ก็อย่างที่รู้ๆ กันนะ คนเราเมื่อมีกายกับใจ กายกับใจนี่สำคัญต่อชีวิตทั้งคู่ แต่ก็มีธรรมชาติและความต้องการที่แตกต่างกัน บางครั้งก็เรียกว่าขัดแย้งกัน กายเป็นดุ้นเป็นก้อน ต้องการเนื้อที่ ต้องการอาหาร อากาศ ปัจจัย 4 ส่วนใจไม่มีน้ำหนัก จะจับต้องก็ไม่ได้ แล้วก็ต้องการสิ่งที่แตกต่างไปจากกาย ไม่ได้ต้องการอาหาร ไม่ได้ ต้องการอากาศ อาจจะต้องการความสุข ความสำเร็จ ความเพลิดเพลิน การยอมรับ รวมทั้งสิ่งที่ละเอียดขึ้นไป
ทีนี้คนเรา อย่างที่เราพบประสบการณ์ชีวิตนี่ บางครั้งมันก็มีความขัดแย้งกันระหว่างกายกับใจ อย่างเช่นใจต้องการศึกษาหาความรู้ ต้องการอ่านหนังสือ ต้องการทำงาน แต่ว่ากายนี่มันอยากจะนอน หลายคนมีงานต้องทำ แต่มันไม่เสร็จสักที มีหนังสือที่ต้องอ่าน มีการบ้านที่จะต้องจัดการ แต่ว่ากายนี่มันจะชวนให้นอน ชวนให้หลับท่าเดียว หรือบางทีมันก็ส่งเสียงร้องว่าหิวๆ ๆ ก็เลยเป็นอุปสรรคขัดขวางสิ่งที่ใจต้องการทำ ต้องการบรรลุ
หรืออย่างเวลาเรามาปฏิบัติธรรม เราก็อยากจะปฏิบัติธรรมยาวไปจนถึงเวลาค่ำคืน เพราะกลางค่ำกลางคืนนี่มันสงบ แต่กายมันไม่ยอมร่วมมือด้วย มันจะนอนท่าเดียว นักปฏิบัติธรรมก็จะพบว่าความง่วงหงาวหาวนอนนี่เป็นอุปสรรค ที่จริงอย่าว่าแต่กลางค่ำกลางคืนเลย กลางวันก็เหมือนกัน ระหว่างที่ปฏิบัติสติก็อยากได้ แต่ว่ากายนี่มันอยากจะหลับ มันอยากจะนอน เวลาเดินจงกรมเราก็อยากจะเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนเลย โดยเฉพาะเวลาค่ำคืนสงบ วิเวก สงัด แต่กายมันก็ไม่ค่อยร่วมมือด้วย จะนอน บางทีก็บ่นว่าโอ๊ย ปวดเมื่อยๆ หลายคนเดินธรรมยาตรา หรือเดินธุดงค์ก็แล้วแต่ ก็อยากจะธุดงค์ไปที่ไกลๆ เข้าไปในป่าลึก บางทีก็ต้องปีนเขา แต่กายมันก็งอแง ไม่ไหวๆ ปวดเมื่อย ใจก็มีจุดหมายอยู่ข้างหน้าแล้ว แต่ว่ากายไม่เอื้อเฟื้อ
อันนี้ยังไม่นับประเภทว่าอยากจะเล่นเกมทั้งวันทั้งคืนเลย หรืออยากจะเที่ยวดูหนังฟังเพลงโต้รุ่ง ทั้งที่เป็นของชอบ แต่ว่ากายมันไม่ไหว อยากจะนอน อยากจะพัก บางคนอยากจะสนุก อยากจะเล่นเกมไปจน สว่าง หลังจากที่เล่นไปแล้ว 40 ชั่วโมง ปรากฏว่ากายนี่มันน็อคเลย เรียกว่าไม่สามารถที่จะเสพสุข หรือหาความสนุกได้อย่างเต็มที่
ยังไม่ต้องพูดถึงประเภทว่ากินสิ่งที่มันเป็นโทษต่อร่างกาย แต่ว่ามันปรนเปรอจิตใจ เช่น เหล้า ยา บุหรี่ พวกนี้ มันสนองความต้องการของจิตใจ ทำให้เพลิน ทำให้เคลิ้ม หรือทำให้เมา ลืมความทุกข์ ความโศกความเครียด แต่กายมันต้องรับเคราะห์ พอรับเคราะห์มากๆ กายมันก็บอกไม่ไหว ไม่ไหวแล้ว
