คนเราแต่ละคนก็ประกอบไปด้วยกายกับใจ กายก็มีสองสภาวะใหญ่ๆ คือตื่นกับหลับ ใจเราก็เหมือนกัน มีสอง สภาวะใหญ่ๆ คือรู้กับหลง รู้คือรู้ตัว หลงก็คือไหลเข้าไปในความคิดหรือจมอยู่ในอารมณ์ ร่างกายมันตื่นมากกว่าหลับ วันหนึ่งเราอาจจะหลับสัก 7-8 ชั่วโมง แต่ว่าเราตื่นสัก 15-16 ชั่วโมงหรือ 17 ชั่วโมง
ตรงข้ามกับใจ ใจนี่หลงมากกว่ารู้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยสังเกตหรอก แต่พอเริ่มมาสังเกตดูใจของตัว ก็จะพบว่ามันหลงมากกว่ารู้ อาจจะลงสัก 90% ในยามที่ตื่น อาจจะมีแค่ 10% เท่านั้นแหละที่รู้ตัว นี่เฉพาะเวลาตื่นนะ ไม่นับเวลาหลับ เวลาหลับนี่เรียกว่าแทบจะหลงเต็มร้อยเลย ตื่นกับหลับนี่มันก็สลับกัน ตื่นแล้วก็หลับ ตื่นนี่ก็17-18 ชั่วโมงแล้วถึงค่อยหลับ แต่รู้กับหลงนี่มันสลับกันถี่ยิบเลย รู้ประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็หลง หลงไปสักพักก็รู้ แล้วรู้ไม่กี่ขณะก็หลง มันไม่ได้เป็นท่อนๆ อย่างตื่นกับหลับ วันทั้งวัน 24 ชั่วโมงก็มีแค่สองท่อน สองสภาวะ ตื่นกับหลับ
ช่วงที่ตื่น เราก็ไม่ค่อยหลับ ยกเว้นบางคนบางขณะ จะให้หลับมันก็ไม่หลับ แต่พอถึงเวลาจะหลับมันก็หลับ พอหลับแล้วจะให้ตื่นก็อาจจะยาก งัวเงีย ไม่เหมือนกับเวลาหลง หลงนี่มันหลงยาว แล้วถึงแม้จะกลับมารู้ มันก็รู้ประเดี๋ยวเดียวแล้วก็หลงใหม่ มันไม่ใช่ว่ารู้เต็มที่แล้วถึงค่อยมาหลง เหมือนกับตื่นเต็มที่แล้วค่อยหลับ มันไม่ใช่ แล้วที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือว่าหลับนี่มีประโยชน์นะ มีประโยชน์ต่อร่างกาย คนเราถ้าตื่นสถานเดียว ไม่หลับเลยนี่แย่ มีบางคนพยายามที่จะไม่หลับ ผ่านไป 72 ชั่วโมงหรือบางทีแค่ 48 ชั่วโมงนี่ก็ไม่ไหวแล้ว เพราะร่างกายต้องการหลับ เพื่อฟื้นพลังต้อง
ตรงข้ามกับความหลง หลงนี่ไม่ค่อยมีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์เลยก็ว่าได้ มันมีแต่จะเกิดโทษ เพราะคนเราพอหลงแล้วก็ตามมาด้วยความทุกข์ ทุกข์คนเดียวไม่พอ ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ด้วย เพราะในเวลาที่หลงก็หมายความว่าเป็นเวลาที่พลัดอยู่ในความโกรธ ความโศก ความเศร้า ความเครียด ความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่าน ความหลงตัวลืมตน ความโลภ มันล้วนแต่ไม่ดี หลับนี่มีประโยชน์ ถ้าหลับพอประมาณ ไม่หลับเลยนี่ไม่ได้ ร่างกายแย่ สุขภาพเสื่อมโทรม แต่ตรงข้าม ความหลงนี่มันบั่นทอนจิตใจมากเลย ถ้าเราปล่อยให้ใจถูกครอบงำด้วยความหลงนี่แย่เลย บางทีพาเราเข้ารกเข้าพงไปเลย คนที่หลงมากๆ บางทีถึงกับทำร้ายตัวเอง เพราะว่าถูกโรคซึมเศร้า ถูกความน้อยเนื้อต่ำใจ ถูกความเครียด ความโกรธ มันชักพา ไม่เพียงทำร้ายตัวเอง บางทีทำร้ายคนอื่นด้วย
