มีโยมคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า ลูกชายมักจะมีเรื่องทำให้แม่โมโห อารมณ์ขึ้นอยู่เป็นประจำ แล้วพอระบายบ่นลูกไปสักพัก แกก็บอกว่า ช่วงนี้จิตตก ก็เลยถามโยมว่า อยากให้จิตไม่ตกไหม อยากสิ ไม่อยากให้จิตตก ก็เลยบอกว่า ก็ให้ขอบคุณลูกที่ทำให้จิตเราขึ้น เวลาลูกทำอะไรไม่ถูกใจ จิตมันขึ้นเลย มันไม่ตกแล้วละ มันขึ้นด้วยอารมณ์ อารมณ์โกรธ
มองในแง่นี้ก็เป็นเรื่องดีนะ ความโกรธ ความโมโห มันช่วยผลักให้จิตมันขึ้น ทำให้หายจิตตก จิตคนเรามันก็ขึ้นด้วยหลายสาเหตุ ขึ้นเพราะว่ามีคนชม ได้โชคได้ลาภ จิตมันก็ฟู แต่บางทีความโกรธมันก็ช่วยกระตุ้นให้จิตมันขึ้นได้เหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าไม่ชอบจิตตก ก็ต้องขอบคุณความโกรธนะ ที่ทำให้อารมณ์มันขึ้น แล้วมันก็ช่วยยกจิตให้ขึ้นไปด้วย
อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นกับใจของเรา ถ้าเราดูหรือมองดีๆ บางอย่างก็มีประโยชน์นะ โดยเฉพาะถ้าหากว่าเรารู้จักเปรียบเทียบ อย่างเช่น ความเบื่อเนี่ยนะ หลายคนไม่ชอบความเบื่อเลย เรียกว่าส่วนใหญ่ก็ได้ไม่ชอบความเบื่อ หลายๆ คนก็สัมผัสได้ถึงความเบื่อเวลาที่มาปฏิบัติที่วัด
เดินจงกรม สร้างจังหวะทั้งวัน หรือแม้จะไม่ทำทั้งวัน แม้ทำครึ่งชั่วโมง หรือไม่ถึงชั่วโมง มันก็รู้สึกเบื่อแล้ว โดยเฉพาะคนที่ติดโทรศัพท์ หรือว่าชอบพูดชอบคุย พอต้องมาอยู่คนเดียว แล้วก็เดินไปเดินมา ไม่ได้พูดคุยกับใคร จะไปชงกาแฟกิน ก็ไม่มี ทำไม่ได้ จะไปเที่ยวเถลไถลเตร็ดเตร่เพื่อให้ใจมันหายเบื่อ ก็ทำไม่ได้ ฉะนั้น ก็เลยได้สัมผัสกับความเบื่อแบบเต็มๆ ชัดๆ เลย หลายคนก็รู้สึกว่าทนไม่ไหว
แต่ที่จริงความเบื่อมันก็ดี เพราะมันแสดงว่าชีวิตของเราตอนนี้ มันปกติ ราบเรียบ เพราะถ้าเกิดมีคนมาต่อว่าด่าทอเรา เราก็คงจะไม่เบื่อ เราคงจะโกรธ หรือถ้าเกิดว่าเงินหาย โทรศัพท์หาย เราก็คงจะไม่เบื่อ แต่เราคงจะเสียใจ หรือว่าเกิดความวิตกกังวล หรือถ้าเกิดคนรักของเราเกิดล้มป่วย เราก็เกิดความหนักอกหนักใจ แล้วจะเกิดความเศร้า ถ้าหากว่าเขาไม่เพียงแค่ล้มป่วย แต่ว่าตายจากไปเลย
มองในแง่นี้ ความเบื่อมันก็ดีมันแสดงให้เห็นว่า ชีวิตของเราราบเรียบ หรือว่าเป็นปกติ ไม่มีใครมาต่อว่าด่าทอเรา ไม่มีความสูญเสียพลัดพรากเกิดขึ้น ไม่ต้องหนักอกหนักใจกับปัญหาต่างๆ มองความเบื่อในแง่นี้ มันก็เป็นของดี เพราะถ้าความเบื่อมันเกิดไม่ปรากฏ มันอาจจะมีอารมณ์อย่างอื่นมาแทนที่ซึ่งแย่กว่าก็ได้
