การทำความดี มันไม่ใช่ดีต่อผู้อื่นเท่านั้น มันดีต่อเราผู้กระทำด้วย ทำดีในที่นี้หมายถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ใช่แค่ไม่ไปเบียดเบียนเขา ไม่ใช่แค่รักษาศีล 5 ให้ครบ มีศีล 5 ครบก็ยังเรียกว่าคนดีหรือว่าทำดีได้ไม่เต็มปาก นอกจากการไม่เบียดเบียนคนด้วยการรักษาศีล 5 แล้ว ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าด้วยทานหรือสิ่งของ หรือด้วยกำลังสติปัญญา หรือด้วยเวลา อันนี้ก็รู้อยู่ ชัดอยู่แล้วว่าดีกับผู้อื่น ดีกับผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ว่ามันยังดีกับผู้กระทำ
ดีต่อผู้กระทำไม่ใช่เพียงแค่ว่าทำแล้วได้บุญ แล้วบุญก็จะนำมาซึ่งสิ่งดีๆ อีกหลายอย่างตามมา เช่น โชคลาภ สุขภาพ พลานามัย ความสำเร็จ อันนั้นยังเป็นเรื่องอนาคต แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นแน่นอนก็คือว่าความสุขใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้ทำ สุขเพราะว่าเห็นผู้อื่นมีความสุข สุขเพราะว่ารู้สึกภาคภูมิใจว่าได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า มันทำให้เกิดความรู้สึกดีกับตัวเอง ความรู้สึกดีกับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันเป็นสิ่งกระตุ้นให้เราเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป รวมทั้งคอยเหนี่ยวรั้งไม่ให้เราทำชั่ว
คนที่รู้สึกดีกับตัวเอง ภูมิใจในตัวเองนี่ทำชั่วลำบาก เพราะอย่างน้อยๆ ก็มีหิริ แล้วก็โอตัปปะ หิริคือความละอายในบาป โอตัปปะคือกลัวบาป กลัวบาป ก็กลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ใช่แค่กลัวจะตกนรกซึ่งมันเป็นเรื่องอนาคต แต่ว่ามันก็ยังไม่ดีเท่ากับความละอายต่อบาปเรียกว่าหิริ ซึ่งมันจะมีแรงเหนี่ยวรั้งจิตใจผู้คนได้ดีกว่าความกลัวบาป เหนี่ยวรั้งไม่ให้ทำชั่ว เหนี่ยวรั้งไม่ให้ผิดศีล เหนี่ยวรั้งไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น หรือว่าสร้างความทุกข์เดือดร้อนให้กับผู้อื่น ซึ่งมันเกิดจากความรู้สึกดีกับตัวเอง ภาคภูมิใจในตัวเองที่สมัยนี้หรือฝรั่งเขาเรียกว่า Self-Esteem
อันนี้มันไม่ใช่เพียงแค่นั้น มันยังช่วยบรรเทาความทุกข์ให้กับผู้คนได้ด้วย ไม่ใช่แค่ช่วยสร้างสุขอย่างเดียว แต่ยังช่วยบรรเทาทุกข์อย่างที่พูดเมื่อเช้านี้ เคยมีการศึกษา นำผู้ที่มีปัญหาโรคซึมเศร้า แนะนำให้ทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ปรากฏว่าความซึมเศร้าบรรเทาลง ความเครียดลดน้อยลง พอๆ กับคนที่ได้รับการบำบัด ด้วยการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนพฤติกรรมตามหลักจิตเวช