ฉะนั้นสำหรับคนที่ประสงค์ชีวิตที่ผาสุข เจริญงอกงาม หรือว่าเอื้อเฟื้อกูล ชีวิตที่ดีงาม พูดง่ายๆ มันต้องพยายามเติมความรู้สึกตัว หรือเพิ่มตัวรู้ให้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วยิ่งสามารถทำให้แต่ละวันๆ มีความรู้ตัวมากกว่าความหลง อันนี้มันจะเป็นสิ่งวิเศษมากเลย แล้วขณะเดียวกันถ้าหากว่าเราพยายามทำให้ความหลงมันหายไป ชีวิตเราก็จะผ่องใสเบิกบาน
แต่การที่จะทำให้ความหลงมันหายไป หรือลดน้อยถอยลง จริงๆ แล้วเราไม่ต้องทำอะไรกับมันเลยนะ เราไม่ต้องทำอะไรกับความหลงนั้นเลย เราเพียงแต่เติมตัวรู้หรือเพิ่มความรู้สึกตัวเข้าไป ความรู้สึกตัว หรือตัวรู้ก็จะไปเบียด ไปขับ จัดการกับความหลง ให้มันลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งสำคัญนะ หลายคนรู้ว่าความหลงไม่ดี แต่ก็พยายามที่จะบังคับจิต เพื่อไม่ให้หลงเข้าไปในความคิด ไม่ให้หลงเข้าไปในอารมณ์ อุตส่าห์มาฝึกจิตเพื่อบังคับจิตไม่ให้มันคิดฟุ้งซ่าน เพราะไม่อย่างนั้นความหลงมันก็จะเกิดขึ้นในจิตใจ ที่จริงเราไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น ไม่ต้องบังคับจิตเพื่อให้หยุดคิด เพื่อไม่ให้จิตหลงเข้าไปในความคิด หรือหลงเข้าไปในอารมณ์ เราเพียงแต่ทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น แล้วความรู้สึกตัวก็จะไปจัดการกับความหลงเอง เหมือนกับน้ำเน่าน้ำเสีย เราอยากจะกำจัด หลายคนก็คิดถึงการวิดน้ำ วิดน้ำเสียนี่มันเหนื่อยนะ ที่จริงมันมีวิธีที่ดีกว่านั้น คือปล่อยน้ำดีเข้าไป น้ำดีก็จะไปขับไล่น้ำเสียออกไปเอง
การกำจัดความหลง มันไม่ต้องลงมือทำอะไรกับความหลงนั้นเลย เราเพียงแต่เติมหรือเพิ่มความรู้สึกตัว หรือทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นในใจ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญนะ เพราะว่าหลายคนก็ยังเข้าใจว่าต้องกำจัด ความหลงให้ออกไปจากจิตใจ ทำให้ไม่ไหลเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ เพราะฉะนั้นก็จะคิดถึงเรื่องการบังคับจิต แต่ยิ่งบังคับจิตนี่ก็ยิ่งผิดหวัง และเกิดความท้อแท้ หรือว่าเกิดความหงุดหงิด เกิด โทสะ เพราะว่าจิตนี่มันบังคับไม่ได้ มันมีวิธีที่ดีกว่า คือการทำให้ความรู้สึกตัวเกิดขึ้นในใจของเรา