แต่บางคนก็ทนความเบื่อไม่ไหว ก็เลยหันไปหาอารมณ์อื่น แม้ว่าจะเป็นอารมณ์ที่มันไม่ได้เป็นคุณเท่าไร คนแก่หลายคนอยู่บ้าน วันๆ หนึ่งไม่รู้จะทำอะไร เบื่อ ก็เลยเปิดโทรทัศน์ และมักจะดูช่อง ดูรายการที่ เป็นข่าวการเมือง และข่าวที่ดู หรือช่องที่ดู บางทีก็เป็นช่องของกลุ่มคนที่ตัวเองไม่ชอบ แถมเกลียดด้วย แล้วก็มักจะเกาะติดรายการข่าว เรียกว่าเป็นวันๆ เลย ทั้งวันเลย ดูไปก็ด่าไป ดูไปก็ด่าไป เพราะว่าเป็นช่องหรือเป็นรายการของฝ่ายตรงข้ามที่ตัวเองไม่ชอบ
แต่ก็แปลกนะ ทั้งที่ไม่ชอบ ทั้งที่โกรธ กับเรื่องราวที่เห็นทางจอโทรทัศน์นี่ แต่ว่าไม่ยอมปิด ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมเปลี่ยนช่อง บางทีลูกหลานก็แปลกใจ เอ ทำไมพ่อแม่เอาแต่ดูโทรทัศน์ช่องนี้ ทั้งๆ ที่ดูไปก็บ่นไป ดูไปก็ด่าไป แต่ก็ไม่เลิกดู ก็คงเพราะว่ามันทำให้เลือดลมสูบฉีด ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวา ดีกว่าอยู่บ้านหงอยๆ เหงาๆ ดูรายการโทรทัศน์ที่มันกระตุ้นให้เกิดความโกรธ เกิดความไม่พอใจ สำหรับบางคน มันก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าที่จะอยู่แบบหงอยๆ อยู่แบบเบื่อๆ
เพราะความโกรธนี่มันก็ทำให้มีชีวิตชีวาไปอีกแบบหนึ่ง ยังไม่ต้องพูดถึงว่า มันมีรสชาติที่ทำให้คนเราปล่อยวางได้ยาก เพราะว่าเวลาเราโกรธอะไร เราไม่ชอบอะไร จะเป็นคำพูดหรือการกระทำของใคร หรือว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่เราไม่ชอบ แต่ว่ามันก็มีแรงดึงดูดให้ใจเรานี้ไปจดจ่อ ยิ่งไม่ชอบก็ยิ่งจดจ่อ ทะนุถนอมอารมณ์นั้น ยิ่งไม่ชอบใครก็ยิ่งคิดถึงคนนั้น ยิ่งไม่ชอบคอมเม้นท์(การแสดงความคิดเห็น)ของใคร ก็ยิ่งนึกถึงคำพูดเหล่านั้น
เหมือนเวลาเราเจอกลิ่นเหม็น มือหรือนิ้วเราถูกกลิ่นเหม็น ไปถูกเอาน้ำปลาหรือปลาร้า หรือว่าอาจจะเป็นปัสสาวะ เยี่ยวแมว โอ้ยเหม็น เผลอไปถูกเข้า อย่างแรกที่เราทำคือล้างนิ้วล้างมือ และพอล้างเสร็จแล้วทำยังไง ดึงนิ้วดึงมือมาดม ถ้ายังมีกลิ่นเหม็นอยู่ก็จะล้าง แล้วทำไงต่อ เอามาดม ยิ่งเหม็นยิ่งดมนะ มันก็แปลก ยิ่งเหม็นทำไมเราถึงยิ่งดมนะ เพราะว่ามันยิ่งดึงดูดใจให้จดจ่อ
ความโกรธความเกลียดก็เหมือนกัน โดยเฉพาะจากสื่อ เดี๋ยวนี้อาจจะดูโทรทัศน์น้อยลง แต่ว่าดูโทรศัพท์มากขึ้น แล้วคนแก่จำนวนมากที่วันๆ ไม่ทำอะไร ก็ไปจดจ่อเกาะติดอยู่กับข่าวการเมือง โดยเฉพาะช่วงที่มันมีการประท้วง มีการปะทะ มีการขัดแย้งกันรุนแรง เรียกว่าติดตามไม่ลดละเลย ทั้งๆ ที่ช่องที่ติดตามมันก็เป็นช่องที่ตัวเองไม่ชอบ เป็นคู่ปรับ แต่ว่ามันละสายตา หรือละความสนใจไม่ได้
ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า มันทำให้หายเบื่อ ทำให้ชีวิตแต่ละวันๆ มันมีรสมีชาติ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจ อย่างไรก็ตาม อารมณ์พวกนี้ บางอย่างเราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่มันก็เกิด โดยเฉพาะเวลาเรามาอยู่วัด มาเจริญสติ หรือถึงแม้จะอยู่ที่อื่นก็ตาม มันก็จะมีอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งที่เป็นบวกและเป็นลบ
สำหรับผู้ใฝ่ธรรม มันเป็นโอกาสในการที่เราจะเฝ้าสังเกตอารมณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น และยิ่งเราหมั่นสังเกต มันก็จะเห็นว่าอารมณ์พวกนี้ มันมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป ใจเราก็มีขึ้นมีลง เมื่อกี้ยังจิตตกอยู่เลย ยังห่อเหี่ยวอยู่เลย ตอนนี้กลับเกิดความฉุนเฉียว หรือเกิดความดีใจขึ้นมา ความห่อเหี่ยว ความเบื่อ มันหายไปไหนก็ไม่รู้ มันกลับมีความดีใจเมื่อเจอเพื่อน หรือเมื่อเจอข่าวดีจากโทรศัพท์มือถือ หรือเจอข่าวที่ถูกใจ
ใจเรานี่มันมีอะไรให้เราดูให้เราศึกษาได้เยอะเลย แล้วเราก็จะเห็นว่ามันมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป จะไปเอาจริงเอาจัง หรือยึดมั่นถือมั่นกับมัน ไม่ได้เลย และถ้าหากว่าเราเป็นผู้ที่หมั่นฝึกฝนตน เราก็จะพบว่าอารมณ์พวกนี้ ไม่ว่าดีหรือร้าย บวกหรือลบ มันสามารถที่จะเป็นเครื่องฝึกใจเราได้ ไม่ใช่แค่ฝึกให้เกิดความอดทนเวลามีความเบื่อ หรือฝึกความอดทนเวลามีความโกรธ ความอยาก ความโลภ แต่มันสามารถจะเป็นเครื่องฝึกสติให้กับใจของเราได้ เขามาเพื่อฝึกสติ ให้เร็ว ให้ไว สติเรามันจะเข้มแข็ง จะปราดเปรียวว่องไว มันไม่ใช่เพราะนึกเอา อยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันเป็นเพราะว่ามีการฝึก แล้วฝึกจากอะไร ก็ฝึกจากความคิดและอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าบวกหรือลบ ดีหรือร้าย มันเป็นเครื่องฝึกสติที่จำเป็นมากเลย
และไม่ใช่เพียงแค่นั้น มันยังเป็นสิ่งที่สอนใจเราได้ สอนให้เห็นว่าความคิดและอารมณ์นั้น มันไม่เที่ยง สอนกระทั่งว่า อารมณ์เหล่านี้หรือรวมทั้งใจนี่ มันไม่ใช่เรา มันไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเราได้ ไม่อยาก ให้มันเบื่อมันก็เบื่อ ไม่อยากให้มันโกรธ มันก็โกรธ ถึงเวลามันโกรธ อยากให้มันสงบ มันก็ไม่ยอมสงบง่ายๆ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา อันนี้แปลว่าใจไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่รู้แม้กระทั่งว่าอีก 1 นาที หรือในอีก 30 วินาทีข้างหน้านี้ มันจะคิดอะไร ตั้งใจจะไม่คิด อยากจะให้มันอยู่กับลมหายใจ อยู่กับมือที่เคลื่อนไปมา เดี๋ยวมันก็คิด คิดขึ้นมา นี่เรียกว่ามันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา
ไม่ใช่ของเรานี่อาจจะเห็นได้ง่าย แต่ไม่ใช่เรานี่ ต้องใช้เวลาหน่อย แต่ว่าถ้าฝึกดีๆ ก็จะเห็น หรือว่าฝึกเรื่อยๆ ก็จะเห็น ว่าใจไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธก็อันหนึ่ง ความเกลียดก็อันหนึ่ง ความคิดก็ อันหนึ่ง มันไม่ใช่เรา แต่เผลอเมื่อไรก็ไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ไปยึดว่าความโกรธเป็นเรา ความคิดเป็นเรา แต่ที่จริงมันไม่ใช่เลย
ถ้าหมั่นดูหมั่นสังเกต เจริญสติบ่อยๆ ก็จะเห็น แล้วต่อไปก็จะเห็นนะว่า ความทุกข์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับใจนี่ มันล้วนแต่มีใจของเราเข้าไปมีส่วนในการก่อให้เกิดขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า สาเหตุของความทุกข์ในใจ มันไม่ได้อยู่ที่ภายนอกอย่างเดียว มันอยู่ที่ใจของเราด้วย
หลายคนหงุดหงิดเวลารถติด แต่ที่จริง ถ้าลองดูดีๆ สังเกตใจของเรา ถ้าเราไม่คาดหวังให้รถ หรือการสัญจรมันไหลลื่น รถติดเราก็ไม่หงุดหงิด อาจจะมีบางวันที่เราก็ไม่ได้หวัง ไม่ได้คาดหวังว่าจะให้ถึงที่หมายไวๆ ฉะนั้นพอรถติด เราก็ไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้หงุดหงิดอะไร แต่วันใดก็ตามที่เราอยากให้ถึงที่หมายไวๆ เพราะมีนัด เราจะหงุดหงิดมาก แต่ถ้าเกิดว่ารถติด เราไม่สนใจ ไม่จดจ่อ เพราะกำลังคุยกับแฟน กำลังคุยกับเพื่อน คุยถูกคอกันเลยนะ รถติดแค่ไหนเราก็ไม่เดือดร้อน เพราะเราไม่สนใจ เราลืมไปด้วยซ้ำ เพราะเรากำลังเพลินหรือจดจ่ออยู่กับเรื่องที่กำลังคุยกัน ต่อเมื่อเราเกิดสนใจขึ้นมา จดจ่อขึ้นมา เราถึงจะรู้สึกหงุดหงิด
เช่นเดียวกัน การกระทำของใคร ไม่ดีอย่างไร ถ้าเราไม่ถือ เราก็ไม่ทุกข์ไม่หงุดหงิด เราจะโกรธจะหงุดหงิด ก็ต่อเมื่อเราถือ อย่างครูที่กำลังสอนอยู่ แล้วเห็นนักเรียนก้มหน้ามองโทรศัพท์มือถือ ไม่ค่อยสนใจเรียน ไม่ค่อยสนใจฟังครู ถ้าครูคนไหนถือเรื่องนี้มาก จะโกรธ แต่ถ้าครูคนไหนไม่ถือ มันจะสนใจไม่สนใจก็เป็นเรื่องของมัน ฉันก็สอนของฉันไป พอไม่ถือก็ไม่โกรธ
เช่นเดียวกันโทรศัพท์มือถือดังขึ้นตอนนี้ ถ้าอาตมาถือ อาตมาก็จะโกรธเจ้าของโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าไม่ถือ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ผิดพลาดกันได้ ลืมปิดโทรศัพท์ได้ จะมีเสียงโทรศัพท์ดังขณะที่อาตมา บรรยาย อาตมาก็ไม่โกรธ ไม่หงุดหงิด หรือว่าเอาเสียงโทรศัพท์นั้นมาเป็นเครื่องฝึกใจของตัวว่า เราจะมีสติในขณะบรรยายได้ไหม โดยที่ไม่วอกแวกไปกับเสียงที่มารบกวน อย่างนี้ก็ไม่เกิดความหงุดหงิด ไม่เกิดความโกรธ เพราะไม่ถือ
