มีผู้ชายคนหนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เล่าว่าเมื่อสัก 15 หรือ 20 ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน หลวงปู่ท่านก็เป็นผู้ที่มีญาติโยมเคารพนับถือมาก เพราะเชื่อกันว่าท่านเป็นพระอริยเจ้า ตอนที่เข้าไปกราบท่าน คนก็เต็มศาลาเลย ตัวโยมคนนี้ก็อยู่ข้างหลังเลยนะ เข้าถึงได้ยากมาก เพราะใครๆ ก็อยากจะเข้าใกล้แล้วก็ถวายของด้วยตัวของตัวเอง แต่จู่ๆ หลวงปู่ก็กวักมือเรียก โยมคนนี้ก็เลยมีโอกาสได้คลานเข้าไป แล้วก็ได้ถวายของให้ท่านกับมือและได้สนทนากับท่านด้วย
ท่านก็ให้พร เขารู้สึกปราบปลื้มปิติมากว่า โอ้โห เราโชคดีจังเลย เป็นภาพที่ประทับใจและทำให้เกิดปีติปราโมทย์มาก หลังจากนั้นไม่กี่ปี 4-5 ปีก็ปรากฏว่าตัวเองประสบกับปัญหาต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่หนักๆ ทั้งนั้น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน ปัญหากับผู้บังคับบัญชา แล้วก็ยังมีเรื่องลูก มีความขัดแย้งมึนตึงกับลูก เรียกว่าเกิดความกลัดกลุ้มมาก แล้วพอเป็นยืดเยื้อ ก็เกิดอาการที่เรียกว่าสติแตกก็ได้ คิดถึงการฆ่าตัวตายเลยทีเดียว แต่ก็ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้
สิ่งที่น่าคิดก็คือว่า ความปีติปราโมทย์ที่เกิดจากการได้ไปกราบหลวงปู่ซึ่งชื่อว่าเป็นพระอริยเจ้าหรือพระอรหันต์นี่ มันไม่สามารถที่จะช่วยโยมคนนี้ได้เลยในยามที่เกิดวิกฤต ทั้งที่ตอนนั้นก็รู้สึกปราบปลื้มปีติมาก รู้สึกว่าเราโชคดี เรามีบุญ แต่ความรู้สึกดีๆ อย่างนั้น จะว่ามันหายไปเลยก็ได้ ตอนที่เกิดวิกฤต แล้วก็ไม่สามารถที่จะช่วยให้ตัวเองก้าวข้ามผ่านความรู้สึกซึมเศร้า เครียด กลัดกลุ้มได้ แต่ที่ผ่านมาได้นี่เพราะ ว่าปัญหาต่างๆ มันเริ่มคลี่คลายลง นี่ถ้าเกิดว่าเขาใจเร็วด่วนได้นี่ก็อาจจะตัดช่องน้อยแต่พอตัว แล้วก็จะไม่มีโอกาสมาเล่าเรื่องนี้ให้อาตมาฟังได้
เวลาเขาเล่านี่เขาก็ไม่รู้สึกเห็นถึงความเชื่อมโยงหรือตั้งคำถามเลยนะว่า ไอ้การที่มีโชคเป็นบุญที่ได้กราบ อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่นั้นเนี่ย ทำไมจึงไม่สามารถจะช่วยเขาในยามที่เกิดวิกฤตได้
มีหมออีกคนหนึ่งนะก็เป็นลูกศิษย์ที่ศรัทธาในหลวงพ่อองค์หนึ่งมาก ซึ่งก็เช่นเดียวกันเขาก็เชื่อกันว่าท่านเป็นพระอริยเจ้าหรือพระอรหันต์ แล้วก็ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิด ได้มีโอกาสอุุปัฏฐากท่านหลายครั้ง เพราะว่าเป็นหมอแล้วเขารู้สึกภาคภูมิใจนะว่า ตัวเองเนี่ยมีโอกาสได้ใกล้ชิดท่าน แล้วก็ได้ฟังธรรมของท่าน ก็คิดว่าเท่านี้มันก็เพียงพอที่จะทำให้ตัวเองมีชีวิตที่ราบรื่นผาสุกได้ เพราะว่าธรรมะที่ได้ฟังจากหลวง พ่อก็จะช่วยนำพาชีวิตของตัวเองผ่านพ้นปัญหาไปได้
