เมื่อวานได้พูดถึงนักธุรกิจระดับพันล้านคนนึงที่พูดว่า “การลงทุนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิต ก็คือการอ่านหนังสือ” นักธุรกิจคนนี้ชื่อ มาร์ก คิวบัน เรียกว่าร่ำรวยมากจากการลงทุนในกิจการต่างๆ มีเงินเป็นระดับพันล้าน ถ้าเป็นเมืองไทยก็สองหมื่นกว่าล้าน แล้วเขาก็ให้คุณค่ากับการอ่านหนังสือมาก อ่านหนังสือวันละ 3 ชั่วโมง น้อยกว่าวอเร็น บัฟเฟตต์นะ วอเร็น บัฟเฟตต์นี่อ่านวันละ 5-6 ชั่วโมง แต่ที่เขาพูดนี้น่าสนใจตรงที่ว่า การลงทุนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิต ก็คือการอ่านหนังสือ
แต่ที่จริงแล้วมันยังไม่ถูกต้องทีเดียวนะ ถ้าพูดให้ถูกก็คือ การลงทุนที่ดีที่สุดของชีวิตก็คือการเจริญสติ เพราะอะไร เพราะว่ามันให้ประโยชน์ ให้คุณค่ามากมายยิ่งกว่าการอ่านหนังสือ จริงอยู่นะการอ่านหนังสือก็ทำให้เรามีความรู้มาก เปิดโลกให้กับเรา ทำให้หูตากว้างไกล แต่ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือจำนวนมากนี่ รู้ก็จริงนะแต่ไม่ได้ใช้ อ่านมากมายแต่เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือไม่สามารถเอามาใช้ให้เกิดผล ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าอ่านแล้วก็ลืม
มันก็ไม่ต่างจากวิชาที่เราเรียนในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย เราเรียนมาเยอะเลยนะตั้งแต่เล็กจนโต แต่ที่เราจำได้แล้วเอามาใช้จริงๆ ไม่รู้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์หรือเปล่า คนที่เรียนภาษาอังกฤษ เรียนมาตั้งแต่ชั้น ป.1 จนจบมัธยม ม.6 หรือ ม.ศ.5 ก็แล้วแต่ จำนวนมากไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาเลย ภาษาอังกฤษ เรียกว่าคืนอาจารย์ไปหมด
นี่ยังไม่นับประเภทที่เรียนวิชาชีพ เรียนมาตั้ง 4 ปีนะ บางคนเรียนวิศวะ บางคนเรียนบัญชี บางคนเรียนสถาปัตย์ หรือบางคนเรียนหมอด้วยซ้ำ 5 ปี 6 ปี หรืออย่างน้อยๆ 4 ปี แต่พอเรียนจบแล้วก็ไม่ได้ไปเป็นหมอ ไม่ได้ไปเป็นสถาปนิก ไม่ได้ไปเป็นนักบัญชี ไม่ได้ไปเป็นวิศวกรเลย ไปมีอาชีพอื่น บางคนก็ขายของ บางคนก็เป็นช่างภาพ บางคนก็เป็นนักลงทุน บางคนก็ไปทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นความรู้ที่ร่ำเรียนมารวม ถึงความรู้ที่อ่านจากหนังสือ มันน้อยมากที่เอามาใช้ประโยชน์ ซึ่งต่างจากการเจริญสติ
ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้