อันนี้เรียกว่ามันเกิดความขัดแย้งกันระหว่างกายกับใจอยู่เสมอๆ ความทุกข์มันก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างการกับใจด้วย แง่หนึ่งเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะต้องรู้จักเคี่ยวเข็ญร่างกายให้มันอดทน เพราะบางทีกายมันอยากสบาย ธรรมชาติของกายมันชอบสบาย มันไม่ชอบเคลื่อนไหว ตื่นเช้าตี 3 ใจนี้อยากตื่นแต่ว่ากายนี่มันไม่ร่วมมือด้วย มันจะนอนท่าเดียว อาจจะเป็นเพราะว่านอนน้อย หรือว่าอยากจะนอนมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่นอนเต็มอิ่มแล้ว
ในแง่หนึ่งเราก็ต้องรู้จักเคี่ยวเข็ญกาย ไม่ให้มันรักสบายหรือว่าเกียจคร้าน รวมไปถึงการที่เรารู้ว่าถ้าจะบำรุงกายให้แข็งแรง ก็ต้องออกกำลังกายเป็นประจำ จะไปไหนมาไหนก็ไม่ใช่แต่จะพึ่งรถ แต่ว่าต้องรู้จักเดิน แต่กายนี่มันไม่อยากจะเดิน ไม่อยากจะออกกำลังกาย ต้องเคี่ยวเข็ญ
แต่ว่าเท่านั้นยังไม่พอ บางครั้งเราก็ต้องยอมพักผ่อนด้วย ไม่ใช่ว่าจะเคี่ยวเข็ญกายอย่างเดียว บางอย่างเราก็ต้องรู้จักบำรุงกาย ให้กายได้พักผ่อน ไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติธรรมจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน อันนั้นก็ไม่ถูก หรือว่าจะทำงานหามรุ่งหามค่ำ แม้ว่าจะเป็นงานที่ดีมีประโยชน์ หรือแม้แต่จะเป็นการสอนธรรม เป็นประโยชน์กับผู้คนมากมาย แต่ว่าก็ต้องรู้จักพักผ่อน ไม่ใช่ทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ
อันนี้เราก็ต้องรู้จักบำรุงกายดูแลกาย หรือว่าผ่อนคลายไปตามความต้องการของกายด้วย ก็หมายความว่าเราต้องรู้จักฟังสัญญาณของร่างกาย เพราะว่าร่างกายนี่ไม่ใช่ว่าเขาจะอ่อนแอไปอยู่ทุกครั้งทุกคราว บางทีเขาก็ไม่ไหวจริงๆ แล้วเขาก็จะมีสัญญาณส่งออกมา อยู่ที่ว่าเราจะรับรู้ได้ไหม สัญญาณใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นความปวดความเมื่อยเล็กๆ น้อยๆ เพราะว่าใช้มือ ใช้แขน ใช้นิ้ว หรือนั่งนานเกินไป ก็มีการปวดการ เมื่อยบ้าง แต่หลายคนก็ไม่ฟังเสียงหรือสัญญาณของร่างกาย ก็ใช้มันจนกระทั่งเกิดความเจ็บป่วยขึ้นมา
บางคนนิ้วล็อคหรือว่าหลังมีปัญหา ปัญหาของคนที่นั่งโต๊ะทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์ จำนวนมากทั้งมือ ทั้งแขน ทั้งหลังนี่แย่ คอด้วย อาการหนัก ไม่ใช่ว่ามันเพิ่งมีอาการแบบนี้ มันมีอาการมานานแล้ว แต่มัน ค่อยๆ สะสม อาการเหล่านี้มันก็เป็นสัญญาณของร่างกาย บอกให้เจ้าของรู้จักพัก แต่เจ้าของก็ไม่ฟัง เพราะว่ามัวแต่สนใจทำงาน สุดท้ายร่างกายมันก็อุทธรณ์ร้องบ่น ป่วย บางคนก็ยังไม่ยอม ยังทำไปได้ สุดท้ายนี่หัวใจวายตายไปเลยก็มี
อย่างพวกที่เล่นเกมต่อเนื่อง 30-40 ชั่วโมง ไม่หลับไม่นอนไม่พัก หัวใจวายตายก็มี หรือว่าเส้นเลือดในสมองแตกตายก็มี แล้วพวกนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีอาการมาก่อน มีแต่ว่าเจ้าตัวไม่สนใจ แบบนี้ก็ไม่ถูก