ฉะนั้นแทนที่จะบังคับจิตไม่ให้คิด ไม่ให้ไหลเข้าไปในอารมณ์ เราก็เน้นเรื่องการกลับมารู้สึกตัว หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดว่า การภาวนามันเก่งตรงที่กลับมารู้สึกตัว ประโยคนี้สำคัญนะ เพราะว่าหลายคนไปคิดว่าความก้าวหน้าของการปฏิบัติ อยู่ที่การบังคับจิตไม่ให้ไหลเข้าไปในความคิด บังคับจิตไม่ให้ส่งออกนอก บังคับจิตนั่นเอง เช่นจิตมันอยู่กับลมหายใจ ก็บังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจ ไม่ให้ไปไหน ถ้าเอาอารมณ์หรือเอาท้องพองยุบเป็นนิมิต ก็บังคับจิตให้อยู่กับท้องที่พองและยุบ บังคับจิตไม่ให้มันไปไหน ถ้าจิตมันไปก็รู้สึกว่าปฏิบัติไม่ก้าวหน้า
หลายคนก็มีความทุกข์มากเลย ว่าทำไมมันคิดมากเหลือเกิน ทำไมฟุ้งมันเยอะเหลือเกิน นี่เพราะไปตั้งเป้า หรือไปวัดความก้าวหน้า ความสำเร็จ ที่การบังคับจิตให้มันนิ่ง ไม่ให้ไปไหน แต่ที่จริงแล้วการพาจิตกลับมารู้สึกตัวบ่อยๆ ต่างหาก ที่มันเป็นสิ่งที่จะชี้วัดความก้าวหน้า หมายความว่าคิดมากหรือมีความคิดเกิดขึ้นเยอะ ไม่เป็นไร แต่ให้กลับมารู้สึกตัวบ่อยๆ หรือกลับมารู้สึกตัวให้ไวขึ้นๆ
หลวงพ่อเทียนท่านก็ย้ำอยู่เสมอว่าอย่าไปห้ามคิดๆ ก็คืออย่าไปวัดกันที่ว่าบังคับจิตไม่ให้ไป แต่เราจะมาฝึกจิตให้กลับมา กลับมารู้สึกตัว กลับมาอยู่กับกาย กลับมาอยู่กับกายที่กำลังเดิน ไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือว่าเดินไปทำธุระ กลับมาอยู่กับกายที่กำลังยกมือสร้างจังหวะ อยู่สักพักเดี๋ยวมันก็ไปแล้ว ไม่เป็นไร แต่ว่าให้มันกลับมา พูดอีกอย่างหนึ่งคือว่า ไปไม่ว่า ให้กลับมาไวๆ บางคนปฏิบัติธรรมด้วยการพยายามบังคับจิต ไม่อยากให้มีความคิดหรืออารมณ์บางอย่างเกิดขึ้น พอมีความคิดที่เป็นลบ ความคิดที่เป็นอกุศล อารมณ์ที่เป็นอกุศล ก็รู้สึกเป็นทุกข์มากเลย อันนี้แสดงว่าไม่เข้าใจความจริงของจิต ว่ามันเป็นเหมือนที่โล่งที่ว่าง ที่ความคิดใดๆ จะเกิดขึ้นก็ได้
พระพุทธเจ้าเคยเปรียบร่างกายนี้ว่าเหมือนกับศาลาริม ทางศาลาที่พักริมทางก็จะมีคนนานาชนิดมาพักที่ศาลานั้น มีทั้งเศรษฐี มีทั้งขุนนาง มีทั้งคหบดี มีวณิพก มีพระสงฆ์ มีนักบวช มีผู้ร้าย มีผู้หญิงผู้ชาย มีคนแข็งแรงมีคนเจ็บป่วย พระองค์ตรัสอย่างนี้เพื่อบอกว่า ร่างกายนี้มันพร้อมจะมีเวทนานานาชนิดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา ความรู้สึกร้อน อ่อนแข็ง ปวดเมื่อย สบาย สุข หรือเฉยๆ
ใจเราก็เหมือนกัน มันก็เหมือนกับศาลาริมทาง ที่มันจะมีคนนานาชนิดมาใช้ มาพัก มีทั้งคนดีคนร้าย มีทั้งนักบวช มีทั้งเด็กที่ไร้เดียงสา ก็หมายความว่ามันสามารถจะมีอารมณ์หรือความคิดทุกชนิด หรือนานา ชนิดเกิดขึ้นได้ในใจ ห้ามไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเราพยายามบังคับจิตไม่ให้มีความคิด หรืออารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้เกิดขึ้น เราก็จะผิดหวัง เราต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความจริง ว่ามันสามารถจะมีความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉาพยาบาท ความคิดที่ไม่ดี เห็นแก่ตัว จ้วงจาบครูบาอาจารย์ผุดขึ้นมา