การเจริญสตินี่ไม่ว่าจะทำน้อยหรือทำมาก มันเป็นประโยชน์ได้ใช้แน่ อยู่ที่ว่าจะรู้จักใช้หรือเปล่า นอกจากนั้นความรู้จากการอ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งความรู้จากการเรียนหนังสือ จำนวนไม่น้อยรู้ไปก็ทำไม่ได้ ถ้าหากขาดการฝึกจิต ขาดการฝึกตน อย่างเช่น อย่างหนังสือดีๆ หลายเล่มเขาก็จะบอกให้เรารู้ว่า ความร่ำรวยหรือการมีชื่อเสียงมันไม่ได้เป็นหลักประกันแห่งความสุขที่แท้จริง คนจำนวนมากอ่านก็รู้แล้วก็ เห็นด้วย แต่ทำไม่ได้ ทั้งที่เขาบอกว่าการใช้ชีวิตที่มีคุณค่า การที่รู้จักหาความสงบ การรู้จักพึงพอใจในชีวิต หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า มีความสันโดษ มันเป็นที่มาแห่งความสุขอย่างแท้จริง
จำนวนไม่น้อยเลยอ่านหนังสือ ก็รู้และเห็นด้วย แต่ทำไม่ได้ เพราะใจมันก็ยังโหยหาความร่ำรวย โหยหาชื่อเสียง อยากเด่นอยากดัง อยากให้คนยกย่องสรรเสริญ อยากมีสถานภาพ ทั้งๆที่อ่านมากและรู้มากกว่าคนที่ร่ำรวย คนที่เป็นเศรษฐี คนที่มีสถานภาพเด่นดังพวกนี้ หลายคนพอเจอวิกฤตในชีวิตก็เอาตัวไม่รอด กลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย ไม่สามารถที่จะทำใจให้เกิดความสันโดษกับสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ รู้นะแต่ทำไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นการรู้ในระดับสมอง แต่ใจมันไม่คล้อยตาม อย่างที่เขาเรียกว่า “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้”
ถ้าไม่ได้ฝึกใจ ความรู้ทั้งหลายทั้งปวงที่ได้จากการอ่านหนังสือหรือร่ำเรียนมา จำนวนมากมันทำไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่มันทวนกระแสกิเลส รู้เยอะ รู้มาก แต่ทำไม่ได้ ตราบใดที่ไม่ได้ฝึกจิตฝึกใจ
เมื่อสัก 1,500 กว่าปีก่อนนั้นมีนักบุญคนหนึ่งชื่อ ออกัสติน เป็นนักบุญในศาสนาคริสต์ที่มีชื่อเสียงมาก ถ้าเทียบกับพุทธศาสนาก็ระดับพระพุทธโฆษาจารย์เลย ออกัสตินตอนที่ยังไม่ได้บวช ตอนเป็นหนุ่ม ก็เป็น คนที่ฉลาดปราดเปรื่องมาก อ่านหนังสือมาเยอะแล้วเกิดศรัทธาในศาสนาคริสต์ คัมภีร์ตำราต่างๆ ก็อ่านมามากมาย แล้วก็รู้หรือเชื่อว่าการมีชีวิตพรหมจรรย์มันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด
พรหมจรรย์ในที่นี้หมาย ถึงชีวิตโสด ไม่มีคู่ เป็นชีวิตที่ปลอดจากการมีเพศสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ออกกัสตินใฝ่ฝันปรารถนามาก แต่ทำไม่ได้ เพราะใจมันปรารถนาความสุขทางเพศมาก มีคู่หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนมากหน้าหลายตาตามประสาคนหนุ่ม
แล้วเขาก็มีความทุกข์นะ มีความทุกข์มาก ว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันสวนทางกับความเชื่อหรือความรู้ที่ตัวเองได้เรียนมา ก็รู้ว่าการมีเพศพรหมจรรย์หรือการมีชีวิตพรหมจรรย์นี่มันดีที่สุด แต่ทำไม่ได้ บทสวดภาวนา ถึงพระเจ้าซึ่งเป็นคำสวดภาวนาที่มีชื่อเสียงมากของออกัสติน กล่าวว่า
“โปรดมอบชีวิตพรหมจรรย์ให้กับข้าพเจ้า ...แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้”