แต่พอถึงเวลาป่วยหนัก ด้วยโรคมะเร็ง ปรากฏว่าเสียศูนย์ไปเลย มีความทุกข์ทรมานมาก แล้วก็พบว่าธรรมะที่ได้ยินได้ฟังจากหลวงพ่อนี่ มันไม่สามารถที่จะช่วยให้ตัวเองคลายจากความทุกข์ทรมานได้ เพราะว่ามันเป็นเพียงแค่ธรรมะที่ได้ฟัง แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ค่อยได้ปฏิบัติเท่าไร แล้วความเป็นคนที่มีโอกาสได้อุปัฏฐากใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์ มันก็ไม่ได้ช่วยให้ตัวเองรับมือกับความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยได้เลย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย
ทั้งสองกรณีนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า การที่คนเรามีศรัทธา แล้วก็มีความปีติปราโมทย์จากการที่ได้ใกล้ชิดหลวงปู่ หลวงพ่อ ซึ่งเป็นโอกาสที่น้อยคนจะได้รับ แต่ว่าพอเวลามีปัญหาเกิดขึ้นกับชีวิต มันก็กลายเป็นวิกฤตขึ้นมาเลย โดยที่สิ่งที่มีอยู่นี่มันช่วยไม่ได้มาก
อันนี้มันแสดงว่า เท่านี้ยังไม่พอในการที่เราจะรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น แม้จะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิด แต่ว่ามันก็ช่วยเราได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นแหละ ต่อเมื่อได้นำธรรมะเข้ามาน้อมเข้ามาใส่ตัว ไม่ใช่แค่ฟังอย่างเดียว หรือไม่ใช่แค่ว่าเกิดความปีติปราโมทย์อย่างเดียว แต่มันต้องนำมาปฏิบัติ
ปฏิบัติเพื่อให้สติและปัญญามันเจริญงอกงามขึ้นในใจ อันนี้เรียกว่า ทำให้พระสถิตอยู่ในใจเรา ไม่ใช่ว่าอยู่นอกตัว พระที่อยู่นอกตัวแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์ ก็ช่วยเราได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้นแหละคือ ทำให้เกิดความปีติในยามที่ระลึกนึกถึง แต่ว่าถ้าปัญหามันหนัก มันรุนแรง มันต้องอาศัยพระในใจนะซึ่งก็คือ ธรรมะที่เราน้อมเข้ามาใส่ตัวนั่นแหละ “โอปะนะยิโก” เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว นี่คือคุณสมบัติประการหนึ่งของธรรมะเรียกว่า “ธรรมคุณ”
น้อมเข้ามาใส่ตัวให้มันกลายเป็นเนื้อเป็นตัว ซึ่งก็ต้องอาศัยการปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ฟังอย่างเดียว เพราะว่าสิ่งที่ฟัง แม้จะฟังมาเยอะ อ่านมามาก แต่เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา บางทีมันลืมตัว พอลืมตัวแล้วก็ลืมหมด ที่ได้ยินได้ฟังมา หรือเอามาใช้ไม่ได้ เวลาเกิดทุกขเวทนาก็บอก “มีสติ มีสติ” แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ สติไม่รู้หล่นหายไปไหน เพราะว่าสติมันไม่มีกำลัง อย่างที่เขาเรียกว่า “น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟมาก”
