หลายเดือนก่อนได้ไปบรรยายที่สถานที่ราชการแห่งหนึ่ง ก่อนการบรรยายก็เข้าห้องน้ำ ก็ได้พบกับพนักงานที่ทำความสะอาดห้องน้ำอยู่ คุณป้าแกก็บ่นนะว่า คนที่ใช้ห้องน้ำเนี่ย ถ่ายทุกข์แล้ว ทำไมเขาไม่คิดจะกดชักโครก หรือว่าไม่หันมาดูว่าไอ้ที่กดไปแล้วนี่มันสะอาดไหม คิดว่าคนที่มีปัญหาเหล่านี้คงจะไม่เหลียวมามองเลยด้วยซ้ำนะว่าผลงานของตัวเองนี่มันเป็นอย่างไรบ้าง ก็น่าคิดนะว่า คนที่ใช้ห้องน้ำนี้คงจะเป็นผู้ใหญ่นะ ไม่ใช่เด็กเพราะว่ามาทำธุระในสถานที่ราชการ คนเรานี่ทำอะไรนี่ก็น่าจะนึกถึงหรือใส่ใจผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆหรือว่าเรื่องที่เป็นสามัญในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าถ่ายทุกข์แล้วไม่หันมามองว่า ที่ตัวเองถ่ายไปแล้วได้รับการชำระมั้ย หรือว่า ไม่ได้คิดแม้กระทั่งจะกดชักโครกเลยนี่ มันสะท้อนอะไรบางอย่าง
นั่นคือการทำอะไรโดยที่ไม่คิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการกระทำของตัวและที่เป็นเช่นนี้เนี่ยอาจจะเป็นเพราะว่า เป็นนิสัยที่สั่งสมกันมา อาจจะตั้งแต่เล็กเลยก็ได้ การที่คนเราทำอะไรแล้วไม่คิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวนี้ บางครั้งมันก็ก่อความเสียหายที่ใหญ่หลวงนะ
อย่างวัยรุ่นเลือดร้อนจำนวนมากเลยนะที่ภายหลังถูกจำคุกถูกศาลตัดสินให้จำคุก ถ้าไม่ใช่ในเรือนจำก็ในสถานกักกันของเยาวชนอย่างบ้านกาญจนาภิเษก หลายคนถูกตัดสินจำคุกเพราะว่าไปยิงคนตายหรือ ว่าไปกระทำชำเราผู้อื่น แต่พอได้มีการสอบถามนะ ว่าทำไมเขาทำอย่างนั้นน่ะ ไม่รู้หรือว่า สิ่งที่ตัวเองทำ จะเกิดผลอะไรตามมา เช่น คนตาย ญาติพี่น้องพ่อแม่ของเขาต้องเศร้าโศกเสียใจ หรือว่าบางคนก็เป็น หม้าย หรือว่ากำพร้าพ่อ หรือว่าผู้หญิงบางคนที่เป็นเหยื่อก็เรียกว่าหมดอนาคตเพราะว่าหมดสภาพ มีความทุกข์ หรือแม้กระทั่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองซึ่งเป็นผู้กระทำว่าจะต้องถูกจำคุก อาจจะเสียอนาคตไปเลย
แปลกนะ หนุ่มหลายคนวัยรุ่นหลายคนเนี่ยบอกว่าไม่ได้คิดเลย มันไม่เคยคิดเลยนะถึงผลที่จะตามมา แค่ทำไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ หรือแค่ทำไปเพื่อสนองความสะใจ หรือว่าเพื่อสนองความรู้สึกที่ดำมืดชั่วครู่ ชั่วยาม ตอนทำก็ไม่ได้คิดเลยนะว่ามันจะเกิดผลอะไรตามมาทั้งกับผู้ถูกกระทำและตัวเองซึ่งเป็นผู้กระทำ
มันก็น่าว่าทำไมถึงมีความคิดแบบนั้น คนเราเนี่ย ถ้าหากว่าได้รับการศึกษาหรือได้รับการเลี้ยงดูมาดีแล้วก็น่าจะรู้นะว่า เวลาทำอะไรเนี่ยมันต้องคิดถึงผลที่จะตามมาหรือผลที่เกิดขึ้นด้วย แต่จากเรื่องราวของคนเหล่านี้เนี่ยรวมทั้งจากเหตุการณ์ที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน ที่แสนจะธรรมดาและดาษดื่นมากมันก็ทำให้เราเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่ทำอะไรไปแล้วไม่ได้คิดเลยนะว่า จะเกิดผลอะไรตามมา