ด้านหนึ่งเราก็ต้องรู้จักเคี่ยวเข็ญร่างกายให้อดทน ให้มันไม่เกียจคร้าน แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็ต้องรู้จักบำรุงดูแล พูดง่ายๆ คือต้องรู้จักความพอดี ตรงนี้มันจะเกิดขึ้นได้นี่ สติสำคัญมากเลย สติมันทำให้เรารู้จัก ความพอดี
พอดีตั้งแต่การกินแล้ว เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักความพอดีกัน สิ่งที่เรากินด้วยความชอบ กินมากๆ เข้า มันก็เกิดผลเสียกับร่างกาย ร่างกายก็ส่งสัญญาณบอกเจ้าของ เจ้าของก็ไม่ฟัง เพราะว่าเห็นแก่กิน เห็นแก่ความเอร็ดอร่อย สนองความสุขทางใจ แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักความพอดี เราก็จะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะเคี่ยวเข็ญร่างกายให้มันตื่นตัว
อย่างเช่น เวลานอนไม่อยากตื่น ก็ต้องรู้จักบังคับให้มันตื่นขึ้นมา หรือว่าทำงานไปสักพัก มันจะง่วง ก็ต้องไม่คล้อยตามมัน หรือว่าออกกำลังกายมันบ่น มันบอกว่าไม่ไหวแล้วๆ ที่จริงยังไหว ถ้าใจไหวกายมันก็ไหว มันบ่น ไม่อยากออกกำลังกาย มันอยากนอน นั่งๆ นอนๆ เราก็ต้องเคี่ยวเข็ญมัน
นักวิ่งหลายคนก็พบว่า จริงๆ ร่างกายเรามีความสามารถมากกว่าที่เราคิดมากเลย ยิ่งฝึกบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ฝึกซ้ำๆ ก็ยิ่งสามารถจะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่คิดว่าจะทำได้มาก่อน สติมันช่วยทำให้เกิดความพอดี ไม่ใช่ว่าปล่อยไปตามความต้องการของกาย ซึ่งเท่ากับทำให้เกิดความเกียจคร้าน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าไปบังคับเคี่ยวเข็ญมัน จนกระทั่งเกิดความเจ็บความป่วย สุดท้ายสิ่งที่อยากจะทำแม้จะดีแค่ไหนก็ทำไม่ได้
เพราะแม้กระทั่งการเจริญสติหรือการฝึกจิต เราก็ต้องใช้กาย ในการเป็นอารมณ์กรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นมือที่ขยับ เท้าที่เดิน แล้วก็ใช้กายเพื่อเป็นฐานของใจในการเจริญสติ ให้จิตมีที่ตั้ง รวมทั้งใช้กายนี่แหละ เป็นสิ่งที่จะแสดงสัจธรรมให้ใจได้เห็นว่า กายนี้มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่เรา มันเป็นตัวทุกข์
ความพอดีมันจะทำให้เราเกิดความเชื่อมโยงสามัคคีกันระหว่างการกับใจ ไม่เกิดความสุดโต่งไปในทางปรนเปรอกาย หรือการเคี่ยวเข็ญสร้างความทุกข์ทรมานให้กับกาย
อย่างไรก็ตามเวลาพูดถึงใจ มันก็ยังแยกออกเป็น 2 ในทางพุทธนี่แยกออกมาเป็นจิตและปัญญา ใจนี่พุทธศาสนาแยกออกเป็นจิตและปัญญา การฝึกจิตเรียกว่าจิตตภาวนา การเพิ่มพูนพัฒนาปัญญาเรียกว่าปัญญาภาวนา บางทีจิตตภาวนาเราก็เรียกว่าเป็นเรื่องของสมาธิ
