แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2566
มีครอบครัวหนึ่งพ่อแม่ลูก ลูกก็อายุประมาณสัก 10 ขวบได้หรือว่าเล็กกว่านั้น วันหนึ่งขับรถผ่านป่าแห่งหนึ่ง จู่ๆ ก็มีลูกกวางตัวน่ารัก ยังเด็กอยู่เลยน่ารัก มายืนขวางถนนแล้วก็จ้องมองมาที่รถ รถต้องหยุดเลย หยุดแล้วกวางก็ยังไม่ยอมไป ทีแรกนึกว่ากวางจะข้ามถนนแต่ว่าไม่ได้ข้ามถนน จงใจจะขวางถนนเอาไว้ ครอบครัวนี้ก็ไม่เข้าใจว่ากวางตัวน้อยต้องการอะไร รีๆ รอๆ อยู่สักพักหนึ่ง ปรากฎกวางน้อยก็ทำท่าจะเรียกว่ากระสับกระส่าย หมุนตัวไปหมุนตัวมาแล้วก็มองไปที่ชายป่า มองเข้าไปในป่า ก็เลยเดาว่าสงสัยกวางน้อยคงต้องการจะสื่อสารอะไรบางอย่างกับคน ลูกชายก็เลยลงจากรถ
พอกวางเห็นคนลงจากรถมันก็ตรงมาที่เด็กคนนั้น แล้วก็ดมรองเท้า เหมือนกับจะบอกเชิญชวนให้ช่วยตามฉันไปหน่อย แล้วส่งสายตามองเข้าไปในป่า ทำให้ทั้งลูก พ่อและแม่ต่างก็ขยับ แล้วก็ลงจากรถ ลูกกวางก็วิ่งเข้าไปในป่าเลย เหมือนกับว่าเรียกร้องให้คนตามเข้าไป พอทุกคนเดินตามเข้าไปในป่าสักพักได้ยินเสียงร้อง เป็นเสียงร้องของกวาง ก็เลยรู้ว่าคงมีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นแน่ พอเข้าไปในป่าสักพักก็เจอต้นเสียงเลย เป็นกวางตัวใหญ่คิดว่าคงเป็นกวางตัวแม่ด้วย กำลังถูกเชือกรัดคงเป็นบ่วงหรือแร้ว แล้วมันก็ส่งเสียงร้อง เลยรู้ว่าลูกกวางกำลังต้องการความช่วยเหลือ กำลังขอร้องให้คนไปช่วยแม่ของเขา แต่พอคนเข้าไปใกล้ๆ แม่กวางก็ยิ่งดิ้นเข้าไปใหญ่เพราะว่ามันกลัวคน แล้วคนก็ไม่รู้จะทำอย่างไงเพราะว่าไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ แต่เด็กก็นึกขึ้นมาได้ว่ามีมีดอยู่ในรถ มีดพก เด็กก็กลับไปที่รถเอามีดมา แล้วก็ใช้มีดตัดเชือกที่รัดแม่กวางเอาไว้ พอแม่กวางมันรู้ว่าคนพยายามช่วยเหลือมัน มันก็นิ่งเลย เพราะมันรู้ว่าคนมาดีไม่ได้มาร้าย มันนิ่งมันยอมให้คนตัดเชือกตัดบ่วง จนกระทั่งเคชือกขาดมันก็ปลอดภัย พอหลุดจากบ่วง แม่กวางรีบวิ่งเข้าป่าด้วยความตกใจ
คนก็ดีใจว่าได้ช่วยแม่กวางเอาไว้ อดทึ่งไม่ได้ว่าลูกกวางเขารักแม่มาก แล้วก็พร้อมที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยแม่ ตัวเองก็รู้ว่าช่วยแม่ไม่ได้ก็ต้องหาคนอื่นมาช่วย มนุษย์นี่แหละ ซึ่งก็เสี่ยงเหมือนกัน แต่ก็กล้าเสี่ยง คราวนี้พอครอบครัวนี้ขึ้นรถ ยังไม่ทันขึ้นรถเลยปรากฎว่าไปเห็นแม่กวางลูกกวางยืนอยู่ไกลๆ ก็ไม่ไกลเท่าไหร่สัก 10-20 เมตร อยู่ที่ขอบถนน แม่กวางที่หนีเข้าป่าไปแล้วกลับมา เหมือนกับว่ามาขอบคุณ เท่านั้นไม่พอลูกกวางเดินตรงมาหน้ารถ แล้วก็หมอบ เหมือนกับคารวะ ต้องการขอบคุณ เด็กลงจากรถแล้วเดินไปที่ลูกกวาง เอามือลูบหัวลูกกวาง มันก็ยอมให้ลูบเพราะว่ามันรู้ว่าคนไม่เป็นพิษเป็นภัย สำนึกในบุญคุณที่คนได้ช่วยแม่เขา ความสำนึกในบุญคุณนี้เราเรียกว่าความกตัญญู กวางน้อยตัวนี้มีทั้งความกตัญญูต่อแม่ เห็นแม่เดือดร้อนก็อยากจะช่วยแม้ตัวจะต้องเสี่ยงก็ตาม แล้วพอมีคนมาช่วยแม่ได้สำเร็จก็สำนึกบุญคุณของคน จึงเข้ามาใกล้ๆ มาคารวะ