การช่วยผู้คนให้เขามีความสุขหรือว่าลดความทุกข์ มันช่วยไม่ใช่แค่บรรเทาโรคซึมเศร้า แต่ว่าความโศกเศร้าก็ช่วยบรรเทาได้ ความหดหู่ ความรู้สึกลบกับตัวเอง ทั้งหมดที่พูดมาเราเรียกว่าประโยชน์ตน ความสุข ความแช่มชื่นเบิกบาน ความผ่องใสเมื่อได้ทำความดี ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า รวมทั้งการที่ความทุกข์ใจมันบรรเทา เราเรียกรวมๆ กันว่าประโยชน์ตน
ประโยชน์ท่าน อันนี้ก็เห็นชัดจากการทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น แต่ว่านอกจากประโยชน์ท่านแล้วก็เกิดประโยชน์ตนด้วย พุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้ง 2 ประการ และเห็นว่าการทำอะไรก็ตาม ถ้าได้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน อันนี้ถือว่าดี ถ้าได้แต่ประโยชน์ท่านอย่างเดียว อันนี้ยังไม่ดีเท่า หรือถ้าได้แต่ประโยชน์ตน แต่ประโยชน์ท่านไม่เกิด อันนี้ก็ยังไม่ดีเท่ากับการที่เกิดทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
แต่ว่าประโยชน์ตนไม่ได้หมายความถึงสิ่งที่ปรนเปรอกิเลส ไม่ได้หมายถึงลาภยศสรรเสริญ อย่างที่คนบางคนหรือคนจำนวนมากเข้าใจ เวลาพูดถึงประโยชน์ตน หรือการหาประโยชน์ส่วนตน คนก็นึกไปถึงการได้ลาภ ได้ยศ ได้ทรัพย์ศฤงคาร ซึ่งในพุทธศาสนาอันนี้มันไม่ใช่ประโยชน์ตนที่มุ่งหมายเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ามันไม่จำเป็น มันก็มีประโยชน์ แต่ว่าประโยชน์ตนที่ท่านพูดถึง ท่านเล็งไปถึงเรื่องของคุณภาพจิตใจที่พัฒนาขึ้น รวมทั้งความสุข ความสุขที่เพิ่มขึ้น ความทุกข์ที่ลดลง
เพราะฉะนั้นต้องแยกแยะให้ออกว่าเวลาพุทธศาสนาพูดถึงประโยชน์ตน ไม่ได้ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว เพราะความเห็นแก่ตัวมันนำไปสู่การบั่นทอนประโยชน์ตน เห็นแก่ตัวแล้วก็เบียดเบียนผู้อื่น ผิดศีล มันก็มีแต่เชื้อเชิญความทุกข์มาใส่ตัว หรือสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับตัวเอง อันนี้ไม่ใช่ประโยชน์ตน แต่บั่นทอนประโยชน์ตน ความเห็นแก่ตัวมันสวนทางกับการทำประโยชน์ตน ในมุมมองของพุทธศาสนา ซึ่งที่จริงก็เห็นได้ไม่ยาก และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องใคร่ครวญหรือแยกแยะให้เป็น เพราะว่าการทำดีบางอย่าง อย่างน้อยดีใน สายตาคนอื่น มันอาจจะไม่ได้เป็นการทำเพื่อประโยชน์ท่านล้วนๆ แต่ว่ามุ่งสนองประโยชน์ส่วนตัวหรือสนองกิเลสก็ว่าได้ ไม่ใช่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ตนในความหมายที่เราพูดถึง