ให้เราสังเกตดู ความทุกข์ในใจ มันไม่ได้เกิดจากสิ่งภายนอกอย่างเดียว มันเป็นเพราะใจเราเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย อันนี้รวมไปถึงคำต่อว่าด่าทอ ใครมาด่าว่าเรา ถ้าเราถือเราก็โกรธ อาจจะถือในคำพูด หรือว่าถือในหน้าตา ถ้ามาต่อว่าต่อหน้านี่ยังไม่เท่าไหร่ ไปต่อว่าต่อหน้าธารกำนัลนี่บางคนถือมาก ถือเรื่องหน้าตา ก็โกรธ
ตรงนี้สำคัญเพราะมันทำให้เราตระหนักว่า สมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย มันอยู่ที่ใจเรานี่แหละ อยู่ที่การวางใจของเรา ใครเขาจะต่อว่าด่าทออย่างไร ถ้าเราไม่ไปร่วมมือ หรือว่ารักษาใจไม่ให้ไปเข้าทางเขา เราก็ไม่โกรธ เพราะบางทีคนที่ต่อว่า อยากจะให้เราโกรธ แต่พอเรารู้ว่าเขามีอุบายแบบนี้ มีจุดมุ่งหมายแบบนี้ เราก็ไม่ต้องการจะเข้าทางเขา เราก็สามารถจะยิ้มระรื่นได้ แต่อาจจะยิ้มระรื่นภายนอก แต่ภายในอาจจะโกรธก็ได้
อันนี้เป็นเพราะว่าวางใจไม่เป็น ไปเอาคำพูดของเขามาทิ่มแทงใจของเรา เหมือนกับเขาพ่นตะปู หรือพ่นเศษแก้วใส่เรา ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง แต่ว่ามันไม่ได้จบแค่นั้น เราก็ไปฉวยไปหยิบเอาตะปูที่เขาพ่นมา หยิบมาทำไม หยิบมาทิ่มแทงตัวเรา ที่เราทุกข์ เพราะว่าเราเอาคำพูดของเขามาทิ่มแทงใจของเรา อันนี้เรียกว่าถือเรียกว่ายึดเอาไว้ ไปฉวยเอาคำพูดของเขามาทิ่มแทง แต่ถ้าเราไม่จับไม่ฉวยไม่สนใจคำพูด หรือไม่ไปหยิบเอาตะปูเหล่านั้นที่เขาพ่นมาจากปาก เอามาทิ่มแทง เราก็ไม่ทุกข์
อันนี้พระพุทธเจ้าเคยสอนพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์คนหนึ่งเดินตามพระพุทธเจ้าและต่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะเขาไม่ถูกใจที่พระพุทธเจ้าสอนธรรมจนกระทั่งลูกศิษย์มิตรสหายของเขาหันมานับถือ พระพุทธเจ้า เขาโกรธ ก็มาตามต่อว่าพระองค์ พระองค์ก็ไม่ตอบโต้อะไร จนกระทั่งถึงวัดเชตวัน พอถึงเชตวันแล้วก็เริ่มสนทนากับเขา
พระพุทธเจ้าถาม
“เคยมีคนมาบ้านท่านบ้างไหม”
พราหมณ์ตอบ
“มี มีเยอะด้วย เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอก ข้าพเจ้ามีเพื่อน มีมิตรสหายมาก”
“เมื่ออาคันตุกะมาบ้านท่าน ท่านทำอย่างไร”
“เราก็เอาอาหาร เอาของขบเคี้ยวมาต้อนรับ”
“แล้วถ้าเขาไม่รับของขบเคี้ยวนั้น ของนั้นจะเป็นของใคร”
“ก็เป็นของข้าพเจ้าสิ”
พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า “ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านด่าว่าเรา ต่อว่าเรา ถ้าเราไม่รับเอาคำต่อว่าของท่าน คำเหล่านั้นจะเป็นของใคร”