เราปฏิเสธไม่ได้ มันเกิดขึ้นแล้วก็ยอมรับ และแทนที่จะผลักไสมัน เราก็เพียงแค่ให้มีความรู้สึกตัว แล้วก็รู้ทัน อารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น เราบังคับไม่ได้ บังคับจิตไม่ให้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเกิดขึ้น เราบังคับไม่ได้ แต่ว่าเราทำได้ดีกว่านั้น คือเรารู้ทันมัน จะทำอย่างนั้นได้ เราต้องยอมให้มีความคิดและอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ยอมให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่พยายามกดข่ม ผลักไสมัน หรือพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด ไม่ให้มีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น
อันนี้เป็นเรื่องยากนะ เพราะหลายคนก็มีความคิดว่าอะไรที่ไม่ชอบ เราต้องจัดการกับมัน เริ่มจากการบังคับไม่ให้มันเกิดขึ้น ปิดช่องไม่ให้มันเกิดขึ้น เราถนัดเรื่องการจัดการกับสิ่งต่างๆ ภายนอก แล้วเราคิดว่าเราจะใช้วิธีการจัดการแบบเดียวกันกับใจของเรา แต่ใจมันเป็นสิ่งที่จัดการได้ยาก เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันพร้อมจะมีความคิดอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เราก็ไม่ต้องหัวเสียไปกับการที่มีอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น แค่เพียงแต่ยอมรับ อนุญาตให้มันเกิดขึ้น แล้วก็รู้ทันมัน
การรู้ทันเราก็ต้องเปิดโอกาสให้สติทำงาน สติทำหน้าที่รู้ทัน เราต้องให้โอกาสสติในการทำงาน ทำหน้าที่มารู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ แต่บางคนใจร้อน เห็นว่าสติมาช้า รู้ทันช้าเหลือเกิน คิดไปยืดยาวหลายเรื่องหลายราว เพิ่งมารู้ว่าเผลอคิดไป ก็เลยพยายามไปดักจ้องความคิด ไปดักจ้องอารมณ์ ทำแบบนี้บ่อยๆ หรือทำแบบนี้นานๆ มันก็เครียด แล้วก็ไม่เป็นอันทำอะไรเลย
เดินจงกรมแทนที่จะมีสติรู้กายก็ไม่รู้ เพราะว่าจิตมันเข้าไปดักจ้องความคิด บางทีขับรถแทนที่จะมองไปข้างหน้าว่าถนนโล่งไหม มีรถหรือเปล่า กลับจ้องความคิด อยากจะขับรถให้มีสติ แต่ว่าไม่เข้าใจการขับรถอย่างมีสติเป็นอย่างไร ก็ไปดักจ้องความคิด ข้ามถนนก็ไปดักจ้องความคิด แทนที่จะเดินด้วยความรู้สึกตัว แน่ใจว่าถนนโปร่งโล่ง ปลอดภัยหรือเปล่า หรือเวลาเดินจงกรม สร้างจังหวะ ปฏิบัติ ก็พยายามดักจ้องความคิด ไม่ให้ความคิดมันออกมา ออกมาเมื่อไหร่ฉันจะจัดการกับมัน อันนี้เรียกว่าทำเกินหน้าที่ เรียกว่าไปแย่งงานสติทำ