อย่างมีโยมคนหนึ่งเขาเป็นพยาบาล แล้วก็ทำงานขยันขันแข็งมาก เป็นคนเก่ง ทั้งในเรื่องของการดูแลรักษาคนไข้ เรื่องของการบริหารแผนก ทำวิจัยก็ทำได้ดี จนคนชม คนสรรเสริญ แล้วเจ้าตัวก็คิดว่าตัวเองทำเพื่อส่วนรวม ทำเพื่อคนไข้ ทำเพื่อองค์กรคือโรงพยาบาล แต่ภายหลังมาสังเกตตัวเอง ก็พบว่าที่ทำดี ทำเยอะทำมาก แล้วก็ทำจนกระทั่งคนชมว่าเก่ง ลึกๆ มันเป็นการทำเพื่อให้คนชื่นชมสรรเสริญว่าเธอเก่ง เธอเป็นคนมีความสามารถ เวลาจะทำอะไร ต้องการทำให้มันดี ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมจริงๆ แต่เพื่อให้คนชมว่าฉันเก่ง ฉันมีความสามารถ
ทีแรกก็มองไม่เห็น แม้กระทั่งมีคนมาทักว่าคุณทำเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์ขององค์กร หรือเพื่อสนองความต้องการส่วนตัว โกรธนะ หาว่าเขาดูถูก ทั้งที่เขาก็เพียงแต่ตั้งคำถามให้ฉุกคิด ให้มาพิจารณา แต่ ตอนหลังพอทำไปๆ มันก็เริ่มจะเห็นว่าเรานี่ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวมจริงๆ หรือล้วนๆ เท่าไหร่ แต่เราทำเพราะเราอยากจะได้คำชื่นชมสรรเสริญ ถึงแม้ว่าไม่ได้ปรารถนาการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แต่ว่าถ้าไม่มีคน ชม ไม่มีคนสรรเสริญ แถมมีคนตำหนินี่ โกรธมากเลย ก็เริ่มเห็นแล้วนะ เรานี่ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวมจริงๆ
ก็นับว่าเขาเป็นคนที่กล้าที่จะมองตน แล้วก็ซื่อสัตย์กับตัวเอง แต่ก่อนหน้านั้นสิ่งที่เขาทำ แม้ว่าจะทำเพื่อส่วนรวม แต่เราก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นการทำเพื่อส่วนรวมแท้ๆ แล้วก็ไม่ได้เรียกว่าการเป็นการทำเพื่อ ประโยชน์ตนอย่างถูกต้องในพุทธศาสนาด้วย เพราะว่าชื่อเสียงเกียรติยศคำสรรเสริญ มันเป็นไปเพื่อสนองกิเลส อะไรที่มันสนองกิเลส มันไม่ใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนอย่างแท้จริง มันเป็นการบั่นทอน ประโยชน์ตนมากกว่า ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่คนมักจะมองไม่เห็นหรือมองข้าม
ทั้งๆ ที่ดูเหมือนเป็นคนที่ทุ่มเท ทำงานขยันขันแข็ง แต่ว่าแรงจูงใจเบื้องหลัง มันอาจจะซับซ้อนหรือว่าลึกล้ำกว่าที่ตัวเองจะเข้าใจก็ได้ จนกว่าจะมองอย่างถ่องแท้ แต่บางครั้งถ้าหากว่ารู้จักมองพิจารณา มันก็อาจจะเห็นว่าเราทำเพื่ออะไรกันแน่
มีหมอผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นคนที่เรียนเก่งมากตอนเป็นนักเรียนแพทย์ ก่อนที่จะเป็นนักเรียนแพทย์ ตอนที่เป็นนักเรียนมัธยมก็เสียพ่อไป ก่อนหน้านั้นก็เสียแม่ แม่เป็นมะเร็ง ส่วนพ่อก็เป็นมะเร็งเหมือนกัน เป็น มะเร็งเม็ดเลือด-ลูคีเมีย เธอเสียใจมากเลยตั้งเป้าว่า จะเรียนแพทย์ พอเรียนแพทย์ก็มุ่งที่จะมาเรียนแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ด้านรักษาโรคเลือดคือลูคีเมีย เพราะว่าต้องการเอาชนะโรคนี้ เพราะมันเป็นโรคที่คร่า ชีวิตของพ่อเธอ
เมื่อได้เป็นแพทย์ เวลาเจอคนไข้ที่เป็นโรคเลือดหรือลูคีเมีย เธอจะทุ่มเทมาก แต่ว่าโรคเลือดบางครั้งมันก็รุนแรง หรือว่าลุกลามเกินกว่าที่จะรักษาให้หายได้ แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ พยายามที่จะสู้กับมัน ทั้งที่คนไข้เข้าสู่ระยะท้ายแล้ว คนไข้บางคนก็เป็นเด็กด้วย เมื่อเข้าสู่ระยะท้ายก็หมายความว่า ยิ่งรักษาก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์ทรมาน เดี๋ยวนี้พอคนไข้เข้าสู่ระยะท้าย เขาจะเปลี่ยน หันมาเน้นเรื่องการดูแลแบบประคับ ประคอง คือช่วยให้ลดความทุกข์ทรมาน หรือพูดง่ายๆ คือช่วยให้ตายสงบ หรือตายสบาย ไม่ทุกข์ทรมาน แต่หมอคนนี้แกไม่ยอมเลย แกพยายามสู้สุดฤทธิ์ ถ้าเกิดว่าคนไข้ทำท่าไม่ไหว ก็ยื้อ พยายามยื้อเท่าที่จะทำได้ บางทีคนไข้บอกว่าไม่ไหวแล้วนะ ไม่สู้แล้ว เพราะมันทรมาน อยากกลับไปตายที่บ้าน หรือว่าไม่ อยากจะเจอการรักษาแบบแทรกแซง ซึ่งมันทำให้อยู่ได้ยืนยาวก็จริง แต่เป็นการอยู่แค่แบบมีลมหายใจ ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตเท่าไหร่ แต่หมอแกไม่ยอม ต้องสู้ให้ได้ จนบางทีคนไข้ถูกเจาะเลือดวันละ 3 ครั้ง เจาะเลือดทุกวันก็แย่อยู่แล้ว ยังเจาะวันละ 3 ครั้ง เพื่อจะดูให้ได้ว่าผลเลือดมันดีขึ้น แต่ผลเลือดมันก็แย่ลง
สุดท้ายพอคนไข้ทำท่าจะไปไม่รอด หมอคนนี้ทิ้งเลย ให้รุ่นพี่มาช่วยดูแทน เพราะอะไร เพราะแกทนไม่ได้ที่เห็นคนไข้ตาย แต่จริงๆ ไม่ใช่เพราะทนไม่ได้ที่เห็นคนไข้ตาย แต่ทนไม่ได้ที่เห็นตัวเองแพ้ เพราะว่าการรักษาคนไข้ แกถือว่าคนไข้แท้จริงคือสนามประลองกำลังระหว่างเธอกับโรคลูคีเมีย
แล้วพอรักษาคนไข้ไม่ได้ แกหงุดหงิดหัวเสียมาก นอกจากทิ้งคนไข้แล้ว เวลาไปสอนก็จะระบายอารมณ์ใส่นักศึกษาแพทย์ จนนักศึกษาแพทย์เขากลัวเลย ไม่กล้าเข้าใกล้ เวลาหมอคนนี้ไปเจอเคสผู้ป่วยที่ อาการหนักร่อแร่ แล้วรักษาไม่ได้ เวลาไปราวน์คือไปดูอาการคนไข้ โดยมีนักศึกษาแพทย์ตามไปด้วย ถ้าเป็นคนไข้ของตัวที่อาการแย่ๆ แกจะหงุดหงิดหัวเสียใส่นักศึกษาแพทย์ จนเป็นที่เลื่องลือกันเลยว่า อาจารย์คนนี้นักศึกษาแพทย์ไม่อยากเข้าใกล้