ตอนนี้ขอสนุก มีความสุขกับเพศรสก่อน ขนาดสวดภาวนาอ้อนวอนต่อ พระเจ้า ขอให้มอบชีวิตพรหมจรรย์ความบริสุทธ์ทางเพศให้ แต่เอาไว้ก่อน ไม่ใช่ตอนนี้ เพราะอะไร เพราะใจมันยังมีความสุขอยู่กับเพศรสหรือความสุขทางกาม
อันนี้ก็เรียกว่ารู้เยอะ รู้มาก แล้วก็รู้ถูกด้วยนะ แต่ทำไม่ได้ เพราะว่าใจมันไม่ได้ฝึก ก็กลายเป็นว่าความรู้ที่มีไม่อาจจะใช้ประโยชน์ได้ หรือถึงใช้ประโยชน์ได้เช่น ใช้ทำมาหากินได้ หรือสามารถเอาไปพูดไปบรรยายที่ไหนได้ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือมันแก้ทุกข์ไม่ได้
อ่านหนังสือรู้มากเกี่ยวกับเรื่องจักรวาล ว่าจักรวาลมีกำเนิดจากบิ๊กแบง หรือมหากัมปนาท รู้ถึงขอบเขตของจักรวาลตามที่หนังสือของผู้รู้เขาได้บรรยาย รู้เรื่องควอนตัม สารพัดเลยนะ แต่แก้ทุกข์ไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับตัวเองเลย แม้ความรู้ที่อ่านมาจากหนังสือ มันก็มีประโยชน์ อาจจะช่วยทำให้เราได้รู้ตำแหน่งแห่งหนในจักรวาล แต่ข้อจำกัดคือมันเอามาแก้ทุกข์ไม่ได้ เวลาถูกต่อว่าด่าทอ เวลาคู่รักขอเลิก หรือคนรักล้มหายตายจาก ความรู้เรื่องกำเนิดจักรวาลหรือการรู้ถึงกำเนิดของมนุษยชาติ มันแก้ทุกข์ของตัวเองไม่ได้เลย
ในขณะที่การฝึกจิตหรือการเจริญสติ เราสามารถจะเอามาใช้แก้ทุกข์ บรรเทาความเครียด หรือว่าทำให้คลายจากความเศร้าโศกได้ ทำให้มีสติยั้งคิด ไม่วู่วาม ไม่ผลุนผลัน ไปหาทางบรรเทาทุกข์ที่มันเป็นการซ้ำเติมตัวเองให้หนัก ให้เป็นทุกข์มากขึ้น
การเจริญสติไม่มีทางล้มเหลว
แล้วที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านได้เทศน์แล้วเราได้ฟังเมื่อเช้า ท่านบอกว่าการเจริญสติหรือการปฏิบัติธรรมมันไม่มีคำว่าล้มเหลว การเรียนในโรงเรียน หรือการเรียนวิชาทางโลก หรือการอ่านหนังสือ ถึงเวลาจะเอามาทำเอามาใช้ มันอาจจะเจอความล้มเหลวได้ แต่การปฏิบัติธรรมมันไม่มีคำว่าล้มเหลว คือทำเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อนั้น
ที่จริงเรื่องนี้เคยยกตัวอย่างของนักประดิษฐ์คนหนึ่งชาวอเมริกันชื่อ โทมัส เอดิสัน เป็นคนที่ประดิษฐ์หลอดไฟ สมัยก่อนหลอดไฟมันต้องอาศัยไส้ ซึ่งต้องมีแรงต้านทานไฟฟ้าสูง แล้วมีความคงทนมากพอที่ จะให้แสงสว่างโดยที่ไม่ขาด สามารถจะใช้ได้เป็นเดือน แล้วเอดิสันเขาก็พยายามหาวัสดุที่จะมาทำเป็นไส้หลอดไฟ แต่ทำกี่ครั้งๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขาพูดไว้น่าสนใจ เขาบอกว่า “ผมไม่เคยล้มเหลว ผมแค่พบวิธีหมื่นวิธีที่มันไม่ได้ผล”
อันนี้น่าสนใจนะ มุมมองของเขา เขาไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว เพราะทุกครั้งที่ทดลอง เขาได้พบว่ามันไม่สำเร็จ “ผมไม่เคยล้มเหลว ผมแค่พบหนึ่งหมื่นวิธีที่ไม่ได้ผล” ที่จริงคำว่า “แค่” ก็อาจจะไม่เหมาะ ไม่ถูกต้อง เพราะการที่พบถึงหนึ่งหมื่นวิธีที่ไม่ได้ผลนี่ มันไม่ใช่แค่แล้วนะ มันเยอะทีเดียว