ทุกขเวทนาก็ดี ความโกรธก็ดี ความกลัดกลุ้มก็ดี ความโศกก็ดี พวกนี้พอมันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าปล่อยให้มันลุกลามด้วยความหลงนะ มันก็เหมือนกับไฟป่าที่โหมกระหน่ำ ส่วนสติที่มีอยู่ ถ้าไม่ได้ฝึกเอาไว้ มันก็ เหมือนกับน้ำน้อย ความรู้ที่มีถ้าตราบใดที่ยังเป็นความรู้ในทางปริยัติ ถึงเวลามันก็รับมือไม่ไหว เช่น รู้มาว่าอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง แต่ว่าพอทรัพย์สูญเสีย บ้านถูกยึด หรือคนรักตายจากไป มันไม่สามารถที่จะทรงจิต ประคองใจได้เลย ไม่สามารถที่จะน้อมใจให้ตระหนักจริงๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ เพราะรู้ว่าไม่เที่ยงก็จริง แต่มันรู้แค่ระดับสมอง แต่ว่าใจนี่มันยึดเอาไว้ หัวนี่มันบอกว่าความยึดความติดเป็นทุกข์ แต่ใจมันไม่รับรู้ด้วย มันก็จะยึดตะพึดตะพือ
หัวสมองบอกว่าโกรธไม่ดี แต่ว่าพอถึงเวลามีอะไรมากระทบ มันก็จมอยู่ในความโกรธ ปล่อยให้ความโกรธครอบงำใจ ยอมให้ความโกรธมันสั่ง สั่งให้ด่า สั่งให้อาละวาด
ความเศร้าก็เหมือนกัน ก็รู้ว่าเศร้ามันไม่ดี เศร้าเพราะว่าไปมัวอาลัยกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เป็นเพราะไปยึดติดกับของรักคนรัก ก็รู้ว่ายึดไม่ดี แต่ก็ยึด พอยึดแล้วมันเศร้า เศร้าแล้วก็ยังไปยึดความเศร้านั้นอีก ทั้งๆ ที่มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แล้วก็หลงเชื่อมัน มันสั่งให้เจ่าจุก มันสั่งให้อยู่นิ่งไม่ทำอะไร หมดอะไรตายอยาก เจ่าจุก เสื้อผ้าหน้าผมไม่สนใจ จนบางทีถึงกับทำร้ายตัวเอง ก็เป็นเพราะไปหลงเชื่อมัน ทั้งๆ ที่รู้ รู้ ด้วยสมอง รู้ด้วยหัว รู้ด้วยความรู้ที่ได้ยินได้ฟังมาว่า มันเป็นความหลง ไม่สามารถจะเชื่อถือมันได้ จนกว่าเราจะมีสติ จนกว่าเราจะฝึกสติจนเรียกว่ากลายเป็นคุณธรรมประจำใจ
คุณธรรมนี่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะความเมตตา ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจ ความเสียสละอย่างเดียว สติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัว สมาธิ ปัญญา พวกนี้ก็เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมา อย่าชะล่าใจว่า เรามีครูบาอาจารย์ดี หรือว่าเราได้ยินได้ฟังมาเยอะ ฟังธรรมะทุกวันทั้งเช้าทั้งเย็น แม้จะฟังมาเป็นปีๆ มันก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราจะมีวิชาที่จะรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้
อย่าว่าแต่ความทุกข์เลย แม้กระทั่งความเห็นแก่ตัว ความโกรธ พอเกิดขึ้นก็แพ้มันทุกที เพราะว่ามันแค่ฟัง แต่มันไม่ได้มีการปฏิบัติ ก็เลยไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น ต้องปฏิบัตินะ ไม่ใช่แค่ฟังอย่างเดียว แล้วปฏิบัตินี่มันก็ทำได้หลายวิธี การปฏิบัติในรูปแบบนี่สำคัญ ปฏิบัติในรูปแบบ หาเวลาให้กับการนั่งสมาธิ เจริญสติ เดินจงกรม สร้างจังหวะ ทำให้สม่ำเสมอ ไม่ต่างจากเวลาเราอาบน้ำถูฟัน ไม่มีวันไหนที่เราจะละเว้นการถูฟัน การอาบน้ำ หรือแม้กระทั่งการขับถ่าย เรากินข้าวทุกวัน เราอาบน้ำทุกวัน เราล้างหน้าวันละหลายครั้ง การฝึกจิตชำระใจให้มีสติ มีความรู้สึกตัว มีสมาธินี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำสม่ำเสมอเหมือนกัน