ที่จริงไม่ต้องพูดถึงเหตุการณ์ที่ร้ายแรงอะไรนะ การที่คนทิ้งขยะตาม 2 ข้างทาง ตามที่สาธารณะ กินอาหารเสร็จ ภาชนะที่ใส่อาหารก็ทิ้งลงข้างทางหรือทิ้งออกหน้าต่างไปเลยถ้าเกิดว่ากำลังนั่งรถ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราเห็นบ่อยๆ แล้วก็ทำกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ของคนที่มีระเบียบวินัยหรือว่ามีปัญญา มีมารยาทเนี่ย ปรากฏว่า การทิ้งขยะเรี่ยราดบนถนน ในห้องเรียน ในห้องน้ำ ในห้องประชุมหรือสนามหญ้า นี่มันมีให้เห็นได้ไม่ยากเลย
อันนี้มันแสดงถึงอะไร แสดงถึงการที่ทำอะไรโดยที่ไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมา หรือไม่คิดถึงผู้อื่น ไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสถานที่ว่ามันจะทำให้เกิดความสกปรก หรือว่าไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างไรบ้าง เป็นอย่างนี้กันเยอะ คนที่ทำอะไรเนี่ยเพื่อความสบายส่วนตัวโดยที่ไม่มีความรู้จักคิดถึงผู้อื่นหรือว่าคิดถึงผลที่จะตามมา
แล้วสุดท้ายเนี่ยแม้กระทั่งผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองก็ไม่คิดนะ ไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นที่ไปฆ่าผู้อื่น หรือไปกระทำชำเรา แล้วก็ตัวเองต้องติดคุกเดือดร้อนเสียอนาคต แม้กระทั่งการใช้ชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับใครเลยนะเช่น การกิน การบริโภค กินตามใจปาก กินเอาความพอใจเป็นหลักโดยที่ไม่สนใจว่ามันจะเกิดผลกระทบอะไรตามมากับตัวเองเช่น ความเจ็บป่วย สุขภาพที่ย่ำแย่ หรือการกินเหล้า การสูบบุหรี่
พวกนี้หลายคนไม่รู้เลยนะว่ามันจะเกิดผลร้ายผลเสียอย่างไรกับตัวเอง แต่ว่าคำนึงถึงความสุขความสบายใจเฉพาะหน้า อันนี้รวมไปถึงการเร่งการพนัน การติดเกมด้วย ซึ่งก็เป็นปัญหามาก ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเป็นหนี้เป็นสิน แล้วเกิดเรื่องเดือดร้อนตามมา คนเหล่านี้จะว่าไปแล้วก็เรียกว่าที่ไม่คิดถึงผลกระทบตามมา ไม่ว่ากับคนอื่น กับส่วนรวม หรือกับตัวเอง เป็นเพราะว่าเขาสนใจแต่เรื่องการสนองความพึงพอใจส่วนตัว
หรือพูดอย่างเป็นภาษาธรรมะหน่อยก็คือว่าเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยเวทนา เอาเวทนาเป็นใหญ่ เวทนาในที่นี้คือสุขเวทนา คนที่ใช้ชีวิตหรือดำเนินชีวิตโดยเอาความรู้สึกเป็นใหญ่ มันก็จะลงเอยมาแบบนี้แหละคือว่า ขอให้ได้เกิดความสุขเกิดความสบายใจมีความพอใจ แล้วจะเกิดอะไรตามมากับคนอื่นหรือกับตัวเอง ฉันก็ไม่สนใจ ฉันปวดท้อง ฉันถ่ายทุกข์เสร็จ ลุกไปเลยโดยที่ไม่ได้กดชักโครก หรือไม่ได้หันไม่ได้ เหลียวมาดูว่า สะอาดไหม เรียบร้อยไหม ก่อนที่ตัวเองจะออกจากห้องน้ำ หรือว่าทิ้งขยะเกลื่อนกลาดเรี่ยราด