ถามว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร เพราะว่าลึกๆ หมอคนนี้แกต้องการที่จะเอาชนะโรคลูคีเมีย เพราะมันเป็นโรคที่คร่าชีวิตของพ่อเธอ ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือ มันเป็นความแค้นส่วนตัวที่ต้องเอาชนะให้ได้ เพราะฉะนั้นบางทีคนไข้ไม่ไหวแล้ว แต่หมอไม่ยอมแพ้ เพราะคิดว่าถ้าคนไข้ตายก็คือความพ่ายแพ้ของหมอ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกเสียศักดิ์ศรี มันเป็นเรื่องของความรู้สึกพ่ายแพ้ที่กระทบอัตตาอย่างแรง
อันนี้ถ้าเราดูก็จะพบว่าหมอที่ทุ่มเททำมาก แกไม่ได้ทำเพื่อคนไข้ แต่ทำเพื่อตัวเอง เพื่อสู้กับโรคร้ายที่สร้างความแค้นส่วนตัวให้กับเธอ การทำอย่างนี้สุดท้ายก็ไปตกหนักที่คนไข้ เพราะว่าหมอต้องการยื้อสุดชีวิต สู้ทุกทาง เพื่อไม่ให้ตัวเองได้ชื่อว่าพ่ายแพ้ ทั้งๆ ที่มันก็ธรรมดา โรคบางโรคหรือบางเคสก็รุนแรงจนกระทั่งความตายเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น ในกรณีแบบนี้ ช่วยให้เขาตายสงบ ก็อาจจะเรียกว่าเป็นความสำเร็จของหมอก็ได้ ไม่ใช่ว่าความตายของคนไข้จะหมายถึงความล้มเหลวของหมอเสมอไป
แต่หมอนี่มองเห็นว่าความตายของคนไข้เป็นความล้มเหลวของตัว ก็เลยไม่ยอมให้คนไข้ตาย แล้วถ้าคนไข้ต้องตาย ก็ไม่ยอมให้คนไข้ตายกับมือ ให้หมอคนอื่นมาดูแลแทน ให้คนไข้ไปตายในมือของเขา ไม่ใช่ในมือของตัวเอง อันนี้เรียกว่าเป็นการทำจะเรียกว่าสนองอัตตาก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดีเลย ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อคนไข้ ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อตัวเองด้วย
มีการกระทำหลายอย่างที่บางทีผู้คนไม่ได้ตระหนักหรือเฉลียวใจว่า มันไม่ได้เป็นการทำเพื่อผู้อื่น แต่เป็นการทำเพื่อตัวเอง อย่างพ่อแม่บางคน ที่จริงเดี๋ยวนี้ก็มีเยอะทีเดียว ป่วยหนักอยู่ในระยะท้าย ลูกต้องการยื้อชีวิตของพ่อแม่สุดชีวิตเลย ทั้งที่พ่อแม่ก็บอกว่าไม่เอาแล้ว หรือบางทีก็เขียนแสดงเจตจำนงค์ล่วงหน้าว่าฉันไม่ต้องการยืัอชีวิต แต่ลูกไม่ยอม ไม่ฟัง บางทีพ่อแม่ก็ส่งสายตาเพราะพูดไม่ได้ เนื่องจากมีท่ออยู่ในคอ บอกว่าปล่อยฉันไปเถอะๆ แต่ลูกก็ไม่ยอม จะต้องสู้ให้ได้
ในหลายกรณีลูกไม่ได้ทำเพื่อพ่อแม่เท่าไหร่ แต่ทำเพื่อตัวเองมากกว่า เพราะว่ารู้สึกผิดที่ไม่ค่อยได้ดูแลพ่อแม่เลย ทำแต่งาน หาเวลาที่จะมาเยี่ยมพ่อแม่ ก็ไม่ค่อยมี แม้กระทั่งเวลาพ่อแม่ป่วยก็ไม่มีเวลาให้ จนกระทั่งพ่อแม่ป่วยหนัก ก็ไม่ยอมให้ตาย เพราะว่าอยากจะชดเชยความผิดที่ไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่กับท่าน ก็อยากมีเวลาอยู่กับท่านนานๆ ชดเชยความผิด หรือว่าอยากจะแสดงความกตัญญูอย่างสุดโต่ง ซึ่ง ความกตัญญูแบบนี้ในวงการแพทย์เรียกว่ากตัญญูเฉียบพลัน หมายความว่าเวลาอื่นไม่กตัญญู แต่จะมากตัญญูเอาตอนที่พ่อแม่จะตาย