การปฏิบัติธรรมหรือการเจริญสติก็เหมือนกันนะ มันไม่มีคำว่าล้มเหลว เพราะไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างการปฏิบัติ มันล้วนดีทั้งนั้น แม้ขณะที่ปฏิบัติขณะที่เจริญสติ ใจมันฟุ้ง อันนี้ก็ไม่ถือว่าล้มเหลวถ้าเข้าใจ การปฏิบัติจริงๆ เพราะว่าฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด หรือสงบก็รู้ว่าสงบ อะไรเกิดขึ้นกับใจในระหว่างที่ปฏิบัติ ก็ดีทั้งนั้น เพราะมันเป็นการเพิ่ม "ตัวรู้" แม้กระทั่งหลงถ้ารู้ว่าหลง ก็ถือว่าไม่ล้มเหลว
แต่มันก็ต้องอาศัยการทำความเข้าใจให้ถูก เพราะหลายคนคิดว่าตัวเองปฏิบัติแล้วล้มเหลว บางคนนั่งสมาธิ นั่งไปได้ไม่ถึงสิบนาทีก็เลิก บอกไม่ไหวๆ มันฟุ้งเหลือเกิน ทำเท่าไหร่ๆ ก็ฟุ้ง ทำไปตลอดอาทิตย์ตลอดเดือนก็ยังฟุ้ง ความคิดเยอะเหลือเกิน ก็เลยบอกว่าเลิกทำแล้ว เพราะทำไม่ได้ แล้วรู้สึกว่าที่ทำนี่มันล้มเหลว อันนี้เพราะเขาวางใจไม่ถูก
เขาไม่เข้าใจว่า ถ้าปฏิบัติแล้วจะเอาความสงบ มันย่อมมีคำว่าล้มเหลว พอปฏิบัติแล้วใจไม่สงบ ก็รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง รู้สึกล้มเหลว แต่ถ้าเป็นการเจริญสติ มันไม่มีคำว่าล้มเหลวเลย ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับใจ จะ เป็นความคิดหรืออารมณ์ เพราะว่าทุกความคิดทุกอารมณ์มันมาเพื่อให้เรารู้ให้เราเห็น หรือมาฝึกตัวรู้ ฝึกตัวสติ ซึ่งถ้าหากเข้าใจจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ จุดมุ่งหมายของการเจริญสติ มันจะไม่มีคำว่าล้มเหลวเลย ไม่ว่าจะมีความคิด อารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น ก็ดีทั้งนั้น เพราะมันมาทำให้เรารู้ เห็นอารมณ์ต่างๆ
ในด้านหนึ่งมันก็ทำให้สติว่องไวปราดเปรียว ทำให้มีความรู้สึกตัวได้ไว อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เห็นความคิดและอารมณ์ต่างๆ ว่ามันมีสภาวะแบบนี้ๆ ซึ่งทำให้เรารู้จักมันมากขึ้น ทำให้เรามีความมักคุ้นกับมันมากขึ้น แล้วทำให้เรารู้ทันมันได้เร็วขึ้น
ถ้าหากตั้งเป้าว่า ปฏิบัติแล้วต้องสงบ มันต้องไม่ฟุ้งนะ อันนี้ก็เตรียมตัวผิดหวังได้เลย แล้วก็จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวอยู่ตลอดเวลา หรือล้มเหลวได้ง่าย แต่ถ้าหากมองว่าทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นมันมาทำให้เรารู้ มันมาทำให้เราเห็น เหมือนกับที่เอดิสันเขาบอกว่า เขาได้รู้หนึ่งหมื่นวิธีที่มันไม่เวิร์ก มันจะไม่มีคำว่าล้มเหลวและไม่เคยล้มเหลว เพราะว่าทำน้อยก็ได้ ทำมากก็ได้