อันนี้เรียกว่าเอาความพอใจเป็นที่ตั้ง หรือว่ากิน เสพ เล่น โดยที่ไม่สนใจว่ามันจะเกิดผลเสียอย่างไรกับตัวเอง อันนี้เรียกว่าเอาสุขเวทนาเป็นใหญ่ โดยที่ไม่ใช้ความคิดไตร่ตรองว่ามันจะเกิดผลเสียอะไรตามมาบ้าง บ้าง และบางทีคนเหล่านี้เขาก็มีเหตุผลง่ายๆ ซึ่งดูแล้วก็ไม่ใช่เหตุผลเท่าไหร่
อย่างเช่น เด็กประถม หรือบางทีก็เด็กวัยรุ่น ในบ้านของตัวเอง เวลาตื่นนอนขึ้นมาก็ไม่เก็บที่นอน ไม่ได้เหลียวมาดูเลยนะว่าที่นอนของตัวเองจะทำให้มันเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างไรหลังจากที่ตื่นนอนแล้ว ก็ทิ้งให้มันเลอะเทอะอย่างนั้น หรือว่าให้มันไม่เป็นระเบียบอย่างนั้น พอผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ถามว่าทำไมไม่จัดที่นอนให้เป็นระเบียบ เขาก็อ้างเหตุผลว่าจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเดี๋ยวมันก็เลอะใหม่ เดี๋ยวมันก็ยับยู่ยี่
เหมือนกันน่ะ เวลาห้องนอนของตัวเองเลอะเทอะ ก็ไม่สนใจ พอพ่อแม่ถามว่าทำไมไม่ทำความสะอาดห้องนอนให้มันเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดตา เขาก็พูดว่า ทำไปแล้วเดี๋ยวมันก็เลอะเทอะใหม่ แล้วจะ ทำไปทำไม ฟังดูก็เป็นเหตุผล แต่ว่าเป็นเหตุผลแบบตรรกวิบัติ เพราะว่าคนเหล่านี้ ถ้าคิดว่าเป็นเหตุผลจริงๆ ก็ไม่ควรอาบน้ำ อาบน้ำชำระร่างกายทำไมเพราะว่าเดี๋ยวมันก็เลอะใหม่เดี๋ยวมันก็เปื้อนเหงื่อใหม่ แล้วอาบไปทำไม ตื่นนอนขึ้นมาก็อย่าถูฟันสิ ถูฟันไปทำไม เดี๋ยวมันก็เหม็นใหม่ เดี๋ยวมันก็สกปรกใหม่แล้วถูไปทำไม หรือว่าถ่ายอุจจาระเสร็จ ก็อย่าเช็ดก้นสิ เช็ดทำไม เดี๋ยวมันก็ต้องอึใหม่ แต่เราผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครทำอย่างนั้น ต้องอาบน้ำทุกวัน หรือว่าแปรงฟันวันละครั้งสองครั้ง
ยิ่งถ่ายอุจจารย์แล้วเราก็ต้องเช็ดก้น ชำระแล้วก็ทำให้สะอาด ไม่เห็นจะต้องวิตกเลยว่าเดี๋ยวมันก็เลอะใหม่แล้วจะทำไปทำไม อย่างนี้เรียกว่าที่ปล่อยให้ที่นอนเลอะเทอะหรือว่าปล่อยให้ห้องนอนตัวเองมันเลอะเทอะเนี่ย แม้กระทั่งเป็นสถานที่ของตัวเองแท้ๆก็ไม่สนใจที่จะดูแล อันนี้เรียกว่าอยู่ด้วยความรู้สึกนะ เอาความสบายเป็นหลัก แต่ไม่คิดใคร่ครวญ มันก็เลยทำให้เกิดกับพฤติกรรมต่างๆตามมา ซึ่งกลายเป็นปัญหานับตั้งแต่เด็ก ไปถึงผู้ใหญ่
ที่จริงจะสอนลูกสอนหลานเนี่ย ไม่ต้องสอนอะไรมาก เริ่มต้นจากการที่สอนให้เขารู้จักรับผิดชอบต่อผลกระทบ ความรับผิดชอบต่อการกระทำตัวเอง รับรู้ว่าทำอะไรแล้วมันมีผลกระทบอะไรตามมา อันนี้เป็นบทเรียนสำคัญพื้นฐานเลยนะ ทำอะไรแล้วก็ต้องตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้นและรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นด้วยนะ