ลูกแบบนี้มีเงินเท่าไหร่ก็ยอมทุ่มเท แต่ว่าที่จริงแล้วก็อย่างที่บอก ต้องถามใจตัวเองว่าทำเพื่ออะไร เพื่อพ่อแม่หรือเพื่อตัวเอง เพื่อลบความรู้สึกผิดของตัวเอง มากกว่าที่จะคำนึงถึงความปรารถนาของพ่อแม่ เรื่องแบบนี้ถ้าไม่สังเกต ไม่มองใจ ก็ไม่เห็น เช่นเดียวกัน บางทีพ่อแม่เวลาเลี้ยงลูก แม้ว่าจะมีความรัก มีความเมตตา แต่บางทีก็เลี้ยงลูกเพื่อสนองอัตตาของตัวเอง ลูกคนไหนเรียนเก่ง พ่อแม่ก็พาไปอวดตามหมู่ญาติพี่น้องว่า คนนี้สอบได้ที่ 1 แต่ถ้าลูกคนไหนเรียนไม่เก่งก็ไม่เอาไปอวดญาติๆ รู้สึกอับอาย อันนี้เพราะอะไร ก็เพื่อหน้าตาของตัวเอง แต่นั่นยังไม่เท่าไหร่ ที่หนักคือ การพยายามไปบังคับบงการชีวิตของลูก เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เช่น บางคนอยากจะเรียนหมอ แต่เรียนไม่ได้ เรียนไม่จบ หรือว่าไม่มีความสามารถ ได้แต่เป็นครู แต่พอมีลูกก็พยายามเคี่ยวเข็ญลูกเพื่อให้เรียนหมอให้ได้ ทั้งที่ลูกก็ไม่อยากเรียน
ลูกอยากจะเรียนนิติศาสตร์ อยากจะเรียนนิเทศศาสตร์ หรืออยากจะเป็นครูด้วยซ้ำ แต่พ่อก็ไม่ยอม เคี่ยวเข็ญกดดันให้ลูกเรียนหมอ เพื่ออะไร เพื่อสนองความใฝ่ฝันของตัวเอง ตัวเองทำไม่ได้ ก็หวังว่าลูกจะทำได้ อันนี้เรียกว่าทำเพื่อตัวเอง ไม่ใช่ว่ามีความรักความปรารถนาดีต่อลูก ส่วนนี้ก็มี แต่ว่าในบางขณะมันถูกแรงผลักดันทางด้านอัตตา ต้องการให้ลูกสนองอัตตาของตัวเอง สุดท้ายลูกก็ทุกข์ พ่อแม่ก็ทุกข์ เพราะว่าลูกก็ไม่มีความสุข ก็ทะเลาะเบาะแว้งกับพ่อแม่ ความสัมพันธ์ก็ร้าวฉาน เหินห่าง หมางเมิน
เรื่องพวกนี้ต้องสังเกตนะ แม้ว่าดูภายนอก ดูเหมือนว่าเขาดี เขาเสียสละ เขาทุ่มเท เขารักพ่อแม่ หรือว่าเขารักลูก แต่บางทีมันเป็นภาพลวงตา อาจจะไม่ใช่ลวงตาทั้งหมด ความปรารถนาดีก็มี แต่ว่าแรงจูงใจ เบื้องหลังที่ชัดๆ หรือที่มันไปยึดกันมากมันคือเรื่องของอัตตา สนองอัตตาของตัวเอง ในลักษณะที่แตกต่างกันไป รักษาคนไข้ เห็นคนไข้เป็นสมรภูมิ เพื่อที่จะชำระความแค้นส่วนตัวที่มีกับโรคบางชนิดที่ทำให้พ่อแม่ตาย แบบนี้ก็มี หรือว่ากดดันลูก เพื่อให้ลูกตอบสนองความใฝ่ฝัน หรือเพื่อหน้าตาของตัวเอง แบบนี้ก็มี หรือยื้อชีวิตพ่อแม่ เพื่อชดเชยความรู้สึกผิดของตัวเองก็มี แล้วก็คงจะมีอีกหลายแบบ ซึ่งถ้าหากเราไม่รู้จักเฝ้ามอง ไปหลงเชื่ออำนาจของกิเลสว่าเรากำลังทำดี เรากำลังเสียสละ อันนี้เราจะสร้างทุกข์ให้แก่ผู้อื่น และสร้างทุกข์ให้แก่ตัวเองโดยไม่รู้ตัว