แต่ปัญหาของคนจำนวนมากคือ นอกจากไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ คือไปเอาความสงบแทนที่จะสร้างตัวรู้หรือฝึกสติ แล้วก็ยังวางใจไม่เป็นด้วย คือ พอมันมีอารมณ์ มีความคิดบางอย่างที่ไม่ชอบ มันมีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น มันมีอารมณ์ที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น เช่น ความโกรธ ก็ไปพยายามกดข่มมันเอาไว้ แล้วพอไปกดข่มมันไม่ว่าเป็นความคิดหรืออารมณ์ มันก็ยิ่งโดนความคิดและอารมณ์เล่นงาน แว้งกัด ยิ่งไปกดข่มมัน มันยิ่งสู้
ธรรมชาติของความคิดและอารมณ์เป็นอย่างนี้ คือพอเรากดข่มมัน มันอาจจะหลบในชั่วคราว แต่แล้วพอเผลอมันก็เล่นงานเรา หรือพูดอีกอย่างก็คือ ยิ่งไปกดข่มมัน ยิ่งไปผลักไสมัน ยิ่งไม่ยอมรับมัน ก็ยิ่งเท่ากับไปเพิ่มอำนาจให้กับมัน เป็นอำนาจที่เหนือใจเหนือจิตของเรา
มันเหมือนกับลูกบอลที่อยู่ในน้ำ ถ้าเรากดมันเอาไว้ให้จมน้ำ เราปล่อยมือเมื่อไหร่มันก็จะเด้งขึ้นมา อารมณ์ก็เหมือนกัน ความคิดก็เหมือนกัน พอกดเอาไว้ พอเราเลิกกดมันก็ผุดโผล่ขึ้นมา แต่ถ้าเราเพียงสักแต่ว่ารู้เฉยๆ ก็ทำให้มันหมดพิษสงได้ ทำให้มันล่าถอยออกไป
อย่างที่มีคนหนึ่งพูดไว้ดี เขาบอกว่า “สิ่งใดที่เธอผลักไสจะคงอยู่ อะไรที่เธอตระหนักรู้จะหายไป” สิ่งใดที่เธอผลักไสจะคงอยู่นะ มันดื้อด้านเลยล่ะ แต่พอเราตระหนักรู้ มันก็จะหายไป รู้ในที่นี้คือรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง รู้โดยที่ไม่ไปกดข่มผลักไสหรือไหลตาม ซึ่งครูบาอาจารย์เรียกว่า “รู้ซื่อๆ”
ถ้าหากใช้วิธีการรู้ซื่อๆ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับใจนี่มันดีทั้งนั้นเลย แม้อารมณ์ที่เป็นอกุศล แม้ความคิดที่เป็นลบ มันก็จะแสดงตัวให้เรารู้จักมันมากขึ้น แต่ถ้าเราไม่รู้ซื่อๆ ไปกดข่มมันเอาไว้ก็จะเกิดการโรมรันพันตู สู้รบตบมือ ทำให้เราเหนื่อย แล้วเราก็ไม่ได้รู้อะไรเลย ไม่ได้รู้ไม่ว่าจะเป็นรู้ทัน ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติของอารมณ์
แต่ถ้าการปฏิบัติของเราเน้นเรื่องการรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ตัวหรือรู้ทันความคิด ต่อไปมันก็จะรู้ธรรมชาติของอารมณ์ มันก็มีแต่ได้นะ ไม่ว่าอะไรโผล่ขึ้นมา ดาหน้ามา ก็รู้อย่างเดียว และไม่เพียงแต่ว่ามันไม่มีคำว่าล้มเหลวนะ มันยังเป็นการปฏิบัติที่ง่ายกว่าด้วย ระหว่างการบังคับจิตให้นิ่ง ฝึกจิตให้สงบ กับการที่แค่รู้ว่าจิตไม่สงบ หรือรู้ว่าจิตไม่นิ่ง อันไหนที่มันง่ายกว่ากัน
บังคับจิตให้นิ่ง ฝึกจิตให้สงบนี่มันยากนะ แต่ถ้าเราไม่บังคับมัน มันไม่สงบก็แค่รู้ว่ามันไม่สงบ มันไม่นิ่งก็แค่รู้ว่ามันไม่นิ่ง อันนี้ง่ายกว่าเยอะเลย เพราะเราไม่ต้องทำอะไร ก็แค่ดู รับรู้สิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่มีคำว่าล้มเหลว ไม่มีคำว่าขาดทุน เพราะอะไรเกิดขึ้นก็รู้ อารมณ์ที่เป็นลบเกิดขึ้นก็รูั อารมณ์ที่เป็นบวกเกิดขึ้นก็รู้ มันง่ายกว่าเยอะ และมันเป็นสิ่งที่ไม่มีคำว่าล้มเหลวหรือผิดพลาด