ไม่ใช่ว่าทำอะไรแล้ว ผลอะไรจะเกิดขึ้นหรือตามมา ฉันไม่สนใจและไม่รับผิดชอบ เดี๋ยวนี้ก็เป็นกันเยอะนะ ไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเอง เช่นไปลอกการบ้าน ไปโกงทุจริตในห้องสอบ ถูกจับได้ แทนที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ว่า เออ เราทำ เราทุจริต เราต้องรับผิดชอบ ยอมถูกลงโทษ ก็กลับดิ้นรนให้พ่อแม่มาช่วย ให้ตัวเองพ้นผิด แล้วพ่อแม่ก็ไปช่วยด้วยนะ อันนี้คือการสอนให้เด็กเนี่ยไม่รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง มันก็ไม่มีทางที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ ที่จริงการรับผิดชอบต่อการกระทำตัวเองมันเป็นพื้นฐานที่ทำให้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม กฎแห่งกรรมคือว่า ทำกรรมอะไร ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมไม่ดี มันย่อมมีผลกระทบตามมา แล้วเราก็ต้องรับผลแห่งกรรมนั้น
อย่างที่เราสวดกันไว้ เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ถ้าไม่อยากเจอวิบากที่เลวร้ายนะ ก็ต้องทำกรรมดี แต่ถ้าเลือกที่จะทำกรรมชั่วก็ต้องยอมรับวิบากที่เป็นทุกข์ตามมาเช่น การลงโทษ หรือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น จะไปร้องแรกแหกกระเชอ หรือจะไปให้ใครมาช่วย ก็ทำไม่ได้หรือไม่สมควร
ผู้ใหญ่ต้องสอนลูกหรือสอนเด็กมีความเข้าใจเรื่องนี้เป็นพื้นฐาน เพราะไม่เช่นนั้นพอโตขึ้นเนี่ยก็ทำอะไรก็จะคิดถึงแต่เอาความพอใจเป็นหลัก ให้มันเพียงเพื่อให้เกิดสุขเวทนาขึ้นมา เกิดความพอใจ เกิดความสบายใจ เกิดความสะใจ ส่วนผลกระทบอะไรตามมาก็ไม่สนใจ อันนี้รวมไปถึงการกระทำและคำพูดนะ ถ้าหากรู้ว่าการกระทำหรือคำพูด มันก่อให้เกิดผลกระทบกับใคร อย่างไร และรู้จักใส่ใจใคร่ครวญไตร่ตรอง มันก็ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ ไม่กระทำหรือไม่ทำสิ่งที่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่า "มักง่าย"
เดี๋ยวนี้ที่เรียกว่าการกระทำที่มักง่าย ก็มักเกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ได้สนใจผลกระทบ คือไม่รู้จักใคร่ครวญ ใช้แต่ความรู้สึก แล้วคนเราพอเอาความรู้สึกเป็นตัวนำ ความรู้สึกในที่นี้หมายถึงความรู้สึกสุขหรือทุกข์เนี่ย สุขเวทนาหรือทุกขเวทนา ถึงเวลาทุกข์ โดนทุกขนาบีบคั้น ก็จมอยู่กับความทุกข์นั่นแหละ หาทางออกจากทุกข์ไม่ได้
ใครที่พอใจที่จะเสวยเวทนาหรือทำอะไรเพื่อความสุข เพื่อความสบายใจโดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา คือไม่รู้จักใช้ความคิดใคร่ครวญ ถึงเวลาที่เจอทุกขเวทนา ก็จะถูกทุกขเวทนานั้นครอบงำ บีบคั้น เรียกว่าจมอยู่ในความทุกข์ แทนที่จะหาประโยชน์จากมัน แทนที่จะเรียนรู้จากความทุกข์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่เกิดความรู้หรือการเรียนรู้ใดๆเลย