กวางเรียนรู้มาจากไหน ถึงกับหมอบ ด้วยการงอขา 2 ข้างเหมือนกับเป็นการก้มคารวะ ความสำนึกในบุญคุณของลูกกวาง ชี้ให้เห็นเลยว่า ความกตัญญูสำนึกในบุญคุณมีแม้กระทั่งในจิตใจของสัตว์ แม้เราจะเรียกว่าเป็นเดรัจฉาน เดรัจฉานเหมือนกับว่าเป็นสัตว์ชั้นต่ำหรือว่าเป็นชีวิตชั้นต่ำ แต่ว่าเขาก็มีความสำนึกในบุญคุณ มีความกตัญญู ซึ่งก็ไม่ใช่มีแต่กวาง ปลาวาฬน้อยที่เคยเล่าเขาเรียกคน ขอร้องให้คนไปช่วยแม่เขาที่ติดตาข่ายจับปลา แล้วพอคนช่วยได้สำเร็จ ทั้งแม่ปลาวาฬแล้วก็ลูกปลาวาฬก็ว่ายตามมาขอบคุณคนที่ไม่ไปช่วยเขา แถมตัวแม่ก็คาบปลากระเบนมามอบให้คนที่มาช่วยเขาด้วย เช่นเดียวกับปลาวาฬตัวน้อย
อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความสำนึกในบุญคุณที่แม้กระทั่งสัตว์น้ำก็มี อย่าว่าแต่สัตว์เลย นกก็มี มีตัวอย่างเยอะเลยความสำนึกในบุญคุณต่อผู้มีพระคุณ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้กำเนิดหรือว่าคนที่ช่วยชีวิตของพ่อแม่ แม้ ขนาดสัตว์ก็ยังมีความกตัญญูรู้สึกสำนึกในบุญคุณ นับประสาอะไรกับมนุษย์จะเรียกว่ามีตั้งแต่เกิดก็ได้ แต่ว่าบางครั้งคนเราเนื่องจากเรามีสมองที่ใหญ่ ในแง่หนึ่งการที่มีสมองที่ใหญ่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ อย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น มันก็มีความสำนึกในบุญคุณ ความกตัญญู มีคุณธรรม แต่ว่าสมองที่ใหญ่ก็ทำให้คิดได้มากมายหลายอย่าง แล้วถ้าคิดไม่ถูกไม่เป็น สิ่งที่คิดก็อาจจะหักล้างความสำนึกในบุญคุณของผู้มีพระคุณก็ได้ อย่างคนที่มีเหตุผลว่า พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเรา นั่นเป็นหน้าที่ของเขา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องขอบคุณหรือว่าสำนึกในบุญคุณ เป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว เขาต้องทำ ถ้าเขาไม่ทำ คนก็จะมาต่อว่า นี่เป็นเหตุผลเป็นความคิดที่สามารถจะลบล้างความสำนึกในบุญคุณที่มีอยู่ในใจของผู้คน
บางทีเหตุผลหรือความคิดก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป เวลาเห็นคนเดือดร้อนอยากจะช่วย ใจอยากจะช่วยเพราะมีเมตตากรุณาอยู่ในใจของทุกคน แต่ว่าบางครั้งก็มีเหตุผลว่าทำแล้วได้อะไร อันนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า เหตุผลที่ทำให้หลายคนขาดน้ำใจไม่ช่วยเหลือ มีข้ออ้างมากมายว่า ฉันต้องรีบ ฉันต้องไป ฉันเหนื่อย ทั้งที่ใจอยากจะช่วยแต่ว่าเหตุผลบอกว่าอย่าช่วยเลย อันนี้เป็นเพราะว่าความคิดของคนเรา พอสามารถคิดได้ซับซ้อนก็สามารถจะไปกดข่มคุณธรรม หรือว่าไปหักล้างคุณธรรมความกตัญญูได้ เราก็ต้องระวังความคิดนี่
เรามีความสามารถในการคิด แต่ถ้าคิดไม่เป็นก็สามารถจะชักนำให้เราทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งที่ใจเรียกร้อง ใจรู้ว่าอะไรถูกอะไรไม่ถูก แต่ว่าความคิดพาไปอีกทางหนึ่ง ต้องรู้จักรู้ทันความคิดด้วย แล้วก็อย่าไปหลงเชื่อความคิดหรือข้ออ้างที่เกิดขึ้นในหัวเรามากเกินไป อันนี้ต้องเชื่อใจเราบ้าง ฟังใจของเราบ้าง อย่าไปฟังแต่หัวอย่างเดียว