ในทางพุทธศาสนาเราแยกใจออกเป็น 2 ว่าคือจิตและปัญญา ปัญญาเป็นเรื่องของความคิด เรื่องของเหตุผล การใช้เหตุใช้ผล การเข้าใจเหตุผล เรื่องของความรู้ อันนี้เป็นเบื้องต้นเลยของปัญญาในระดับ โลกๆ บางทีเราก็ใช้คำว่าสมอง มันทำหน้าที่คิด มีรู้ผิดชอบชั่วดี มีเหตุมีผล อันนี้คือปัญญาที่พัฒนาแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่พัฒนาถึงที่สุด เพราะถ้าพัฒนาถึงที่สุดก็เหนือเหตุเหนือผล หรือไม่ติดอยู่กับเหตุผลอย่างเดียว แต่ว่าสำหรับเบื้องต้น การพัฒนาปัญญาก็คือมีความรู้ มีเหตุมีผล รู้ผิดชอบชั่วดี รู้อะไรถูกอะไรผิด
ส่วนจิตหรือบางทีเราก็เรียกว่าหัวใจ หรือเป็นเรื่องของอารมณ์ เรื่องของความรู้สึก มันจะไวต่อสิ่งที่เรียกว่าเวทนา จิตมันเป็นตัวที่รับรู้เวทนาโดยตรง ถ้าเป็นสุขเวทนาก็เกิดความพอใจ อารมณ์ดี ถ้าเกิดทุกขเวทนาก็ไม่พอใจ อารมณ์ไม่ดี
เวลาเราพูดถึงอารมณ์ก็เป็นเรื่องของใจ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็สัมพันธ์กับเวทนา เจอสุขเวทนาทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็อารมณ์ดี มีความสุข ถ้าหากว่าเจอทุกขเวทนาผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อารมณ์ก็ไม่ดี เกิดความรู้สึกขัดอกขัดใจ เรียกว่าเกิดความทุกข์
ใจหรือตัวจิต โดยพื้นฐานก็ปรารถนาสิ่งที่ถูกใจ ขณะที่สมองหรือว่าปัญญา มันก็อยู่ในฝ่ายของความถูกต้อง ถ้าหากมีการพัฒนามันก็จะมีการเอาความถูกต้อง หลายคนจะพบว่ารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด รู้ว่าความ ถูกต้องคืออะไร แต่ว่าใจมันไม่คล้อยตามด้วย รู้ว่าความขยันเป็นเรื่องดี แต่ว่าขยันไม่ได้สักที เพราะว่าใจมันคิดแต่จะแสวงหาสิ่งที่ถูกใจ เวลาว่างทีไรก็ดูหนังฟังเพลง เล่นโทรศัพท์ หรือเล่นเกม
เวลากิน ปัญญามันบอกว่าควรจะกินอาหารที่ไม่หวานมันเค็ม เพราะมันถูกต้องต่อสุขภาพ แต่ว่าตัวจิตตัวอารมณ์มันก็แสวงหาแต่อาหารที่อร่อย หวานมันเค็ม หลายคนรู้ว่ากินอย่างนี้ไม่ดี แต่ว่าก็อดกินไม่ได้ ไอศกรีมช็อกโกแลต อย่างหลายคนก็รู้ว่าเที่ยวห้างนี่มันเสียเวลา มันเปลืองเงิน แต่ว่าใจมันโหยหา จิตมันโหยหาอยากจะเที่ยวห้าง เล่นเกมก็เหมือนกัน สมองมันบอกว่าเล่นเกมมันไม่ดี เสียเวลา เสพติด แต่เลิกไม่ได้สักที เพราะว่าจิตมันติดเกม
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนก็ประสบพบด้วยตัวเอง มันมีความขัดแย้ง อย่างที่เขาเรียกว่าดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ บางคนก็รู้ว่าเวลาเหลือน้อยแล้ว ควรจะเอาเวลาที่มีอยู่เพื่อการปฏิบัติธรรม ยิ่งถ้าหากบรรลุพระนิพพานได้เลยยิ่งดี แต่ว่าใจหรืออารมณ์นี่มันไม่เอาด้วย มันอยากจะเที่ยว มันอยากจะสนุกสนาน อยากจะดูหนัง