อันนี้ก็เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก ที่จริงก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ใช้ชีวิตโดยแสวงหาแต่สุขเวทนา ทำอะไรเอาความพอใจเป็นหลัก เอาความสะใจ ความสบายใจ โดยที่ไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญในผลกระทบที่ตามมา พอไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญในยามที่แสวงหาความสุขหรือว่าเกิดความสบายใจ เวลาเกิดความทุกข์ขึ้นมาเนี่ย มันก็ไม่รู้จักใช้ปัญญาในการที่จะพาจิตออกจากความทุกข์ หรือแม้กระทั่งการที่จะเรียนรู้ จากความทุกข์นั้น คือแทนที่จะอยู่ด้วยความรู้สึกหรือจะจมอยู่กับทุกขเวทนาเนี่ย ก็รู้จักมองจนเห็นปัญญาหรือเกิดความรู้ขึ้นมา
คนเราถ้าหากใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ มันยากที่จะเกิดความรู้นะจากสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พอไม่ใช้เวทนาหรืออยู่ด้วยความรู้สึกเนี่ย ถึงเวลาเจอความทุกข์นะ มันก็จะรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาจนเกิดความรู้จาก เหตุการณ์เหล่านั้นเช่น เจ็บป่วย แทนที่จะจมอยู่กับความเจ็บความป่วย ก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่า เออเนี่ยร่างกายนี่มันก็ไม่เที่ยงนะ สังขารก็เอาแน่เอานอนไม่ได้นะ เกิดความรู้หรือรู้จักที่จะฟังเสียงเตือนจากร่างกาย บ้าง ไม่ใช่ใช้มันเพื่อสนองความสุขจนกระทั่งร่างกายเจ็บป่วย เพราะไม่ได้หลับไม่ได้พักผ่อน มันเกิดความรู้ขึ้นมาในจากความทุกข์
ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยหรือความสูญเสีย เวลาเงินหายแทนที่จะเอาแต่ความเศร้าโศกเสียใจ ก็ใช้ความคิดพิจารณาก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่า เนี่ยมันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย หรืออย่างน้อยก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่าเนี่ย ซึ่งจะเรียกว่าเป็นความคิด แต่มันก็เป็นการส่งเสริมปัญญา คือให้รู้จักระมัดระวัง ไม่เผลอเรอ สิ่งที่มันเกิดขึ้นได้ จากการใคร่ครวญ การใคร่ครวญมันจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะไม่ปล่อยใจให้จมอยู่กับเวทนาไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา
เวลามีสุขเวทนา ก็ไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญว่าไอ้สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราเสพ สิ่งที่เราเสวยนี่มันจะเกิดผลอะไรตามมา ถึงเวลาทุกข์เนี่ยมันก็ยากนะที่จะมาเกิดปัญญามาพิจารณาว่า เหตุการณ์เหล่านี้มันได้สอนอะไรเรา มันได้บอกอะไรเรา
แต่คนที่เขาไม่ได้ใช้ชีวิตไปตามความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา พอเจอทุกขเวทนา มันก็ไม่ไปจมอยู่กับความทุกข์โอดครวญคร่ำครวญจนกระทั่งหลงหนักขึ้น แต่ว่าจะรู้จักใช้ความคิด พิจารณา ไม่ใช่พิจารณาเพียงแค่ว่าเหตุแห่งทุกข์คืออะไรและจะออกจากทุกข์ได้อย่างไร คือสามารถที่จะหาประโยชน์จากทุกข์ หรือเหตุร้ายที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งก็ง่ายที่จะเห็นธรรมะ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เวลางานล้มเหลว