เราต้องอนุญาต ต้องยอมให้โอกาสกับสติให้เขาได้ทำงาน อาจจะช้า แต่ว่าถ้าเราให้โอกาสเขา เขาจะทำงานได้เร็วขึ้นๆ เหมือนกับเรามีลูก ก็ต้องให้โอกาสเขาล้างจาน ทำความสะอาด เช็ดถูบ้าน ใหม่ๆ ก็ไม่สะอาด แต่เราก็ให้โอกาสเขา ต่อไปเขาก็จะทำได้ดีขึ้นๆ แล้วเขาก็จะทำแทนเรา เราก็จะไม่เหนื่อย ฉะนั้นการเจริญสติเราต้องวางท่าทีในจิตใจของเราให้ถูก หรือวางใจให้เป็น นั่นคือว่าอนุญาตให้ความคิดหรืออารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นได้ แล้วก็ยอมรับที่ใจมันจะไหลไปโน่นไหลไปนี่ เถลไถลออกไป
แต่สิ่งสำคัญคือว่าเราฝึกให้ใจกลับมารู้เนื้อรู้ตัว ฝึกให้ใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าเป็นการเติมความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นในใจ มันจะหลงไปอย่างไรก็ช่างมัน เราไม่ต้องไปจัดการกับความหลง เราเพียงแต่ให้ความรู้สึกตัวเกิดขึ้น แล้วความรู้สึกตัวก็จะจัดการความหลงเอง ฉะนั้นจะหลงไปอย่างไรก็ให้กลับมารู้สึกตัวบ่อยๆ กลับมารู้สึกตัว การกลับมารู้สึกตัวได้ ก็เพราะมีสติที่รู้ทันความคิดและ อารมณ์ที่มันพาจิตไหลไป พอมีสติปุ๊บ สติก็พาจิตกลับมา กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมารู้สึกตัว
ฉะนั้นการที่ฝึกใจให้อยู่กับกาย แต่ไม่ใช่บังคับจิตให้มันแน่นิ่ง แนบแน่นอยู่กับกาย ให้แค่เขาอยู่กับเนื้อกับตัว ให้แค่เขามารู้กาย จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ให้มารู้กาย การที่มารู้กายเพื่อให้จิตมันมีที่เกาะ เพราะถ้าไม่มีกายเป็นที่เกาะ มันก็จะฟุ้งซ่านได้ง่าย มันก็จะเถลไถลได้ง่าย มันต้องมีเครื่องอยู่ กายนี่เป็นเครื่องอยู่ของใจ เพราะฉะนั้นการเจริญสติ แม้เราจะเน้นให้มารู้ทันความคิดและอารมณ์ แต่ว่าการฝึกเบื้องต้น แท้จริงก็เป็นการปฏิบัติในลำดับต่อๆ ไป ก็ต้องอาศัยการมีสติรู้กาย รู้สึกตัวว่ากายทำอะไร รู้สึกเมื่อกายเดิน รู้สึกเมื่อเท้าขยับ เมื่อมือเขยื้อน เวลาอยู่นิ่งๆ ก็คลึงนิ้ว เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น จิตมันก็จะไหลลอยไป ฟุ้งซ่านได้ง่าย เราไม่ปฏิเสธการที่จิตฟุ้งซ่าน แต่เราก็ไม่พยายามที่จะส่งเสริมให้มันฟุ้งซ่าน เราก็หากายให้เป็นเครื่องอยู่ของจิต เป็นที่เกาะ แล้วการที่มารู้กายมันก็จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าตอนนี้เรามีความรู้สึกตัวหรือเปล่า เพราะถ้าอยู่กับเนื้อกับตัว ก็จะรู้ว่ากายทำอะไร เกิดความรู้สึกที่กาย ก็แสดงว่ามีความรู้สึกตัว มันเป็นตัวบ่งชี้ได้เมื่อเรารู้สึกถึงกาย รู้ว่ากายทำอะไร อันนี้ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเรามีความรู้สึกตัว