จึงพูดได้ว่า การเจริญสติเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุดเลยนะ มันคุ้มค่าเยอะกว่าการอ่านหนังสือ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เลิกอ่านไปเลยนะ หนังสือมันก็มีค่าถ้าเราอ่านเป็น แต่อ่านแล้วได้ความรู้แล้ว ก็ ต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ แล้วจะเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตได้ มันต้องมีการฝึกจิต มีการฝึกสติ
แล้วเราถ้าฝึกสติดี มันก็ทำให้เราไม่เป็นทาสของหนังสือ คนที่อ่านหนังสือจำนวนมาก พอไม่มีหนังสืออ่านนี่หงุดหงิดเลยนะ กลายเป็นทาสของหนังสือไปแล้ว ถ้าไม่มีหนังสืออ่านจะกระสับกระส่ายมากเลย หลายคนพอมาปฏิบัติที่นี่ พอไม่ได้อ่านหนังสือนี่เหมือนจะลงแดง อันนี้เพราะว่าไปติดหนังสือ
อาตมาก็เป็นนะ แต่ก่อนนี่ก็ติดหนังสือมาก เป็นคนที่อ่านหนังสือตั้งแต่เล็ก แล้วตอนหลังไปไหนมาไหนก็ขาดหนังสือไม่ได้ มันกลายเป็นนายเราซะแล้ว เพราะว่าพออ่านมากๆ ความคิดมันออกมาเยอะ พอออกมาเยอะแล้วจะทำยังไงให้มันไม่ฟุ้งซ่าน ก็อ่านหนังสือไง พออ่านหนังสือใจมันก็จะจดจ่ออยู่กับหนังสือ มันก็ไม่คิดฟุ้งซ่านมาก เพราะมันมีสิ่งที่จดจ่อ แต่พอไม่มีหนังสือเมื่อไหร่มันก็ฟุ้งซ่านแล้ว แล้วก็เลย กระสับกระส่าย เหมือนกับเด็กสมัยนี้วัยรุ่นสมัยนี้ พอไม่มีโทรศัพท์มือถือแล้วก็ฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย อันนี้เรียกว่ามันเป็นนายเราแล้ว
แค่ถ้าเราฝึกจิตไว้ดี โดยเฉพาะฝึกสติ หนังสือมันจะเป็นบ่าวที่ดีของเรา แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นนายเมื่อไหร่ มันก็จะเป็นนายที่เลว เช่นเดียวกับความคิด ความคิดก็เป็นบ่าวที่ดีแต่เป็นนายที่เลว คนที่ติดหนังสือมากๆ เป็นเพราะว่าความคิดมันฟุ้งซ่านมาก จนกระทั่งต้องเอาหนังสือมาสยบไม่ให้ความคิดฟุ้งซ่าน แต่พอไม่มีหนังสือเมื่อไหร่ก็แย่
แต่ถ้าฝึกสตินะ มีหนังสือก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร เราเป็นนายของมันได้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเวลาเกิดปัญหาในชีวิต พลัดพรากจากสิ่งรัก ประสบสิ่งที่ไม่รัก เจอความเจ็บความป่วย เจออุปสรรค เจอการงานล้มเหลว ก็ไม่ทุกข์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า “งานล้มเหลว แต่หลวงพ่อไม่ล้มเหลว” อันนี้เพราะว่าฝึกสติ ฝึกจิต
เพราะฉะนั้นจึงบอกได้ว่า มันไม่มีการลงทุนอะไรที่คุ้มค่าหรือประเสริฐที่สุด เท่ากับการฝึกสติ การอ่านหนังสือก็เป็นการลงทุนที่ดี แต่ว่ามันเป็นรองการฝึกสติและการฝึกจิต