แต่เท่านั้นยังไม่พอ มันจะต้องฝึกจากชีวิตประจำวันด้วย จากการกินข้าว อาบน้ำ ล้างหน้า เริ่มตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเก็บที่นอนก็ฝึกสติ แม้ว่ามันจะมีความหนาวแต่ว่าก็ตั้งสติได้ ไม่พ่ายแพ้ต่อกิเลส เกิดความกระตือรือล้น เกิดความกระฉับกระเฉง อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของสติและความรู้สึกตัว ขณะเดียวกัน ทำอะไรก็รู้กาย ที่ว่า “รู้กายเคลื่อนไหว” ก็ต้องคู่ไปกับ “รู้ใจคิดนึก” รู้ใจคิดนึกระหว่างทำกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ล้างจาน มันจะมีความคิดนึกต่างๆ ก็ให้รู้ทัน
แล้วไม่ใช่รู้ทันเวลาทำกิจอย่างเดียว แต่รู้ทันความคิดเวลาเจออะไรต่ออะไรมากมาย เจอรถติด เจอเพื่อนทำตัวไม่น่ารัก เจออุปสรรค เจอการงาน เจอคนวิพากษ์วิจารณ์ พวกนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นโอกาส สำหรับการฝึกสติ ด้วยการรู้ทันจิต หรืออารมณ์ ความคิด เมื่อมันมีการกระทบ และนี่เป็นการฝึกที่สำคัญเลยนะ เป็นการฝึกจากของจริง ไม่ใช่ฝึกในสถานที่ที่เราเลือกหรือในเวลาที่เราเลือก เช่น เวลาปฏิบัติในรูปแบบ เราก็เลือกสถานที่ เช่น ห้องพระ หรือว่าที่สงบ เลือกเวลาที่เหมาะ แต่ก็มีเหตุการณ์หลายอย่างที่มันเกิดขึ้นโดยที่เราเลือกไม่ได้ แม้จะไม่ชอบด้วย แล้วก็มาไม่เป็นเวล่ำเวลา อันนี้คือเหตุการณ์จริง ซึ่งสามารถจะเอามาใช้หรือเป็นโอกาสในการผึกสติ
การฝึกจากของจริงนี้ แม้กระทั่งฝึกกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ความเจ็บความป่วย เกิดจากทุกขเวทนา นี่สำคัญ แต่จะว่าไปแล้วมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
มีผู้ชายคนหนึ่งมีอาชีพย่องเบา แล้วลูกชายก็เห็นพ่อนี่ทำอาชีพนี้มานาน เมื่อพ่อแก่ชราแล้ว ก็เลยปรารภกับพ่อว่าอยากจะให้พ่อสอนวิชาลักขโมยย่องเบาให้ด้วย จะได้ช่วยพ่อในยามที่พ่อออกไปทำงาน
วันหนึ่งในยามค่ำคืนพ่อก็ชวนลูกชายไปที่บ้านแห่งหนึ่งเป็นบ้านที่มีฐานะมีกำแพง ก็เจาะกำแพงเป็นช่อง มุดเข้าไปได้ แล้วก็ลอดกำแพงนั้นไปถึงตัวบ้าน ทั้งสองมาหยุดตรงที่ตู้ใหญ่บานหนึ่ง แล้วพ่อก็เปิดตู้ บอกให้ลูกชายเข้าไปในตู้ พอลูกชายเข้าไปในตู้ พ่อก็ปิดตู้เลย ล็อคเลย ลูกตกใจมาก อ้าว! เกิดอะไรขึ้น อยู่ๆ พ่อก็ปิด ขังตัวเองอยู่ในตู้ เท่านั้นยังไม่พอ พ่อยังตะโกนโหวกเหวกจนกระทั่งคนในบ้านเนี่ยตื่น แล้วพ่อก็รีบออกจากบ้าน มุดกำแพงหนีออกไปเลย
ลูกชายที่อยู่ในตู้นี่ตกใจมาก ทำไมพ่อถึงทำอย่างนี้กับตัวเอง แต่ว่าไม่มีเวลาที่จะตกใจมาก เพราะปัญหาเฉพาะหน้าคือทำอย่างไรจึงจะออกจากตู้ออกไปได้ ตู้มันล็อคจากข้างนอกจะทำยังไง ก็เลยแกล้งส่งเสียงเหมือนกับหนู คล้ายๆ กับว่าหนูอยู่ในตู้แล้วก็กำลังกัดผ้า
คนในบ้านที่ตื่นขึ้นมาแล้วก็เห็นว่าไม่มีข้าวของที่ถูกลักขโมย ก็แปลกใจ แต่ก็คิดว่าขโมยเนี่ยคงจะหนีรอดไปทางกำแพงแล้ว แต่พอได้ยินเสียงหนูในตู้ เจ้าของบ้านก็ให้สาวใช้ไปเปิดตู้ สาวใช้ก็เลยจุดเทียนแล้วก็เปิดตู้ พอเทียนมันยื่นเข้ามาในตู้ ชายคนนั้นก็รีบเป่าเทียนดับแล้วก็รีบหนีออกมา