มีโยมคนหนึ่งแกมาบ่นว่านิพพานก็อยากได้ แต่ก็ยังอยากจะดูหนังเกาหลี ติดหนังเกาหลีติดซีรีส์เกาหลี ทั้งวันทั้งคืนก็ดูแต่ซีรีส์เกาหลี ไม่มีเวลาหรือไม่ให้เวลาการปฏิบัติธรรมเลย หลายคนก็รู้ว่านิพพานดี แต่ว่ายังไม่อยากละทิ้งกามสุข ยังอยากจะเพลินกับกามสุข ตัวที่เพลินก็คือตัวอารมณ์นั่นแหละ
เวลามีความขัดแย้งจะทำอย่างไร ถ้าเรามีสติจะช่วยได้ ช่วยทำให้อารมณ์ไม่มาครอบงำ หรือบงการชีวิตของเรามากเกินไป มันจะช่วยทำให้เราสามารถที่จะใช้ชีวิตไปในทางที่ถูกต้องมากกว่าถูกใจ ช่วยทำให้ชีวิตของเรามันเป็นไปในทางที่ถูกต้องหรือว่าสมเหตุสมผล หรือมีเหตุมีผลมากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อความถูกใจ อันนี้ที่เขาเรียกว่าเอาเหตุผล หรือความถูกต้องเป็นตัวนำ เอาสมองหรือเอาปัญญาเป็นตัวนำ ไม่ปล่อยให้อารมณ์เป็นตัวชักพาไป
บางครั้งเราจะปล่อยให้สมองหรือเหตุผลเป็นตัวนำ มันก็อาจจะไม่ถูกเท่าไหร่ บางครั้งก็ต้องให้อารมณ์มันเป็นตัวนำ อารมณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความโกรธ ความโลภ แต่หมายถึงความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตา
อย่างมีนักศึกษาคนหนึ่งเพิ่งเสียแม่ไปเมื่อไม่กี่วัน แต่ว่ามีรายงานที่จะต้องส่ง ก็เลยขออาจารย์ว่าขอเลื่อนกำหนด 24 ชั่วโมงได้ไหม อาจารย์คนนั้นบอกว่าให้เลื่อนได้แค่ 12 ชั่วโมง อาจารย์คนนี้แกก็ถือความถูกต้องว่าคนอื่นเขาก็ต้องส่งวันนี้ ที่ผ่อนผันให้เธออีก 12 ชั่วโมงนี่ มันก็ถือว่ามากเกินพอแล้ว นี่เรียกว่าใช้ความถูกต้อง ใช้เหตุใช้ผล
แต่อาจารย์อีกคนหนึ่งบอกว่าเสร็จเมื่อไหร่ก็ค่อยส่งก็แล้วกัน นักศึกษาบอกว่าซาบซึ้งใจอาจารย์คนหลังมากเลย เพราะว่าแกมีเมตตา ไม่ได้เอาแต่ความถูกต้อง คนที่เสียแม่นี่มันยังไม่มีอารมณ์ที่จะทำงาน หรือทำรายงานส่งอาจารย์เท่าไหร่ ส่วนอาจารย์คนที่ 2 ก็เห็นใจนักศึกษาว่าเพิ่งเสียแม่ไป จะให้ทำรายงานทันกำหนดเส้นตายก็คงยาก นี่เรียกว่าใช้อารมณ์คือความเห็นออกเห็นใจมากกว่าความถูกต้อง
หรือนักศึกษาคนหนึ่งมาเข้าห้องเรียน ปรากฏว่านั่งหลับ หลับอยู่ตลอดเลยทั้งเกือบทั้งชั่วโมง อาจารย์ทีแรกก็ไม่พอใจ ที่ไม่พอใจเพราะว่ามันไม่ถูก นักศึกษามานั่งหลับในชั้น คนอื่นเขาตั้งใจเรียน แต่ว่าอาจารย์ก็ปล่อยให้นักศึกษานั่งหลับ เพราะว่าแต่ก่อนก็ไม่เคยทำอย่างนี้ พอพ้นชั่วโมงแล้วก็เลยถามนักศึกษา นักศึกษาก็เลยบอกว่าเมื่อ 2 วันก่อนลูกไม่สบาย ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย ดูแลเฝ้าไข้ลูก ไม่ได้ หลับไม่ได้นอนเลยมา 2 คืนแล้ว เขาขอบคุณอาจารย์มากที่อนุญาตให้หลับในห้องได้
อาจารย์คนนี้ก็ไม่ได้เอาแต่ความถูกต้อง แต่แกมีความเห็นอกเห็นใจนักศึกษา อย่างน้อยก็คิดว่าเขาคงจะมีความจำเป็น เขาจึงมาหลับในห้อง เพราะแต่ก่อนเขาไม่เคยทำอย่างนี้ นี่เรียกว่ามีความเห็นอกเห็นใจ
