได้มากขึ้น
คำถาม : เราจะมีวิธีคิดยังไงครับว่าสมมุติว่าถ้าเรายอมรับว่าเราขี้เกียจ เราก็จะไหลลงไปมากเกินไป แต่ถ้าเราไม่ยอมรับ เราก็จะมีการพัฒนาตัวเอง แต่คราวนี้เราจะใช้ความคิด ณ ตอนไหนครับที่จะเป็นจุดพอดีครับ อย่างเช่นถ้าเราคิดตอนที่เราขี้เกียจ ยังไงเราก็มองว่า เออ เราขี้เกียจแค่นี้ได้ประมาณนี้ครับ
พระไพศาล : คือเวลาเห็นความขี้เกียจ มันไม่ได้แปลว่าต้องไหลไปตามความขี้เกียจ แต่เห็นความขี้เกียจ ‘เห็น’ หมายความว่าเห็นแต่ไม่ใช่เข้าไปเป็น เห็นความขี้เกียจแต่ไม่ใช่เป็นผู้ขี้เกียจ หรือว่าไม่ใช่ไปไหลตาม ไม่ผลักไสแล้วก็ไม่ไหลตาม เราเห็นความขี้เกียจแต่เราก็ไม่ได้หลงไปกับความขี้เกียจนั้น แล้วเราก็ต้องรู้ว่าทำไมเราไม่ควรขี้เกียจ ทำไมเราควรตื่นเช้า ทำไมเราควรขยัน มันต้องชัดในตรงนี้ก่อน ถ้าชัดตรงนี้ มันก็จะทำให้มีแรงในการที่จะสู้กับความขี้เกียจได้ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นคำว่า ‘เห็นความขี้เกียจ’ ไม่ได้แปลว่าจะปล่อยใจไหลไปตามความขี้เกียจ ซึ่งอันนั้นเข้าไปเป็นแล้วเรียกว่าไหลตามแล้ว การเห็นคือ การที่รู้ซื่อๆ หรือไม่ผลักไสแล้วก็ไม่ไหลตาม.