พอหนีออกมา มีคนเห็น คนก็ไล่ตาม ชายคนนั้นรีบตรงไปที่กำแพงแล้วก็มุดออกไป คนในบ้านตามไป ตามกันไปหลายคนเลย ชายคนนั้นคิดว่าเกือบจะจวนตัวอยู่แล้ว ก็เอาหินทุ่มลงไปในสระที่อยู่ใกล้ๆ แล้วส่งเสียงร้องเหมือนกับว่าจมน้ำ คนในบ้านที่ตามมาคิดว่าโจรจมน้ำ ก็เลยไปหาโจรที่จมน้ำ ก็เลยเปิดโอกาสให้ชายคนนั้นหนีกลับไปถึงบ้านได้
พอไปถึงบ้านก็เจอพ่อรออยู่ เขาก็โวยวายใส่พ่อ แต่พ่อก็ไม่สนใจและถามว่าเจ้าหนีมาได้อย่างไร ชายคนนั้นก็เล่าว่าหนีมาได้อย่างไร พ่อก็ยิ้มแล้ว พยักหน้าว่า ตอนนี้เจ้าได้เรียนรู้วิชาลักขโมยแล้ว พ่อสอนให้รู้ลูกรู้วิชาลักขโมย ไม่ใช่สอนด้วยปาก หรือสอนด้วยการบรรยายหรือบอกเล่า แต่สอนด้วยการพาลูกไปเจอของจริง ไปเจอปัญหา แล้วแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เป็นการเรียนแบบเรียนลัดมากเลย การฝึกวิชาชีวิต ฝึกวิชาที่จะพาใจออกจากความทุกข์นี่ก็เหมือนกันนะ ถ้าจะให้ได้ผลต้องเรียนจากของจริง คือเรียนจากปัญหาเวลาเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ
อย่างที่เราสวดทุกเช้านี้ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ อันนี้คือสิ่งที่คนเราไม่ชอบเพราะมันคือทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ เช่น คำต่อว่าด่าทอ การวิวาทบาดหมาง ความหนาว ความเจ็บป่วย อุปสรรคความล้มเหลว หรือการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ เช่นสูญเสียทรัพย์ สูญเสียคนรัก อะไรต่างๆเหล่านี้ สูญเสียชื่อเสียง พวกนี้คือปัญหาชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น แต่เราก็สามารถที่ จะเรียนรู้การเจริญสติ การสร้างความรู้สึกตัวได้ก็จากปัญหาเหล่านี้ เหมือนกับที่นักย่องเบาสอนลูก วิชาย่องเบาสอนด้วยการให้ไปเจอของจริง แล้วก็หาทางแก้ปัญหาเอาเอง
วิชาธรรมะก็เหมือนกัน ธรรมะที่เป็นเรื่องการบรรเทาทุกข์หรือพ้นทุกข์นี่มันก็ต้องเรียนรู้จากของจริงด้วย รวมทั้งการเจริญสติ การสร้างความรู้สึกตัว ก็ต้องเรียนรู้จากของจริง เวลามีความโกรธ ความเศร้า เราจะเรียนรู้จากมันได้อย่างไร
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า
“เราได้ความไม่โกรธเพราะความโกรธ เราได้ความไม่ทุกข์เพราะความทุกข์ เราได้ความไม่หลงเพราะความหลง”
ก็คือ ใช้ความโกรธ ความทุกข์ ความหลงนั่นแหละมาเป็นอุปกรณ์ หรือแบบฝึกหัดในการสร้างหรือพัฒนาความไม่โกรธ ความไม่ทุกข์ ความไม่หลง
เราต้องรู้จักเรียนจากของจริงด้วย แม้ว่าเราจะไม่ชอบ ของจริงที่ว่าเพราะมันเป็นปัญหา แต่การเรียนรู้จากปัญหานี่แหละที่มันทำให้เราเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว หรือการเจริญปัญญา ฉะนั้น เวลาเราเจอปัญหาพวกนี้ ก็ให้ถือว่าเรากำลังเจอแบบฝึกหัด แล้วการเรียนรู้จากของจริงนี้ มันเป็นการเรียนรู้ที่จะทำให้เราเกิดพัฒนาการ เกิดการก้าวกระโดด และเกิดความเติบโตได้