บางทีคนเราก็ต้องรู้จักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ไม่ใช่ใช้แต่เหตุผลอย่างเดียว แม้เหตุผลมันจะเป็นเรื่องความถูกต้องก็ตาม ตัวที่จะช่วยให้เราสามารถที่จะอยู่ในความพอดี ไม่เอาความถูกต้องเป็นหลักตะพึดตะพือ หรือขณะเดียวกันก็ไม่เอาแต่ความถูกใจ หรือใช้ความรู้สึกตลอดเวลา สิ่งนั้นก็คือสติเหมือนกัน เพราะคนเราถ้ามีสติ ในแง่หนึ่งมันก็จะช่วยทำให้ไม่ปล่อยให้ความถูกใจมันบงการจิตใจ บงการชีวิตจนกระทั่งละทิ้งความถูกต้อง คนเราถ้ามีสติเพราะมันมีความโลภ หรือว่ากิเลสเข้ามาครองใจ จะเป็นความขี้เกียจ หรือโทสะ ราคะ ต้องการทำหรือแสดงออกเพื่อความถูกใจ แต่ว่าสติก็ช่วยทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่มาครอบงำ หรือบงการจิตจนกระทั่งละทิ้งความถูกต้อง เอาความถูกต้องเป็นหลัก
แต่ในบางครั้งก็ไม่ได้เอาความถูกต้องเป็นหลัก ใช้อารมณ์ ไม่ได้เอาเหตุผลเป็นหลัก แต่ว่าใช้ความรู้สึก เช่นความเห็นอกเห็นใจด้วย ไม่ได้เอาแต่ความถูกต้องอย่างเดียว ชีวิตนี่เป็นเรื่องของศิลปะแห่งความพอดี มันไม่ได้มีสูตรว่าจะต้องเอาอะไรเป็นหลัก แล้วถ้าเรามีสติมันก็ช่วยทำให้เรารู้ว่าเมื่อใดควรจะฟังเหตุฟังผล เอาความถูกต้อง แต่เมื่อใดควรจะใช้ความรู้สึก ใช้อารมณ์ ใช้ความเห็นอกเห็นใจ
อย่างมีคุณหมอคนหนึ่งบอก เวลาสามีภรรยาหรือแฟนทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน อย่าใช้เหตุใช้ผล ให้ใช้อารมณ์ อารมณ์ที่ว่าหมายถึงความรัก ให้ความรักมันลอยขึ้นมา อย่าใช้เหตุผล เพราะใช้เหตุผลเมื่อไหร่ มันจะเป็นการเอาผิดเอาถูก ทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น ความขัดแย้งมันลุกลามเพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็จะบอกว่าฉันถูกแกผิด อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าเธอผิดฉันถูก เหตุผลทั้งนั้นแหละ แต่แล้วมันก็กลับทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น
หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่เสมอว่าอย่าเอาถูกเอาผิด อย่าเอาเหตุเอาผลมากเกินไป เพราะว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่จะใช้ได้ในทุกกรณี ถ้าคนเรายึดมั่นแต่ความถูกความผิด หรือใช้เหตุใช้ผลอย่างเดียวมันก็แย่ และสิ่งที่จะช่วยทำให้เรารู้ว่าเมื่อไหร่ควรใช้เหตุใช้ผล เมื่อไหร่ควรจะใช้ความถูกต้อง เมื่อไหร่จะเอาอารมณ์ ไม่เอาถูกเอาผิด สิ่งนั้นคือสติ ซึ่งจะช่วยทำให้เราใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม.
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566