ประสบอุปสรรค ก็ไม่โกรธ ไม่หงุดหงิด ไม่ท้อแท้หรือจมอยู่กับความทุกข์ล้วนๆ ยังมีช่องที่จะมาพิจารณาใคร่ครวญว่า มันเกิดขึ้นเพราะอะไร หรือบางทีเห็นธรรม หรือความรู้ หรือความจริงที่ยิ่งกว่านั้น ว่าเออของพวกนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา มันขึ้นอยู่เหตุปัจจัยมากมาย เราไม่สามารถที่จะกำหนดบังคับบัญชาให้มันเป็นไปดังใจเราได้ อันนี้เริ่มเขยิบใกล้ความจริงเข้าใจความจริงเรื่องอนัตตา อัน นี้เรียกว่าเกิดความรู้เกิดปัญญา เห็นความจริงขึ้นมา
จากเหตุร้ายที่เกิดขึ้น หรือจากความทุกข์ที่ประสบสัมผัส แล้วพอถึงเวลาจะมาปฏิบัติธรรม แล้วมันจะมีอารมณ์ลบๆเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความฟุ้งซ่าน มีความหงุดหงิด มีความรำคาญ มีความโกรธเกิดขึ้นระหว่าง ปฏิบัติ ถึงตอนนั้นก็จะรู้จักพิจารณา หรือเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เออใจเรามันก็ไม่เที่ยงนะ รวมทั้งเรียนรู้จากความโกรธ เรียนรู้จากความหงุดหงิดว่า เออมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆนะ มันมีเหตุมีปัจจัย และ มันก็สอนอะไรให้กับเราได้มากมาย
สอนให้เห็นว่ามันเป็นเพราะไปยึดติดถือมั่นในตัวในตน ยึดติดในตัวในกูในของกู มันจึงเกิดความโกรธ มันจะเกิดความหงุดหงิด มันจึงเกิดความคับแค้น ปล่อยเมื่อไหร่นะ มันก็สบายเมื่อนั้น แล้วก็ไม่ต้องปล่อย อะไรมากมายนะ แค่ปล่อยความโกรธ ไม่ยึดในความโกรธว่าเป็นเราเป็นของเรา มันก็เบา มันก็สบาย ไม่ว่าเหตุการณ์จะแก้ไขไม่ได้ แต่ก็ไม่ยึดเอาความโกรธเป็นเรา ความโศกเป็นเรา ความคับแค้นใจเป็นของเรา
อันนี้มันเกิดขึ้นได้นะเพราะว่ารู้จักใคร่ครวญ เรียนรู้จากทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ หรือทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา เหตุร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ก็รู้จักใคร่ครวญ อันนี้มันเกิดขึ้นได้เพราะว่าการที่ไม่ปล่อยให้ชีวิตเราเนี่ยมันไปถูกกำหนดโดยทุกขเวทนา หรือเอาเวทนาเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา
พูดง่ายๆคือไม่ได้อยู่ด้วยความรู้สึก แต่อยู่ด้วยความรู้ และความรู้ที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นได้เพราะว่ามันมีความรู้สึกตัวนะ มีความทุกข์แล้วถ้าไม่รู้สึกตัวนี่ มันก็ไม่เกิดการใคร่ครวญจนเกิดความรู้เกิดปัญญาเข้าใจ ความจริง ความรู้เนี่ยมันเกิดขึ้นได้เพราะความรู้สึกตัว และความรู้สึกตัว มันช่วยทำให้ความรู้สึกสุขทุกข์ไม่ครอบงำจิตใจ เราอยู่กับความรู้สึกมามาก มาบ่อยแล้ว ให้รู้จักอยู่กับความรู้สึกตัวดูบ้าง เพราะความรู้สึก ตัวที่มันช่วยทำให้ความรู้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา.
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566