อันนี้มองอีกแง่หนึ่งก็คือว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างพระพุทธเจ้า ก็คือว่า พอเขาต่อว่าหรือด่าว่า ก็รับเอาคำด่าว่าเหล่านั้นมาทำร้ายตัวเอง เหมือนกับว่าเขาเอาของขบเคี้ยวมาให้ ก็ไปรับของเหล่านั้นมาเคี้ยว แต่อันที่จริงมันไม่ใช่ของขบเคี้ยว มันเป็นยาพิษเลยทีเดียว คำอุปมาของพระพุทธเจ้าในแง่หนึ่งมันก็ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราไม่ไปรับเอาคำด่าว่าของใครมา เราก็ไม่ทุกข์ แต่เราทุกข์ เพราะเราไปรับเอาคำด่าว่าของเขามา
อันนี้แหละจึงบอกว่า ความทุกข์ในใจเรามันล้วนแต่มีสาเหตุมาจากการวางจิตวางใจของเราที่ไม่ถูกต้อง เมื่อไปรับเอาคำด่าว่าของเขามา เก็บตะปู เศษแก้วที่พ่นจากปากเขามาทิ่มแทงตัวเราแล้วเจ็บ หรือพูดอีกอย่างก็คือ เกิดความโกรธ ที่จริงเกิดความโกรธ หรือเกิดความเกลียด หรือเกิดความเบื่อ ความหงุดหงิด อันนั้นยังไม่ทำให้เราทุกข์ มันเกิดขึ้นก็จริง แต่ว่าความทุกข์ยังไม่เกิด มันเกิดเมื่อเราไปยึดเอาความโกรธ หรือความทุกข์เหล่านั้น มาเป็นเราเป็นของเรา คือพอมันมีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว พูดอย่างหลวงพ่อคำเขียนก็คือว่า แทนที่จะเห็น ก็เข้าไปเป็น
ถ้าเห็นไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเบื่อ ความเศร้าเนี่ย มันไม่ทุกข์นะ แต่เพราะไปยึดเอาว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา หรือเข้าไปเป็นเนี่ย จึงทุกข์ แล้วทำไมถึงยึด ก็เพราะว่าไม่รู้ตัว เพราะความหลง แล้วความโกรธเกิดขึ้น เพราะถือ ถือเอาคำพูดของเขา หรือไปยึดเอาคำพูดของเขามาปรุงให้เกิดความโกรธเท่านั้นยังไม่พอ ยังไปยึดเอาความโกรธมาเป็นเราเข้าไปอีก
ทีแรกเผลอ ปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นเพราะถือ ถือในการกระทำคำพูดของเขา แต่เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรามีสติรู้ตัว แค่เห็นเฉยๆ ไม่เข้าไปเป็น มันก็ไม่ทุกข์นะ แต่เพราะไม่เห็น เข้าไปเป็น เข้าไปยึด ไอ้ตรงเข้าไปยึดนี่แหละ มันคือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์ในใจเรา ตรงนี้ถึงบอกว่า สมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ มันอยู่ที่ใจเราด้วย อยู่ที่เราไปร่วมมือกับเขา ฉะนั้น ถ้าเราไม่ถือ เราก็ไม่โกรธ หรือถึงโกรธ แต่ไม่ไปยึดในความโกรธนั้น มันก็ไม่ทุกข์
นี่คือสิ่งที่เราต้องมองให้เห็น แล้วจะเห็นได้ก็ต้องหมั่นสังเกตใจของเราอยู่บ่อยๆ แล้วเราก็จะรู้ว่า ไม่ว่าจะเจออะไร ใจเราไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าใจเราไม่ถือ หรือไม่เข้าไปยึด หรือรู้จักวางใจให้ถูก มันไม่จำเป็นต้องไปแก้ที่ใคร ไม่ต้องไปจัดการกับใคร สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือจัดการที่ใจของเรา ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว ให้มีปัญญา.