เพราะบางคนเขาสงสัย ฉันรู้สึกตัวอยู่หรือเปล่าๆ ถ้ารู้ว่ากายทำอะไร นั่นแหละรู้สึกตัวแล้ว มันไม่มีคำถาม แล้วต่อไปความรู้สึกทางกายมันจะเป็นเครื่องช่วยดึงจิตให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัวได้ เวลาใจมันลอยฟุ้งซ่าน แล้วมารู้สึกว่ามือกำลังขยับ เท้ากำลังเขยื้อน หรือนิ้วกำลังคลึงอยู่ ความรู้สึกทางกายมันจะเป็นเหมือนสิ่งที่คอยสะกิดใจที่ไหลลอย ให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมารู้สึกตัว แล้วพอจิตกลับมารู้สึกตัวแล้ว มันก็จะจัดการกับความหลงเอง
ฉะนั้นความหลงมันจะหายไปเมื่อใจกลับมารู้สึกตัวบ่อยๆ เราฝึกทำแบบนี้แหละ ทำไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องพยายามบังคับจิต ไม่พยายามบังคับจิต แล้วก็ไม่ต้องดักจ้องความคิด รวมทั้งไม่ต้องกดข่มอารมณ์ 3 สิ่งนี้คือสิ่งที่นักปฏิบัติจำนวนมากเผลอพลาด พยายามบังคับจิต เพราะคุ้นกับการบังคับอะไรต่ออะไรมากมาย คุ้นกับการจัดการกับสิ่งภายนอก ก็เลยคิดว่าจะมาจัดการกับใจของตัวเองเวลาปฏิบัติ
นอกจากฝึกใจไม่ให้บังคับจิต แต่ว่าอนุญาตให้มันมีความคิดมีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แล้วก็รู้สึกเป็นกลางต่ออารมณ์เหล่านั้น วางความชอบความชังลง เพราะถ้ามีความชังเมื่อไหร่ มันก็จะไปบังคับจิตไม่ให้มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ไม่ให้มีความโกรธ ความเกลียดเกิดขึ้น นอกจากไม่บังคับจิตแล้วก็ไม่ดักจ้องมองความคิดและอารมณ์ ให้สติเขาได้ทำงานของเขา ให้โอกาสสติเขาได้ทำงาน เราไม่ต้องทำแทนเขา แล้วพอรู้ว่ามีอารมณ์ใดเกิดขึ้น ก็สักแต่ว่ารู้สึกซื่อๆ วางใจเป็นอุเบกขา ไม่ต้องไปกดข่ม ผลักไส หรือไม่ต้องไปไหลตาม
อันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว และการรู้ธรรมที่สำคัญ หรือธรรมะเบื้องสูง ซึ่งสามอย่างนี้เป็นสิ่งที่ทวนกระแสนิสัยความเคยชินเดิมๆ ที่ชอบบังคับจิต ที่ชอบไปดักจ้องมองจิตมองอารมณ์ แล้วก็ชอบไปกดข่มอารมณ์ความคิดที่ไม่ชอบ
การที่จะฝึกใจให้ไม่ผลัดเข้าไปในนิสัยแบบนี้ มันต้องอาศัยการสร้างนิสัยใหม่ นิสัยที่อนุญาตให้ความคิดและอารมณ์เกิดขึ้น แล้วก็ให้รู้จักเห็น ไม่เข้าไปเป็น รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ ให้โอกาสสติเขาได้ทำงาน ไม่ต้องไปทำงานแทนเขา แล้วอย่างนี้แหละก็จะทำให้สติเจริญก้าวหน้า และความรู้สึกตัวก็จะเพิ่มพูนมากขึ้น จนสามารถที่จะขับไล่ความหลงออกไปจากใจ และมีความรู้สึกตัวมาแทนที่มากกว่าความหลง.
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 18 พฤษภาคม 2566